01
รุ่งอรุณแห่งความสุข
สุโขทัยคือเมืองรุ่งอรุณแห่งความสุข
ร้อยทั้งร้อยคนที่มาสุโขทัย ล้วนปักหมุดหมายไว้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ เพื่อชมหลักฐานความเจริญของอารยธรรมไทย แม้ไม่ใช่วัดวังที่ยังงามเรืองรองเหมือนอย่างกรุงเทพฯ แต่บรรดาวัดวังที่เคยงามรองเรืองมาเมื่อ 700 ปีที่แล้วนั้นก็ถือได้ว่าเป็นแลนด์มาร์กของจังหวัด

ทว่าเป้าหมายของเราวันนี้อยู่ห่างออกมา 12 กิโลเมตร ในตัวอำเภอเมืองสุโขทัย
ตึกแถวขนาด 2 คูหา ริมถนนบาลเมือง เยื้องกับโรงเรียนสารสาร์ท คือที่ตั้งของ Rush Lush Craft Cafe ร้านกาแฟสายคราฟต์ของ รัตน-สุรีรัตน์ กลิ่นขจร และแน็ค-ปริวัฒน์ วิเชียรโชติ ลูกหลานชาวสุโขทัยที่ตัดสินใจกลับบ้านเกิดมาเปิดคาเฟ่

ความดีงามของสถานที่แห่งนี้ที่ทำให้เราชวนเจ้าของทั้ง 2 คนมานั่งคุยด้วยมี 2 ข้อ
ข้อแรก ป้าย ‘กาแฟร้านเราไม่ใส่น้ำตาล เพื่อเคารพรสชาติและความตั้งใจจากเกษตรกร’ ที่ตั้งเด่นตระหง่านหน้าเคาน์เตอร์ คือเครื่องพิสูจน์ถึงความตั้งใจจริงของทั้งคู่ ในการเลือกเสิร์ฟวัตถุดิบท้องถิ่นโดยปรุงแต่งให้น้อยที่สุด เพื่อนำเสนอรสที่แท้จริงจากธรรมชาติ
ข้อสอง ร้านนี้เปิดแค่วันศุกร์-อาทิตย์ เพราะแน็คและรัตน์จะใช้เวลา 4 วันที่เหลือออกไปชาร์จแบตกายและใจ ด้วยการทำโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือสังคม เข้าหาชุมชน และนำวัตถุดิบท้องถิ่นแท้ๆ มาใช้ที่ร้าน
เหตุผลเท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่เราจะชวนทุกท่านมาเอนตัวลงบนเก้าอี้นุ่มๆ กลางร้านย่านเมืองเก่า ดื่มอเมริกาโน่ร้อนไม่ใส่น้ำตาล คู่กับขนมปังยีสต์ธรรมชาติ พลางชิมชีสเค้กฟักทองจากกลุ่มปกาเกอะญอ พร้อมฟังเมนูต่างๆ บอกเล่าเรื่องราวอันแสนอบอุ่นและน่าสนุกของวัตถุดิบนานาชนิดไปพร้อมกัน
แล้วจะรู้ว่าสุโขทัยมีดีกว่าที่คิด

02
ที่ไปที่มา
ก่อนหน้าที่ทั้งคู่จะเปิดร้าน Rush Lush Craft Cafe ที่สุโขทัย พวกเขาเปิดคาเฟ่ชื่อเดียวกันนี้ในกรุงเก่าพระนครศรีอยุธยามาก่อน
ไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญหรืออย่างไร ที่ตอนนั้นตึกข้างๆ ร้านของพวกเขาได้เปลี่ยนมาทำโฮสเทล แน็คและรัตน์จึงได้มีโอกาสรู้จักกับเจ้าของกิจการเพื่อนบ้าน สานสัมพันธ์จนกระทั่งสนิทสนม ขณะเดียวกันนั้น สองสามีภรรยาก็ได้ซึมซับและตกหลุมรักวิถีชีวิตของชาวโฮสเทลไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อถึงคราวที่ต้องย้ายกลับสุโขทัย จึงคิดริเริ่มอยากจะนำโมเดลโฮสเทลที่พวกเขาสนใจ กลับมาดำเนินธุรกิจต่อที่บ้านเกิดพร้อมกับคาเฟ่เดิม ด้วยแรงกำลังที่เปี่ยมล้น และความสนใจใคร่รู้ที่แม้มีมากมาย แต่กลับสะเปะสะปะไร้ทิศทาง

แน็คและรัตน์จึงไปปรึกษาส้ม แห่ง The Yard Hostel เกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินธุรกิจ จนสุดท้ายพวกเขาได้รับคำแนะนำว่าให้ลองเข้าร่วมโครงการพอแล้วดีดู เผื่อว่าไอเดียที่ฟุ้งฝันและแรงบันดาลใจอันแรงกล้าของพวกเขานั้นจะเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น
เมื่อได้เรียนรู้กระบวนการคิดจากโครงการที่ว่ามาแล้ว แน็คและรัตน์จึงตัดสินใจย้ายกิจการมาเปิดโฮสเทลและคาเฟ่ที่สุโขทัย ธุรกิจดำเนินไปได้สักระยะก็เผชิญปัญหาโรคระบาด COVID-19 ที่ไม่อาจจะเลี่ยงได้ พวกเขาจึงจำต้องปิดส่วนโฮสเทลไป เพราะฟากธุรกิจนั้นอาศัยลูกค้าชาวต่างชาติเป็นหลัก แล้วย้าย Rush Lush Craft Cafe มายังพื้นที่บ้านของครอบครัวแน็ค ทั้งคู่จึงสามารถทุ่มเทแรงกายแรงใจให้แก่คาเฟ่ได้มากขึ้น
03
ใจบันดาลแรง
“คิดว่าต้องทำยังไงให้เราสามารถใช้ชีวิตแบบบาลานซ์ได้ ผมเป็นคนที่อยู่ไม่ค่อยนิ่ง ปรกติจะต้องปิดร้านเพื่อไปหาคนโน้นคนนี้ ไปหาเพื่อนใหม่ สถานที่ใหม่ๆ ก็เลยคิดกันว่า ถ้างั้นก็เปิดร้านแค่ 3 วัน อีก 4 วันจะได้ทำอะไรอย่างอื่น”
แน็คอธิบายถึงที่มาที่ไปว่าทำไม Rush Lush Craft Cafe ถึงเปิดแค่วันศุกร์ถึงวันอาทิตย์
แล้ว 4 วันที่เหลือ คุณเอาเวลาไปทำอะไร-เราถาม
“อะไรที่เป็นประโยชน์กับสังคม เราจะเอาเวลาสี่วันนี้ไปทำ เพื่อไม่ให้งานเราเสียไปด้วย”

แน็คและรัตน์สลับกันเล่าถึงบรรดากิจกรรมที่พวกเขาทำในวันหยุดให้เราฟัง ด้วยสีหน้า แววตา และน้ำเสียงที่เปี่ยมไปด้วยกำลังใจและความสุข
“ก่อนหน้านี้ที่โฮสเทล เรารับชาวต่างชาติมาเป็นอาสาสมัครไปทำประโยชน์ตามที่ตัวเขาถนัด ให้เขาได้ค้นหาตัวเอง ค้นพบความสามารถ และได้ทำประโยชน์เพื่อสังคมไปด้วย
“ล่าสุดไปเจอกลุ่มเกษตรออร์แกนิกในสุโขทัย เราก็เข้าไปช่วยเขาเรื่อง Design Thinking หรือเวลาจะมีคนเข้ามาศึกษาดูงาน เราก็จะช่วยวางแผนรับมือ วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย ช่วยติดต่อหาตลาดให้เขา ให้คอนเนกชันกับเขา ช่วยในสิ่งที่เราช่วยได้”

ความฉงนสนเท่ห์ของเราก็ยิ่งทวีคูณ วิถีการดำเนินธุรกิจเช่นนี้ดูจะไม่ได้มุ่งหวังกำไรเป็นสำคัญ แต่น่าจะโฟกัสไปที่ความสุขใจมากกว่า เราอดสงสัยไม่ได้ว่าความคิดอะไรที่ชุบชูจิตใจให้ทั้งสองคนมีเรี่ยวแรงออกไปทำเช่นนี้อยู่เสมอ
“เมื่อก่อนผมทำงานในวงการผลิตโฆษณาเกี่ยวกับเรื่องราวเพื่อสังคม เลยได้มีโอกาสรู้จักบรรดาผู้คนที่เขาทำอะไรแบบนี้ เช่น ครูปู่ ซ.โซ่ อาสา คนนี้เป็นแรงบันดาลใจสุดๆ เลย ครั้งหนึ่งแกเคยพูดว่า ‘ยิ่งอายุเหลือน้อย ยิ่งต้องเร่งทำความดี เพราะไม่เหมือนกับหนุ่มสาวที่จะทำความดีเมื่อไหร่ก็ได้ ยิ่งแก่ยิ่งต้องรีบทำ’ เราก็กลับมาคิดได้ว่าเราเพิ่งอายุเท่านี้ แล้วทำอะไรอยู่วะ ยิ่งพอมาเข้าโครงการพอแล้วดี เลยได้ค้นพบคุณค่าที่เรายึดถือจริงๆ เลยรู้ตัวว่านี่แหละคือสิ่งที่เราต้องทำ”
04
เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว

นอกจากเข้าไปช่วยเหลือชุมชนผ่านโครงการต่างๆ แล้ว ทั้งคู่ยังได้อุดหนุนสินค้าชาวบ้าน นำวัตถุดิบพื้นถิ่นที่เติบโตขึ้นมาจากความใส่ใจของผู้ผลิต มีความพิถีพิถันเป็นปุ๋ยยาที่คอยบำรุงให้เติบโตอย่างสุขภาพดี มาสร้างสรรค์เป็นเมนูต่างๆ ที่ร้านอีกด้วย
“เราไม่ได้แค่ไปซื้อผลผลิตมาใช้เฉยๆ แต่เราไปดูว่าใครเป็นคนทำ เขาทำยังไง ภูมิปัญญาแบบไหน ขนมปังที่ร้าน มีขนมปังฟักทอง เผือก และมัน จากชุมชนที่เรานำมาดัดแปลงใช้
“อย่างชีสเค้กเสาวรส เราได้เสาวรสมาจากขุนแปะ อำเภอจอมทอง เชียงใหม่ ซึ่งเราได้ลงไปทำงานร่วมกับชุมชนในด้านการฟื้นฟูวิถีชีวิตและวัฒนธรรม เป็นเวิร์กช็อปชื่อว่าลิ้มรสให้รู้ราก ตอน จากผืนดินสู่ดวงดาว วิถีชาวปกาเกอะญอ เพื่อให้คนได้เห็นอีกรูปแบบของการท่องเที่ยวแบบที่ไม่ฉาบฉวย”

แน็คและรัตน์ใช้วัตถุดิบเหล่านั้นด้วยความเคารพในเกษตรกร และเชื่อมั่นในความอร่อยแต่ดั้งเดิม ทั้งสองจึงพยายามปรุงแต่งอาหารในร้านให้น้อยที่สุดเพื่อชูวัตถุดิบ เพราะต่างเห็นถึงคุณค่าของรสชาติอันเป็นแก่นแท้ที่จะบอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลังอาหารจานนั้น

แน็คเล่าประสบการณ์สนุกๆ ให้เราฟังว่า “มีครั้งหนึ่งเข้าไปที่หมู่บ้าน มีชาวปกาเกอะญอคนหนึ่งเอาฟักทองมาให้ เราก็เอามาทำขนมปังโดยที่ไม่มีไฟฟ้าใช้เลย เช้ามาก็เอาไปให้เขากิน เขาบอกว่า ‘พี่ มันอร่อยมากเลยอะ’ ผมเลยรู้สึกว่าพอได้ทำอะไรที่เป็นธรรมชาติแท้ๆ โดยไม่ต้องพึ่งอย่างอื่นนอกจากมือกับใจ มันออกมาดีมาก คนที่เป็นเจ้าของก็รับรู้ได้ว่าตัวเองมีคุณค่า แล้วก็เอาเรื่องราวมาเล่าในร้าน ว่าใช้ฟักทองจากปกาเกอะญอ เขาปลูกผลผลิตพวกนี้เพื่อต่อสู่กับการปลูกพืชแบบอุตสาหกรรมอย่างข้าวโพด ลูกค้าก็เข้าใจและอิน เราเลยรู้สึกว่า โอเคว่ะ แฮปปี้”

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทั้งคู่ยังคงใช้วัตถุดิบหลักมาจากพื้นที่ท้องถิ่นคือเพราะต้องการสื่อสารว่าสุโขทัยนั้นมีอะไรดีมากกว่าการเป็นเมืองเก่าแก่โบราณ
“แม้จะเป็นขนมปังง่ายๆ แต่เราก็พยายามเอาของท้องถิ่นมาประยุกต์หรือทำให้พิเศษขึ้นมา มีช่วงนึงมะม่วงตลับนาคของสุโขทัยเหลือเยอะมาก เราก็เอามากวนแล้วแช่แข็งไว้ พอได้เสาวรสจากปกาเกอะญอ ก็เอามาผสมกันทำเป็นแยม แล้วลองเอามะม่วงมาใส่ขนมปัง สรุปว่ามันอร่อย กลิ่นหอมฟุ้ง เราชอบมาก อย่างน้อยเราก็เป็นแรงบันดาลใจให้คนสุโขทัยด้วยกันเองได้เห็นว่าเป็นไปได้ที่จะนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาทำให้ดี”

เพียงได้ฟังเรื่องราวที่เจ้าของร้านผู้หญิงเล่าให้ฟังก็น้ำลายสอ อยากจะลองชิมเมนูจากของดีท้องถิ่นดูบ้าง
“ล่าสุดเราทำเพสโต้โหระพา เอาโหระพาจากข้างบ้าน ปลาเค็มชุมพรที่ได้มาจากน้องที่เรารู้จัก ปลาป่นของดีสุโขทัย แล้วก็สมุนไพรจากเผ่าปกาเกอะญอที่เชียงใหม่ เอามาผสมกันทำเป็นซอสเพสโต้ พอคนมากินเขาก็ว้าว อร่อย แค่นี้ก็รู้สึกประสบความสำเร็จแล้ว เราได้นำเสนอของดีจากท้องถิ่นต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่ในสุโขทัยเท่านั้น”

05
เรื่องราวระหว่างคนกับคน
“เราอยากให้คนลึกซึ้งกับการกิน” แน็คเผยความตั้งใจจริงให้เราฟัง “คนมาร้านเราจะได้สัมผัสข้อนี้แน่ๆ เราไม่ได้เสิร์ฟอาหารที่อร่อยที่สุดหรอก แต่เบื้องหลังของทุกจานมันมีคุณค่าอะไรบางอย่างซึ่งคนกินจะสัมผัสได้ทันที”


ทั้งคู่ยังบอกอีกด้วยว่าพวกเขาตกหลุมรักเสน่ห์ของความสัมพันธ์ระหว่างคนเข้าอย่างจัง เวลาทำอะไรก็จะให้ความสำคัญแก่คุณค่าของมนุษย์เป็นหลัก
“อย่างที่ไปสอนทำขนมปังล่าสุดเพราะพี่คนนี้เขาขอให้เราช่วยสอนมาเป็นปี ไม่ใช่ว่าเราหวง แต่ว่าเราอยากสอนคนที่เราสนิทใจ คนที่อยากทำเป็นจริงๆ สูตรของเราก็ไม่ได้วิเศษอะไร แล้วต้องไปสอนที่บ้านเขาด้วยนะ เพราะเขาจะได้ใช้อุปกรณ์ในครัวตัวเองทำได้
“เราก็ไม่ได้เก่งอะไรมากเลยอยากเป็นแบบเพื่อนสอนกันมากกว่า แค่เห็นว่าลูกค้าคนนี้ไปมาหาสู่เราเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าก็ไม่เห็นเป็นไรนี่หว่า ถ้าวันนึงเขาทำแล้วมันพิเศษหรือว่าเวิร์ก เราก็ยินดี แล้วถ้าเขาจะมาแบ่งให้เราชิมเราก็ยินดีมากเช่นกัน เราเองยังต้องฝึกอีกเยอะ ไม่ได้กะจะขายคลาสเป็นกิจจะลักษณะอะไร”
ทั้งหมดทั้งมวลก็วกกลับมาที่เรื่องความสัมพันธ์ของคนอยู่ดี

แน็คทิ้งท้ายอย่างมั่นใจว่า “ร้านเราจุดเด่นคือไม่ได้ทำอาหารอร่อย แต่ที่รสชาติดี เพราะวัตถุดิบที่เราเลือกมามันอร่อยอยู่แล้ว”
“ใช่ ไม่ปรุงแต่งเขาอะ ไม่ปรุงแต่งจนเกินพอดี ให้ธรรมชาติเขาปรุงมาเอง” รัตน์เสริมพร้อมรอยยิ้ม

ใครอยากเข้าไปชิมอาหารอร่อยๆ ดื่มด่ำรสชาติดั้งเดิมของวัตถุดิบที่ Rush Lush Craft Cafe และฟังเรื่องราวสนุกๆ จากแหล่งที่มาของแต่ละจาน แน็คกับรัตน์ก็ยินดีมากๆ และพร้อมต้อนรับเสมอ เพียงแต่อย่าลืมว่าร้านเปิดเฉพาะวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์นะ เพราะทั้งคู่บอกว่า
“อยากให้มีเวลาคิดถึงกัน ไม่ต้องเจอกันทุกวันหรอก แต่ถ้าเปิดร้านแล้วคิดถึงกัน ก็แวะมา”
Rush Lush Craft Cafe
เลขที่ 50/8 ถนนบาลเมือง ตำบลธานี อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย 64000 (แผนที่)
เปิดเฉพาะวันศุกร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น.
Facebook : Rush Lush Craft Cafe
โทร. 08 6735 1835