The Cloud x Designer of the Year

รัฐ เปลี่ยนสุข สถาปนิกและนักออกแบบเจ้าของรางวัล Designer of the Year 2019 สาขา Product Design ผู้ทำงานให้แบรนด์ดังระดับโลกมากมายอย่าง Serax จากเบลเยียม HARTÔ จากฝรั่งเศส และ PLATO ของไทย จนเกิดจุดหักเลี้ยวในเส้นทางสายออกแบบของเขา

รัฐ เปลี่ยนสุข นักออกแบบประวัติศาสตร์เป็นสินค้าศิลปะผู้ปันรายได้สู่ช่างฝีมือท้องถิ่น

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและงานออกแบบเริ่มต้นจากการเป็นสถาปนิก แต่ด้วยความสงสัยเรื่องความสวยงามในการออกแบบ เขาจึงเลือกเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศสเพื่อค้นหาคำตอบนั้น รวมถึงเลือกเดินทางสายออกแบบเฟอร์นิเจอร์ควบคู่ไปกับงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่เขาถนัด และ suMphat Gallery คือชื่อของสตูดิโอออกแบบที่เล่าแนวทางการทำงานของเขาได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบัน รัฐเป็นที่รู้จักในฐานะนักออกแบบผลิตภัณฑ์ผู้เป็นสะพานเชื่อมระหว่างงานหัตถกรรมกับงานอุตสาหกรรม ผลงานทุกชิ้นของเขาถูกจดจำในฐานะพื้นที่แสดงออกของภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์

นักออกแบบผู้ใช้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือ

รัฐเริ่มต้นออกแบบงานศิลปะชิ้นแรกผ่านการมองเรื่องราวที่สื่อสารในวงกว้างได้ นั่นคือเรื่องความเชื่อ ระหว่างทางการทำงานออกแบบ ทุกความคิดของเขาเกิดขึ้นจากการตั้งคำถามและการพยายามหาวิธีการให้ได้มาซึ่งคำตอบ

“ผมพยายามใช้ความคิดเชิงตรรกะในการหามุมมอง เปรียบเทียบมูลค่าระหว่างงานอาร์ตกับโปรดักต์ และมูลค่าระหว่างโปรดักต์กับของแอนทีก จนเกิดเป็นคำถามต่องานที่เคยทำว่า ทำไมมูลค่าของที่เคยได้รางวัลหรือผลงานออกแบบที่ผ่านมาลดลงเมื่อเวลาผ่านไป

รัฐ เปลี่ยนสุข นักออกแบบประวัติศาสตร์เป็นสินค้าศิลปะผู้ปันรายได้สู่ช่างฝีมือท้องถิ่น

“จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความตั้งใจที่อยากจะพิสูจน์ทฤษฎีมูลค่าสินค้าวัตถุโบราณจนเกิดเป็น suMphat Gallery เพื่อพยายามมองหาว่าทำอย่างไรให้ของยิ่งใช้งาน ยิ่งใช้นาน ยิ่งเกิดคุณค่ามากขึ้น คำตอบมันไม่ใช่เพียงดีไซน์ที่ดี แล้วก็ไม่ใช่แค่วัสดุที่ดีด้วย เพราะทำเฟอร์นิเจอร์ไม้สักอายุสี่สิบปี วันข้างหน้าก็ต้องถูกทิ้งอยู่ดี แล้วมันมีอะไรมากกว่านั้น” รัฐเล่าถึงการตั้งคำถามเพื่อค้นหาวิธีทำงานนั้น

ในการทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์มามากกว่า 200 ชิ้น ทำให้รัฐเริ่มเข้าถึงคำตอบของสิ่งที่ตามหาว่า นอกจากวัสดุ เทคนิคกระบวนการ และรูปทรง คุณค่าจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผลิตภัณฑ์เชื่อมโยงเข้ากับชีวิตของผู้ใช้งานได้อย่างสมดุล ดังนั้น แนวทางในการออกแบบผลิตภัณฑ์ของเขาจึงเป็นการหาจุดร่วมระหว่าง 2 ขั้วที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ระหว่างงานผลิตในระบบโรงงานกับงานคราฟต์จากภูมิปัญญาดั้งเดิม สิ่งที่รัฐทำคือการทำให้งานคราฟต์กลับมาเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างคุณค่าให้ชีวิตประจำวันผ่านการออกแบบนั่นเอง แต่แค่นั้นยังไม่พอ เพราะผลิตภัณฑ์มาจากการตอบสนองการใช้งาน และการใช้งานเกิดจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ประวัติศาสตร์จึงช่วยเราอธิบายที่มาและที่ไปของผลิตภัณฑ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

นักออกแบบประวัติศาสตร์เป็นสินค้าศิลปะผู้ปันรายได้สู่ช่างฝีมือท้องถิ่น
นักออกแบบประวัติศาสตร์เป็นสินค้าศิลปะผู้ปันรายได้สู่ช่างฝีมือท้องถิ่น

‘เรื่องราว’ ของสินค้าแต่ละชิ้นต่างหากที่จะช่วยเติมเต็มให้คุณค่าสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนั้น สิ่งที่เขาสนใจลงลึก และเพิ่มเติมเรื่องราวให้กับสินค้าที่รัฐออกแบบก็คือ ‘ประวัติศาสตร์’

“ตอนที่ไปช่วยพัฒนาของที่ระลึกให้จังหวัดสุโขทัย โจทย์ที่เขาอยากได้คือพัฒนาสินค้าที่ระลึกซึ่งขายให้นักท่องเที่ยว ทีแรกคนที่นั่นก็อยากให้ทำอะไรง่ายๆ พอดีตอนนั้นผมเริ่มชอบเรื่องงานคราฟต์แล้ว และเริ่มสนใจศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ จึงคิดว่าถ้าทำของที่ระลึกเหมือนปกติไม่น่าจะดีแน่ๆ

“จึงนึกถึงเครื่องปั้นดินเผาของสุโขทัยที่ค่อนข้างโด่งดัง ผมก็ลงไปหาอีกว่าแก่นของเซรามิกสุโขทัยคืออะไร เวลาคนซื้อเซรามิกของเก่า เขาไม่ได้ดูแค่น้ำเคลือบ เขาต้องพลิกก้นเพื่อดูว่าดินที่อยู่ข้างใต้เป็นสีอะไร เพราะดินแต่ละแหล่งไม่เหมือนกันเลย สีดินจะเป็นตัวบอกแหล่งที่มาของดินว่ามาจากไหน 

นักออกแบบประวัติศาสตร์เป็นสินค้าศิลปะผู้ปันรายได้สู่ช่างฝีมือท้องถิ่น

“เราเลยอยากได้ของที่มีคุณค่าเหมือนศตวรรษที่ 12 ช่วงที่สุโขทัยส่งออกสังคโลก โดยได้ อพท. (องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)) เป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้เรื่องดินในสมัยสุโขทัย ก็เลยไปปรึกษากับผู้ประกอบการในท้องที่เจ้าหนึ่งที่เก่งเรื่องดิน ประกอบกับเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่รู้สูตรของดิน จึงให้ทางนั้นผสมดินจากแหล่งดินสุโขทัยที่มีให้คล้ายดินในยุคนั้น

“หลังจากนั้นก็มาดูว่าจะทำเป็นอะไรดี ในยุคนั้นคนในละแวกเอเชียใช้เครื่องปั้นดินเผาเก็บและขนย้ายน้ำ รูปทรงจะเหมือนไหคอสูงๆ ซึ่งเรียกว่า Kendi เราก็เอาฟอร์มของไหนั้นมาผสมกับหัตถกรรมชุมชนสุพรรณบุรีที่ทำงานจักสานจากตอกขนาดเล็กมาก ถ้าจะเอามาสานเป็นของอื่นๆ อย่างกระเป๋าก็จะใช้เวลานานมาก และความละเอียดของลายจากวัสดุก็เป็นเพียงแค่ของประดับ 

นักออกแบบประวัติศาสตร์เป็นสินค้าศิลปะผู้ปันรายได้สู่ช่างฝีมือท้องถิ่น

“ผมจึงคิดว่าถ้าเอาสูตรดินและรูปแบบมาทำเป็นกาน้ำชา แล้วเอางานสานตอกลายดอกพิกุลมาทำเป็นที่กรองใบชา ขนาดที่เล็กของลายดอกพิกุลจะเป็นประโยชน์อย่างดี ซึ่งคอลเลกชันสูตรดินสุโขทัยนี้ก็ขายหมดไปแล้ว ผมมาเรียนรู้ว่าต้องศึกษาตัววัสดุและคุณค่าของวัสดุให้ดีก่อน แต่ก่อนหน้านั้นก็ต้องศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ให้เห็นความเชื่อมโยงถึงปัจจุบันด้วย” รัฐเล่าถึงผลงานการออกแบบที่เกิดจากการทำงานประสานกันทั้งนักออกแบบและช่างฝีมือ

