เช้าตรู่อันแสนสดใสในวันเริ่มต้นฤดูหนาว ขณะที่ผมกำลังยืนรอเวลานัดสำคัญอยู่หน้าเรือนปั้นหยาสีเขียวใบโศก หูก็พลันได้ยินเสียงซออู้ออดอ้อนมาตามลมเอื่อย ๆ กลิ่นดอกชมนาดที่ปลูกอยู่หน้าเรือนโชยมาเบา ๆ พอชื่นใจ

ผมหลับตานึกถึงฉากสำคัญฉากหนึ่งจากละครเวที โหมโรง เดอะ มิวสิคัล เมื่อศร นักดนตรีหนุ่มฝีมือฉกาจจากอัมพวา กำลังสีซอขับเพลงหวาน ยามมองเห็นแม่โชติ สาวงามที่เขาแอบหมายปองกำลังปลิดลั่นทมดอกขาวสวยอยู่โดยไม่รู้ตัว สำเนียงซอที่หวานอยู่แล้วนั้นก็พลันเสนาะซึ้งขึ้นไปอีก ฉากประทับใจจากละครเวทีในวันนั้น กำลังอ้อยอิ่งอยู่ในจินตนาการของผมในวันนี้ อีกไม่กี่นาทีผมก็จะได้พบกับผู้เป็นทายาทสายตรงของทั้งคู่ ในพื้นที่ที่ละครเวทีเรื่องนี้ถือกำเนิดขึ้น

เรือนบรรเลง เรือนปั้นหยาสีเขียวใบโศกของหลวงประดิษฐไพเราะ บรมครูดนตรีไทย
เรือนบรรเลง เรือนปั้นหยาสีเขียวใบโศกของหลวงประดิษฐไพเราะ บรมครูดนตรีไทย

อาจารย์มาลินี สาคริก และ อาจารย์อัษฎาวุธ สาคริก ประธานและเลขาธิการมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะออกมาต้อนรับด้วยรอยยิ้ม พร้อมนำผมสู่บริเวณใต้ถุนเรือนบรรเลง ทั้งสองเป็นทายาทรุ่นหลานและเหลนของพ่อศรและแม่โชติ

“เราคุยกันตรงนี้เลยนะครับ ลมเย็นสบายดี” อาจารย์อัษฎาวุธหรือครูเอ้เอ่ย

เสียงซอเริ่มเบาลง ในขณะที่เสียงของอาจารย์มาลินี ผู้กรุณาแทนตัวเองว่าป้าตลอดการสัมภาษณ์ ค่อย ๆ ดังขึ้นแทนที่ พร้อมกับเรื่องราวที่ชวนหลงใหลในสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้

โหมโรง

“ป้าเป็นหลานตาของหลวงประดิษฐไพเราะและคุณยายโชติ คุณตาเป็นนักดนตรี เล่นดนตรีได้ทุกชนิด ป้าจำได้ว่าท่านจะฮัมเพลงตลอดเวลา เหมือนคนที่กำลังคิดแต่งเพลงอยู่ ป้าว่าก็เหมือนศิลปินทั้งหลาย อย่างนักวาดภาพก็จะพกสมุดดินสอสำหรับร่างภาพได้ทันทีที่เกิดความคิดและแรงบันดาลใจ นักดนตรีก็แต่งเพลงไปเรื่อย ๆ เหมือนกัน” อาจารย์มาลินีเอ่ย

หลวงประดิษฐไพเราะ มีนามเดิมว่า ศร ศิลปบรรเลง เกิดที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม บิดาของท่านคือ ครูสิน ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาดนตรีให้ตั้งแต่เยาว์วัยจนมีความสามารถจากการประชันวงจนมีชื่อเสียงไปทั่วลุ่มน้ำแม่กลอง ใน พ.ศ. 2443 เมื่ออายุได้ 19 ปี นายศรได้แสดงฝีมือเดี่ยวระนาดเอกเฉพาะพระพักตร์ สมเด็จวังบูรพาหรือสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระราชอนุชาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จนเป็นที่พอพระทัย จึงโปรดให้รับตัวเข้ามาอาศัยอยู่ในที่วังบูรพาภิรมย์ ทำหน้าที่นายระนาดเอกประจำวง เมื่อแรกเข้ามายังบางกอกนั้น นายศรต้องนอนอยู่หน้าห้องบรรทม และจะต้องไล่ระนาดถวายแทบทุกครั้งที่สมเด็จวังบูรพาตื่นบรรทมขึ้น ฝีมือของนายศรนั้นเป็นที่เลื่องลือไปทั่วพระนคร ด้วยไหวพริบปฏิภาณในเชิงดนตรี และความสามารถในการประพันธ์เพลงไทยหลากประเภท ใน พ.ศ. 2468 ในสมัยรัชกาลที่ 6 นายศรจึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงประดิษฐไพเราะ

เรือนบรรเลง เรือนปั้นหยาสีเขียวใบโศกของหลวงประดิษฐไพเราะ บรมครูดนตรีไทย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเป็นผู้สอนดนตรีไทยถวายและรับสนองพระมหากรุณาธิคุณให้ช่วยถวายงานเมื่อทรงพระราชนิพนธ์เพลงถึง 3 เพลง คือ เพลง ราตรีประดับดาวเถา เพลง เขมรละออองค์เถา และเพลง โหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง สามชั้น นอกจากนั้นท่านยังเป็นผู้ประพันธ์เพลงไทยหลากประเภท ทั้งเพลงโหมโรง เพลงเถา ฯลฯ อีกเป็นจำนวนมากมายหลายร้อยเพลง ก่อนสิ้นชีวิตลงเมื่อ พ.ศ. 2497 เมื่ออายุ 72 ปี

“คุณตาหลวงประดิษฐไพเราะเป็นคนใจดีและมีเมตตามาก ท่านมีลูกศิษย์ลูกหาเยอะ แล้วท่านก็เลี้ยงดูทุกคนด้วยความรัก ถ่ายทอดวิชาสุดความสามารถ ท่านโชคดีมากที่ได้มาแต่งงานกับคุณยายโชติ (สกุลเดิมหุราพันธุ์ บุตรีพันโท พระประมวญประมาณพล) คุณยายโชติเป็นทั้งรัฐมนตรีคลัง มหาดไทย คือเป็นรัฐมนตรีทุกกระทรวงให้ท่าน คุณตาไม่ต้องรับรู้เรื่องในบ้านเลย จะใช้จ่ายอะไร ใครมาใครไป ต้องดูแลยังไง คุณตาแต่งเพลงอย่างเดียว (หัวเราะ) เงินในกระเป๋ามีเท่าไหร่คุณตายังไม่รู้เลย 

“คุณยายโชติท่านถนัดเรื่องช่าง และเป็นช่างไม้ฝีมือดี ท่านพันไม้ระนาดให้คุณตารวมทั้งกำกับการการสร้างเครื่องดนตรีให้คุณตาด้วยตัวเอง สมัยก่อนจะหาผู้หญิงแบบนี้ยากนะ ลูกศิษย์คุณตารักคุณยายโชติมาก สังเกตได้จากงานศพของท่าน ลูกศิษย์พาวงดนตรีมาเล่นในงานหลายวง ล้อมรอบศาลา” อาจารย์มาลินีเล่าถึงคุณตาคุณยาย

เรือนบรรเลง เรือนปั้นหยาสีเขียวใบโศกของหลวงประดิษฐไพเราะ บรมครูดนตรีไทย
หลวงประดิษฐไพเราะและคุณโชติ คุณตาและคุณยายของอาจารย์มาลินี ทวดของครูเอ้

หลังจากอาศัยอยู่ใต้ร่มพระบารมีที่วังบูรพาภิรมย์มาระยะหนึ่งจน พ.ศ. 2443 สมเด็จวังบูรพาได้ประทานบ้านหน้าวังบูรพาให้เป็นเรือนหอของทั้งคู่ จนต่อมาใน พ.ศ. 2472 เมื่อบ้านหน้าวังบูรพามีผู้อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นถึง 25 คน และไม่สามารถขยับขยายได้ เพราะพื้นที่ใกล้เคียงเป็นห้างบี.กริม ซึ่งต้องการเช่าพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อขยายกิจการ หลวงประดิษฐไพเราะจึงทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เพื่อขอพระราชทานทุนทรัพย์ซื้อที่ดินปลูกบ้านใหม่ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินจำนวน 10,000 บาทเป็นทุนประเดิม ซึ่งหลวงประดิษฐไพเราะได้นำมาซื้อที่ดินบริเวณตำบลบ้านบาตร และสร้างบ้านหลังใหม่จนสำเร็จเรียบร้อยด้วยน้ำพักน้ำแรงของท่านเองในเวลาต่อมา

เรือนบรรเลง เรือนปั้นหยาสีเขียวใบโศกของหลวงประดิษฐไพเราะ บรมครูดนตรีไทย
บ้านบาตร

“สมเด็จวังบูรพาท่านไม่ได้ประทานเงินเดือนนะคะ ท่านประทานบ้านให้หลังแรกเพื่อเป็นเรือนหอเท่านั้น นั่นคือบ้านหน้าวังบูรพา แต่ท่านประทานเครื่องดนตรีให้คุณตาสำหรับนำไปบรรเลงหาเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตนเอง คุณตาก็รับงานเล่นดนตรี เล่นละครต่าง ๆ นานา ค่อย ๆ เก็บหอมรอมริบจนสร้างบ้านได้สำเร็จ เมื่อบ้านบาตรสร้างเสร็จนั้นเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว คือหลัง พ.ศ. 2475” อาจารย์มาลินีเล่าต่อ

บ้านบาตรได้กลายเป็นสำนักดนตรีจากอัมพวาสืบต่อจากบ้านหน้าวังบูรพาภิรมย์ ซึ่งเคยเป็นสำนักดนตรีแห่งแรก ส่วนเรือนบรรเลงนั้น ได้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2477 หลังจากบ้านบาตรสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นเรือนหอของครูบรรเลงและพระมหาเทพกษัตรสมุห

เริ่มบรรเลง

เรือนบรรเลง เรือนปั้นหยาสีเขียวใบโศกของหลวงประดิษฐไพเราะ บรมครูดนตรีไทย
ครูบรรเลง สาคริก และ พระมหาเทพกษัตรสมุห คราวสมรสกันเมื่อ พ.ศ. 2477

“คุณแม่บรรเลงเป็นลูกสาวคนที่สองของคุณตากับคุณยาย มีพี่สาวคือคุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ที่จริงต้องกล่าวว่าคุณหญิงชิ้นเป็นลูกสาวคนแรกที่รอดชีวิต เพราะก่อนหน้านั้นคุณตาคุณยายเคยมีลูกสาวมาก่อน 2 คน เมื่อเกิดมาก็ได้รับนามประทานจากสมเด็จวังบูรพาว่าสร้อยไข่มุกกับศุกร์ดารา สมเด็จท่านโปรดคุณตามาก พอคุณตามีลูกสาวท่านจึงทรงขอไปเลี้ยงดูอย่างดี พร้อมประทานชื่ออย่างไพเราะตามชื่อในเรื่องนิทราชาคริต แต่พอทรงเลี้ยงมาจนอายุ 3 ขวบ ก็เสียชีวิตทั้งคู่” อาจารย์มาลินีเริ่มเล่า

เมื่อคุณหญิงชิ้นเกิดนั้น ทั้งหลวงประดิษฐไพเราะและคุณโชติตัดสินใจปิดข่าว มิได้กราบทูลให้สมเด็จวังบูรพาทรงทราบ เช่นเดียวกับเมื่อตอนครูบรรเลงเกิด ทั้งสองท่านก็ไม่ได้กราบทูลสมเด็จวังบูรพาเช่นกัน

“ต่อจากคุณแม่บรรเลง คุณตามีลูกเป็นชายเป็นคนแรก ท่านก็ดีใจจึงไปกราบทูลให้ทรงทราบ สมเด็จวังบูรพาก็ทรงพระกรุณาประทานชื่อให้คล้องจองกับสร้อยไข่มุก ศุกร์ดาราว่า ‘ศิลปสราวุธ’ มีความหมายว่ามีดนตรีเป็นอาวุธ แล้วก็ทรงขอไปเลี้ยงอีก แต่ก็เสียชีวิตเมื่ออายุ 3 ขวบเช่นกัน ป้าเคยคิดกันเล่น ๆ ว่า บุญไม่ถึง เพราะเราก็เป็นคนธรรมดา ๆ เมื่อสมเด็จวังบูรพาท่านทรงเลี้ยงดู พร้อมทั้งประทานชื่อด้วยคำอันไพเราะทั้งสามคน คือชื่อสวยไป (หัวเราะ) ท่านเลยบุญไม่ถึง เสียชีวิตตั้งแต่เล็ก ๆ ซึ่งนั่นความเชื่อของคนไทยรุ่นก่อน ๆ แต่ความจริงก็เป็นไปได้ว่าการแพทย์ในสมัยนั้นยังไม่เจริญ อัตราการเสียชีวิตของคนในวัยเด็กย่อมมีสูงเป็นธรรมดา”

“ส่วนคุณแม่เป็นลูกที่คุณตาแอบผิดหวัง เพราะคาดว่าจะได้ลูกชาย ตอนนั้นคุณตากำลังตามเสด็จสมเด็จวังบูรพาไปชวา ก่อนไปท่านก็ตั้งชื่อรอไว้เลยว่าบรรเลง และเขียนจดหมายมาจากชวาไถ่ถามว่าแม่โชติคลอดหรือยัง หวังใจว่าจะได้ลูกชาย แต่พอคลอดมาเป็นผู้หญิง ท่านก็ยังให้ชื่อว่าบรรเลงเช่นเดิม”

“ใคร ๆ ก็เรียกแม่ว่าคุณเลง มีคุณตากับคุณยายเท่านั้นที่เรียกว่าแม่เลง เลยเป็นนักเลงสมชื่อ (หัวเราะ) คำว่านักเลงหมายถึงใจกว้าง ชอบช่วยเหลือคนอื่น ไม่คิดเล็กคิดน้อย แม่ค้าในตลาดมาขอยืมเงิน ท่านก็ให้ คนอื่น ๆ ถามว่าไม่กลัวเขาโกงหรือ ท่านบอกว่าถ้ากล้าโกงก็โกงไปสิ ไปตลาดนี่ท่านซื้อของโดยไม่ต้องจ่ายเงินเลยก็ยังได้ ใคร ๆ ก็เชื่อว่าท่านไม่เอาเปรียบ”

‘คุณเลง’ มีโอกาสพบกับพระมหาเทพกษัตรสมุหในสมัยรัชกาลที่ 7 ขณะนั้นหลวงประดิษฐไพเราะผู้บิดาเป็นผู้ถวายการสอนดนตรีแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีพระราชประสงค์ให้จัดตั้งวงมโหรีหลวงหญิงขึ้น ขณะนั้นพระมหาเทพกษัตรสมุหเป็นข้าราชบริพารในพระองค์ ทั้งสองท่านจึงได้มีโอกาสพบกัน

