ผมยืนอยู่หน้าบ้านสองชั้นหน้าตาโมเดิร์นตามยุคสมัยช่วงทศวรรษ 1920 ซึ่งตั้งอยู่ที่เลขที่ 1 ถนน Podbielskiallee ในย่าน Dahlem ซึ่งเป็นเขตที่อยู่อาศัยในกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของประเทศเยอรมนี กรุงเบอร์ลินนั้นผ่านเรื่องราวมามากมาย ทั้งสงคราม การพ่ายแพ้ การถูกยึดครองโดยฝ่ายสัมพันธมิตรและสหภาพโซเวียตที่แบ่งเมืองออกเป็นเบอร์ลินตะวันตกและเบอร์ลินตะวันออกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการกลับมาเป็นเมืองหลวงอีกครั้งเมื่อเยอรมนีรวมชาติเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้ง หลายคนที่เคยมาคงจะเห็นภาพความเป็นเมืองที่ยังมีตึกเก่ารกๆ ปะปนไปกับตึกระฟ้าเช่นเดียวกับมหานครอื่นๆ ในโลก

และบ้านสองชั้นตรงหน้านี่เอง คือที่ตั้งของทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งของทั้งสถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน ทำเนียบอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเบอร์ลิน และบ้านพักกงสุลใหญ่ ณ นครเบอร์ลิน

คุยกับเอกอัครราชทูตกรุงเบอร์ลินในเรื่องที่ไม่มีใครเหมือนของ ทำเนียบทูตไทยในเยอรมนี, สถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และปลายช่วงสงครามเย็น มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นที่บ้านหลังนี้จากเหตุการณ์ความรุนแรงและความปลี่ยนแปลงทางการเมือง อาทิ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทิ้งระเบิดในช่วงปลายสงคราม การสร้างหลุมหลบภัยในชั้นใต้ดินโดยรัฐบาลนาซี ซึ่งยังคงอยู่เป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำจนถึงปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งการที่หน่วยงานในพื้นที่ที่ควบคุมอสังหาริมทรัพย์ในเขตยึดครองนำบ้านหลังนี้ไปปล่อยเช่า โดยผู้เช่าได้นำบ้านไปทำเป็นบ้านพักคนชรา ในขณะที่สถานทูตไทยได้ย้ายจากเบอร์ลินไปตั้งอยู่ที่กรุงบอนน์ อันเป็นเมืองหลวงของเยอรมนีตะวันตก

ใน ค.ศ. 1989 กำแพงเบอร์ลินพังทลายลง นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์แล้ว ยังนำมาซึ่งการรวมประเทศเยอรมนีเข้าด้วยกัน และในเวลาต่อมา สถานทูตไทยจึงได้ย้ายจากกรุงบอนน์กลับมาที่เบอร์ลินอีกครั้ง จากทั้งหมดที่เล่ามา จะเห็นได้ว่าบ้านที่เบอร์ลินหลังนี้ น่าจะเป็นหนึ่งในทำเนียบทูตไทยไม่กี่แห่งในโลกที่ผ่านร้อนผ่านหนาวอย่างต่อเนื่องและโชกโชน และไม่น่าจะมีที่ไหนเหมือนกับที่นี่อีกแล้ว

คุยกับเอกอัครราชทูตกรุงเบอร์ลินในเรื่องที่ไม่มีใครเหมือนของ ทำเนียบทูตไทยในเยอรมนี, สถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน

และนับเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับเรา เพราะคนที่มาพาชมและเล่าเรื่องราวอันยาวนานของทำเนียบทูตในวันนี้ คือ เอกอัครราชทูตธีรวัฒน์ ภูมิจิตร นั่นเอง และนี่คือเรื่องราวของทำเนียบ สถานทูตและความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเยอรมนี

บ้านก่อนเป็นสถานอัครราชทูตไทยประจำกรุงเบอร์ลิน

คุยกับเอกอัครราชทูตกรุงเบอร์ลินในเรื่องที่ไม่มีใครเหมือนของ ทำเนียบทูตไทยในเยอรมนี, สถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน

บ้านหลังนี้เป็นบ้าน 4 ชั้น มีชั้นล่าง ชั้นบน ชั้นใต้หลังคา และชั้นใต้ดิน นอกจากนั้น ยังมีหลุมหลบภัยที่อยู่ลึกลงไปจากชั้นใต้ดินอีกระดับหนึ่ง ตั้งอยู่บนที่ดินขนาดเนื้อที่ 1,958 ตารางเมตร อาคารสร้างขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในสมัยที่เบอร์ลินเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรปรัสเซีย โดยมีหลักฐานการจดกรรมสิทธิ์เป็นครั้งแรกในสมุดทะเบียนที่อยู่ของกรุงเบอร์ลิน เมื่อ ค.ศ.1915 ว่าเป็นอาคารสร้างใหม่และเจ้าของมีชื่อว่า Dr. phil. Th. Gente

หลังจากนั้น ใน ค.ศ.1930 ในทะเบียนปรากฏการโอนกรรมสิทธิ์จากเจ้าของเดิมไปยัง L. Baruch, Merchant ซึ่งคาดว่าเป็นชื่อของ นาย Leo Baruch พ่อค้าชาวยิว มีระบุที่อยู่ของบริษัทสิ่งทอและเสื้อผ้าชื่อ Leo Baruch & Co. Textilwaren ไว้ที่อาคารแห่งนี้ ซึ่ง 8 ปีต่อมา ครอบครัว Baruch ได้ขายที่ดินและอาคารให้กับนาง Gladys Candler-Baker ชาวยิวด้วยกันในราคา 108,000 ไรช์มาร์ค และในวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1939 ซึ่งอยู่ในช่วงต้นของสงครามของจักรวรรดิที่ 3 ของพรรคนาซี พลตรีประศาสน์ ชูถิ่น (พระประศาสน์พิทยายุทธ) อัครราชทูตไทยประจำกรุงเบอร์ลินได้ซื้อที่ดินและอาคารหลังนี้จากนาง Baker ในราคา 115,000 ไรช์มาร์ค ทำการโอนและจดกรรมสิทธิ์ ณ หอทะเบียนที่ดินเขต Lichterfelde ในนามของราชอาณาจักรไทย โดยหอทะเบียนไม่ได้ออกโฉนดที่ดินให้ เพราะถือว่าผู้ซื้อมีกรรมสิทธิ์สมบูรณ์แล้วนับตั้งแต่การจดกรรมสิทธิ์ ณ หอทะเบียนที่ดิน พลตรีประศาสน์ฯ จึงได้ใช้ที่ดินและอาคารหลังนี้เป็นที่ตั้งของสถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน และทำเนียบที่พักของอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลินนับแต่นั้นมา

สถานอัครราชทูตไทยที่มีหลุมหลบภัยอยู่ในบ้าน

ในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารหลังนี้ได้รับความเสียหายบางส่วนจากการโจมตีทางอากาศ โชคดีที่อัครราชทูตและข้าราชการสถานอัครราชทูตฯ ร่วมกันดับเพลิงด้วยตนเองได้ทันเวลา บ้านจึงไม่เสียหายมากนัก และด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีสาส์นถึงรัฐบาลเยอรมนี เพื่อร้องขอความคุ้มกันแก่สถานอัครราชทูตฯ รัฐบาลเยอรมนีจึงจัดสร้างสร้างหลุมหลบภัยทางอากาศไว้ใต้อาคารโดยมีทางเข้าออก 2 ทาง ทางหนึ่งจากภายในอาคาร สำหรับข้าราชการสถานอัครราชทูตฯ และอีกทางหนึ่งจากด้านนอกของอาคาร สำหรับชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงให้ใช้หลุมหลบภัยนี้เป็นเครื่องกำบังการโจมตีทางอากาศได้

คุยกับเอกอัครราชทูตกรุงเบอร์ลินในเรื่องที่ไม่มีใครเหมือนของ ทำเนียบทูตไทยในเยอรมนี, สถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน

แต่เมื่อสงครามทวีความรุนแรงขึ้นจนกรุงเบอร์ลินใกล้จะแตก พระประศาสน์พิทยายุทธ อัครราชทูตฯ ได้สั่งอพยพข้าราชการและครอบครัวออกจากกรุงเบอร์ลินเพื่อหนีภัยไปอาศัยที่เมืองบาด กาชไตน์ ประเทศออสเตรีย ต่อมาไม่นานกองทัพโซเวียตก็ได้บุกเข้าถึงกลางกรุงเบอร์ลินเป็นประเทศแรก ก่อนสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ซึ่งพระประศาสน์พิทยายุทธได้ถูกทหารโซเวียตควบคุมตัวไปสอบสวนเป็นเวลาหลายวัน ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้กลับที่พัก ซึ่งเมื่อพระประศาสน์พิทยายุทธกลับถึงบ้าน พบว่าทำเนียบได้รับความเสียหายทั้งภายนอกและภายใน เอกสารถูกรื้อค้น และสมบัติของทางราชการบางส่วนถูกงัดแงะ บางส่วนถูกทำลาย 

หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน พระประศาสน์พิทยายุทธก็ถูกทหารโซเวียตควบคุมตัวอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ จุดหมายปลายทางคือกรุงมอสโก สหภาพโซเวียต ท่านอัครราชทูตต้องเดินทางรอนแรมทางรถไฟ และประสบความยากลำบากในค่ายกักกันใกล้กรุงมอสโกที่มีอุณหภูมิหนาวเย็นถึง -40 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลานานถึง 225 วัน หรือ 7 เดือนครึ่ง ก่อนได้รับการปล่อยตัว

จากสถานอัครราชทูตสู่บ้านพักคนชรา

ห่างจากกรุงมอสโกลงไปทางใต้ประมาณ 1,500 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเมืองตากอากาศริมชายฝั่งทะเลดำอันงดงาม ชื่อว่าเมืองยัลตา ณ ที่แห่งนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.. 1945 หัวหน้ารัฐบาล 3 ประเทศ หรือที่รู้จักกันในนามของ The Big Three ได้แก่ นายกรัฐมนตรีโจเซฟ สตาลิน ของสหภาพโซเวียต ประธานาธิบดีแฟรงกลิน โรสเวลต์ แห่งสหรัฐอเมริกา และนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลล์ ของสหราชอาณาจักร ได้ร่วมประชุมกันเพื่อจัดการกับเยอรมนีและประเทศในยุโรปที่ตกอยู่ใต้การยึดครองของเยอรมนี

ทันทีที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรที่ชนะสงครามได้เข้าครอบครองทั้งเยอรมนีและเบอร์ลิน และเข้าสู่ช่วงสงครามเย็น เกิดการแบ่งประเทศออกเป็นเยอรมนีตะวันออก ซึ่งมีกรุงเบอร์ลินเป็นเมืองหลวง และเยอรมนีตะวันตก ซึ่งมีกรุงบอนน์เป็นเมืองหลวง ในส่วนของกรุงเบอร์ลินเองนั้น ก็ถูกแบ่งเป็นเบอร์ลินตะวันออก ควบคุมโดยสหภาพโซเวียต และเบอร์ลินตะวันตก ควบคุมโดยสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ในต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1946

เขต Dahlem ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารสถานอัครราชทูตฯ อยู่ในเขตยึดครองของสหรัฐอเมริกา ซึ่งหน่วยงานควบคุมทรัพย์สินได้นำที่ดินและอาคารสถานอัครราชทูตถูกเจ้าหน้าที่นำไปให้เช่าต่อ มีกำหนด 3 ปี ตั้งแต่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1947 ถึง 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1950 เพื่อนำค่าเช่ามาใช้ซ่อมแซมตัวอาคารซึ่งได้รับความเสียหายจากภัยของสงคราม หน่วยงานควบคุมทรัพย์สินในเขตยึดครองนี้มีหน้าที่ดูแลอสังหาริมทรัพย์ ตราบเท่าที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ดูแลทรัพย์สินของตนไม่ได้หรือไม่ได้แต่งตั้งและมอบอำนาจให้ตัวแทนที่มีถิ่นที่อยู่ในเยอรมนีเป็นผู้ดูแลแทนตน ด้วยเหตุดังกล่าว รัฐบาลไทยจึงได้แต่งตั้งและมอบอำนาจให้นาย Otto Hagendon เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการดูแลทรัพย์สินของทางราชการ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1949 และสั่งการให้สถานอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน เป็นจุดประสานงานกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

คุยกับเอกอัครราชทูตกรุงเบอร์ลินในเรื่องที่ไม่มีใครเหมือนของ ทำเนียบทูตไทยในเยอรมนี, สถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน
คุยกับเอกอัครราชทูตกรุงเบอร์ลินในเรื่องที่ไม่มีใครเหมือนของ ทำเนียบทูตไทยในเยอรมนี, สถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1949 ฝ่ายพันธมิตรได้ออกกฎหมายมีใจความสำคัญว่า โดยที่รัฐบาลนาซีได้กดขี่ กลั่นแกล้ง ริบทรัพย์และบังคับซื้อทรัพย์สินของชาวยิวในช่วงระหว่างวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1935 ถึง 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1949 ฉะนั้น การซื้อขายหรือนิติกรรมใด ๆ ที่ได้กระทำไปโดยไม่ยุติธรรมในช่วงเวลาดังกล่าว ก็ให้เจ้าของเดิมมีสิทธิ์เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ ซึ่งการซื้อขายที่ดินและอาคารที่ใช้เป็นสถานอัครราชทูตไทยฯ กระทำขึ้นระหว่างระยะเวลาที่กฎหมายระบุไว้ จึงตกอยู่ในข่ายบังคับแห่งกฎหมายนี้ด้วย โดยเจ้าของเดิมได้เรียกร้องสิทธิ์ และท้ายที่สุดได้เรียกเก็บเงินจำนวน 50,000 ดอยช์มาร์คจากรัฐบาลไทย แต่รัฐบาลไทยปฏิเสธ 

ในระหว่างที่ข้อพิพาทดำเนินไปนั้น รัฐบาลไทยได้ยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตจากระดับอัครราชทูตขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูตกับเยอรมนีตะวันตก โดยได้จัดตั้งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบอนน์ ใน ค.ศ. 1953 และในที่สุด รัฐบาลเยอรมนีตะวันตกได้ยื่นข้อเสนอในการทำหนังสือประนีประนอม เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้รัฐบาลไทยต้องขึ้นศาล โดยเสนอจะออกเงินจำนวน 50,000 ดอยช์มาร์คแทน และได้คืนที่ดินและอาคารอดีตเอกสถานอัครราชทูตไทยฯ ให้แก่รัฐบาลไทย โดยมีนายสมจริง จริโมภาส เลขานุการโท สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบอนน์ เป็นผู้แทนรับมอบที่ดินและอาคารดังกล่าวคืนเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1962

ในช่วงเกือบ 20 ปี หลังจากที่ไทยได้รับที่ดินและอาคารคืนจากรัฐบาลเยอรมนีตะวันตก ทางรัฐบาลไทยได้ผู้เช่ารายใหม่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้ดำเนินงานบ้านพักคนชรา ยื่นความจำนงขอเช่าตึกเพื่ออยู่อาศัย และใช้ชั้นบนทำเป็นบ้านพักคนชรา ก่อนเปลี่ยนมือสู่ผู้เช่ารายใหม่อีก 2 – 3 ราย และยังคงเป็นบ้านพักคนชราต่อเนื่องมา จนกระทั่ง ค.ศ. 1983 รัฐบาลไทยมีนโยบายที่จะเปิดสถานกงสุลใหญ่ขึ้นในเบอร์ลินตะวันตกเพื่อดูแลคนไทยที่อาศัยอยู่ในเบอร์ลิน จึงได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบอนน์ ดำเนินการปรับปรุงและซ่อมแซมอาคารอดีตสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน เพื่อใช้เป็นสถานกงสุลใหญ่และบ้านพักของกงสุลใหญ่ เหมือนเช่นในอดีตที่เคยใช้เป็นทั้งสถานเอกอัครราชทูตและทำเนียบอัครราชทูต

และหลังจากที่เยอรมนีประกาศรวมประเทศใน ค.ศ. 1990 และย้ายเมืองหลวงกลับมาที่กรุงเบอร์ลินอีกครั้ง รัฐบาลไทยได้เริ่มเตรียมการย้ายสถานเอกอัครราชทูตจากกรุงบอนน์มายังกรุงเบอร์ลิน และโดยคำนึงว่าอาคารที่กรุงเบอร์ลินไม่สามารถรองรับภารกิจและบุคลากรของสถานเอกอัครราชทูตที่เพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลไทยจึงอนุมัติการจัดซื้อที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตแห่งใหม่ ณ อาคารเลขที่ 64/66 ถนน Lepsiusstrasse เขต Steglitz และเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1999 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ได้เปิดทำการที่อาคารแห่งใหม่นี้อย่างเป็นทางการ สำหรับอาคารเลขที่ 1 ถนนพอดเบียลสกี้ ซึ่งเดิมเป็นสถานกงสุลใหญ่ฯ นั้น ได้ใช้เป็นทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน จากนั้นเป็นต้นมา

คุยกับเอกอัครราชทูตกรุงเบอร์ลินในเรื่องที่ไม่มีใครเหมือนของ ทำเนียบทูตไทยในเยอรมนี, สถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน

ท่านทูตกับเยอรมนี

ท่านทูตธีรวัฒน์เล่าให้ฟังถึงชีวิตที่บังเอิญเหลือเกิน ในการออกมาประจำการยังต่างประเทศเพียง 2 ครั้งตลอดชีวิตการทำงานของท่าน ซึ่งมันน่าแปลกที่ทั้ง 2 ครั้งนั้นคือเยอรมนี

“ผมออกประจำการแค่สองครั้งเท่านั้นในชีวิตราชการ ครั้งแรกในตำแหน่งเลขานุการเอก ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบอนน์ ระหว่าง ค.ศ. 1996 – 1999 และอยู่ในเหตุการณ์การปรับสถานทูตที่บอนน์ให้เป็นสำนักงานส่วนหน้าและการเปลี่ยนสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเบอร์ลินให้เป็นสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ในช่วง ค.ศ. 1999

“เมื่อสถานภาพของเมืองเปลี่ยนไป ชื่อเรียกก็เปลี่ยนไปด้วย คำว่า กรุง กับ นคร นั้นแตกต่างกัน ‘กรุง’ ใช้เรียกเมืองหลวง ส่วน ‘นคร’ คือเมืองใหญ่ หลายท่านอาจไม่เคยทราบว่าในภาษาไทยนั้นมีเมืองหลวงสองเมืองในโลกที่เราไม่ใช้คำนำหน้าว่ากรุง ได้แก่ เวียงจันทน์และสิงคโปร์ ในประวัติความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเยอรมนี เบอร์ลินมีสถานะที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่ตลอด เคยเป็นกรุง เปลี่ยนเป็นนคร และได้กลับมาเป็นกรุงอีกครั้ง หลังจากที่ผมกลับจากการประจำการที่บอนน์ ผมก็กลับไปทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศและไม่ได้ออกประจำการที่ไหนอีกเลยเป็นเวลาสิบเจ็ดปี จนกระทั่งใน ค.ศ. 2016 ก็ได้กลับมาเยอรมนีอีกครั้งเพื่อปฏิบัติหน้าที่เอกอัครราชทูต”

ผู้ริเริ่มพัฒนาแบบทดสอบภาษาอังกฤษมาตรฐานสากลให้กับภาครัฐ

ก่อนหน้าที่จะมาประจำการรอบที่ 2 ที่เยอรมนี ท่านทูตธีรวัฒน์เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ ซึ่งเป็นสถาบันพัฒนาข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศและบุคลากรที่ทำภารกิจด้านการต่างประเทศ ซึ่งสถาบันนี้มีหลายส่วนงาน อาทิ ส่วนพัฒนาบุคลากร ศูนย์ภาษาต่างประเทศ ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ ส่วนงานทุนและความร่วมมือ และส่วนมาตรฐานและประเมินผล ซึ่งสิ่งที่ท่านทูตได้ต่อยอดเพิ่มเติมคือการพัฒนาแบบทดสอบภาษาอังกฤษสำหรับบุคลากรภาครัฐ ตามกรอบมาตรฐานการประเมินความสามารถทางภาษาของสหภาพยุโรป หรือ Common European Framework of Reference for Languages หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า CEFR

“ผมกับคณะทำงานได้ร่วมมือกันพัฒนาและจัดทำเครื่องมือวัดระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในสี่ทักษะ ได้แก่ ทักษะการฟัง พูด อ่าน และเขียน ตามกรอบมาตรฐานของ CEFR เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับบุคลากรภาครัฐของไทย ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของ CEFR คือไม่แสดงผลการวัดระดับเป็นคะแนน แต่บ่งชี้ระดับความสามารถในการใช้ภาษา โดยแบ่งเกณฑ์ออกเป็น A1 A2 B1 B2 C1 และ C2 

“นอกจากนั้น ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการวัดระดับและพัฒนาข้าราชการและบุคลากรที่ทำหน้าที่ด้านการต่างประเทศของหน่วยงานต่างๆ เนื้อหาของชุดข้อสอบที่พัฒนาขึ้นจึงสะท้อนการใช้ภาษาอังกฤษในการทำงานในชีวิตจริง เช่น การฟังและจับใจความการประชุมระหว่างประเทศ การกล่าวโต้ตอบ การอ่านเอกสารเฉพาะทาง การเขียนหนังสือราชการ หรือการเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ เป็นต้น ทั้งนี้ ในการพัฒนาชุดข้อสอบเพื่อวัดระดับแต่ละทักษะ คณะทำงานให้ความสำคัญต่อคุณภาพในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้สื่อจริงที่ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อการทดสอบ ความเที่ยงตรงของชุดข้อสอบ การทดลองการใช้ชุดข้อสอบ คุณสมบัติของผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมโครงการ”

จากโครงการเล็กๆ ที่เริ่มใน ค.ศ. 2012 ปัจจุบันชุดข้อสอบ DIFA TES (Devawongse Varopakarn Institute of Foreign Affairs Test of English Skills) ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐและให้บริการผู้สมัครทดสอบจำนวนมากจากทั่วประเทศ

คุยกับเอกอัครราชทูตกรุงเบอร์ลินในเรื่องที่ไม่มีใครเหมือนของ ทำเนียบทูตไทยในเยอรมนี, สถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน

กงสุลสัญจร

หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า นอกจากการให้บริการคนไทยในต่างแดนของสถานทูตและสถานกงสุลแล้ว ที่เยอรมนียังเป็นที่แรกที่คิดค้นการเดินสายพาเจ้าหน้าที่และทูตออกไปให้บริการประชาชนชาวไทยในเมืองอื่นๆ หรือที่เรียกว่า ‘กงสุลสัญจร’ 

“ฝ่ายกงสุลเป็นเสมือนหน้าต่างของสถานทูต สำหรับพี่น้องคนไทยที่อาศัยอยู่ต่างแดนจะรู้สึกว่าการมาสถานทูตคล้ายๆ กับการไปทำธุระที่อำเภอหรือเขต โดยส่วนใหญ่แล้วจะมายื่นขอต่อหนังสือเดินทาง ทำบัตรประชาชน จดทะเบียนเกิด ทะเบียนสมรส ทำใบมรณบัตร รับรองเอกสาร ไปจนถึงมาหย่อนบัตรเลือกตั้ง ในเยอรมนีมีคนไทยอยู่หลายหมื่นคนกระจายกันอยู่ในทุกรัฐ ในสมัยที่ ท่านทูตกษิต ภิรมย์ ประจำอยู่ เคยให้นโยบายไว้ว่า ข้าราชการสถานทูตต้องไม่นั่งเฉย คอยเพียงให้ประชาชนเดินมาหา แต่ควรต้องก้าวออกจากรั้วสถานทูตเพื่อไปหาประชาชน 

“ท่านทูตกษิต ภิรมย์ จึงได้ริเริ่มโครงการ ‘กงสุลสัญจร’ ขึ้นเป็นครั้งแรกในเยอรมนี นั่นคือการยกเอาเจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุลและข้าราชการผู้ใหญ่ของสถานทูตออกไปให้บริการประชาชนตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องเดินทางเข้ามายังเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ๆ ที่สถานกงสุลตั้งอยู่ ในการจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรนั้น บางครั้งสถานทูต สถานกงสุล ก็ได้รับความเมตตาจากคณะสงฆ์ที่กรุณาเอื้อเฟื้อวัดไทยให้ใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรม จึงเห็นได้ว่ากิจกรรมนี้นอกจากเป็นการอำนวยความสะดวกแก่พี่น้องคนไทยในพื้นที่แล้ว ยังส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นของชุมชนที่มีวัดไทยเป็นศูนย์รวมทางจิตใจด้วย ความคิดริเริ่มของท่านทูตกษิตได้กลายเป็นแนวปฏิบัติของสถานทูตและสถานกงสุลไทยทั่วทั้งโลกในเวลาต่อมา”

แต่งทำเนียบให้เป็นบ้านที่เล่าเรื่อง

“ทำเนียบทูตที่เบอร์ลินหลังนี้มีอายุประมาณหนึ่งร้อยปี ภายในออกแบบตามสถาปัตยกรรมยุโรปของยุคนั้น การทำให้ทำเนียบซึ่งมีความเป็นทางการสูงให้กลายเป็น ‘บ้าน’ ที่อบอุ่น และในขณะเดียวกันมีกลิ่นอายความเป็นไทย จึงเป็นโจทย์ที่ต้องขบคิด โดยทั่วไปเมื่อออกประจำการ ทูตส่วนใหญ่มักจะนำสิ่งของที่มีความหมายต่อจิตใจ ตลอดจนของประดับบ้านที่แสดงถึงเอกลักษณ์ไทยติดตัวเพิ่มเติมมาด้วย 

“สิ่งที่ผมนำมาด้วยจากบ้านที่ไทย ก็คือชุดภาพเขียนสีน้ำมัน เครื่องเบญจรงค์ และเครื่องเงินของบรรพบุรุษ ทุกครั้งที่มองเห็นของเหล่านี้ ทำให้ผมระลึกถึงครอบครัวที่เป็นรากเหง้าและพื้นฐานที่ทำให้ผมมีวันนี้ได้ และเวลาที่มีแขกต่างประเทศมาเยี่ยมเยือนที่ทำเนียบ ผมก็จะมีเกร็ดเรื่องเล่าไทยๆ ให้เขาฟังได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางนอกเหนือจากการเลี้ยงอาหารไทยในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรม วิถีไทยที่เรารักและหวงแหนให้แก่ชาวต่างชาติ” ท่านทูตเล่าถึงเทคนิคการทูตที่ซ่อนอยู่อย่างแนบเนียนในทำเนียบ

คุยกับเอกอัครราชทูตกรุงเบอร์ลินในเรื่องที่ไม่มีใครเหมือนของ ทำเนียบทูตไทยในเยอรมนี

วลีเยอรมันที่เรารู้จักกันทุกคน

ท่านทูตบอกเราว่า คนไทยแทบทุกคนคงรู้จักวลีเด็ดของยุคนี้ อันได้แก่ ประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก เพื่อก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ท่านทูตเล่าต่อว่า คำว่า 4.0 ถือกำเนิดขึ้นที่เมืองฮันโนเวอร์ มีความหมายถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เป็นการนำสารสนเทศและระบบดิจิทัลมาประยุกต์กับอุตสาหกรรม ให้เครื่องจักรกับเครื่องจักรสื่อสารกันเองเพื่อผลิตสินค้าตามความต้องการอันหลากหลายของผู้บริโภคแต่ละคน โดยใช้เทคโนโลยีที่รักษาคุณภาพและผลิตภาพที่สูง อาทิ 3D Printing, Big Data, Internet of Things เป็นต้น 

เบอร์ลินด้านที่คนไม่ค่อยรู้จัก

“เวลาพูดถึงเรื่องเยอรมนี แทบทุกคนก็จะคิดถึงเรื่องเครื่องจักร รถยนต์ เทคโนโลยีทางวิศวกรรม เวชกรรม แต่จริงๆ แล้วในเยอรมนีโดยเฉพาะเบอร์ลินยังมีเรื่องที่เราไม่ค่อยรู้กันอีกมาก ในแง่ของศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ภาพยนตร์ ดนตรี การพิมพ์ การถ่ายภาพ และอื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะเบอร์ลิน ถือเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผู้คนเข้าใจและยอมรับวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน รัฐบาลท้องถิ่นของเบอร์ลินไม่ปิดกั้นการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนหลากหลายเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ที่นี่ และสนับสนุนงบประมาณเพื่อการอนุรักษ์ศิลปวัตถุและส่งเสริมศิลปทุกแขนงของนานาชาติ เช่น พิพิธภัณฑ์และหอสมุดกลางเบอร์ลินเป็นที่เก็บหนังสือที่ทรงคุณค่าของไทย อาทิ หนังสือโบราณทางประวัติศาสตร์ ใบลานยุคอยุธยา ไปจนถึง ไตรภูมิพระร่วง ฉบับธนบุรี หรืองาน Berlinale ซึ่งเป็นเทศกาลภาพยนต์ประจำปีของเบอร์ลินที่สำคัญที่สุดของเยอรมนี ก็เป็นเทศกาลหนังทางเลือกที่ได้รับการยอมรับและมีผู้กำกับชาวไทยแวะเวียนมาเข้าร่วมแสดงผลงานไม่ขาดสาย 

“รวมไปถึงชาวเยอรมนีเป็นนักอ่านตัวยงมาแต่ไหนแต่ไร เยอรมนีมีมหกรรมหนังสือที่ใหญ่ที่สุดของโลก ต้องไม่ลืมว่าบิดาแห่งการพิมพ์คือโยฮันเนส กูเตนเบิร์ก (Johannes Gutenberg) นักประดิษฐ์ชาวเยอรมนีที่คิดค้นตัวพิมพ์โลหะและเครื่องพิมพ์เมื่อกว่าห้าร้อยปีมาแล้ว การที่เยอรมนีมีอุตสาหกรรมการพิมพ์มายาวนาน ส่งผลให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา ศาสนา และสังคมอย่างต่อเนื่อง นิสัยรักการอ่านจึงถือเป็นรากฐานของคนเยอรมนี ในช่วงที่ผ่านมามีนักเขียนไทยหลายท่านได้เดินทางมาเบอร์ลินเพื่อเปิดตัวงานเขียนของตนและได้รับการตอบรับที่น่าพอใจจากคนที่นี่

“หรืออย่างสถาปัตยกรรมและการออกแบบของศิลปินชาวเยอรมนี ก็มีอิทธิพลกับโลกตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสอนการออกแบบอย่างเบาเฮาส์ หรือศิลปะแบบนวศิลป์เยอรมนี ที่รู้จักในนามของยูเกนด์ชติล (Jugendstil) ในบ้านเรา พระราชวังรามราชนิเวศน์หรือพระราชวังบ้านปืนที่จังหวัดเพชรบุรี วังวรดิศ และตำหนักสมเด็จของวังบางขุนพรหมที่กรุงเทพฯ ก็สร้างและออกแบบโดยนายคาร์ล เดอริง (Karl Döring) สถาปนิกชาวเยอรมนี ในปัจจุบันมีนักศึกษาไทยจำนวนไม่น้อยที่สนใจมาศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมต่อในระดับปริญญาโทในเยอรมนี”

ศาลาไทยในเยอรมนี

เมื่อกล่าวถึงอิทธิพลของสถาปัตยกรรมเยอรมนีในประเทศไทยแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะพูดถึงสถาปัตยกรรมไทยอันงามสง่าในเยอรมนี ซึ่งท่านทูตเล่าให้ฟังถึงศาลาไทย 4 หลังในเยอรมนี ได้แก่ ศาลาไทย 2 หลังที่เมืองบาด ฮอมบวร์ก ศาลาไทยที่นครฮัมบวร์ก และศาลาไทยที่นครมิวนิก 

ศาลาไทยหลังแรกในเยอรมนีตั้งอยู่ที่เมืองบาด ฮอมบวร์ก เป็นศาลาที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในการเสด็จฯ มาประทับเพื่อรักษาพระวรกายที่เมืองแห่งนี้เมื่อ ค.ศ. 1907 ซึ่งกว่าจะสร้างแล้วเสร็จและมีพิธีเปิดศาลาก็ล่วงเลยมาถึง ค.ศ. 1914 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 

ศาลาหลังที่ 2 ที่เมืองบาด ฮอมบวร์ก ตั้งอยู่ข้างบ่อน้ำจุฬาลงกรณ์ จัดสร้างด้วยงบประมาณของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานในโอกาสครบ 100 ปีการเสด็จประพาสเมืองบาด ฮอมบวร์ก ศาลาไทยที่ฮัมบวร์กสร้างโดยคุณโวลฟ์กัง โครห์น อดีตกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในส่วนของศาลาไทยกลางน้ำในสวนสาธารณะเวสพาร์คที่นครมิวนิคนั้น สร้างโดยนายซี เดรเวส นักธุรกิจชาวเยอรมนีที่หลงใหลความงดงามของศิลปะไทย ศาลาไทยทุกแห่งคือสัญลักษณ์แห่งสายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่าง 2 ประเทศ

ความสัมพันธ์ด้านดนตรีระหว่างไทยและเยอรมัน

ศิลปแขนงสำคัญยิ่งอีกแขนงหนึ่งคือดนตรี เยอรมนีมีคีตกวีและวาทยากรที่มีชื่อเสียงระดับโลกจำนวนมาก มีวงซิมโฟนีออร์เคสตรา วงประสานเสียงชั้นนำของโลก มีเทศกาลดนตรีคลาสสิกระดับแนวหน้า มีมหาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มีอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดนตรีที่มีชื่อเสียง ทำให้เยอรมนีเป็นดินแดนแห่งดนตรีอย่างแท้จริง อนึ่ง ความเชื่อมโยงด้านดนตรีระหว่างไทยกับเบอร์ลินแน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆ วงดนตรี Berlin Philharmonic Orchestra เดินทางมาเปิดการแสดงที่หอแสดงดนตรีมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เมื่อปลาย ค.ศ. 2018

คุยกับเอกอัครราชทูตกรุงเบอร์ลินในเรื่องที่ไม่มีใครเหมือนของ ทำเนียบทูตไทยในเยอรมนี

ในเบอร์ลินมีมหาวิทยาลัยศิลปะที่สอนด้านการดนตรี ซึ่งมีนักศึกษาไทยศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเบอร์ลินในด้านดนตรีนั้นมิได้เพิ่งเริ่มก่อตัวขึ้น แต่มีมาแต่ในอดีต หลายท่านอาจเคยได้ยินเรื่องคณะละครนายบุศย์มหินทร์ที่เดินทางมาแสดงและบรรเลงดนตรีไทยที่ยุโรปเมื่อ ค.ศ. 1900 ซึ่งในครั้งนั้นได้มีการบันทึกเสียงเพลงไทยบนกระบอกขี้ผึ้งเอดิสัน (Edison Wax Cylinder) เป็นครั้งแรกของโลกที่กรุงเบอร์ลิน โดย ดร. คาร์ล ชตุมฟ์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ สถานทูตได้จัดสร้างชุดพระนางและบันทึกเพลงที่คณะละครนายบุศย์มหินทร์แสดงขึ้นใหม่ เพื่อมอบแก่พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาของเบอร์ลินในปีนี้ สถานทูตหวังว่าจะมีโอกาสร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์ฯ จัดการแสดงสดเพื่อชุบชีวิตการแสดงนาฏศิลป์และดนตรีของคณะละครโบราณของไทยขึ้นมาอีกครั้งในอนาคตอันใกล้

คุยกับเอกอัครราชทูตกรุงเบอร์ลินในเรื่องที่ไม่มีใครเหมือนของ ทำเนียบทูตไทยในเยอรมนี

ท่านทูตเล่าถึงโปรเจกต์ฟื้นคืนชีพวงดนตรีไทยที่มาเล่นที่เยอรมนีซึ่งน่าตื่นเต้นมาก และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้มีโอกาสติดตั้งเป็นนิทรรศการให้คนที่ไปศึกษาและชมการแสดงเพื่อระลึกถึงคณะละครนายบุศย์มหินทร์อีกครั้ง

ก่อนจะร่ำลาจากทำเนียบแห่งนี้ ท่านทูตทิ้งท้ายว่า ทำเนียบทูตที่เบอร์ลินนี้แม้จะไม่สวยงามโดดเด่นเหมือนกับทำเนียบแห่งอื่นๆ อีกทั้งมีร่องรอยแห่งกาลเวลาที่ผ่านไป แต่ริ้วรอยจากประสบการณ์อันเข้มข้นและยาวนานที่ทำให้เราเห็นและย้อนคิดถึงเรื่องราวมากมายที่เคยเกิดขึ้น คือเสน่ห์ของทำเนียบแห่งนี้ที่ไม่มีใครเทียบได้เลยจริงๆ


ขอขอบคุณ

ธีรวัฒน์ ภูมิจิตร เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน

สุชญา ตันเจริญผล เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ฝ่ายสารนิเทศและผู้ดำเนินโครงการ

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan