“ยากจังเลย ผมค่อนข้างต่อต้านคำว่า ‘ศิลปิน’ นะ เพราะสำหรับผม คำนี้หมายถึงผู้สร้างสรรค์งานศิลปะที่ทำให้คนมีจิตใจสว่างไสว นำไปสู่การตื่นรู้อะไรบางอย่าง แต่ผมไม่ใช่เลยสักนิด”

โจ้-เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล คู่สนทนาของเราคราวนี้รีบตอบทันควัน เมื่อเราชวนเขาย้อนมองถึงนิยามของตัวเอง

เขาคือคนทำงานศิลปะร่วมสมัย ผู้หยิบปัญหาสิ่งแวดล้อมมาสร้างสรรค์งานศิลปะ ผู้นำหนอนแมลงวันมาทำงานจนถูกแบนจากแกลเลอรี่ไปพักใหญ่ๆ และผู้มีผลงานชื่อดังไปอวดโฉมชาวโลกถึงประเทศเบลเยียม

โจ้ เรืองศักดิ์ ศิลปิน ‘นักสะสมหายนะ’ ผู้นำหนอน กระดูกหมา และต้นแมนเดรก มาทำงานศิลปะ

“แนวทางของผมเป็นการควานหาสิ่งซึ่งถูกซ่อนไว้ใต้พรมให้เจอ แล้วนำมาเปิดเผย เพื่อชี้ให้เห็นปัญหามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

“คนเอเชียมักซ่อนภาพไม่เหมาะสมเอาไว้ แต่การทำความเข้าใจปัญหา ต้องอาศัยการซื่อสัตย์ต่อความจริง ซึ่งเป็นหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ขัดกับธรรมเนียมปฏิบัติ หากพรีเซนต์แต่ภาพสวยงาม แล้วซ่อนความเลวร้ายไว้ตลอดเวลา สังคมจะเดินต่อไปอย่างไร เราต้องรู้ต้นตอของปัญหา ตระหนักว่าถนนของเรามีอุปสรรคขวากหนามอยู่ ไม่ใช่มองขึ้นฟ้า เห็นว่าสวยดี แล้วเดินต่อไปโดยไม่รู้ว่าข้างหน้าคือเหว”

ก่อนจะแหงนหน้ามองฟ้า ดื่มด่ำความงามของผืนนภาสีครามสด เราขอชวนคุณผู้อ่านก้มหน้าสู่ดิน ค้อมหลังฟังเสียงสารพันปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เรืองศักดิ์นำมาสร้างสรรค์งานศิลปะ

ตั้งแต่สิงสาราสัตว์ที่เกือบสิ้นวงศ์พงศาเพราะน้ำมือมนุษย์ ความรุนแรงอันแสนอยุติธรรมต่อสัตว์เลี้ยงผู้ซื่อสัตย์ น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ใครก็เอาไม่อยู่ มหาธุลีพิบัติภัย PM 2.5 ซึ่งแวะเวียนเยี่ยมเยียนเราทุกฤดูหนาว ไปจนถึง Reincarnation III – Ecologies of Life นิทรรศการเสียงกระซิบจากสัตว์สูญพันธุ์ ที่เพิ่งจัดแสดงไปเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา

โจ้ เรืองศักดิ์ ศิลปิน ‘นักสะสมหายนะ’ ผู้นำหนอน กระดูกหมา และต้นแมนเดรก มาทำงานศิลปะ

01 “ผมเคยเชื่อในระบบ”

หลังจากถามไถ่สารทุกข์สุขดิบของศิลปินนักอนุรักษ์ ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดซึ่งนับวันยิ่งไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น เราเริ่มต้นบทสนทนาอย่างเป็นทางการด้วยการถามทวนต่อจากบทสนทนาตอนต้น

คุณมองตัวเองคือผู้เปิดเผยขยะใต้พรม ?

“พยายามเป็น ก่อนหน้านี้ผมเคยเชื่อในระบบเหมือนกัน คือเชื่อว่าทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างไหลลื่นตามระบบที่วางไว้ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมมีระบบจัดการสารพิษ ขยะได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ไม่หลุดรอดไปสู่ที่ต่างๆ สัตว์เลี้ยงของมนุษย์ไม่ได้ถูกขโมยมาจากธรรมชาติ 

“แต่เราต่างรับรู้กันดีว่าอุตสาหกรรมทิ้งสารพิษออกมาเยอะแยะ ขยะหลุดรอดไปในสิ่งแวดล้อมมากมาย สัตว์ในจตุจักรไม่น้อยถูกลักลอบนำเข้ามาแบบผิดกฎหมาย เรากลับเลือกจะไม่มอง แต่ซ่อนไว้เพราะเหนียมอายต่อความจริง”

“ผมจึงเลิกเชื่อในระบบ” น้ำเสียงหนักแน่นแต่เรียบนิ่ง

โจ้ เรืองศักดิ์ ศิลปิน ‘นักสะสมหายนะ’ ผู้นำหนอน กระดูกหมา และต้นแมนเดรก มาทำงานศิลปะ

ก่อนเล่าเหตุผลตอกย้ำความไม่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพของระบบ ที่มาจากเหตุการณ์อุบัติเหตุรถไฟตกรางในสเปน เพราะระบบเศรษฐกิจตกต่ำในช่วง Hamburger Crisis ทำให้ต้องลดการดูแลรักษาลง รถไฟซึ่งควรจะเลี้ยวโค้งไปดีๆ จึงตกราง และเหตุการณ์สะพานขนาดใหญ่ในอิตาลีพังถล่มลงมา เพราะไม่ได้รับการดูแลรักษามากว่า 20 ปี

“ผมตั้งคำถามว่า เราจะเชื่อในระบบต่างๆ อย่างหมดสิ้นหมดใจไปถึงร้อยปีพันปีได้อย่างไร ในเมื่อทุกอย่างเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จะรู้ได้อย่างไรว่ามันหมดสภาพไปแล้ว หากรัฐยิ่งซุกซ่อนอะไรไว้ ก็จะยิ่งเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้นอีก”

หลังจาก ‘เลิกเชื่อในระบบ’ โจ้จึงเริ่มภารกิจแสวงหาทุกปัญหาที่มนุษย์กระทำต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหาญกล้า แต่กลับซุกซ่อนไว้เพราะขวยเขินหน้าบาง และนำมาดัดแปลงเป็นงานศิลปะ

“การเคลื่อนไหวนี้กระตุ้นให้ผมออกมาทำงานขุดคุ้ยเผยแผ่ แล้วผมเชื่อในงานศิลปะยุคใหม่ ซึ่งแม้มีความขัดแย้งในตัวมันสูง แต่ยังประนีประนอม เปิดโอกาสให้คนวิพากษ์วิจารณ์เพื่อคิดหาแง่มุมใหม่จากมันซ้ำไปซ้ำมาได้เสมอ”

โจ้ เรืองศักดิ์ ศิลปิน ‘นักสะสมหายนะ’ ผู้นำหนอน กระดูกหมา และต้นแมนเดรก มาทำงานศิลปะ

02 “ทำไมเราต้องทำงานเพนต์อยู่”

เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล เรียนจบด้านศิลปะโดยตรงจากรั้วเพาะช่าง ทักษะการสร้างสรรค์จึงไม่ใช่ข้อกังขาเคลือบแคลง แต่ความน่าสนใจคือรูปแบบการทำงานซึ่งก้าวออกนอกขนบ ผิดแผกไปจากเพื่อนศิลปินรุ่นเดียวกัน

เช่นคราวหนึ่งเมื่อครั้งเป็นนักเรียน เขานำเวชภัณฑ์และเศษอาหารเหลือใช้มาบรรจุลงในหลอดแก้ว สร้างเป็นงานศิลปะจัดวาง ปรากฏว่าผลงานชิ้นนั้นเป็นแกะดำของงาน เพราะบรรดามิตรสหายต่างขุดกลเม็ดเด็ดพรายขึ้นมาทำจิตรกรรมประกวดประขันกัน เขาจึงเจียมตัวเองดีว่าแนวทางของตนเป็น ‘ตัวประหลาด’ ของวงการ

“ผมเคยตั้งคำถามว่า ‘ทำไมเราต้องทำงานเพนต์อยู่’

“คำตอบคลิเช่มาก โลกทุกวันนี้มีเทคโนโลยีมากมาย ภาพถ่ายก็เคลื่อนไหวเป็นวิดีโอได้แล้ว ในเมื่อมันมีของจริงแบบสามมิติ แสดงร่อยรอยเรื่องราวทุกอย่างซึ่งแปดเปื้อนไว้ได้ด้วยตัวเองอยู่ ทำไมไม่เอามาใช้เลยล่ะ จะเพนต์เพื่อชักจูงให้คนเชื่อว่าสิ่งตรงหน้าสร้างความรู้สึกนึกคิดได้จริงทำไม

“ตอนแรกๆ ก็ยังไม่เคลียร์ว่าจะเป็นงานศิลปะได้อย่างไร แต่พอเห็นศิลปินชาวฝรั่งเศสตระเวนเก็บขยะตลอดสองปีเพื่อทำงานศิลปะ แล้วมันก็เป็นศิลปะได้จริง จึงรู้ว่าเป็นไปได้ นั่นคือเมื่อสามสิบปีก่อน สมัยที่เพื่อนผมยังเพนต์กันอยู่เลย”

โจ้สะสมความสนใจข้อนี้ไว้เป็นเหมือนปุ๋ยยา เสริมความเชื่อของตนให้อุดมสมบูรณ์ จนผลิดอกออกผลมาเป็นนิทรรศการ Metamorphosis ศิลปะจัดวางของเขาครั้งแรกที่ Siam Art Museum เมื่อ ค.ศ. 2001

“ผมเล่นเรื่องกระบวนการแปรสัณฐาน เปรียบเทียบระหว่างหนอนผีเสื้อซึ่งดูเป็นกระบวนการเติบโตอันงดงาม กับหนอนแมลงวันซึ่งดูน่ารังเกียจ เอาของจริงมาวางในแท่นคู่กัน เพื่อให้ผู้ชมสำรวจดูความรู้สึกของตัวเองต่อสัตว์ทั้งสองชนิด

“แต่ก็ต้องปิดตัวลงก่อนโปรเจกต์นั้นจบ เพราะเจ้าของรู้สึกว่ากลิ่นของหนอนแมลงวันกินเนื้อเน่ารบกวนผู้ชมมากจนคนไม่มา เลยมีช่วงสั้นๆ ที่ผมเหมือนถูกแบนจากบรรดาแกลเลอรี่ ว่าอย่าไปชวนไอ้นี่มาโชว์นะ เดี๋ยวแกลเลอรี่เสียชื่อ”

โจ้ เรืองศักดิ์ ศิลปิน ‘นักสะสมหายนะ’ ผู้นำหนอน กระดูกหมา และต้นแมนเดรก มาทำงานศิลปะ

เขาเล่าความหลังพลางหัวเราะ ใช้ความตลกขบขันกำบังบทเรียนชีวิตครั้งสำคัญบนถนนสายศิลปิน ก่อนขยายความถึงกลวิธีสร้างสรรค์งานศิลปะสุดเจ๋งจากเพื่อนร่วมวงการต่างชาติที่เจ้าตัวประทับใจ

“อย่างศิลปินชาวดัตช์ชื่อ Startel เขาทำห้องมืด ขนาดประมาณสี่สิบตารางเมตร ที่มีแต่หนอนแมลงวันคลานยั้วเยี้ยเป็นล้านตัว ใช้ไมโครโฟนจับเสียงการเคลื่อนไหวเบาๆ แล้วขยายเสียงผ่านลำโพง ซึ่งส่องแสงอัลตราไวโอเลตจากข้างบนลงมา รับกับสเต็ปทางเดิน เข้ามาตอนแรกจะมองไม่เห็นว่าพื้นเป็นอะไร แต่พอตาเริ่มชินกับห้องมืด จะเห็นว่าพื้นห้องทั้งหมดเต็มไปด้วยหนอนแมลงวันที่ยังมีชีวิต นั่นคือความสุดของศิลปิน

“คิวเรเตอร์งานนั้นหมกมุ่นกับเรื่องสภาวะการมีชีวิตของสิ่งที่ตายไปแล้วมากๆ ครั้งหนึ่งเขาหยิบเอาปรากฏการณ์ Electrochemical Cell คือชิ้นส่วนที่ตายไปแล้ว แต่ยังมีปฏิกิริยาเคมีและไฟฟ้าอยู่เล็กน้อยมาเป็นมุกในงาน พอดีเพื่อนเขานิ้วขาด จึงเอามาแช่ในฟอร์มาลีน แล้วใช้แอมป์มิเตอร์เสียบเข้าไป ใช้คอมพิวเตอร์แปลงกระแสไฟฟ้า ซึ่งยังหลงเหลืออยู่เป็นคลื่นเสียงหอนออกมาจากลำโพง ราวกับว่านิ้วนั้นยังมีชีวิตอยู่

“หรือมีศิลปินอีกคนหนึ่ง เอาเศษกระดูกวัวเป็นตันๆ จากโรงเชือดมากองพะเนิน แล้วปล่อยให้มันเน่า แต่ดินที่เบลเยียมมีแบคทีเรีย ซึ่งเปลี่ยนไขมันในกระดูกเป็นสีม่วง ฉะนั้น งานจะค่อยๆ เปลี่ยนจากสีเลือดเป็นสีม่วง ดูสวยและน่ากลัวในคราวเดียวกัน”

ประสบการณ์ล้ำค่าจากการได้ออกไปปฏิสัมพันธ์กับแวดวงศิลปะต่างประเทศ ตีเปิดเพดานความคิดให้กว้างขวางออกอย่างไปไม่จำกัด วิสัยทัศน์ของเรืองศักดิ์แผ่ขยายไพศาล จนพบว่าผลงานตัวเองเป็นเพียงเศษเสี้ยวกระผีกริ้นแห่งความเป็นไปได้ทั้งหมด ตราบเท่าที่ ‘ศิลปะ’ อนุญาต

03 “ความซับซ้อนของวิทยาศาสตร์คืองานศิลปะ”

“ประเด็นคือ ผมมองว่าทำไมจะ ‘ไม่’ ล่ะ” โจ้อธิบายถึงสาเหตุที่หยิบเอาประเด็นทางวิทยาศาสตร์มาทำงานศิลปะ

“ในเมื่อโลกกำลังเปลี่ยนไปสู่จุดที่เริ่มพูดถึงความจริงมากขึ้น และความจริงนั้นไม่ใช่ด้านแห้งแล้ง เราเจอวิทยาศาสตร์แห้งแล้งกันมาตลอด คือไม่มีความเป็นมนุษย์ วิชาการจ๋า

“เช่น พอบอกว่ายุงชนิดนี้อยู่ตามแหล่งน้ำ ก็จะเจอแต่จำนวนของยุง สารเคมีในน้ำ เป็นข้อมูลซึ่งคนทั่วไปบอกว่า ‘ตายดีกว่า’ ถ้าเชื่อมโยงให้เห็นความซับซ้อนของระบบนิเวศ ยุงชนิดนี้คืออาหารของปลาชนิดนั้น ปลาชนิดนั้นก่อให้เกิดอย่างนี้ๆ คนจะรู้สึกว่ามันมีพลวัตร แล้วจะไม่เห็นวิทยาศาสตร์ด้านเดียวอีกต่อไป แต่จะเห็นวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อนมากขึ้น และสำหรับผม ความซับซ้อนของวิทยาศาสตร์คืองานศิลปะ

“ผมแค่จับบางแง่มุมขึ้นมาสื่อสารเพื่อให้เชื่อมโยงกับคนเท่านั้น” 

เรืองศักดิ์ส่งแววตามุ่งมั่นผ่านกล้องอย่างแจ่มชัดตลอดการตอบคำถาม จนเราสนิทใจในแนวทางของเขา

สนทนากับ โจ้-เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล นักสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านศิลปะ ถึงการผสานโลกวิทย์กับศิลป์เข้าด้วยกัน

04 ประเด็นที่รู้สึกว่าเป็นประเด็น

เรื่องวิทยาศาสตร์มีเหลี่ยมมุมนับแสนล้านให้เลือกเล่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พร้อมได้รับการเปิดเผยก็มีอีกนับโกฏิพัน กฎเกณฑ์ในใจของเรืองศักดิ์ในการเลือกประเด็นมาทำงานคือ “ต้องเป็นประเด็นที่รู้สึกว่าเป็นประเด็นก่อน”

“บางทีเห็นว่าเป็นข่าวใหญ่ ส่งผลกระทบต่อสังคมวงกว้าง แต่ดันอยู่ไกลมาก เช่น การฆ่าวาฬในฟินแลนด์หรือเดนมาร์ก การฆ่าหมีขั้วโลก หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล พวกนี้เป็นประเด็นนะ แต่ผมยังไปไม่ได้ไง แต่อย่างตอนน้ำท่วม พ.ศ. 2554 บ้ามผมอยู่รังสิต ได้รับผลกระทบเต็มๆ หลังจากอพยพครอบครัวไปอยู่ที่อื่น เลยคิดทำโปรเจกต์ขึ้นด้วยไอเดียคือการเก็บตัวอย่างน้ำให้ได้มากที่สุด นี่ก็เป็นเรื่องที่รู้สึกว่าเป็นประเด็นและใกล้ตัว”

เรืองศักด์ยกตัวอย่างขยายความ ก่อนเล่าถึงโปรเจกต์นั้นต่อว่า การเข้าไปเก็บข้อมูลครั้งนั้น สะท้อนมุมมองทางการเมืองบางอย่าง

“การเข้าไปในพื้นที่ยากมาก นั่งแท็กซี่ไปก็ได้แค่ดรอปไว้ตรงโทลเวย์ ต้องเดินเท้าเข้าไปเอง บางพื้นที่ก็ต้องให้ทหารที่เข้าไปได้ช่วยเก็บมาให้ บางครั้งก็วานเพื่อนจากเขตต่างๆ ช่วยเก็บ จนได้ภาพเปรียบเทียบชัดเจนว่า รอบๆ กรุงเทพฯ นี่น้ำท่วมเละเลย แต่ใจกลางเมืองท่วมแค่สิบห้าเซนติเมตรเอง”

การนำ ‘ของจริง’ มาใช้ทำงานศิลปะ ไม่ว่าจะ ‘จริงมาก’ -หยิบมาใช้โต้งๆ ปราศจากการแปลงโฉม หรือ ‘จริงน้อย’ -พลิกแพลงเปลี่ยนฟอร์มให้ซับซ่อนขึ้นหน่อย ก็ล้วนเป็นเอกลักษณ์ข้อหนึ่งที่ประกอบในผลงานของเขาทุกชิ้น

“ผมมองว่าวัตถุจริงในพื้นที่นั้นๆ พูดแต่ละประเด็นด้วยตัวมันเองได้อย่างครบถ้วน อย่างกรณีน้ำท่วม ผมอาจเก็บเสาไฟที่มีคราบน้ำท่วมก็ได้ ซึ่งชัดเจนกว่าตัวอย่างน้ำในหลอดแก้วด้วยซ้ำ แต่ผมไม่มีอำนาจขนาดนั้นไง

“ผมนิยามมันว่าเป็นการเก็บหลักฐาน ไม่ใช่ในรูปแบบวิทยาศาสตร์ แต่เป็นรูปแบบของงานศิลปะ เพราะฉะนั้น มันจึงเปลี่ยนแปลงประเด็นในการสื่อสารไปได้อย่างไหลลื่น ขึ้นอยู่กับว่ามีปัจจัยหรือประเด็นอะไรในช่วงนั้นๆ”

แต่การเอาของจริงมาใช้ ทำให้งานของคุณดูจะเป็นปัญหาทุกครั้งที่ไปจัดแสดง-เราว่า

“ใช่” เขาลากเสียงพยางค์ขานรับยาวขึ้นนิด พร้อมพยักหน้าเห็นด้วยสองสามครั้ง

“เพราะว่ามันจริงเกินไป แต่นี่คือวิทยาศาสตร์ของชิ้นงานที่ไม่มีข้อต่อรอง บิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และเชิงกายภาพไม่ได้ ผมอยากแสดงความประทับใจเชิงอารมณ์ สะเทือนอารมณ์ของผู้ชมให้ตระหนักถึงปัญหา”

05 แจ้งเกิด

หมุดหมายแรกที่แจ้งเกิดให้เรืองศักดิ์เป็นที่รู้จักในวงการศิลปะระดับนานาชาติ คือผลงานศิลปะจัดวางชุด ‘Revenge’ เมื่อ ค.ศ. 2006 เขาหอบเอาเศษกระดูกสุนัข 5 ตัว ซึ่งตายอย่างอยุติธรรม ไร้ความปรานีจากเจ้านาย ไปแสดงที่เบลเยียม จัดแจงให้อยู่ในท่วงท่าเกรี้ยวกราดดุร้าย แสดงอากัปกิริยาไม่เป็นมิตร เพื่อแก้แค้นต่อความโหดเหี้ยมที่พวกมันถูกกระทำ

สนทนากับ โจ้-เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล นักสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านศิลปะ ถึงการผสานโลกวิทย์กับศิลป์เข้าด้วยกัน
สนทนากับ โจ้-เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล นักสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านศิลปะ ถึงการผสานโลกวิทย์กับศิลป์เข้าด้วยกัน
ภาพ : เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล

สุนัขแช่แข็งในโรงพยาบาลสัตว์ที่เขาขอมาใช้ทำงานศิลปะชิ้นนี้ ต่างมีเบื้องหลังแสนอดสู บางตัวถูกเจ้าของวางยาเบื่อเพราะจะย้ายไปอเมริกา และพามาทิ้งไว้อย่างไร้วี่แวว บางตัวตัวโดนรถชน มีพลเมืองดีเก็บมาส่งโรงพยาบาล แต่พอรู้ว่าตายก็ทิ้งไว้อย่างนั้น

“จะเห็นว่าในงานเดียว เราเจอสองประเด็นซ้อนกันอยู่อย่างแนบเนียน เห็นความอำมหิตของเจ้าของสัตว์ และความใจดีมีเมตตาแต่ไม่สุดของมนุษย์อยู่”

ผลงานอันแยบคายชุดนี้เปิดประตูแห่งโอกาสให้กว้างออก อ้ารับโอกาสครั้งสำคัญในชีวิต

“ปีต่อมาผมได้รับการติดต่อให้ไปร่วมแสดงในนิทรรศการเปิดตัวพิพิธภัณฑ์ใหม่ในเบลเยียม จึงเริ่มคิดทำ Ash Heart Project ขึ้น รับกับคอนเซ็ปต์งานที่เกี่ยวข้องกับด้านชีววิทยา”

เขาเริ่มเล่าที่มาที่ไปของโปรเจกต์อันน่าทึ่ง เป็นการหล่อประติมากรรมหัวใจขึ้นจากเศษขี้เถ้า ซึ่งได้จากการเผาพืชและสัตว์หลายร้อยสปีชีส์ที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของมนุษย์ ประสานพลังจัดเรียงไว้ด้วยกันเพื่อชี้ให้เห็นความหลากหลายและความสำคัญของสิ่งมีชีวิตแต่ละสายพันธุ์

สนทนากับ โจ้-เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล นักสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านศิลปะ ถึงการผสานโลกวิทย์กับศิลป์เข้าด้วยกัน
ภาพ : เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล

“ตั้งแต่ต้นไม้ถูกโค่น ปลาตายจากสารปนเปื้อน นกฮูกโดนรถขยี้ตายบนถนน กะโหลกหมี ขาหน้าช้าง สัตว์ป่าหายากซึ่งถูกใช้เป็นยา อาจารย์สัตวแพทย์ส่งงูเหลือมพม่าที่ชาวบ้านตีตายในนครสวรรค์มาให้ เพื่อนซึ่งกำลังทำวิจัยด้านยุงส่งยุงลายมาให้หมื่นตัว ตอนนั้นตู้เย็นเหม็นเน่ามาก ผมเผาพืชและสัตว์กว่า 271 ชนิด ทุกวันตลอดสี่เดือน เป็นคนก่อ PM 2.5 มากที่สุดในช่วงเวลาหนึ่งเลย” ศิลปินเผยเบื้องหลังแสนทรหดผ่านน้ำเสียงจริงจังปนหัวเราะ

Ash Heart Project บินลัดฟ้าจากเบลเยียม แวะจัดแสดงต่อที่สิงคโปร์ช่วงสั้นๆ กับตรงดิ่งกลับมาตุภูมิ การเดินทางนี้เป็นเสมือนเส้นทางการเติบโตของผลงาน ที่เมื่อผลัดเปลี่ยนที่ตั้งและกลุ่มผู้ชม ก็สำแดงแง่มุมใหม่ๆ ออกมาให้ศิลปินผู้สร้างสรรค์และคิวเรเตอร์ได้ว้าวอยู่เสมอ

“พอไปแสดงที่สิงคโปร์ มันมีประเด็นอย่างหนึ่งผุดออกมา คือ Taboo (สิ่งต้องห้าม) ของคนเอเชีย พอเขารู้ว่าทำขึ้นจากขี้เถ้าจากการเผาสัตว์จริงก็จะถอยหลังหนีทันที เพราะช่วงนั้นตรุษจีน เขาถือว่าเป็นโชคร้าย ไม่ควรเข้าใกล้หรือแตะต้อง ถึงขนาดมีผู้ชมคนหนึ่งบอกว่า ‘It curses me.’ ด้วยซ้ำ”

06 “แล้วคุณเป็นใคร”

เรืองศักดิ์ไม่ได้หยิบแง่มุมทางวิทยาศาสตร์มาเล่าผ่านศิลปะโดยปราศจากหลักการเหตุผลรองรับ เพราะเขาใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร​์เป็นหลักยึดในการทำงานทุกครั้ง ตั้งแต่เริ่มเสาะหาปัญหา รวมรวมหลักฐาน ทดลอง และสรุปความออกมาเป็นผลงานชวนขบคิด นั่นทำให้หลีกเลี่ยงที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในแวดวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมไม่ได้

“แต่พอบอกว่าทำงานศิลปะแล้วต้องการค้นหาข้อมูลเชิงลึกปุ๊บ อันดับแรกมักเจอคำถามว่า ‘แล้วคุณเป็นใคร’

สนทนากับ โจ้-เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล นักสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านศิลปะ ถึงการผสานโลกวิทย์กับศิลป์เข้าด้วยกัน

“คือคำถามนี้ก็สำคัญในตัวมันเองนะ เพราะทุกวงการก็เป็นแบบนี้ เช่น ถ้ามีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาถามว่า อยากเจอหนอนผีเสื้อชนิดนี้จังเลย ผมก็จะตอบว่าต้องศึกษาว่ามันกินอะไร แต่ถ้ารำคาญก็บอกว่าไปหาก่อนสิ ไปอ่านก่อนสิ มันคือคำตอบเดียวกัน ประเด็นคือการจะก้าวไปสู่จุดนั้นได้ คุณต้องมีข้อมูลในหัวก่อน และทำให้เขาเชื่อถือว่าคนที่กำลังคุยอยู่ด้วยนั้นสำคัญมากพอที่จะคุยด้วย

“บางครั้งผมเองก็ยังไม่ได้ความร่วมมือเลย” สิ้นเสียงพวกเราก็ระเบิดเสียงหัวเราะออกมาพร้อมกัน หลังจากนั้นเขาจึงเสริมเรื่องด้วยความประทับจากงาน Ash Heart Project อันเลืองชื่อ

“ตอนนั้นได้เพื่อนนักมานุษยวิทยาช่วยติดต่อไปยังสวนพฤกษศาสตร์ชื่อ Meise ปรากฏว่าได้เข้าพบผู้อำนวยการเลย ตอนแรกก็คิดว่าจะเข้าไปพูดคุยเฉยๆ แต่ปรากฏว่าเขาบริจาค Mandrake พืชตระกูลมันฝรั่งที่มีพิษร้ายแรงต่อระบบประสาท มีชื่ออยู่ในปกรณัมต่างๆ รวมทั้งใน Harry Potter ด้วย ไอ้ต้นที่ดึงขึ้นมาจากดินแล้วกรีดร้องน่ะ ทั้งที่เขาเองก็มีแค่ห้าหัว นั่นคือสิ่งที่ผมประทับใจสุดๆ เวลาคุณติดต่อประสานงานอะไรแล้วได้สิ่งเหนือความคาดหมายกลับมา

“ต่อมาใน ค.ศ. 2015 ผมทำเรื่องขอกระดูก Brabant ม้าเบลเยียมตัวใหญ่โตและขนยาวๆ มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาก ทำหน้าที่ลากปืนใหญ่มาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 แต่พอหมดยุคสงครามก็หมดหน้าที่ ยิ่งเจอ Hamburger Crisis ก็ถูกเชือดทิ้งไปมากเพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลสูง รอนานถึงสามปี จนได้มาจริงๆ แม้เป็นแค่กระดูกกรามเพียงชิ้นเดียว ไม่ได้ทั้งกะโหลก ก็มหึมาพอให้มีสารที่จะสื่อออกมาเยอะมาก

“ทั้งหมดนี้มันดีลได้เพราะมีคนเห็นคุณค่าของการทำงานศิลปะ ผมยังหวังว่าการประสานงานจะเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น คงไม่ถึงกับไหลลื่นร้อยเปอร์เซ็นต์นะ เพราะแต่ละประเด็นมีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนไม่เท่ากัน บางคนเข้าใจ บางคนไม่เข้าใจ แต่อย่าเปรียบเทียบกับประเทศไทยเลย”

07 “ผมเป็นนักสะสมหายนะ”

สนทนากับ โจ้-เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล นักสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านศิลปะ ถึงการผสานโลกวิทย์กับศิลป์เข้าด้วยกัน

“ผมเคยพูดเล่นกับเพื่อนว่า ผมเป็นนักสะสมหายนะ” 

ศิลปินตรงข้ามหัวร่ออย่างออกรส พลางตอบคำถามแรกที่เราดึงกลับมาใช้อีกคราวในช่วงท้ายของการสนทนา

และนั่นคือการยืนยันครั้งที่สองว่าเขาไม่ใช่ศิลปินอย่างที่ใครๆ เข้าใจ

“งานของผมนำเสนอปัญหาที่เราไม่อยากเห็น ผมจึงไม่เรียกงานของผมว่าเป็นศิลปะ มันคาบเกี่ยวกันระหว่างภาพตัดแปะบนหน้าข่าว ชิ้นส่วนหลักฐาน ประจักษ์พยาน เสียงพูดคุยของคน ซึ่งผมไม่ได้มีส่วนในสมการนี้เลย แค่ไปเลือกมาโชว์เท่านั้น

สนทนากับ โจ้-เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล นักสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านศิลปะ ถึงการผสานโลกวิทย์กับศิลป์เข้าด้วยกัน

“ผมเชื่อลึกๆ ว่าในแต่ละประเด็นควรต้องมีคนทำอะไรแบบนี้อยู่ และในเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผมอาจไม่ใช่คนถูกที่สุดด้วยซ้ำ เพราะมันมีอีกหลากหลายวิถีทาง แม้กระทั่งงานเพนต์ที่ผมไม่เชื่อ ก็อาจมีศิลปินสร้างงานออกมาแล้วเปลี่ยนใจคนมากกว่าผมก็ได้ แต่อย่างน้อยที่สุด ผมยังอยากทำงานศิลปะ เพื่อนำเสนอความจริงซึ่งปฏิเสธไม่ได้อยู่” 

ผู้ไม่นิยามตัวเองว่าเป็นศิลปิน แสดงปณิธานที่เขาสมาทานมาตลอดหลายสิบปี พร้อมกระซิบบอกเป็นนัยว่า งานศิลปะควรมีอีกฟังก์ชันต่อมนุษย์ นอกเหนือจากการอำนวยสุนทรียภาพขั้นพื้นฐานเพียงเท่านั้นเสมอ

“ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องหลักเลยแหละ

“ในภาพวาดสวยงาม มีต้นไม้เป็นพื้นหลัง เราเคยจำได้ไหมว่าต้นไม้นั้นรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร สปีชีส์ไหน เราไม่เคยจำได้เพราะเราเลือกมองแต่จุดที่พึงพอใจมากกว่า จะให้ความสำคัญก็ต่อเมื่อถูกไฮไลต์ขึ้นมา แต่ในยุคนี้เราค้นคว้าข้อมูลได้ง่ายขึ้น ภาพวาดจึงไม่ใช่แค่ภาพวาดอีกต่อไป งานศิลปะจึงไม่ใช่แค่งานศิลปะอีกต่อไป นอกจากความงามพื้นฐาน งานศิลปะทุกชิ้นมี ‘อีก’ หนึ่งบทบาทประกอบกันอยู่แล้ว”

หนึ่งใน ‘อีก’ บทบาทเหล่านั้นคือการสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อมอย่างที่เรืองศักดิ์กำลังทุ่มกายและใจขมักเขม้นลงแรง

“แต่ตอนนี้ยังส่งเสียงได้เบาบางอยู่นะ” เขาว่า

“เพราะถ้าพูดได้เสียงดังมาก ก็จะโผล่มาแค่ประเด็นเดียว โดยหลักการ มนุษย์จะย่อยข้อมูลข่าวสารให้ง่ายและสั้นลงเสมอ ซึ่งผมต่อต้านวิธีนี้มากที่สุด เราตัดประเด็นซับซ้อนที่คิดว่าไม่สำคัญออกไปไม่ได้ ทุกอย่างเกี่ยวเนื่องกันเป็นพลวัตร นั่นคือคุณกำลังสร้างภาพนิ่งให้ธรรมชาติ

“ผมเชื่อว่ามันเป็นการส่งต่อ ผมจึงพยายามขยายผลกระทบให้สืบเนื่องกับหลายๆ เรื่อง หลายคนช่วยกันพูดน่ะดีแล้ว ยิ่งสร้างความเชื่อมั่นว่าคนไม่น้อยตระหนักถึงสิ่งเดียวกัน ถ้าพูดคนเดียวก็จะกลายเป็นไอดอลทันที แล้วถ้าไอดอลคนนั้นเทไปด้านใดด้านหนึ่งอย่างเดียว แล้วประเด็นอื่นที่ถูกทิ้งไปจะเป็นอย่างไร”

โจ้จึงมีสถานะเป็นศิลปินเดี่ยวผู้พร้อมร่วมงานกับผู้รู้จริงแบบทีมอยู่เสมอ เพราะนอกจากตระหนักอยู่ในใจดีว่า ผลงานของตัวเองที่ผ่านมาเป็นเพียงหนึ่งแง่มุมจากทัศนคติส่วนตัว ยังเห็นว่าหลายหัวย่อมดีเบตประเด็นกันได้คมคายและลึกซึ้งกว่าหัวเดียว ทั้งยังพาเมสเซจที่งานมุ่งสื่อสารไปได้ไกลอย่างมีชั้นเชิงมากยิ่งขึ้นแน่นอน

บทสนทนาแสนอร่อยซึ่งดำเนินมาร่วม 2 ชั่วโมง ทิ้งคำถามสุดท้ายไว้ในหัวเราว่า ในบรรดาปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เราต่างประสบพบเจอทุกวันนี้ คุณเป็นห่วงปัญหาไหนมากที่สุด

“ใกล้ตัวที่สุดตอนนี้คือเรื่องหายนะต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง เพราะผมไม่เห็นว่าจะมีอำนาจไหนเข้าไปช่วยเหลือได้เลย

“ปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศไทยตอนนี้ คือเราจะอนุรักษ์สัตว์ที่สวยงามเท่านั้น คุณจะอนุรักษ์หนอนหรือไส้เดือนดินหรือเปล่า ถ้ารู้ว่าสปีชีส์นี้กำลังหมดไป แต่ทุกอย่างจะดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าคนเริ่มตระหนักและเห็นค่าของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดอย่างเท่าเทียม”

สนทนากับ โจ้-เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล นักสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านศิลปะ ถึงการผสานโลกวิทย์กับศิลป์เข้าด้วยกัน

Writer

Avatar

นิรภัฎ ช้างแดง

กองบรรณาธิการผู้คนพบความสุขในวัยใกล้เบญจเพสจากบทสนทนาดีๆ กับคนดีๆ และเพลงรักสุดแสน Bittersweet ของ Mariah Carey

Photographer

Avatar

ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

เรียนวารสาร เที่ยวไปถ่ายรูปไปคืองานอดิเรก และหลงใหลช่วงเวลา Magic Hour ของทุกๆวัน