ครบรอบ 53 ปีของโครงการหลวง สินค้าสดใหม่ปลอดภัยจากภูเขาที่ยกขบวนมาวางขายในกรุงเทพฯ ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2532 ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่งานโครงการหลวงได้เข้ามาจัดในพื้นที่ของศูนย์การค้าเซ็นทรัล และได้รับเสียงตอบรับจากผู้เข้าร่วมชมงานเป็นอย่างดีเสมอมา

ปีนี้งานโครงการหลวง 53 จึงมาภายใต้แนวคิด The Infinite Blooms มอบความสดใสจากผลผลิตที่เติบโตออกดอกออกผลอย่างอุดมสมบูรณ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และทีมออกแบบจากเซ็นทรัลพัฒนา ซึ่งมีไฮไลต์สนุก ๆ อย่างการเปิดตัวมะเขือเทศเชอร์รีเหลือง ดอกเอเดลไวส์จากเทือกเขาแอลป์ ต้นเฟิร์นกว่า 100 สายพันธุ์ และเวิร์กชอปงานทอผ้าใยกัญชงจากเจ้าของภูมิปัญญา

ลายแทงสินค้าน่าช้อปในงานโครงการหลวง 53 ตั้งแต่กาแฟ เบอร์รี ปลาเทราต์ ไปจนถึงกัญชง
ลายแทงสินค้าน่าช้อปในงานโครงการหลวง 53 ตั้งแต่กาแฟ เบอร์รี ปลาเทราต์ ไปจนถึงกัญชง
ลายแทงสินค้าน่าช้อปในงานโครงการหลวง 53 ตั้งแต่กาแฟ เบอร์รี ปลาเทราต์ ไปจนถึงกัญชง

ก่อนก้าวเท้าออกไปช้อปปิ้ง เราคัดสินค้าห้ามพลาด ไปจนถึงเรื่องราวเบื้องหลังความสมบูรณ์แบบของผลผลิตตั้งแต่ต้นทาง ระหว่างทาง ไปจนถึงปลายทาง มาแบ่งปันให้ทุกคนเห็นคุณค่าความตั้งใจของเกษตรกรผ่านตัวอักษรด้านล่างนี้

กาแฟอะราบิกาดอยหลวงอินทนนท์

“กาแฟมีมากมาย แล้วทำไมต้องเป็นกาแฟจากโครงการหลวงอินทนนท์” ถ้าใครกำลังตั้งคำถามนี้อยู่ ต้องมาหาคำตอบด้วยตัวเองในงานโครงการหลวง 53

ลายแทงสินค้าน่าช้อปในงานโครงการหลวง 53 ตั้งแต่กาแฟ เบอร์รี ปลาเทราต์ ไปจนถึงกัญชง

‘ปลูกในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลราว 2,500 เมตร บนดอยสูงที่อากาศเย็นชื้นตลอดปี มีร่มเงาของต้นไม้ มีแดดแซมรำไร นับเป็นบ้านอันสมบูรณ์ของต้นกาแฟ’ นี่คือจุดแข็งของอะราบิกาบนดอยอินทนนท์ 

กาแฟที่ดีต้องเลี้ยงลูกบนต้นนาน ๆ เพราะสารอาหารจะได้แทรกซึมเข้าไปในเมล็ดกาแฟเยอะ ๆ เมื่อถึงฤดูสุกในเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม เมล็ดจะไล่สีจากเขียวเปลี่ยนเป็นแดง เรียกว่ากาแฟเชอร์รี เหล่าเกษตรกรก็จะเก็บเจ้าเมล็ดเชอร์รีไปเข้าเครื่องกะเทาะเปลือกกลายเป็นกาแฟกะลา จากนั้นต้องนำไปล้างเมือกออกโดยการหมักน้ำนานถึง 48 ชั่วโมง เมื่อทำความสะอาดแล้วก็นำไปสีให้เกิดเป็นสารกาแฟ แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการคั่วตามวิถีชาวปกาเกอะญอ คือคั่วหม้อหรือกระทะกลางกองฟืน มีทั้งคั่วอ่อน คั่วกลาง คั่วเข้ม แต่ความยากปราบเซียนอยู่ที่จังหวะการคั่ว น้ำหนักมือต้องสม่ำเสมอ คนสารกาแฟอยู่ตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นจะทำให้กาแฟสุกไม่เท่ากัน หรือบางส่วนก็ไหม้ไปเลย สุดท้ายก็นำมาบดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ  

