บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2557 ประกอบธุรกิจให้บริการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านตู้เติมเงิน

เมื่อ 6 ปีก่อน ชูเกียรติ รุจนพรพจี เข้ามารับช่วงต่อด้วยตำแหน่งซีอีโอ หลังจากที่ตัดสินใจเกษียณไปแล้วตอนอายุ 35 เพราะเห็นโอกาสของธุรกิจนี้ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน (Financial Inclusion) ของสังคมได้

ถ้าเล่าประวัติคร่าว ๆ เขาเติบโตมาในครอบครัวฐานะปานกลางและที่บ้านล้มละลาย ตั้งใจเรียนจนเข้ามหาวิทยาลัยสาขาการเงินได้ หลังเรียนจบเขาได้ทำงานกับธนาคารต่างชาติอย่าง Hong Kong Bank (HSBC) และ Standard Chartered เป็นนายธนาคารมือฉมังที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใหญ่มากมาย ตำแหน่งงานสุดท้ายของเขาคือ Managing Director ของ Standard Chartered ที่สิงคโปร์

มาวันนี้ SABUY มีบริษัทย่อยกว่า 30 บริษัท อาทิ บริษัท เวนดิ้ง พลัส จำกัด (VDP) บริษัท สบาย โซลูชั่นส์ จำกัด (SBS) และ บริษัท สบาย มันนี่ จำกัด (SBM) โดยแบ่งออกเป็น 5 ธุรกิจดังนี้ 

หนึ่ง Payments ธุรกิจบริการระบบชำระเงิน

สอง Merchandising ธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์

สาม Solutions ธุรกิจระบบโซลูชันส์

สี่ Financial Service ธุรกิจบริการทางการเงิน

ห้า New Economy ธุรกิจเศรษฐกิจใหม่

ชูเกียรติ รุจนพรพจี แห่ง SABUY ธุรกิจมูลค่า 4 หมื่นล้านที่อยากลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน

ทั้งหมดนี้คือความตั้งใจของชูเกียรติที่อยากสร้างระบบนิเวศการเงิน (SABUY Ecosystem) ในชีวิตประจำวันของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายหรือการรับเงิน เหมือนสโลแกนที่บอกว่า ‘ตื่นยันหลับ ชีวิตติด SABUY’ จึงตัดสินใจพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เริ่มซื้อขายบนตลาดในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ด้วยราคาหุ้นไอพีโอ 2.50 บาท และปิดตลาดด้วยราคาที่ตกลงมาเหลือ 1.87 บาท

นั่นไม่ใช่สัญญาณที่ดีสำหรับนักลงทุนทั่วไป

แต่ผู้บริหารคนนี้ไม่ย่อท้อ มุ่งพิสูจน์สิ่งที่ตัวเองเชื่อให้ทั้งคนนอกและคนในเห็น จนวันนี้ (19 เมษายน พ.ศ. 2565) ผ่านมาปีกว่า ๆ ราคาต่อหุ้น SABUY อยู่ที่ 27.75 บาท และดูเหมือนจะเข้าใกล้เป้าหมายขึ้นทุกที

คุณตัดสินใจเกษียณตอนอายุ 35 แล้วเดินทางไปท่องเที่ยวมาหลายปี อะไรทำให้คนที่ตัดสินใจแบบนั้นไปแล้วกลับมาทำธุรกิจ

ตอนนั้นมีเงินเก็บอยู่ประมาณ 300 – 400 ล้านบาท คำนวณกับค่าใช้จ่ายรายเดือนของตัวเองก็น่าจะอยู่ไปได้ถึงอายุ 90 แบบสบาย ๆ ชีวิตผมตั้งแต่เรียนจบก็มีแต่งานอย่างเดียว ทำงานติดต่อกันมา 14 ปี หลังเกษียณตลอด 6 ปี ได้พาคุณพ่อคุณแม่ไปเที่ยว ตอนนั้นไปกันเกือบ 20 ทริป ระหว่างนั้นก็มีรายได้จากการลงทุน จนวันหนึ่งมานั่งนึกว่าชีวิตเราผ่านมาแต่สิ่งดี ๆ ทำไมไม่หยิบยื่นแจกคนอื่นด้วย 

ช่วงที่ไม่ได้ทำงานก็มีโอกาสเจอเพื่อนร่วมงานเดิม ๆ บางคนที่คิดว่าเรายังมีประโยชน์ต่อเขาก็ยิ้มแย้มทักทาย แต่กับบางคนเขาก็ไม่ มันทำให้เราเรียนรู้เรื่องสังคมการทำงานมากขึ้น ในทางหนึ่ง เราเลยอยากพิสูจน์ตัวเองว่า ถ้าเริ่มทำธุรกิจจากศูนย์ ความสามารถที่มีอยู่จะยังใช้งานได้หรือเปล่า

ก่อนหน้านั้นคุณไม่เคยทำธุรกิจมาก่อนเหรอ

ไม่เคยเลย จริง ๆ นี่เป็นที่ทำงานที่ 3 ของผม หลังเรียนจบเราทำงานที่ Hong Kong Bank อยู่ 7 ปี ก่อนจะย้ายไป Standard Chartered อีก 7 ปี แล้วก็หยุดทำงานไป 6 ปี

คุณเห็นโอกาสอะไรใน SABUY ถึงคิดว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการลองทำธุรกิจ

ลักษณะงานของผมที่สองธนาคารนั้นคือ ‘คนสร้างเมือง’ เป็นการเริ่ม Business Unit ใหม่ แล้วก็ทำได้ดี เราถนัดในการสร้างเมือง สร้างดินแดน สร้างกิจการ พอเราโตมาจากคนที่ไม่มีอะไร วันหนึ่งที่เรามีแล้วก็เลยอยากแบ่งปันคนอื่น 

แล้วในปัจจุบันยิ่งเห็นชัดว่า สังคมถูกออกแบบให้เอื้อประโยชน์กับนายทุนหรือคนที่แข็งแกร่งกว่า โอกาสที่เห็นกับ SABUY คือการสร้าง Financial Inclusion ที่ทุกคนมีส่วนร่วมทางการเงินได้เหมือน ๆ กัน

ชูเกียรติ รุจนพรพจี แห่ง SABUY ธุรกิจมูลค่า 4 หมื่นล้านที่อยากลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน
ชูเกียรติ รุจนพรพจี แห่ง SABUY ธุรกิจมูลค่า 4 หมื่นล้านที่อยากลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน

Financial Inclusion จำเป็นแค่ไหนกับประเทศเรา

นั่นเป็นเป้าหมายของเราเลยนะ เราอยากเป็น Data Company ที่นำข้อมูลมาทำให้เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น

ช่วงที่ผมหยุดงาน 6 ปี ผมมีพอร์ตการลงทุนเกือบพันล้าน แต่เชื่อไหมครับ ผมสมัครบัตรเครดิตใหม่ไม่ได้เลยสักใบ มันทำให้เห็นว่า พอเราไม่ได้อยู่ในระบบที่เรียกว่า Payroll (เงินเดือนประจำ) เราจะมีปัญหาในการเข้าถึงเงินทุน แล้วคิดดูสิว่าคนที่อยู่ในระบบมีแค่ 3 – 4 ล้านคนเองนะ ย้อนไปดูคนที่ยื่นภาษีบุคคลธรรมดามีประมาณ 3.5 ล้านคนเท่านั้น

นั่นแปลว่ายังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในระบบนี้ เช่น คนขับแท็กซี่ พ่อค้าแม่ขายในตลาด เจ้าของร้านอาหารตามสั่ง เจ้าของร้านโชห่วย พวกเขาจึงไม่มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงิน มันน่าจะถึงเวลาแล้วที่เราต้องสร้าง Financial Inclusion โดยใช้ดาต้าวิเคราะห์ความสามารถในการหารายได้กับความสามารถในการใช้จ่าย นี่คือสิ่งที่เราอยากจะสร้างขึ้นมา

ในวันที่ทุกคนพูดเรื่อง Cashless Society ธุรกิจที่เริ่มต้นจากตู้เติมเงินจะเดินทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการเงินของประเทศได้อย่างไร

ถ้าผมเริ่มต้นเหมือนธุรกิจ Fintech ทั่วไป ก็ต้องไประดมทุนจำนวนมหาศาลมาก่อน ระดมทุนเสร็จต้องทำขาดทุนก่อน วิธีขาดทุนก็คือการไปซื้อ User ซึ่งในฐานะอดีตนายธนาคาร ผมว่าวิธีนี้ง่ายเกินไป เลยทำตรงกันข้าม โดยการเริ่มต้นจากการสะสมข้อมูลและ User และธุรกิจของเราต้องไม่ขาดทุน

วันนี้พิสูจน์แล้วว่า SABUY ทำสำเร็จ ลองสังเกตธุรกิจที่มีคนใช้งานเยอะแต่ขาดทุน ถ้าระดมทุนใหม่ไม่ได้ก็ต้องปิดตัวลง เราจึงเห็นหลาย ๆ สตาร์ทอัพถอนตัวออกจากประเทศไทย เพราะเขามีเงินจำกัด และขาดทุนได้ในขอบเขตที่ตั้งไว้ 

ผมโตมากับระบบธนาคารเลย Conservative กว่า กองทัพต้องเดินด้วยเสบียง เสบียงของเราคือกำไร ยิ่งเราแข็งแรง แม้จะเดินได้ช้ากว่า แต่เรารู้ว่าเรารอด 

แพลตฟอร์มตู้เติมเงินคือการเริ่มจากกลุ่มเป้าหมายที่ฐานพีระมิด สร้าง User แล้วค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นไป ไต่ขึ้นไปเรื่อย ๆ ขณะที่ก็ทำกำไรไปด้วยในเวลาเดียวกัน ถ้าพูดถึงการแข่งขันธุรกิจออนไลน์ มีเป็นร้อยนะ แต่ออฟไลน์อย่างตู้เติมเงินมีเจ้าใหญ่ ๆ อยู่ 2 เจ้า

อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าคนที่อยู่ในระบบ Payroll และรับเงินผ่าน Electric Payment มีแค่ 3.5 ล้านคน นั่นหมายถึง ‘เงินสด’ ก็ยังเป็นตลาดที่ใหญ่มาก อย่างประเทศจีนที่เรามองว่ามีตลาด E-commerce ที่ใหญ่ที่สุด ยังมียอดขายออนไลน์แค่ 17 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 83 เปอร์เซ็นต์ คือออฟไลน์ทั้งสิ้น

ทำไม Alibaba หรือ Amazon ถึงต้องเข้าซื้อห้างต่าง ๆ เพราะเขารู้ว่าตลาดออนไลน์มันโตมากไปกว่านี้ไม่ได้ เขาต้องเจาะกลุ่มออฟไลน์ สิ่งที่เราทำกลับกันคือสร้างฐานออฟไลน์ให้ใหญ่ก่อน แล้วค่อยขยับเป็นออนไลน์

ชูเกียรติ รุจนพรพจี แห่ง SABUY ธุรกิจมูลค่า 4 หมื่นล้านที่อยากลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน

เคยมี Success Case อื่น ๆ ที่ทำโมเดลนี้สำเร็จมาแล้วบ้างไหม

ขอยกตัวอย่าง Samsung กับ Huawei สองแบรนด์นี้ก็เริ่มมาจากพีระมิดข้างล่าง อย่าง Samsung เข้ามาตอนที่ Nokia หรือ Ericsson กำลังฮิต คนก็หัวเราะ ใช้ทำไม Samsung ซึ่งข้อดีก็คือทุกคนยอมรับว่าถ่ายภาพแล้วสวย ปรากฏวันหนึ่ง Huawei ไปเอากล้อง Leica มาใส่ในโทรศัพท์

หรืออย่างกรณีศึกษาในไทย Pruksa Property เริ่มจากสร้างบ้านแถวชานเมืองหลังละ 7 แสน จนวันนี้ขายคอนโดราคาเป็น 10 ล้านได้ เพราะรากฐานของบริษัทแข็งแรง มีฐานลูกค้าที่แข็งแรง

วันที่เข้าตลาดทุน การเดินทางสายตรงข้าม ส่งผลต่อความเข้าใจของนักลงทุนมากน้อยแค่ไหน

มีแต่คนไม่เข้าใจ (หัวเราะ) เขาบอกว่าเป็น Fake Business

วันที่เข้าตลาดหลักทรัพย์วันแรกก็โดนเลย ราคาเราต่ำกว่า IPO ผมเลยเรียกประชุมพนักงานแล้วบอกว่า เราเป็นของจริง คุณค่าของเราต้องทำด้วยตัวเอง อย่าให้คนอื่นมากำหนด ผมไม่ได้บอกให้คุณต้องเชื่อ เพราะหน้าที่ของผมคือการพิสูจน์ให้เห็นว่ามันถูกต้อง

วันนี้หุ้นของ SABUY ขึ้นมากี่เปอร์เซ็นต์แล้ว

วันแรกที่ผมเข้ามาเป็นซีอีโอ บริษัทนี้มีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท กับพนักงาน 20 – 30 คน วันนี้มูลค่าบริษัทอยู่ระหว่าง 33,000 – 45,000 ล้านบาท ตอนเข้าตลาดฯ มูลค่าของเราอยู่ที่ 2,500 ล้านบาท โตขึ้นมาสิบกว่าเท่า เพราะคนเห็นว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เราอยากสร้าง Diversity ให้มีความหลากหลายทางธุรกิจ ในขณะที่สร้าง Inclusion ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ชูเกียรติ รุจนพรพจี แห่ง SABUY ธุรกิจมูลค่า 4 หมื่นล้านที่อยากลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน

จะพูดได้ไหมว่าธุรกิจคุณสร้างขึ้นเพื่อช่วยคนตัวเล็ก

เราทำผ่าน 3 ภารกิจหลัก

หนึ่ง Solution เราใช้ดาต้ามาแก้ปัญหาต่าง ๆ ทุกวันนี้คิดว่ามีคนอยู่ในระบบเว็บไซต์หางานออนไลน์กี่คน แต่วันนี้ผมมีจุดร้านสะดวกส่งอยู่ 12,000 จุดทั่วประเทศ ถ้า 12,000 จุดนี้ คุณสามารถยื่นบัตรประชาชนหรือบัตรแรงงานต่างด้าวทิ้งไว้เพื่อหางาน คุณอยากทำอะไร ถนัดอะไร ต้องการเรตเงินเดือนเท่าไหร่ ก็ให้ข้อมูลไว้ นายจ้างที่ตอนแรกไม่รู้จะหาแรงงานที่ไหนก็เข้าถึงข้อมูลตรงนี้ได้ ส่วนลูกจ้างก็มีโอกาสเข้าถึงอาชีพ เข้าถึงเงินทุน เข้าถึงทรัพยากร เข้าถึงโอกาส

ดาต้าที่เรามีช่วยคนได้ บางคนที่ทำงานทุกวันนี้ เขาไม่รู้ว่าจริง ๆ เขาควรทำงานนี้หรือเปล่า เขาเหมาะกับงานนี้ไหม เขาคิดอย่างเดียวว่าฉันอึด ฉันทำเป็นแต่แบบนี้ ดาต้าจะทำให้เราเข้าใจตัวเอง สมมติ วันนี้เขาขายอาหารตามสั่ง แต่เขาทำอาหารไม่อร่อย เขาอาจจะเหมาะกับการขายของมากกว่า นั่นคือ Diversity เป็นระบบนิเวศของช่องทางทำธุรกิจ พอเขามีทั้ง Diversity และ Inclusion เขาก็มีโอกาสที่คุณภาพชีวิตจะดีขึ้น รายได้มากขึ้น 

สอง Sales เราให้ความสำคัญกับการเข้าถึงราคาที่เป็นธรรม ต้นทุนที่มาถึง User ต้องต่ำกว่า พอต่ำแล้วจะเกิดการแข่งขันด้านสินค้าและบริการ ราคามาตรฐานก็จะเกิดขึ้นในระบบนิเวศของเรา คนซื้อซื้อได้ถูก คนขายก็ขายได้เยอะเพราะมีจำนวนคนซื้อมาก 

สาม Financial เราอยากให้บริการเข้าถึงเงินทุน คนที่ไม่มีสลิปเงินเดือนจำเป็นต้องไปกู้นอกระบบ ทั้ง ๆ ที่ตัวเขาก็มีอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ ถ้าเรามีข้อมูลการหารายได้และการใช้จ่ายของเขาก็รู้ถึงความสามารถในการใช้หนี้ จะทำให้เกิดหนี้เสียน้อยมาก

ถ้าแยกเป็นส่วน ๆ อย่าง Solution, Merchandising และ Financial ก็พอจะนึกออกว่าใครคือคู่แข่ง แต่พอรวมกันทั้งหมด คู่แข่งของธุรกิจคุณจริง ๆ แล้วคือใคร

คือระบอบ คือระบบของการกินรวบ สิ่งที่เราทำนั้นเพื่อทุกคน คนตัวเล็ก คนตัวกลาง และคนตัวใหญ่ ดังนั้นระบอบที่เป็นแบบผูกขาด (Monopoly) จะไม่ชอบวิธีนี้ เพราะเราเข้าไปแทรกแซงสิ่งที่เขาทำอยู่แล้ว

ถ้าดู Core Business ของเรา เรื่องแรกคือเทคโนโลยีง่าย ๆ ที่ให้คนเข้าถึงได้ นำมาใช้อำนวยความสะดวก มีเว็บ 2.0 หรือ E-commerce และกำลังจะก้าวเข้าสู่เว็บ 3.0 ที่เป็น Blockchain

เรื่องที่สอง Payment ทั้งสกุลเงินไทย เงินดิจิทัล เป็นบริษัทการเงินที่ทำได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เจ้าอื่นดูสลิปเงินเดือน ดูโฉนดที่ดิน แต่เราดูดาต้าถึงความสามารถในการหารายได้และความสามารถในการใช้จ่าย

สามคือช่องทางในการเข้าถึงคน เรามีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ มีการซื้อธุรกิจเครือข่าย (Multi-level Marketing : MLM) และตอนนี้ผมกำลังศึกษาเรื่อง TV Shopping เจ้าสัวทุกรายในประเทศไทยซื้อช่องทางให้ตัวเองผูกขาด แต่เราเปิดช่องทางเยอะขึ้น ใหญ่ขึ้น ใครก็ตามที่โดนรังแกจากระบบผูกขาดจะมาอยู่กับเรา

ต่อมาคือ Financial การกระจายทรัพยากร กองทัพเดินด้วยการลงทุนและการกู้เงิน ทำยังไงให้คนเข้าถึงแหล่งทุน ทำยังไงให้คนที่ลงทุนใน Cryptocurrency วันนี้เข้าใจสิ่งที่เขากำลังลงทุนอยู่

สุดท้ายคือ Cloud Data หรือ Data Center เราพูดเรื่องนี้เยอะมาก สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้เราเห็นความเสี่ยงของประเทศไทย Cloud ของประเทศเรามี 2 ค่าย ค่ายอเมริกาคือ AWS, Amazon, Microsoft ส่วนค่ายจีนมี Huawei Cloud, Tencent, Alibaba Cloud ถ้าสองค่ายอายัติข้อมูลเราทั้งหมด เราจะไม่เหลืออะไรเลย แต่ถ้าผมทำ Southeast Asia Cloud ล่ะ 

ชูเกียรติ รุจนพรพจี แห่ง SABUY ธุรกิจมูลค่า 4 หมื่นล้านที่อยากลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน

สไตล์การบริหารของอดีต Banker ที่ต้องเข้ามาบริหารธุรกิจที่เติบโตรวดเร็วเหมือนสตาร์ทอัพเป็นยังไง

ตอนสร้างธุรกิจตู้เติมเงิน เราเน้นแนวลูกทุ่ง เพราะถ้าไปแบบทางการ ลูกค้าไม่เข้าใจเรา เหมือนให้นักแต่งเพลง Kamikaze ไปทำเพลงแนวค่ายเบเกอรี่ แนวทางการบริหารของผมเลยต้อง Tailor Made กับธุรกิจที่ทำ ถ้าเป็นธุรกิจที่กลุ่มเป้าหมายเป็นแรงงาน เราต้องได้ใจเขา วิธีได้ใจก็คือเราต้องเดินร่วมกับเขา ทำงานกับเขา เสียเหงื่อไปกับเขา ทำให้เห็นว่าทุกปัญหานั้นแก้ไขได้ อย่ากลัวปัญหา เพราะหลาย ๆ ธุรกิจเติบโตช้าหรือไม่เกิดขึ้นเพราะเห็นปัญหาขึ้นมาก่อน

เรามองผลลัพธ์ เพราะรู้ดีว่าระหว่างทางต้องเจอปัญหามากมาย อย่าหลอกตัวเอง แก้ไปเถอะ พอแก้ไปเรื่อย ๆ สิ่งที่ติดตัวมากับทีมเราคือความสามารถในการแก้ปัญหา ทำให้เราทำได้เร็วกว่าคนอื่น 

คนที่แก้ปัญหาได้เก่งที่สุดคือคนที่เจอมาเยอะที่สุด

แล้ว SABUY เจอมาเยอะแค่ไหน

เยอะครับ (หัวเราะ)

คุณซื้อใจลูกน้องอย่างไร

การ Motivate คน ต้องทำให้เขารู้สึกว่า เราเชื่อมั่นและเข้าใจเขา ถ้าเป็นแบบนั้นทุกคนจะสู้เต็มที่ ขณะเดียวกันเราก็สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้ทุกคนกล้าวิ่งออกจาก Comfort Zone ของตัวเอง ลองทำเรื่องที่ไม่ถนัด ผมมีเคล็ดลับในการเลือกคนอยู่ 2 ข้อ

อย่างแรก คนที่จะเข้าทำงานที่นี่ เราไม่ดูวุฒิการศึกษา นอกจากเก่ง คุณต้องอึดและพร้อมแก้ปัญหา ที่เหลือก็รอดแล้ว ในสามก๊ก คนที่ฉลาดที่สุดอาจไม่ใช่สุมาอี้ ขงเบ้งฉลาดกว่า เพราะคนที่ฉลาดและอดทนคือคนที่ชนะยาวที่สุด 

วันนี้ความรู้ถูกแข่งด้วย Google และข้อมูลมากมายบนอินเทอร์เน็ต แต่บนนั้นไม่เคยสอนใครให้อดทน ไม่เคยสอนใครให้ยืดหยุ่น 

อย่างที่สอง จ้างคนเก่งและคนที่ใช่ คนที่ใช่ก็จะนำพาคนที่ใช่มาอีก

อย่างสุดท้าย การทำการสื่อสารเยอะเพื่อให้คนข้างนอกเข้าใจเรา แม้วันนี้เขาอาจจะไม่เข้ามาทำงานกับเรา แต่ 2 – 3 ปีข้างหน้า เขาอาจจะเห็นสิ่งที่เราพูดเมื่อ 2 ปีก่อน มันอาจสร้างความประทับใจให้เขา ไม่ว่าจะในฐานะพาร์ตเนอร์ธุรกิจหรือบุคลากรเก่ง ๆ 

หาคนเก่งอาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่จะหาคนที่ใช่เจอได้อย่างไร

เราดูที่ Commitment และความตั้งใจของเขา

ชูเกียรติ รุจนพรพจี ซีอีโอ SABUY Technology ธุรกิจไทยที่มีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน และมีมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้าน

พนักงานที่อายุน้อยที่สุดของสบายคือ 17 ปี

ทีมที่ทำเว็บ 3.0 รวมไปถึง Blockchain จะเป็นเด็ก ๆ ผมให้เขาใส่ไอเดียได้เต็มที่ ส่วนเรื่องการดำเนินงาน เรื่องการเงิน การบัญชี เดี๋ยวพวกเราจัดการเอง

เราต้องทำหลังบ้านให้ดีเพื่อให้เขาวิ่งได้เต็มที่ สิ่งที่ผมทำหลังจากนั้นคือให้สปอตไลต์เขา แล้วเดี๋ยวจะได้เด็ก ๆ อีกกลุ่มเข้ามาร่วมงาน แต่อย่าคิดว่าเขาโตขึ้นเก่งขึ้นแล้วจะต้องอยู่กับเรานะ มีเข้ามาก็มีออกไป ผมไม่เคยคิดจะครอบครองทาเลนต์เหล่านี้ เขาอยู่เพราะเขารู้สึกอยากอยู่ ผมก็ต้องทำ Environment ให้น่าอยู่ แต่วันหนึ่งที่เขาไม่อยากอยู่แล้ว Environment นี้ก็ต้องดึงดูดคนอื่นเข้ามาได้ด้วย

แล้วพนักงานที่อายุมากที่สุดล่ะ

60 กว่า และผมจะให้ทำไปจนถึง 75 เลยถ้าเขายังสนุกอยู่ ถ้าบริษัทเรายังมอบสิ่งดี ๆ ให้เขาอยู่

ธุรกิจที่เติบโตเร็วอย่างก้าวกระโดด ส่งผลต่อการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างไร

มันมีปัญหาเข้ามาเรื่อย ๆ เช่น Operation ไม่ทัน แต่นั่นคือสิ่งที่ต้องเจออยู่แล้ว ยกตัวอย่างธุรกิจ Call Center เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมเดินไปแล้วพนักงานรับโทรศัพท์ทันตลอด แสดงว่าผมมีคนเยอะเกินไป ส่วนใหญ่งานจึงเข้ามามากกว่าคน เชื่อไหมถ้าที่นี่งานน้อยกว่าคนเมื่อไหร่ ผู้บริหารคงหงอยตาย อาจจะมีหลายคนลาออก เพราะคนที่นี่ชอบทำงาน

นั่นเป็นอีกสิ่งที่ทีมบริหารต้องเอาใจใส่ เราพยายามหาตัวตนของพนักงานแต่ละคนให้เจอ จริง ๆ มันเริ่มเห็นตั้งแต่วันแรกเลยนะ เราพอดูออกว่าจะดึงอะไรในตัวคนคนนี้ออกมา เวลาสัมภาษณ์งานผมมักถามผู้สมัคร 2 คำถามคือ หนึ่ง มองตัวเองยังไงในอีก 3 – 5 ปีข้างหน้า และสอง คุณมีอะไรจะถามผมไหม มันแสดงให้เห็นถึงสกิลล์การคิดวิเคราะห์ของเขา เขาอ่านเรายังไง ในเวลาเดียวกันเขาต้องรู้ตัวเองในอนาคตอันใกล้ อยากพัฒนาไปด้านไหน Motivation ของเขาคืออะไร และถ้าคนนั้นเป็นคนเก่ง ผมมักจะหักดิบด้วยการบอกว่า ‘คุณนี่ก็แปลกนะ ผมเห็นค่าคุณเยอะกว่าที่คุณเห็นค่าตัวเองอีก แปลว่าคุณยืนอยู่ผิดที่แล้ว’ แล้วก็รับเข้าทำงานเลย

ถ้าเราไม่ใช่คนบ้างานจะทำงานที่นี่ได้ไหม

ได้สิ ทุกงานมันมี Work-life Balance อยู่แล้ว ที่นี่ก็ไม่ได้มีระบบตอกบัตร คุณ Work from Anywhere ได้ และเราเชื่อเรื่อง Work Smart แต่ถ้าวันไหนคุณรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าที่นี่เมื่อไหร่ คุณจะอยู่ไม่ได้เอง

วันนี้มูลค่าของ SABUY แตะ 45,000 ล้านบาท นั่นถือว่าเป็นความสำเร็จแล้วหรือไม่

ผมไม่ได้มองว่านี่จะเป็นมรดกของลูกหลาน แต่เป็นของมหาชน 

วันนี้ผมใช้สโลแกนว่า ตื่นยันหลับ ชีวิตติด SABUY แต่ในอีก 5 – 10 ปีข้างหน้า ทุกคนจะใช้คำว่า เกิดยันตาย ชีวิตติด SABUY วันไหนที่คนคิดถึงเราแบบนั้นถึงจะสำเร็จ

คุณเกษียณรอบแรกตอนอายุ 35 ณ วันนี้ วางแผนเกษียณครั้งที่สองแล้วหรือยัง

จริง ๆ ตั้งใจจะเป็นซีอีโอที่นี่อีก 7 ปี แล้วหลังจากนั้นค่อยขึ้นไปเป็นประธานบริหาร จากที่เคยทำงานเต็ม ๆ ทั้งสัปดาห์อาจจะเหลือสัปดาห์ละ 3 วัน วันละครึ่งวันพอ ผมไม่ได้อยากเลิกทำหรอก แต่ต้องให้โอกาสคนที่ต่อสู้ร่วมกับเรามา อาจจะหาคนที่เหมือนผมไม่ได้ แต่งานของผมแบ่งให้คน 5 คนได้ เขาก็ควรได้โอกาสนั้น

ชูเกียรติ รุจนพรพจี ซีอีโอ SABUY Technology ธุรกิจไทยที่มีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน และมีมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้าน

Questions answered by CEO, SABUY

1. คุณเป็นแฟนฟุตบอลทีม…

Manchester United ชอบมาตั้งแต่ยุค 80 ที่ลิเวอร์พูลครองแชมป์ตลอด แต่แมนยูสำหรับผมคือนักสู้ แล้วผมก็มีเลือดนักสู้ ชอบเชียร์มวยรองบ่อน แมตช์วัน Boxing Day ในปี 1985 ที่ชนะ 3 – 1 ประทับใจมาก ช่วงนั้นเขามีนักเตะอายุเยอะ ๆ ด้วย เรารู้สึกว่าทีมนี้มีความไม่เพอเฟกต์อยู่ มันใกล้ตัวเรา แต่พอต้องสู้กับคนเก่ง ๆ ก็สู้ตาย

2. บทเรียนจากฟุตบอลที่มาใช้ในการทำธุรกิจคือ…

สำหรับผม ไม่มีคำว่าพรสวรรค์ มันคือการฝึก รอโอกาส และเวลาที่ใช่ เราจะอยู่ในวันที่ตัวเองล้มเหลว แล้ววันที่สำเร็จจะโคตรมีความสุข กีฬามีแพ้มีชนะ แต่ถ้าคุณจะชนะแล้วยืนระยะยาวได้ ต้องฝึกฝนสม่ำเสมอ

3. ถ้าได้เขียนหนังสือหนึ่งเล่มจะเกี่ยวกับ…

เรื่องการทำงานและครอบครัว ถ้าสังเกตคนที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ จะมีปัญหาเรื่องครอบครัวหมดเลย แต่มันไม่ใช่ข้ออ้าง ความสำเร็จด้านการงานไม่ได้บอกว่าความเป็นคนของคุณสูงขึ้น อย่าโทษความสำเร็จว่าทำให้เราเปลี่ยนไป

4. บนโต๊ะทำงานคุณต้องมี…

มีนามบัตรและกระดาษโน้ตวางเกลื่อนไปหมด (หัวเราะ) อยากหาอะไรก็อยู่บนโต๊ะ 

5. ละครเวทีที่ชอบที่สุดคือ…

สี่แผ่นดิน มันสอนหลายเรื่อง เช่น ความกตัญญู การดูแลพ่อแม่ คุณค่าของคนที่บางคนตีค่าคนจากเงินในบัญชีที่เขามี การให้โอกาส ความเมตตา และสุดท้ายคือการไม่ลืมตัว

6. คุณสมบัติหนึ่งข้อในตัวเองที่อยากส่งต่อให้ลูกชาย-ลูกสาวคือ…

ความกตัญญู ผมมักขอให้เขารู้คุณคน เพราะสิ่งนี้จะเป็นโล่ที่ทำให้พวกเขามีแต่คนรัก มีแต่คนสนับสนุน สิ่งนั้นมีค่ากว่าเงินในบัญชีของผมเสียอีก

7. เสาร์-อาทิตย์ไปเจอคุณได้ที่…

ตามร้านอาหาร ตามห้าง เสาร์-อาทิตย์เป็นวันที่ผมอยู่กับครอบครัว แล้วก็ไปเจอกันที่บ้านแม่ ผมไปเยี่ยมแม่ทุกอาทิตย์

8. นักธุรกิจ 1 คนที่อยากดื่มกาแฟด้วยคือ…

Steve Jobs ผมชอบคนกล้าคิดต่าง เชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำใช่ ไม่มีถอยหลังกลับ ไม่มีคิดซ้ำสอง เขาสร้างบริษัทด้วยตัวเอง ถูกให้ออกแล้วก็กลับมาใหม่ คนสำเร็จล้มเหลวก็กลับมาสำเร็จได้ ผมชอบสไตล์คนนี้มากกว่า Jack Ma แจ็คพูดเก่ง แต่พูดเรื่องการเมือง นักธุรกิจเขาไม่พูดเรื่องการเมืองกันหรอก ถ้าพูดเรื่องการเมืองแปลว่าภัยมาถึงตัวแล้ว

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

วรุตม์ ไฉไลพันธุ์

เมื่อก่อนเป็นช่างภาพหนังสือเดินทาง ปัจจุบันเป็นช่างภาพกักตัวครับ