The Cloud x Museum Siam

สมัยก่อนนอกจากกษัตริย์จะนิยมสร้างวัดเพื่อเป็นสถาปัตยกรรมคู่บ้านคู่เมืองในวาระต่างๆ ยังสร้างเพื่อแสดงถึงบุญญาธิการของผู้ปกครอง ณ ขณะนั้นเช่นกัน

วัดเป็นมากกว่าสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา วัดเป็นทุกอย่างตั้งแต่โรงเรียน สถานสงเคราะห์ ศูนย์รวมชุมชน แหล่งที่พึ่งทางใจ ไปจนถึงเป็น Art Gallery ชั้นดีที่เก็บรวบรวมผลงานศิลปะชั้นยอดและเก่าแก่เอาไว้ ทั้งลวดลายจากฝีไม้ลายมือของเหล่าศิลปินในอดีตที่ประทับไว้ตามจิตรกรรมฝาผนังของอุโบสถและวิหาร ลวดลายประดับตกแต่งตามประตู หน้าต่าง รวมถึงแผ่นศิลา รูปหล่อพระพุทธรูป ก็ล้วนเป็นผลงานศิลปะที่จัดแสดงในวัดทั้งสิ้น โดยเฉพาะบรรดาวัดหลวงในเกาะรัตนโกสินทร์ที่เป็นแหล่งรวมงานช่างฝีมือระดับประเทศ

เปิดดวงตาคู่ใหม่ด้วยการเยี่ยมเยียนวัดหลวง 11 แห่งในพระนคร ซึ่งไม่ได้มีจุดเด่นแค่เรื่องทำบุญ ไหว้พระ แต่เป็นแกลเลอรีที่เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจบรรจุเรื่องราวในอดีต พร้อมเปิดให้เข้าชมอยู่เสมอ

ประตูหน้าต่างประดับมุกญี่ปุ่น วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร 

ศิลปะจากนางาซากิบนประตูวัดหลวง

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร

ไข่มุกประดับญี่ปุ่นที่ไม่ต้องไปไกลถึงแดนอาทิตย์อุทัย เพียงเดินทางสู่ใจกลางพระนครเท่านั้น เมื่อเดินเข้าไปด้านในวิหารของวัด ลองสังเกตบานประตูและหน้าต่างโดยรอบ จะพบศิลปะโบราณที่ประดับงานมุกจากช่างฝีมือเมืองนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่นไว้ให้ชมด้วย

การตัดมุกเป็นชิ้นๆ ประกอบโครงร่าง พร้อมระบายสีฝุ่นจากวัสดุธรรมชาติผสมกับแร่เหล็กและอะลูมิเนียม ลงบนพื้นรักหรือเปลือกหอย โดยสีฝุ่นนั้นทำให้เกิดความระยิบระยับที่แตกต่างจากงานประดับมุกของญี่ปุ่นซึ่งนิยมโรยผงทองหรือเงินมากกว่า ตอนบนของบานเป็นภาพนก ต้นไม้ และดอกไม้ ด้านล่างสั่งทำพิเศษเป็นลวดลายบ้านและผู้คน 

หากต้องการเข้าไปชมประตูและหน้าต่างมุกประดับด้านใน อาจต้องไปในวันสำคัญทางศาสนา หรือวันปกติจะเปิดให้เข้าช่วงทำวัตรเช้า (09.00 น.) และเย็น (17.00 น.) เท่านั้น

วัดประจำรัชกาลที่ 4 นี้ถือเป็นวัดแรกของพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายที่ตกแต่งอย่างงดงาม ปัจจุบันแม้ชำรุดไปบ้าง แต่ยังคงเก็บสะสมศิลปะอันงดงามไว้ได้อย่างดี

ที่อยู่ : 2 ซอยสราญรมย์ ถนนราชินี แขวงพระบรมมหาราชวัง 

เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 08.00 – 18.00 น. 

แผ่นจารึกว่างเปล่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร

พื้นที่ว่างเปล่าที่แฝงความนัยประวัติศาสตร์

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ไม่ได้มีแค่ยักษ์วัดโพธิ์เท่านั้น เพราะวัดเก่าแก่อายุมากกว่า 230 ปีแห่งนี้มีศิลปะหลายแขนงที่ถูกสะสมไว้มากมาย และยังเต็มไปด้วยแผ่นศิลาจารึกสรรพความรู้และเรื่องราวในอดีตไว้กว่า 1,440 แผ่น ที่มากมายขนาดนี้เพราะสมัยก่อนยังไม่มีโรงเรียนให้สั่งสมความรู้ วัดคือแหล่งเรียนรู้ที่ดีที่สุดในช่วงเวลานั้น การจารึกความรู้เหล่านี้ไว้ ทำให้ผู้คนได้เรียนรู้อย่างทั่วถึงกัน

ของสะสมที่มีอายุมาก บ้างตัวอักษรเลือนหาย บ้างยังคงอ่านได้ชัดเจน แต่หากเดินเข้าไปในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ หรือวิหารพระนอน จะพบกับแผ่นจารึกเปล่าที่อักษรไม่ได้เลือนหาย แต่ยังไม่ถูกจารึกลายลักษณ์อักษรใดๆ ลงไปต่างหาก มีเพียงกรอบที่ตกแต่งไว้สวยงาม ซึ่งจริงๆ แล้วข้อความสำหรับจารึกลงบนแผ่นหินนี้ได้ถูกเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว ทว่ามีการผลัดแผ่นดิน แผ่นจารึกนี้จึงถูกทิ้งไว้เช่นเดิม สำหรับเนื้อความเตรียมจารึกเป็นเรื่องใดนั้น เพียงหันกลับไปมองฝั่งตรงข้ามกับแผ่นจารึกเปล่านี้ คุณก็จะได้คำตอบว่า สิ่งนั้นคือเรื่องราวพระราชดำริของรัชกาลที่ 3 ว่าด้วยการทรงสร้างพระพุทธไสยาสน์วัดพระเชตุพนฯ แห่งนี้

ที่อยู่ : 2 ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง

เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 09.00 – 17.00 น.

กระเบื้องเคลือบ 5 สี วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร

วัสดุแต่งวัดสีสดใสจากเมืองจีน

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร

หากมองผ่านประตูระเบียงคดในวัดราชบพิธฯ สุดลูกตา จะบรรจบกับศิลปะของฐานคูหาเจดีย์ที่ประดับไปด้วยกระเบื้องเคลือบลายเบญจรงค์ของพระมหาเจดีย์ทรงระฆังที่ตั้งเด่นสง่าอยู่ นอกจากนี้ยังมีซุ้มกระจกประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ โดยรอบทั้งสิ้น 14 ซุ้มด้วย

เครื่องกระเบื้องนำมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างตั้งแต่สมัยสุโขทัย และในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีการติดต่อการค้ากับจีนมาก เกิดเป็นการนำเทคนิคและนำเข้ากระเบื้องจากจีนมาตกแต่งวัด ตั้งแต่นั้นเรื่อยมาก็ใช้เทคนิคกระเบื้องในการก่อสร้างมากขึ้น จนสมัยรัชกาลที่ 5 มีการนำเข้ากระเบื้องและให้ช่างชาวจีนบรรเลงลวดลายเบญจรงค์สีสันสดใส ทั้งเขียว ชมพู เหลือง ฟ้า แดง ประดับลงที่พระเจดีย์ วิหาร และโบสถ์ ของวัด นานวันผ่านพ้นไป กระเบื้องเคลือบทั้ง 5 สีก็ยังได้รับการดูแลให้งดงามและชัดเจนจวบจนวันนี้

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร

ภายในวัดบนพื้นที่ขนาดเล็กๆ ตระการตาไปด้วยพระมหาเจดีย์ที่ตั้งไว้ตรงกลาง ห้อมล้อมด้วยระเบียง อุโบสถ วิหาร ตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงอยากให้เป็นตามแบบฉบับของวัดโบราณ ซึ่งต่างจากวัดอื่นๆ ที่มักสร้างพระอุโบสถไว้ตรงกลาง นอกจากนี้ในสมัยรัชกาลที่ 7 ยังโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์จนวัดแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นวัดประจำกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีถึง 2 พระองค์ด้วย

ที่อยู่ : 2 ถนนเฟื่องนคร แขวงวัดราชบพิธ 

เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 08.00 – 18.00 น. 

รูปหล่อภิกษุณี 52 องค์ วัดเทพธิดารามวรวิหาร

ประติมากรรมอ่อนช้อยรูปสตรีในพระพุทธศาสนา

วัดเทพธิดารามวรวิหาร

การพบปะรูปหล่อในครั้งนี้ ไม่ได้หมายถึงคนแต่อย่างใด หากแต่เป็นรูปหล่อองค์ภิกษุณี จำนวน 52 องค์ในวัดเทพธิดารามวรวิหาร วัดแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อสร้างให้กับพระธิดาอันเป็นที่รัก คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองศ์เจ้าหญิงวิลาส พระธิดาผู้ซึ่งมีพระสิริโฉมงดงาม ในสมัยรัชกาลที่ 2 – 3 นั้นถือเป็นช่วงที่การค้าขายกับจีนได้รับความนิยม สถาปัตยกรรมและศิลปะในวัดจึงได้รับอิทธิพลจากจีนไปโดยปริยาย ทว่าการสร้างสิ่งต่างๆ ในวัดจะเน้นความงดงามอ่อนหวาน เหมาะสมกับเจ้านายผู้เป็นสาวงามด้วย 

วัดเทพธิดารามวรวิหาร

รูปหล่อองค์ภิกษุณี 52 องค์เป็นรูปหล่อด้วยดีบุก ลงรักปิดทอง ซึ่งนั่งอยู่เรียงรายบนแท่นหินอ่อน หน้าองค์พระประธาน โดยแต่ละองค์มีอิริยาบถแตกต่างกันไป ทั้งนั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ นั่งตำหมาก ตลอดจนองค์ยืน 3 องค์ ส่วนตรงกลางมีภิกษุณีองค์เดียวที่อยู่ในท่านั่งขัดสมาธิปางมารวิชัย อันเป็นรูปหล่อของ ‘พระนางมหาปชาบดีโคตมี’ ภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา และเป็นแม่นมของเจ้าชายสิทธัตถะนั่นเอง

แม้จะดูเป็นรูปหล่อธรรมดา แต่หากดูถึงรายละเอียด นี่คือผลงานการหล่อมาตั้งแต่เมื่อ 183 ปีที่แล้ว ศิลปะโบราณยังถูกเก็บไว้อย่างดี รอคอยให้ผู้คนแวะเวียนผ่านเข้าไปดูและระลึกถึงเรื่องราวที่เคยถูกสอนในวิชาพระพุทธศาสนาถึงพุทธประวัติของภิกษุณีองค์สำคัญไปด้วยกัน 

ที่อยู่ : 42 ถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์

เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา  08.00 -17.00 น.

พระพุทธรูปฝาแฝด 156 องค์ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร 

พระพุทธรูปปางสมาธิที่เหมือนกันเป๊ะในระเบียงคด

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

วัดที่มีระยะเวลาการสร้างควบถึง 3 รัชกาลด้วยกัน โดยเริ่มสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้รับการเรียกขานอยู่หลายชื่อ ทั้งวัดมหาสุทธาวาส วัดพระโต วัดพระใหญ่ วัดเสาชิงช้า วัดสุทัศเทพธาราม จนเป็น ‘วัดสุทัศนเทพวราราม’ นามพระราชทานตามรัชกาลที่ 4 ในที่สุด

ใจกลางวัดเป็นวิหารหลวงหลังใหญ่ รายล้อมไปด้วยพระระเบียงคด อาคารที่หักมุมฉากล้อมรอบบรรจบกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมวิหารไว้ ความงดงามของระเบียงคดแห่งนี้ คือความเหมือนของอาคารที่ก่อปูนผนังเช่นเดียวกันทั้ง 4 ด้าน ช่องห่างเสาแต่ละห้องเท่ากัน รวมถึงความเหมือนของพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิลงรักปิดทอง ซึ่งประดิษฐานอยู่ในระเบียงก็มีขนาดเท่ากัน รูปลักษณ์ภายนอกเหมือนกันราวกับฝาแฝด และมีมากถึง 156 องค์วางเรียงกันตลอดแนว ปัจจุบันมีสภาพเปลี่ยนแปลงไปตามกาล แต่มีการลงรักปิดทองใหม่อยู่เสมอ มีบางองค์ที่เป็นสีดำสำริดรอการลงรักทองอยู่ด้วย

ที่อยู่ : 146 ถนนบำรุงเมือง แขวงวัดราชบพิธ

เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 08.30 – 17.00 น.

จิตรกรรมหนุมานอมพลับพลา วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

หนุมานอ้าปากบนผนังห้องหมายเลข 53 

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าวัดพระแก้ว  หนึ่งในวัดหลวงที่เชื่อว่าต้องเคยได้ยินชื่อกันอย่างน้อยสักครั้ง เป็นวัดที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งของพระบรมมหาราชวัง

จิตรกรรมฝาผนังบริเวณระเบียงคดรอบพระอุโบสถ เป็นภาพวาดบนฝาผนังเกี่ยวกับเรื่องราวในมหากาพย์วรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ มีจำนวนทั้งสิ้น 178  ห้อง ถ้าจะเดินดูให้ครบอาจต้องใช้เวลามากกว่าครึ่งวัน ดังนั้น เราจึงอยากชวนเดินไปที่ห้องหมายเลข 53 บนผนังปรากฏรูปวาดหนุมานขยายร่างใหญ่ยักษ์กำลังอ้าปากอมพลับพลาของพระรามไว้เพื่อป้องกันศัตรู เป็นฝีมือของ สง่า มะยุระ จิตรกรและผู้ก่อตั้งโรงงานทำพู่กันแห่งแรกของไทย หากค่อยๆ ไล่สายตาไปทั่วทั้งภาพอย่างช้าๆ เราจะเห็นรายละเอียดทั้งฉากทิวทัศน์ที่สมจริงเลียนแบบธรรมชาติ รวมถึงการเขียนภาพพระ เทวดา ลิง และยักษ์ที่มีกล้ามเนื้อเหมือนมนุษย์ ยิ่งถ้าได้อ่านกลอนที่เล่าเรื่องราวของหนุมานอมพลับพลา ตอนศึกไมยราพประกอบกันด้วยแล้ว จะยิ่งเพิ่มความสนุกให้กับการดูบันทึกประวัติศาสตร์ที่อยู่คู่กับเกาะรัตนโกสินทร์มาแสนนานอย่างแน่นอน

ที่อยู่ : ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง

เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 08.30 – 15.30 น.

พระวิหารโพธิ์ลังกา วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร

วิหารน้อย รายละเอียดไม่น้อย 

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร

พระวิหารโพธิ์ลังกา ตั้งอยู่ภายในวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหารอันเงียบสงบ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 บริเวณที่เคยเป็นพระตำหนักประทับของพระองค์เมื่อครั้งทรงผนวช

อาคารปูนสีขาวขนาดกะทัดรัดรายล้อมด้วยต้นไม้สูงใหญ่ ที่บานประตูมีความละเอียดลออของจิตรกรรมเอกรงค์ ที่เรียกว่าลายรดน้ำ หรือลายทองที่ล้างด้วยน้ำ เป็นการสร้างลวดลายของภาพให้ปรากฏเห็นเป็นสีทองเพียงสีเดียวด้วยแผ่นทองคำเปลวบนพื้นรักสีดำหรือสีเเดง โดยองค์ประกอบของภาพ เรื่องราว เเละลวดลายที่ปรากฏ มีหลายลักษณะ มีที่มาเเละเเรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ วรรณคดี ชาดก เเละพุทธประวัติ

หากลองสังเกตบานประตูพระวิหารโพธิ์ลังกาใกล้ๆ จะเห็นเป็นลวดลายพุ่มข้าวบิณฑ์งดงาม สะท้อนถึงคุณค่าของศิลปะไทยที่มีมาแต่โบราณ นอกจากนี้ ภายในพระวิหายังประดิษฐานพระนาค พระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยสุโขทัยตอนต้นให้ผู้คนได้มากราบไหว้อีกด้วย

ที่อยู่ : 3 ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง 

เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

พระปรางค์ วัดราชบุรณราชวรวิหาร

พระปรางค์ที่รอดพ้นจากระเบิดสงครามโลกครั้งที่ 2 

วัดราชบุรณราชวรวิหาร

เดินตรงมาจากปากคลองตลาด ก่อนจะเลี้ยวซ้ายไปโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เราจะเห็นพระปรางค์องค์หนึ่งตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ในบริเวณวัดราชบุรณราชวรวิหาร หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า วัดเลียบ

สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายโดยพ่อค้าชาวจีน เป็นวัดตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำเมือง และยังเคยเป็นที่พำนักของขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งได้แสดงผลงานไว้บนผนังอุโบสถ์สำคัญๆ หลายแห่ง

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดเลียบซึ่งอยู่ติดกับโรงไฟฟ้าโดนทิ้งระเบิดเสียหายทั้งวัด เหลือเพียงพระปรางค์องค์ใหญ่หน้าพระอุโบสถเพียงองค์เดียว จนต้องประกาศยุบวัด ต่อมาใน พ.ศ. 2491 ผู้มีศรัทธาได้ร่วมกันปฏิสังขรณ์ให้เป็นวัดตามเดิม

พระปรางค์สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบทั้งองค์ เป็นพระปรางค์ย่อมุมไม้ยี่สิบแปด มีฐานบัวซ้อนขึ้นไป 5 ชั้น แต่ละชั้นทำเป็นรูปมารแบกโดยรอบ ชั้นซุ้มค่อนข้างสูง เหนือชั้นซุ้มขึ้นไปเป็นชั้นกลีบขนุน 8 ชั้น ยอดพระปรางค์เป็นนภศูล มีมงกุฎครอบบนนภศูลอีกทีหนึ่ง นับเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง 

ที่อยู่ : 119 ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์

เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 06.00 – 18.00 น. 

ธรรมาสน์สังเค็ด วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร

งานไม้สลักสุดประณีต ที่ระลึกจากงานพระบรมศพ

สุดยอดงานศิลปะในวัดหลวง 11 แห่งใจกลางพระนครที่เป็นเหมือน Art Gallery ชั้นดี

ในพระราชประเพณีธรรมเนียมโบราณ งานพระราชทานเพลิงพระบรมศพจำเป็นต้องมีเครื่องสังเค็ด หรือของที่ระลึก เพื่อเป็นทานวัตถุสำหรับถวายแด่พระสงฆ์ที่มาเทศน์ทุกครั้ง ซึ่งเครื่องสังเค็ดมักเป็นของหนักหรือครุภัณฑ์ เช่น ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ 

ครั้นในงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 5 ใน พ.ศ. 2453 มีการถวายธรรมาสน์สังเค็ดชั้นเอกให้วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร เป็นธรรมาสน์ไม้จำหลักที่แกะสลักด้วยมืออย่างประณีต ปิดทองทึบ ตกแต่งด้วยกระจกสี ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของธรรมาสน์ชั้นเอก ครุภัณฑ์ทรงคุณค่าที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย

ที่อยู่ : ริมถนนจักรพงษ์ แขวงชนะสงคราม

เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น. 

ประตูเจดีย์ วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร 

เซี่ยวกาง ทวารบาลจีนบนประตูวัดไทย

วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร

หยุดก่อน! ก่อนที่จะเข้าไปกราบไหว้พระพุทธรูปหรือชื่นชมความงามของเจดีย์ ขอชี้เป้าให้ลองสังเกตสิ่งที่เรามักมองข้ามมาโดยตลอดอย่าง ‘ประตู’

เซี่ยวกาง คือทวารบาลที่รับอิทธิพลมาจากจีน มีลักษณะเป็นเทวดาไว้หนวดเครายาวเฟื้อย โดยเราจะพูดถึงเซี่ยวกาง 2 ตนที่เป็นเทวดาพิทักษ์ประตูวัดบวรนิเวศวิหารฯ ตนหนึ่งถือกริชและสามง่ามยืนบนหลังจระเข้ ส่วนอีกตนถือดาบและโล่ยืนบนหลังมังกร จะเห็นได้ว่าจากการที่ชาวจีนเข้ามาเมืองไทยมากขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 2 และ 3 ส่งผลต่อศิลปะและวัฒนธรรมของไทยเป็นอย่างมาก

วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร

อีกสิ่งที่น่าสนใจสำหรับทวารบาล 2 ตนนี้ คือบริเวณปากมีคราบสีดำติดอยู่ ซึ่งก็คือฝิ่นที่มาจากการแก้บน ส่วนทำไมต้องเป็นฝิ่นนั้น ต้องลองถามแม่ค้าขายพวงมาลัยแถวนั้นดู บอกเลยว่าแปลกมาก

ที่อยู่ : 248 ถนนพระสุเมรุ แขวงวัดบวรนิเวศ

เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.


อ่านเรื่องราวของ 200 ที่เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์เพิ่มเติมได้ที่นี่