กว่าจะออกมาเป็นผงกาแฟ 1 ถุง ต้องผ่านหลายขั้นหลายตอนหลายกระบวนการเหลือเกิน

ลายแทงสินค้าน่าช้อปในงานโครงการหลวง 53 ตั้งแต่กาแฟ เบอร์รี ปลาเทราต์ ไปจนถึงกัญชง
ลายแทงสินค้าน่าช้อปในงานโครงการหลวง 53 ตั้งแต่กาแฟ เบอร์รี ปลาเทราต์ ไปจนถึงกัญชง

ปลาเรนโบว์เทราต์ มากับปลาสเตอร์เจียน

เจ้าปลา 2 ชนิดนี้แวกว่ายมาไกลจากอเมริกา เยอรมนี ภูฏาน และรัสเซีย สู่สถานีวิจัยประมงที่สูงดอยอินทนนท์

ปลาเรนโบว์เทราต์ ชื่อนี้ได้มาเพราะเอกลักษณ์ของสีข้างลำตัวหลากสีเหมือนสายรุ้ง ในช่วงที่ปลาอยู่ในสภาวะสมบูรณ์เพศระหว่างเดือนธันวาคมถึงมกราคม เรนโบว์เทราต์มีต่อมความรู้สึกที่ไวต่อเรื่องอุณหภูมิน้ำกับปริมาณออกซิเจนเป็นอย่างมาก เติบโตได้ดีในน้ำที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส ยิ่งอุณหภูมิน้ำต่ำลง ปลาก็จะกินอาหารได้มากขึ้น และน้ำที่ไหลต้องเป็นน้ำสะอาดเหมือนน้ำของลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยเดิม

ลายแทงสินค้าน่าช้อปในงานโครงการหลวง 53 ตั้งแต่กาแฟ เบอร์รี ปลาเทราต์ ไปจนถึงกัญชง

ส่วนสเตอร์เจียนต้องใช้เวลาเลี้ยง 7 ปี ถึงจะให้ไข่ จะแยกออกว่าเป็นตัวผู้หรือตัวเมียตอนอายุ 3 ปี โดยต้องเข้าเครื่องอัลตราซาวนด์เท่านั้น แยกด้วยตาเปล่าไม่ได้ ปลาสเตอร์เจียนโตเต็มวัยได้ถึง 75 ปี ในช่วงอนุบาลเป็นช่วงที่ดูแลยากที่สุด เพราะเป็นช่วงปรับเปลี่ยนอาหาร ต้องมีคนสลับกันมาดูตลอด 24 ชั่วโมง

เห็นเลขอายุที่การันตีความแข็งแกร่งของสเตอร์เจียนแบบนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปลาจะอึดถึกทนอยู่ได้ในทุกสถานการณ์ สเตอร์เจียนชอบแหวกว่ายบริเวณน้ำไหล แต่ถ้าน้ำไหลแรงเกินไป มีลมแทรกเข้ามาในท่อทำให้ออกซิเจนเบาบาง ปลาทั้งบ่ออาจตายได้ในเวลาเพียง 60 นาที 

ลายแทงสินค้าน่าช้อปในงานโครงการหลวง 53 ตั้งแต่กาแฟ เบอร์รี ปลาเทราต์ ไปจนถึงกัญชง

เพราะเหตุนี้ จึงต้องมีการผลัดเวรคนมาดูแลบ่อตอนกลางคืน หากเกิดปัญหาต้องรีบขึ้นไปปิดวาล์วน้ำบนเขา และอีกสิ่งที่ละเลยไม่ได้คือ เกษตรกรจะต้องถ่ายน้ำออกจากบ่อทุกวัน และล้างบ่อวันเว้นวัน เพราะสเตอร์เจียนเป็นปลารักสะอาด บวกกับไลฟ์สไตล์ที่ชอบกินอาหารก้อนจากใต้น้ำ การดูแลความสะอาดในบ่อจึงต้องให้ความสำคัญมากขึ้น

ลายแทงสินค้าน่าช้อปในงานโครงการหลวง 53 ตั้งแต่กาแฟ เบอร์รี ปลาเทราต์ ไปจนถึงกัญชง

ทั้งไข่คาเวียร์จากปลาสเตอร์เจียน และความตัวเล็กเนื้อแน่น มีไขมันดีเยอะของเรนโบว์เทราต์ เป็นแรงบันดาลใจให้เชฟรังสรรค์เมนูมากมายขึ้นมา มีขนมจีนน้ำยาปลาเทราต์สำหรับคนรักเส้น ข้าวซอยแห้งปลาเทราต์ที่นำเมนูประจำถิ่นอย่างข้าวซอยมาพลิกแพลงเป็นแบบแห้ง เพิ่มรสสัมผัสที่หลากหลายด้วยปลาเทราต์ทอดกรอบนอกนุ่มใน 

เอเดลไวส์ ดอกไม้แห่งรักแท้

ลายแทงสินค้าน่าช้อปในงานโครงการหลวง 53 ตั้งแต่กาแฟ เบอร์รี ปลาเทราต์ ไปจนถึงกัญชง

เจ้าดอกไม้จิ๋วสีขาว ๆ กลีบปุกปุยคล้ายปกคลุมด้วยหิมะนี้ ได้รับการขนานนามว่าเป็น ราชินีแห่งเทือกเขาแอลป์ เพราะเป็นดอกไม้เมืองหนาวจากสวิตเซอร์แลนด์ ดอกจะบานเพียงปีละ 3 ครั้งเท่านั้น และเมื่อเด็ดดอกออกจากลำต้น รูปลักษณ์ก็จะคงอยู่อย่างนั้นไม่เหี่ยวเฉา จึงสื่อความหมายว่าเป็นดอกไม้แห่งรักแท้

การออกปลูกคือต้องเกิดราก พอมีรากแสดงว่าเขาพร้อมที่จะออกสู่แปลงข้างนอก โดยกระบวนการเกิดรากมีอยู่ 2 วิธี คือ การเกิดรากในขวดแก้วและการเกิดรากในวัสดุปลูก ขั้นตอนการเกิดรากในขวดแก้วนั้นง่ายกว่ามาก แต่ที่หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้งเลือกใช้การเกิดรากในวัสดุปลูก เพราะโอกาสรอดของพืชมีความแน่นอนกว่า และเป็นผลดีในระยะยาวต่อการเติบโตของพืชในอนาคต

“เราทำทุกหนทาง ถึงแม้ว่ามันจะยุ่งยากกว่า แต่ขอให้มีต้นรอดไปจนถึงข้างนอก” นี่คือคำพูดที่หนักแน่นของนักวิจัย ผู้อยู่เบื้องหลังการเพาะพันธุ์ดอกเอเดลไวส์ที่งดงาม

ลายแทงสินค้าน่าช้อปในงานโครงการหลวง 53 ตั้งแต่กาแฟ เบอร์รี ปลาเทราต์ ไปจนถึงกัญชง

