เปี๊ยะ-รุจิราภรณ์ หวั่งหลี อาจเป็นที่รู้จักในนามสะใภ้หวั่งหลีผู้อยู่เบื้องหลังการแปลงโฉม ‘ฮวย จุ่ง ล้ง’ ท่าเรือกลไฟโบราณของตระกูลหวั่งหลี เป็นพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำเจ้าพระยา ‘ล้ง 1919’ ซึ่งเป็นที่ฮือฮาตั้งแต่แรกเผยโฉมสู่สายตาสาธารณชน ทั้งเพราะคงเสน่ห์งานศิลปะจีนได้อย่างน่าประทับใจ และมีจุดประสงค์การใช้งานอันน่าชื่นชม

พาไปรู้จักเธอมากขึ้นอีกสักหน่อย 

คุณเปี๊ยะคือผู้คร่ำหวอดในวงการอินทีเรียร์ดีไซน์มากว่า 40 ปี เป็นแม่ทัพมัณฑนากรแห่ง PIA Interior บริษัทออกแบบภายในไซส์เบิ้มที่เจนเกมและมีชื่อเสียงมากเป็นอันดับต้นๆ ในไทย มีรางวัลระดับนานาชาติและความไว้วางใจจากบริษัทเครือใหญ่ๆ ทั้งไทยและเทศมากมายเป็นเครื่องการันตี

ในโอกาสที่ได้รางวัลนักออกแบบแห่งปี (Designer of the Year) สาขา Honor Award ประจำปี 2021 เราจึงขอนัดหมายพูดคุยกับเธอถึงเส้นทางชีวิต แนวคิดในการทำงาน และประวัติศาสตร์วงการออกแบบฉบับกระชับ ตั้งแต่ยุคที่มัณฑนากรไม่มีปากมีเสียงในทีม สู่วันที่เธอเชื่อว่า “อาชีพนี้ไม่มีวันตกงาน”

อินทีเรียร์ดีไซเนอร์รุ่นใหญ่ย้ำกับเรา 2 เรื่องตั้งแต่ต้นบทสนทนา

เรื่องแรก แม้รูปคำของบริษัท ‘PIA Interior’ จะถอดตามชื่อเล่น ‘เปี๊ยะ’ ในภาษาอังกฤษเป๊ะๆ แต่เธอกลับยืนกรานให้อ่านว่า ‘พี-ไอ-เอ อินทีเรียร์’ ซึ่งย่อจากชื่อเต็ม P INTERIOR AND ASSOCIATE COMPANY LIMITED

ด้วยองค์กรนี้ประกอบไปด้วยองคาพยพมากมาย เธอเป็นเพียงกลไกชิ้นหนึ่งเท่านั้น และนั่นทำให้ PIA Interior เป็นบริษัทออกแบบภายในที่จงใจไม่มีลวดลายเชิงดีไซน์เฉพาะตัว เป็นเหมือนน้ำที่เปลี่ยนรูปร่างไปตามภาชนะบรรจุได้อย่างไร้กระบวนท่า ส่วนสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของบริษัทคือ ‘วัฒนธรรมการทำงาน’ ต่างหาก

เรื่องที่สอง เธอบอกว่าตัวเองเก่งเหมือนเป็ด ไม่ได้ครอบครองวิชาลับในเชิงออกแบบ แต่ความเป็นเป็ดซึ่งเดินได้ไม่คล่องแคล่ว ว่ายน้ำได้ไม่เชี่ยวชาญ และบินได้ไม่สูงนี้เอง ทำให้เธอกลายมาเป็นมัณฑนากรผู้ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในประเทศไทย พา PIA Interior มายืนอยู่แถวหน้าในวงการตกแต่งภายในได้ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

คุณเปี๊ยะถ่ายถอดตัวตนแบบเป็ดของเธอสู่ PIA Interior อย่างแนบเนียน และสร้างวัฒนธรรมการทำงานไม่เหมือนใครได้อย่างไร

เรื่องเล่าต่อไปนี้จะพาคุณผู้อ่านไปรู้จักเธอมากยิ่งขึ้น

รุจิราภรณ์ หวั่งหลี แม่ทัพมัณฑนากรแห่ง PIA Interior ผู้บอกว่าตัวเองเก่งเหมือนเป็ด

01 “อินทีเรียร์ดีไซเนอร์แทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลย”

“อินทีเรียร์ดีไซเนอร์แทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลย เป็นลูกไล่เขาด้วยซ้ำไป”

คุณเปี๊ยะเกริ่นถึงบรรยากาศแวดวงวิชาชีพสมัยเพิ่งเป็นมัณฑนากรป้ายแดง หลังเรียนจบด้านออกแบบภายในจาก Inchbald School of Design ประเทศอังกฤษ

หมุนทวนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไป 40 กว่าปีก่อน ตอนนั้นงานอินทีเรียร์ดีไซน์ยังไม่เข้าครองพื้นที่ในใจผู้คนมากนัก จำนวนผู้เล่นก็ไม่ได้เหลือประมาณจนล้นตลาด ประกอบกับโชคดีที่มีญาติพี่น้องกระจายตัวอยู่ตามห้างร้านองค์กรต่างๆ มัณฑนากรคนเก่งจึงได้โอกาสโชว์ฝีมือ แผ้วทางเดินให้เรียบเตียน และหาตำแหน่งแห่งที่ของตัวได้ไม่ยาก

เริ่มต้นลับเขี้ยวเล็บจากงานเล็กๆ อย่างออกแบบร้านกาแฟ ร้านอาหาร แก่กล้าเพียงพอจึงขันอาสาตกแต่งห้องประชุมสำนักงานใหญ่ ให้กับ คุณบัญชา ล่ำซำ อดีตหัวเรือใหญ่แห่งธนาคารกสิกรไทย

“ครั้งหนึ่งดิฉันทำห้องประชุมทั้งชั้นใกล้เสร็จแล้ว เกิดกังวลว่าเรียบง่ายเกินไปเพราะเป็นสีเดียวกันหมด ซึ่งก็ควรเป็นแบบนั้น จะได้ไม่รบกวนสายตาและไปทิศทางเดียวกัน แต่เนื่องจากตอนนั้นยังวิทยายุทธยังไม่แก่กล้า จึงตระหนก กลัวโดนตำหนิว่าทำงานน้อย เลยตัดสินใจเพิ่มสีสันให้แตกต่างกัน แต่เมื่อย้อนไปดู กลับทำให้คิดได้ว่าเรายังอ่อนหัดนัก นี่สอนให้รู้ว่าประสบการณ์เท่านั้นที่ทำให้เราเดินและอยู่ในเส้นทางอาชีพนี้ได้อย่างมั่นคง

“สิ่งสำคัญคือการที่ต้องเข้าใจโจทย์ให้ถ่องแท้ ถ้าไม่รู้ก็ต้องยอมรับก่อนว่าไม่รู้ แล้วขวนขวายหามา ไม่อายที่จะถามเพื่อให้องค์ความรู้ที่ถูกต้อง

“สำคัญยิ่งกว่าการป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้น คือการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว การที่เอาปัญหาไปซุกไว้ใต้พรม ทำให้ความวุ่นวายไม่จบสิ้น ดีไซเนอร์ต้องไม่ทำให้อะไรให้ซับซ้อน อย่าทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่”

ซีอีโอรุ่นเก๋าเล่าบทเรียนสนุกๆ ในวัยกำลังหัดเดินอย่างฉะฉาน พร้อมกำชับถึงความเชื่อตัวเองที่ยังยึดถือมาถึงปัจจุบัน ก่อนเฉลยอย่างภูมิใจว่า ประสบการณ์ตลอดหลายสิบปีนั้นทำให้เธอมองตัวเองเป็น ‘เป็ด’

“ดิฉันยอมรับว่าตัวเองเป็นเป็ด เพราะไม่ได้เก่งทุกอย่าง การเป็นผู้บริหารองค์กรที่มีแต่คนเก่งมาร่วมงานด้วย เราต้องไม่มีอัตตา ใจกว้างเพียงพอที่จะยอมรับความเห็นผู้อื่น รับความแตกต่างทุกแง่มุม มองเห็นสิ่งรอบตัวได้รอบด้านขึ้น และเรียนรู้ที่จะเข้าใจผู้อื่น จากแต่ก่อนที่ดุมากจนลูกชายบอกว่า ตุ๊กตุ๊กหน้าปากซอยยังกลัวเลย” พวกเราระเบิดเสียงหัวเราะพร้อมกัน ก่อนเธอจะเสริมต่อว่า

“เป็นเป็ดแบบนี้แหละดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุด ขอเป็นคนธรรมดาที่มองภาพรวมออก และแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปสู่ความสำเร็จได้ทุกขั้นตอนดีกว่า”

รุจิราภรณ์ หวั่งหลี แม่ทัพมัณฑนากรแห่ง PIA Interior ผู้บอกว่าตัวเองเก่งเหมือนเป็ด

02 จาก ‘เป็ด’ สู่ ‘PIA’

เส้นทางอาชีพของคุณเปี๊ยะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเมื่อเปิดบริษัท P49DESIGN AND ASSOCIATES ร่วมกับเพื่อนมัณฑนากรมากฝีมือ เป้า-วิภาวดี พัฒนพงศ์พิบูล ก่อนก่อตั้ง PIA Interior ของตัวเองใน ค.ศ. 1999 

แม้ว่าตามชื่อจะยังมีตัวตนของดิฉันอยู่ แต่องค์กรนี้ไม่ได้เป็นของดิฉันคนเดียว พาร์ตเนอร์ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของ PIA ลูกค้าจึงไม่ได้เข้ามาเพราะชื่อดิฉัน ไม่ได้ยึดติดว่าต้องเจอดิฉันเท่านั้น แต่เข้ามาเพราะความเป็น PIA ต่างหาก

“PIA เป็นเหมือนโรงพยาบาลซึ่งมีหมอผู้เชี่ยวชาญต่างแขนงกันไป กระจายงานออกไปสู่พาร์ตเนอร์แต่ละคนตามความเหมาะสม แต่ละทีมมีความเก่งเฉพาะตัว ทั้งทีมออกแบบโรงแรมที่พักระดับหกดาว อย่าง The Ritz-Carlton หรือ Hyatt ทีมทำงานระดับสี่ดาวอย่าง Courtyard by Marriott หรือ Novotel หรือทีมดูแลงานองค์กร คอนโดมิเนียม โรงพยาบาล หากอยากได้แบบเทิร์นคีย์รวดเร็วก็เป็นทีมหนึ่ง ไม่ได้ใช้อินทีเรียร์ดีไซเนอร์คนเดียวทำทุกอย่าง”

หัวใจอย่างหนึ่งขององค์กรใหญ่เช่น PIA Interior คือการบาลานซ์สัดส่วนผลงานด้านต่างๆ ให้ครบถ้วนและรอบด้าน ตั้งแต่โรงแรมที่พัก โรงพยาบาล ที่อยู่อาศัย บริษัทหน่วยงานและสถาบันการเงิน จนถึงร้านอาหาร บาร์ และหอศิลป์ 

รุจิราภรณ์ หวั่งหลี แม่ทัพมัณฑนากรแห่ง PIA Interior ผู้บอกว่าตัวเองเก่งเหมือนเป็ด
รุจิราภรณ์ หวั่งหลี แม่ทัพมัณฑนากรแห่ง PIA Interior ผู้บอกว่าตัวเองเก่งเหมือนเป็ด
รุจิราภรณ์ หวั่งหลี แม่ทัพมัณฑนากรแห่ง PIA Interior ผู้บอกว่าตัวเองเก่งเหมือนเป็ด

อย่างโรงแรมห้าดาว Trident Gurgoan ที่เมืองคุรุคราม ประเทศอินเดีย เป็นงานต่างประเทศที่ PIA Interior ได้ประสานพลังกับสถาปนิกคนเก่ง เล็ก-เมธา บุนนาค แห่ง Bunnag Architects และภูมิสถาปนิก ปุ้ย-วรรณพร พรประภา จาก P Landscape คุณเปี๊ยะบอกว่าโปรเจกต์นี้ให้ประสบการณ์ครั้งสำคัญทั้งในเชิงการออกแบบและทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม เปิดประตูแห่งโอกาสให้บริษัทเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ

แต่หากพูดถึง PIA Interior ไม่พ้นต้องเอ่ยถึงโปรเจกต์สร้างชื่ออย่างพื้นที่ริมเจ้าพระยายอดฮิต-ล้ง1919 

รุจิราภรณ์ หวั่งหลี แม่ทัพมัณฑนากรแห่ง PIA Interior ผู้บอกว่าตัวเองเก่งเหมือนเป็ด

