ถ้าผมเล่าว่า อดีตนักกีฬาไตรกีฬาทีมชาติเพิ่งจบการแข่งขัน IRONMAN 70.3 ที่ออสเตรเลียมาหมาดๆ เรื่องนี้คงเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปใช่ไหม

เอาใหม่

ถ้าผมเล่าว่า อดีตนักกีฬาไตรกีฬาทีมชาติที่วันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงทำให้ร่างกายเป็นอัมพาตเกือบทั้งตัว ถึงขั้นถูกบอกว่าจะต้องนอนติดเตียงไปตลอดชีวิต เพิ่งจบการแข่งขัน IRONMAN 70.3 ที่ออสเตรเลียมาหมาดๆ เรื่องนี้นอกจากจะไม่ธรรมดาแล้ว ยังดูเกินจริงอีกด้วย

แต่มันคือเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแล้ว

กระสุน-สุนทร ใจมาบุตร หรือโค้ชกระสุนของนักกีฬาหลายคน ทำสิ่งที่ดูเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้

สุนทร ใจมาบุตร

ฉายากระสุนไม่ได้ได้มาเพราะโชคช่วย แต่มาจากฟอร์มที่แรงมากของเด็กหนุ่มผู้ลงแข่งไตรกีฬาแล้วกวาดเรียบแทบทุกรายการที่ลงแข่ง นอกจากจะชนะคู่แข่งในรุ่นเดียวกัน ยังชนะนักกีฬารุ่นใหญ่มาแล้วอีกนับไม่ถ้วน

กระสุนเริ่มลงแข่งรายการแรกในชีวิตตอนอายุ 17 ปี การแข่งขันคราวนั้นเป็นการเริ่มต้นของชีวิตนักกีฬาทั้งหมดของเขา

หากคิดว่าเขาคงแค่มีพรสวรรค์ติดตัวมาและชนะในรายการแรกของการแข่งขัน

ไม่ใช่เลย

รายการนั้นเขาเข้าเป็นอันดับเกือบสุดท้ายของรายการ ชนิดที่เจ้าตัวบอกว่าเขาเริ่มเก็บงานกันแล้ว

ความรู้สึกแพ้ไม่เท่าคำพูดที่ได้ยินว่า “แข่งแบบนี้อย่ามาแข่งเลยดีกว่า”

กระสุนฝังใจกับประโยคนั้นทันที

แทนที่จะเลิก เขาตั้งหน้าตั้งตาฝึกฝนตัวเองอย่างหนัก

5 เดือนผ่านไป เขากลับมาแข่งอีกครั้ง และเข้าเส้นชัยเป็นอันดับหนึ่งในรุ่นเดียวกัน พร้อมสถิติใหม่ของประเทศไทย

ความพ่ายแพ้ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่เขารู้สึกว่าแพ้จริงๆ

หลังจากนั้นเขาก็คว้ารางวัลอย่างต่อเนื่อง จนติดทีมเยาวชนไตรกีฬาทีมชาติไทย

จากคนที่เข้าเส้นชัยเป็นอันดับท้าย กลายมาเป็นนักกีฬาแถวหน้าของประเทศในระยะเวลาอันสั้น บอกถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจ และการซ้อมอย่างมีวินัย ของเขาได้อย่างดี กระสุนเล่าให้ผมฟังว่า ตอนซ้อมมันเหนื่อยมาก มีบางวันเหนื่อยจนด่าโค้ช ด่าสนาม ด่าตารางซ้อม แต่ด่าเสร็จก็ลงไปซ้อมทุกครั้งอยู่ดี

กระสุนบอกว่า สิ่งหนึ่งที่ตัวเองรู้สึกดีที่มีอยู่ในตัวคือวิญญาณเพชฌฆาต คือตัดสินใจว่าจะทำก็ต้องทำไม่มีอิดออด

