17 พฤศจิกายน 2021
3 K

สมัยก่อนกลับไทยบ่อย เลยไม่ค่อยได้แวะร้านอาหารไทยสักเท่าไหร่ ยิ่งเป็นร้านที่เพื่อนคนญี่ปุ่นแนะนำ ฟันธงไปแล้วว่าไม่ถูกปากเราแน่ๆ ยิ่งร้านที่เพื่อนแนะนำชื่อจีนมากอย่าง ‘หลิวเต้อหัว’ ในใจมีแต่ความงง หรือเจ้าของจะไม่ใช่คนไทย เพราะที่ญี่ปุ่นมีร้านอาหารเอเชียหลายแห่งที่ขายไทยปนเวียดนามปนจีนกันยุ่งเหยิงไปหมด จนกระทั่งตอนเดินผ่านหน้าร้าน เห็นหม้อขาหมูอวบอ้วนโชว์ขาเบียดอวบอิ่มชวนน้ำลายไหล ป้ายชื่อร้านที่ดูเยาวราชและบรรยากาศการนั่งกินชิลล์ๆ หน้าร้านที่ชวนให้คิดถึงบ้านสุดๆ

เอาวะ วัดดวง

โอ้โห ข้าวหมูกรอบกับน้ำราดรสไทยๆ ที่ไม่ได้กินมาเกือบ 2 ปี มาอยู่ที่ย่านชินไซบะชิในโอซาก้านี่เอง

คุยกับ แทงค์-กรัตถกร รมยานนท์ เจ้าของร้านหลิวเต้อหัว พระเอกแห่งชินไซบาชิ ร้านอาหารไทยที่อยากชวนทุกคนมาแตะ

มองไปรอบๆ เห็นลายเซ็นดาราไทยบนผนังร้านมากมาย ถามไปถามมามีรายการญี่ปุ่นมาถ่ายด้วย บล็อกเกอร์แม่บ้านชาวยุ่นก็มาชิมและรีวิว จนเมนูนมเย็นกลายเป็นที่เลื่องลือในหมู่แม่บ้านในฐานะนมชมพู ลูกค้าประจำชาวญี่ปุ่นบางคนชอบบรรยากาศชิลล์ๆ กินอิ่มแล้วก็นั่งอ่านหนังสือต่อในร้านราวกับเป็นคาเฟ่ เป็นภาพที่แสนแปลกตาในร้านอาหารจานเดียวไทยๆ แบบนี้

ร้านดูสนุก อาหารก็อร่อย ต้องแวะไปคุยกับ แทงค์-กรัตถกร รมยานนท์ หนุ่มลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น เจ้าของร้านหลิวเต้อหัวและฮาเทหน้า ผู้ประสบความสำเร็จจนซื้อตึกและที่ดินแพงระยับในย่านดังได้ จากการเริ่มต้นด้วยเงินลงทุนขวัญถุงจากเจ้านายเก่า 7 ล้านบาท

คุยกับ แทงค์-กรัตถกร รมยานนท์ เจ้าของร้านหลิวเต้อหัว พระเอกแห่งชินไซบาชิ ร้านอาหารไทยที่อยากชวนทุกคนมาแตะ

เดินทางสู่ญี่ปุ่นด้วยเงิน 700 เทปนูโว และหัวใจลูกผู้ชาย

แทงค์เกิดที่ญี่ปุ่น คุณพ่อเป็นคนไทย คุณแม่เป็นคนญี่ปุ่น ครอบครัวย้ายไปอยู่ประเทศไทย เขาจึงโตที่นี่จนอายุ 20 ปี สมัยหนุ่มๆ เขาเกเรตามประสาวัยรุ่น เรียนจบจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียลแบบฉิวเฉียดแล้วจึงไปต่อโรงเรียนวิชาชีพด้านวิจิตรศิลป์ เพราะมีความถนัดด้านศิลปะ จากนั้นจึงตัดสินใจกลับไปอยู่ญี่ปุ่นอีกครั้งใน ค.ศ. 1990 แม้จะจำภาษาญี่ปุ่นไม่ได้เลย

“แม่ทำงานอยู่โตเกียว พี่มาอยู่กับตายายที่โอซาก้า เพราะชอบบรรยากาศที่นี่มากกว่า สมัยปลายยุค 80 เศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นรุ่งเรืองมาก เราเลยมาเรียนภาษาก่อนสองปีเพื่อดูลาดเลา ถ้าไม่เวิร์กค่อยกลับไทยไปต่อมหาลัย แต่อยู่สองปี รู้สึกชอบ เพราะมันท้าทายและสนุก

“ตอนยังหนุ่ม คิดเท่ๆ ว่ามาตายเอาดาบหน้า ขอเทปนูโวเพื่อนมาหนึ่งตลับ และมีเงินติดตัวแค่เจ็ดร้อย แปดร้อยบาท ตอนนั้นคิดว่าเก๋า จริงๆ คือโคตรลำบากเลย”

จบคอร์สภาษา เขาเลือกเรียนต่อด้านจิวเวลรี่เพราะคุณแม่ทำงานวงการนี้ เลยตั้งใจว่าเรียนจบแล้วจะไปช่วย แต่โชคชะตาพาไปพบกับเพื่อนร่วมรุ่นที่ชักชวนไปทำงานด้วยกันก่อน กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขามีร้านอาหารดังอย่างทุกวันนี้

“ตอนเรียนจบมีเพื่อนในรุ่นสามสิบคน ทุกคนได้งานทันทียกเว้นเรา เพราะเราเป็นคนต่างชาติ เพื่อนคนนี้เลยชวนเราไปทำงานที่บริษัทพ่อเขา ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายจิวเวลรี่รายใหญ่ของญี่ปุ่น พอไปสัมภาษณ์เขาก็ชอบเรา เพราะเราทำงานดีไซน์ได้ เป็นคนเฟรนด์ลี่ ขายของได้ด้วย”

คุยกับ แทงค์-กรัตถกร รมยานนท์ เจ้าของร้านหลิวเต้อหัว พระเอกแห่งชินไซบาชิ ร้านอาหารไทยที่อยากชวนทุกคนมาแตะ

แทงค์วนเวียนอยู่ในวงการเครื่องประดับอยู่ 5 ปี ก่อนตัดสินใจลาออกมาเริ่มธุรกิจของตัวเอง

“ตอนต้นยุค 90 เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มเข้าขาลงแล้ว เมื่อเทียบกับตอนยุคปลาย 80 ที่ดีมาก ทอง เพชรขายกันแบบก๋วยเตี๋ยว คนต้องรับบัตรคิวรอซื้อ ทำงานนี้มาห้าปี อายุเราเริ่มมากขึ้น และความฝันเราคืออยากประสบความสำเร็จ ความสำเร็จแบบที่คิดตอนเด็กๆ คือมีเงิน มีตึก มีพนักงานเยอะๆ เราเลยอยากเดินออกมาทำให้มันเป็นจริง” แทงค์ว่า

ฮาเทหน้า จุดเริ่มต้นของความสำเร็จที่ได้มาจากการฉายและความกล้าเสี่ยง

จากคนที่ไม่เคยคิดจะทำร้านอาหารมาก่อน และไม่เคยมีพื้นฐานในวงการนี้ เขาลุยทำตามฝันด้วยการเปิดร้านอิซะกะยะที่มีชื่อว่า ฮาเทหน้า

จริงๆ แล้วเจ้าของบริษัทจิวเวลรี่ซื้อตึกนี้ไว้เพราะจะทำร้านอาหาร แต่ล้มป่วยเสียก่อน แทงค์จึงขอเช่าที่ทำแทน นอกจากเจ้าของจะใจดีให้เช่า ยังแถมเงินลงทุนมาให้ด้วยอีกเกือบ 7 ล้านบาท!

คุยกับ แทงค์-กรัตถกร รมยานนท์ เจ้าของร้านหลิวเต้อหัว พระเอกแห่งชินไซบาชิ ร้านอาหารไทยที่อยากชวนทุกคนมาแตะ

“ผมโดนสอนมาตั้งแต่เด็กว่าการประจบสอพลอเป็นสิ่งไม่ดี คำว่าประจบของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน แต่ ‘ฉาย’ สำหรับผม คือการพยายามมากกว่าคนอื่น อย่างตอนนี้เป็นเจ้านายแล้ว ใครพยายามมากกว่าคนอื่นผมก็เอ็นดู ผมว่ามันคือความตั้งใจรูปแบบหนึ่ง ประจบแล้วไม่ทำงานก็ไม่ได้ แต่ถ้าทั้งประจบแล้วทำงานได้ด้วยไม่ดีกว่าหรอ ผมว่านายเอ็นดูก็เพราะตรงนี้

“ตัวอย่างการฉาย เช่น ตอนแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่โกเบ ผมยังมาทำงานที่ร้าน มาเช็ดกระจก จนเจ้าของต้องมาไล่กลับบ้าน ถ้าเป็นละครไทยนี่ผมเป็นตัวประจบเลย” แทงค์หยุดหัวเราะ “เนี่ยเราฉาย เราต้องทำให้เขาเห็น เจ้านายก็รู้ว่ามาทำโชว์ เขาก็ชอบ แกล้งทำก็ได้ ดีกว่าไม่ทำงาน”

แม้ที่ทางและเงินทุนจะไม่มีปัญหา แต่ไม่ใช่ว่าเส้นทางสู่ความสำเร็จจะเป็นพื้นคอนกรีตผิวเรียบ แทงค์เคยเครียดอยู่หลายครั้งกว่าจะผ่านมันมาได้

“สมัยก่อนชินไซบะชิไม่ได้เป็นแบบนี้ คนเนี้ยบ ย่านเนี้ยบมีแต่ร้านหรูๆ ฮาเทหน้าเป็นร้านแรกในย่านที่กล้าทำสไตล์นี้ ตอนแรกคนก็ด่าว่าบ้านนอก สมัยก่อนใส่กางเกงมือสองที่ซื้อมาจากเจเจก็โดนดูถูก บอกว่าน่าสงสาร เขาคิดว่าเราเอาเสื้อผ้าบริจาคมาใส่ ใส่ต่างหูหาว่าเป็นตุ๊ด ตั้งโต๊ะหน้าร้านเพราะมันชิลล์ คนญี่ปุ่นสมัยนั้นก็ไม่เข้าใจ แต่พอขายดี เป็นไงล่ะ ตอนนี้ทำตามกันเต็มเลย

“ตอนอยู่ไทย เราขับรถซิ่ง มีสาวเพียบ มาที่นี่ใส่เสื้อผ้าคนแก่ โดนดูถูก มันมีความน้อยใจ แต่ก็กลายเป็นแรงผลักดัน ถ้าตอนนั้นมีครบแล้ว เราจะไม่ไขว่คว้า ผมเลยคิดว่าตัดสินใจถูกที่มาญี่ปุ่น”

คุยกับ แทงค์-กรัตถกร รมยานนท์ เจ้าของร้านหลิวเต้อหัว พระเอกแห่งชินไซบาชิ ร้านอาหารไทยที่อยากชวนทุกคนมาแตะ
คุยกับ แทงค์-กรัตถกร รมยานนท์ เจ้าของร้านหลิวเต้อหัว พระเอกแห่งชินไซบาชิ ร้านอาหารไทยที่อยากชวนทุกคนมาแตะ

แต่ปัญหาไม่ได้จบแค่เรื่องยอดขาย สิ่งที่ทำให้แทงค์ปวดหัวมาตลอด 20 ปีคือการบริหารคน

สมัยเปิดร้านใหม่ๆ ลูกน้องรู้ว่าเขายังใหม่กับการเปิดร้านอาหาร แถมวัยไล่เลี่ยกันเลยไม่ค่อยเชื่อถือ แถมยังรวมตัวกันแกล้งหัวหน้า เพราะพวกเขารู้ดีว่าถ้าพร้อมใจกันลาออก ร้านก็ไปต่อไม่ได้

“เวลาร้านขายดี ลูกน้องเหนื่อย ไม่แฮปปี้ คนอายุยี่สิบยุคไหนก็ความคิดคล้ายๆ กัน เช่น เล่นมือถือ หน้าบึ้งใส่แขก ถ้าเราไปจู้จี้มากก็ไม่ชอบ แต่ผมสู้มาก เหนื่อยมาก สมัยนั้นขี่จักรยานกลับบ้านร้องไห้ตลอด ทั้งๆ ที่ได้เงินกลับบ้านเยอะทุกวัน แต่ตอนนั้นคิดแค่อยากให้ชีวิตดีขึ้น เงินช่วยไม่ได้เลย คิดแต่ว่าขึ้นหลังเสือแล้ว ทำยังไงให้ทำต่อได้ยาวๆ ทำต่อได้แบบมีความสุข ก็ได้คำตอบว่า เราต้องไม่ท้อ ถ้าเราข้ามกำแพงนั้นได้ จะได้รางวัลชีวิต

“ตอนทำงาน ร้องไห้ มีแต่น้ำตา แต่พอปิดบัญชี อะ มีกำลังใจสู้ต่อ” แทงค์หัวเราะอีกครั้ง

รางวัลที่เราเห็นแน่ๆ แล้ว คือการยืนหนึ่งอยู่ยาวมา 20 ปี และเป็นเจ้าของตึกหรูซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของร้านหลิวเต้อหัวนั่นเอง

คุยกับ แทงค์-กรัตถกร รมยานนท์ เจ้าของร้านหลิวเต้อหัว พระเอกแห่งชินไซบาชิ ร้านอาหารไทยที่อยากชวนทุกคนมาแตะ

หลิวเต้อหัว พระเอกประจำซอยในหัวใจชาวต่างชาติ

เราว่าเรื่องนี้ใครๆ ก็อยากรู้ ทำไมถึงตั้งชื่อร้านว่าหลิวเต้อหัว

แม้ชื่อร้านทั้งสองของหนุ่มวัย 50 ผู้คร่ำหวอดในวงการอาหารมานานจะโดดเด่นเก๋ไก๋ แต่เขาบอกเราว่า เขาไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องการตั้งชื่อแม้แต่น้อย

คุยกับ แทงค์-กรัตถกร รมยานนท์ เจ้าของร้านหลิวเต้อหัว พระเอกแห่งชินไซบาชิ ร้านอาหารไทยที่อยากชวนทุกคนมาแตะ

“ผมไม่เน้นเรื่องชื่อ อย่างร้านหลิวฯ เน้นขายคนจีน ผมอยากทำร้านออกแนวเยาวราช เราก็ทำรีเสิร์ช เจอแต่ชื่อโป้งี้ฮับอะไรแนวนั้น ซึ่งไม่รู้ความหมายว่าดีไม่ดี แล้วตอนนั้นรู้ภาษาจีนแค่หลิวเต้อหัวกับโจวเหวินฟะ ซึ่งอย่างหลังฟังดูแปลกๆ แต่หลิวโอเค ก็จัดเลย แล้วมันดันกลายเป็นแลนด์มาร์ก คนไทยมาก็ถ่ายรูป ดารามาก็ต้องมากิน

“ส่วนฮาเทหน้า เป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่าเครื่องหมายคำถาม ตอนเปิดร้านต้องจดทะเบียน ก็เลยเขียน hatena? ไป แล้วเราค่อยแปลงเป็น ฮา เท (ใส่) หน้า ทีหลังให้ขำๆ ไม่เน้นชื่อจริงๆ ดูร้านฮาเทหน้าสิ ป้ายยังไม่อยากจะติด เขียนมือมั่วๆ”

เรื่องชื่อ แทงค์อาจจะไม่เน้น แต่สิ่งที่เขาใส่ใจมากในการทำธุรกิจ คือ ความมั่นคง

แม้จะขายดีมีเงินมากมาย แต่เขาไม่เคยฟุ่มเฟือย หลังจากเก็บหอมรอมริบมา 15 ปี จากร้านฮาเทหน้า เขาก็ซื้อตึกในย่านไซบะชิได้

“พี่ตัดสินใจซึ้อตึก เพราะต้องการความมั่นคง เหมือนมีที่นาเป็นของตัวเอง ปลูกอะไรไม่รอดก็ทำอย่างอื่นได้ ถ้าเช่าเขาทุกเดือนเป็นต้นทุนสูง เวลามีปัญหาขึ้นมาก็ลำบาก”

แต่ใช่ว่าแค่มีเงินก็ซื้อได้ นักธุรกิจผู้ถี่ถ้วนตั้งใจทำรีเสิร์ชจริงจังว่า ตึกไหน ย่านไหน ขายอะไรถึงจะเหมาะ ถึงได้มาเป็นหม้อขาหมูที่ทำเราหวั่นไหว

'หลิวเต้อหัว' ร้านอาหารจานเดียวไทยในญี่ปุ่น พระเอกความอร่อยแห่งชินไซบาชิ

“เลือกอยู่นานว่าเอาตรงไหนดี ต้องคอยสังเกตซอยต่างๆ ว่ามีคนแบบไหนเดิน เราไม่ได้จำกัดแค่อาหารไทย พอเห็นแล้วว่านักท่องเที่ยวชาวจีนเยอะ และซอยนี้มีรถเมล์จอดใกล้ๆ ซึ่งคนต้องเดินผ่านตรงนี้ เราเลยมานั่งคิด ถ้าทำอาหารไทยก็คิดถึงขาหมูก่อนเลย ตามด้วยข้าวมันไก่ ข้าวหมูกรอบ ซึ่งคนประเทศอื่นก็กิน”

ส่วนเรื่องรสชาติ เขาอิงจากตลาดแถวบ้านตอนเด็กๆ ซึ่งเป็นหมู่บ้านคนจีน

“เราเดินผ่านตลอดเลยได้เห็นเขาทำกัน สมัยก่อนเขาไม่ทำอะไรยาก ไม่ต้องใส่โอวัลติน ทำแบบเรียบง่ายและอร่อยแล้ว พี่ชอบเลยทำรสนั้น จะไม่ติดหวานแบบขาหมูสมัยนี้ ทีนี้เลยได้ลูกค้าคนเวียดนาม กัมพูชา ลาว ไต้หวันด้วย ขายดีเลย”

'หลิวเต้อหัว' ร้านอาหารจานเดียวไทยในญี่ปุ่น พระเอกความอร่อยแห่งชินไซบาชิ
'หลิวเต้อหัว' ร้านอาหารจานเดียวไทยในญี่ปุ่น พระเอกความอร่อยแห่งชินไซบาชิ

สกปรกแต่สะอาด

“เขียนคำนี้ให้ผมด้วยนะ สกปรกแต่สะอาด” เจ้าของร้านผู้มอบเสียงหัวเราะให้เราเป็นระยะพูดติดตลก เมื่อเราถามถึงการตกแต่งร้านอันเป็นเอกลักษณ์

เวลากินข้าวไปด้วย มองรอบๆ ตัวไปด้วย จะพบของกระจุกกระจิกวางเรียงรายเต็มไปหมด ส่วนมากเป็นของไทยๆ วินเทจหน่อยๆ ที่มองโดยรวมแล้วไม่รู้สึกว่ารกแต่แอบเก๋ ไม่น่าเชื่อว่าของส่วนมากเป็นสิ่งที่ลูกค้าทั้งไทยและญี่ปุ่นเอามาให้ทั้งนั้น และที่น่าทึ่งคือ โต๊ะ เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ ชั้นวางของๆ ต่างๆ แทงค์เป็นคนทำเองกับมือ รวมไปถึงเขียนชื่อร้านฮาเทหน้าและวาดภาพประดับร้านหลิวเต้อหัวด้วย

“จ้างช่างมาทำก็ไม่เข้าใจแบบที่เราต้องการ แถมแพงอีก ผมจบอาร์ตมาเลยทำเองได้ หลังๆ ได้ของมาเยอะก็ยัดๆ วางไว้เลย ให้มันสวยด้วยคุณค่าในตัวมันเองอย่างเป็นธรรมชาติ เหมือนจะสกปรกแต่สะอาดนะ เป็นความยุ่งเหยิงที่มีระเบียบ” เขาเล่าก่อนจะชี้ให้เราดูป้ายไฟวิ่งพร้อมข้อความตลกๆ ซึ่งแทงค์บอกว่าลูกน้องคิดเอง ทำเองให้หมด พอลาออกไปแล้วเขาก็วางไว้ต่อไปด้วยข้อความออริจินัล เพราะไม่มีใครปรับเป็น 

'หลิวเต้อหัว' ร้านอาหารจานเดียวไทยในญี่ปุ่น พระเอกความอร่อยแห่งชินไซบาชิ
'หลิวเต้อหัว' ร้านอาหารจานเดียวไทยในญี่ปุ่น พระเอกความอร่อยแห่งชินไซบาชิ

ความถนัดด้านการออกแบบก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกองค์ประกอบที่ทำให้การตกแต่งภายในของร้านดูอบอุ่นและแตกต่างจากที่อื่น คือ ความทรงจำ บรรยากาศร้านทั้งสองเป็นสิ่งที่แทงค์คุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กๆ และถ้ามองดีๆ จะเจอกระทะ ตะหลิวรุ่นแรก สมัยเขาเริ่มทำร้านใหม่ๆ ด้วย แทงค์บอกว่าเขาแขวนไว้บนผนัง เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจถึงความลำบากในยุคแรก

“เราเอาความชอบในวัยเด็กมาทำ เช่นเราชอบบรรยากาศตามหลืบตามซอยของเยาวราช เหมือนจะสกปรกแต่มันดูน่ากิน เหมือนฮาร์เลย์ สนิมเขรอะแต่เก๋า สภาพร้านแบบนี้ทำให้เราคิดถึงตอนเห็นอาแปะแกะก้างปลาทู มองแล้วมีความสุข ส่วนหม้อขาหมูทำให้เราคิดถึงตอนสมัยเกเร ไปนั่งดูดบุหรี่ตามซอย เห็นข้างฝาติดใบเรียงเบอร์ พ่นสเปรย์ เป็นบรรยากาศที่เห็นแล้วรู้สึกสนุก เลยเอามาปรับใช้กับร้าน

“ดีไซน์ร้านก็ปล่อยไว้แบบนี้แหละ ไม่เปลี่ยนเพราะอยากเป็นแบบร้านแถวท่าพระจันทร์ที่อยู่มา สี่สิบ ห้าสิบปี มีความขลังที่เก๋าและเก๋”

'หลิวเต้อหัว' ร้านอาหารจานเดียวไทยในญี่ปุ่น พระเอกความอร่อยแห่งชินไซบาชิ

เคล็ดลับความสำเร็จแบบม้าดี

สิ่งที่เขาเรียนรู้จากการทำธุรกิจมายาวนานคือ ความสำคัญของหู ตา จมูก ปาก คือต้องน่ากินด้วย อร่อยด้วย ทุกสัมผัสคือจิตวิทยาที่ทำให้ลูกค้าชื่นชอบ ซึ่งร้านใหม่ที่กำลังจะเปิดปีหน้าของเขาจัดเต็มตามที่ว่านั้น โดยจะมีทั้งหม้อขาหมู กระทะหอยทอด ก๋วยเตี๋ยวต้มยำทำแบบตลาดโต้รุ่ง และมีรถตุ๊กตุ๊กจอด ป้ายร้านเป็นแบบโรงหนังเก่า เห็นคนลวกหน้าร้านแบบไทยๆ มีไก่ห้อย มองเห็นคนกินครื้นเครงข้างใน เพื่อขายประสบการณ์แถมเพิ่มจากรสชาติ 

“ทำร้านอาหารนี่จิตวิทยาทั้งนั้นนะ บางทีแค่จานสังกะสีิ ก็ทำให้คนน้ำลายไหลแล้วเพราะมันน่ากิน ตา หู ปาก จมูก ทุกอย่างต้องน่าลิ้มรสหมด”

เจ้าของร้านดังยังแย้มให้เราฟังอีกว่า ของอร่อยกับของขายก็ไม่เหมือนกัน

“อีกอย่างที่สำคัญคือสถิติ อะไรขายไม่ดีก็เอาออกจากเมนู พัฒนาไปเรื่อยๆ คอยสังเกตว่าลูกค้าชอบรสแบบไหน ร้านผมมีเมนูสองแบบสำหรับคนไทยและคนญี่ปุ่น อย่างฮาเทหน้าปรับจนอยู่ตัวแล้ว รสของอาหารวันนี้กับเมื่อยี่สิบปีที่แล้วไม่เหมือนกัน อีกสิบปีข้างหน้ารสก็อาจจะเปลี่ยนอีก 

'หลิวเต้อหัว' ร้านอาหารจานเดียวไทยในญี่ปุ่น พระเอกความอร่อยแห่งชินไซบาชิ

“ทุกอย่างคือผลจากสถิติ ดูความชอบลูกค้าเป็นหลัก ความอร่อยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่เราทำธุรกิจ เลยทำรสที่ลูกค้าชอบ ดังนั้น เชฟที่จะมาทำงานด้วยกัน ถ้าอีโก้แรงว่า เมนูนี้ต้องรสแบบนี้เท่านั้น อาจจะทำงานด้วยกันลำบาก ความเป็นมืออาชีพของผมคือความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง”

เหนือสิ่งอื่นใด ชายผู้นิยามแนวทางการทำธุรกิจของตัวเองว่าเป็นแบบมวยเข่ามวยศอก ทิ้งท้ายเคล็ดลับความสำเร็จให้เราไว้ว่า

“ไม่ว่าจะอยากทำอะไร เราต้องเป็นม้าที่ดี แล้วจะมีคนอยากมาแทง ถ้าเป็นม้าที่วิ่งไม่เร็ว ไม่มีคนเข้ามาหาหรอก ต้องทำตัวให้มีคุณค่า ต้องฉาย ถ้าเราวิ่งเร็วแต่คนอื่นไม่รู้ก็ไม่ได้ ต้องพยายามทำให้มันได้ ทุกวันนี้คนเห็นพี่ทำได้ก็อยากมาลงทุนด้วย แต่เราอยู่เองได้อยู่แล้ว ธนาคารมาหาประจำ ชวนยืมเงิน เสนอดอกเบี้ยดีๆ เพราะเราเป็นม้าที่ดี มีความคิดสร้างสรรค์ มีความทะเยอทะยาน เราอยากรวย เราสู้ เราอึด เราฝัน สักวันก็ได้รางวัลชีวิต”

ก่อนจากกัน ม้าอ้วนที่เน้นกินอย่างเราไม่ลืมที่จะขอเคล็ดลับหน้าใสจากชายวัย 50 ปีที่ยังดูหนุ่มมาก

“นับเงินเยอะ” เจ้าของร้านปิดท้ายด้วยเสียงหัวเราะ

'หลิวเต้อหัว' ร้านอาหารจานเดียวไทยในญี่ปุ่น พระเอกความอร่อยแห่งชินไซบาชิ

Writer & Photographer

Avatar

ณิชมน หิรัญพฤกษ์

นักศึกษาเอกภาษาญี่ปุ่นที่คิดเลขไม่ได้ อ่านแผนที่ไม่ออก แต่รักการเดินทาง / ผู้ประสานงานใน a day และ HUMAN RIDE ฉบับญี่ปุ่น / เจ้าของคอลัมน์ made in japan และหนังสือ 'ซะกะ กัมบัตเตะ!' ปัจจุบันใช้เวลาว่างจากการหาร้านคาเฟ่กรุบกริบไปนั่งเรียนปริญญาโทที่โตเกียว และโดนยัดเยียดความเป็นไกด์เถื่อนให้อยู่เป็นระยะ