ฉากหนึ่งในหนัง แฮร์รี่ พอตเตอร์ พ่อของรอน วีสลีย์ ถามแฮร์รี่บนโต๊ะทานข้าวว่า เหล่ามั้กเกิ้ลนั้นมี ‘เป็ดยางสีเหลือง’ ไว้ทำอะไร
ถึงแม้ว่านั่นจะไม่ใช่ฉากที่น่าจดจำที่สุดของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ แต่คำถามของพ่อรอน ติดอยู่ในความทรงจำของผู้เขียนมาจนถึงทุกวันนี้

เป็ดยางสีเหลืองๆ มีหน้าที่ทำอะไรกันแน่ แล้วเหล่ามวลมนุษยชาติหรือมักเกิ้ล คิดค้นประดิษฐ์มันขึ้นมาทำไม แล้วถ้าเกิดเป็ดยางพวกนี้มีชีวิตจิตใจ มันจะตามหาความหมายของการมีตัวตนอยู่ของมัน นอกจากการล่องลอยไปวันๆ เหมือนกันกับพวกมักเกิ้ลหรือไม่
คอลัมน์วัตถุปลายตาในครั้งนี้ จะพาท่านล่องลอยไปสำรวจประวัติศาสตร์ที่มาของเป็ดยางสีเหลือง และเรื่องราวต่างๆ ที่ผูกติดอยู่กับมัน จากวันแรกที่มันไม่ได้คิดมาแม้แต่จะให้ลอยน้ำ จนถึงวันนี้ วันที่เป็ดยางสีเหลืองไม่ได้ใช้แค่ลอยน้ำ แต่ยังใช้ ‘กันน้ำ’ ได้อย่างที่เราเห็นผ่านๆ ตากันทุกวันนี้อีกด้วย
เป็ดยาง ส่วนมากไม่ได้ทำจากยางนะ
เป็ดยางสีเหลืองตัวแรกๆ นั้นไม่ได้ทำจากยางและลอยน้ำไม่ได้ มันถูกหล่อขึ้นเป็นมวลทึบตัน และถูกออกแบบมาให้เป็นของเล่นสำหรับเคี้ยว (Chew Toy) จนกระทั่งยุค 1940 ที่เป็ดตัวนี้ถูกออกแบบให้มีรูปลักษณ์คล้ายกับเป็ดที่เราคุ้นตาอยู่ทุกวันนี้ จนหลายสิบปีต่อมาเป็นยางจริงๆ แล้ว ทำจากไวนิล แต่พวกเรา-มนุษย์ก็ยังเรียกมันว่าเป็ดยางอยู่ดี
ปีเตอร์ กานีน (Peter Ganine) คือคนแรกที่ให้กำเนิดรูปทรงของเป็ดยางสีเหลืองตัวนี้ หลังจากนั้นเขาจึงได้จดสิทธิบัตรและสร้างมันขึ้นมาในฐานะของเล่นลอยน้ำที่ขายไปมากกว่า 50 ล้านชิ้นจนถึงปัจจุบัน

เป็ดยาง ไม่ได้มีดีแค่ลอยนะ
หน้าที่หลักของเป็ดยาง นอกจากลอยแล้ว มันยังมีหน้าที่เชื้อชวนให้เด็กๆ กล้าเล่นน้ำ ไม่กลัวน้ำ และชวนให้บีบสัมผัสตัวมัน เพื่อที่เด็กๆ จะได้มีพัฒนาการทางกล้ามเนื้อและปฏิสัมพันธ์ ในขณะที่เสียงของมันช่วยทำให้เด็กทารกมีการเรียนรู้และสังเกตมากขึ้น ทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดขึ้นจากคุณสมบัติของตัวเป็ดยางเองล้วนๆ

ใน ค.ศ. 1970 Sesame Street รายการทีวีระดับตำนานของชาวอเมริกัน หยิบเอาเป็ดยางมาสร้างเป็นเพลงชื่อว่า Rubber Duckie ในอ่างน้ำ จนกระทั่งเพลงนี้ฮิตติดลมบนขึ้นชาร์ตบิลบอร์ดในอันดับที่ 16 และหลังจากวินาทีนั้นเอง เป็ดยางสีเหลืองก็ถือเป็นเพื่อนรักของอ่างน้ำ แบบขาดกันไม่ได้อย่างเป็นทางการทันที
เป็ดยาง ก็อยู่ในรั้วในวังนะ
วิวัฒนาการของเป็ดยางเดินทางมาเรื่อยจนถึงจุดที่มันเรืองแสงได้ มีไฟ LED ฝังอยู่ในตัว เปลี่ยนสีตามอุณหภูมิ หรือแม้กระทั่งมีกลไกมอเตอร์ที่ทำให้มันว่ายในน้ำได้เองจริงๆ แทนที่จะลอยตุ๊บป่องไปเรื่อยๆ ตามกระแสน้ำในอ่าง
ใน ค.ศ. 2001 หนังสือพิมพ์ The Sun ของอังกฤษรายงานว่า พระราชินีอลิซาเบธที่ 2 มีเป็ดยางสีเหลืองลอยอยู่ในอ่างของพระองค์ และนอกจากนั้น มันยังสวมมงกุฎแบบเป่าลมได้อยู่บนหัวอีกต่างหาก เรื่องจ๊วบจ๊าบของเป็ดยางในพระราชวังนี้หลุดออกมาจากช่างทาสีที่ทำงานอยู่ข้างใน ซึ่งเมื่อข่าวนี้ไปถึงหูตาของไพร่ฟ้าประชาชนชาวอังกฤษแล้ว ยอดขายของเป็ดยางก็เพิ่มขึ้น 80 เปอร์เซ็นต์ภายในช่วงเวลาพริบตา

เป็ดยาง ก็ไม่เล็กเสมอไปนะ
เป็ดยางที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้นใหญ่เกินอ่างน้ำปกติไปหลายสิบเท่า และมันถูกสร้างขึ้นโดยศิลปินชาวดัตช์ โฟลเรินไตน์ โฮฟมัน (Florentijn Hofman) ใน ค.ศ. 2007 ซึ่งมีความสูงเกือบ 32 เมตร และมีน้ำหนักถึง 600 กิโลกรัม และตั้งแต่นั้นมา Hofman เองก็ได้ทยอยสร้างเจ้าเป็ดยางยักษ์นี้ไปลอยไว้ในสถานที่สาธารณะต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง บราซิล ออสเตรเลีย เกาหลี จนไปถึงอเมริกา

ในฐานะที่ผู้เขียนเองมีความสนใจในงานดีไซน์และงานศิลปะ จึงมีคำถามต่อว่าทำไม
ทำไม Hofman ต้องเอาไฟฉายขยายส่วนของโดราเอมอนไปขยายเจ้าเป็ดยางในอ่าง แล้วทิ้งมันลอยตุ๊บป่องอยู่ในแม่น้ำ ลำธาร ทะเลสาบ ตามเมืองใหญ่ๆ เหล่านี้ด้วย ตัวเขาเองพยายามจะสื่อสารอะไรหรือไม่
เป็ดยาง ก็ใช้ประท้วงได้นะ
ไม่ ผู้เขียนไม่ได้หมายถึงการใช้เป็ดยางเป่าลมแทนโล่กันน้ำอย่างที่เราเห็นๆ กันในแวดวงการประท้วงของไทยแต่อย่างเดียว แต่หากเราเข้าไปสำรวจดูผลงานของ โฟลเรินไตน์ โฮฟมัน ผู้ซึ่งเอะอะก็จะเอาของง่ายๆ ที่เห็นในชีวิตประจำวัน มาขยายส่วนให้ใหญ่ยักษ์ เช่น รองเท้าแตะจนไปถึงพื้นลามิเนต และนำมันไปวางตามที่สาธารณะเสมอๆ นั้น เราจะเห็นว่า ผลงานของเขา คือการ ‘ประท้วง’ อย่างหนึ่งนี่เอง

งานชิ้นเขื่องของ Hofman เหล่านี้อยู่เพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราวและไม่สามารถซื้อได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักสะสมที่มีเงินถุงเงินถังขนาดไหนก็ตาม งานทุกชิ้นของเขาที่ลอยแอ้งแม้งอยู่ทั่วโลกนั้นถูกผลิตขึ้นมาใหม่ในประเทศนั้นๆ และมันจะไม่ตั้งอยู่ตลอดไป
“ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องศิลปะที่จะอยู่ตลอดไป เพราะส่วนมากงานศิลปะมักจะถูกซื้อไปด้วยคนรวย ผมจึงเชื่อในการทำงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ เพราะมันถือเป็นของทุกคน” Hofman อธิบายไว้
นอกจากเขาไม่ยอมขายงานศิลปะชั้นยักษ์ให้แก่นักสะสมแล้ว ส่วนมากของที่ Hofman ยอมถูกให้นำมาใช้ในเชิงพาณิชย์จะเป็นของจิ๋วขนาดย่อม ซึ่งรายได้ส่วนมากเขาเลือกมอบให้โครงการการกุศลไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ เช่น โครงการเกี่ยวกับสุขภาพจิตในฮ่องกง เป็นต้น
เป็ดยักษ์ของเขาจึงทำหน้าที่ต่อต้านระบบทุนนิยม ซึ่งก็ครอบคลุมไว้ในทุกอุตสาหกรรม รวมไปถึงวงการงานศิลปะด้วยเช่นกัน
เป็ดยาง ใช้ถอดรหัสได้ด้วยนะ
ในหนังสือชื่อว่า The Pragmatic Programmer วิศวกรซอฟต์แวร์แนะนำเทคนิคในการถือเป็ดยางสีเหลืองติดตัวไปทุกที่ วางไว้ข้างคอมพิวเตอร์ในขณะการแก้ Bug หรือถอดรหัสด้วยโค้ดต่างๆ (Debugging) โดยแนะนำให้อธิบายคำสั่งต่างๆ ให้เป็ดยางตัวเล็กๆ เข้าใจทุกบรรทัด เพราะว่าการสอนถือเป็นการทบทวนและถ่ายทอดวิธีคิดของตัวเองที่ดีที่สุดอีกหนึ่งวิธี โดยไม่ต้องไปรบกวนมักเกิ้ลหน้าไหนเลยทั้งสิ้น-พูดง่ายๆ ว่า ถ้าเป็ดยางยังเข้าใจ คนก็ต้องเข้าใจ (สิ)
*อ้างอิงจาก www.mentalfloss.com/article/79740/wise-quacks-history-rubber-duck

เพราะฉะนั้น ครั้งหน้าที่คุณเห็นเป็ดยางสีเหลืองโผล่ตัวไปที่ไหนอย่างไม่คาดคิด มันอาจจะกำลังทำหน้าที่ซึมซับเรื่องราวและถอดรหัสบทเรียนอะไรบางอย่างอยู่ก็เป็นได้