ฉากหนึ่งในหนัง แฮร์รี่ พอตเตอร์ พ่อของรอน วีสลีย์ ถามแฮร์รี่บนโต๊ะทานข้าวว่า เหล่ามั้กเกิ้ลนั้นมี ‘เป็ดยางสีเหลือง’ ไว้ทำอะไร

ถึงแม้ว่านั่นจะไม่ใช่ฉากที่น่าจดจำที่สุดของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ แต่คำถามของพ่อรอน ติดอยู่ในความทรงจำของผู้เขียนมาจนถึงทุกวันนี้

 Tank Rubber Duck, จีน, เป็ดยาง
ภาพตัดต่อ Tank Rubber Duck ที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างกระแสในประเทศจีนมาแล้ว

เป็ดยางสีเหลืองๆ มีหน้าที่ทำอะไรกันแน่ แล้วเหล่ามวลมนุษยชาติหรือมักเกิ้ล คิดค้นประดิษฐ์มันขึ้นมาทำไม แล้วถ้าเกิดเป็ดยางพวกนี้มีชีวิตจิตใจ มันจะตามหาความหมายของการมีตัวตนอยู่ของมัน นอกจากการล่องลอยไปวันๆ เหมือนกันกับพวกมักเกิ้ลหรือไม่

คอลัมน์วัตถุปลายตาในครั้งนี้ จะพาท่านล่องลอยไปสำรวจประวัติศาสตร์ที่มาของเป็ดยางสีเหลือง และเรื่องราวต่างๆ ที่ผูกติดอยู่กับมัน จากวันแรกที่มันไม่ได้คิดมาแม้แต่จะให้ลอยน้ำ จนถึงวันนี้ วันที่เป็ดยางสีเหลืองไม่ได้ใช้แค่ลอยน้ำ แต่ยังใช้ ‘กันน้ำ’ ได้อย่างที่เราเห็นผ่านๆ ตากันทุกวันนี้อีกด้วย

เป็ดยาง ส่วนมากไม่ได้ทำจากยางนะ

เป็ดยางสีเหลืองตัวแรกๆ นั้นไม่ได้ทำจากยางและลอยน้ำไม่ได้ มันถูกหล่อขึ้นเป็นมวลทึบตัน และถูกออกแบบมาให้เป็นของเล่นสำหรับเคี้ยว (Chew Toy) จนกระทั่งยุค 1940 ที่เป็ดตัวนี้ถูกออกแบบให้มีรูปลักษณ์คล้ายกับเป็ดที่เราคุ้นตาอยู่ทุกวันนี้ จนหลายสิบปีต่อมาเป็นยางจริงๆ แล้ว ทำจากไวนิล แต่พวกเรา-มนุษย์ก็ยังเรียกมันว่าเป็ดยางอยู่ดี

ปีเตอร์ กานีน (Peter Ganine) คือคนแรกที่ให้กำเนิดรูปทรงของเป็ดยางสีเหลืองตัวนี้ หลังจากนั้นเขาจึงได้จดสิทธิบัตรและสร้างมันขึ้นมาในฐานะของเล่นลอยน้ำที่ขายไปมากกว่า 50 ล้านชิ้นจนถึงปัจจุบัน

 Tank Rubber Duck, จีน, เป็ดยาง, ปีเตอร์ กานีน (Peter Ganine)
บุกโรงงานเป็ดยาง

เป็ดยาง ไม่ได้มีดีแค่ลอยนะ

หน้าที่หลักของเป็ดยาง นอกจากลอยแล้ว มันยังมีหน้าที่เชื้อชวนให้เด็กๆ กล้าเล่นน้ำ ไม่กลัวน้ำ และชวนให้บีบสัมผัสตัวมัน เพื่อที่เด็กๆ จะได้มีพัฒนาการทางกล้ามเนื้อและปฏิสัมพันธ์ ในขณะที่เสียงของมันช่วยทำให้เด็กทารกมีการเรียนรู้และสังเกตมากขึ้น ทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดขึ้นจากคุณสมบัติของตัวเป็ดยางเองล้วนๆ

 Tank Rubber Duck, จีน, เป็ดยาง, ปีเตอร์ กานีน (Peter Ganine)
ซีนหนึ่งในเพลง Rubber Duckie ของ Sesame Street

ใน ค.ศ. 1970 Sesame Street รายการทีวีระดับตำนานของชาวอเมริกัน หยิบเอาเป็ดยางมาสร้างเป็นเพลงชื่อว่า Rubber Duckie ในอ่างน้ำ จนกระทั่งเพลงนี้ฮิตติดลมบนขึ้นชาร์ตบิลบอร์ดในอันดับที่ 16 และหลังจากวินาทีนั้นเอง เป็ดยางสีเหลืองก็ถือเป็นเพื่อนรักของอ่างน้ำ แบบขาดกันไม่ได้อย่างเป็นทางการทันที

เป็ดยาง ก็อยู่ในรั้วในวังนะ 

วิวัฒนาการของเป็ดยางเดินทางมาเรื่อยจนถึงจุดที่มันเรืองแสงได้ มีไฟ LED ฝังอยู่ในตัว เปลี่ยนสีตามอุณหภูมิ หรือแม้กระทั่งมีกลไกมอเตอร์ที่ทำให้มันว่ายในน้ำได้เองจริงๆ แทนที่จะลอยตุ๊บป่องไปเรื่อยๆ ตามกระแสน้ำในอ่าง

ใน ค.ศ. 2001 หนังสือพิมพ์ The Sun ของอังกฤษรายงานว่า พระราชินีอลิซาเบธที่ 2 มีเป็ดยางสีเหลืองลอยอยู่ในอ่างของพระองค์ และนอกจากนั้น มันยังสวมมงกุฎแบบเป่าลมได้อยู่บนหัวอีกต่างหาก เรื่องจ๊วบจ๊าบของเป็ดยางในพระราชวังนี้หลุดออกมาจากช่างทาสีที่ทำงานอยู่ข้างใน ซึ่งเมื่อข่าวนี้ไปถึงหูตาของไพร่ฟ้าประชาชนชาวอังกฤษแล้ว ยอดขายของเป็ดยางก็เพิ่มขึ้น 80 เปอร์เซ็นต์ภายในช่วงเวลาพริบตา 

Tank Rubber Duck, จีน, เป็ดยาง, The Sun, ระราชินีอลิซาเบธที่ 2
เป็ดควีนอลิซาเบธที่มีขายในท้องตลาดยุโรป

เป็ดยาง ก็ไม่เล็กเสมอไปนะ

เป็ดยางที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้นใหญ่เกินอ่างน้ำปกติไปหลายสิบเท่า และมันถูกสร้างขึ้นโดยศิลปินชาวดัตช์ โฟลเรินไตน์ โฮฟมัน (Florentijn Hofman) ใน ค.ศ. 2007 ซึ่งมีความสูงเกือบ 32 เมตร และมีน้ำหนักถึง 600 กิโลกรัม และตั้งแต่นั้นมา Hofman เองก็ได้ทยอยสร้างเจ้าเป็ดยางยักษ์นี้ไปลอยไว้ในสถานที่สาธารณะต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง บราซิล ออสเตรเลีย เกาหลี จนไปถึงอเมริกา

Tank Rubber Duck, จีน, เป็ดยาง,  โฟลเรินไตน์ โฮฟมัน (Florentijn Hofman)
ผลงานเป็ดยักษ์ของ Florentijn Hofman

ในฐานะที่ผู้เขียนเองมีความสนใจในงานดีไซน์และงานศิลปะ จึงมีคำถามต่อว่าทำไม

ทำไม Hofman ต้องเอาไฟฉายขยายส่วนของโดราเอมอนไปขยายเจ้าเป็ดยางในอ่าง แล้วทิ้งมันลอยตุ๊บป่องอยู่ในแม่น้ำ ลำธาร ทะเลสาบ ตามเมืองใหญ่ๆ เหล่านี้ด้วย ตัวเขาเองพยายามจะสื่อสารอะไรหรือไม่

เป็ดยาง ก็ใช้ประท้วงได้นะ

ไม่ ผู้เขียนไม่ได้หมายถึงการใช้เป็ดยางเป่าลมแทนโล่กันน้ำอย่างที่เราเห็นๆ กันในแวดวงการประท้วงของไทยแต่อย่างเดียว แต่หากเราเข้าไปสำรวจดูผลงานของ โฟลเรินไตน์ โฮฟมัน ผู้ซึ่งเอะอะก็จะเอาของง่ายๆ ที่เห็นในชีวิตประจำวัน มาขยายส่วนให้ใหญ่ยักษ์ เช่น รองเท้าแตะจนไปถึงพื้นลามิเนต และนำมันไปวางตามที่สาธารณะเสมอๆ นั้น เราจะเห็นว่า ผลงานของเขา คือการ ‘ประท้วง’ อย่างหนึ่งนี่เอง

Tank Rubber Duck, จีน, เป็ดยาง,  โฟลเรินไตน์ โฮฟมัน, ประท้วง
เป็ดที่จุดกระแสการใช้เป็ดยางเป็นสัญลักษณ์ในการประท้วงที่ฮ่องกง

งานชิ้นเขื่องของ Hofman เหล่านี้อยู่เพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราวและไม่สามารถซื้อได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักสะสมที่มีเงินถุงเงินถังขนาดไหนก็ตาม งานทุกชิ้นของเขาที่ลอยแอ้งแม้งอยู่ทั่วโลกนั้นถูกผลิตขึ้นมาใหม่ในประเทศนั้นๆ และมันจะไม่ตั้งอยู่ตลอดไป

“ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องศิลปะที่จะอยู่ตลอดไป เพราะส่วนมากงานศิลปะมักจะถูกซื้อไปด้วยคนรวย ผมจึงเชื่อในการทำงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ เพราะมันถือเป็นของทุกคน” Hofman อธิบายไว้

นอกจากเขาไม่ยอมขายงานศิลปะชั้นยักษ์ให้แก่นักสะสมแล้ว ส่วนมากของที่ Hofman ยอมถูกให้นำมาใช้ในเชิงพาณิชย์จะเป็นของจิ๋วขนาดย่อม ซึ่งรายได้ส่วนมากเขาเลือกมอบให้โครงการการกุศลไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ เช่น โครงการเกี่ยวกับสุขภาพจิตในฮ่องกง เป็นต้น

เป็ดยักษ์ของเขาจึงทำหน้าที่ต่อต้านระบบทุนนิยม ซึ่งก็ครอบคลุมไว้ในทุกอุตสาหกรรม รวมไปถึงวงการงานศิลปะด้วยเช่นกัน

เป็ดยาง ใช้ถอดรหัสได้ด้วยนะ

ในหนังสือชื่อว่า The Pragmatic Programmer วิศวกรซอฟต์แวร์แนะนำเทคนิคในการถือเป็ดยางสีเหลืองติดตัวไปทุกที่ วางไว้ข้างคอมพิวเตอร์ในขณะการแก้ Bug หรือถอดรหัสด้วยโค้ดต่างๆ (Debugging) โดยแนะนำให้อธิบายคำสั่งต่างๆ ให้เป็ดยางตัวเล็กๆ เข้าใจทุกบรรทัด เพราะว่าการสอนถือเป็นการทบทวนและถ่ายทอดวิธีคิดของตัวเองที่ดีที่สุดอีกหนึ่งวิธี โดยไม่ต้องไปรบกวนมักเกิ้ลหน้าไหนเลยทั้งสิ้น-พูดง่ายๆ ว่า ถ้าเป็ดยางยังเข้าใจ คนก็ต้องเข้าใจ (สิ)

*อ้างอิงจาก www.mentalfloss.com/article/79740/wise-quacks-history-rubber-duck

Tank Rubber Duck, จีน, เป็ดยาง, The Pragmatic Programmer, ประท้วง,
Rubber Duck Debugging

เพราะฉะนั้น ครั้งหน้าที่คุณเห็นเป็ดยางสีเหลืองโผล่ตัวไปที่ไหนอย่างไม่คาดคิด มันอาจจะกำลังทำหน้าที่ซึมซับเรื่องราวและถอดรหัสบทเรียนอะไรบางอย่างอยู่ก็เป็นได้

Writer

Avatar

ศรัณย์ เย็นปัญญา

นักเล่าเรื่อง ผู้ร่วมก่อตั้ง 56thStudio ที่รักในความเป็นคนชายขอบ หมารองบ่อน และใช้ชีวิตอยู่ตรงตะเข็บชายแดนของรสนิยมที่ดีและไม่ดีอย่างภาคภูมิมาตลอด 35 ปี ชอบสะสมเก้าอี้ ของเล่นพลาสติก และเชื่อในพลังการสื่อสารของงานออกแบบและงานศิลปะ