มัดถุงแกง มัดผม มัดเงินสด เอาไปร้อยทำหมากเก็บ หรือจะเอาไปทำเป็นอาวุธดีดใส่หน้าเพื่อน 

หนังยางคือสิ่งที่ดูเหมือนจะอยู่คู่โลกมนุษย์มานานแสนนาน จนราวกับว่ามันเกิดขึ้นมาพร้อมโลกมนุษย์ใบนี้เลยด้วยซ้ำ แต่ในความเป็นจริงก็คือ ครั้งหนึ่ง ‘หนังยาง’ หรือ ‘หนังสติก’ ที่เราทุกคนคุ้นเคย มันก็ไม่ได้มีตัวตนอยู่บนโลกนี้มาก่อน เช่นเดียวกันกับหลายๆ สิ่งประดิษฐ์ในโลก

เสาะหาบิดาของ ‘หนังยางวง’ วัตถุเหนียวยืดที่มัด รัด ห่อ และยึดโยงโลกทั้งใบไว้ด้วยกัน
 มัด รัด ห่อ หนังยางทำได้ทุกสิ่งอย่าง

ถึงแม้การนึกภาพการมัดถุงแกงโดยไม่มีหนังยางจะยากมาก แต่คอลัมน์วัตถุปลายตาในครั้งนี้ จะพาท่าน ขึ้นไทม์แมชชีนไปไกลหลายร้อยปี เพื่อไปย้อนรอยเส้นทางการเดินทางที่เริ่มต้นจากภูมิปัญญาพื้นถิ่นของชนเผ่ามายัน ลงเรือข้ามมหาสมุทรไปหามันสมองของนักคิดค้นชาวอังกฤษ จนมาถึงวันนี้ วันที่วัตถุเส้นเล็กๆ ราคาไม่แพง ได้ปฏิวัติการมัด รัด ห่อ ไปตลอดกาลอย่างไม่มีวันหวนกลับ

ประโยชน์ของหนังยางที่มีมากมายสาธยายไม่รู้จบนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่คุณสมบัติและสรรพคุณของมันเอง ก็มีหลากหลายเช่นกัน ทั้งความหนา ความเหนียว และความยืิดหยุ่น ทำให้วัตถุชิ้นเล็กๆ ชิ้นนี้เป็นของคู่บ้าน คู่ชีวิตมวลมนุษยชาติ ติดตลาดไปได้ในเวลาอันรวดเร็ว

แต่ในเส้นทางการตามหาจุดกำเนิดของหนังยางนี้เองที่ผู้เขียนค้นพบว่า การเคลมเป็นบิดาผู้ให้กำเนิดยางนั้น มีการสู้รบ เปิดศึกถกเกียง ฟ้องร้องกันมากมาย

และนี่คือเรื่องราวอันยิ่งใหญ่และลึกซึ้งของการ ‘ตามหาพ่อ’ ให้วัตถุด้อยค่าชิ้นเล็กๆ ที่อาจจะทำให้คุณอภิเชษฐ์สิ่งเล็กๆน้อยๆ ในชีวิตมากขึ้นก็เป็นได้

3,000 ปีก่อนจะมีสิทธิบัตร

ย้อนไปเมื่อเกือบ 180 ปีก่อน ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1845 นักอุตสาหกรรมชาวอังกฤษชื่อว่า สตีเฟน เพอร์รี่ (Stephen Perry) ได้รับอนุมัติจดสิทธิบัตรการผลิตหนังยางจากการ Vulcanised หรือการที่ยางทำปฏิกิริยากับกำมะถันในปริมาณพอเหมาะที่อุณหภูมิสูงกว่าจุดหลอมเหลวของกำมะถัน ทำให้ยางที่มาจากธรรมชาติมีคุณภาพคงตัวในอุณหภูมิต่างๆ มีความยืดหยุ่นได้ดีมากขึ้น จนตัวเขาเองก็ได้รับฉายาว่าเป็น ‘พ่อผู้ให้กำเนิดหนังยาง’ และครองพื้นที่ของวงการหนังยางโลกมาโดยตลอด

แต่ความเป็นจริงก็คือ ตัวของ สตีเฟน เพอร์รี่ ก็ไม่ได้อยู่ดีๆ นั่งทางใน นึกคิดค้นสิ่งที่จะเปลี่ยนโลกได้เอง โดยไม่มีอะไรมาบันดาลใจหรือจุดประกายความคิดให้เขา

สตีเฟน เพอร์รี่ กับคู่หูวิศวกรของเขา โทมัส บาร์นาบาส ดาฟต์ (Thomas Barnabas Daft) ชาวลอนดอนทั้งคู่ ได้รับสิทธิบัตรการจดทะเบียนการผลิตหนังยางเพื่อมัด ห่อ รัด ในระบบอุตสาหกรรม แต่จริงๆ แล้ว ก่อนหน้า ค.ศ. 1845 นั้น ‘ยางวง’ ถูกนำมาใช้แค่การมัดห่อหนังสือพิมพ์และกระดาษทั้งหลายเข้าไว้ด้วยกันจากการผลิตง่ายๆ ด้วยการเอาน้ำยางธรรมชาติไหลผ่านท่อแคบๆ แล้วเอามาตัดให้เป็นเส้นหนังยางที่เราทุกคนคุ้นเคยกันในทุกวันนี้เพียงแค่นั้น

เสาะหาบิดาของ ‘หนังยางวง’ วัตถุเหนียวยืดที่มัด รัด ห่อ และยึดโยงโลกทั้งใบไว้ด้วยกัน
หนังยางที่เราทุกคนคุ้นเคยกันในทุกวันนี้

จุดกำเนิดแห่งความเหนียว

เรื่องของเรื่องก็คือ จริงๆ แล้วไอ้เทคนิคการ Vulcanised ยางมันถูกค้นพบโดย ชาลส์ กู๊ดเยียร์ (Charles Goodyear) และ โทมัส แฮนค็อก (Thomas Hancock) นักคิดค้นในรุ่นเดียวกันช่วงนั้นต่างหาก และทั้งสองค่ายนี้เอง ก็มีการถกเถียงกันตลอดเวลา ว่าใครกันแน่คือพ่อของทุกสถาบันยาง 

เสาะหาบิดาของ ‘หนังยางวง’ วัตถุเหนียวยืดที่มัด รัด ห่อ และยึดโยงโลกทั้งใบไว้ด้วยกัน
Charles Nelson Goodyear

แต่สิ่งที่ทำให้เรื่องราวนี้น่าสนใจเข้าไปอีก ก็คือนาย สตีเฟน เพอร์รี่ คนนี้ จนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ไม่มีหลักฐานที่เป็นรูปถ่าย แม้แต่ในโลกที่มี Google แล้วก็ยังไม่สามารถสืบค้นเจอ รู้แต่เพียงว่า พ่อของเขา นาย เจมส์ เพอร์รี่ (James Perry) นั้น ผลิตปากกาเหล็กในตำนาน จนคนทั้งโลกเรียกปากกาชนิดนี้ว่า ‘Perry Pen’ หลังจากนั้นเมื่อพ่อของเขาเสียชีวิต สตีเฟนก็เข้ามารับช่วงต่อและขยายสายการผลิตมาที่การผลิตหนังยาง จนได้รับสิทธิบัตรในที่สุด

แล้วจริงๆ ใครคือคนคิดค้นต้นตำรับหนังยางคนแรกกันแน่ ระหว่าง ชาลส์ กู๊ดเยียร์, โทมัส แฮนค็อก หรือสตีเฟน เพอร์รี่

คำตอบคือ ผิดทุกข้อ

สูตรลับตำรับชนเผ่า

เพิ่งมีการค้นพบไม่นานนี้เองว่า ชาวเมโสอเมริกัน ซึ่งได้แก่ ชนเผ่า แอซเทก โอลแมก และมายัน ได้คิดค้นยางธรรมชาติเพื่อใช้รัดสิ่งของต่างๆ มานานหลายพันปีแล้ว 

พวกเขาใช้น้ำยางพาราผสมกับน้ำจากต้น Morning Glory เพื่อทำให้ยางนั้นแข็งตัว แล้วเอามาทำรองเท้า จนไปถึงเครื่องประดับต่างๆ ซึ่งการทำให้ยางมีสภาพเหนียวและแข็งตัวของชาวพื้นเมืองเหล่านี้ คล้ายกับกระบวนการ Vulcanised ของนายกู๊ดเยียร์มากถึงมากที่สุด

เสาะหาบิดาของ ‘หนังยางวง’ วัตถุเหนียวยืดที่มัด รัด ห่อ และยึดโยงโลกทั้งใบไว้ด้วยกัน
Charles Nelson Goodyear กับห้องทดลองของเขา

เมื่อนักสำรวจชาวสเปนเข้าไปค้นพบชนเผ่าเหล่านี้ใน ค.ศ. 1600 พวกเขาจึงเริ่มทราบความเจ๋งและอรรถประโยชน์ของยางยืดเหล่านี้ หลังจากนั้นเมื่อนักสำรวจชาวฝรั่งเศสเข้าไปเจอยางอีกครั้งใน ค.ศ. 1740 ก็จึงตั้งชื่อมันว่า Caoutchouc ซึ่งเทียบได้กับคำว่า Latex ในภาษาอังกฤษ 

แต่แม้กระทั่งนักสำรวจชาวฝรั่งเศสเอง ก็ไม่รู้ว่าส่วนผสมลับข้างในนั้น มันมีอะไรบ้าง 

คำว่า Rubber หรือยางนั้น จริงๆ มาถูกตั้งตอน ค.ศ. 1770 เมื่อนักเคมีชาวอังกฤษ โจเซฟ พริสต์ลีย์ (Joseph Priestley) (ผู้ซึ่งมีประวัติน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเขาคือคนค้นพบ Oxygen) เขาเจอว่าไอ้เจ้ายางนี้มันใช้ลบรอยดินสอได้ จึงเรียกมันว่า Rubber หรือแปลทื่อๆ แต่เท่เป็นไทยว่า ‘นักลบ’ หรือสิ่งที่เอาไว้ใช้ลบ (ยางลบ) ตั้งแต่ปลายช่วง ค.ศ. 1800 เป็นต้นมา ยางจึงถูกเรียกว่า Rubber ง่ายๆ เช่นนั้น

ศึกรบแย่งยาง

ใน ค.ศ. 1819 โทมัส แฮนค็อก ชาวอังกฤษ กำลังช่วยพี่ชายหาวิธีทำยังไงก็ได้ให้ลูกค้าของพวกเขาเดินทางไปไหนมาไหนโดยไม่เปียก เขาจึงเริ่มหันมาสนใจยางเพื่อเคลือบกันน้ำ ทั้งถุงมือ รองเท้า และถุงเท้า หลังจากนั้น เมื่อเขาเริ่มใช้ยางในกระบวนการผลิตมากยิ่งขึ้นเท่าไหร่ ยางที่เป็นของเหลือในโรงงานก็กองพะเนิน เหลือทิ้งมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

โทมัสจึงคิดค้นเครื่องที่ฉีกเศษยางออกเป็นส่วนๆ แล้วก็เอาเศษชิ้นเล็กๆ นั้นไปอัดรวมกัน แล้วพิมพ์ใส่แม่พิมพ์เป็นรูปร่างอะไรก็ได้ที่เขาต้องการ

หนึ่งในแม่พิมพ์ที่เขาเคยทำคือท่อวงกลม คล้ายคลึงกับยางวงเป๊ะๆ แต่ตัวเขานั้นยังไม่ได้ตีฆ้องร้องป่าว ทำการตลาดให้กับสิ่งประดิษฐ์นี้ใดๆ ประกอบกับตอนนั้นยังไม่มีเทคนิค Valcanised ยางวงที่เขาคิดจึง ‘เดี๋ยวก็แข็ง เดี๋ยวก็อ่อน’ ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิในแต่ละวัน ตัวเขาจึงไม่ได้คิดว่าจะจดสิทธิบัตรใดๆ โดยกะว่าจะเก็บกระบวนการเหล่านี้ให้เป็นความลับของโรงงานก็เท่านั้น ซึ่งนั่นเอง คือความผิดพลาดครั้งใหญ่หลวง

โทมัสเก็บงำความลับของเขากับไอ้เจ้าเครื่องฉีดเศษยางนี้ไว้หลายสิบปี จนเขาเริ่มพัฒนาเทคนิคในการผลิตสินค้าจากยางออกมาได้มากมาย และครองตลาดได้อย่างโดดเด่นเป็นเวลาเกือบ 20 ปี

จนกระทั่งคู่อริตลอดการของเขา โผล่มาในโลกของยางในที่สุด

เสาะหาบิดาของ ‘หนังยางวง’ วัตถุเหนียวยืดที่มัด รัด ห่อ และยึดโยงโลกทั้งใบไว้ด้วยกัน
กระบวนการ Volcanisation ยางนี้ใช้กับอุตสาหกรรมยางรถยนต์เช่นกัน

การคิดค้นจากคนคุก

ใน ค.ศ. 1833 ชาลส์ กู๊ดเยียร์ ติดคุกเพราะว่าไม่ยอมจ่ายหนี้ และในคุกนี่เอง ที่เขาพยายามทดลองทำงานกับยางอินเดีย (อย่าถามผู้เขียนว่า ทำไม อย่างไร เดาได้แค่ว่าคนคุกคงจะมีเวลาว่างเยอะมาก) หลังจากนั้นอีกหลายปี หลังจากที่เขาพ้นโทษ เขากับเพื่อนนักเคมีจึงช่วยกันคิดค้นเทคนิค Valcanised ยางขึ้น ด้วยการผสมกำมะถันเข้าไปในกระบวนการทำความร้อน เพื่อให้ยางมีความแข็งอยู่ตัวแต่ยังเหนียวอยู่ ซึ่งพวกเขาทั้งสองคนก็ใช้เวลาพัฒนาอยู่หลายปีจนเทคนิคสมบูรณ์แบบ

ชาลส์ กู๊ดเยียร์ ร้องยูเรก้า และตระเวนจดสิทธิบัตรทั่วอเมริกา หลังจากนั้นจึงเริ่มข้ามน้ำข้ามสมุทรไปทวีปอังกฤษ หวังจะจดสิทธิบัตรที่นั่นด้วย และก็ได้ค้นพบว่าไม่สามารถทำได้ เพราะสิทธิบัตรนี้โดน โทมัส แฮนค็อก ปาดหน้าเค้กไปเรียบร้อยแล้ว

ใครกันแน่คือพ่อของยาง

ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างกู๊ดเยียร์และแฮนค็อก ก็คือเรื่องของการ Valcanisation ว่า ตกลงแล้วใครคือคนแรกที่คิดค้นสิ่งนี้ขึ้นกันแน่ บ้างก็ว่าแฮนค็อกแอบซื้อตัวอย่างของกู๊ดเยียร์ แล้วไปดัดแปลงวิธีการเล็กน้อย

ที่แน่ๆ คือ การปาดหน้าเค้กครั้งนี้ทำให้ ชาลส์ กู๊ดเยียร์ ไม่สามารถจดสิทธิบัตรในประเทศอังกฤษ และสุดท้าย ผู้ชนะของสงครามการทำให้ยางแข็งแต่ยืดหยุ่นนี้ ได้แก่ แฮนค็อก ซึ่งถือเป็นการปาดหน้าเค้กราคาแพงมหาศาลสำหรับกู๊ดเยียร์ ซึ่งจริงๆ แล้วหวังจะได้ค่าลิขสิทธ์จากทั้งแฮนค็อกและผู้นำในอุตสาหกรรมยางคนอื่นๆ ด้วยซ้ำ

เรื่องเศร้าของบทเรียนครั้งนี้ คือ  ชาลส์ กู๊ดเยียร์ เสียชีวิตใน ค.ศ. 1860 หลังจากที่ทราบข่าวการเสียชีวิตของลูกสาวของเขาเอง และมีหนี้สินท่วมท้นทิ้งไว้ให้ญาติจำนวนกว่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐ

ถึงแม้ว่า ชัยชนะของสิทธิบัตรการ Valcanisation ยาง จะตกเป็นของแฮนค็อก แต่ตัวเขาเองก็ยังไม่สิ้นพ้นเวรกรรม เนื่องจากคู่อริคนใหม่ ซึ่งได้แก่ นาย สตีเฟน เพอร์รี่ ผู้ซึ่งแม้แต่ Google ก็ไม่รู้ว่าขี้หน้าค่าตาของเขาเป็นอย่างไร ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น

เสาะหาบิดาของ ‘หนังยางวง’ วัตถุเหนียวยืดที่มัด รัด ห่อ และยึดโยงโลกทั้งใบไว้ด้วยกัน
หมากเก็บยางวงหลากสีสัน ที่ใครจะไปเชื่อว่าประวัติศาสตร์ของมันนั้นเข้มข้นกว่าที่คิด

หลังจากที่ สตีเฟน เพอร์รี่ จดสิทธิบัตรยางวง หนังยาง หนังสติก ได้สำเร็จ โลกของการมัด ห่อ รัด ของ ก็ตกเป็นของเขาอย่างสมบูรณ์ในที่สุด

มัดโลกทั้งใบ ไว้ด้วยกัน

สรุปว่าพ่อของหนังยางนั้นมีหลายคน ตั้งแต่ชนเผ่าแอซเทก มายัน จวบจนนักท่องมหาสมุทรชาวฝรั่งเศส นักเคมีชาวอังกฤษ และนักธุรกิจ นักคิดค้น อีกหลายต่อหลายคน ที่ล้วนแต่มีบทบาทสำคัญในการคิดวัตถุปลายตาอย่างหนังยาง ชิ้นเล็กๆ ที่แค่มอง เราก็จะเห็นมันอยู่ใกล้ๆ ตัวได้ไม่ยาก

ปัจจุบันนี้ อุตสาหกรรมหนังยางนั้นถูกครอบครองและชี้นำด้วยนาย วิลเลียม สเปนเซอร์ (William Spencer) ผู้ก่อตั้งสมาพันธ์ยางจำกัด หรือ Alliance Rubber Company ในสหรัฐอเมริกา และถือเป็นผู้ผลิตหนังยางรายใหญ่ที่สุดของโลก

หนึ่งในสโลแกนบริษัทของเขาก็คือ “Holding your World together” หรือแปลเป็นไทยสวยๆ ว่า “มัดโลกของคุณไว้ด้วยกัน” ซึ่งในวันที่โลกและสังคมถูก Polarized หรือแบ่งออกเป็นฝ่ายๆ นั้น ผู้เขียนแอบอดคิดไม่ได้ว่า ต้องใช้หนังยาง เหนียว ยืด ใหญ่ ขนาดไหน ถึงจะมัดคนทั้งโลกรวมไว้ด้วยกันได้

การเมือง เศรษฐกิจ และขั้วความคิดที่หลากหลายของโลกปัจจุบันนั้นชวนให้หวั่นใจ และวันนี้เราทุกคนเองก็ยังไม่รู้ว่า แสงสว่างที่ปลายถ้ำ จะสาดส่องมาวันไหน และแน่นอนว่า การเป็นคนแรก คนถางหญ้า หรือคนที่ลุกขึ้นมาสร้างสิ่งใหม่ๆ ต่อสู้ในความคิด ความเชื่อ ของตัวเองนั้นยากเสมอ

ถึงกระนั้น ถ้าผู้เขียนจะต้องจบบทความนี้แบบ ‘ฟีลกู้ด’ ก็คงจะต้องหยิบยกคำพูดของ ชาลส์​ กู๊ดเยียร์ ในวันที่เขา พ่ายแพ้ ติดหนี้ติดสินทุกอย่าง จากการไม่สามารถเคลมความเป็นผู้ให้กำเนิดหนังยางได้อย่างที่เขาควรจะเป็น 

“In reflecting upon the past, as relates to these branches of industry, the writer is not disposed to repine, and say that he has planted, and others have gathered the fruits. The advantages of a career in life should not be estimated exclusively by the standard of dollars and cents, as is too often done. Man has just cause for regret when he sows and no one reaps.”

“หากเราต้องมองย้อนกลับไปในอดีต เพื่อค้นหาแง่มุมต่างๆ ของอุตสาหกรรมและวงการนี้ ‘ผู้นำ’ ไม่ควรคิดเสียใจที่ผลไม้ของการเพาะหว่านของเขานั้นถูกเก็บเกี่ยวด้วยฝีมือคนอื่น ความภาคภูมิใจแห่งอาชีพของนักเพาะหว่านนั้น ไม่ควรถูกตัดสินด้วยความสำเร็จของเบี้ย สิน เงิน ทอง อย่างที่มันมักจะเกิดขึ้น หากแต่เขาผู้นั้น ควรจะเสียใจซะด้วยซ้ำ หากผลผลิตที่เขาลงมือเพาะหว่านเองนั้นงอกเงย แต่ไม่มีใครเก็บเกี่ยวมันต่างหาก”

ข้อมูลอ้างอิง

www. Gizmodo.com

www.k-online.com

Writer

Avatar

ศรัณย์ เย็นปัญญา

นักเล่าเรื่อง ผู้ร่วมก่อตั้ง 56thStudio ที่รักในความเป็นคนชายขอบ หมารองบ่อน และใช้ชีวิตอยู่ตรงตะเข็บชายแดนของรสนิยมที่ดีและไม่ดีอย่างภาคภูมิมาตลอด 35 ปี ชอบสะสมเก้าอี้ ของเล่นพลาสติก และเชื่อในพลังการสื่อสารของงานออกแบบและงานศิลปะ