“การเกิดมาเป็นลูกนักดนตรี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่เสียงดนตรี ทำให้คุณแม่หัดดนตรีตั้งแต่เล็ก ๆ โดยไม่มีใครบังคับ ต่อมาก็ได้ตามคุณตาเข้าไปในวังด้วย ได้มีโอกาสถวายตัวเป็นข้าหลวงเรือนนอก และเป็นสมาชิกคนหนึ่งในวงมโหรีหลวงหญิง แม่เล่นระนาดทุ้ม แล้วก็ดีดจะเข้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีก็ทรงจะเข้ ก็เลยมีโอกาสเล่นด้วยกัน ส่วนคุณพ่อนั้นเป็นข้าราชบริพาร ก็เลยได้พบกัน คุณพ่อท่านหย่าร้างมาและมีลูกชายติดมาด้วย 5 คน ใคร ๆ ก็ถามแม่ว่าทำไมถึงยอมรับรักกับผู้ชายอย่างพ่อ แม่ตอบว่าเพราะสงสาร และยินดีที่จะเป็นแม่ของลูกชายทั้ง 5 คุณแม่เองก็รักและเลี้ยงดูลูกคุณพ่อเหมือนลูกชายตัวเองเลย”

พระมหาเทพกษัตรสมุห มีนามเดิมว่า เนื่อง สาคริก ท่านภูมิใจมากที่เป็นลูกน้ำเค็มด้วยบรรพบุรุษมาจากสมุทรสงคราม และได้เคยเล่าถึงที่มาของสกุลสาคริกไว้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้ทรงปราบปรามศึกสงครามจนสงบราบคาบแล้ว ได้ทรงแต่งตั้งพี่น้องชาวบางช้าง 3 คนที่มีความชอบในราชการสงครามขึ้นเป็นเจ้าเมือง พี่ชายคนใหญ่เป็นเจ้าเมืองสาครบุรี ต่อมาเป็นสมุทรสาคร ท่านผู้นี้เป็นต้นตระกูลสาคริก พี่ชายคนกลางเป็นเจ้าเมืองสมุทรสงคราม เป็นต้นตระกูล ณ บางช้าง ส่วนน้องคนเล็กเป็นเจ้าเมืองสงขลา เป็นต้นตระกูล ณ สงขลา

คำว่า สาคริก มีความหมายว่าผู้เป็นชาวเมืองสาคร และสาเหตุที่มิได้ใช้คำว่า ณ สาคร นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ผู้พระราชทานนามสกุล ได้พระราชทานคำอธิบายไว้และเล่าสืบต่อกันมาในครอบครัวว่า “ความจริงก็ควรจะใช้นามสกุลว่า ณ สาคร แต่เมื่อข้าได้ให้ใช้สาคริกไปแล้วก็เห็นว่าดีเหมือนกัน อย่าน้อยใจเลย” โดยทรงนำคำ ‘สาคร’ จากชื่อเมืองสาครบุรี มาสะกดให้เป็นสาคริก ซึ่งจะทำให้หมายถึงบุคคล เช่นเดียวกับคำว่าพุทธศาสนาที่กลายเป็นคำว่าพุทธศาสนิก ดังนั้น เมื่อสาครหมายถึงทะเล สาคริกจึงหมายถึงชาวทะเลหรือลูกน้ำเค็มนั่นเอง

“คุณพ่อถวายตัวเป็นข้าราชบริพารรัชกาลที่ 6 ตั้งแต่อายุ 10 ปี เป็นนักเรียนโรงเรียนวชิราวุธที่สอบได้ที่หนึ่ง สมัยนั้นมีสิทธิ์ได้รับพระราชทานทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ แต่ในหลวงท่านทรงเลี้ยงไว้ใกล้พระองค์ ให้ศึกษาที่นี่ ท่านจึงไม่ได้ไป คุณพ่อรับราชการมาจนสมัยรัชกาลที่ 7 จึงได้แต่งงานคุณแม่และสร้างเรือนบรรเลงขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2477 พอ พ.ศ. 2478 ป้าก็เกิดเป็นลูกสาวคนแรก เป็นพี่ของนิคม สาคริก พ่อของนายเอ้” ต่อมาทั้งคู่ได้กลายมาเป็นป้า-หลานผู้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการอนุรักษ์เรือนบรรเลงและสืบสานดนตรีไทยในเวลาต่อมา ร่วมกับสมาชิกทุกคนในครอบครัว

เรือนบรรเลง เรือนปั้นหยาสีเขียวใบโศกของหลวงประดิษฐไพเราะ บรมครูดนตรีไทย
ภาพครอบครัวของครูบรรเลงและพระมหาเทพกษัตรสมุห อาจารย์มาลินียืนด้านหลัง คนที่สองจากขวา

เรือนบรรเลง

เรือนบรรเลงเป็นเรือนไม้ที่อาจารย์มาลินีอธิบายอย่างกระชับที่สุดว่าเป็น “เรือนปั้นหยา ทาสีเขียว” ปรากฏอยู่บนถนนเศรษฐศิริ เป็นเรือนไม้ตามลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 7 

“เรือนบรรเลงมีสถาปัตยกรรมคล้ายเรือนตากอากาศชายทะเลที่พบได้ในแถบหัวหิน คุณพ่อเคยตามเสด็จรัชกาลที่ 6 และ 7 ไปพำนักที่หัวหินเสมอ เมื่อมีโอกาสสร้างเรือนหอของตัวเอง จึงสันนิษฐานว่าท่านได้นำแบบบ้านที่หัวหินมามาใช้” อาจารย์มาลินี ผู้เป็นสถาปนิกเช่นกัน กล่าวถึงแรงบันดาลใจทางด้านสถาปัตยกรรม

เรือนบรรเลง เรือนปั้นหยาสีเขียวใบโศกของหลวงประดิษฐไพเราะ บรมครูดนตรีไทย

“คุณยายโชติท่านเป็นคนคุมการสร้างเรือนใหญ่ที่บ้านบาตรทั้งหมด โดยว่าจ้างช่างชาวจีนชื่อเกียฮู้ พอสร้างบ้านบาตรเสร็จ คุณแม่ก็แต่งงานกับคุณพ่อ จึงต้องปลูกเรือนหอ คุณยายก็ว่าจ้างเกียฮู้มาสร้างอีกครั้ง ราคาตอนนั้นคือ 7,900 บาทสำหรับเรือนทั้งหลัง…. ตกใจเรื่องราคาใช่ไหม” อาจารย์มาลินีอมยิ้มเห็นผมทำตาโตด้วยความตกใจ

“ตอนเล็ก ๆ ป้าก็ไป ๆ มา ๆ ระหว่างบ้านบาตรกับที่นี่ คุณยายโชติมาจากตระกูลโหร มีความสามารถในการผูกดวง ตอนป้าเกิดท่านก็ทำนายไว้ว่าถ้าแม่เป็นคนเลี้ยงป้าเองก็อาจไม่รอด คุณยายโชติจึงมารับป้าไปเลี้ยง และให้เรียกท่านว่าแม่ ป้าเลยเรียกยายว่าแม่ แต่เรียกแม่ตัวเองว่าคุณเลงตามคนอื่น ๆ จนกลับมาอยู่บ้านนี้และคุณยายโชติเสียแล้ว ป้าถึงได้กลับมาเรียกแม่ว่าคุณแม่”

เรือนบรรเลง เรือนปั้นหยาสีเขียวใบโศกของหลวงประดิษฐไพเราะ บรมครูดนตรีไทย

เรือนปั้นหยาสีเขียวใบโศกหลังนี้ผนังด้านนอกตัวบ้านเป็นผนังตีซ้อนเกล็ดแนวทางนอน คอยทำหน้าที่ป้องกันและระบายน้ำฝน หลังคาจั่วตัดยื่นชายคากว้างเพื่อช่วยกันฝนสาด ใต้หลังคาปั้นหยามีพื้นที่ว่างเหนือฝ้าเพดาน เพื่อทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อนไม่ให้แผ่ลงมาที่ตัวเรือน ใต้จั่วมีช่องระบายลมร้อนทำเป็นเหลี่ยมทรงเรขาคณิต ตัวเรือนหันไปทางทิศใต้เพื่อรับลม มีหน้าต่างทั้งบานเปิดและบานกระทุ้งเพื่อระบายความร้อน และมีชานขนาดใหญ่ (Verandah) ล้อมระเบียงตามแบบฉบับของบ้านตากอากาศ

“ภาพจำของบ้านหลังนี้คือมีสวนขนาดใหญ่รายล้อม เมื่อก่อนมีเสือด้วยนะ เป็นเสือปลา อยู่ในสวนหลังบ้านนี่เอง ลองคิดดูละกันว่าเป็นธรรมชาติมากขนาดไหน มะม่วงจะเอาพันธุ์ไหนล่ะ มีหมด แล้วยังมีมะดัน มะนาว ผักทุกชนิด คือไม่ต้องซื้อผักผลไม้เลย แค่ซื้อเนื้อมาเท่านั้นก็ทำอาหารได้แล้ว ตรงสนามคุณแม่ยกร่องทำเป็นสวนผัก ผักที่ปลูกได้ก็นำไปแจกนะคะ ไม่ได้ขาย ตอนสมัยสงครามก็ได้สวนผักนี่แหละเป็นที่หลบภัย เวลาเครื่องบินมา คุณแม่ก็ต้อนลูก ๆ ลงจากเรือนมาหลบระเบิดกันในร่องสวน

“มุมโปรดของป้าคือบนต้นมะขามหวาน ป้าอยู่บนนั้นได้ทั้งวัน แล้วก็นั่งเอากิ่งมะขามมาขัดไปเรื่อย ๆ ทำเหมือนสร้างบ้านอยู่บนต้นมะขาม ทำเป็นที่นั่ง ที่นอน บางทีก็ทำเป็นซุ้มเหมือนห้อง… ที่โตมาเป็นสถาปนิกก็น่าจะมาจากความซนตั้งแต่วันนั้น (หัวเราะ) แล้วก็ดีใจมากที่โตมาเป็นช่างเหมือนคุณยาย” อาจารย์มาลินีสำเร็จการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนได้รับทุนสมิธมันด์-ฟุลไบรท์ (Smith-Mund Fullbright) ไปศึกษาต่อด้านเดียวกันที่สหรัฐอเมริกา

“เวลาอยู่บ้านบาตรกับคุณยายต้องเรียบร้อย พอมาที่นี่ พี่ ๆ เป็นผู้ชายทั้งนั้น ป้าเป็นผู้หญิงคนเดียว โอย ซนยิ่งกว่าลิง (หัวเราะ)”

“จำอะไรที่บ้านบาตรได้บ้างครับ เล่าให้น้องฟังด้วยสิ” ครูเอ้ หลานชายที่ฟังการสนทนามาแต่ต้น เอ่ยปากชวนคุณป้าให้เล่าถึงบ้านบาตรให้ผมฟังบ้าง เพราะไหน ๆ คุณป้าก็ไป ๆ มา ๆ ทั้งสองที่

เรือนบรรเลง เรือนปั้นหยาสีเขียวใบโศกของหลวงประดิษฐไพเราะ บรมครูดนตรีไทย
รูปครอบครัวที่บ้านบาตรเมื่อครั้งหลวงประดิษฐไพเราะและคุณโชติยังมีชีวิต

“จำได้ จำได้ดี ชีวิตที่บ้านบาตรมีความสุขมาก ทุกวันมีแต่เสียงดนตรี คุณตาท่านให้ลูกศิษย์อาศัยอยู่ในบ้านด้วยกันหลายคน ทุกคนนับญาติเป็นพี่เป็นน้องกันหมด ตรงบ้านบาตรมีชุมชนช่างตีบาตรพระ ตอนช่วงสงครามซึ่งเป็นช่วงที่ความบันเทิงหาได้ยากนั้น เวลาช่างเลิกงาน หลังจากตีบาตรเสร็จ ก็จะมารำวงกันที่บ้านเรา ที่บ้านมีลานโล่งอยู่ตรงกลาง แล้วก็มีทั้งเครื่องดนตรีและนักดนตรีอยู่แล้ว มารำวงกันสนุกสนาน ป้าจำได้ว่ามีโอกาสเห็นผู้ชายแต่งตัวเป็นผู้หญิงครั้งแรกก็ที่นี่ กลางวันเขาก็เป็นผู้ชายตีบาตรตามปกติ พอกลางคืนเขาแต่งเป็นผู้หญิงมารำวง โอ้โห สวยมาก รำสวยด้วย” อาจารย์มาลินีเล่าให้พวกเราฟัง

แล้วเรือนบรรเลงกับบ้านบาตรมีบรรยากาศที่เหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้างครับ – คำถามนี้มาจากผม

“เรือนบรรเลงก็คล้ายบ้านบาตรนะ เพราะเป็นบ้านเปิด มีพี่น้องลูกหลานมาอยู่ร่วมกันหลายรุ่นหลายวัย มีนักดนตรีลูกศิษย์ลูกมาหามาอยู่ด้วย อย่างตอนหลังสงครามก็มีเหนาะ (พ.ท.เสนาะ หลวงสุนทร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง-ดนตรีไทย พ.ศ. 2555) กับเพื่อน ๆ นักดนตรีจากอัมพวาเข้ากรุงเทพฯ มา ก็มาอยู่ที่นี่ คุณแม่ให้พักที่เรือนหลังบ้าน ป้าเรียนฆ้องวงก็ที่นี่แหละค่ะ กับลูกศิษย์ของคุณตาอีกคนชื่อครูดำ ซึ่งก็เป็นอีกท่านที่มาอยู่ด้วยกันที่บ้านหลังนี้ แต่ครูดนตรีคนแรกของป้าคือคุณแม่ ป้าเรียนจะเข้กับท่าน แต่จำไม่ได้นะว่าคุณแม่ดุรึเปล่า เวลาสอนน่าจะโดนหยิกบ้าง (หัวเราะ) เรือนบรรเลงก็เป็นเรือนที่มีเสียงดนตรีบรรเลงสมชื่อ”

เรือนบรรเลงเป็นที่พำนักของครอบครัวและศิลปินดนตรีหลากชื่อหลากนาม ที่ต่อมาหลายท่านก็ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ วันนี้เรือนหลังนี้มีอายุเกือบ 90 ปีแล้ว ย่อมต้องมีวาระที่ทรุดโทรมจนต้องซ่อมแซมกันบ้าง

รักษ์เรือนบรรเลง

“เรือนบรรเลงเป็นเรือนที่ผ่านวิกฤตต่าง ๆ มามากมาย เช่น ตอนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ป้าจำได้ว่ามีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่สถานีรถไฟสามเสน เพราะเป็นชุมทางการขนส่งสำคัญของญี่ปุ่น ระเบิดก็ทิ้งลงมาตูมตาม พื้นนี่ไหว คุณแม่ก็ต้อนพวกเราวิ่งลงมาอยู่ที่ใต้ถุนตรงนี้ ป้าเห็นเลยว่าเรือนโยกทั้งเรือน ตอนนั้นต้องคอยวิ่งลงจากเรือนมาหลบในร่องผัก แต่แปลกนะ เรือนบรรเลงไม่เสียหายอะไรเท่าไหร่เลย” 

หลักฐานความเสียหายในวันนั้นมีเพียงรอยแตกบนกระจกสีพิมพ์ลายที่ยังปรากฏอยู่บนหน้าต่างชั้นบน ในห้องที่เคยเป็นห้องนอนของพระมหาเทพกษัตรสมุห รวมทั้งนาฬิกาไม้แขวนผนังเรือนโบราณที่เวลาหยุดเดิน ณ วินาทีที่ระเบิดลงพอดี ซึ่งทายาทยังคงรักษาไว้จนทุกวันนี้

เรือนบรรเลง เรือนปั้นหยาสีเขียวใบโศกของหลวงประดิษฐไพเราะ บรมครูดนตรีไทย
รอยแตกบนกระจกสีพิมพ์ลายในวันที่ระเบิดลง ในห้องที่เคยเป็นห้องนอนของพระมหาเทพกษัตรสมุห ซึ่งต่อมาได้เคยเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้เช่นกัน

“อีกครั้งคือในห้องเดียวกัน ตอนนั้นราว ๆ พ.ศ. 2524 ขณะที่เรากำลังประชุมกันเรื่องการจัดตั้งมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะอยู่ใต้เรือน คุณพ่อท่านสูบบุหรี่ทิ้งไว้ แต่ยังไม่ทันดับ แล้วท่านก็ลงมานั่งรอทานข้าวข้างล่าง ป้าเดินกลับขึ้นไปบนเรือน โอ้โห เห็นเปลวไฟใหญ่ลามถึงเพดาน นายเอ้ก็เดินตามขึ้นมาพอดี ในห้องน้ำมีน้ำสำรองไว้ในตุ่มหลายต่อหลายใบ โชคดีที่เราสำรองน้ำไว้อยู่เสมอ เพราะมักเกิดเหตุน้ำประปาไหลอ่อนอยู่เรื่อย ๆ ก็เลยได้ใช้น้ำสำรองในตุ่มมาดับไฟได้ทัน” อาจารย์มาลินีเล่าถึงเหตุการณ์น่าสิ่วน่าขวาน แต่เรือนบรรเลงยังอยู่รอดปลอดภัย

การซ่อมเรือนบรรเลงอย่างจริงจังนั้นน่าจะเกิดขึ้นด้วยกัน 3 ยุค ยุคแรกคือเมื่อ พ.ศ. 2512 และหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในภารกิจนี้ก็คืออาจารย์มาลินี ผู้เป็นสถาปนิก

“การซ่อมยุคแรกตอนนั้นทำชั้นล่าง ซึ่งเดิมเป็นใต้ถุนโล่ง ๆ ก็ทำผนังด้านล่างเพิ่มตรงบริเวณใต้ถุน กั้นเป็นห้องให้คนอยู่ได้ เลยทำให้เรือนบรรเลงกลายเป็นบ้าน 2 ชั้นขึ้นมา พอดีมีหลาน ๆ เกิด จึงจำเป็นต้องเพิ่มพื้นที่ พอคนมากขึ้นอีกป้าก็ทำหลังคาคลุมระเบียงและกั้นเป็นห้องนอนใหญ่ มีคุณป้า คุณแม่ พี่น้องอื่น ๆ รวมทั้งนายเอ้ตอนเล็ก ๆ ก็มานอนในห้องนี้ด้วย”

เรือนบรรเลง เรือนปั้นหยาสีเขียวใบโศกของหลวงประดิษฐไพเราะ บรมครูดนตรีไทย
บริเวณระเบียงที่เคยกั้นห้องนอน แต่ปัจจุบันกลับมาอยู่สภาพเดิมแล้ว

“ระเบียงเดียวกันนี้ในอดีตคุณแม่เคยดีดจะเข้ให้คุณพ่อร้องและเต้นโขนเป็นตัวสุครีพ ซึ่งคุณพ่อเคยแสดงถวายรัชกาลที่ 6 ตอนเป็นข้าราชบริพาร” ผมคิดว่าช่างเป็นบ้านแห่งนาฏศิลป์และดนตรีสมชื่อเรือนบรรเลงจริง ๆ 

“ยุคที่ 2 คือการปรับปรุงใน พ.ศ. 2550 ตอนนั้นไม้เริ่มผุพัง สีก็ลอก ฝนตกเมื่อไหร่ก็รั่วเมื่อนั้น สักพักน้ำก็ท่วม สมาชิกบ้านนี้จะมีความสามารถพิเศษในการวิดน้ำได้อย่างแข็งขันและรวดเร็ว รวมทั้งคอยเอาดินน้ำมันเดินอุดตามรอยรั่วไปทั่วบ้าน (หัวเราะ) ลูกศิษย์ลูกหาที่มาอยู่มาเรียนดนตรีทุกคนต้องผ่านประสบการณ์นี้ทั้งนั้น บางทีกำลังนั่งดีดจะเข้อยู่น้ำมา พอ ๆ ๆ เลิก ๆ ไปวิดน้ำกันก่อนเดี๋ยวค่อยกลับมาดีดใหม่ (หัวเราะ)” อาจารย์มาลินีเล่าเสียงใส

เรือนบรรเลง เรือนปั้นหยาสีเขียวใบโศกของหลวงประดิษฐไพเราะ บรมครูดนตรีไทย
เรือนบรรเลงก่อนบูรณะ

ครูเอ้เล่าเสริมว่าใน พ.ศ. 2550 ทางครอบครัวตัดสินใจสร้างอาคารปูนสูง 4 ชั้นขึ้นด้านหน้า เรียกว่า ‘อาคารบ้านสาคริก’ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งสำนักงานมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ รวมทั้งเป็นที่เก็บเครื่องดนตรีและเอกสารรวมทั้งเรื่องราวต่าง ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับท่าน ด้านล่างคือส่วนที่เป็นร้านอาหารนามว่า ‘ครัวบรรเลง’ ซึ่งอาจารย์มาลินีก็เป็นผู้ออกแบบอาคารนี้เช่นกัน

“ตอนนั้นเลยต้องคิดกันว่าจะทำอย่างไรดีกับเรือนบรรเลง ซึ่งเริ่มเก่าและทรุดโทรมอย่างที่คุณป้าเล่าไป ก็เลยสรุปว่าจะดีดเรือนขึ้นสูงขึ้น 3 เมตรเพื่อหนีน้ำท่วม ปรับแต่งพื้นที่ใต้ถุนเสียใหม่ โดยรื้อวัสดุที่เคยกั้นเป็นห้อง ๆ ออก แล้วปล่อยให้ใต้ถุนโล่งอย่างที่เห็น แล้วเราก็เปลี่ยนไม้ที่ผุออกทั้งหมด ส่วนห้องต่าง ๆ เราพยายามเก็บไว้ตามเดิม อย่างเช่น ห้องน้ำบนตัวเรือน เราก็ตัดสินใจเก็บไว้ 

“ต้องกล่าวว่าเรือนบรรเลงเป็นเรือนไทยโบราณที่ทันสมัย มีห้องน้ำในตัว มีเครื่องสุขภัณฑ์พร้อม มีแม้กระทั่งฝักบัวและบีเดท์ (Bidet – โถปัสสาวะของสุภาพสตรี) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทันสมัยมากสำหรับบ้านในสมัยรัชกาลที่ 7 ส่วนที่พี่ว่าสนุกมาก ๆ ก็คือเราดีดเรือนขึ้นโดยใช้แรงคน เป็นงานแฮนด์เมดเลย” ครูเอ้เล่าอย่างสนุกสนาน ส่วนผมทำหน้าอึ้ง

“การยกเรือนขึ้นเริ่มจากการเอาคานที่เป็นเหล็กมายึดไว้กับขื่อทั้งหมด วางเรียงกันเต็มไปทั่วพื้นที่ใต้ถุนบ้าน เพื่อทำหน้าที่แทนเสา พอยึดได้แล้วก็นำเสาเดิมออก บ้านก็จะลอยอยู่บนคานเหล็กแทน ทีนี้ระหว่างคานก็จะนำแม่แรงมาสอดไว้ตามจุดต่างให้ทั่ว จากนั้นค่อย ๆ โยกแม่แรงทุกจุดขึ้นพร้อม ๆ กันทีละนิด ๆ เพื่อยกเรือนทั้งเรือนให้สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ต้องส่งสัญญาณให้ทุกคนหมุนแม่แรงโดยพร้อมเพรียงกัน แบบหนึ่ง.. สอง.. สาม… อ้าว.. หมุน (หัวเราะ) ตัวเรือนก็จะค่อย ๆ ลอยสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนได้ระดับที่ต้องการ แล้วจึงนำเสาคอนกรีตที่หล่อเตรียมไว้มาสอดและเชื่อมกับตัวเรือน 

“ใต้ถุนจึงมีขนาดสูงราว 3 เมตร ตอนนั้นเราคุยกันว่าอยากให้มีใต้ถุนสูง เพราะจะได้หนีน้ำท่วมและมีพื้นที่โล่งใต้เรือน สำหรับเป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ได้เหมือนอย่างที่เรานั่งคุยกันอยู่ตอนนี้” ครูเอ้และอาจารย์มาลินีร่วมกันเล่ากระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบให้ผมเข้าใจ

เรือนบรรเลง เรือนปั้นหยาสีเขียวใบโศกของหลวงประดิษฐไพเราะ บรมครูดนตรีไทย
ยกเรือนสูงขึ้นมา 3 เมตร นำเสาคอนกรีตมาแทนเสาไม้

การบูรณะเรือนบรรเลงในครั้งนั้นส่งผลให้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประเภทเคหะสถานและบ้านเรือนเอกชนจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ใน พ.ศ. 2551

“ยุคที่ 3 คือการบูรณะครั้งล่าสุดซึ่งเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2561 ตอนนั้นสีลอก โดยเฉพาะภายในตัวเรือนนั้นสีลอกแทบทั้งหมด ในตอนนั้นมีสถาปนิกเข้ามาช่วย โดยได้รับความช่วยเหลือจาก อาจารย์เต้ย (อาจารย์อริยะ ทรงประไพ) ซึ่งช่วย พี่เหมียว (คุณเกล้ามาศ ยิบอินซอย) ทำงานบูรณะพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อาจารย์เต้ยมาช่วยตรวจสอบสีเดิมของบ้านและให้คำปรึกษาด้านอื่น ๆ ทำให้เราได้ค่าสีที่ถูกต้องตามต้นฉบับ นั่นคือสีเขียวใบโศกที่ปรากฏอยู่ ส่วนสีนั้นเราได้รับความสนับสนุนจากบริษัทสีเบเยอร์” ครูเอ้อธิบายถึงการบูรณะในยุคที่ 3

นอกจากนั้นทายาทพยายามรักษาทุกอย่างไว้ดั่งเดิม หน้าต่างบานกระทุ้งและกลอนสตางค์ก็ยังคงอยู่และใช้งานได้ดีดังเดิม ห้องหับที่เดิมเป็นที่อยู่อาศัยก็ปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สำหรับสอนดนตรีไทยประเภทต่าง ๆ จนมีผู้สนใจมาเรียนกันแน่นขนัด ก่อนจะต้องหยุดชงักไปด้วยวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น พื้นใต้ถุนก็ปูกระเบื้องใหม่ แต่ยังรักษาลวดลายตามต้นฉบับเดิมเอาไว้ และโต๊ะไม้ตัวกลมตัวสำคัญที่รับใช้ครอบครัวมาตั้งแต่สมัยพระมหาเทพกษัตรสมุห ก็ยังคงตั้งอยู่พร้อมรับหน้าที่สำคัญสืบเนื่องต่อมา

บริเวณชั้นบน เป็นที่เก็บเครื่องดนตรีไทยและถ่ายทอดวิชาแก่ผู้มาเรียน
โต๊ะกลมตัวสำคัญ

“โต๊ะกลมตัวนี้อยู่คู่เรือนบรรเลงมาตั้งแต่แรก หน้าที่สำคัญที่ว่าก็คือเป็นโต๊ะไพ่ตองที่คุณพ่อสั่งทำพิเศษให้มีลิ้นชักเก็บไพ่และใช้ชิปส์แทนเหรียญสตางค์ เป็นวงญาติมิตรที่เล่นกันอย่างจริงจังมาก (หัวเราะ)” อาจารย์มาลินีเล่าอย่างมีความสุข

“และโต๊ะตัวเดียวกันนี้ก็เป็นโต๊ะที่สมาชิกครอบครัวและลูกศิษย์ลูกหาร่วมกันประชุมจัดตั้งมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะขึ้นใน พ.ศ. 2524 ต่อมาก็ริเริ่มการประกวดดนตรีไทยรางวัลศรทอง รวมทั้งกำเนิดละครโทรทัศน์เรื่อง ระนาดเอก และภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง จนมาถึงการจัด โหมโรง เดอะ มิวสิคัล รวมทั้งกิจกรรมสำคัญอื่น ๆ อีกมากอันเกี่ยวเนื่องกับการถ่ายทอดและอนุรักษ์ดนตรีไทย โต๊ะตัวนี้มีศิลปินจำนวนมากได้มานั่งคุย ปรับทุกข์ เปิดเผยเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งที่เล่าต่อได้และไม่ได้ ทุก ๆ กิจกรรมจะมีโต๊ะตัวนี้เป็นสักขีพยาน”

ทุก ๆ ปีทายาทจะจัดให้มีพิธีไหว้ครูขึ้นที่เรือนบรรเลง ลูกศิษย์ลูกหาหลากรุ่นหลายวัยจะมารวมตัวกันคับคั่งจนใต้ถุนโล่งแห่งนี้ดูแคบลงไปถนัดตา

พิธีไหว้ครูที่เรือนบรรเลง

“คำว่าลูกศิษย์เป็นคำที่มีนัยที่สำคัญ เพราะประกอบด้วยคำว่า ‘ลูก’ อยู่ด้วย ผู้ที่ถ่ายทอดวิชาให้นั้น ก็ถ่ายทอดด้วยความรัก เมตตา ปราณี และผูกพัน ส่วนผู้รับ ไม่ได้เพียงแต่เอาวิชาไปเท่านั้น แต่ยังรับวิชาด้วยความรักและผูกพันไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทุก ๆ ปีเวลาจัดพิธีไหว้ครูที่เรือนบรรเลง ก็จะมีครูและลูกศิษย์กลับมาร่วมพิธีกันมากมาย ครูที่เป็นครูของครู ศิษย์ที่วันนี้กลายมาเป็นครู ลูกศิษย์รุ่นต่าง ๆ หลายรุ่น ทำให้รู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องมีลูก ไม่จำเป็นต้องเป็นเชื้อสายของเราโดยตรงที่จะทำหน้าที่ดูแลและสืบต่อ เราสามารถฝากฝังลูกศิษย์ต่อไปได้ เมื่อคิดอย่างนี้ได้ก็ทำให้เราปล่อยใจ ไม่ยึดติดอะไร” ครูเอ้กล่าว

“อ้อ เมื่อตัวเบาใจเบาแบบนี้ พี่ว่าจะทำให้เราหนุ่มอยู่เสมอไปด้วยไงล่ะครับ” ครูเอ้สรุปพร้อมเสียงหัวเราะของทุกคน

การอนุรักษ์เรือนบรรเลงนั้นไม่ได้เป็นเพียงการรักษาการสถาปัตยกรรมที่สวยงามให้คงอยู่ แต่ยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและสายสัมพันธ์อันงดงามของครูและลูกศิษย์เอาไว้ด้วยเช่นกัน

การเรียนการสอนดนตรีไทยที่เรือนบรรเลง

รอบเรือนบรรเลง

อาคารบ้านสาคริกเป็นอาคารที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2550 ตั้งอยู่หน้าเรือนบรรเลง นอกจากเป็นที่อาศัยของสมาชิกครอบครัวจำนวนหนึ่งแล้ว ยังเป็นที่ทำการของมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะด้วย

อาคารบ้านสาคริกด้านหน้าเรือนบรรเลง

“มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2524 ในวาระครบ 100 ปีของท่าน ตอนที่ตั้งใหม่ ๆ เราตั้งใจว่าจะสืบทอดดนตรีไทยสายหลวงประดิษฐไพเราะ และเป็นพื้นที่สำหรับลูกศิษย์ลูกหาได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านดนตรีไทย สามารถจัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลและกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อรำลึกถึงท่าน” อาจารย์มาลินีเอ่ย

“อันนั้นเป็นวัตถุประสงค์เมื่อแรกเริ่ม แต่ก็ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยด้วย ในวันนี้พี่ว่าเราต้องการสร้างพื้นที่เพื่อทุก ๆ คนเข้าถึงดนตรีไทยได้ พยายามหาจุดเชื่อมอดีตให้เข้ากับปัจจุบัน และหาหนทางที่จะพาไปสู่อนาคต คือถ้าเราเล่นระนาดเก่ง เราก็อาจเก่งของเราอยู่คนเดียว ซึ่งไม่ตอบโจทย์ในวันนี้และวันข้างหน้า สิ่งที่เราควรขบคิดก็คือ เราจะนำความสามารถทางการเล่นดนตรีของเราไปเชื่อมโยงกับอะไร ขยายไปสู่อะไรได้บ้าง เพื่อที่จะทำให้ดนตรีไทยยังคงอยู่ต่อไป 

“ที่บอกว่าเราพยายามสร้างพื้นที่ ก็เพื่อเป็นการพาคนหลากหลายวงการให้มาอยู่ร่วมกัน เป็นการฝากฝังให้แต่ละคนหาแนวทางที่จะรักษาดนตรีไทยในวิถีที่เขาถนัด เขาอาจมองเห็นในทิศทางแตกต่างกันไป แต่ปลายทางคือเรายังมีเพลงไทย ยังมีดนตรีไทย อยู่ต่อไปในบริบทร่วมสมัย มูลนิธิต้องการทำเรื่องดนตรีไทยให้เป็นของทุกคน มากกว่ามุ่งรักษาเอาไว้ให้เป็นศิลปวัฒนธรรมที่อยู่บนหิ้ง แต่ไร้ลมหายใจ” ครูเอ้เสริม และผมก็รู้สึกชื่นชมกับวัตถุประสงค์และบทบาทของมูลนิธิในวันนี้

พิพิธภัณฑ์ดนตรี

นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ดนตรีที่รักษาเครื่องดนตรี อุปกรณ์ดนตรี ภาพถ่ายและเอกสารสำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับหลวงประดิษฐไพเราะและดนตรีไทย ผมขอให้ครูเอ้เลือกหยิบอะไรก็ได้ขึ้นมาเล่าให้พวกเราฟัง ครูเอ้เลือกไม้ระนาดกับขลุ่ย

“ไม้ระนาดนี้เรียกว่าไม้ทองแดง เพราะก้านและหัวทำจากทองแดง เป็นสมบัติตกทอดจากครูสิน พ่อของหลวงประดิษฐไพเราะ ไม้ทองแดงหนักกว่าไม้ระนาดทั่วไปที่ทำจากไม้และนวมธรรมดา ตอนที่ครูสินเริ่มสอนดนตรีให้ลูกชาย ครูสินท่านให้ใช้ไม้ทองแดงตีไล่ระนาดไปเรื่อย ๆ แล้วยังมีตะกั่วที่ทำเหมือนกำไลสวมข้อมือไว้ด้วย ทั้งหมดนี้เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยสร้างให้ข้อมือแข็งแรง เหมือนนักวิ่งที่ถ่วงทรายไว้ที่ข้อเท้า ถ้ายิ่งฝึกซ้อมด้วยไม้ทองแดงกับกำไลตะกั่วมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีกำลังข้อมาก สามารถตีระนาดได้อย่างคล่องแคล่ว ถือว่าอุปกรณ์สำคัญชิ้นนี้สร้างให้หลวงประดิษฐไพเราะเป็นนักดนตรีที่ชำนาญ และยังสะท้อนถึงความมุมานะ ตั้งมั่นฝึกฝีมือจนประสบความสำเร็จ”

ไม้ทองแดง

“ส่วนขลุ่ยนี้เป็นขลุ่ยที่หลวงประดิษฐไพเราะ ขณะนั้นยังเป็นจางวางศร ได้นำติดตัวขณะตามเสด็จสมเด็จวังบูรพาไปชวาเมื่อ พ.ศ. 2451 ซึ่งเป็นคราวที่คุณย่าบรรเลงเกิดและคุณทวดตั้งความหวังว่าจะได้ลูกชายนั่นเอง สาเหตุที่ท่านนำขลุ่ยตามเสด็จไปชวา ก็เพราะขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีขนาดเล็ก พกพาง่าย บรรเลงเพื่อสร้างความสุขเมื่อไหร่ก็ได้ แต่สิ่งที่ท่านนำกลับมาจากชวาในครั้งนั้นคืออังกะลุง ซึ่งต่อมาได้นำมาลองเล่นกับเพลงไทยหลายต่อหลายเพลง จนอังกะลุงได้รับความนิยมและแทบจะเป็นดนตรีไทยไปแล้วด้วยเช่นกัน วัฒนธรรมดนตรีมีการถ่ายเทผสมผสานไปมาเสมอ” 

ขลุ่ยที่จางวางศรนำติดตัวไปด้วย

ด้านหน้าอาคารเป็นร้านอาหารครัวบรรเลงที่มีอาหารอร่อยหลากหลายเมนู และมักมีแฟนคลับขาประจำแวะเวียนมาดื่มด่ำกับมื้ออร่อย ที่มาของร้านครัวบรรเลงนั้นก็ไม่ธรรมดา

“บ้านเราเน้นเรื่องกิน (หัวเราะ) สำคัญมาก ก่อนครัวบรรเลงเราเคยทำร้านอาหารมาก่อน 2 ร้าน คือศรทองและโชติรส แล้วป้าก็เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบร้านทั้ง 3 ร้าน” อาจารย์มาลินีเอ่ยพร้อมรอยยิ้ม

ร้านศรทองเป็นร้านที่ตั้งอยู่ที่บ้านบาตร เกิดขึ้นประมาณ พ.ศ. 2500 และเป็นร้านอาหารไทยร้านแรกที่ทำขึ้นเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ชื่อร้านก็มาจากชื่อเดิมของหลวงประดิษฐไพเราะ

ร้านศรทองที่บ้านบาตร

“คุณแม่บรรเลงเป็นผู้ที่ชอบทำอาหารมากและมีฝีมือด้านนี้ ตอนนั้นการท่องเที่ยวในประเทศไทยกำลังอยู่ในยุคเริ่มต้น มีฝรั่งต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวแล้ว แต่ยังไม่ค่อยมีที่กินอาหารไทยดี ๆ เท่าไหร่ ร้านศรทองมีอาหารไทยแท้ ๆ มีการแสดงเป็นรำไทย มีดนตรีไทยบรรเลงให้ฟัง อาหารนี่ทำเป็นสำรับเลยนะคะ มีข้าวและกับ 5 อย่าง จัดเป็นโตกนำไปเสิร์ฟ แล้วเป็นร้านที่ออกแบบเหมือนว่าแขกนั่งราบบนพื้น แต่ความจริงแล้วเราเจาะช่องไว้ให้แขกห้อยขา ฝรั่งชอบมาก ๆ เหมือนนั่งล้อมวงทานข้าวในบรรยากาศแบบไทย ๆ อาหารที่คุณแม่ทำก็มีแกงลูกตาลอ่อน แกงเผ็ดและแกงเขียวหวานต่าง ๆ หมี่กรอบ ฯลฯ แกงลูกตาลอ่อนนี่เป็นเมนูเด็ดของคูณแม่เลย ป้าคิดว่าร้านศรทองเป็นร้านแรกที่มีทั้งอาหารและการแสดงในลักษณะนั้น” อาจารย์มาลินีเล่า

“คือตั้งใจทำมาก ๆ เลยนะครับ มีสูจิบัตรระบุว่าวันนี้จะเป็นการแสดงอะไร มีคำอธิบายความเป็นมา แล้วก็มีพิธีกรประกาศก่อนการแสดง พร้อมบรรยายเป็นช่วง ๆ ด้วย” ครูเอ้เสริม

พ.ศ. 2512 ทายาทตัดสินใจขายบ้านบาตร ร้านศรทองจึงปิดบริการไปด้วย ร้านโชติรสจึงถือกำเนิดขึ้นเป็นร้านที่ 2 โดยตั้งอยู่หน้าเรือนบรรเลง

บรรยากาศร้านโชติรส

“ช่วงปี พ.ศ. 2511 คุณแม่บรรเลงเกษียณอายุราชการ ก็ถามท่านว่าจะทำร้านอาหารหรือโรงเรียนอนุบาล ท่านก็ตอบว่าทำร้านอาหาร ถ้าทำโรงเรียนอนุบาลคงดูแลเด็กไม่ไหว เดี๋ยวลูกเขาเป็นอะไรไปเรารับผิดชอบไม่ได้ ส่วนชื่อโชติรสก็มาจากชื่อของคุณยายโชติ ร้านเราเป็นร้านอาหารแรกในย่านนี้ แล้วก็เป็นร้านอาหารตามสั่งเมนูไทย ๆ ที่คุณแม่เป็นผู้ดูแลเรื่องกับข้าว ท่านสนุกและมีความสุขมาก ไปจ่ายตลาดเอง ลงทำมือเอง และเราทำร้านโชติรสอยู่นานหลายปีจนมาหยุดไปใกล้ ๆ กับ พ.ศ. 2524 เมื่อตั้งมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ” อาจารย์มาลินีเล่า

“มาถึง พ.ศ. 2551 คือปีที่คุณย่าบรรเลงอายุครบ 100 ปี ก็เลยคิดที่จะรื้อฟื้นธุรกิจอาหารขึ้นมา แล้วพอดีกันกับที่เราสร้างอาคารบ้านสาคริกขึ้นมา ก็เลยตัดสินใจเปิดร้านครัวบรรเลงขึ้น มีเมนูเด็ดเมนูเดิมของคุณย่าอย่างหมี่กรอบ แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน ก็ยังมีอยู่ มีอีกเมนูที่ขึ้นชื่อของร้านและเป็นสูตรของคุณย่าคือหมูเผ็ด” ครูเอ้เล่า

ร้านครัวบรรเลงในวันนี้

“หมูเผ็ดนี้เป็นเมนูโปรดเลย ตอนที่ป้าได้ทุนไปเรียนต่อที่อเมริกา ป้าก็ขอให้แม่ทำแล้วเอาติดตัวไปด้วย แบกใส่กระเป๋าเดินทางไปเลยนะ 2 กิโล ไปเป็นเสบียงช่วงที่ไปอยู่นู่นใหม่ ๆ แก้คิดถึงบ้าน” อาจารย์มาลินีเล่าเสริม สงสัยว่าผมสัมภาษณ์เสร็จเมื่อไหร่ ผมคงต้องลองหมูเผ็ดเสียแล้ว

เมนูอร่อยประจำร้านครัวบรรเลง

“มื้ออาหารคือการเชื่อมคน เชื่อมความคิด ไม่มีไม่ได้ (หัวเราะ) ถึงมันจะดูเชย ๆ นะ แต่ลองสังเกตสิครับว่าละครไทยแทบทุกเรื่องมีฉากที่สำคัญคือฉากกินข้าว อะไรต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นจากโต๊ะกินข้าวเสมอ หรือแม้แต่การเจรจาความสำคัญของบ้านเมืองก็เกิดจากโต๊ะอาหารเช่นกัน การมีร้านอาหารทำให้เราสามารถรักษาบรรยากาศเดิม ๆ ของเรือนบรรเลงให้คงอยู่ต่อไป เพราะมีพื้นที่ที่ครูบาอาจารย์ นักดนตรี ศิลปิน แขกเหรื่อ เพื่อนฝูง แวะมาเยี่ยมมานั่งคุยกัน พบปะสังสรรค์กันได้สนุก ไม่ต้องลุกไปไหน หลายสิ่งหลายอย่างก็เกิดจากที่นี่” ครูเอ้สรุป

เราคุยกันมาเรื่อย ๆ จนถึงคำถามสุดท้าย – ถ้าถามว่าภารกิจสำคัญในฐานะทายาทของหลวงประดิษฐไพเราะ คุณทวดโชติ และคุณย่าบรรเลงคืออะไรครับ

“การสร้างคน…. ภาพยนตร์อย่าง ระนาดเอก หรือละครเวทีอย่าง โหมโรง เดอะ มิวสิคัล ไม่ได้สร้างแค่ความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเปิดทางให้มีนักดนตรีใหม่ ๆ ที่มีฝีมือเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ถ้าไปถามนักดนตรีหลาย ๆ วัยหลาย ๆ รุ่นว่าทำไมถึงเล่นระนาด เล่นดนตรีไทย คำตอบที่ได้ยินอยู่เสมอก็คือ “ผมดูระนาดเอกครับ” หรือในรุ่นหลัง ๆ ก็ “ผมดูโหมโรงมาครับ” อย่างนักดนตรีในสำนักงานสังคีตหลาย ๆ คน ซึ่งเป็นนักดนตรีอาชีพ ก็มาจากกลุ่มผู้ดู โหมโรง มาก่อน แล้วเขาก็ตอบอย่างภาคภูมิใจว่า “ผมอยากเล่นดนตรีไทยเพราะโหมโรงครับ” อันนี้คือสิ่งที่พี่ว่าสำคัญที่สุด

 “นอกจากนี้ยังทำให้ดนตรีไทยมีพื้นที่ในโลกปัจจุบัน เรานึกไม่ออกเลยว่าระนาดจะไปอยู่ที่สยามสแควร์ได้อย่างไร หรือในงานแฟชั่นโชว์ได้อย่างไร จาก ระนาดเอก และ โหมโรง ในวันนั้นมาถึงวันนี้มีโรงเรียนดนตรีไทยเกิดขึ้นมากมาย มีช่างฝีมือทำเครื่องดนตรีไทยเพิ่มขึ้น ฯลฯ ซึ่งตอนนั้นเราไม่เคยโฆษณาเลยว่าให้มาเรียนดนตรีไทยกับเราที่นี่ แต่เราปลื้มใจมากที่มีโรงเรียนดนตรีเปิดขึ้นหลายที่ และมีคนสนใจไปเรียนตามที่ต่าง ๆ พี่เชื่อว่าเราควรจะหย่อนเมล็ดพันธุ์ไว้หลาย ๆ ที่ ไม่ต้องอยู่ในกระถางเดียวกัน ถามว่าปัจจุบันมีเด็กมาเรียนดนตรีกับเราเยอะไหม ก็ไม่ได้เยอะ แต่เราเชื่อว่าเขาไปเติบโตในพื้นที่อื่น ๆ แล้วไง นั่นแปลว่าภารกิจเราสำเร็จแล้ว” ครูเอ้สรุป ผมเห็นรอยยิ้มภูมิใจปรากฏบนใบหน้าของอาจารย์มาลินีเมื่อมองมาที่หลานชายคนนี้

เสียงซออู้แว่วตามลมเย็นมาอีกครั้งเมื่อการสนทนาของเราสิ้นสุดลง ผมหันหลังกลับไปมองเรือนสีเขียวใบโศกหลังงามอีกครั้ง การอนุรักษ์เรือนบรรเลงและสรรพสิ่งที่รายล้อมอยู่รอบเรือนบรรเลงนั้นสร้างคุณูปการให้กับสังคมไทยไว้มากมายจริง ๆ

ขอขอบพระคุณผู้ให้สัมภาษณ์

อาจารย์มาลินี สาคริก ประธานมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ

อาจารย์อัษฎาวุธ สาคริก เลขาธิการมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ

เอกสารอ้างอิง

หนังสือ 84 ปี มาลินี สาคริก สถาปนิกศิลปบรรเลง และฉลอง 85 ปี เรือนบรรเลง

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน