วันปัจฉิมนิเทศ โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

ภูมิ-ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนนักเรียน รับหน้าที่กล่าวอำลาบนเวที

  วินาทีที่ทุกสายตาจับจ้อง คาดหวังให้เขาเอ่ยถ้อยคำซาบซึ้งในโอกาสสุดท้ายก่อนออกจากรั้วสถาบันศึกษา เด็กหนุ่มชั้น ม.6 เลือกแฉเรื่องผู้อำนวยการคอร์รัปชันอย่างฉะฉาน ท่ามกลางความวุ่นวาย ขณะที่คนกลุ่มหนึ่งปรบมือเฮลั่น อีกกลุ่มลากเขาลงจากเวที 

หากต้องวาดการ์ตูนแนะนำตัวเจ้าของนามปากกา ‘สะอาด’ พระเอกของเรื่องที่คุณจะได้อ่านต่อไปนี้ นี่คือฉากเปิดที่เล่าอุปนิสัยใจคอและความคิดอ่านในวัยเด็กของเขาได้แจ่มแจ้ง

“กูไม่น่าเลย” นักเขียนการ์ตูนหนุ่มกล่าวกลั้วเสียงหัวเราะเมื่อนึกถึงวันนั้น

“ฝ่ายปกครองวุ่นมาก เรียกเราเพื่อจะไปขอขมาใหญ่โต เราก็เลยไปขอโทษ ผอ. ที่ผมซ่า แล้ว ผอ. ก็บอกว่า โตขึ้นเดี๋ยวก็จะเข้าใจเอง

“เราร้อนใจว่าทำไมเราเป็นคนแบบนี้ ทำไมกระด้างกระเดื่องแบบนี้ ทำไมลึกๆ เราต้องไม่พอใจกับสิ่งที่ทุกคนเขาโอเคอยู่แล้ว ความร้อนนี่มันมาถึงมหา’ลัย เพราะเราค่อนข้างชัดว่าอยากจะไปทางไหน แต่วัฒนธรรมที่เด็กต้องเรียนมหา’ลัย หรือการเรียนที่อาจารย์ขึ้นสไลด์แล้วพูดไปเรื่อยๆ มันทำให้เราต้องไปอยู่ในพื้นที่ที่เราไม่อยากอยู่ เราหาที่อยู่ของหัวใจไม่เจอ ขอใช้คำของวรพจน์ พันธุ์พงศ์ เพราะฉะนั้น เราก็เลยเอาที่อยู่ของหัวใจไปแปะไว้กับงาน”

สะอาด นักเขียนการ์ตูนแก๊ก/เพื่อสังคมผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและความละเอียดอ่อนเล่าเรื่อง

จาก ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง รวมเล่มการ์ตูนสั้นใน พ.ศ. 2554 ในวัยอุดมศึกษา สะอาดผลิตงานอย่างขยันขันแข็ง นอกจากเพจ Sa-ard สะอาด ครอบครัวเจ๋งเป้ง และ แก๊กสะอาด ที่เผยแพร่การ์ตูนหลากหลายบนโลกออนไลน์ ตั้งแต่เล่าเรื่องสังคมหนักอึ้ง ไปจนถึงการ์ตูนแก๊กเบาสมองให้ผู้ติดตามรวมหลายหมื่นชีวิต นักเขียนหนุ่มจากโคราชยังวาดรูปรวมเล่มหนังสือมากถึง 11 เล่ม ภายในเวลา 8 ปี 

นับจากปริมาณ สะอาดเป็นนักเขียนที่ขยันมาก 

นับจากคุณภาพ ลายเส้นของเขาคมขึ้น สะอาดขึ้น ความคิดลึกซึ้งขึ้นตามวัยและประสบการณ์

บทกวีชั่วชีวิต ผลงานเล่มล่าสุดที่เพิ่งออกเมื่อปีที่แล้วเป็นตัวอย่างรูปธรรมของการเติบโต การ์ตูนสั้น 5 เรื่องที่เล่าเรื่องชีวิตสามัญคล้ายผลงานเล่มแรก เล่นงานคนอ่านน้ำตาซึม เจ็บร้าวในอก อารมณ์ขันเบาหวิวและความเป็นเด็กถูกสลัดออก วัยหนุ่มแตกใบ เรื่องราวของผู้ใหญ่ผลิบาน 

เขารู้-เหมือนที่เราทุกคนรู้-การเติบโตเป็นเรื่องเจ็บปวด อยู่ที่ว่าคุณจะรับมือกับชีวิตแบบไหน

ไม่ว่าคุณจะรู้จักเขาจากเรื่องขบขันของเจ๋งเป้งกับซอนย่า เคยอ่านการ์ตูนวิพากษ์การศึกษาหรือสังคมไทยบางเรื่อง หรือคุ้นๆ ลายเส้นของนักเขียนสวมปี๊บคลุมหัวจากที่ไหน

สะอาด นักเขียนการ์ตูนแก๊ก/เพื่อสังคมผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและความละเอียดอ่อนเล่าเรื่อง

ครั้งนี้สะอาดเปิดเผยใบหน้า เส้นทางน้ำหมึกของจอมขบถผู้วาดชีวิตออกนอกกรอบ และยังเก็บไฟอุดมการณ์ไว้ในดวงตาเสมอ

สะอาด นักเขียนการ์ตูนแก๊ก/เพื่อสังคมผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและความละเอียดอ่อนเล่าเรื่อง

01

ชายหนึ่งคนออกเดินทางตามหาเสียงตัวเขา

ตอนเด็กๆ ทุกคนมักวาดบ้านที่มีปล่องไฟ มีก้อนเมฆ สะอาดวาดแบบนั้นไหม

วาด แล้วเราก็ชอบวาดบ้านไม้ที่มีทุ่งนา มีภูเขา แล้วก็มีอีกาบิน เราชอบวาดภูเขามาก เพราะว่าตอนเด็กๆ อยู่อำเภอปากช่อง โคราช เป็นเมืองภูเขา ถ้าสังเกตในการ์ตูนเรามักจะมีภูเขา เพราะว่าเราโตมากับภูเขา มองแล้วสบายใจ

สะอาด นักเขียนการ์ตูนแก๊ก/เพื่อสังคมผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและความละเอียดอ่อนเล่าเรื่อง

ตอนอยู่ปากช่อง คุณซื้อการ์ตูนที่ไหน 

มีประมาณสองร้านที่เปิดในอำเภอ ตอนนี้ก็ยังเปิดอยู่นะ บ้านเราอ่านการ์ตูนกันทั้งบ้าน เราอ่านตั้งแต่ประถมต้น ทั้งการ์ตูนไทยและญี่ปุ่น พี่เราซื้อทุกอย่างที่ออกตอนนั้น ออกปุ๊บซื้อปั๊บ ซื้อแมกกาซีนด้วย แมกกาซีนที่มีอิทธิพลกับเรามากคือ ThaiComic ที่ลงแต่การ์ตูนไทยล้วนๆ 

จริงๆ การ์ตูนหลายเรื่องในนั้นก็ไม่สนุกหรอก แต่ว่าวิบูลย์กิจเขายอมขาดทุนมั้ง มันมีช่วงหนึ่งที่ได้กำไร แต่หลังๆ ขาดทุนเยอะ เขาเอากำไรจากการพิมพ์การ์ตูนญี่ปุ่นมาพิมพ์ ThaiComic เพื่อปั้นนักเขียนไทย ก็ปั้นนักเขียนสำเร็จหลายคนนะ มีนักเขียนไปทำงานอยู่ในออฟฟิศวิบูลย์กิจ แล้วโตขึ้นเราก็เป็นนักเขียนเด็กๆ คนหนึ่งที่ไปเสนอผลงานที่ออฟฟิศ แล้วพี่ๆ ก็มาแนะนำว่าผลงานเราเป็นยังไงบ้าง แต่ว่าพี่ๆ เหล่านั้นเลิกเขียนไปแล้ว ตอนนี้บางคนไปขายเกม พูดแล้วเศร้า 

มีนักเขียนการ์ตูนจากปากช่องหรือโคราชอีกไหมนอกจาก ภูมิ ธนิสร์

ไม่น่ามี นักเขียนมีชาติ กอบจิตติ แต่นักเขียนการ์ตูนไม่มี 

ทำไมแดนย่าโมมีนักเขียนการ์ตูนแค่คนเดียว

เราว่าวัฒนธรรมการ์ตูนคือวัฒนธรรมคนเมือง มีความเป็นกรุงเทพฯ ค่อนข้างสูง ก่อนหน้านี้มันเคยเป็นวัฒนธรรมโลคอลมาก่อน ย้อนกลับไปช่วงการ์ตูนผีเล่มละบาท ขายหัวเราะ หรือว่าการ์ตูนแบบ มานะ มานี ปิติ ชูใจ ยุคนั้นลักษณะแบบหนังไทบ้าน นักเขียนต่างจังหวัดเข้ามาตามหาฝันในกรุงเทพฯ แล้วก็แสดงความเป็นชนบทเยอะ

แต่ว่ารุ่นนั้นเหมือนค่อยๆ หายไป เราเข้าใจว่าคนอ่านฝั่งต่างจังหวัดเริ่มไม่ค่อยอยากอ่านมั้ง หรือเขาเจอแหล่งบันเทิงที่สนุกกว่าก็เป็นได้ กลุ่มคนอ่านเลยมาโตในฝั่งญี่ปุ่น กลายเป็นว่าคนเขียนเลยไปทางนั้นมากกว่า ทุกวันนี้นักเขียนการ์ตูนที่เขียนอยู่ใน Line, Webtoon, comico หรือว่ายังพิมพ์งานอยู่ น่าจะโตมากับวัฒนธรรมเมืองและเข้าใจเซนส์ของคนเมือง

สะอาด นักเขียนการ์ตูนแก๊ก/เพื่อสังคมผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและความละเอียดอ่อนเล่าเรื่อง

ถ้าให้เลือกนักเขียนการ์ตูน 3 คนในดวงใจ จะเลือกใคร

(ตอบทันที) ทาเกฮิโกะ อิโนอูเอะ (Takehiko Inoue) คนวาด สแลมดังก์ (Slam Dunk) ครับ เพราะเขามีวิธีคิดที่พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ แบบไม่หยุด สังเกตจากงานชิ้นแรกที่ไม่ดัง ชื่อ Chameleon Jail เกี่ยวกับขโมยที่แปลงร่าง จำเนื้อเรื่องไม่ได้แล้ว การ์ตูนก็ห่วยมาก แล้วจากเรื่องนั้นมาสแลมดังก์ คือคนละเรื่องเลย ฝีมือพัฒนาไปสูงมากทั้งด้านภาพ เนื้อเรื่อง หรือว่าการสร้างบรรยากาศต่างๆ 

แล้วพอเขาไปเรื่องถัดไปเรื่อง Vagabond หรือเรื่อง Real ฝีมือยิ่งลึกเข้าไปอีก ทั้งที่จริงๆ เขาจะกลับมาเขียนแบบ สแลมดังก์ ก็ได้ เพราะมันเป็นงานแมสที่ขายดีที่สุดของเขา แต่เขาเลือกเขียนเรื่อง มูซาชิ (Musashi) หรือเรื่องของคนพิการ ซึ่งเขาก็น่าจะรู้ตัวว่างานไม่น่าจะขายดีขนาดนั้น แต่เขาก็ยังซื่อสัตย์แล้วก็ไปในวิถีทางนั้น พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ

อีกคนหนึ่งก็ ไทโย มัตสึโมโตะ (Taiyo Matsumoto) เขาเป็นนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นสายอินดี้หน่อยๆ มั้ง เราอ่านงานเขาไม่มากแต่ว่างานที่ได้อ่านก็ชอบ แบบชอบมากๆ รู้สึกว่าเกิดมาได้อ่านเรื่องนี้ก็ไม่เสียชาติเกิด (หัวเราะ) 

มีหนังสือบางเล่มที่เรารู้สึกขอบคุณที่เราได้อ่าน เรื่องนั้นคือ Sunny เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กกำพร้าในบ้านเดียวกัน เขาเล่าจากชีวิตประสบการณ์ส่วนตัวของเขา สิ่งที่เราชอบก็คือการเล่าตัวละคร มีรายละเอียดที่ถ้าไม่เคยอยู่บ้านแบบนั้นจะเขียนไม่ได้ เช่น ตัวละครเด็กที่ติดโคโลญจน์ ชอบดมตลอดเวลา คนอ่านก็งงว่าทำไมมึงติดโคโลญจน์วะ แล้วก็เฉลยทีหลังว่ากลิ่นโคโลญจน์อันนี้เป็นกลิ่นเดียวกับกลิ่นของแม่ เวลาคิดถึงแม่มันก็ดมโคโลญจน์นี้ แล้วมันเป็นเด็กที่เกเรมาก เป็นตัวป่วนในบ้าน แต่พอกลับไปเจอแม่จะกลายเป็นเด็กเรียบร้อยน่ารัก กลับไปเป็นเด็กแบบที่ควรจะเป็น 

ดีเทลแบบนี้ไม่ใช่นักเขียนการ์ตูนทุกคนทำได้ เล่าออกมาได้อย่างที่เรารู้สึก ทั้งในด้านเนื้อเรื่องแล้วก็ภาพของเขาดึงสไตล์ยุโรปเข้ามา การวาดฉากหรือวาดตัวละครไม่มีความเป๊ะแบบการ์ตูนสายหลักที่แสงเงาเป๊ะจากไม้บรรทัด เป็นฉากที่หลุดมาจากโรงงานอุตสาหกรรม งานของไทโย มัตสึโมโตะ วาดฉากแบบ Free Hand มีความอิมเพรสชันนิสม์ คล้ายๆ งานของแวนโก๊ะ (Van Gogh) หรือโมเนต์ (Monet) ทำให้เรารู้สึกถึงบรรยากาศของฉากบางอย่าง ที่การ์ตูนแบบที่เราคุ้นเคยไม่ได้ทำ

ถ้าอีกคนหนึ่งเราว่าเป็น พี่ตั้มวิศุทธิ์ พรนิมิตร เราว่ามะม่วงสมบูรณ์มาก แต่เขามียุคพรีมะม่วง เรารู้สึกว่ายุค hesheit เป็นยุคที่เขาวาดโดยไม่ได้แคร์ความสวยงามสมบูรณ์ขนาดนั้น แต่ว่าถ่ายทอดให้เราดื่มด่ำกับเนื้อเรื่องได้

ช่วงที่ตัดสินใจว่าจะเป็นนักเขียนการ์ตูนอาชีพคือตอนไหน

อายุสิบเจ็ด เราเดบิวต์การ์ตูนตอนสั้นกับ a book ในเล่ม Seven ที่มี พี่อัพทรงศีล ทิวสมบุญ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่วงการการ์ตูนกำลังเฟื่องฟู มีสำนักพิมพ์ที่พยายามทำการ์ตูนอินดี้ จึงเป็นช่วงแสวงหาโอกาส

เราอยู่มอห้า ตั้งใจว่าจะจริงจังกับอาชีพนักเขียนการ์ตูน แต่ว่าเส้นทางมันไม่เห็นอะไรหรอก นักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นก็เทียบยาก เพราะสเกลมันคนละโลก เขามีผู้ช่วยห้าถึงหกคน เราก็เลยมามองสเกลเล็กๆ ตั้งใจทำงานที่เราอยากทำมากๆ ออกมาเป็นหนังสือเล่มหนึ่งด้วยตัวคนเดียว อดหลับอดนอนคิดมันออกมา 

เราเคยฝันว่าเรากำลังจะตาย แต่ว่ายังตายไม่ได้ ขอเขียนการ์ตูนเล่มนี้ (ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง) ให้จบก่อน จริงจังกับมันมาก เพราะพาร์ตอื่นๆ ของชีวิตเราพังหมดเลย ความรักเราพัง การเรียนเราพัง กับครอบครัวเราก็ทะเลาะอย่างแหลกลาญเพราะว่าเราเอาแต่เขียนการ์ตูน เสาหลักของเราคือการเขียนการ์ตูนเท่านั้น เหมือนมันเป็นเมียที่แท้ของเรา เขียนๆๆ อย่างเดียว 

สะอาด นักเขียนการ์ตูนแก๊ก/เพื่อสังคมผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและความละเอียดอ่อนเล่าเรื่อง
สะอาด นักเขียนการ์ตูนแก๊ก/เพื่อสังคมผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและความละเอียดอ่อนเล่าเรื่อง

นี่คือช่วง Phase 1 ของการเป็นนักเขียนการ์ตูนมืออาชีพ

ใช่ เป็นอย่างนี้จนออกหนังสือสามเล่มในช่วงมหา’ลัย (ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเองนิทานโลก ชายผู้ออกเดินทางไปญี่ปุ่นด้วยการ์ตูนของตัวเอง) เราเรียนมหา’ ลัยไปด้วย แต่เหมือนเรียนเป็นงานอดิเรก ทำงานเป็นหลัก เราโฟกัสกับการเขียนให้ดีที่สุด เรียกว่าเป็นช่วงพี่ตูนแล้วกัน เป็นเฟส พี่ตูน บอดี้สแลม ชีวิตมันต้องเดินตามหาความฝัน ที่สุดมันจะไม่คุ้ม แต่มันก็ดี 

อะไรทำให้คุณกอดเสาหลักการเขียนนี้ไว้ ถึงอย่างอื่นล้มก็ไม่เป็นไร

เราเหงามั้ง เหมือนกับว่าเราเคว้งคว้างในฐานะวัยรุ่นคนหนึ่ง เราแค่หาที่ยึดเหนี่ยว แล้วตอนนั้นการเขียนการ์ตูนเป็นศาสนาของเรา การ์ตูนมีความโรแมนติกตรงที่เป็นงานหนัก ลงแรงเยอะ เราต้องคิดพล็อต ต้องแก้สตอรี่บอร์ด ต้องวาดต้นฉบับ ทำไปก็ปวดหลังไป อดนอนไป เราก็ทรมาน แต่พอมันเสร็จ พระอาทิตย์ขึ้นพอดี มันก็สวยงามเหมือนเพลงพี่ตูน นึกออกมั้ย มันสอดรับกับอารมณ์ว่าเรากำลังต่อสู้กับความยากลำบากเพื่อทำหนังสือ แล้วเราก็ดีใจแล้ว วันนี้มีคนชมนะเว้ย เป็นความโรแมนติกของวัยรุ่นตามฝัน 

ความเหงา ความโรแมนติก นี้มันมาจากไหน ขาดอะไรถึงต้องให้การเขียนการ์ตูนเป็นที่พึ่ง

เราเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาที่รู้สึกหลงทางในระบบอย่างมาก เราเริ่มรู้ตัวว่าไม่เหมาะกับการอยู่ในห้องเรียนตั้งแต่มอปลาย เราคุยกับแม่ เขียนในไดอารี่ด้วยว่าไม่อยากเรียนหนังสือแล้ว เราเรียนก็เพื่อให้แม่ แม่ก็เคยเขียนจดหมายตอบเราว่ามึงเรียนไปเหอะ (หัวเราะ) มหา’ลัยก็เหมือนกัน เราก็ไม่อยากเรียนเพราะจะไปเขียนการ์ตูนอย่างเดียว เรารู้สึกว่าระบบการศึกษา สิ่งที่ครูสอน การสอบที่มันลอกกัน มัน Bullshit เราแค่เรียนให้จบตามที่พ่อแม่ต้องการ

ความคับข้องใจนี่เริ่มจากตอนที่ย้ายมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ใช่มั้ย

หมายถึงความกระด้างกระเดื่อง ความขบถใช่มั้ย เราว่าแมกกาซีน เพราะเราเริ่มอ่านหนังสือมากขึ้น ไม่ใช่แค่การ์ตูน จากแมกกาซีนก็เริ่มกระโจนไปสู่นิตยสาร สารคดี OPEN แล้วกระโจนไปสู่การเมือง เศรษฐศาสตร์ ตอนมอปลายเราก็ไปห้องสมุดคนเดียวอย่างลำพัง 

เรารู้สึกว่าชีวิตมนุษย์เกี่ยวโยงกับสังคม แล้วก็เริ่มเห็นภาพกว้างว่าระบบการศึกษาเกี่ยวโยงกับสิ่งเหล่านี้ เริ่มวิพากย์กลับไประบบการศึกษาที่เราเรียนอยู่ เป็นความรู้สึกที่โดดเดี่ยวมากนะ เพราะว่ายังไม่มีคนที่ลุกขึ้นยืนประท้วงว่าระบบการศึกษาไม่ถูกต้องอย่างยุคสมัยนี้ ตอนนั้นเป็นความรู้สึกว่า มันไม่ถูกว่ะ แต่ว่าทำไมกูเป็นคนแบบนี้ มันทับกัน อย่างช่วงที่เราไม่อยากเรียนมหา’ลัย พี่สาวเราพูดว่า “ภูมิอ่านหนังสือเยอะเกินไป ถึงมีปัญหากับชีวิตแบบนี้” ตอนนั้นเราก็เชื่อครึ่งหนึ่งนะ เรารู้สึกผิดที่ทำตัวมีปัญหา 

สุดท้ายเราก็เข้าไปเรียนวารสารศาสตร์ด้วยบังคับของแม่ แต่เราก็เลือกสิ่งที่ชอบ วิชาเรียนก็ตั้งใจมาก ถึงจะเป็นงานอดิเรกเพราะเขียนการ์ตูนหนักกว่า แต่โดยภาพรวมเรามีความสุขกับมหา’ลัยนะ ทำให้เรารู้สึกว่าจบออกมาแล้ว จะเป็นสื่อที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมในฐานะฐานันดรที่สี่ จิตวิญญาณของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เข้ามาในหัวเลย เราเป็นหมาเฝ้าบ้าน พร้อมจะสละตนเอง แล้วพอเรียนจบ ก็เกิดรัฐประหาร พ.ศ. 2557 

สะอาด นักเขียนการ์ตูนแก๊ก/เพื่อสังคมผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและความละเอียดอ่อนเล่าเรื่อง

02

และเขาไปในหนทางที่วกวน

เป็นจุดตัดในชีวิต

(พยักหน้า) สื่อโดนปิด แมกกาซีนก็โดนปิด สิ่งพิมพ์ปิด วงการการ์ตูนก็ตกต่ำลง สิ่งที่เราคาดหวังเติบโตมาทั้งหมดทั้งมวลไม่เป็นอย่างที่คิด รวมถึงรุ่นพี่ที่เขียนการ์ตูนเราก็เลิกเขียนไปเป็นจำนวนมาก 

เราอกหักในหลายๆ แง่ รู้สึกว่าหนังสือพิมพ์หรือวงการสื่อทำแบบยุคกุหลาบไม่ได้แล้วด้วยหลายๆ เหตุผล เช่น เขาเป็นมหาชน มีผู้ถือหุ้นจำนวนมาก เขาเสี่ยงให้หนังสือโดนปิด ไปติดคุกแล้วออกมาเปิดใหม่ไม่ได้ เศรษฐกิจก็ไม่เอื้อให้สร้างธุรกิจขึ้นมาง่ายแบบนั้นอีกต่อไป ผู้ถือหุ้นก็มีบทบาทว่าข่าวแบบนี้เล่นได้ เล่นไม่ได้ในโลกหนังสือพิมพ์ เราก็รู้สึกว่าโดดเดี่ยวอีกแล้วกู (หัวเราะ) แต่โดดเดี่ยวก็ไม่เป็นไร เรารู้สึกว่าสุดท้ายต้องพูดเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก จะบอกว่ามันเป็น Norm ของประเทศนี้ไม่ได้ 

แล้วเรามีเพจ เรามีชื่อเสียงประมาณหนึ่ง เรามีการ์ตูน ก็เลยใช้สิ่งเหล่านี้ไปยันกับสังคมว่ามันไม่ถูกต้อง จำเป็นต้องแซะ จำเป็นต้องพูดถึง

ไม่กลัวเหรอ

กลัวเหมือนกัน กลัวโลก กลัวคนเกลียด กลัวคนไม่คุยกับเรา กลัวคนเห็นคนต่างทางการเมือง เพราะเราแหลมไปด่าเขา เราจึงแหลมในเรื่องสำคัญ เช่น โครงสร้างหรือการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ แต่ตอนนั้นมีแต่ความเงียบ เราพูดออกมาด้วยเซนส์แบบกุหลาบ ช่วงนั้นบั่นทอนเราเยอะมาก ในแง่วิชาชีพก็ต้องปรับตัว เราไม่ชอบใช้เฟซบุ๊ก แต่ก็หนีไม่ได้ ต้องสื่อสารทางออนไลน์ การเปลี่ยนแปลงมันเร็วและโหดมาก ต้องปรับตัวและวิธีคิดอย่างมหาศาล 

สะอาด นักเขียนการ์ตูนแก๊ก/เพื่อสังคมผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและความละเอียดอ่อนเล่าเรื่อง

ผลผลิตของช่วง Phase 2 นี้เป็นยังไง 

เกิดจากความเจ็บช้ำ ไปทำงานอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการ์ตูนก็มี เนื้อหาการ์ตูนมังงะก็เชื่อมโยงกับสังคมมากขึ้น ตามความเชื่อของเราที่ว่า สิ่งใดสำคัญ สิ่งนั้นสื่อสาร งานที่เราลงแมกกาซีนแทบจะเอาวิชาการมาแปลเป็นการ์ตูนให้สนุก ช่วงนั้นออกการ์ตูนเยอะ (พ.ศ. 2557 – 2559) ทั้ง คน/การ์ตูน/หมา สยามแสยะ ตูดเด็กวิทยา ครอบครัวเจ๋งเป้ง 1 ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว 

คนชอบ ครอบครัวเจ๋งเป้ง เยอะ แต่เรารู้ตัวว่าทำได้ดีกว่านี้ ย้อนกลับไปมองงานช่วงนี้ เรายังไม่พอใจคุณภาพ ความผิดพลาดของวิชาชีพเราคือการพยายามออกหนังสือให้ทันงานหนังสือ ซึ่งมันเป็นปัญหาใหญ่ของวงการหนังสือนะ คนที่มีวินัยเขาอาจจะทำได้ แต่เราไม่ได้มีวินัยขนาดนั้น มันก็เลยเป็นการเค้นศักยภาพแบบ 2 Month Miracle (หัวเราะ) น่าจะใจเย็นกว่านี้หน่อย มีแผลเยอะทั้งเนื้อหา พิสูจน์อักษร การพิมพ์ แผลที่เกิดขึ้นมันยาวกว่าหนังฉายโรง ระยะยาวไม่คุ้มเลย

เราอยากจะอยู่วงการนี้ยาวๆ เท่าที่จะทำได้ เลยกลับมาคิดเรื่องเคารพคนอ่าน ไม่ต้องออกให้ทันงานก็ได้ ไปออกงานเล็กๆ อื่นๆ ก็ได้ พยายามโปรโมตในโซเชียลมีเดีย เปลี่ยนวิธีคิดเพื่อสอดรับกับการทำงานที่รอนิดหนึ่ง ไม่ต้องเร่งให้ทันเดดไลน์ เพราะว่าการออกหนังสือปีละสองเล่ม สำหรับเนื้อบางประเภท เราว่าเร็วไป และอันตรายสำหรับนักเขียนที่พยายามจะเขียนทุกอย่างให้ออกมาให้ได้

นอกจากความโกรธสังคม ซึ่งดูจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในงานตลอดมา อะไรคือแรงขับเคลื่อนอื่นๆ ของสะอาด 

พี่ตูนเป็นแรงบันดาลใจหนึ่ง อีกอย่างเราเป็นขาโรแมนติก ลึกๆ เราเป็นคนอ่อนโยน ในสารคดีประเด็นสังคม เราพยายามเล่าชีวิตจิตใจคน เราชอบรับฟังคน ชอบดูหนังดราม่าเกี่ยวกับชีวิต ไม่ใช่แนววิพากษ์จ๋า ต้องปฏิวัติ รู้สึกว่าการขับเคลื่อนทางสังคมมันต้องไปพร้อมกับความเป็นมนุษย์ที่ละเอียดอ่อน

คนมักติดภาพความตลกโปกฮาในงานเรา แต่มันมีความละเอียดอ่อน เช่น การวาดภาพภูเขา ชมนก ชมไม้ มีซีนเล่าแบบเอื่อยๆ อยู่ในนั้น หากเป็นนักเขียนการ์ตูนยุคหลังๆ เราสังเกตว่าเขาจะไม่ค่อยวาดซีนถ่ายทอดฉากหรือบรรยากาศเท่าแต่ก่อน เพราะคงคิดว่านักอ่านยุคนี้คงไม่มาเสียเวลาแช่สายตากับอะไรแบบนี้ต่อไปแล้ว แต่เราไม่ชอบความเร็วของจังหวะการอ่านที่ไม่มีช่วงพักอารมณ์ ฉากคือการเล่าเรื่องที่ใส่ความละเอียดและความรู้สึกลงไป ฉากเราตอนหนึ่งมักไม่เกินห้าช่อง ใส่ฉากเป็นหน้าคู่หรือเท่าไหร่ก็ได้ 

อะไรคือคำวิจารณ์หรือปฏิกิริยาตอบรับที่คุณรู้สึกประทับใจที่สุดตั้งแต่ทำงานมา

(เงียบคิด) “งานสะอาดโตขึ้นเรื่อยๆ” มีคนที่อ่านงานเราตั้งแต่ยุคแรก และอ่านเล่มหลังๆ เราด้วย เหมือนคนอ่านมาอวยพรให้งานของเรา ในแง่วิชาชีพ เราไม่ได้หยุดอยู่กับที่ 

สะอาด นักเขียนการ์ตูนแก๊ก/เพื่อสังคมผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและความละเอียดอ่อนเล่าเรื่อง

คำวิจารณ์ไหนที่รู้สึกว่าเจ็บ แต่ว่าจริง

ไม่มีชัดๆ แต่สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดที่สุดคือความผิดหวัง เราคาดหวัง ทุ่มเทกับประเด็นสังคมมาก ไปสัมภาษณ์คน ใช้เวลากับงานสองถึงสามเดือน แต่งานมันไม่ไป การไม่พูดอะไรเลยแรงกว่าคำวิจารณ์อีก มันคือการเพิกเฉยของ Algorithm ของภาพรวม 

หน้าที่ของนักเขียนในงานเปลี่ยนแปลงสังคมมีมากขนาดไหน

เราคิดหลายแง่มาก หากคิดในแง่เพื่อสังคม เราอาจต้องเล่นตามกระแสทุกทางเพื่อเพิ่มยอด Follower ของเรา การทำงานแบบนั้นใกล้งานแบบนักข่าว แต่ทำคนเดียวบั่นทอนจิตใจมากๆ เหมือนหมาป่าที่ต้องไล่ล่าประเด็นต่างๆ ทั้งที่อาจไม่อิน แต่ต้องทำ มันทำให้เราคาดหวังกับผลตอบรับมากกว่าปกติ พอไม่ได้ ข้างในก็พัง 

ในขณะเดียวกันเราก็ทำงานเรื่องการศึกษา ด้วยความรู้สึกว่าคนอ่านสองร้อยกว่าคนก็ได้ แต่ขอเป็นสองร้อยกว่าคนที่ได้อะไรจากมันจริงๆ หรือเขาไม่อ่านก็ไม่เป็นไร เพราะอย่างน้อยเราก็ประสบความสำเร็จแล้ว ที่ได้มาศึกษา ได้มาถอดบทเรียนจากชีวิตเราในการศึกษา คือเราเติบโตจากผลงานชิ้นนี้แล้ว เราจึงไม่ได้คาดหวังกับผลลัพธ์ Model ในระยะยาวไปได้ไกลกว่า

เรามีช่วงเวลาที่อยากทำงานเพื่อชาวบ้าน พบว่าชาวบ้านยากจน เงินที่ทำงานมาทั้งปีเท่ากับเราทำงานชิ้นนี้ เพราะฉะนั้นเงินก้อนนี้สำคัญมากๆ ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่พอมันไม่เป็นดั่งใจหวัง เราควรรับเงินก้อนนี้ดีไหม จะเอาเงินก้อนนี้ไปทำอะไร ไปคืนชาวบ้านดีมั้ย หรือควรไปขอโทษชาวบ้าน เราจะทำหน้าที่นี้ต่อไปได้ไหม หรือเราควรไปเขียนการ์ตูนต่อสู้ หรือทำประเด็นสังคมเป็นเรื่องแต่งไปเลย 

ความรู้สึกเหล่านี้มันอยู่กับเรานานจนเรามาตกผลึกได้ว่า “เราต้องทำงานที่เราจะงอกงามกับมันด้วย” มาจากพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล 

ถ้าเราอยากต่อสู้เพื่อชาวบ้าน แต่ชาวบ้านไม่เอา หรือรัฐบาลไม่เอาด้วย ข้างในมันพัง เสี่ยงเป็นซึมเศร้าเพราะความคาดหวัง เราหันไปอ่านปรัชญาตะวันออก มูซาชิ เราพบว่าข้างในเราต้องแข็งแรง ต้องแน่นก่อน

สะอาด นักเขียนการ์ตูนแก๊ก/เพื่อสังคมผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและความละเอียดอ่อนเล่าเรื่อง

03

ยังได้ยินอยู่ใช่ไหม เสียงของตัวเธอเอง

พอเรียนรู้เรื่องนี้ แก้ปมในใจได้ไหม

ความคลี่คลายไม่มีอยู่ร้อยเปอร์เซ็นต์ มันจะคลี่คลายแล้วกลับมาทุกข์ กลับมาคลี่คลาย วนไปเรื่อยๆ ในชีวิต เฟสนี้เราหันกลับไปมอง พบว่ามีคนซื้อหนังสือของเราเยอะมาก นักเขียนรุ่นพี่ก็มาคุยกันว่าพวกเราก็ถือเป็นยุคทองของวงการการ์ตูน ตอนนั้นนักเขียนการ์ตูนได้ออกทีวี เป็นพรีเซ็นเตอร์ หรือว่ามีชื่อเสียง 

พอยุคที่ตกต่ำ พี่ๆ นักเขียนเริ่มเลิกเขียน ทำให้เรารู้สึกสิ้นหวัง วงการการเขียนการ์ตูนมันโหดใช้ได้ พี่คนหนึ่งทำมายี่สิบกว่าปี เลิกเขียนไปต่อหน้าต่อตา พี่อีกคนหนึ่งที่เราชื่นชมมากตอนเด็ก ต้องไปทำงานเป็นยาม และตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว พี่ที่เก่งมากๆ หลายคนไปทำอาชีพอย่างอื่นเพราะอาชีพนักเขียนการ์ตูนต้องลงแรงเยอะ และได้ตังค์น้อย 

วงการโซเชียลมีเดียได้สร้างนักเขียนการ์ตูนจำนวนหนึ่งที่วาดไม่ต้องเก่งก็ได้ แต่มีความคิดสร้างสรรค์ในการเป็น Creator สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายชัดเจน สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด และรวยมากๆ  ทำให้นักเขียนการ์ตูนบางคนที่ฝึกฝีมือแทบตาย ฝึกวิธีการเล่าเรื่องแทบตาย ทักษะของเขาที่ไม่ถูกต้องกับฟอร์มของเฟซบุ๊กก็ต้องล้มเลิกไป แล้วย้อนมาที่ตัวเรา เราจะไปรอดไหม งานเราจะล่มสลายไหม

ดังนั้น สะอาดจะไปต่อยังไง

ช่วงนี้คือเริ่มเข้า Phase 3 คือการตกผลึกว่าสุดท้ายเราต้องทำอาชีพนี้ โดยไม่รู้จะตายเมื่อไหร่เหมือนคนเป็นมะเร็ง เราจะโฟกัสแม่นยำขึ้น เหมือนคนจะตาย สิ่งสำคัญมีไม่กี่อย่าง คือการทำแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เต็มที่ทั้งเนื้อหา ทั้งการพิมพ์ กว่าจะเป็นหนังสือที่คนอาจสะสมได้

พอเราเริ่มเขียนงานช่วงนี้ (ครอบครัวเจ๋งเป้ง 2 การศึกษาของกระป๋องมีฝัน บทกวีชั่วชีวิต) เรารู้สึกขอบคุณคนอ่านมากที่ยังอยู่กับเรา ตามอ่านงานเรา ก่อนหน้านี้เราพูดเรื่องการเมืองเยอะมาก ต้องเป็นกลุ่มคนอ่านที่เหนียวมาก เราเขียนตั้งแต่มังงะ แก๊ก สารคดี เรื่องการเมือง คนอ่านแก๊กคือคนอ่านในเฟซบุ๊ก ส่วนคนอ่านมังงะคือคนที่อ่านการ์ตูนญี่ปุ่น และคนอ่านสารคดีคือกลุ่มคนที่ชอบประเด็นสังคม 

เราตกผลึกได้ว่า น้อยไม่เป็นไร เราเชื่อฟีดแบ็กของคนอ่าน ถ้ายังดี ถ้าเขายังได้รับคุณค่าจากมันจริงๆ ก็ไม่เป็นไร มันคือการออกแบบวิชาชีพระหว่างงานที่ทำแล้วได้เงินและงานเขียนการ์ตูน

สะอาด นักเขียนการ์ตูนแก๊ก/เพื่อสังคมผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและความละเอียดอ่อนเล่าเรื่อง

งานได้เงินไม่ใช่การเขียนการ์ตูนเหรอ

เป็นงานออกแบบของเล่น เราทำงานกับพี่ชาย ทำสำนักพิมพ์ไก่3 รายได้หลักมาจากการทำเสื้อ ทำของเล่น รับงานจ้างเป็นการ์ตูนที่เราได้ออกแบบ เขียนบทเล่าเรื่อง ส่วนหนังสือเป็นพื้นที่ที่เราสนุก เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของเรา คนที่ชอบหนังสือจริงๆ ก็มีแนวโน้มจะซื้อสินค้าอื่นที่เราผลิตมา อย่าง ครอบครัวเจ๋งเป้ง เป็นคาแรกเตอร์ที่คนชอบ ก็ทำสินค้าได้

ปลายทางทุกทางของสะอาด ยังคงเป็นสร้างความเปลี่ยนแปลงกับสังคมนี้เสมอใช่ไหม

มีเป้าหมายแต่ละกลุ่มต่างกัน ยกตัวอย่างเรื่องงานที่สะท้อนประเด็นการศึกษาในหลายมิติ ในแง่การอ่าน เราแค่อยากให้คนอ่านสนุก เป็นเพื่อนเราและมีเราเป็นเพื่อน ท่าทีของงานเป็นเหมือนเพื่อนเล่าเรื่องให้ฟังมากๆ แต่จุดยืนที่พูดสอดคล้องกับจุดยืนทางการเมืองเรื่องประชาธิปไตย ตำแหน่งของเราและคนอ่านเท่ากัน ซึ่งสำคัญมากในเรื่องความเท่าเทียมในสังคม 

คงไม่มีเด็กที่โตไปทำพรรคการเมือง แล้วประสบความสำเร็จ ทำให้เผด็จการออกจากประเทศไทยเพราะหนังสือของสะอาด คงไม่มีแบบนั้น เราอาจเปลี่ยนความคิดเขาแค่ 0.00001 เปอร์เซ็นต์ กับมีศิลปินอีกจำนวนมากที่ไปเปลี่ยนเขาอีก 0.00001 เปอร์เซ็นต์ แล้วขมวดกันเป็นหนึ่งเปอร์เซ็นต์ไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย

ไม่คิดอยากเป็นกุหลาบ สายประดิษฐ์ ของเด็กๆ ยุคนี้เหรอ

กุหลาบจะไม่มีอีกแล้ว เราคิดอย่างนั้น เพราะ Mass กำลังจะตาย หมายความว่าสื่อหลักกำลังจะไม่อิทธิพลกับสังคมอีกต่อไปแล้ว กุหลาบถ้ามาอยู่ในยุคนี้ก็อาจเจ็บปวดนะ จะใช้ทวิตเตอร์ยังไง ต้องเข้าใจความคิดเด็กรุ่นใหม่ ต้องมาคิดแฮชแท็กคล้องจองด้วยฮาด้วย ต้องรื้อวิธีคิดใหม่ แต่จิตวิญญาณของกุหลาบยังคงอยู่

คิดว่างานของสะอาดจะยังสะท้อนสังคมร่วมสมัยหรืออยู่รอดในอนาคตไหม

ไม่คิด ไม่สนใจ เราเชื่อในสิ่งที่เราเขียน เราจะไม่คิดเรื่องเล็ก เพราะถ้าคิดเรื่องเล็กๆ เราก็จะเศร้าอีก เราไม่เอาคนอ่านมาเป็นปัจจัยในการดำรงวิชาชีพ ต้องมีงานที่คนอ่านคิดว่าไม่เห็นด้วยแน่ๆ แต่อย่างน้อยถ้าเราเชื่อเราจะไปต่อได้ เราคิดแค่นี้ แล้วเราก็คิดบ่อยๆ

เราเป็นแฟนคลับของนักเขียนที่ชื่อ วินทร์ เลียววาริณ และ ปราบดา หยุ่น มาตั้งแต่เด็กๆ วินทร์เลี้ยงชีพที่ด้วยการเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียว ขายอย่างต่อเนื่องให้บริษัทมีสินค้าออกมา ทำเว็ปบอร์ด สร้างคอนเน็กชัน ในแง่นักเขียน วินทร์คือนักเขียนที่เก่งสุดเพดาน แม้ว่าเราไม่ได้ติดตามงานเขาแล้ว ต้องยอมรับว่าในแง่วิชาชีพเขาน่านับถือ อยู่รอดได้จริง

ส่วนปราบดา เหมือนทำงานแบบศิลปินมากกว่า ดูไม่ได้แคร์แฟนหนังสือเล่มเก่าๆ ว่าจะชอบงานใหม่ไหม เขียนแต่ละงานอินดี้ขึ้นเรื่อยๆ บางงานเราก็เข้าไม่ถึง หรือบางทีก็ออกเป็นบทความทางการเมืองไปเลย แต่ทุกเล่มที่เราอ่าน เราจะรู้เขาตั้งใจทำมันออกมาจริงๆ ส่วนเรื่องตังค์ก็ไปหาทางอื่นเอา ซึ่งเราก็อยากทำงานแบบนี้ เพราะถ้าจะให้ไปหวังเขียนการ์ตูนออกเป็นหนังสือเพื่อเลี้ยงชีพอย่างเดียวมันยากเกิน สงสารพ่อแม่และเมียเราในอนาคตด้วย (หัวเราะ)

คำถามสุดท้าย สะอาดจะทำอย่างไรให้ไม่โตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เคยเกลียด 

ยากมาก เราคิดว่าผู้ใหญ่ทุกวันนี้กำลังจะเป็นสิ่งที่ตอนเด็กเคยเกลียด แต่ว่าตอนนี้เขาไม่ได้เกลียดตัวเอง เพราะมนุษย์หาคำอธิบายที่ถูกต้องให้กับตัวเอง เป็นพระเอกในโลกของตัวเองเสมอ เรามีข้ออ้างว่าเราทำเพื่อคนอื่นๆ หรือในตอนเด็กๆ เราไม่เข้าใจบริบทจำนวนมาก

การเป็นเหมือนที่เราเคยเชื่อ ซึ่งความเชื่อนี้สำคัญมากในวัยหนุ่มสาว คือการประเมินตัวเองอย่างลึกซึ้ง หลักการคือคุณต้องหาคำอธิบายให้ตัวคุณเองอย่างซื่อสัตย์ เพราะความคิดของเรามันมีคำอธิบายที่ปลิ้นปล้อน ซึ่งทำให้เราเชื่อคำนั้นไปตลอดชีวิตได้ แต่ถ้าเราซื่อสัตย์พอ มันก็มีแนวโน้มที่จะลดลง

สะอาด นักเขียนการ์ตูนแก๊ก/เพื่อสังคมผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและความละเอียดอ่อนเล่าเรื่อง

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographers

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล

Avatar

ปัณฑารีย์ วจิตานนท์

เชื่อว่าความทรงจำอยู่ในภาพถ่าย สะสมกลักฟิล์มบางครั้ง ทำประจำคือไปคอนเสิร์ต