โค้ชกระสุน
โค้ชกระสุน

แต่ด้วยการใช้ร่างกายต่อเนื่องอย่างหนักทำให้ร่างกายของกระสุนอ่อนล้าลงเรื่อยๆ ศักยภาพของร่างกายเริ่มลดลงเรื่อยๆ และคิดว่าตัวเองไม่น่าพัฒนาไปมากกว่านี้อีกแล้ว

กระสุนไม่ปล่อยให้ตัวเองอยู่ในภาวะถดถอยนาน ในช่วงนั้นกระสุนได้รู้จักกับโค้ชชาวญี่ปุ่นและได้รับการฝึกซ้อมจากโค้ช ทำให้เข้าใจเรื่องการซ้อมที่เป็นระบบระเบียบมากขึ้นกว่าเดิม โค้ชชาวญี่ปุ่นช่วยสร้างความเข้าใจในหลักการของโปรแกรมการซ้อม ประกอบด้วยพื้นฐานร่างกายที่ดีของกระสุนเอง ทำให้กระสุนกลับมาเล่นไตรกีฬาอีกครั้งในฐานะนักกีฬาอาชีพแบบที่ตัวเองยังไม่เชื่อว่าจะกลับมาได้ และแน่นอนว่าเขากระหายในชัยชนะที่มากกว่าเดิม

กระสุนเล่าว่า เขากลายเป็นนักกีฬาล่ารางวัล ตระเวนแข่งแต่สนามต่างประเทศที่มีเงินรางวัลดีกว่า จากที่เคยคิดว่าตัวเองไปจนสุดทาง ไม่พัฒนาอีกต่อไปแล้ว กลับกลายเป็นว่ายังไปต่อได้อีกแบบไม่รู้จุดสิ้นสุด

กระสุนประสบอุบัติเหตุลื่นล้มหัวฟาดขอบสระว่ายน้ำ และหมดสติจมลงไปที่ก้นสระ กระดูกคอแตกละเอียด น้ำเข้าปอด กลายเป็นอัมพาตระดับ C6 หรือสูญเสียประสาทตั้งแต่ช่วงอกลงไป ซึ่งถือว่าเป็นอัมพาตระดับรุนแรง มีความซับซ้อนกว่าอาการอัมพาตระดับอื่นที่รุนแรงน้อยกว่า

กระสุนเล่าว่า เขาสูญเสียการยืดเหยียด กำมือไม่ได้ ร่างกายไม่ระบายความร้อน ถ้าหนาวก็จะหนาวมากกว่าคนปกติ 2 เท่า ถ้าร้อนก็ร้อนเป็น 2 เท่า

จากที่เคยถอดเสื้อวิ่งซ้อมกลางแดดจัดตอนสาย กลายเป็นออกแดดไม่ได้ ถึงขนาดเป็นลม จากคนที่ปอดแข็งแรง กลายเป็นพูดนานๆ ไม่ได้ จะรู้สึกเหนื่อยจนต้องใส่ออกซิเจนตลอดเวลาเพื่อที่จะให้พูดได้

ผมคิดภาพของกระสุนที่พุ่งทะยานขึ้นและร่วงหล่นลงมาอย่างรวดเร็ว แต่กระสุนเองบอกผมว่าใช้คำว่า ดิ่ง ดีกว่า

กระสุนนอนรักษาตัวอยู่เฉยๆ เกือบครึ่งปี ชีวิตที่ผ่านมากระสุนแพ้ไม่เป็น และไม่ค่อยมีความผิดหวัง

ตลอดเวลาเขาเลยยังมีความคิดที่ว่าเดี๋ยวกายภาพบำบัดก็หาย อีกไม่นานก็คงขยับแล้วกลับมาเดินได้ จนเมื่อวันที่เริ่มทำกายภาพบำบัด แค่สั่งร่างกายให้ยื่นมือไปข้างหน้าตามความคิดยังทำไม่ได้ เขาจึงเริ่มเห็นความจริงที่เกิดขึ้นกับชีวิตแล้ว จากคนที่มีอีโก้สูง ไม่เคยแพ้หรือผิดหวัง กลายเป็นหน้าซีด กระสุนบอกว่า วันนั้นเขานอนน้ำตาไหล

สุนทร ใจมาบุตร
นักกีฬาพิการ

ยอมรับสิ่งที่เป็น และเริ่มเรียนรู้ใหม่

กระสุนวางอีโก้ของตัวเองลงและใช้สองสิ่งนี้ เปลี่ยนความคิดจากการเฝ้ารอว่าเมื่อไหร่ถึงจะขยับได้หรือเดินได้ มามองสิ่งที่ตัวเองยังเหลืออยู่ คือร่างกายตั้งแต่อกขึ้นไปและแขนสองข้าง แล้วเริ่มเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตด้วยสิ่งที่เหลือนั้นใหม่

ระดับการเป็นอัมพาตของกระสุนยังอันตรายชนิดที่ต้องมีคนดูแลอยู่ตลอด แต่กระสุนปรึกษาหมอว่าเขาไม่อยากมีคนมาตามคอยดูแล อยากใช้ชีวิตด้วยตัวเองให้ได้ ตอนแรกหมอก็ยืนยันว่าไม่ได้ มันอันตรายเกินไป แต่กระสุนบอกว่าสุดท้ายหมอก็ยอม

หลังกายภาพบำบัดบำบัดร่างกายของกระสุนฟื้นฟูได้เร็วกว่าคนทั่วไป ผมเดาว่าเพราะความเป็นนักกีฬามาก่อน ทำให้ร่างกายเรียนรู้และฟื้นฟูตัวเองได้เร็ว แต่กระสุนบอกว่า ร่างกายเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ที่เห็นชัดเลยคือ จิตใจ ความคิดในแง่บวกนั้นสำคัญ ความพยายามกลับมาใช้ชีวิตด้วยตัวเองให้ได้ ทำให้ร่างกายของกระสุนฟื้นตัวเองอย่างรวดเร็ว

เคย กับ แค่เคย มันต่างกัน

เขาบอกว่า ถ้าเขาคิดว่าเขาเคยเป็นนักไตรกีฬาที่เก่งมาก เขาก็จะติดอยู่กับอดีตของตัวเองไปตลอด แต่ถ้าคิดว่าแค่เคยเป็นนักไตรกีฬาที่เก่งมาก เขาจะรู้สึกว่าก็แค่เคยเป็น ทิ้งเอาไว้ตรงนั้น แล้วเริ่มทุกอย่างใหม่

สุนทร ใจมาบุตร

กระสุนไม่เคยบอกใครว่าอยากกลับมาเล่นกีฬา เพราะบอกไปก็คงไม่มีใครเชื่อ โดยเฉพาะหมอ

ผมเพิ่งรู้ว่าหากคนเราเกิดอุบัติเหตุจนถึงขั้นพิการ ถ้ายังไม่ครบ 1 ปี ก็ยังไม่ถือว่าเป็นบุคคลทุพพลภาพที่จะมีสิทธิ์ลงแข่งขันกีฬาคนพิการได้ กระสุนเลยเก็บความอยากกลับมาเล่นกีฬาไว้ในใจเสมอ

กระสุนถูกชวนให้ช่วยเป็นโค้ชให้กับนักกีฬาที่รู้จักเขา ตอนถูกชวนกระสุนยังคิดในใจว่าบ้าหรือเปล่า มาให้คนพิการขยับตัวแทบไม่ได้เป็นโค้ชให้ แต่กระสุนก็ตกลงรับฝึกสอนให้เพราะมันยังทำให้เขาอยู่กับไตรกีฬา และนั่นคือจุดเริ่มต้นบทบาทโค้ช และทีม Tri Bullet ทีมไตรกีฬาของเขา

โค้ชกระสุนฝึกสอนนักกีฬาหลายคน ช่วยจัดตารางและติดตามผลงาน บวกกับความตั้งใจและซื่อสัตย์ต่อตารางซ้อมของนักกีฬา จนบางทีผลงานก็ออกจะเกินความคาดหมาย จากที่เริ่มเล่นไตรกีฬาเพื่อแค่เอาให้จบ สุดท้าย บางคนได้อันดับหนึ่งของรายการ เป็นโปร ได้สิทธิ์ไปแข่งรายการระดับโลกก็ทำได้มาแล้วครับ

เมื่อฝึกสอนนานเข้า ปัญหาใหม่ของโค้ชกระสุนคือเริ่มลืมความรู้สึกของการเป็นนักกีฬา และเริ่มไม่เข้าใจปัญหาใหม่ๆ เมื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักกีฬา ทำให้โค้ชเริ่มนำสิ่งที่คิดไว้ในใจมานานแล้วออกมาอีกครั้ง คือการลงแข่งขันไตรกีฬา

เมื่อนำเรื่องนี้ไปปรึกษาหมอ คำตอบที่ได้กลับมาก็เป็นอย่างที่คาดไว้ครับ หมอไม่ได้ห่วงว่าสิ่งที่คิดจะทำอาจไม่ใช่แค่บาดเจ็บ แต่มันอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ วันแข่งอาจมีโอกาสจบได้ แต่ที่อันตรายมากคือตอนซ้อม เพราะอากาศในเมืองไทยร้อนจนอันตรายต่อตัวโค้ชกระสุนเอง

แต่สุดท้ายโค้ชกระสุนจึงทำข้อตกลงกับหมอ ให้หมอบอกถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และจะกำหนดลิมิตให้ตัวเอง ร่างกายของโค้ชไม่แสดงอาการเตือนอะไรให้รู้ชัดเหมือนคนทั่วไป ไม่แสดงอาการเจ็บปวด เมื่อถึงระดับที่ร่างกายทนไม่ไหวร่างกายจะเริ่มส่งสัญญาณด้วยอาการสั่น โค้ชกระสุนบอกว่า ถ้าถึงระดับนั้นแล้ว จะหยุดตัวเองทันที

โค้ชเริ่มฝึกซ้อมตามตารางที่ตัวเองออกแบบขึ้นเอง ตอนแรกขอไกด์จากโค้ชคนอื่นๆ ที่เขียนเพื่อคนพิการ แต่ก็ไม่เคยมีใครเจอเคสแบบนี้มาก่อน ที่ผ่านมา นักกีฬาพาราลิมปิกไม่เคยมีใครที่ร่างกายเป็นอัมพาตรุนแรงขนาดนี้ และต้องลืมทฤษฎีการโค้ชที่เคยโค้ชให้นักกีฬาไปทั้งหมด เพราะไม่สามารถใช้ด้วยกันได้เลย

โค้ชกระสุนรู้กรอบเวลาการแข่งขันว่าต้องจบภายใน 8 ชั่วโมง ว่ายน้ำ 1.9 กิโลเมตร Hand Cycling 90 กิโลเมตร และ Wheel Racing อีก 21 กิโลเมตร เมื่อคำนวณว่าต้องฝึกซ้อมอย่างไรบ้างเพื่อจะให้จบในเวลา ก็ต้องมาบริหารการใช้กล้ามเนื้อแขนและไหล่ว่าจะต้องฝึกกล้ามเนื้อแบบไหนให้ใช้งานได้ต่อเนื่อง ทั้งปั่นจักรยานและวีลแชร์โดยที่ไม่ล้าจนเกินไป

ส่วนที่ยากที่สุดคงเป็นการระบายความร้อนจากร่างกายของโค้ชกระสุน ที่ไม่สามารถระบายความร้อนได้ ทำให้ต้องฝึกซ้อมการกินอาหารและการชดเชยน้ำของร่างกายให้พอดี เพื่อไม่ให้กระเพาะปัสสาวะต้องทำงานหนักจนเกินไป และยังต้องทำความคุ้นเคยกับอุปกรณ์แข่งใหม่ทั้งหมดให้คุ้นเคยในเวลา 1 เดือน

ตลอดเวลาของการซ้อม โค้ชกระสุนไม่ได้บอกใครเรื่องการแข่งขันเลย เพราะโค้ชถือว่านี่เป็นการลองผิดลองถูกของตัวเอง หากทั้งหมดไม่สำเร็จ ก็ไม่ควรบอกสิ่งนี้กับใคร ทุกๆ วันที่ซ้อมคือการแก้ปัญหา

แก้ปัญหาจนถึงวันแข่ง

สุนทร ใจมาบุตร

รายการที่โค้ชกระสุนลงแข่งคือ IRONMAN 70.3 Western Australia วันแรกที่ถึงออสเตรเลียอากาศอยู่ที่ 13 องศาเซลเซียส น้ำเย็นจัด แต่พอถึงวันแข่งจริงออุณหภูมิเพิ่มขึ้นเป็น 34 องศาเซลเซียส อากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่เป็นผลดีต่อร่างกายโค้ช โค้ชกระสุนถึงกับบอกว่า อากาศแบบนี้แข่งที่ไทยก็ได้

ไม่ใช่แค่อากาศร้อนเท่านั้น อุปสรรคต่างๆ ก็เข้ามาทดสอบตลอดการแข่งขัน เมื่อออกตัวด้วยการว่ายน้ำไปได้ถึงครึ่งทาง ก็มีฉลามเข้ามาใกล้จนทางรายการต้องให้นักกีฬาทั้งหมดขึ้นจากทะเลเพราะอันตรายจนเกินไป ยังถือว่าเป็นโชคดีในความโชคร้ายที่ได้ลดระยะในการแข่งขันว่ายน้ำลงไป

สุนทร ใจมาบุตร

หลังจากขึ้นมาปั่น Hand Cycling ต่ออีก 90 กิโลเมตร และต่อด้วย Wheel Racing อีก 21 กิโลเมตรแบบที่ต้องมีผู้ดูแลอยู่ด้วยตลอดการแข่งขันเพื่อความปลอดภัย

โค้ชเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 7.11.11 ชั่วโมง เป็นผู้พิการระดับอัมพาตช่วงอกลงไปคนที่ 2 ของโลกที่จบการแข่งขันรายการนี้ได้ และเป็นการพิสูจน์ความเชื่อในสิ่งที่ดูเป็นไปได้ยาก ให้เป็นไปได้จริง

สุนทร ใจมาบุตร
สุนทร ใจมาบุตร

ผมบอกโค้ชว่า โค้ชน่าจะเป็นตัวอย่างให้กับคนพิการอีกหลายคนในการใช้ชีวิตได้ โค้ชกระสุนบอกว่า เขาภูมิใจกับการได้เป็นแรงบันดาลใจมากกว่าที่จะได้รับคำชม อยากให้คนเห็นว่าตั้งแต่วันแรกที่เขาทำกายภาพบำบัด แค่ยื่นแขนไปใกล้ๆ ยังเอื้อมไม่ได้ จนถึงวันที่เขาเข้าเส้นชัย มันมีความเป็นไปได้เสมอ

คนที่ได้แรงบันดาลใจมากที่สุดน่าจะเป็นนักกีฬาที่เขาฝึกสอน เพราะเขารู้ว่ากว่าโค้ชกระสุนจะมาถึงเส้นชัย เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง

โมเมนต์ในการเข้าเส้นชัยแล้วมีเพื่อนนักกีฬาร้องไห้เข้ามาร่วมดีใจด้วย น่าจะเป็นคำตอบและรางวัลที่ดีที่สุดของโค้ชแล้ว

สุนทร ใจมาบุตร
สุนทร ใจมาบุตร
ภาพการแข่งขัน : สุนทร ใจมาบุตร