เจ้าหน้าที่ต้องเดินสำรวจในห้องทดลองทุกวัน คอยสังเกตวัสดุปลูกไม่ให้แห้งหรือแฉะเกินไป ผู้ดูแลต้องมีความรู้ความชำนาญ และระวังเชื้อจุลินทรีย์ที่จะปนเปื้อนเข้ามา เพราะหากมีเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อน พืชในห้องทดลองจะไม่รอดทั้งหมด โดยส่วนมากเชื้อจะติดมากับคน เจ้าหน้าที่ทุกคนจึงต้องปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่กระบวนการตัดเนื้อเยื่อ ทุกคนต้องสวมถุงมือทุกครั้ง ชิ้นส่วนห้ามออกนอกกระดาษรองตัด อุปกรณ์ทั้งหมดผ่านการฆ่าเชื้อ ทำความสะอาดทุกอย่าง หรือแม้กระทั่งห้ามไปที่แปลงข้างนอกก่อนเข้าห้องทดลอง เพราะอาจมีเชื้อที่ส่งผลต่อพืชติดตัวมาได้

รากของเอเดลไวส์จะเกิดขึ้นและแข็งแรงหลังจากผ่านการบ่มเพาะเป็นเวลา 1 เดือน ดอกจะอุดมสมบูรณ์พร้อมสำหรับนำไปสกัดสารต้านอนุมูลอิสระ หนึ่งในคุณประโยชน์ที่ใส่ในเวชสำอางต่าง ๆ และที่นิยมอีกอย่างคือการสกัดกลิ่นไปใส่ในน้ำหอม โลชั่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม และเครื่องประทินผิว

เฟิร์นและสารพัดพันธุ์ไม้เมืองหนาว 

เมื่อมีไม้ดอก ก็ต้องมีไม้ประดับ

‘เฟิร์น’ คือไม้ประจำถิ่นน้ำตกสิริภูมิ และเป็นต้นไม้ที่น่าจับตาสำหรับงานในครั้งนี้

ลายแทงสินค้าน่าช้อปในงานโครงการหลวง 53 ตั้งแต่กาแฟ เบอร์รี ปลาเทราต์ ไปจนถึงกัญชง

สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์มีเฟิร์นทั้งหมดประมาณ 50 สกุล 100 กว่าสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่โดดเด่นสะดุดตาคือ เฟินกูดดอยแคระ ซึ่งมีที่นี่ที่เดียว เฟิร์นชอบอยู่พื้นที่ร่มรำไร ไม่ต้องการแดด เน้นความชื้นเยอะ ๆ กว่าแต่ละชนิดจะงอก ต้องใช้เวลาเพาะนาน 3 – 6 เดือน บางชนิดใช้เวลาเป็นปี และจะขายได้ต่อเมื่อมีขนาด 4 นิ้วขึ้นไป เพราะต้นเล็กจะมีโอกาสรอดน้อย เฟิร์นเป็นพืชที่โตช้ามาก ผู้ปลูกต้องอาศัยความใจเย็น เฝ้าดูพัฒนาการเจริญเติบโตของเขาทีละนิด

“เราเรียนมาด้านนี้โดยตรงและสนุกกับมัน เรามีความสุขที่ได้ทำ ก็จะทำไปเรื่อย ๆ” ปภาวี โอบอ้อม หนึ่งในเจ้าหน้าที่นักวิชาการเกษตรผู้ดูแลเฟิร์นบอกกับเรา

ขึ้นดอยไปดูแปลงเบอร์รี ไร่กัญชง บ่อปลาเทราต์ ที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ แหล่งกำเนิดผลผลิตในงานโครงการหลวง 53

นอกจากเฟิร์น ยังมีพันธุ์ไม้เมืองหนาวอีกนานาชนิด มีไม้ฟอกอากาศแบบถุงและกระถาง ซึ่งมีความยากในการดูแลที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษคือ ถ้าเป็นพืชอวบน้ำ ตระกูลเปปเปอร์ เกล็ดมรกต จะกำหนดไม่ได้ว่า 1 วันต้องรดน้ำเช้าเย็น 1 – 2 ครั้ง แต่ต้องดูที่วัสดุปลูกของไม้แต่ละชนิด ถ้าวัสดุปลูกเริ่มแห้งจึงให้น้ำทันที ถ้าปล่อยให้วัสดุปลูกแห้ง พืชจะเหี่ยวและเน่าในที่สุด ส่วนการดูแลในฤดูฝนก็ต้องเปลี่ยนจากการให้ปุ๋ยทางน้ำ เป็นการฉีดพ่นทางใบแล้วให้พืชสังเคราะห์แสงแทน เพราะหน้าฝนอากาศชื้น ถ้าพืชได้รับปุ๋ยเยอะเกินไปจะน็อกได้

สังเกตได้เลยว่าไม่มีสูตรการปลูกพืชที่ตายตัว แม้แต่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ปล่อยผ่านไม่ได้ เกษตรกรต้องใส่ใจสิ่งมีชีวิตทุกต้น เพื่อดอกใบที่สวยงามอุดมสมบูรณ์

ผองพืชจากที่ราบสูง

มะเขือเทศเชอร์รีเหลือง เปปิโน ผักเคล มะเดื่อฝรั่ง คือผลผลิตที่ปลูกขึ้นในระบบ Substrate หรือการปลูกพืชในวัสดุทดแทนดิน ซึ่งช่วยลดการสะสมโรคแมลง เป็นการป้องกันเชื้อและอุ้มน้ำได้ดี ปลูกได้ทุกหนทุกแห่ง แม้ในบริเวณที่ดินไม่ดีหรือพื้นที่ที่สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ซึ่งช่วยประหยัดทั้งเวลา แรงงาน และทรัพยากรในการเตรียมดิน ภายใต้การดูแลของ อรรนพ เปรมัษเฐียร หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่

ขึ้นดอยไปดูแปลงเบอร์รี ไร่กัญชง บ่อปลาเทราต์ ที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ แหล่งกำเนิดผลผลิตในงานโครงการหลวง 53

มะเขือเทศสายพันธุ์ใหม่ที่จะเปิดตัวในงานนี้เป็นที่แรก คือมะเขือเทศเชอร์รีเหลือง ผลเป็นสีส้ม ๆ เหลือง ๆ ตามชื่อ ไม่ใช่สีแดงสดที่พบได้ตามท้องตลาด จุดเด่นของพันธุ์เหลืองคือมีรสชาติเหลืองหวานและมีสีสันเน้นความสวยงาม สำหรับการปลูกต้องอาศัยการทะนุถนอมเป็นพิเศษ จะมีเจ้าหน้าที่ 1 คนเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด สังเกตความต้องการสารอาหารและน้ำของพืช ไม่ปล่อยให้ต้นแห้งใบเฉา

ขึ้นดอยไปดูแปลงเบอร์รี ไร่กัญชง บ่อปลาเทราต์ ที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ แหล่งกำเนิดผลผลิตในงานโครงการหลวง 53
ขึ้นดอยไปดูแปลงเบอร์รี ไร่กัญชง บ่อปลาเทราต์ ที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ แหล่งกำเนิดผลผลิตในงานโครงการหลวง 53

ผลไม้อีกหนึ่งอย่างที่อยากแนะนำคือ ฟิกหรือมะเดื่อฝรั่ง ลูกเด้ง เต่งตึง เนื้อแดงสดหวานฉ่ำ มีสรรพคุณที่มากกว่าความอร่อย เช่น รักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยได้ เกษตรกรใช้สารชีวภัณฑ์ในการกำจัดศัตรูพืชแทนการใช้ยาฆ่าแมลง ซึ่งปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคมากกว่าสารเคมีทั่วไป

ขึ้นดอยไปดูแปลงเบอร์รี ไร่กัญชง บ่อปลาเทราต์ ที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ แหล่งกำเนิดผลผลิตในงานโครงการหลวง 53

สำหรับคนที่ชอบทานผัก เราอยากให้ทำความรู้จักกับผักเคล หน้าตาเป็นใบสีเขียวหยิก ๆ จริง ๆ แล้วเคลเป็นพืชตระกูลเดียวกับกะหล่ำ หลายคนอาจจะรู้จักกันอีกฉายาว่าเป็น ‘คะน้าใบหยิก’ ในความหยักของใบเต็มไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งวิตามินซี วิตามินเค มีคลอโรฟิลล์ และโพแทสเซียมสูง เป็นผักที่มาแรงในหมู่คนรักสุขภาพที่อยากให้ทุกคนได้ลอง

ขึ้นดอยไปดูแปลงเบอร์รี ไร่กัญชง บ่อปลาเทราต์ ที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ แหล่งกำเนิดผลผลิตในงานโครงการหลวง 53

เส้นใยกัญชง สิ่งเดียวที่ม้งมีติดตัว

“สิ่งเดียวที่ม้งมีติดตัวคือกัญชง” นี่คือคำบอกเล่าของประธานกลุ่มวิสาหกิจทอผ้าจากเส้นใยกัญชง ประจำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดาวม่าง

ขึ้นดอยไปดูแปลงเบอร์รี ไร่กัญชง บ่อปลาเทราต์ ที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ แหล่งกำเนิดผลผลิตในงานโครงการหลวง 53

เส้นใยกัญชงมีความสำคัญกับชาวม้งตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ทั้งเป็นเชือกมัดสะดือเด็ก ทำเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ทำเป็นกระสอบใส่ข้าวเปลือกข้าวโพดในสวนในไร่ ตลอดจนใช้ในพิธีอวมงคล ชาวบ้านจึงไม่อยากให้วัฒนธรรมเหล่านี้หายไป

ขึ้นดอยไปดูแปลงเบอร์รี ไร่กัญชง บ่อปลาเทราต์ ที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ แหล่งกำเนิดผลผลิตในงานโครงการหลวง 53

ทุกวันนี้มีการสืบสานส่งต่อความรู้เรื่องหัตถกรรมจากเส้นใยกัญชงสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำในหมู่บ้านแม่สาน้อย แต่ในครั้งนี้ภูมิปัญญาจะถูกบอกเล่ามาไกลถึงเมืองกรุง เพราะผ้าทอทั้งหลายจะมีจัดแสดงและจำหน่ายอย่างอิสระ ใครที่ไม่ได้สนใจแค่ตัวสินค้า แต่อยากเรียนรู้กระบวนการกำเนิดผ้า 1 ผืน พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง เพราะภายในงานจะมีเวิร์กชอปสอนตั้งแต่การเตรียมเส้นใยมากกว่า 20 ขั้นตอน ก่อนจะเข้าสู่โลกแห่งการทอใยกัญชง

ขึ้นดอยไปดูแปลงเบอร์รี ไร่กัญชง บ่อปลาเทราต์ ที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ แหล่งกำเนิดผลผลิตในงานโครงการหลวง 53

‘เมล็ดกาแฟอะราบิกา เนื้อปลาเรนโบว์เทราต์ ไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว ขบวนผักผลไม้บนที่ราบสูง และหัตถกรรมพื้นบ้านจากเส้นใยกัญชง’ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลผลิตทั้งหมดที่เกิดจากความตั้งใจและทุ่มเทหยาดเหงื่อของชาวบ้าน ลงแรงลงใจเพื่อทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ชิ้นที่ดีที่สุด ซึ่งคัดรวมมาไว้ในงานโครงการหลวง 53 รอแค่ทุกคนมาเที่ยวชมชิมช้อปด้วยตัวคุณเอง 

สัมผัสความสดใหม่ของสินค้าทางการเกษตรเสมือนเก็บเกี่ยวจากดอยได้ง่าย ๆ ณ บริเวณชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในงานโครงการหลวง 53 ตั้งแต่วันที่ 4 – 14 สิงหาคม 2565

Writer

Avatar

ปิยฉัตร เมนาคม

หัดเขียนจากบันทึกหน้าที่ 21/365 เพิ่งค้นพบว่า สลัดผักก็อร่อย หลงใหลงานคราฟต์เป็นชีวิต ของมือสองหล่อเลี้ยงจิตใจ ขอจบวันง่าย ๆ แค่ได้มองพระอาทิตย์ตกจนท้องฟ้าเปลี่ยนสี วันนั้นก็คอมพลีทแล้ว

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