บ่ายวันพุธ เรานั่งอยู่กับ รูพ แมนน์ (Rupert Mann) ที่คาเฟ่เปิดใหม่ขนาดกระจิริด ในซอยขนาดกระจ้อยร่อย ข้างสวนเฉลิมหล้า ตีนสะพานหัวช้าง ท่ามกลางบรรยากาศอึมครึมที่บอกกับเราว่า ฝนจะปรอยลงมาเมื่อไหร่ก็ไม่แปลก แต่บทสนทนาที่รูเพิร์ตแลกเปลี่ยนกับเรานั้นกลับเจิดจ้าผิดกับสภาพอากาศ

บนโต๊ะที่คั่นกลางระหว่างเรากับชายหนุ่มที่นิยามตัวเองว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านมรดกสิ่งปลูกสร้างทางวัฒนธรรม (Built-and Cultural Heritage Specialist) คือหนังสือเล่มหนาเตอะสีสันฉูดฉาดบาดตา ชื่อ Bangkok Street Art and Graffiti หรือ สตรีทอาร์ตกับกราฟฟิตีในกรุงเทพฯ และ ณ โฮปเวลล์ความหวังที่หายไป ของสำนักพิมพ์ River Books ชื่อภาษาไทยบนหน้าปกบอกกับเราว่า เนื้อหาด้านในต้องเกี่ยวอะไรกับรางรถไฟโฮปเวล สตรีทอาร์ต และปัญหาชีวิตของคนกรุงเทพฯ ไม่มากก็น้อย

เจ้าของมือที่ลูบคลำปกหน้าที่พิมพ์ชื่อผู้เขียนว่า ‘รูพ แมนน์’ อย่างตื่นเต้นนั้นอธิบายกับเราว่า “เพิ่งออกมาจากโรงพิมพ์เมื่อเช้านี้เลยนะครับ สดใหม่มาก ๆ” เขาบอกด้วยตาเป็นประกาย ก่อนจะเริ่มเล่าถึงที่มาของหนังสือ Photo Essay เล่มที่ 2 ในชีวิต ซึ่งชิงเอาเวลาในชีวิตไปนานถึง 9 ปี ก่อนจะออกมาเป็นรูปเล่มให้เจ้าตัวได้จับในวันนี้

Rupert Mann ช่างภาพผู้ใช้เวลา 9 ปี บันทึกประวัติศาสตร์สตรีทอาร์ตและกราฟฟิตี้ไทย

คนนอก

เราอดสงสัยไม่ได้ว่าชายหนุ่มสวมแว่นชาวออสเตรเลียคนนี้มาจากไหน ไปมองเห็นมุมไหนของประเทศนี้เข้า ถึงกับเขียนหนังสือออกมาเป็นเรื่องเป็นราว ถึงประเด็นที่แม้แต่คนในประเทศยังไม่ค่อยได้รู้

“ผมใช้ชีวิตอยู่ในเมียนมาร์มาตลอด 8 ปี ทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชน จนถึงเมื่อกลางปีที่แล้วผมต้องลี้ภัยออกมาเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง” รูพตอบสบาย ๆ เมื่อเราถามถึงหน้าที่การงานในวันจันทร์-ศุกร์ของเขา

“หน้าที่หลักของผมในงานนั้นคือ การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมให้ยังคงอยู่ต่อไป โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เรากำลังเผชิญแรงกดดัน จากแนวคิดการพัฒนาเมืองที่มุ่งแต่จะรื้อถอน ทำลายของเก่าเพื่อสร้างของใหม่

“พันธกิจหลักขององค์กรที่ผมทำงานด้วยคือ การรักษาเมืองย่างกุ้งจากการพัฒนาที่เกินขอบเขต แม้ว่าตอนนี้ทุกอย่างหยุดชะงักลง เพราะรัฐบาลทหารเข้ามายึดอำนาจ แต่เราก็ยังต้องทำงานอยู่บ้าง จากปกติที่เน้นในแง่ของการทำวิจัย ทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับรัฐบาลว่า จะพัฒนาควบคู่กับการอนุรักษ์เมืองได้อย่างไร ตอนนี้เราเน้นที่สื่อสารกับคนพื้นที่ ให้เขารู้สึกว่ายังมีความหวังอยู่บ้าง แม้ในเวลายากลำบากที่ประชาชนต้องต่อสู้ เพื่อชีวิตของตัวเองแบบวันต่อวันอย่างตอนนี้”

แม้นักอนุรักษ์หนุ่มจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในเมียนมาร์ แต่เขาก็ได้แวะเวียนมาประเทศไทยอยู่หลายครั้ง ย้อนกลับไปเมื่อ 9 ปีก่อน ภาพเสาขนาดใหญ่ที่เรียงรายครอบอยู่บนทางรถไฟในไซต์ก่อสร้างที่ชื่อ ‘โฮปเวลล์’ จึงดึงดูดสายตาของเขาอย่างเลี่ยงไม่ได้ รูพหลงใหลสิ่งปลูกสร้างที่แทบจะเหมือนสัญลักษณ์ทางศาสนาบางอย่าง แม้จะยังไม่รู้ลึกถึงที่มา

ความหลงใหลนั้นเองที่เปิดประตูให้ ‘คนนอก’ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม มีโอกาสทำความเข้าใจประเทศไทยจากมุมมองที่ต่างออกไป ถึงขั้นกลั่นกรองออกมาเป็นหนังสือสังคมศึกษารูปแบบใหม่ เล่าเรื่องราวที่ไม่มีเขียนไว้ในหนังสือเรียนหรือไกด์บุ๊กเล่มไหนทั้งสิ้น

Rupert Mann ช่างภาพผู้ใช้เวลา 9 ปี บันทึกประวัติศาสตร์สตรีทอาร์ตและกราฟฟิตี้ไทย

เปลือกนอก

“หนังสือเล่มนี้เหมือนเป็นส่วนผสมระหว่างความคิดของผมเอง กับศิลปินสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตี้  อีก 20 คนที่ผมไปขอสัมภาษณ์ ผ่านคำถามหลักที่ว่า กรุงเทพฯ พัฒนาไปมากแล้ว พวกเขาคิดอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงนี้ มีอะไรที่เราสูญเสียไป หรือมีอะไรที่เราได้เพิ่มเติมมาจากกระบวนการพัฒนานี้บ้าง แล้วสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตี้ที่พวกเขาสร้างขึ้น สะท้อนเรื่องราวเหล่านั้นออกมาอย่างไรบ้าง”

เขาอธิบายถึงใจความและที่มาของหนังสือโดยกระชับ แต่สำหรับเราฟังดูราวกับว่า หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกถึงความรักและความชังที่คนกรุงเทพฯ มีต่อบ้านของตน

“สตรีทอาร์ตและกราฟฟิตี้เป็นกระจกที่สะท้อนสังคมอย่างตรงไปตรงมา ปราศจากการกลั่นกรองบางครั้งสิ่งที่พวกเขาทำยังถือว่าผิดกฎหมาย แต่กลับไม่มีอะไรมาคั่นกลางระหว่างภาพที่ศิลปินสร้างเอาไว้ในใจ กับกำแพงที่เป็นเหมือนผืนผ้าใบของพวกเขาได้เลย

“หลายต่อหลายครั้ง เรื่องราวที่ศิลปินพูดถึงมักเป็นเรื่องการเมือง ซึ่งคุณเอามันไปแขวนในแกลเลอรี่ไม่ได้ใช่ไหม” เราพยักหน้าเห็นด้วย “เมื่อเทียบกับบ้านเกิดของผมในเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่เต็มไปด้วยสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตี้ หรือแม้แต่ประเทศอื่น ๆ ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เนื้อหาทางการเมืองไม่ได้ถูกเซนเซอร์หนักขนาดนี้ ศิลปินจะวาดอะไรก็ได้บนกำแพง จะด่า บอริส จอห์นสัน หรือ โจ ไบเดน ก็ได้ทั้งนั้น ไม่มีใครโดนจับเพราะด่าผู้นำ

“แต่ประเทศไทยยังมีการเซนเซอร์อย่างเข้มข้น การทำงานศิลปะที่เล่าเรื่องการเมืองในประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงมาก อาจเรียกว่าเดิมพันทุกอย่างในชีวิตเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณพูดเรื่องอะไร ก็เลยยิ่งทำให้การสร้างงานศิลปะเหล่านี้ที่นี่มันน่าทึ่ง และมีชีวิตชีวามากขึ้นไปอีก ในงานสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตี้ที่นี่มีทั้งความกล้า ความจริงใจ และความทุ่มเท ที่ผมชื่นชม ผสมอบอวลอัดแน่นอยู่เต็มไปหมด”

เมื่อได้ยินนักเขียนหนุ่มเปรียบเทียบให้ฟังเช่นนี้ เรารู้สึกถึงมวลของอากาศในปอดที่หนักขึ้นในทันที ราวกับบางส่วนในสมองเพิ่งจะตื่นรู้ และก่อเกิดคำถามว่า ที่ผ่านมาเราต่างรู้จักกรุงเทพฯ เพียงแค่เปลือกนอกใช่หรือไม่ 

ขณะที่มีผู้คนมากมายพยายามกะเทาะเปลือกออกมา และเล่าเรื่องราวเหล่านั้นผ่านศิลปะบนกำแพง แต่เรากลับไม่เคยพินิจมัน

Rupert Mann ช่างภาพผู้ใช้เวลา 9 ปี บันทึกประวัติศาสตร์สตรีทอาร์ตและกราฟฟิตี้ไทย
Rupert Mann ช่างภาพผู้ใช้เวลา 9 ปี บันทึกประวัติศาสตร์สตรีทอาร์ตและกราฟฟิตี้ไทย

นอกสายตา

นอกจากมิติของศิลปะและเนื้อหาอันพลุ่งพล่าน นักเขียนหนุ่มยังได้เห็นสักขีพยานของความเชื่อมโยงระหว่างผู้คนเหล่านั้นกับการเติบโต เสื่อมสลาย และการเกิดใหม่ของเมือง ทั้งเชิงกายภาพและเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นภาพที่เขาพยายามบรรยายออกมาผ่านภาพถ่ายและตัวอักษร

“ย้อนกลับไปมองในประวัติศาสตร์สตรีทอาร์ตและกราฟฟิตี้ มีความเชื่อมโยงกับประเด็นนี้แบบแยกกันไม่ออก เพราะทั้งสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตี้ มักมีผืนผ้าใบเป็นกำแพง และอาคารเก่าที่หมดอายุการใช้งานแล้ว ในพื้นที่ที่ถูกทิ้งให้รกร้าง ไม่ต่างอะไรกับที่ที่เราคุยกันอยู่ตอนนี้” รูพหมายถึงสวนเฉลิมหล้า

“แต่พอศิลปินมาทำงานทิ้งเอาไว้ที่นี่ กำแพงเปล่า ๆ นี้ก็เกิดป๊อปขึ้นมา มีคนมาถ่ายรูปลงอินสตาแกรม แล้วก็ดึงดูดศิลปินคนอื่น ๆ ให้มาวาดงานทับกันต่อไปอีก” ระหว่างที่ฟังรูพเล่า เราก็มองเห็นหนุ่มสาวที่มาใช้ภาพศิลปะบนกำแพงเป็นฉากหลังถ่ายภาพที่ระลึกวันรับปริญญา

อย่างไรก็ตาม งานศิลปะบนเสาโฮปเวลล์ที่เป็นตัวเอกของหนังสือนั้น มีตัวตนแตกต่างออกไปจากงานสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตี้ในพื้นที่อื่น เพราะลักษณะของเสาที่เรียงรายกันนั้นถูกแปลความหมายไม่ต่างจากเฟรมผ้าใบของศิลปินแต่ละคน และพวกเขาก็กระจายตัวกันไปจับจองเฟรมของตัวเอง โดยไม่จงใจ ‘บอมบ์’ งานของกันและกันอย่างที่เคย

“โฮปเวลและพื้นที่สร้างงานสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตี้อื่น ๆ ทั้งที่เมืองทองธานีหรือสาทร ยูนีค ทาวเวอร์ ล้วนเป็นมรดกจากช่วงต้มยำกุ้ง เราเลยเห็นความเชื่อมโยงได้ไม่ยากระหว่างวิกฤตเศรษฐกิจ การล่มสลายของเมือง กับสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตี้ ผมเลยอยากฟังจากศิลปินที่ทำงานเล่าเรื่องเหล่านี้ว่าพวกเขาคิดอะไรอยู่บ้าง” 

เรื่องราวในหนังสือของเขาจึงคลุกเคล้าและร้อยเรียงเรื่องราว ผลกระทบจากความพยายามและความล้มเหลวของการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจ จากมุมมองของผู้คนตัวเล็ก ๆ ที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียจริง เจ็บจริง ล้มจริง

ความเจ็บปวดที่อยู่นอกสายตาผู้มีอำนาจทางการปกครองตลอดมา และรอเวลาจะมีคนรับฟัง

พรีวิวหนังสือที่ทำความเข้าใจสังคมไทย ผ่านงานศิลปะที่แขวนในแกลเลอรี่ไม่ได้ และถ่ายทอดผ่านสายตาของคนนอกวัฒนธรรม

นอกรีต

ลึกลงไปภายใต้ชั้นสีและเนื้อหาของงานศิลปะ วัฒนธรรมและความสัมพันธ์ของกลุ่มศิลปินสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตี้ที่รูพเรียกว่าเป็นอีก ‘ชนเผ่า’ ก็น่าพิศวงไม่แพ้กัน ทั้งยังสะท้อนความผูกพันกันระหว่างคนกับเมือง รวมถึงคนกับโลก

“จากที่ได้คุยกัน ศิลปินรุ่นเก๋าบางคนบอกว่าพวกเขาเห็นงานสไตล์นี้ผ่านปกซีดีเพลงฮิปฮอปบ้าง ปกนิตยสารที่มาจากอเมริกาบ้าง เห็นเป็นภาพเบลอ ๆ ก็ต้องมานั่งแกะเอาเอง แต่พวกเขามีการปรับตัวกับงานศิลปะเหล่านี้และโอบรับมันอย่างไรบ้าง แล้วการบิดเปลี่ยนของวัฒนธรรมเหล่านี้ สะท้อนความเป็นไทยออกมาในรูปแบบไหน”

นักเขียนหนุ่มบอกกับเราว่า เขาเห็นว่าศิลปินสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตี้ในไทยแบ่งแยกกลุ่มกันโดยสิ้นเชิง รวมถึงมีความเห็นขัดแย้งกันในหลายเรื่อง แต่กระนั้นพวกเขากลับยึดค่านิยมบางอย่างที่ตรงกัน ทั้งกฎที่กำหนดคุณค่าของการเป็นศิลปินที่ดีว่า จะต้องทำงานหนัก ซื่อตรงกับสไตล์งานของตัวเอง การอุทิศตนเพื่อบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง รวมไปถึงการไม่คาดหวังชื่อเสียงเพียงฉาบฉวย

“วัฒนธรรมย่อยนี้เข้มข้นมาก เพราะมันมีการส่งต่อกันในระดับบุคคลครับ” รูพขยายความ “ศิลปินรุ่นเก๋าที่ช่วยกันก่อร่างสร้างฐาน คอยสอนและส่องต่อองค์ความรู้นี้ให้กับเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจ มันมีลำดับชั้นทางสังคมชัดเจน มีความภาคภูมิใจในการทำบางอย่างที่ผิดกฎหมาย และรอดตัวไปได้เรื่อย ๆ และต้องเรียนรู้ทักษะพื้นฐานในการวาดการเขียน ก่อนที่จะพัฒนาเป็นรูปแบบเฉพาะของตัวเองได้ เกือบจะเป็นเหมือนการสร้าง ‘เผ่า’ ของตัวเองขึ้นมา”

หนึ่งในรูปแบบของ ‘เผ่า’ ที่นักเขียนหนุ่มยกตัวอย่างให้เราเห็นภาพคร่าว ๆ คือกลุ่มศิลปินที่สังคมมักมองว่าเป็นสิ่งที่อยู่นอกรีตนอกรอย – กลุ่มเด็กช่าง

“เด็กช่าง (นักเรียนจากสถาบันโพลีเทคนิค) ใช้ Graffiti Tag ในการปักหมุดอาณาเขตของตัวเอง และเพื่อแสดงออกถึงความทุ่มเทต่อสถาบันของพวกเขา วัฒนธรรมแบบนี้ของเด็กช่างอาจเกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนสตรีทอาร์ตจะเกิดในอเมริกาก็ได้ ใครจะรู้ แต่ศิลปินที่ผมได้สัมภาษณ์มา ต่างให้ความเคารพเด็กช่างกันทั้งนั้น

“พวกเขาไม่ได้ทำงานกราฟฟิตี้เพื่อชื่อเสียงเลย แต่ทำเพื่อสร้างวัฒนธรรมบางอย่างของเผ่าหรือภาคีของตัวเอง ไม่เกี่ยวว่าวัฒนธรรมนั้นจะสุดโต่งหรือเสี่ยงชีวิตขนาดไหน แต่เขาทำอะไรบางอย่างเพื่อสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเอง”

เชื่อหรือไม่ แม้แต่ความสัมพันธ์ในกลุ่มก้อนของศิลปินเหล่านี้เองในสายตาของรูพ ก็มีบทบาทในการสะท้อนสังคม ไม่แตกต่างจากชิ้นงานที่พวกเขาสร้าง

“เด็กช่างส่วนใหญ่เป็นเด็กชายวัยรุ่นที่ย้ายเข้ามาเรียนหนังสือในเมืองกรุงตัวคนเดียว ไม่มีญาติมิตรคอยดูแล” ผู้สังเกตการณ์อธิบายความเชื่อมโยงต่อไป “พอเขาถูกบีบให้เข้ามาอยู่ในเมืองตัวคนเดียว เขาเลยต้องดูแลกันเอง ระวังหลังกันเอง เวลาที่ออกไปพ่นชื่อโรงเรียนก็จะมีกลุ่มหนึ่งคอยพ่นสี กลุ่มหนึ่งยืนระวังหลัง อีกกลุ่มยืนระยะห่างออกไป เพื่อไม่ให้โรงเรียนคู่อริเข้าถึงได้ แต่ทั้งหมดทั้งมวล พวกเขาก็เป็นเด็กวัยรุ่นที่ต้องเข้ามาผจญกับภัยในเมืองใหญ่ด้วยกันทั้งนั้น”

แม้ใครจะมองว่านอกรีตอย่างไร แต่วัฒนธรรมย่อยและค่านิยมเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผลข้างเคียงของวิธีคิดในการพัฒนาเมืองทั้งสิ้น

พรีวิวหนังสือที่ทำความเข้าใจสังคมไทย ผ่านงานศิลปะที่แขวนในแกลเลอรี่ไม่ได้ และถ่ายทอดผ่านสายตาของคนนอกวัฒนธรรม

ปกนอก

เมื่อบทสนทนาเรื่องเมือง สังคม วัฒนธรรม การเมือง และผู้คน ดั้นด้นเดินทางมาถึงตรงนี้ได้ ฝนก็ทำท่าเหมือนจะโปรยปรายลงมา เราจึงตกลงใจว่าควรหยุดขอให้นักเขียนสปอยล์เนื้อหาในหนังสือแต่เพียงเท่านี้ และปล่อยให้ผู้อ่านได้ไปท่องเที่ยวกันเอง

“ผมว่าทุกคนน่าจะได้ค้นพบมุมที่แตกต่างกันออกไป เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้ผ่านคำพูดของศิลปินทั้งหลาย ซึ่งผมไม่ปรุงแต่งอะไรทั้งนั้น ปล่อยให้พวกเขาได้เป็นตัวของตัวเอง” รูพอธิบายถึงแนวทางการสื่อสารข้อมูลของเขา

“บางครั้งคำพูดของแต่ละคนก็ขัดแย้งกันเองนะ แต่ผมไม่ได้อยากสร้างข้อสรุปอะไรขึ้นมาเป็นเอกอยู่แล้ว ไม่มีคำตอบตายตัวอะไรทั้งนั้น เพราะโลกนี้เป็นแบบนั้น สตรีทอาร์ตและกราฟฟิตี้เป็นวัฒนธรรมย่อย ภายใต้วัฒนธรรมย่อยก็มีเส้นสายแยกย่อยลงไปอีกที แต่ละคน แต่ละสาย มีมุมมองต่อโลกเป็นของตัวเอง และทุกคนก็อยากจะสื่อสารสิ่งที่เห็นออกมาอย่างตรงไปตรงมา” นักเขียนหนุ่มสรุปส่งท้าย

บทความนี้จึงเป็นเพียงแค่ใบแทรกอยู่ใต้ปกนอกของหนังสือเล่มหนา รอให้คุณลองได้ไปเรียนรู้เองว่า สังคมไทยที่อยู่ภายใต้ชั้นสีของสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตี้นั้นมีหน้าตาเป็นเช่นไร

พรีวิวหนังสือที่ทำความเข้าใจสังคมไทย ผ่านงานศิลปะที่แขวนในแกลเลอรี่ไม่ได้ และถ่ายทอดผ่านสายตาของคนนอกวัฒนธรรม

Writer

Avatar

เกวลิน ศักดิ์สยามกุล

นักออกแบบ-สื่อสารเพื่อความยั่งยืน ที่อยากเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านชีวิต บทสนทนา และแบรนด์ยาสีฟันเม็ดเล็กๆ ของตัวเอง

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน