ดนตรีสดดังขึ้นพร้อมการปรากฏตัวของบรรดาสตรีไทยที่เรียงแถวเดินลงมาจากบันไดหินอ่อนหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอาบูดาบี แฟชั่นโชว์ชุดไทยของโครงการ THAI Textiles The Touch of Thai ในปี 2019 พาเรามาเยือนงาน Thai Festival ที่เมืองหลวงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สีสันของผ้าไหมผ้าฝ้ายฝีมือดีไซเนอร์ไทยเป็นที่จับตามองของชาวต่างชาติมากหน้าหลายตา สมความมุ่งหวังให้ชาวตะวันออกกลางได้รู้จักวัฒนธรรมไทยมากขึ้น 

นอกจากเป็นสถานที่จัดงานแฟชั่นโชว์ที่สวยงามโดดเด่น สถานทูตไทยแห่งนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศตลอดมา เราจึงขอเคาะประตูห้องทำงาน เข้าไปคุยกับข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ 2 ท่าน คุณธฤษ คีรีรัฐนิคม ที่ปรึกษา (Counsellor) และ คุณพีรภัทร บุษปะเวศ เลขานุการเอก (First Secretary) แห่งสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงอาบูดาบี ผู้ยินดีพาเราไปทำความรู้จักดินแดนแห่ง 7 รัฐทะเลทราย และสัมพันธภาพระหว่างแดนตะวันออกกลางกับเมืองไทย ซึ่งแน่นแฟ้นชิดใกล้ตลอดมา

สถานทูตไทยกรุงอาบูดาบี ในวังที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, UAE

ดินแดนแห่ง 7 รัฐ

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เกิดขึ้นในปี 1971 หรือ 49 ปีก่อน จากการรวมตัวของ 7 ชนเผ่า ก่อนหน้านี้อยู่เป็นรัฐอิสระที่เรียกว่ารัฐทรูเชียล (Trucial States) ซึ่งรวมตัวก่อตั้งประเทศ United Arab Emirates (UAE) เพื่อปกป้องอธิปไตยของดินแดน หลังสหราชอาณาจักรถอนตัวจากภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย และประเทศอิหร่านเข้ามารุกราน 

สถานทูตไทยกรุงอาบูดาบี ในวังที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
สถานทูตไทยกรุงอาบูดาบี ในวังที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ประเทศกาตาร์และบาห์เรนก็เคยอยู่ในกลุ่มรัฐเหล่านี้ แต่ตัดสินใจแยกตัวไปตั้งประเทศเอง ในรัฐ 7 รัฐที่รวมกลุ่มกัน อาบูดาบีคือรัฐที่ใหญ่และร่ำรวยที่สุด มีพื้นที่ 87 เปอร์เซ็นต์ครอบคลุมประเทศ เป็นหลักเรื่องค้าขายน้ำมัน รายได้มหาศาลของทรัพยากรนี้ผลักดันภาคส่วนอื่นๆ ให้เติบโต ส่วนรัฐดูไบมีพื้นที่ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ แต่เป็นเมืองท่าที่โดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยว รัฐอื่นๆ อีก 5 รัฐ ได้แก่ ชาร์จาห์ (Sharjah), อัจมาน (Ajman), อุมม์อัลไกไวน์ (Umm Al-Quwain), ฟูไจราห์ (Fujairah) และราสอัลไคมาห์ (Ras Al Khaimah) ดูแลอุตสาหกรรมอื่นๆ 

สถานทูตไทยกรุงอาบูดาบี ในวังที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ภาพ : Wadiia
สถานทูตไทยกรุงอาบูดาบี ในวังที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ภาพ : www.jonnyjoka.de

UAE ปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผู้นำองค์แรกคือ เชค ซายิด บิน สุลต่าน อัล นาห์ยัน (Sheikh Zayed bin Sultan Al Nahyan) ผู้ก่อตั้งประเทศ ราชวงศ์ Al Nahyan แห่งรัฐอาบูดาบีนี้เป็นผู้นำสูงสุดมาโดยตลอด ปัจจุบันชีคจากราชวงศ์นี้เป็นประธานาธิบดี ส่วนชีคจากราชวงศ์ Al Maktoum แห่งดูไบ ครองตำแหน่งรองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ซึ่งจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุกๆ 5 ปี โดยมีเจ้าผู้ครองรัฐแต่ละรัฐเป็นผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง และต่างก็ให้เกียรติราชวงศ์ Al Nahyan ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่มีความสำคัญและได้รับความเคารพอย่างยิ่งใน UAE

ประชากรประเทศนี้มีราว 10 ล้านคน แต่มีชาว UAE แท้ๆ เพียงประมาณ 1 ล้านคนเท่านั้น นอกจากนั้นเป็นชาวอินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ และอื่นๆ ที่เข้ามาทำงานในแดนทะเลทราย 

เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน UAE เป็นมุสลิมสายกลาง เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเรียนมหาวิทยาลัย เป็นนักการเมือง ขับรถเองได้ ทั้งยังตั้งสถาบันวิจัยเทคโนโลยี ซื้อสาขามหาวิทยาลัยต่างๆ จากนิวยอร์ก ปารีส ฯลฯ มาเปิดเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้คนในประเทศ ชาวต่างชาติในประเทศก็เยอะมาก ประเทศเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก นักท่องเที่ยวมาเที่ยวได้โดยไม่ต้องอึดอัด เฉลิมฉลอง ดื่มกินอาหารได้ถูกกฎหมายหากอยู่ในที่ปิด นอกจากนี้ยังมีโบสถ์คริสต์หลายแห่ง และมีวัดพุทธจากศรีลังกาด้วย

ด้านสภาพอากาศ หน้าร้อนที่นี่ร้อนจัด อาจดุเดือดถึง 50 องศาเซลเซียส และลดเหลือ 37 – 38 องศาเซลเซียสยามกลางคืน คนที่นี่จึงนิยมอยู่ในอาคารเป็นหลัก อีกอย่างถ้าอุณหภูมิเกิน 50 องศาเซลเซียส แรงงานต่างๆ ต้องหยุดทำงานกลางแจ้ง เพราะสภาพอากาศเป็นอันตรายต่อสุขภาพมาก

ในแง่เศรษฐกิจ แม้ราคาน้ำมันโลกที่ผันผวนส่งผลทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่น้ำมันยังเป็นสินค้าหลักของประเทศ รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จึงพยายามขยายเศรษฐกิจภาคส่วนอื่นๆ จัดงานอีเวนต์ต่างๆ เพื่อผลักดันให้ต่างชาติมาลงทุนทำธุรกิจและท่องเที่ยว เช่น จัดงาน Asian Cup Football และงานมหกรรมโลก Dubai Expo ปี 2020 (ปัจจุบันเลื่อนไปเป็นเดือนตุลาคม ปี 2021) ซึ่งมีโซน Thai Pavillion ยิ่งใหญ่อลังการด้วย

สัมพันธ์กับแดนสยาม

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเมืองไทยในวันที่ 12 ธันวาคม ปี 1975 ประเทศไทยเริ่มเปิดสถานกงสุลใหญ่ที่ดูไบเมื่อเดือนมกราคม ปี 1992 หลังจากนั้นอีก 2 ปี เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1994 จึงเปิดสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงอาบูดาบี ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 เมษายน ปี 1998 ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศลาวและกัมพูชาด้วย

ความสัมพันธ์ทวิภาคีเป็นไปอย่างราบรื่น ราชวงศ์มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ด้านเศรษฐกิจ UAE เป็นตลาดนำเข้าน้ำมันอันดับหนึ่งของไทย ส่วนสินค้าที่ไทยส่งออกมาแดนตะวันออกกลางมีหลากหลาย ทั้งอัญมณี ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องปรับอากาศ เป็นสินค้ายอดนิยม และรถยนต์ก็เป็นที่ชื่นชอบ เพราะผ่าน GCC Specs ทนต่อสภาพอากาศในประเทศนี้ได้ ทั้งทนแดด ทนฝน ทนลม ทนทราย 

สถานทูตไทยกรุงอาบูดาบี ในวังที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ที่ปรึกษาสถานทูตไทยเล่าว่า เอกลักษณ์รถที่นี่คือเหล็กหนาและช่องเติมน้ำมันมีตัวกรองทราย เป็นสเปกพิเศษสำหรับขายตะวันออกกลางเท่านั้น การค้าอื่นๆ ก็มีโอกาสขยายความร่วมมือได้อีกเยอะ โดยเฉพาะด้านพลังงาน แม้ธุรกิจระหว่างประเทศใดๆ ต้องให้ชาวเอมิเรตส์เป็นผู้ถือหุ้นหลัก 51 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป แต่กฎหมายคุ้มครองการลงทุนก็ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ น่าลงทุน

ในด้านความสัมพันธ์ระดับประชาชนและการท่องเที่ยว ชาวเอมิเรตส์ชื่นชอบเมืองไทยมากๆ จากประชากร 1 ล้านคน ปีหนึ่งมาเมืองไทยแสนกว่าคน (สถิติจากสำนักงาน ททท. ณ เมืองดูไบ ชาว UAE ไปประเทศไทยประมาณ 130,000 คน เมื่อ พ.ศ. 2562) ส่วนใหญ่มาท่องเที่ยวและรับบริการด้านสุขภาพ บางทีก็มาปีละ 2 – 3 ครั้ง เพราะชอบความสะดวกสบายและของกิน 24 ชั่วโมง นอกจากมาตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ก็ชอบไปเที่ยวพัทยา เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต กระบี่ 

อย่างไรก็ดี ชาวตะวันออกกลางเข้าใจผิดอยู่หนึ่งอย่างว่าเวลาทักทายคนไทย ต้องทักว่าสบายดี แทนที่จะเป็นสวัสดี เพราะมีคนอาหรับเอาคำว่าสบายดีไปร้องเพลงภาษาอารบิก ความเข้าใจผิดนี้เลยส่งต่อกันมาเรื่อยๆ 

“เรื่องความชื่นชอบนี่หายห่วง คนที่นี่ชอบเมืองไทยมากครับ เป็นความได้เปรียบของเรา เวลาติดต่อราชการหรืออะไรต่างๆ เขาให้ความร่วมมือค่อนข้างดี ถ้ามีโอกาสเจอคน UAE แล้วเราบอก I’m from Thailand. เขาก็จะทักว่า โอ้ สบายดี! เราก็ไม่รู้จะตอบยังไง คือเราสบายดี แต่เราก็ไม่ได้จะตอบว่าเราสบายดี (หัวเราะ) คนที่นี่ให้เกียรติคนไทย เขาประทับใจความเอื้ออาทร ความใจดี และความเอาใจใส่ของคนไทย เวลาเขาไปไทยเลยรู้สึกเหมือนไปบ้านที่สอง ไปอยู่ ไปกิน ไปใช้ชีวิตก็รู้สึกแฮปปี้ ผมเคยถามคน UAE ว่าทำไมยูชอบไปรักษาตัวที่ไทย เขาบอกพยาบาลไทยเอาใจใส่ ทุกคนดูแลเขาเหมือนเขาเป็นคนในครอบครัว” เลขานุการเอกกล่าวยิ้มๆ 

แม้คนไทยมาเยี่ยมประเทศนี้น้อยกว่า แต่ก็นิยมใช้บริการสายการบินของประเทศนี้บ่อยครั้งเวลาไปยุโรป เมืองหลวงอาบูดาบีมีสายการบิน Etihad ส่วนเมืองท่องเที่ยวอย่างดูไบมีสายการบิน Emirates ขับเคี่ยวกัน ชาวไทยที่มาเที่ยวหรือทำงานที่ดูไบนิยมขับรถมาเที่ยวอาบูดาบี เพราะเดินทางราวชั่วโมงครึ่งก็มาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ Louvre Abu Dhabi มัสยิด Sheikh Zayed Grand Mosque โรงแรมสุดหรู Emirates Palace ไปจนถึงสวนสนุก สวนน้ำต่างๆ ที่เหมาะกับการเที่ยวแบบครอบครัว

สถานทูตไทยกรุงอาบูดาบี ในวังที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
สถานทูตไทยกรุงอาบูดาบี ในวังที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
สถานทูตไทยกรุงอาบูดาบี ในวังที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
สถานทูตไทยกรุงอาบูดาบี ในวังที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ภาพ : Wikiemirati
สถานทูตไทยกรุงอาบูดาบี ในวังที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ภาพ : Chris Down

สถานทูตไทยในอาบูดาบี

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี เป็นสถานที่เช่า ย้ายที่ตั้งมาแล้ว 5 ครั้ง การค้นพบน้ำมันทำให้แดนทะเลทรายว่างเปล่าพัฒนาเติบโตอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 ปี บ้านช่องเล็กๆ กลายเป็นตึกสูง ค่าครองชีพแพงขึ้นมาก สถานทูตหลายแห่งต้องขยับขยายตลอด 

สาเหตุการย้ายสถานทูตไทยแตกต่างกันไป เช่น ภาวะเศรษฐกิจของไทย (ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง) เจ้าของสถานที่ต้องการบ้านคืน สถานที่ไม่เพียงพอต่อการดำเนินงานต่าง ๆ ทำให้ในอดีตต้องโยกย้ายราวๆ ทุก 5 ปี ก่อนมาอยู่ที่วังปัจจุบัน สถานทูตไทยอยู่ในพื้นที่ชุมชนบริเวณที่ชื่อว่า Al Maqta บนแผ่นดินใหญ่ของอาบูดาบี คฤหาสน์นั้นใหญ่โตและทำเลเหมาะสม แต่เมื่อเจ้าของสถานที่ต้องการมอบบ้านเป็นของขวัญให้ลูกชาย กระทรวงการต่างประเทศจึงเสาะหาที่ตั้งสถานทูตใหม่

สถานทูตไทยกรุงอาบูดาบี ในวังที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี ปี 2011 – 2016
ภาพ : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี

สถานทูตปัจจุบันอยู่ในวังของที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ย้ายมาตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

“ที่นี่เรายังไม่ได้ซื้อสถานทูตถาวรเหมือนกับที่อื่นๆ แต่ในอนาคตก็อาจมีการเจรจาตกลงกันครับ ถ้าเราซื้อที่เขา เขาต้องซื้อที่ของเราได้ในโลเคชันลักษณะคล้ายๆ กัน ปัจจุบันสถานทูต UAE เช่าที่อยู่ถนนวิทยุ ส่วนที่นี่ เงื่อนไขของเขาคือพยายามให้เราดูแลให้ดีที่สุด เราเลยทำให้โมเดิร์น ตกแต่งจนกลายเป็นสถานทูตได้ เอาของไทยมาประดับ ติดธงไทย ทำอะไรให้มันมีความเป็นไทยมากขึ้นโดยที่เขาไม่ว่าเลย” 

คุณพีรภัทรเล่าว่า วังนี้อยู่ในโซน 1 ของเมืองอาบูดาบี เป็นเกาะที่ถมขึ้นมาติดกับแผ่นดินใหญ่ พื้นที่สงบเงียบเต็มไปด้วยกระทรวงต่างๆ สำนักงาน สถานทูต วัง และอาคารบ้านเรือน ตัวสถานทูตไทยลักษณะโอ่โถง เหมาะสมกับการจัดงานสำคัญ เช่น งานพระราชพิธีถวายพระพรพระราชวงศ์ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา งานเลี้ยงอาหารค่ำรัฐมนตรี คณะทูต หรือแขกระดับสูง 

สถานทูตไทยกรุงอาบูดาบี ในวังที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
สถานทูตไทยกรุงอาบูดาบี ในวังที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
สถานทูตไทยกรุงอาบูดาบี ในวังที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
สถานทูตไทยกรุงอาบูดาบี ในวังที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

“ตรงกลางที่เป็นห้องโถง ภาษาอารบิกเขาเรียก Majlis คือห้องโถงกลางที่เปิดให้คนในครอบครัวนั่งรวมกัน คุยกันหลังกินข้าวเสร็จ ในยามบ่ายยามเย็น ห้องแบบนี้มีอยู่ในวังทุกที่เลยครับ เป็นโซนรับแขก เจ้าของบ้านจะนั่งอยู่ตรงกลาง ลูกๆ นั่งห้อมล้อม ผู้หญิงผู้ชายนั่งรวมกันได้บางแห่ง แต่บางที่ที่เคร่งจริงๆ จะนั่งแยกกัน ส่วน Majlis ที่นี่เราก็ดัดแปลงใช้จัดงานของไทย เช่น พิธีถวายพระพรหรือว่างานสวดมนต์ แต่ถ้าจัดงานที่มีแขกจำนวนมาก ท่านเอกอัครราชทูตอาจให้จัดที่ทำเนียบ แล้วแต่ความเหมาะสมครับ” คุณธฤษอธิบาย

“ท่านทูตไทยคนปัจจุบัน (ท่านทูตวราวุธ ภู่อภิญญา) บอกว่าที่ที่อาหารไทยอร่อยที่สุดในโลก ไม่ว่าในประเทศไหน ควรเป็นสถานทูตไทย ถ้ากินที่สถานทูตไม่อร่อย ที่อื่นยิ่งไม่ได้เลย ดังนั้น พ่อครัวแม่ครัวที่ท่านเลือกมาจึงต้องเป็นผู้มีความพิถีพิถันและดึงรสชาติอาหารไทยออกมาให้เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ” คุณพีรภัทรเล่าเสริมว่า ความท้าทายของเชฟประจำสถานทูตคือหาวัตถุดิบไม่ง่าย จึงต้องการดัดแปลงวัตถุดิบท้องถิ่นมาผสมผสาน เช่น ใช้มะเขือจากอินเดียแทนมะเขือไทย หรือพลิกแพลงสร้างรสชาติไทยออกมาให้ได้มากที่สุด

จุดเด่นอีกอย่างที่แสดงความเป็นไทยในสถานทูต คือภาพวาดฉลองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศครบรอบ 40 ปี ซึ่งอาจารย์เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ จากปัตตานีวาดให้ เมื่อมาเยือนงาน Thai Fest ในปี 2016

สถานทูตไทยกรุงอาบูดาบี ในวังที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

Thai Festival

ปัจจุบันชาวไทยที่มาทำงานและพักอาศัยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีราว 6,000 คน (ข้อมูลก่อนสถานการณ์ COVID-19) มีทั้งลูกเรือ เชฟ พนักงานสปา นักเรียน นักศึกษา นักมวย แรงงานไทยต่างๆ รวมถึงชาวไทยที่สมรสกับชาวต่างชาติ ทำให้มีการจัดตั้งชมรมมากมาย เช่น ชมรมสตรีไทยในอาบูดาบีและในดูไบ ชมรมเชฟ ชมรมนักเรียนไทย ซึ่งเข้มแข็งและจัดกิจกรรมสม่ำเสมอ

เมื่อสถานทูตจัดงาน Thai Festival หรือกิจกรรม Thai Way ให้คนไทยมาขายสินค้าไทย แสดงศิลปวัฒนธรรมไทย ชมรมเหล่านี้ก็ให้ความร่วมมืออย่างดี เช่น รำไทย แสดงแม่ไม้มวยไทย สาธิตการแกะสลัก ทุกวันศุกร์สถานทูตจะเปิดประตูให้สมาคมสตรีไทยมาจัดกิจกรรม เช่น สอนภาษาไทยให้เด็กๆ สอนโยคะ สอนแกะสลัก และอนุเคราะห์สถานที่ให้สมาคมชาวพุทธจัดกิจกรรมสวดมนต์ นั่งสมาธิในสถานทูต เพราะไม่มีวัดไทยในประเทศ สำหรับวันเด็ก นักเรียนไทยมุสลิมที่ UAE จะจัดแสดงวัฒนธรรมอารบิก เช่น การร่ายรำ การควงปืน 

“เมื่อก่อนเราจัด Thai Festival ที่ห้างสรรพสินค้า จัดมาสามปีติดต่อกันแล้ว มีเวทีมวยไปตั้งอยู่กลางห้าง ได้ผลตอบรับดีมาก คนมุงดูเป็นพันเลยครับ ชาวต่างชาติที่เรียนมวยไทยก็ขึ้นไปต่อยให้ดู มวยไทยฮิตติดลมที่นี่มาก ในแต่ละปีมีคนมาขอเรียนเยอะแยะ เขาอยากศึกษาเพราะเป็นศิลปะป้องกันตัว นอกจากนั้นก็สนใจการท่องเที่ยวและอาหาร พอให้ชิมผัดไท น้ำสมุนไพร พอชอบก็อยากรู้ว่าสิ่งนี้มีขายที่ไหนในอาบูดาบี” เลขานุการเอกเอ่ย

สถานทูตไทยกรุงอาบูดาบี ในวังที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
สถานทูตไทยกรุงอาบูดาบี ในวังที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
สถานทูตไทยกรุงอาบูดาบี ในวังที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ปี 2019 เป็นปีแรกที่ย้ายมาจัดงาน Thai Festival ในสถานทูต โดยมีแฟชั่นโชว์ผ้าไทยและการแสดงรำไทยจากโครงการ THAI Textiles The Touch of Thai มาประกอบเป็นโชว์หลัก ให้ชาวต่างชาติเห็นว่าผ้าไทยนำมาประยุกต์ใช้ได้หลายรูปแบบ ผลตอบรับน่าสนใจ เพราะชาว UAE สนใจแฟชั่น ชอบแต่งตัว และมีกำลังทรัพย์อยู่แล้ว ทำให้งานมีมิติหลากหลายสนุกขึ้น 

“คน UAE ชอบคนไทย ชอบสิ่งที่เราเป็นอยู่ ชาวตะวันออกกลางร่ำรวยมากนะครับ แต่คนไทยซื้อใจเขาได้ด้วยความจริงใจ เวลาใครแวะเวียนมา พวกเราก็พยายามบอกให้เก็บสิ่งดีๆ เหล่านี้ไว้เสมอ” 

เลขานุการเอกแห่งสถานทูตไทยในอาบูดาบีกล่าวตบท้าย

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล