ธุรกิจ : บริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน)

ประเภทธุรกิจ : อาหารแปรรูปและขนมขบเคี้ยว

ปีก่อตั้ง : พ.ศ. 2527

อายุ : 37 ปี 

ผู้ก่อตั้ง : ดร.เจริญ รุจิราโสภณ

ทายาทรุ่นสอง : คุณจรัสภล รุจิราโสภณ และ คุณจรัญพจน์ รุจิราโสภณ

สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้บริหารควรดูแล ควรใส่ใจ คืออะไร 

ทำอย่างไรให้ทายาทธุรกิจเข้ามาสืบทอดกิจการได้อย่างราบรื่น 

ทำอย่างไรให้คนเก่งๆ อยากมาทำงานกับแบรนด์ไทยที่เป็นธุรกิจครอบครัว 

คำตอบทั้ง 3 ข้อนี้ อยู่ในเรื่องราวของแบรนด์อาหารอันคุ้นเคย ‘ส.ขอนแก่น’ แบรนด์ไทยแท้ที่ฝันจะไปไกลในระดับโลก

ในอดีต ส.ขอนแก่น ยังเป็นร้านจำหน่ายของฝากเล็กๆ แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ สินค้ามีตั้งแต่หมูแผ่น หมูหยอง กุนเชียง จนถึงถั่วตัด เป็นกิจการที่เริ่มจากการซื้อมาขายไป 

วันหนึ่ง ดร.เจริญ รุจิราโสภณ ต้องการยกระดับของสินค้าของฝากไทยจริงๆ จึงตัดสินใจลงทุนซื้อเครื่องจักรและเทคโนโลยี เพื่อผลิตอาหารพื้นบ้านของคนไทยให้มีคุณภาพขึ้นมาเอง ยกตัวอย่างเช่น การทำแหนม เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ร้านค้าในตลาดวางท่อนแหนมใส่เขียง ใช้มีดหั่น ห่อใบตองแล้วใส่ถุงขาย แต่ ดร.เจริญ ต้องการทำแหนมที่สะอาด ไว้ใจได้ จึงนำเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์จากสเปนเข้ามา เป็นบรรจุภัณฑ์ที่หายใจได้ กล่าวคืออากาศออกมาได้ แต่ยังคงรักษาความชุ่มชื้นและความฉ่ำของเนื้อหมูได้ ทำให้แหนมของ ส.ขอนแก่น รสชาติดี อร่อย และสะอาด

ในช่วงนั้น ผู้บริโภคยังเชื่อว่าแหนมที่ดีต้องเป็นสีชมพูจัดๆ แต่ ส.ขอนแก่น ก็ค่อยๆ สื่อสารให้คนเข้าใจถึงสินค้าที่มีคุณภาพ แหนมสีธรรมชาติ จนลูกค้าเริ่มไว้ใจและเชื่อมั่นใน ส.ขอนแก่น ยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน ส.ขอนแก่น มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่สินค้าพื้นเมือง อาทิ แหนม หมูยอ ไส้กรอกอีสาน สินค้าประเภทอาหารทะเล เช่น ลูกชิ้นปลา อาหารแช่แข็ง ตลอดจนร้านอาหารอีสาน แซ่บคลาสสิก และร้านข้าวขาหมูยูนนาน

พ่อบอกว่า “ง่ายนิดเดียว” 

จรัสภล รุจิราโสภณ หรือ คุณภล ลูกชายคนโตของตระกูล เข้ามาช่วยธุรกิจที่บ้านหลังเรียนจบมหาวิทยาลัยทันที ในช่วงแรกคุณพ่อ (ดร.เจริญ) ได้ให้คุณภลไปลองทำงานขาย และแนะนำให้รู้จักกับ Supplier รายใหญ่ๆ ของบริษัทก่อน เพื่อให้เข้าใจและรู้จริงในสิ่งที่ทำ 

แก่นธุรกิจของ ส.ขอนแก่น ในมือทายาทรุ่นสอง บริษัทรวมพลคนเก่งเพื่อพาอาหารไทยสู่ตลาดโลก

“ตอนแรก ไม่ได้คิดอยากจะมาทำธุรกิจครอบครัวขนาดนั้น ช่วงเด็กๆ ก็ไปช่วยเรียงสินค้าบ้าง ตามคุณพ่อคุณแม่ไปออกงานอีเวนต์บ้าง จึงคิดเพียงว่า โตมาก็คงต้องทำ”

แต่โปรเจกต์หนึ่งทำให้คุณภลเริ่มสัมผัสถึง ‘ความสนุก’ ในการทำธุรกิจของที่บ้าน 

หลังเรียนจบปริญญาโท คุณภลเข้ามาทำงานที่ ส.ขอนแก่น อย่างเต็มตัว ในช่วงนั้น คุณพ่อกำลังทำโปรเจกต์ใหม่ในยุโรป จึงให้คุณภลและทีมงานอีก 4 คน ไปประจำที่โปแลนด์เพื่อเจรจาคุยกับโรงงาน เพื่อผลิตไส้กรอกอีสานและแหนมจำหน่ายในยุโรป 

ก่อนคุณภลออกเดินทางไปโปแลนด์ คุณพ่อบอกเขาว่า พ่อจัดการคุยกับโรงงานไว้หมดแล้ว ง่ายนิดเดียว ได้นั่งรถไฟไปเที่ยวยุโรปด้วย คุณภลจึงตกปากรับคำทันที 

แต่พออยู่มาได้ 2 เดือน คุณภลก็เริ่มเห็นว่า งานไม่ได้ง่ายอย่างที่พ่อบอกเลย

แก่นธุรกิจของ ส.ขอนแก่น ในมือทายาทรุ่นสอง บริษัทรวมพลคนเก่งเพื่อพาอาหารไทยสู่ตลาดโลก

คุณภลต้องเข้าไปเรียนรู้ขั้นตอนการทำงานทั้งหมดในโรงงาน ต้องรู้ว่าแพ็กเกจจิ้งต้องใส่อย่างไร ต้องอธิบายกรรมวิธีการผลิตแหนมให้คนโปแลนด์เข้าใจ แม้แต่ทำกับข้าวให้พี่ๆ ทีมงานที่นั่นทาน เขาก็ทำมาแล้ว 

ในที่สุด โรงงานในโปแลนด์ก็สามารถผลิตแหนมและไส้กรอกอีสานออกมาในรสชาติที่ทีมคุณภลต้องการ ตัวคุณภลเองต้องเดินทางไปโปรโมตสินค้าใหม่ตามงานแฟร์ต่างๆ ที่จัดในยุโรป ทำให้เขามีโอกาสได้คุยกับลูกค้าเป็นจำนวนมาก 

“ลูกค้าบางท่านที่มาในงานแฟร์ ก็เดินมาบอกผมว่า พี่สะใจมากเลย ปกติมีแต่ฝรั่งมาจ้างเราทำ OEM นะ แต่นี่เรามาจ้างฝรั่งให้ทำแหนม ดีใจจังเลย ต่อไปนี้ไม่ต้องพกแหนมมาในกระเป๋าเดินทางแบบแอบๆ แล้ว”

แก่นธุรกิจของ ส.ขอนแก่น ในมือทายาทรุ่นสอง บริษัทรวมพลคนเก่งเพื่อพาอาหารไทยสู่ตลาดโลก

นั่นเป็นครั้งแรกที่คุณภลสัมผัสได้ว่า ส.ขอนแก่น ได้รับความชื่นชม และเป็นความภูมิใจของคนไทยมากจริงๆ สิ่งที่ครอบครัวตนเองกำลังทำนั้นเป็นความภูมิใจของคนไทย ส.ขอนแก่น ได้พาอาหารไทยไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว 

หลังจบโปรเจกต์ 6 เดือน คุณภลกลับมาที่เมืองไทยด้วยความรู้สึกที่แตกต่างกับตอนไปลิบลับ เขาเข้าใจแล้วว่า 

ส.ขอนแก่น มีบทบาทสำคัญอย่างไรต่อวงการอาหารไทย

คุณภลเข้าไปช่วยทำแบรนด์อองเทร่ หมูแผ่นอบกรอบบรรจุซอง จากนั้นเขาเข้าไปช่วยดูธุรกิจอาหารแช่แข็ง แล้วไปบริหารร้านอาหารอีสานชื่อ ‘แซ่บคลาสสิก’ ปัจจุบัน คุณภลช่วยดูธุรกิจอีคอมเมิร์ซของ ส.ขอนแก่น

จากการบริหารแบบธุรกิจครอบครัว สู่การบริหารงาน & ความสุขอย่างมืออาชีพ

หลังทำธุรกิจได้เพียง 11 ปี ส.ขอนแก่น ก็เข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อ พ.ศ. 2537 ทำให้บริษัทต้องมีมาตรฐานในการบริหารองค์กร จากเดิมที่มีญาติพี่น้องเข้ามาช่วยทำธุรกิจด้วย ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นการให้มีผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาช่วยงานมากขึ้น จากธุรกิจครอบครัวที่สมาชิกช่วยกันบริหาร ปัจจุบันมีเพียง ดร.เจริญ ภรรยา กับลูกชาย 2 คน คือ คุณภล และน้องชาย คุณพจน์-จรัญพจน์ รุจิราโสภณ เท่านั้น ที่ยังบริหารกิจการ ส.ขอนแก่น

ในช่วงแรกนั้น ดร.เจริญ มักเป็นผู้วางแผนหลักในการคิดกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มากกว่า ส่วนพนักงานมืออาชีพก็จะเป็นกำลังหลักในการทำแผนนั้นให้กลายเป็นจริง 

จนเมื่อสองพี่น้องเข้ามาสืบทอดธุรกิจต่อ บรรยากาศก็เริ่มเปลี่ยนไป 

คุณภลรับผิดชอบเรื่องการพัฒนาธุรกิจใหม่ ตลอดจนการสื่อสารทางการตลาดของแบรนด์ทั้งหมดในเครือ ส่วนคุณพจน์ น้องชาย เข้ามาช่วยดูเรื่อง Infrastructure กระบวนการทำงาน การดูแลพนักงาน 

สิ่งที่คุณภลและคุณพจน์ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือ เรื่อง ‘คน’ 

ถ้าถามว่า ส.ขอนแก่น ดูแลคนอย่างไรนั้น คุณภลตอบว่าด้านสวัสดิการ สิทธิ์ในการเบิกค่าใช้จ่ายต่างๆ ตลอดจนการตกแต่งออฟฟิศ ส.ขอนแก่น อาจจะไม่ใช่ที่ที่ดีที่สุดในวงการ แต่สิ่งที่บริษัททุ่มเททำ และกลายเป็นหัวใจในการดูแลพนักงาน คือการหาหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานดีๆ ให้พนักงาน

หากเพื่อนร่วมงานดี หัวหน้าดี พนักงานก็อยากจะมาทำงาน อยากพูดคุย แลกเปลี่ยนความเห็น และร่วมมือร่วมใจกันเป็นอย่างดี 

คำว่า ‘ดี’ คืออะไร

สำหรับชาว ส.ขอนแก่น แล้ว พนักงานที่ดีคือคนที่ทำงานเก่ง และทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่นได้

“หลายคนที่มาทำงานที่นี่ เขาเป็นตำนานในที่เก่าเลยนะ” คุณภลเล่าด้วยความภาคภูมิใจ 

ผู้บริหารบางท่านเคยเป็นเบอร์หนึ่งในแผนกที่มีพนักงานเป็นร้อยๆ คน หลายคนมาจากบริษัทใหญ่ ทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ หลายคนยอมรับเงินเดือนลดลงเพื่อมาทำงานที่นี่

อะไรที่ทำให้ ส.ขอนแก่น สามารถดึงคนเก่งๆ จากองค์กรชื่อดังเข้ามาทำงานที่นี่ และยังกระตือรือร้นในการนำเสนอไอเดียและสร้างผลงานได้ 

 “ผมไม่มีตำแหน่งว่างครับ” คุณภลกล่าวขึ้นมา

แก่นธุรกิจของ ส.ขอนแก่น ในมือทายาทรุ่นสอง บริษัทรวมพลคนเก่งเพื่อพาอาหารไทยสู่ตลาดโลก

ส.ขอนแก่น ไม่มีการหาผู้บริหารเก่งๆ มาใส่ตำแหน่งที่ว่างลง แต่ทางบริษัทจะไปติดต่อผู้บริหารมืออาชีพเก่งๆ จากนั้น ถามพวกเขาว่า “คุณอยากทำอะไร” แล้วจึงค่อยสร้างตำแหน่งให้ 

ระหว่างสัมภาษณ์งาน คุณภลและคุณพจน์เล่าจุดท้าทายของบริษัทให้ผู้บริหารท่านนั้นๆ ฟังอย่างจริงใจ ไม่มีการปูภาพอย่างสวยหรู สิ่งที่น่าสนใจคือ คนเก่งๆ เหล่านั้นยิ่งฟังสิ่งท้าทายก็ยิ่งตื่นเต้น และมุ่งมั่นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลง ส.ขอนแก่น 

สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งในการรับพนักงานใหม่คือ ‘การหาคนที่มี Vision ตรงกัน’

“เวลาสัมภาษณ์ เรารู้เลยว่าใครมี Core เดียวกัน ผมมักเล่าเรื่องความฝันของผมตอนไปอยู่โปแลนด์ ผมอยากทำให้อาหารไทยไปทั่วโลกได้ เป็นอาหารไทยในวันพรุ่งนี้ ถ้าคนที่อยากทำ แววตาเขาจะอยากทำเลย เขาอยากมาทำสิ่งนี้กับเราจริงๆ” 

คนคอ (Core) เดียวกัน 

ส.ขอนแก่น กำลังรวบรวมคนที่คิดแบบเดียวกัน มีความฝันคล้ายๆ กัน เข้ามาอยู่ในทีม

ปณิธานของบริษัทเขียนไว้ในใจของพนักงานและผู้บริหารทุกคนว่า

“ส.ขอนแก่น จะเป็นที่ไว้วางใจของผู้บริโภค โดยมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์ประสบการณ์อาหารไทย ที่ออกแบบสินค้าและบริการจากความเข้าใจความต้องการของผู้คน ตามวิถีการใช้ชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อทำให้ทุกชีวิตดีขึ้นในทุกๆ แง่มุม” 

เคล็ดลับความสำเร็จในมือสองพี่น้อง จรัสภล และ จรัญพจน์ รุจิราโสภณ ทายาทรุ่นสองของธุรกิจอาหารแปรรูปและขนมขบเคี้ยว
เคล็ดลับความสำเร็จของ ส.ขอนแก่น ในมือสองพี่น้อง จรัสภล และ จรัญพจน์ รุจิราโสภณ ทายาทรุ่นสองของธุรกิจอาหารแปรรูปและขนมขบเคี้ยว

วิสัยทัศน์ของบริษัท คือการมุ่งมั่นจะเป็นผู้นำอาหารไทยในตลาดโลกที่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างยั่งยืน ผ่านมาตรฐานกระบวนการทำงานที่เป็นเลิศ

คุณภลเล่าถึงความสำคัญของ Core Value องค์กรไว้ดังนี้

“สิ่งที่ทำให้คนเราพยายามได้มากกว่าปกติคืออะไร ก็เพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง เมื่อก่อนเวลาทหารไปรบ เขาก็สู้เพื่อประเทศ เพื่อให้คนในประเทศไม่อดอยากอาหาร เช่นกัน ปัจจุบันเราต้องมีสิ่งที่เราอยากทำ และต้องเป็นสิ่งที่ดีกับคนหมู่มากจริงๆ ด้วย สิ่งนี้แหละ จะทำให้เราหาพนักงานที่ตรงกันกับเราเข้ามาหาเราได้

“คนดีๆ ส่วนใหญ่ที่เราเจอ เขามาด้วยความคิดที่ดี และเขาอยากจะทำอะไรร่วมกันกับเรา เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราจะทำ เราต้องทำสิ่งดีๆ เพื่อคนหมู่มาก เราส่งมอบคุณค่าอะไรที่ดีในปัจจุบัน เราจะส่งมอบคุณค่าที่ดีมากกว่านี้อีกก็ได้ในอนาคต ถ้าเรามีสิ่งนั้น เราจะคุยกับคนที่จะมาช่วยเราได้ง่าย” 

  ส.ขอนแก่น มักหยิบสินค้าที่คนไทยชอบทานอยู่แล้ว มานำเสนอในรูปแบบใหม่ โดยปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ทางแบรนด์ฝันอยากเห็นหมูแผ่นแบบไทยๆ ไปวางข้างแบรนด์มันฝรั่งทอดกรอบจากต่างประเทศเจ้าดัง จึงเริ่มทำหมูแผ่นอบกรอบใส่ซองทันสมัย ให้วัยรุ่นเลือกทานได้ง่าย 

ส.ขอนแก่น ปรารถนาจะเห็นร้านอาหารไทยมีมาตรฐานที่ดี รสชาติสม่ำเสมอ พวกเขามุ่งมั่นถอดสูตรที่บอกได้เลยว่า ส้มตำหนึ่งจานใช้วัตถุดิบอะไร เท่าไร และมีคู่มือเล่มหนา คอยกำกับดูแลระดับมาตรฐานรสชาติ สิ่งนี้มาจากความมุ่งมั่นที่จะสร้างมาตรฐานที่ดีให้กับวงการอาหารไทย ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของรสชาติความเป็นไทยไว้ได้ 

แก่นที่ชาว ส.ขอนแก่น มีเหมือนกันคือความมุ่งมั่นในการสร้างอาหารไทยให้มีมาตรฐาน และทำให้ผู้คนรู้สึกประทับใจ

จริงๆ แล้ว หลักคิดนี้สืบทอดมาตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อ ตัว ดร.เจริญ เองมีความฝันที่อยากจะเห็นอาหารไทยดีขึ้น มีมาตรฐานยิ่งขึ้น เมื่อคุณภลมาบริหารต่อ เขาก็มีความฝันเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น แม้บางครั้งสองพ่อลูกจะมีความเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่เห็นต่างเพียงแค่วิธีการ เป้าหมายและความฝันยังคงเหมือนเดิม

เคล็ดลับความสำเร็จในมือสองพี่น้อง จรัสภล และ จรัญพจน์ รุจิราโสภณ ทายาทรุ่นสองของธุรกิจอาหารแปรรูปและขนมขบเคี้ยว

จากรุ่นพ่อ สู่รุ่นลูก และการมีซีอีโอสองท่าน

คุณภลและคุณพจน์ได้เข้ามาช่วยคุณพ่อบริหาร ส.ขอนแก่น เป็นระยะเวลา 10 กว่าปี ตัวคุณพจน์ ผู้รับผิดชอบเรื่องการบริหารทรัพยากรบุคคลนั้น เป็นผู้เสนอคุณพ่อเกี่ยวกับการสืบทอดธุรกิจ 

ทาง ส.ขอนแก่น ใช้เวลาเตรียมตัวการสืบทอดและเปลี่ยนผู้บริหารเป็นระยะเวลาหลายปี ระหว่างที่ ดร.เจริญ บริหารบริษัทนั้น คุณภลและคุณพจน์ค่อยๆ สร้างทีมงานมืออาชีพที่ดี มีเป้าหมายเดียวกัน

ผู้บริหารรุ่นหลังๆ ที่เข้ามา มักเป็นผู้ริเริ่มเสนอให้ทำอะไรใหม่ๆ โดยไม่ต้องรอผู้บริหารสูงสุดสั่ง พวกเขาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับบริษัทได้อย่างมหาศาล บางสิ่งที่คุณพ่อใช้เวลากว่า 20 ปีจนกว่าจะเห็นผล แต่ผู้บริหารมืออาชีพเหล่านี้ สามารถสร้างให้เกิดขึ้นภายในเวลาเพียงปีกว่าๆ เท่านั้น คุณพ่อจึงเริ่มไว้วางใจในการให้ผู้บริหารเหล่านี้เข้ามาช่วยวางกลยุทธ์ตัดสินใจมากขึ้น

เคล็ดลับความสำเร็จของ ส.ขอนแก่น ในมือสองพี่น้อง จรัสภล และ จรัญพจน์ รุจิราโสภณ ทายาทรุ่นสองของธุรกิจอาหารแปรรูปและขนมขบเคี้ยว

จนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 37 ปีหลังจากสร้างธุรกิจ ส.ขอนแก่น ดร.เจริญ ก็ให้ลูกชายสองคนขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ร่วมกัน โดยคุณภลดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน ส่วนคุณพจน์ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปทั่วไป

สาเหตุในการตั้งตำแหน่งซีอีโอร่วม เนื่องจากสองพี่น้องมีความถนัดที่แตกต่าง คุณภลสนุกกับการสร้างธุรกิจใหม่ๆ และถนัดด้านการสื่อสาร ส่วนคุณพจน์ถนัดด้านการวางกลยุทธ์และการบริหารคน การบริหารร่วมกัน จะทำให้ดึงจุดเด่นของทั้งสองคนมาใช้ได้ดีที่สุด

ในช่วงแรกนั้น คุณภลและคุณพจน์เองก็ต้องใช้เวลาในการปรับตัว เวลาความเห็นไม่ลงตัว จะไม่มีการแข่งกันว่าไอเดียของใครจะชนะ แต่ทั้งคู่จะตกลงกันโดยมุ่งคิดถึงผลประโยชน์บริษัทว่า ไอเดียไหนจะทำให้บริษัทไปได้ดีที่สุด และตราบใดที่ไอเดียนั้นๆ ยังตรงกับ Core Value ขององค์กร

ข้อคิดแด่ทายาทรุ่นสอง 

เมื่อถามคุณภลว่า อยากฝากอะไรกับทายาทรุ่นสองที่ต้องสืบทอดกิจการบ้าง คุณภลเล่าว่า

“ทายาทรุ่นสองไม่ต้องไปคิดเลยว่าจะต้องเก่งเหมือนรุ่นหนึ่ง บริบทมันต่างกัน ต่อให้เราเก่งเท่ารุ่นหนึ่ง ในบริบทปัจจุบันเราก็อาจจะไม่รอดก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญสำหรับองค์กรคือการให้ความสำคัญกับคน เขาเห็นด้วยกันกับเรา เขาอยากจะไปที่เดียวกับเรา แล้วเราต้องหาคนแบบนี้ ทั้งเก่ง ดี และมีความคิดเห็นร่วมกันกับเรา ให้มาอยู่ในองค์กรให้มากที่สุด แล้วองค์กรจะขับเคลื่อนไปสู่สิ่งที่เราต้องการ”

เคล็ดลับความสำเร็จของ ส.ขอนแก่น ในมือสองพี่น้อง จรัสภล และ จรัญพจน์ รุจิราโสภณ ทายาทรุ่นสองของธุรกิจอาหารแปรรูปและขนมขบเคี้ยว

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