“เรายึดหลักการบูรณะเชิงอนุรักษ์ รักษาสถาปัตยกรรมให้งดงามตามจริงอย่างประณีต ระมัดระวัง และเคารพสถานที่ ส่วนภายในก็เปลี่ยนไปตามบริบทการใช้งานปัจจุบัน ต้องการคงสภาพให้อาคารเก่าเหล่านี้เป็นหมุดเวลาในประวัติศาสตร์ และบอกเล่าอดีตให้คนรุ่นใหม่ทราบที่มาและวิถีชีวิตของบรรพบุรุษ” แรงบันดาลใจเดินทางออกมาอย่างพรั่งพรูพร้อมกับแนวคิดในการอนุรักษ์ แววตาส่อประกายภาคภูมิจนเจ้าตัวเก็บไว้ไม่อยู่

คุยกับ เปี๊ยะ-รุจิราภรณ์ หวั่งหลี แม่ทัพแห่ง PIA Interior ผู้บอกว่าตัวเองเก่งแบบเป็ดและเลือกจะไม่มีสไตล์ของตัวเอง

วิถีการบริหารของเธอคล้ายกับการจำลองตัวตนแบบเป็ดของเธอที่มีความถนัดหลากหลาย ลงไปสู่องค์กรอย่างแนบเนียน แต่ PIA คงไม่ใช่เป็ดที่ ‘พอจะทำอะไรๆ ได้บ้าง’ อย่างที่คิด ทว่าเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ซึ่งมีพาร์ตเนอร์คอยเป็นแขนขา ขันอาสาทำงานที่ถนัด โดยมีคุณเปี๊ยะคอยคุมทิศคุมหางเสือเรืออยู่ไม่ห่าง ให้ทีมได้เต้นระบำไปกับงานออกแบบอย่างอย่างสนุกสนานเต็มความสามารถ

03 No Problem!

“เราไม่หยุดยืนกับที่เพื่อมีสไตล์ของตัวเอง เพราะความชอบของลูกค้ามีหลากหลาย ลางเนื้อชอบลางยา เหมือนคำพูดว่า ‘Beauty is in the eyes of the beholder.’ แต่อยากให้ขึ้นชื่อว่า ทำกับ PIA แล้วจะไม่มีปัญหา” คุณเปี๊ยะอธิบายฉะฉานเมื่อเราถามถึงลายเส้นเอกลักษณ์ขององค์กรพี่ใหญ่ซึ่งมีรยางค์มากมาย

“Commitment คือหัวใจในการทำงานของ PIA” เธอเฉลยกุญแจดอกสำคัญ

“โครงการแต่ละโครงการกินเวลาไม่น้อย สามปีบ้าง ห้าปีบ้าง บางครั้งยาวถึงแปดปี แต่เราไม่เคยทิ้ง งานอินทีเรียร์ไม่ใช่เพียงออกแบบสวยๆ แล้วจบ เราต้องเป็นตัวกลางที่มั่นคงเพื่อเชื่อมคนอื่นๆ เข้าด้วยกัน ให้เขาเชื่อมันได้ว่าเราอยู่ตรงนี้เสมอเพื่อช่วยเหลือ ปัญหาเกิดจากใครไม่ใช่สิ่งที่เราควรไปหา แต่ต้องแก้ปัญหาและเรียนรู้ที่จะไม่กล่าวโทษคนอื่น

“อีกอย่างที่ดิฉันคิดว่าสำคัญมากคือคุณธรรม เราถือเป็นกฎเหล็กเลยว่าไม่รับอามิสสินจ้างใดๆ เป็นอันขาด เพราะเมื่อไม่สุจริตในอาชีพแล้วจะไปท้วงติงหรือว่ากล่าวใครได้”

ลายเซ็นของ PIA จึงไม่ใช่เอกลักษณ์ในเชิงการออกแบบอย่างที่ใครๆ ต่างพยายามสร้างขึ้นหรือตามหา แต่เป็นวัฒนธรรมและความเชื่อในการทำงานอันแข็งแกร่ง ซึ่งคนในองค์กรยึดถือเอาไว้อย่างเหนียวแน่น

“การหาลูกค้าใหม่ไม่ยาก แต่ความสำเร็จของ PIA อยู่ตรงที่เราเก็บลูกค้าเก่าไว้ได้ มืออาชีพเขาจะรู้ว่า การแต่งให้ออกมาสวยงามนั้น ไม่ใช่ของยาก แต่ระหว่างทางนั้นคือความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นหากขาดประสบการณ์ ดิฉันจึงเน้นทักษะการแก้ปัญหาเป็นหลัก ให้โครงการแล้วเสร็จลุล่วงไปด้วยดี”

