The Cloud พาผู้อ่านไปเยือนทำเนียบเอกอัครราชทูตอยู่หลายครั้ง หรือใครก็ตามที่กดอ่านบทความนี้แล้วเจอบรรทัดนี้เข้า ก็คงต้องเคยขับรถผ่านทำเนียบเอกอัครราชทูตต่างประเทศในไทยอยู่บ้าง และคงพอจะนึกออกว่าบ้านพักเอกอัครราชทูตหน้าตาเป็นยังไง

ตามประวัติศาสตร์การทำคอลัมน์ The Embassy ของ The Cloud ประเทศที่รู้จักกันมานานนมก็จะได้สิทธิ์ตั้งทำเนียบฯ อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบ้าง หรือไม่ก็เป็นตึกโบราณอายุหลายสิบจนร้อยปีบ้าง ไม่ว่าจะของต่างประเทศในไทยหรือของไทยในต่างประเทศ หนนี้ก็เช่นเดียวกัน ทำเนียบเอกอัครราชทูตที่เรากำลังจะพาไปเคาะประตู ถึงปีนี้ก็อายุครบ 90 ปีพอดี แต่สิ่งที่ทำให้ทำเนียบฯ นี้ต่างจากแห่งอื่น คือทำเนียบฯ หลังนี้ไม่ได้ตั้งอยู่โดดๆ หากแต่เป็นบ้าน ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน หมู่บ้านที่ผู้คนในประเทศนั้นอาศัยกันนั่นแหละ

แล้วประเทศนั้นน่ะประเทศไหน…

ถ้าเป็นคอเที่ยวจะมุ่งไปประเทศนี้เพราะ Kruger National Park หรือ Table Mountain ถ้าคอประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ก็จะรู้ว่าประเทศนี้คือบ้านเกิดของรัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ของโลกผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศเป็นดินแดนแห่งความเท่าเทียม และถ้าเป็นคอบอลจะจำได้ว่าประเทศนี้เป็นประเทศแรกของทวีปที่เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี 2010

ทำเนียบทูต แอฟริกาใต้
ทำเนียบทูต แอฟริกาใต้

ท่านผู้โดยสารคะ ขณะนี้เรากำลังลดระดับลงสู่ท่าอากาศยานนานาชาติโออาร์ แทมโบ ประเทศแอฟริกาใต้ กรุณานั่งประจำที่ รัดเข็มขัดอยู่กับที่นั่ง ปรับพนักเก้าอี้ให้อยู่ในระดับตรงพออ่านสบาย เก็บโต๊ะหน้าที่นั่ง เปิดม่านหน้าต่างรับแสงสักนิด และ ‘เปิด’ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด เพื่อเตรียมพบ เรือโท โกเมศ กมลนาวิน เอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย กับเรื่องราวหลังบานประตูทำเนียบเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพริทอเรีย ประเทศแอฟริกาใต้ ขอบคุณค่ะ

Homeroom

ทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย มีชื่อเรียกในอดีตว่า ‘Brooklyn House’ หรือ ‘บ้านบรู๊กลิน’ ตั้งอยู่ในย่านที่อยู่อาศัยของเศรษฐีเก่าแก่แห่งพริทอเรีย

Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้

บรู๊กลินในแอฟริกาใต้!

“บริเวณนี้เป็นเขตที่อยู่อาศัยชื่อว่า บรู๊กลิน แต่คนละบรู๊กลินกับนิวยอร์กนะครับ ทีแรกนึกว่าพรุ่งนี้จะไปลาเรโด เท็กซัส อ๋อ ไม่ใช่ อยู่แถวนี้เอง เพราะที่นี่มีเมืองชื่อเดียวกับที่อเมริกา อังกฤษก็มีอีสต์ลอนดอน มีทั่วโลกอยู่ในประเทศนี้ มีใครสักคนบอกว่า เป็น One world in one country” ท่านทูตเล่า

บ้านสีไข่ไก่หลังนี้สร้างโดยสแตรททันส์ (Strattons) ช่วง ค.ศ. 1930 ด้วยสถาปัตยกรรม Classic-romantic ผสมผสานระหว่างสไตล์อังกฤษและอเมริกัน ซึ่งได้รับความนิยมมากในช่วงต้นทศวรรษที่ 20 – 30 และออกแบบโดยกอร์ดอน เฟรเซอร์ ลอว์ลี (Gordon Fraser-Lawlie)

นายกอร์ดอนคนนี้ตั้งใจออกแบบให้บ้านบรู๊กลินกลมกลืนกับประเทศแอฟริกาใต้ จึงใช้วัสดุก่อสร้างจากที่นี่เป็นส่วนใหญ่ เช่นอิฐ Narrow Kirkness อิฐรูปทรงพิเศษจากโรงงานอิฐเคิร์กเนสที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้าน และโดยเฉพาะหินแอฟริกาใต้ที่นำมาใช้สร้างกำแพงล้อมรอบตัวบ้านและคานทางเดินในสวน ซึ่งกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของย่านบรู๊กลินในปัจจุบัน

Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้

หากสงสัยว่าทำไมต้องเป็นอิฐ Narrow Kirkness ไอ้เจ้าอิฐยี่ห้อนี้มันจะขนาดไหนกันเชียว ก็ขนาดที่ เซอร์ เฮอร์เบิร์ต เบเกอร์ (Sir Herbert Baker) ผู้มีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมในประเทศแอฟริกาใต้ ผู้ออกแบบอาคารสิ่งก่อสร้างสำคัญของรัฐบาลในนิวเดลี และผู้ออกแบบบ้านโบราณที่เป็นสถานทูต ณ กรุงพริทอเรีย เมื่อครั้งจะสร้าง South Africa House ในลอนดอน ยังระบุว่าต้องใช้กระเบื้องหิน กระถางดินเผา จากโรงงานอิฐเคิร์กเนสเท่านั้น

Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย
Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้
อิฐ Narrow Kirkness ภาพ : www.theheritageportal.co.za
Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้
House of South Africa ในลอนดอน ภาพ : commons.wikimedia.org

พอจะสร้างโรงพยาบาล Groote Schuur ที่เคปทาวน์ และที่ทำการไปรษณีย์ Salisbury ก็ต้องใช้กระเบื้องมุงหลังคาของเคิร์กเนส

ทำเนียบทูต แอฟริกาใต้
โรงพยาบาล Groote Schuur สมัยก่อน ภาพ : www.researchgate.net

ถึงคราวจะสร้าง Union Building อาคารประวัติศาสตร์ของประเทศแอฟริกาใต้ ก็ต้องแน่ใจว่าใช้อิฐจากเคิร์กเนสในการก่อสร้าง

ทำเนียบทูต แอฟริกาใต้
ภาพ : www.theheritageportal.co.za
ทำเนียบทูต แอฟริกาใต้
ภาพ : www.safariwithus.com

ออกมานอกตัวบ้านกันบ้าง เดิมทีอาณาบริเวณรอบบ้านบรู๊กลินครอบคลุมพื้นที่ทั้งสิ้น 12,500 ตารางเมตร นับเป็นพื้นที่ที่ครอบครองโดยบุคคลเพียงคนเดียวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพริทอเรีย คลุมตั้งแต่ถนน Olivier ถนน Rupert และถนน Nicholson แต่เจ้าของคนก่อนหน้าได้แบ่งขายพื้นที่ส่วนหนึ่งไป

ที่เหลืออยู่ก็คืออาคารทำเนียบฯ เป็นอาคารอิฐ 2 ชั้น ปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งสิ้น 8,727 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่สวน 3,707 ตารางเมตร พื้นที่ในตัวบ้านประมาณ 800 ตารางเมตร และเป็นพื้นที่รอบทำเนียบฯ ที่ประกอบด้วยสนามเทนนิส สระว่ายน้ำ รวมถึงคอกม้าที่ปัจจุบันเป็นเรือนพักรับรองและเรือนแม่บ้าน

Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้
Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้

บ้านบรู๊กลินหลังนี้มีอายุเกิน 50 ปี มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม จึงถือเป็นหนึ่งในอาคารอนุรักษ์ ปัจจุบัน ถ้าจะหาอาคารลักษณะแบบเดียวกันนี้ ทั่วกรุงพริทอเรียก็หลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่ง เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันมีเพียง City Council of Pretoria และ National Monument Council 

Homestory

ก่อนจะเป็นที่รู้จักในฐานะทำเนียบเอกอัครราชทูตไทย บ้านบรู๊กลินเป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งในแมนชั่นงดงาม 4 หลังของตระกูลเคิร์กเนส (Kirkness) ตระกูลเจ้าของบริษัทก่อสร้าง จอห์น แจ๊ค เคิร์กเนส (John Jack Kirkness) ซื้อบ้านบรู๊กลินเมื่อ ค.ศ. 1938 และให้ จอห์น จอห์นสตัน เคิร์กเนส (John Johnston Kirkness) ผู้พี่ ออกแบบบ้านให้มีลักษณะเช่นที่เห็นทุกวันนี้

ทำเนียบทูต แอฟริกาใต้
จอห์น จอห์นสตัน เคิร์กเนส ภาพ : www.aboutorkney.com
ทำเนียบทูต แอฟริกาใต้
โฆษณาโรงงานอิฐเคิร์กเนส ภาพ : www.theheritageportal.co.za

จอห์น จอห์นสตัน เคิร์กเนส คนนี้เองที่เป็นเจ้าของโรงงานอิฐเคิร์กเนส เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างชื่อดัง เป็นอดีตผู้ว่าเมืองพริทอเรีย รวมถึงเป็นผู้ก่อสร้างสิ่งก่อสร้างสำคัญในกรุงพริทอเรียจำนวนมาก เช่น Raadsaal (อาคารรัฐสภาของแอฟริกาใต้) อาคารหลักในมหาวิทยาลัยพริทอเรีย สะพานไลอ้อน (Lion Bridge) สะพานเวียร์ด้า (Wierda Bridge) และ Sammy Marks Building

ทำเนียบทูต แอฟริกาใต้
Raadsaal ภาพ : www.dutchfootsteps.co.za

พอถึง ค.ศ. 1948 บ้านบรู๊กลินก็ถูกซื้อโดยรัฐบาลแอฟริกาใต้ และกลายเป็นที่พักของนักการเมืองสำคัญของประเทศ ทั้งประธานาธิบดีคนที่ 3 ของ State of Africa อดีตเอกอัครราชทูตแอฟริกาใต้ประจำสหรัฐอเมริกา อดีตรัฐมนตรี ประธานาธิบดีคนที่ 6 และ 7 ของ State of Africa

ใน ค.ศ. 1993 รัฐบาลแอฟริกาใต้เสนอขายบ้านให้ หลุยส์ เนล (Louis Nel) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ อีเลน เนล (Elaine Nel) ภรรยา ทั้งคู่ศึกษาประวัติบ้านหลังนี้อย่างลึกซึ้ง ก่อนจะจ้างสถาปนิกมาฟื้นฟูอาคาร การฟื้นฟูครั้งนี้ดำเนินไปตามลักษณะเด่นของอาคาร จะมีปรับเปลี่ยนบ้างก็ตรงประตูไม้และโครงอาคารไม้ให้เป็นโครงเหล็ก ประตูหน้าและทางเข้าบ้านกลายเป็นห้องน้ำแขกหญิง และห้องอาหารที่เคยใช้ในงานเลี้ยงรับรองระดับชาติก็ถูกเปลี่ยนเป็นโถงทางเข้าและห้องอาหารหลัก

Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้
โถงทางเข้า
Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้

ไม่นานหลังจากนั้นบ้านบรู๊กลินถึงคราวต้องถูกขายอีกครั้ง โดยมีสถานเอกอัครราชทูตอินเดียและสถานเอกอัครราชทูตไทยเป็นแคนดิเดต สุดท้าย นายยิ่งพงศ์ นฤมิตรการ เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐแอฟริกาใต้คนแรกก็ตกลงซื้อบ้านบรู๊กลินมาได้เมื่อ ค.ศ. 1997

นอกจากบ้านหลังนี้จะผ่านมือคนสำคัญในประวัติศาสตร์แอฟริกาใต้มาหลายคน ย้อนกลับไปก่อนบ้านบรู๊กลินจะเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลไทย บ้านบรู๊กลินเองก็เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองของแอฟริกาใต้ เพราะจุดเริ่มต้นการยกเลิกนโยบายกีดกันสีผิวในแอฟริกาใต้ที่นำมาซึ่งประชาธิปไตยของประเทศเกิดขึ้นใต้หลังคานี้ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1989

คณะรัฐมนตรีและคณะผู้บริหารระดับสูงได้มาประชุมกันที่บ้านบรู๊กลินเพื่อตัดสินอนาคตของประเทศแอฟริกาใต้ โดยโน้มน้าวให้ พี. ดับเบิลยู. โบธา (P. W. Botha) ประธานาธิบดีในขณะนั้น ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ ทำให้ เฟรเดอริก วิลเลิม เดอ แกลร์ก (Frederik Willem de Klerk) ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และดำเนินนโยบายเพื่อนำไปสู่การยกเลิกการกีดกันสีผิว 

Home-(be)coming

กว่า 30 ปีที่บ้านบรู๊กลินอยู่ใต้กรรมสิทธิ์ของรัฐบาลไทย เป็นที่พำนักของเอกอัครราชทูตก่อน เรือโท โกเมศ กมลนาวิน เอกอัครราชทูตคนปัจจุบัน มาก็หลายท่าน

เรือโท โกเมศ กมลนาวิน เอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย แอฟริกาใต้
เรือโท โกเมศ กมลนาวิน เอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย

ตอนนี้เรากำลังนั่งบนโซฟาในห้องรับแขกทางปีกขวาของทำเนียบฯ ถ้าอาศัยจินตนาการสักนิด ใครสักคนอาจเคยนั่งจิบกาแฟอ่านหนังสือพิมพ์ นั่งชมสวนสวยขนาด 3,707 ตารางเมตรผ่านกระจกใสบานใหญ่ ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ตรงจุดเดียวกัน หรือเลือกทางเดินอนาคตให้ประเทศนี้แถวๆ นี้ก็เป็นได้ 

Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้

จินตนาการได้ไม่นาน ประตูบานที่จ้องอยู่ก็เปิดกว้าง ท่านทูตยิ้มกว้าง เรายิ้มกว้าง และยกมือขึ้นสวัสดี

“ก่อนมาเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย ท่านทูตประจำที่ไหนมาก่อน” เราถามหลังจากเราทั้งคู่พร้อมเริ่มบทสนทนา

“หลังจากที่อยู่กรุงเทพฯ มาระยะหนึ่ง ประเทศที่ไปประจำการในช่วงห้าหกปีที่ผ่านมาก็คือ จีน ไปอยู่ที่มณฑลเสฉวน นครเฉิงตู ตอนนั้นเป็นกงสุลใหญ่ ได้ทำงานในหลายๆ ด้าน อยู่ได้สามปีครึ่งก็ย้ายไปอยู่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อีกสองปีครึ่ง เมืองหลวงเขาชื่อกรุงอาบูดาบี และมีเมืองซึ่งคนรู้จักกัน แต่คนชอบเข้าใจผิดว่าเป็นประเทศคือ เมืองดูไบ

“ถัดมาก็มาที่แอฟริกาใต้เลย ไม่รู้ว่าเป็นเส้นทางสายไหมรึเปล่านะ เพราะมาจากจีน แต่ยังดีที่ผมไม่ได้มาสายถนน ผมมาสายการบิน” คำตอบของท่านทูตช่วยขจัดความเงียบในห้องนี้

“แล้วเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย ประเทศแอฟริกาใต้ เคยมาประเทศแอฟริกาใต้ก่อนหน้านี้ไหม”

“ผมรู้ว่าแอฟริกาเป็นทวีปสำคัญ แต่ก็ไม่เคยมานะ ไม่เคยมาแม้กระทั่งเปลี่ยนเครื่องบิน ทวีปแอฟริกาเป็นทวีปใหญ่ มีสถานทูตหลายแห่ง ประเทศแอฟริกาใต้เองก็มีอะไรให้ทำเยอะ แถมยังมีประเทศในอาณาที่ต้องดูแลอีก นอกจากแอฟริกาใต้ก็มีอีกเก้าประเทศ เคยให้สัมภาษณ์ในรายการหนึ่งว่านับได้ตั้งแต่ A ถึง Z”

ท่านทูตไม่เคยมาแอฟริกาใต้เลย ครั้งแรกที่มาถึงและเห็นบ้านหลังนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง จะรู้สึกเหมือนที่เราๆ รู้สึกกันหรือเปล่าว่าบ้านบรู๊กลินช่างเป็นทำเนียบฯ ที่ไม่ถึงกับโอ่อ่า ทว่าอบอุ่น สง่างาม

Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้

“รู้สึกอบอุ่น เหมือนไม่ใช่ House แต่เป็น Home ไม่เหมือน Out of Africa แต่เป็น Into Africa อยู่ที่นี่เวลาผ่านไปเร็วมาก เพราะผมสนุกสนานกับงาน น้องๆ ก็เก่งกันทุกคน เขาอยู่กันมาก่อนหน้า ต้องขอพูดถึงด้วยนะว่านอกจากข้าราชการจากบ้านเรา ก็มีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น สถานทูตอื่นที่อยู่เมืองไทยเขาก็มีเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราจึงอยู่กันเป็นครอบครัว เรามานี่เหมือนเรือมาจอด สามสี่ปีก็ไป แต่เขาอยู่เป็นคนที่คอยส่งต่อความรู้ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ กับทีมใหม่ที่มาประจำการต่อไป”

“ทำไมรัฐบาลไทยจึงเลือกบ้านหลังนี้” เราถาม

“น่าจะเป็นเพราะ ณ เวลานั้นหรือแม้กระทั่งตอนนี้ที่นี่เป็นที่ที่ดีที่สุด ทั้งราคา ทั้งพื้นที่ เป็นที่ผืนใหญ่ห้าไร่แห่งเดียวในย่านนี้ เพื่อนบ้านเขามีแค่ไร่เดียว หรืออย่างมากสองไร่”

Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้
Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้

“พอแง้มราคาได้มั้ย”

“ทำเนียบฯ นี่ราคาห้าล้านแรนด์ สมัยก่อนก็ราวสิบล้านบาท” ท่านทูตคำนวณให้เสร็จสรรพ 

คุณกนก เผือกนวม เลขานุการเอก เล่าเสริมว่า บ้านบรู๊กลินนี้เปลี่ยนเจ้าของมา เดี๋ยวเป็นของรัฐมั่ง เอกชนมั่ง ตอนเป็นของรัฐเคยเป็นที่ประชุมของนักการเมือง ห้องพักแม่บ้านเคยเป็นห้องพักของบอดี้การ์ดประธานาธิบดี เพราะประธานาธิบดีเคยอาศัยอยู่ที่นี่ 

“แล้วห้องที่ผมนอนตอนนี้แต่ก่อนเป็นห้องอะไร” ท่านทูตถามคนเล่ากลั้วหัวเราะ

Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้

คนไม่ได้อยู่ที่มาเยือนครั้งแรกแล้วยังประทับใจอย่างเราสงสัยว่าคนที่อยู่ทุกวันชอบมุมไหนของบ้านที่สุด

ห้องทำงาน เพราะมีทุกอย่าง มีทีวี หนังสือ กับอีกมุมติดหน้าต่างที่มองเห็นสวน คือห้องนอน ยิ่งเวลาหน้าร้อนสว่างเร็ว ตื่นมาก็จะเห็นต้นชัยพฤกษ์สีเหลืองสวย และห้องนั่งเล่น ที่จะมองเห็นสวน สนามหญ้า ได้เหมือนกัน บางทีจะทานข้าวก็ทานง่ายๆ ในห้องนี้ เป็นห้องนั่งเล่นก็ได้ เป็นห้องทำงานก็ได้”

Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้
Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้

“แสดงว่าท่านทูตชอบสวน” ใครสักคนทักขึ้น

“ตอนเด็กๆ ผู้ใหญ่สอนว่า เมื่อเราเพ่งสายตากับหนังสือมากๆ ให้มองสวน จึงดีใจที่มีสวนและมีนกหลายชนิด มีนกตัวใหญ่ๆ ร้องเสียงดังมากชอบมาเดินในสวน ทีแรกผมนึกว่าไก่งวง แต่ไม่ใช่ เป็นนกพื้นเมืองของที่นี่ พอใช้ชีวิตได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่หรูหรา ทำให้สบายใจ มีความรู้สึกว่าเป็นบ้านจริงๆ แต่ว่าทำเนียบฯ เราก็ใช้การเยอะ ไม่ใช่แค่เป็นบ้านพัก แต่ทั้งจัดประชุมเจ้าหน้าที่และจัดกิจกรรมหลายอย่าง”

Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้

ย้ายที่บ่อยมาก มีวิธีทำยังไงให้รู้สึกว่าเป็นบ้านของเรา-เราสงสัย

“วิธีของผมก็คือเอาสิ่งของที่ตัวเองคุ้นเคยมาด้วย เข้าไปในห้องมองซ้ายก็เห็นตัวนี้ มองขวาก็เห็นหนังสือเล่มนี้ เป็นคนชอบสะสมของ ไม่ยอมทิ้งถ้ามันยังใช้ได้อยู่ ผมยกโทรทัศน์เครื่องเดิมที่ซื้อตอนอยู่ที่เก่ามาใช้ที่นี่ด้วย ก็คือยกของเดิมมาแล้วทำให้เป็นบ้าน” 

Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้

Home Decor

บ้านบรู๊กลินเป็นอาคารอนุรักษ์ แล้วแรกเริ่มที่ซื้อบ้านหลังสำคัญของประวัติศาสตร์ประเทศแอฟริกาใต้มาเป็นทำเนียบฯ รัฐบาลไทยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไหม และได้ไหม เชื่อว่าหลายคนอยากรู้เหมือนกัน

“ในหลายประเทศการต่อเติมสร้างบ้านต้องมีการขออนุญาต เพราะบางทีเป็นสถานที่อนุรักษ์ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งที่นี่เป็น อย่างหลังคานี่เป็นอิฐสไตล์ของประเทศนี้ แล้วก็มีไม้ชนิดพิเศษ จะทุบก็จะต้องขออนุญาต แล้วที่นี่เรามีเพื่อนบ้าน ขณะที่เพื่อนบ้านอีกหลังหนึ่งเป็นสไตล์คลาสสิก บ้านเราจะสร้างตามอำเภอใจออกมาเป็นสไตล์อวกาศไม่ได้ ที่นี่สงบและบรรยากาศดี เราก็ต้องรักษาดูแลให้ดี เพราะเป็นหน้าเป็นตา ไม่ใช่เป็นหน้าตาของไทยอย่างเดียวนะ แต่เป็นหน้าตาของที่นี่ด้วย

Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้

“ที่สำคัญคือ เรื่องการบำรุงรักษา เราต้องดูแลพวกท่อน้ำ สายไฟ เหมือนกัน แต่โดยทั่วไปเป็นบ้านที่เขาทำมาดีแล้ว เหมาะสม เพราะว่าเปลี่ยนมาหลายมือ เมื่อได้เป็นสมบัติของเราก็ต้องรักษา และยังเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งบนโลกที่เราเป็นเจ้าของ แต่ถ้าเราจะขยับขยายก่อสร้างก็ไม่ยาก เพียงแต่ต้องทำให้ถูกกฎหมายเขา เราเป็นสถานทูต แต่เราก็เคารพกฎเกณฑ์ กฎหมาย ของเมือง”

จากตอนต้นจะเห็นว่าบ้านหลังนี้ถูกสร้างด้วยสถาปัตยกรรมอังกฤษ-อเมริกันที่กลมกลืนกับบรรยากาศของประเทศแอฟริกาใต้ พอจะเป็นทำเนียบเอกอัครราชทูตไทย เมื่อจะซ่อมแซมบ้านต้องใช้สถาปนิกไทยหรือสถาปนิกท้องถิ่นกันล่ะทีนี้

“สถาปนิกท้องถิ่น ตกแต่งภายในก็เป็นแบบไทยๆ แต่ข้างนอกต้องสถาปนิกท้องถิ่น อย่างที่บอกตอนต้นว่าเป็นบ้านอนุรักษ์ทางประวัติศาสตร์ จึงมีข้อจำกัด ทราบดีว่าหลายแห่งสร้างศาลาไทย แต่ที่นี่ด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ เราจึงตั้งศาลาไทยที่สถานทูต นี่คือสิ่งที่ทำ ไม่ได้ไปรื้อแล้วทำอะไรใหม่ และสร้างให้กลมกลืน ส่วนใหญ่เฟอร์นิเจอร์ก็จะเป็นของไทยๆ”

Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้

“ที่บอกว่าภายในตกแต่งเป็นแบบไทย ต้องมีคนมาดูแลเฉพาะมั้ย” เราถาม

“ตอนนี้เราทำกันเอง ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ให้ครบถ้วน” ท่านทูตตอบ

แล้วสิ่งที่มีที่ว่า มีอะไรบ้าง เราจะพาไปดู 

“ส่วนใหญ่เป็นของที่รัฐบาลไทยส่งมาให้ บางอันลองไปดูใกล้ๆ จะเขียนว่ากระทรวงการต่างประเทศ เช่น เบญจรงค์ แต่บางอย่างก็ได้มา เพิ่งไปพบนายกเทศมนตรีเคปทาวน์ เขาก็ให้ของมา” 

Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้
Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้

คนทุกคนย่อมมีของชิ้นโปรด…

“แหม จริงๆ แล้วมีเหมือนกันฮะ มีของพวกเบญจรงค์และชุดเก้าอี้ไทย และของจากที่เราไปแต่ละที่แล้วเอามาด้วย จากจีนคือภาพวาดพู่กันแบบจีนรูปแพนด้า ชุดน้ำชา มีงานปักด้วย จากอาหรับเอมิเรตส์ก็เอามาเหมือนกัน มีตึก Burj Khalifa ทำด้วยแก้ว สูงเท่าครึ่งตัวผม มันเป็นความทรงจำน่ะ ของที่รัฐบาลส่งมาให้ก็อยู่ที่นี่ มีของที่ใช้ในบ้าน ของสำหรับเลี้ยงแขก”

Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้
Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้

นอกจากตัวบ้านจะสวยและสำคัญ แต่สวนกว้างด้านนอกหน้าต่างนั่นก็ยังคงดึงดูด ก่อนหน้านี้เรามีโอกาสได้เดินชมสวน ถึงมีเวลาสักพักก่อนมื้อค่ำก่อนการสนทนา ก็ยังเดินไม่รอบสวนแห่งนี้อยู่ดี พนันเลยว่าถ้าใครได้ลองมาเดินเล่นในสวนหลังทำเนียบฯ ความเร็วจะลดลงจนเหลือไม่แซงหอยทาก แม้หมู่บ้านที่ตั้งของทำเนียบฯ จะติดถนนใหญ่ แต่กว่าจะถึงตัวทำเนียบฯ ก็ต้องลดเลี้ยวซ้าย-ขวาเข้าซอยนั้นออกซอยนี้ ที่นี่จึงตัดขาดจากความวุ่นวายภายนอก โดยเฉพาะสวนหลังทำเนียบฯ ที่ถ้าเดินแหงนคอดูต้นไม้สูงไปด้วย เงี่ยหูฟังเสียงนกไปด้วย แล้วละก็ ลืมเวลาเลยล่ะ  

Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้
Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้

“ที่นี่เรามีต้นไม้เยอะหน่อย และเราพยายามรักษาต้นไม้เก่าๆ ที่อยู่มานาน” ท่านทูตเล่า 

“ต้นไหนเก่าแก่ที่สุด” เราถาม

“ต้นชัยพฤกษ์ และพริทอเรียเองมีดอกไม้ประจำเมืองคือ แจ็กกาแรนด้า (Jacaranda) ต้นแจ็กกาแรนด้าตามแนวถนนทำเนียบฯ ถือว่าเก่าแก่มาก ถ้ามาตอนเดือนตุลาคมจะเป็นช่วงที่ออกดอกสีสวยมาก”

“มีคนพูดว่าย่านที่สวยที่สุดเวลาดอกแจ็กกาแรนด้าบานคือบรู๊กลิน เพราะทั้งสองข้างทางมีต้นแจ็กกาแรนด้ายาวเป็นแนว เวลาออกดอกก็จะออกพร้อมๆ กัน” คุณเสาวณีย์ สุวรรณสาร เลขานุการตรี มาร่วมวง

ทำเนียบทูต แอฟริกาใต้
ภาพ : live.staticflickr.com
ทำเนียบทูต แอฟริกาใต้
ภาพ : upload.wikimedia.org

ถ้าใครนึกหน้าตาดอกแจ็กกาแรนด้าไม่ออก นอกจากจะเปิดตำราพฤกษศาสตร์หรือเสิร์ช Google อีกวิธีคือให้ไปดูละคร ข้ามสีทันดร เพราะถ่ายทำที่พริทอเรียและมีฉากแนวต้นแจ็กกาแรนด้าที่ออกดอกสีม่วงสวย และถ้าชื่อแจ็กกาแรนด้ายังไม่ค่อยคุ้นหู จะบอกว่าชื่อไทยก็คือ ศรีตรัง

Home-made

พอต้องอยู่หลายที่ ต้องปรับการใช้ชีวิตในที่ที่แตกต่างบ้างมั้ย-เราสงสัย

“พวกเราที่เป็นนักการทูตจะต้องปรับตัวให้เข้ากับที่ที่เราไปอยู่ ปรับตัวกับวัฒนธรรม ปรับตัวกับการใช้ชีวิต แต่แน่นอน เรายังต้องคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของเรา เพราะเราเป็นคนไทย แค่เราต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพและใช้ประโยชน์จากการอยู่ตรงนั้นให้มากที่สุด เพื่อจะได้ศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมของเขา ไม่งั้นก็คงไม่ต้องมาอยู่ที่นี่ นั่งอยู่ที่บ้านอ่านผ่านอินเทอร์เน็ตก็ได้ แต่ก็ไม่สู้การมาใช้ชีวิตที่นี่

ทำเนียบทูต แอฟริกาใต้

“น้องๆ เจ้าหน้าที่ที่อยู่ที่นี่ ทางสถานทูตก็ไม่ให้นั่งทำงาน นั่งเขียนเอกสาร อยู่แต่ในห้องทำงาน แต่ส่งเสริมให้ออกไปใช้ชีวิต ต้องออกไปศึกษาสิ่งที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อน เช่น วิทยาการของเขา หรือสถานที่ทางประวัติศาสตร์ เยอะแยะเลยครับ”

Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้
Brooklyn House ทำเนียบทูตไทยในพริทอเรีย อดีตบ้านหลังสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้

“ได้ยินว่ามีภาษาราชการสิบเอ็ดภาษา มีการปรับตัวเป็นพิเศษเพื่อแอฟริกาใต้ไหม”

ใช่ค่ะ คุณอ่านไม่ผิด ประเทศแอฟริกาใต้มีภาษาราชการทั้งสิ้น 11 ภาษา คือภาษาอังกฤษ ภาษาแอฟริกานส์ ภาษาซูลู ภาษาโชซา ภาษาสวาตี ภาษาเอ็นเดเบลี ภาษาซูทูใต้ ภาษาซูทูเหนือ ภาษาซองกา ภาษาสวันนา และภาษาเวนดา

“ใช่ครับ แต่ตอนนี้ยึดอยู่สองภาษาครับ ภาษาไทย กับภาษาอังกฤษ (หัวเราะ) ยังไม่ได้เริ่มเรียนภาษาแอฟริกานส์” 

ท่านทูตประจำมาหลายประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศก็อยู่คนละทวีป รวมถึงประเทศนี้ ประเทศแอฟริกาใต้มีความสนุกท้าทายอะไรไหม

“ที่นี่มีซาฟารี เพราะว่านี่เป็นคัลเจอร์ของเขา และเขาภูมิใจว่าเขาธรรมชาติให้ดู อย่างกรุงพริทอเรียเป็นเมืองทางด้านบริหาร เคปทาวน์คือเมืองทางด้านสภา แล้วยังมีเมืองโบรฟองเทซึ่งเป็นเมืองทางด้านกฎหมาย แอฟริกาใต้มีเรื่องสนุกให้เล่าเยอะ เพราะคนเขาหลากหลาย”

ทำเนียบทูต แอฟริกาใต้
ทำเนียบทูต แอฟริกาใต้

เกริ่นไว้ว่า ทำเนียบฯ นี้ต่างจากแห่งอื่น คือไม่ได้ตั้งอยู่โดดๆ หากแต่เป็นบ้าน ตั้งอยู่กลางหมู่บ้านที่ผู้คนในประเทศนี้อาศัยกัน อยากให้ท่านทูตเล่าถึงเพื่อนบ้านให้ฟังสักนิด 

“บรู๊กลิน ชุมชนที่ตั้งทำเนียบฯ เป็นชุมชนที่ดี เพื่อนบ้านน่ารักทุกคน เจอกันอยู่เรื่อย บางทีก็นัดทานข้าวกัน เพราะถือว่าพวกเขาเป็น Friends of Thailand

“เมื่อวันก่อนจัดอาหารไทยเลี้ยง เขาก็ชอบ เราคือเพื่อนบ้านกัน เขาก็ช่วยดูเรื่องความปลอดภัย อยู่เป็นชุมชนที่พักอาศัย ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Residential และพริทอเรียเองเป็นเมืองที่น่ารัก” ไม่ต้องขยายความเราก็พอจะเดาออกได้จากรอยยิ้มของท่านทูต 

“แล้วเพื่อนบ้านเป็นใครบ้าง” เราถาม

“เป็นคนที่นี่เลย บางคนเป็นคนอังกฤษก็มี แต่ส่วนใหญ่เกิดและอยู่ที่นี่มานาน น่ารักมาก บางทีก็เดินไปทักทายกัน” 

“หมู่บ้านนี้ใหญ่ไหม” 

“บรู๊กลินนี่ก็ห้าร้อยหลังคาเรือนนะ เยอะเหมือนกัน” 

“มีฉายาของย่านไหม”

“เดี๋ยวผมอยู่ๆ ไปแล้วผมจะตั้งเอง (หัวเราะ)”

Writer

Avatar

ศกุนตลา แย้มปิ๋ว

นักเรียนวรรณคดีที่มักเรื่องอาหาร ท้องถิ่น วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การเดินทาง และเด็กจิ๋ว มีความฝันสามัญว่าอยากมีเวลาทำอาหารรสที่ชอบด้วยตัวเอง ตัวอยู่กรุงเทพฯ อัมพวา หรือเมืองกาญจน์ แต่ใจและภาพอินสตาแกรมอยู่ทุกที่ที่ไปเที่ยว

Photographer

Avatar

กิตติคุณ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

เติบโตที่เชียงใหม่ ชอบถ่ายภาพฟิล์ม รักงานภาพเคลื่อนไหว ดูหนังเป็นชีวิตจิตใจพอๆกับฟังเพลง และชอบตัวเองตอนออกเดินทางมากๆ