จุดร่วมของช่างฝีมือและนักออกแบบ

จากการทำงานร่วมกับช่างฝีมืออยู่เสมอๆ ทำให้รัฐได้เรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกับผู้อื่น แม้แต่ในระหว่างการออกเดินทาง ไม่เพียงแต่ได้สัมผัสต้นทางอย่างผู้ทำหัตถกรรม งานหัตถกรรม แต่ยังรวมไปถึงบริบทแวดล้อมรอบด้านของวิถีชีวิต เพื่อสร้างจุดร่วมที่เหมาะสมทั้งกับช่างฝีมือและนักออกแบบ

“เมื่อลงไปในพื้นที่พัฒนางานให้ภาครัฐ เราต้องมองว่าทำอย่างไรจะให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน ให้มีความสุขกับวิถีชีวิตจริงๆ เราเลยต้องมองกันตั้งแต่เรื่องปัญหาสังคม การแก้ไขคุณภาพชีวิต เดินทางลงพื้นที่ แล้วเอาวัตถุดิบทางหัตถกรรมกลับมาวิเคราะห์มูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจใหม่ นี่จึงเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของ suMphat เราไม่ได้อยากทำแค่ของสวย แต่ต้องเป็นของที่แก้ปัญหาด้วย ทุกอย่างจึงเกิดขึ้นจากการค่อยๆ เก็บสะสมมาระหว่างทาง โดยการแก้ปัญหาต้องทำให้ง่ายและมีประสิทธิภาพ ถ้าเราไม่ได้ลงพื้นที่ เราก็ไม่เจอชาวบ้าน ถ้าเราไม่ได้ลงไปถึงชุมชน ได้คุยกับชาวบ้านจริงๆ จะไม่รู้ปัญหาและบริบทของปัญหา

รัฐ เปลี่ยนสุข นักออกแบบประวัติศาสตร์เป็นสินค้าศิลปะผู้ปันรายได้สู่ช่างฝีมือท้องถิ่น
รัฐ เปลี่ยนสุข นักออกแบบประวัติศาสตร์เป็นสินค้าศิลปะผู้ปันรายได้สู่ช่างฝีมือท้องถิ่น

“ส่วนการทำงานระหว่างนักออกแบบกับช่างฝีมือ สำหรับเราแล้ว มันเหมือนเราวาดภาพขอบนอก แล้วให้คนทำงานคราฟต์เป็นคนระบายสีหรือเติมแพตเทิร์นได้เอง จุดร่วมที่จะทำให้ชิ้นงานเกิดประสิทธิภาพได้สูงสุดคือการสร้างพื้นที่สบายใจให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุขทั้งสองฝ่าย เพราะเขาก็จะภูมิใจในตัวชิ้นงาน และเราเองก็ได้เจอเทคนิคใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึงจากการลงมือทำของบรรดาช่างฝีมือทั้งหลาย” รัฐเล่าถึงแนวความคิดในการแก้ปัญหาชุมชนอย่างยั่งยืน

ทั้งหมดตกตะกอนเป็นหัวใจหลักของ suMphat นั่นคือการไม่ตั้งโรงงานผลิตสินค้าขึ้นมา เพราะต้องการนำเงินและงานลงไปถึงมือชุมชนได้อย่างแท้จริง เพื่อใช้งานออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่สุดของการใช้ชีวิต ถ้าเงินพอ ท้องอิ่ม ครอบครัวอบอุ่น ศักยภาพที่แท้จริงก็จะปรากฏขึ้นในชิ้นงาน สร้างแรงบันดาลใจให้รักษาวัฒนธรรมและงานหัตถกรรมพื้นบ้านควบคู่กับวิถีชีวิตได้อย่างยั่งยืน และ suMphat จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมสู่ลูกค้าที่ให้คุณค่ากับผลงานทั้งในไทยและต่างประเทศ

องค์ประกอบสำคัญอีกอย่างที่ทำให้ suMphat และงานออกแบบของรัฐประสบความสำเร็จในวงกว้าง เกิดขึ้นจากการทำความเข้าใจจุดเด่นของวัตถุดิบและเทคนิคการผลิต ใช้ศิลปะและเทคโนโลยีแปรรูป โดยเน้นคุณค่าดั้งเดิม เพื่อแก้ปัญหาในชุมชน ซึ่งต้องแก้ไขให้ตรงประเด็นและเรียบง่ายที่สุด

รัฐ เปลี่ยนสุข นักออกแบบประวัติศาสตร์เป็นสินค้าศิลปะผู้ปันรายได้สู่ช่างฝีมือท้องถิ่น

“การวิเคราะห์ตัวเราเองก็เหมือนการสร้างสรรค์งานออกแบบ การดึงประสบการณ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะมันจะดีหรือเลว เพราะเราเองก็เป็น Art Material ชิ้นหนึ่งเช่นกัน เราต้องรู้จักนำวัตถุดิบในชีวิตของเรามาออกแบบให้เต็มศักยภาพ จากประสบการณ์ทั้งดีหรือร้ายที่ผ่านมา และต้องเลือกว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อการดำเนินชีวิตต่อไป” รัฐอธิบาย

จากการวิเคราะห์เชิงนามธรรม ถอดความอย่างเป็นรูปธรรมผ่านงานออกแบบของรัฐ เขาเชื่อเรื่องการแบ่งปันวัฒนธรรมอันหลากหลาย ไม่สนับสนุนการใช้วัฒนธรรมมาเป็นเครื่องมือในการสร้างชาตินิยมสุดโต่ง และใช้ภาษาทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างมูลค่าให้กับงานออกแบบ ชิ้นงานของรัฐจึงมีความเป็นสากลชักชวนให้ผู้คนหลากหลายได้ขบคิดและพูดคุย ทั้งจากตัววัสดุ การออกแบบ ฟังก์ชันการใช้งาน และเป็นจุดเชื่อมโยงสู่ผู้ใช้งาน ปลายทางของผลิตภัณฑ์

นักออกแบบประวัติศาสตร์เป็นสินค้าศิลปะผู้ปันรายได้สู่ช่างฝีมือท้องถิ่น
นักออกแบบประวัติศาสตร์เป็นสินค้าศิลปะผู้ปันรายได้สู่ช่างฝีมือท้องถิ่น

“หากถามเราว่าอะไรคือความเป็นไทย ความเป็นไทยคือวัฒนธรรมรูปแบบการใช้ชีวิตและการผลิตเครื่องมือ เทคโนโลยี ให้เหมาะสมต่อสภาพความเป็นอยู่ ให้ตอบสนองคนไทย เพื่อการใช้ชีวิตแบบไทยๆ ดังนั้น แม้แตแอปพลิเคชันก็นับเป็นวัฒนธรรมไทยได้ หากแต่สร้าง ปรุง แต่ง ให้เข้ากับนิสัยความเป็นอยู่ในปัจจุบัน” รัฐเล่าถึงความเป็นไทยในสายตาเขา

ความเชื่อในงานออกแบบ

“มันไม่มีงานออกแบบที่สวย มันมีแต่งานที่พอดี” รัฐพูดถึงความเชื่อในการออกแบบของเขา ชิ้นงานของรัฐจึงเป็นเหมือนผลลัพธ์ของความพอดีในทุกแง่ ตั้งแต่ความพอดีในวิถีชีวิต ความพอดีระหว่างคนทำงาน และการออกแบบที่พอดี ประสบการณ์ทำงานทั้งหมดหล่อหลอมให้เขาได้กลับมาเห็นแนวทางที่ชัดเจนในการทำงานที่เน้นไปในทาง Eco Craft มากขึ้น

รัฐ เปลี่ยนสุข นักออกแบบประวัติศาสตร์เป็นสินค้าศิลปะผู้ปันรายได้สู่ช่างฝีมือท้องถิ่น

“คราฟต์คือการสร้างผลงานโดยไม่ต้องมีเครื่องจักร หัตถกรรมมีความสำคัญตรงที่ทำให้คนอยู่ได้ในชุมชน ซึ่งหน้าที่ของเราคือเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างหัตถกรรมและการสร้างรายได้ให้ได้จริง งานออกแบบของเราจึงต้องมีงานหัตถกรรมเข้ามาร่วมด้วยเสมอ และนี่คือ Core Value ของเรา คือการกระจายเงินเข้าสู่ชุมชนจริงๆ

“ถ้าคุณไม่อยู่แล้ว คนจะจดจำคุณในแง่ไหน” เป็นคำถามทิ้งท้ายของรัฐ ที่ทำให้เราได้กลับมาฉุกคิดกับตัวเองเช่นกัน

01 

นักออกแบบประวัติศาสตร์เป็นสินค้าศิลปะผู้ปันรายได้สู่ช่างฝีมือท้องถิ่น

แนวความคิดการพัฒนาชุมชนคือการศึกษาเทคนิคการทำร่มบ่อสร้างและวัสดุกระดาษสา ซึ่งนำจุดเด่นของการทำซี่ร่มร่วมกับการใช้กาวจากต้นตะกูมาทำเป็นโครงสร้างจาน ดึงจุดเด่นของการร่วมงานระหว่างร่มบ่อสร้างและการทำงานเขินด้วยการเลือกหน้าที่การใช้งานที่เหมาะสม อันได้แก่การผลิตจานชามเพื่อใส่อาหาร ซึ่งยางรักเป็นสารป้องกันแบคทีเรีย อีกทั้งยังช่วยห่อหุ้มผิวงานกระดาษสาให้ใส่อาหารและทำความสะอาดได้อีกด้วย

เป็นการทำงานที่เน้นการพัฒนาที่ไม่ยุ่งยาก ผู้ประกอบการมีสินค้าและปรับให้เหมาะสม เข้าใจง่าย และง่ายในการผลิต

02

นักออกแบบประวัติศาสตร์เป็นสินค้าศิลปะผู้ปันรายได้สู่ช่างฝีมือท้องถิ่น

จากการพบหนังสือสมุดข่อยอันว่าด้วยแมวสยามที่ให้คุณและโทษในหอสมุดที่อังกฤษ จึงได้นำรูปของแมวสยามโบราณมาสร้างเป็นผลงาน คัดลอกการวาดแบบดั้งเดิมเพื่อเพิ่มมูลค่าและลวดลายของการทำลายเบญจรงค์ โดยผสมเนื้อหาที่เป็นประวัติศาสตร์และเป็นมงคล รวมทั้งเข้าถึงหลากหลายวัฒนธรรม เพื่อให้ลายเบญจรงค์ได้กลับมาสร้างความหมายให้ผู้ใช้อีกครั้ง

03

นักออกแบบประวัติศาสตร์เป็นสินค้าศิลปะผู้ปันรายได้สู่ช่างฝีมือท้องถิ่น

จากการศึกษางานลายรดน้ำหน้าบานประตูนำไปสู่การค้นพบงานไม้ดัดไทยประเพณีที่วัดคลองเตยใน จึงเป็นแรงบันดาลใจในการเล่าเรื่องประเพณีการทำไม้ดัดโบราณร่วมกับการชงชาชมไม้ของไทย โดยนำมาสร้างเป็นคอลเลกชันชุดชา และชุดโต๊ะทองเหลืองเพื่อนำประวัติศาสตร์ไม้ดัดไทยมาใช้กับการอยู่อาศัยในพื้นที่คอนโดขนาดเล็กในปัจจุบัน เพื่อให้คนได้ดื่มด่ำไปกับความสุนทรีย์ของต้นไม้ไปพร้อมกับความสงบในการดื่มชา

04

นักออกแบบประวัติศาสตร์เป็นสินค้าศิลปะผู้ปันรายได้สู่ช่างฝีมือท้องถิ่น

จากการได้มีโอกาสเข้าไปทำงานกับชุมชนเซรามิกสุโขทัย ได้พิจารณาถึงคุณค่าในงานสังคโลกในศตวรรษที่ 12 ซึ่งไม่ใช่เพียงน้ำเคลือบ แต่สิ่งที่สำคัญที่ผู้สะสมงานเซรามิกให้ความสนใจยังรวมถึงสีเนื้อดิน ซึ่งมีความเฉพาะตัวและแตกต่างกันไปแต่ละพื้นที่ เรานำเนื้อดินโบราณมาผสมกับสูตรในปัจจุบันบนรูปทรงที่พัฒนามาจากในอดีต Kendi คือรูปทรงภาชนะใส่น้ำแบบไม่มีหูจับตั้งแต่ยุคโบราณที่ผู้ใช้จับคอภาชนะและรินน้ำดื่มทางปากภาชนะ จึงนำรูปทรงมาปรับเปลี่ยนกลายเป็นกาน้ำชาไร้หูของคอลเลกชัน Kendi นี้เอง

Writer

Avatar

ณัฐนิช ชัยดี

อดีตนักเรียนสัตวแพทย์ผู้ หลงใหลในเส้นสายสถาปัตยกรรม ก่อนผันตัวเองมาเรียน'ถาปัตย์ และเลือกเดินบนถนนสายนักเขียนหลังเรียนจบ สามสิ่งในชีวิตที่ชอบตอนนี้คือ การได้ติ่ง BNK48 ไปญี่ปุ่น และทำสีผม

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan