บ้านร่วมทางฝัน คือโครงการที่อยู่อาศัยที่ขายแล้วนำเงินกำไรทั้งหมดบริจาคให้โรงพยาบาลรัฐเพื่อพัฒนาคุณภาพการรักษาผู้ป่วย เป็นการใช้ Business Model ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในการทำ CSR อย่างยั่งยืนของ บมจ. เสนาดีเวลลอปเม้นท์ หรือ SENA

จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์บ้านร่วมทางฝันเกิดขึ้นราวๆ สิบกว่าปีก่อน ดร.ยุ้ย-เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ. เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ได้แรงบันดาลใจจากครั้งที่คุณพ่อ (คุณธีรวัฒน์ ธัญลักษณ์ภาคย์) เข้ารับการรักษาโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลศิริราชแรมปี การเฝ้าไข้ของลูกสาวครั้งนั้นจึงกลายเป็นการได้เฝ้ามองปัญหา จนเห็นว่าโรงพยาบาลรัฐยังต้องความช่วยเหลืออีกมาก

ดร.ยุ้ย-เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

บ้านร่วมทางฝันโครงการที่ 1 – 2 เป็นโครงการบ้านทาวน์เฮาส์และอาคารพาณิชย์ทำเลชานเมืองย่านลำลูกกา ส่วนบ้านร่วมทางฝัน 3 – 4 เป็นโครงการคอนโดมิเนียมแบบ Low Rise ในย่านคลองหลวงและบางแค โดยโครงการบ้านร่วมทางฝัน 4 เป็นพื้นที่ทำเลทองที่ใกล้รถไฟฟ้าและเชื่อมต่อกับลำคลองภาษีเจริญ เดินทางสะดวกทั้งรถทั้งเรือ แถมยังใกล้กับแหล่งของกินและศูนย์การค้ามากมาย 

ทุกโครงการของบ้านร่วมทางฝันแปะป้าย Sold Out ในเวลาไม่นานที่ออกสู่ตลาด ส่วนโครงการบ้านร่วมทางฝัน 4 เป็นคอนโดมิเนียม 8 ชั้น ที่เพิ่งสร้างเสร็จพร้อมเข้าอยู่และเปิดขายเพียงไม่กี่เดือน ก็ขายไปได้แล้วกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ มีขนาดห้องเริ่มต้น 30 ตารางเมตร ราคาเพียง 1.44 ล้านบาท เป็นราคาขายคอนโดฯ ที่หาไม่ได้ง่ายๆ เลยในทำเลดีๆ แบบนี้

สรุปได้สั้นๆ ก่อนอ่านเรื่องยาวได้ว่า บ้านร่วมทางฝันคือโครงการ Sustainable CSR ที่ SENA สร้างที่อยู่อาศัยออกมาขายในราคาย่อมเยา แล้วเอากำไรทั้งหมดมอบให้โรงพยาบาลรัฐ เป็นการทำงานที่ตอบโจทย์ทั้งในแง่ธุรกิจ ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการหาที่อยู่อาศัยคุณภาพดี และสร้างประโยชน์แก่สังคมได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ต่อไปนี้คือเรื่องราวแห่งความตั้งใจแน่วแน่ของ บมจ. เสนาดีเวลลอปเม้นท์ การทำงานที่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกส่วน เหมือนเป็นการปันเวลาส่วนเหลือเพื่อสังคม ซึ่งเป็นคอนเซปต์ของบ้านร่วมทางฝัน ไม่ว่าจะเป็นพาร์ตเนอร์ธุรกิจ พนักงานที่ร่วมใจกันลงกำลังกายและสมองพัฒนาโปรเจกต์บ้านร่วมทางฝัน รวมถึง Wisdom ของกัปตันทีมแห่ง SENA ผู้บริหารหญิงคนเก่งและแกร่งที่เธอเองก็ได้เรียนรู้จากการทำงานชิ้นนี้ด้วย

บ้านร่วมทางฝัน CSR แนวใหม่ของบริษัทขายบ้านที่สร้างบ้านขายเพื่อยกกำไร 100% ให้โรงพยาบาล, เสนาดีเวลลอปเม้นท์, SENA

เริ่มจากเรื่องใกล้ตัว ทำในสิ่งถนัด

 10 กว่าปีก่อน ตอนที่ ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หรือ ดร.ยุ้ย ยังทำงานเป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณธีรวัฒน์ผู้เป็นพ่อของเธอต้องเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลศิริราชอยู่แรมปี นั่นทำให้เธอเห็นสภาพแวดล้อมโรงพยาบาลรัฐ เห็นความยากลำบากในการทำงานของหมอและพยาบาล เตียงผู้ป่วยหลายสิบเตียงเรียงรายหน้าห้องตรวจคือภาพที่เธอเห็นทุกวัน 

“พ่อเรารักษาอยู่ที่โรงพยาบาลปีหนึ่ง เราเองก็นอนค้างที่โรงพยาบาลทุกวัน มันช่างไม่น่าเชื่อเนอะว่าอะไรๆ มันถึงได้ขาดแคลนอย่างนี้ สมมติจะดูผลเอกซเรย์ โรงพยาบาลเอกชนก็ดูได้เลย แต่นี่เราต้องเดินไปอีกห้องหนึ่ง ต้องต่อแถวรอคิวเพราะหมอทุกห้องที่กำลังตรวจอยู่มาดูผลที่เดียวกัน เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจทำให้ Efficiency ของการทำงานไม่ดี พ่อกับเราก็เลยมีไอเดียว่าจะช่วยยังไงได้บ้าง 

“เราก็ไม่ใช่หมอทั้งคู่ ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ พูดตรงๆ เราให้ได้แค่เงิน แล้วให้เงินโรงพยาบาล ให้เท่าไหร่ก็ไม่พอ เพราะมีความต้องการเยอะมาก แต่ว่าประเด็นสำคัญมากกว่าคือ ให้แล้วมันต้องต่อเนื่องได้ เราคิดว่าถ้าแค่บริจาคเงินด้วยการตีเช็คเงินสด มันไม่เกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมอะไร ก็เริ่มคิดว่าเราจะทำยังไงดี เราทำงานหนึ่งแล้วเอาผลพลอยได้ของงานชิ้นนี้ให้ มันน่าจะทำให้ได้นานขึ้นมั้ย แล้วเราก็ทำเป็นอยู่อาชีพเดียวคือขายบ้าน งั้นเอางี้ เราคิดตั้งแต่แรกเลยว่าโปรเจกต์นี้ เราจะเอากำไรจากการขายโครงการนี้ไปให้โรงพยาบาล” ดร.ยุ้ย เริ่มเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นแนวความคิด 

ดร.ยุ้ย-เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

การสร้างที่อยู่อาศัยแต่ละโครงการใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี มีเงินสะพัดเป็นหลักสิบล้านไปจนถึงร้อยล้าน แน่นอนว่าการบริหารงานชิ้นใหญ่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ดร.ยุ้ย บอกเราว่า การยึดมั่นในจุดมุ่งหมายว่าเราต้องการช่วยเหลือสังคมด้วยวิธีอะไร แนวคิดแบบไหน คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำโปรเจกต์ CSR เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โปรเจกต์บ้านร่วมทางฝันประสบความสำเร็จและดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

“โปรเจกต์หนึ่งกว่าจะสำเร็จใช้เวลาสามปีนะ กว่าจะซื้อที่ดิน กว่าจะสร้างบ้านเสร็จ ในหนึ่งพันวันนั้น เรารู้ตั้งแต่วันที่หนึ่งเลยว่าสุดท้ายมันจะไม่ใช่เงินเรา ตั้งแต่ตอนซื้อที่ดิน เราต้องไม่ลืมว่าเดี๋ยวจะเอากำไรทั้งหมดให้กับการกุศล ดังนั้นรายได้จากตรงนี้มันไม่เคยอยู่ในรายได้บริษัท SENA เลย แรกๆ เราก็ไม่ได้อินกับมันมากนะ แต่ตอนมาทำจริงๆ เราเริ่มรู้สึกว่าเราไม่ได้ให้แค่เงิน แต่เรากำลังช่วยเหลือสังคมในแบบที่เราถนัด และไม่ว่าเสนามีกี่โครงการ เราก็จะมีโปรเจกต์บ้านร่วมทางฝันอยู่ด้วย 

“เราว่าการมี Mindset แบบนี้ตั้งแต่แรกช่วยให้งานต่อเนื่อง จะให้ตีเช็คปีละร้อยล้าน เราว่าเราตีเช็คไม่กี่ครั้งก็หยุดนะ เศรษฐกิจไม่ดีอย่างนี้ จู่ๆ มาบอกว่าเกษราตีเช็คร้อยล้านให้โรงพยาบาลหน่อย เป็นใครก็ไม่กล้า เราจะหาเหตุผลร้อยแปดพันเก้าที่จะไม่จ่ายได้มากมาย ถึงเป็นช่วงเศรษฐกิจดีเราก็จะหาเหตุผลได้เหมือนกัน เช่น เก็บเงินไว้ก่อนเพราะเป็นช่วง Growth แต่พอตั้งใจไว้แบบนี้ แม้จะเป็นช่วง COVID-19 ที่เสนาต้องรักษา Cash ไว้ กำไรจากโปรเจกต์บ้านร่วมทางฝันก็ยังคงถูกส่งมอบให้โรงพยาบาลอยู่ดี เราว่าความรู้สึกนี้ช่วยมากที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืน” 

บ้านร่วมทางฝันโปรเจกต์แรกนั้นยากที่สุด เพราะยังไม่มีใครเคยทำ CSR แบบนี้มาก่อน สิ่งที่ SENA ต้องการที่สุดคือความเชื่อใจจากทุกฝ่าย 

บ้านร่วมทางฝัน CSR แนวใหม่ของบริษัทขายบ้านที่สร้างบ้านขายเพื่อยกกำไร 100% ให้โรงพยาบาล, เสนาดีเวลลอปเม้นท์, SENA
บ้านร่วมทางฝัน CSR แนวใหม่ของบริษัทขายบ้านที่สร้างบ้านขายเพื่อยกกำไร 100% ให้โรงพยาบาล, เสนาดีเวลลอปเม้นท์, SENA

“แรกๆ มีปัญหาเยอะเหมือนกัน เพราะเราเป็นบริษัทจดทะเบียน แล้ว ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ก็รู้สึกว่าเจ้าของกำลังจะเอาเงินไปสร้างบริษัทอีกบริษัทหนึ่งมาแข่งหรือเปล่า เพราะโปรเจกต์ตั้งอยู่ด้วยกันเลย มันจะดูไม่เหมือนแข่งกันได้ไง ก.ล.ต. ก็ไม่ยอม เนื่องจากมันไม่เคยถูกตรวจสอบ และเขาไม่มีความจำเป็นต้องเชื่อว่าคุณจะเอาเงินไปให้โรงพยาบาลจริงรึเปล่า อันนี้ก็เหนื่อยไปอีกหนึ่งยก

“โปรเจกต์บ้านร่วมทางฝัน 1 ศิริราชขอไม่เอาเงิน เพราะว่าเราขอชื่อเขา เพื่อบอกทุกคนที่มาซื้อว่าเอากำไรทั้งหมดที่ได้จากการขายโครงการให้ศิริราช มันเหมือนกับว่าเราเอาชื่อเขาไปหากิน โดยเอาชื่อศิริราชไปแปะป้ายแล้วคุณจะขายราคาได้มากกว่าตลาด แล้วเอามาบริจาคเขานิดเดียว เราก็พยายามจะบอกว่าเราบริจาคหมดเลย แต่เขาก็มีสิทธิ์จะไม่เชื่อ เพราะเรายังไม่เคยทำ ซึ่งเราว่าไม่มีอะไรดีกว่าทำให้เห็น พูดไปเหอะ พูดเยอะแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ (หัวเราะ)

“โปรเจกต์แรกได้กำไรสี่สิบถึงห้าสิบล้าน เราขายทาวน์เฮาส์สองร้อยห้าสิบยูนิต มันคือการขายบ้านธรรมดาๆ เลยนะ จริงอยู่ว่าคนไทยขี้สงสาร แต่เชื่อเถอะไม่มีใครซื้อบ้านเพราะอยากทำบุญหรอก ถ้าขายน้ำเนี่ยไม่แน่ เพราะราคาสิบยี่สิบบาท แต่บ้านน่ะราคาสามล้านนะ ถ้าบ้านอยู่ในทำเลไม่ดี ฟังก์ชันไม่ได้ คนเขาไม่เสียเงินเป็นล้าน และต้องผ่อนอีกสามสิบปี เพราะแค่อยากทำบุญหรอกถูกไหม มันไม่ได้เป็นตัวชี้เป็นชี้ตายให้คนตัดสินใจซื้อบ้านเรา บ้านไม่ใช่สินค้าประเภทที่ซื้อซ้ำกันบ่อยๆ ไม่ใช่สินค้าราคาถูก ดังนั้น ถามว่าการได้ชื่อโรงพยาบาลมาจะช่วยทำให้ขายได้ไหม คำตอบคือไม่ มันคือตัวที่ทำให้ช่วยอิ่มใจขึ้น ณ ตอนตัดสินใจ แต่ตัวที่มาก่อนยังไงก็ต้องเป็นเรื่องของทำเล ฟังก์ชัน และราคา

“ตอนนี้เรื่องพวกนี้ก็หายไปหมดแล้วนะ เพราะเราทำให้เห็นจริงๆ แสดงบัญชีให้เห็นจำนวนเงินแล้วเอากำไรมอบให้ศิริราชหมดเลย ซึ่งแรกๆ เราก็ถอดใจนะ แต่ว่าพ่อยืนกราน ท่านคงเห็นว่าถ้าเราไม่ทำให้เป็นโครงการเพื่อการกุศลอย่างจริงจัง SENA คงจ่ายเช็คไม่ไหว อย่างช่วงนี้ให้มาเซ็นเช็คร้อยล้านคงไม่ง่ายเท่าไหร่หรอก แต่อย่างที่เรียนว่าการทำให้ยั่งยืนมันสำคัญ เพราะว่าการทำการกุศลมันไม่มีใครบังคับ เราจะบอกว่าใจรักก็จริง แต่ใจมันก็แพ้ภาวะเศรษฐกิจเหมือนกัน ยิ่งเศรษฐกิจแบบนี้ ถ้าไม่ตั้งใจตั้งแต่แรกต่อให้ได้มากี่ล้านก็คงเก็บเป็น Cash หมด”

คนในองค์กรเอาด้วย พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจก็เอาด้วย 

ว่ากันตามตรง โปรเจกต์บ้านร่วมทางฝันคงไม่สำเร็จขนาดนี้หากไม่มีใครร่วมมือด้วย ความตั้งใจของคุณธีรวัฒน์และดร.ยุ้ย เป็นจริงได้ก็เพราะความร่วมมือจากคนในองค์กรและพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจที่ต่างเห็นดีเห็นงาม และอยากปั้นฝันครั้งนี้ให้เป็นจริงร่วมกัน 

สำหรับพวกเขา กำไรจากการขายไม่ใช่แรงจูงใจสำคัญเท่ากับความรู้สึกที่อยากช่วยสังคมให้ดีขึ้น 

“เราก็ขอพาร์ตเนอร์เราธรรมดาๆ เลยว่า ช่วยกันเพื่อการกุศลนะ Supplier เราคงอารมณ์แบบว่าก็ซื้อของกันมานาน จะโกหกก็ใช่เรื่อง (หัวเราะ) พอโปรเจกต์จบลง เขาเห็นว่าเราให้จริงๆ เราเปิดงบพร้อมอธิบายให้เห็นเลยว่ากำไรได้เท่าไหร่ก็ให้หมด แต่ตอนนี้ไม่มีคำถามแล้ว เพราะเราทำเหมือนเดิมตลอด ดังนั้น ไม่ต้องอธิบายอะไรมาก” 

บ้านร่วมทางฝัน CSR แนวใหม่ของบริษัทขายบ้านที่สร้างบ้านขายเพื่อยกกำไร 100% ให้โรงพยาบาล, เสนาดีเวลลอปเม้นท์, SENA

“บ้านร่วมทางฝันกับโครงการอื่นของเสนา มันมีดีเทลความแตกต่างยังไง” เราถามขึ้น

“จริงๆ ไม่มีเลย เราพัฒนาเหมือนกันทุกอย่าง แค่ชื่อที่ต่างเฉยๆ กับกำไรว่าไปไหน มันเป็นโปรเจกต์ที่เหมือนขายโครงการของเสนาทั่วไป แสดงว่ามันต้องผ่านทุกโต๊ะเลย ตั้งแต่โต๊ะซื้อที่ดิน โต๊ะวาดแบบ โต๊ะจัดซื้อ โต๊ะงานสถาปัตย์ โต๊ะวิศวกรรม โต๊ะขาย ซึ่งเวลาผ่านทุก Department เขาจะรู้แล้วว่าชั่วโมงที่เขาทำงานให้คือการปันเวลาส่วนเหลือเพื่อสังคม เขาจะเห็นหัวโครงการว่างานนี้คือโครงการบ้านร่วมทางฝัน เขากำลังช่วยศิริราชอยู่ อันนี้ช่วยรามาฯ อยู่ ดังนั้น มันจึงเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมมากๆ เราว่าอันนี้ดี

“เวลาเราไปบริจาคเงิน ทุกคนจะรู้สึกว่ามันมาจากทั้งออฟฟิศ ทุกคนมีส่วนร่วมในเงินบริจาคก้อนนี้จริงๆ เพราะปกติเวลาเราตีเช็คบริจาคเงิน มันก็แค่เจ้าของกับพนักงานมาถ่ายรูป โพสต์พีอาร์แล้วก็แค่นั้น แต่อันนี้เราว่าไม่ต้องให้เขาไปยังได้เลย แต่เขาต้องรู้สึก เพราะมันต้องผ่านการทำงานแต่ละโต๊ะและเยอะมากกว่าจะออกมาเป็นแบบนี้ได้ เรารู้สึกว่ามันกลายเป็นวิธีคิดที่ดีนะ 

“อย่าลืมว่าข้อเสียของมันก็มีเหมือนกัน นั่นคือความผันผวน เพราะมันคือธุรกิจ พูดตรงๆ อย่างโปรเจกต์บ้านร่วมทางฝัน 4 เราเคยคาดว่าจะขายได้เงินเร็วกว่านี้หน่อย กลายเป็นว่าได้เงินช้าลงเพราะว่า COVID-19 แต่เรามีความตั้งใจมากว่าต้องการให้มันต่อเนื่องไปเรื่อยๆ อย่างตอนนี้เราก็เริ่มดำเนินการโครงการที่ห้าแล้ว  ดังนั้น มันสร้างความต่อเนื่องได้โดยเราเองด้วย เราเรียนรู้ไปกับมันว่าเป็น Social Enterprise ที่ดีอย่างหนึ่งเลยนะ เราตระหนักได้ว่า มันดีกว่าแค่เซ็นเช็คจ่ายเงินบริจาคแบบเดิมๆ” ดร.ยุ้ย บอกเราอย่างนั้น

ดร.ยุ้ย-เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

หมั่นคอยดูแลและรักษาดวงใจ

SENA ดูแลสังคมด้วยการบริจาคกำไรจากโปรเจกต์บ้านร่วมทางฝันให้กับโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลตำรวจ และโรงพยาบาลรามาธิบดี เงินเหล่านั้นถูกนำไปแปรเปลี่ยนในหลากหลายรูปแบบ แล้วแต่ความจำเป็นและเจตจำนงของแต่ละโรงพยาบาล

ที่ผ่านมา SENA ได้มอบเงินสมทบทุนให้กับโรงพยาบาลศิริราช 40.059 ล้านบาทในการสร้างห้องแพทย์ พื้นที่รองรับญาติผู้ป่วย ส่วนเงินกำไรจากโครงการบ้านร่วมทางฝัน 2 ถูกยกให้กับโรงพยาบาลตำรวจ จัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และปรับปรุงห้องฟอกไตให้บรรยากาศเป็นมิตรกับผู้ป่วยมากขึ้น ส่วนกำไรจากโครงการบ้านร่วมทางฝัน 3 ก็ถูกส่งต่อให้โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดซื้อรถพยาบาล อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสนับสนุนโครงการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

“เราให้โรงพยาบาลตำรวจเป็นค่าตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งฟังดูแล้วไม่น่าจะเป็นเรื่องของโรงพยาบาล คือปกติเราจะคิดถึงเตียง เครื่องมือแพทย์ หรืออะไรที่ดูเป็นสิ่งจำเป็นใช่ไหม แต่เราคุยกับคณบดี เขาก็เล่าให้ฟังถึงคนป่วยที่มาฟอกไต ว่าเขาต้องนั่งพักทั้งวัน ทำอะไรไม่ได้เลย เพราะมันจะเพลียแบบ Depressing มาก สิ่งที่เราเห็นคือสภาพแวดล้อมห้องฟอกไตมันน่าหดหู่มาก เพราะงั้นเราเลย Funding ในแง่ตกแต่งสถานที่ เอาดีไซเนอร์มาออกแบบตกแต่งห้องให้สวยเลย แล้วก็มีทีวีเครื่องใหญ่มากเพื่อให้เขานั่งดู เป็นตัวอย่างหนึ่งของสิ่งที่ไม่อยู่ในกฎระเบียบมาก มันไม่ใช่สิ่งปกติที่เงินมูลนิธิหรือทางราชการจะเอามาพัฒนาได้ง่ายนัก”

โปรเจกต์ต์ที่ 3 SENA มอบให้กับ รพ.รามาฯ เพื่อช่วยเกี่ยวกับเรื่องโรคหัวใจเด็กแต่กำเนิด เพราะเมืองไทยยังขาดแคลนเครื่องมือในการรักษา และยังขาดแคลนหมอที่สามารถรักษาโรคหัวใจเด็กด้วย

“ในไทยยังขาดแคลนเครื่องมือรักษาโรคหัวใจเด็ก นั่นแปลว่าหมอยังทำไม่เป็นด้วย ถ้าให้เฉพาะค่าอุปกรณ์มันไม่ได้จบตรงนั้น เพราะไม่มีหมอที่รักษาเป็น หมอจะทำเป็นได้ก็ต้องไปดูงานต่างประเทศ เราเคยเป็นอาจารย์มาก่อนก็เลยเข้าใจว่าคนเป็นอาจารย์คนหนึ่งจะรู้เรื่องใหม่ๆ มันต้องเดินทางไปศึกษาที่เมืองนอกแล้วกลับมา เราเลย Funding ให้เงินอาจารย์หมอไปศึกษาด้วย เพราะการที่หมอจะรักษาได้สักโรคหนึ่ง มันมี Ecosystem ของมันหลายอย่าง ไม่ใช่แค่เครื่องมือเครื่องหนึ่งเท่านั้น 

“ตอนนี้มีเด็กที่หาย มีเด็กที่แข็งแรงขึ้นเพราะเรา แม่เขามาขอบคุณ บอกว่าเหมือนให้ชีวิตเขาเลย เพราะเขาคงซื้อเองไม่ได้ เครื่องมันแพงมาก เรามองว่าเครื่องแพงขนาดนี้ ต่อให้หมอทำเป็นมันก็ไม่ยั่งยืน เพราะราคาสูงเกินไป แต่ถ้าเรามองในแง่เศรษฐศาสตร์เดี๋ยวมันก็ถูกลง ทุกอย่างในโลกก็เป็นแบบนี้ แล้วเดี๋ยวมันก็จะค่อยๆ ถูกลงเมื่อ Demand มากขึ้นแต่มันต้องจุดเริ่มต้นก่อนใช่ไหม อันนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่เราทำมา ช่วยไปหลายคนแล้ว 

“ตอนแม่เด็กมาขอบคุณ พนักงานทุกคนก็เห็นภาพ ไม่ต้องอธิบายเยอะว่าจำนวนชั่วโมงที่พนักงานเสียไปกับโปรเจกต์บ้านร่วมทางฝันมัน Turn Out ไปเป็นอะไร อันนี้พูดแล้วจะดูนางเอกแต่ก็คิดอย่างนั้นจริงๆ ตอนแม่เด็กมาขอบคุณเรารู้สึกดีมาก หรืออย่างตอนที่ไปศิริราชแล้วเห็นว่าห้องทุกห้องมีตู้เอกซเรย์ของตัวเองแล้ว เราดีใจมากเลย มันรู้สึกอิ่มใจเหมือนกันว่าอย่างน้อยเราก็มีประโยชน์ 

“เชื่อว่าปัญหาสังคมมันเยอะมากนะ ให้มานั่งพูดถึงพรุ่งนี้ก็ไม่หมด เราแค่รู้สึกว่าในปัญหาสังคมที่มันเยอะมากๆ เราสามารถช่วยจากจุดที่เรายืนอยู่เสมอ เล็กน้อยหรือใหญ่ก็อีกเรื่องหนึ่ง เราแค่เลือกทำจากจุดที่เรายืนอยู่ อีกโรคหนึ่งที่เราคิดจะทำต่อคือโรคเกี่ยวกับตา เพราะเราเคยเป็นต้อหินเลยอินเรื่องนี้ ส่วนโปรเจกต์ล่าสุด บ้านร่วมทางฝัน 4 ที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้คือเรื่อง COVID-19” 

มาถึงตอนนี้ เราเชื่อว่าสำหรับ ดร.ยุ้ย และทีม SENA การได้เห็นคนป่วยมีโอกาสได้รับการรักษาหรือช่วยชีวิต มันเป็นขั้นกว่าของความสำเร็จแล้วจริงๆ

บ้านร่วมทางฝัน CSR แนวใหม่ของบริษัทขายบ้านที่สร้างบ้านขายเพื่อยกกำไร 100% ให้โรงพยาบาล, เสนาดีเวลลอปเม้นท์, SENA

ที่อยู่อาศัย คือ Experience Goods

ในมหาสมุทรแห่งธุรกิจ Real Estate ไม่มี Developer เจ้าไหนที่ครอง Market Share ได้เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะมันเป็นสินค้าที่ใช่ว่าแบรนด์จะชนะทุกอย่าง 

ดร.ยุ้ย ตั้งคำถามแล้วลองให้เรานึกภาพตาม สมมติว่ามีหมู่บ้าน 2 โครงการอยู่ในทำเลติดกัน หมู่บ้านหนึ่งเป็นของแบรนด์ยี่ห้อดีมาก ส่วนหมู่บ้านที่สองนั้นไม่มีแบรนด์ ตัวบ้านสร้างเสร็จพร้อมอยู่ มีส่วนกลางที่ดี สภาพแวดล้อมเหมือนกันกับหมู่บ้านแรก มีคนเข้าไปอยู่อาศัยแล้วครึ่งหนึ่ง แถมยังมีราคาถูกกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ สมมติคนได้เข้าชมตัวบ้านจากทั้งสองโครงการอย่างเสร็จสรรพ ผู้บริโภคส่วนมากก็มักตัดสินใจซื้อหมู่บ้านที่สองโดยที่ไม่สนตัวแบรนด์เลย

แต่ในทางกลับกัน หากโครงการหมู่บ้านนั้นยังสร้างไม่เสร็จ ผู้บริโภคจะเชื่อใจและอยากซื้อบ้านจากหมู่บ้านที่มีแบรนด์รองรับมากกว่า 

เพราะที่อยู่อาศัยคือ Experience Goods หรือสินค้าที่คนจะทราบคุณภาพ ตัดสินใจได้ว่าชอบหรือไม่ชอบ ก็ต่อเมื่อเขาเคยมีประสบการณ์ ได้เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในบ้านหลังนั้นแล้ว

“เราเรียกสินค้าประเภทที่อยู่อาศัยว่า Experience Goods ถ้าเราทำให้คนมีประสบการณ์ที่ดีได้ มันชนะได้หลายเรื่องมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าสร้างแบรนด์แล้วจะไม่มีประโยชน์นะ เพราะหากราคาใกล้กันแล้วแบรนด์ดีกว่าก็ชนะไป อย่าลืมว่าซื้อบ้านหลังหนึ่งผ่อนกันสามสิบปี ชีวิตหนึ่งอย่างมากคนซื้อบ้านครั้งสองครั้ง

“ณ วันที่โอนบ้าน โลกการขายบ้านของเรากำลังจะปิดตัวลง แต่ถ้าเรามองในมิติ Consumer Centric โลกใบใหม่ของคนซื้อเพิ่งเริ่ม ไหนจะเรียกช่างมาดู เรียกพระมาเจิม เริ่มผ่อนบ้านอีก อีกหลายเรื่องเลย SENA มีดีเอ็นเอว่าความไว้วางใจจากลูกค้าคือความภูมิใจของเรา เขาซื้อกับเราแล้วผ่อนต่ออีกสามสิบปี เราว่าเป็นสิ่งที่เราควรจะภูมิใจที่เขาเลือกเรา เป็นเหตุผลที่เราอุทิศเงินเยอะเพื่อสร้าง After Sale Service ที่ดี 

“เราตั้งใจเทคแคร์โลกใบใหม่ของลูกค้าให้ดี เป็นหนึ่งใน Core Value ของบริษัทคือ Consumer Centric ถ้าเราไม่ได้เตรียมตัวรับมือโลกใบใหม่สำหรับเขา มันก็จะไม่มีกำลังคนที่จะไปคอยรับมือ จริงๆ บริษัทใช้คนเยอะเหมือนกันนะกับการรับมือเกี่ยวกับงานบริการหลังการขาย การจัดการที่อยู่อาศัย” 

ปัจจุบัน SENA มีวิธีการดูแลลูกบ้านผ่านแอปพลิเคชัน SENA 360 เป็น One Stop Service จัดการเรื่องที่อยู่อาศัยจบในแอปฯ เดียว แจ้งเตือนค่าน้ำ ค่าส่วนกลาง ติดต่อนิติบุคคล หรือลูกบ้านจะเรียกช่างมาซ่อมก็ย่อมทำได้เพียงปลายนิ้วคลิกเท่านั้น ไม่ว่าคุณจะซื้อที่อยู่อาศัยของ SENA ในราคาเท่าไหร่ ก็จะได้รับการดูแลจากทีมบริการหลังการขายคุณภาพเดียวกัน

“Core Value ของการทำธุรกิจมันสำคัญอย่างนี้ จุดยืนของวิธีคิดมีความสำคัญต่อการตัดสินใจ SENA เลยยึดถือแนวคิด Consumer Centric เป็นที่สุด และมองย้อนกลับมาที่โปรเจกต์บ้านร่วมทางฝัน ถ้าจุดยืนวิธีคิดบอกว่าจะทำมันเพื่อการกุศล มันก็จะเป็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ เราว่าวิธีคิดหรือหลักคิดในการเริ่มต้นเป็นเรื่องสำคัญต่อวิธีการตัดสินใจตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง” กัปตันทีมแห่ง SENA กล่าวทิ้งท้าย

ดร.ยุ้ย-เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

Writer

Avatar

นิภัทรา นาคสิงห์

ตื่นเช้า ดื่มอเมริกาโน เลี้ยงปลากัด นัดเจอเพื่อนบ่อย แถมยังชอบวง ADOY กับ Catfish and the bottlemen สนุกดี

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