คุยกับ เปี๊ยะ-รุจิราภรณ์ หวั่งหลี แม่ทัพแห่ง PIA Interior ผู้บอกว่าตัวเองเก่งแบบเป็ดและเลือกจะไม่มีสไตล์ของตัวเอง

04 “นักออกแบบภายในที่ดีต้องไม่มีตัวตนมากเกินไป”

“สมัยนี้ งานออกแบบภายในสำคัญมาก ถึงขนาดขอสถาปนิกแก้ไขพื้นที่ได้เลย หากอินทีเรียร์ดีไซเนอร์คิดว่าดีกว่า เพราะเราคือคนสร้างความสุขแก่ผู้ใช้สถานที่นั้นจริงๆ”

จากวันวานที่มีหน้าที่เพียงเลือกลายวอลเปเปอร์และกลอนประตู คุณเปี๊ยะพาเรากลับมาสู่บทบาทนักออกแบบภายในยุคปัจจุบัน

“ไม่ใช่แค่ออกแบบให้สวยงาม แต่เราต้องสร้างประสบการณ์เพื่อดึงผู้ใช้งานให้กลับมาอีก จึงกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้วว่า อินทีเรียร์ดีไซเนอร์ต้องเข้าร่วมทีมก่อสร้างตั้งแต่วันแรกเสมอ ถึงขั้นบอกความต้องการกับสถาปนิกได้ เช่น ตรงส่วนล็อบบี้ขอความสูงอย่าต่ำกว่าแปดเมตร ขอเจาะตรงโน้นนิด ตรงนี้หน่อย จากแต่ก่อนนี่อยู่หางแถว สิ่งเหล่านี้เราแนะนำไม่ได้เลย

“แต่นักออกแบบภายในที่ดีต้องไม่มีตัวตนมากเกินไป” เราเลิกคิ้วทั้งคู่ขึ้น ชวนคู่สนทนาให้อธิบายต่อไป

“จริงอยู่ที่มัณฑนากรมีหน้าที่ให้สิ่งที่ลูกค้าต้องการ ห้ามยัดเยียดความคิดเราลงไป แต่หากลูกค้ายังไม่ชัดเจนในแนวทางที่อยากได้ เราก็ควรเป็นผู้นำเสนอ และต้องไม่กลัวที่จะบอกว่าผิดหากแนวทางของลูกค้านั้นไม่ใช่” 

หญิงเก่งตรงข้ามปรับโทนเสียงประโยคสุดท้ายเพื่อปาดไฮไลต์เน้นความสำคัญ ก่อนพูดต่อ

“ถ้ามัวแต่กลัวจะไม่ได้งานจนไม่กล้าถามหรือเสนอแนะลูกค้า ก็จะออกแบบผิดด้วยการตีความผิดๆ เหมือนติดกระดุมเสื้อผิดตั้งแต่เม็ดแรก กระดุมเม็ดต่อไปก็จะผิดเรื่อยๆ เราต้องสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าให้ได้ ห้ามโลเล เขามาหาเราเพราะต้องการความช่วยเหลือ เหมือนไปหาหมอก็ต้องเชื่อหมอ ประสบการณ์จะสอนให้ฟังและพิจารณาได้เองว่าอะไรดีที่สุดสำหรับลูกค้า”

ผลจากการวางตัวดีมีความมั่นใจคือเป็นที่น่าเชื่อถือ ผลจากการเป็นที่น่าเชื่อถือคือดีไซเนอร์กล้าสร้างสรรค์งานโดยไม่คิดคำนึงว่าลูกค้าคือพระเจ้า พร้อมชี้ข้อบกพร่องออกไปอย่างห้าวหาญ

“บางคนเป็นอาร์ทิสต์มาก ใส่อะไรก็ได้ไปหาลูกค้า แต่ดิฉันสอนเด็กเสมอว่า สินค้าเหมือนกัน ถ้าคนหนึ่งแต่งตัวเรียบร้อยมาขาย อีกคนปล่อยชายเสื้อหัวยุ่งฟู คุณจะซื้อของจากคนไหน การนำเสนอตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมาก ต้องมั่นใจ พูดจาถูกกาลเทศะ พอสร้างความมั่นใจให้ได้แต่แรก เขาก็จะเชื่อที่เราแนะนำ” กลเม็ดเด็ดพรายข้อนี้ยังใช้การได้ดีเสมอ 

แม้ในวัยใกล้ 70 เป็ดอย่างคุณเปี๊ยะจะไม่ได้ลงไปลุยงานทุกโปรเจกต์เช่นวันวาน คอยนั่งเก้าอี้บริหารงานอยู่ไกลๆ แต่นั่นเปิดที่ว่างให้นักออกแบบรุ่นใหม่ได้อาศัยร่มไทรใบบังของ PIA Interior ได้แสดงฝีไม้ลายมือและเติบโตตามวิถีแห่งตน

มัณฑนากรชั้นเซียนใช้ประสบการณ์หลายสิบปีถ่ายทอดกระบวนการคิด กลวิธีในการบริหาร และภาพกว้างของอาชีพอินทีเรียร์ดีไซน์ได้ครบถ้วนกระบวนความ

“ดิฉันเชื่อว่าเราควรเขยิบออกมาบ้างและบริษัทก็ควรจะเติบโตขึ้น เพื่อให้เด็กรุ่นหลังได้มีเส้นทางอาชีพ เหมือนเราวางทางเดินให้เด็กกับรุ่นใหม่ แต่ในทางกลับกัน ถ้าอยู่แค่นี้แล้วทำได้แบบนี้ก็ดีมากแล้ว ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ไม่ได้มองอนาคตไกลเกินไป เติบโตไปอย่างช้าๆ และมั่นคงดีกว่า อย่าตั้งความหวังมากเกินไป จะทำให้ผิดหวังได้” เธอทิ้งท้าย 

คุยกับ เปี๊ยะ-รุจิราภรณ์ หวั่งหลี แม่ทัพแห่ง PIA Interior ผู้บอกว่าตัวเองเก่งแบบเป็ดและเลือกจะไม่มีสไตล์ของตัวเอง

หัวเรือใหญ่แห่ง PIA Interior แบไต๋ 5 เคล็ดลับสำหรับมัณฑนากรรุ่นน้องให้เติบใหญ่อย่างมืออาชีพ

01 อัตตา (Ego)

“การยึดมั่นและถือตนเองเป็นใหญ่ที่เรียกว่า ‘อัตตา’ นั้น เป็นกับดักในการมองเห็นที่สำคัญ เราควรลดหรือละอัตตาลง ฝึกให้ใจกว้างยอมรับทุกความเห็นที่แตกต่างจากเรา แล้วนำมาคัดกรองเพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี”

02 ความมุ่งมั่น (Commitment)

“การทุ่มเทมุ่งมั่นเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ทำให้เราสร้างสรรค์งานได้ดีขึ้น เป็นการสร้างมูลค่าให้ตัวเราได้ในทุกวัน นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มโอกาสก้าวหน้าสู่ความสำเร็จ”

03 การนำเสนอตัวเอง

“ภาพลักษณ์เปรียบเสมือนด่านแรก เราต้องนำเสนอตัวเองจากบุคลิกที่น่าเชื่อถือ วางตัวเหมาะสม รวมถึงทักษะในการสื่อสารทั้งด้วยคำพูดและภาษากาย เพื่อสร้างความสนใจ ความมั่นใจ และความไว้วางใจให้ลูกค้าและทุกฝ่าย”

04 ความซื่อสัตย์สุจริต 

“จรรยาบรรณพื้นฐานในทุกวิชาชีพคือความซื่อสัตย์สุจริต การซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ เป็นมืออาชีพที่รับผิดชอบงานได้ดี ความสุจริตด้วยการไม่รับอามิสสินจ้างใดๆ เพราะหากไม่สุจริตในอาชีพแล้วจะไปท้วงติงหรือว่ากล่าวใครได้” 

05 เน้นทักษะการแก้ปัญหาเป็นหลัก

“ปัญหาเกิดจากใครไม่สำคัญ แต่ต้องแก้ปัญหาและเรียนรู้ที่จะไม่กล่าวโทษคนอื่น ไม่ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องยุติปัญหาด้วยเหตุผล ห้ามใช้อารมณ์หรือความเห็นเฉพาะตัว”

ขอบคุณภาพผลงานจาก PIA Interior

Writer

Avatar

นิรภัฎ ช้างแดง

กองบรรณาธิการผู้คนพบความสุขในวัยใกล้เบญจเพสจากบทสนทนาดีๆ กับคนดีๆ และเพลงรักสุดแสน Bittersweet ของ Mariah Carey

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล