ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณีในปี 2562 นี้ เป็นโอกาสสำคัญที่ประชาชนจะได้เห็นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ปรากฏโฉมในท้องน้ำเจ้าพระยาอีกครั้ง เรือพระที่นั่งเอกที่วิจิตรงดงามและมีฐานันดรศักดิ์สูงกว่าเรือพระราชพิธีทุกลำ คือเรือพระที่นั่งลำเดียวที่เป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

พระที่นั่งสุพรรณหงส์

กองทัพเรือและสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ได้ตระเตรียมการซ่อมเรือพระราชพิธีทั้งหมดมานานแรมปี เพราะขบวนเรือพระราชพิธีทั้งหมดจะถูกจัดเตรียมสำหรับการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ทางน้ำ) ปลายปีนี้

ก่อนการอัญเชิญเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ออกมาจอดเทียบท่าราชวรดิฐตลอด 3 วันสำคัญ The Cloud ได้โอกาสเข้าไปชมการเตรียมงานสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี กรมอู่ทหารธนบุรี และกองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ รวมถึงพูดคุยกับ พลเรือตรีสกล สิริปทุมรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพเรือ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลการซ่อมเรือพระราชพิธีทั้ง 52 ลำ

พระที่นั่งสุพรรณหงส์

นี่คือข้อมูลประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์และเรือพระราชพิธีที่น่าทำความรู้จักในวาระสำคัญของบ้านเมืองนี้

01

เรือไม้โบราณของไทยแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ เรือขุด เรือที่แกะจากไม้ใหญ่ต้นเดียว และเรือต่อ เรือที่ใช้ไม้หลายชิ้นประกอบกัน ไม้ซุงต่อเรือยอดนิยมคือตะเคียน สัก ตาล เต็ง เคี่ยม หรือประดู่ เนื่องจากเป็นไม้เนื้อแข็งที่ทนทาน ช่างทำเรือจะเสาะหาต้นไม้ลักษณะดีที่ลำต้นตรง ไม่มีปุ่มปม ไส้ไม่กลวง ความสูงพอเหมาะ เมื่อขุดหรือต่อเสร็จช่างจะใช้น้ำมันยางดำทาเรือ หรือทาสีดำเกลี้ยงตลอดทั้งภายนอกและภายในลำเพื่อถนอมเนื้อไม้

แต่เมื่อเรือรบไม้ในแม่น้ำมีวิวัฒนาการกลายเป็นเรือพระที่นั่งทรงของกษัตริย์ จึงต้องตกแต่งให้สมพระเกียรติ ทั้งแกะสลักลวดลายไม้จำหลักทั้งโขนเรือ กราบเรือ เขียนลายปิดทองรดน้ำ ประดับกระจกสี ปัจจุบันเรือพระที่นั่งที่มีลำดับชั้นยศสูงสุดคือ เรือพระที่นั่งกิ่ง เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ที่ต่อจากไม้สักทั้งลำอยู่ในชั้นนี้

02

ในสมัยอยุธยา การต่อเรือพระที่นั่งนิยมใช้ช่างชาวจีน ชาวฮอลันดา และชาวไทยเป็นครั้งคราว

วิธีการต่อเรือโบราณ จะนำแผ่นไม้หรือเหล็กชิ้นยาวมาวางเป็น ‘กระดูกงู’ หรือกระดูกสันหลังของเรือเพื่อรองรับ ‘กง’ ไม้กระดานโครงเรือ แล้วใช้ ‘ไม้ลูกประสัก’ ไม้หมุดตอกตรึงกงเรือแทนตะปู จากนั้นจึง ‘ตอกยัดหมันเรือ’ คือการนำเชือกมาฟั่นและตอกให้เป็นเส้นเล็กๆ ชุบน้ำมันยางและอุดเข้าไปในร่องไม้กระดานเรือเพื่อป้องกันน้ำรั่วซึม ปาดปิดรอยหมันด้วยชัน คือน้ำมันยาง ผงชัน ปูนขาว ปูนแดง น้ำมันก๊าด และเสน ผสมกัน

การซ่อมแซมเรือต้องขูดสีเรือออก รื้อแนวหมันเก่า ทำความสะอาดเรือและผึ่งให้แห้งสนิทก่อนตอกยัดหมันเรือใหม่ เป็นงานที่ละเอียดอ่อนและยากมาก ช่างปัจจุบันใช้ชันฝรั่งและอุปกรณ์อื่นๆ ที่ทันสมัยมาช่วยดูแลซ่อมแซมลำเรือ เช่น เอกซเรย์เรือแต่ละลำเพื่อหาจุดที่ผุ คว้านเนื้อไม้ที่ผุพังออกแล้วเสริมเนื้อไม้เข้าไปใหม่

พระที่นั่งสุพรรณหงส์ พระที่นั่งสุพรรณหงส์

ในการเตรียมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ การซ่อมแซมตัวเรือทั้งหมดอยู่ในความดูแลของกรมอู่ทหารเรือธนบุรี อู่เรือเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ที่นี่ตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ส่วนการดูแลลวดลายประกอบตัวเรือ เช่น วาดลวดลาย ติดกระจกเกรียบ กระจกสีทำจากแร่ดีบุก อยู่ในความดูแลของสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร

03

พระที่นั่งสุพรรณหงส์ พระที่นั่งสุพรรณหงส์

ส่วนที่สำคัญที่สุดของเรือคือโขนเรือและท้ายเรือ โขนเรือคือหัวเรือที่แกะสลักเป็นรูปร่างต่างๆ ทำหน้าที่ยึดกระดานต่อเรือทั้งลำ และเป็นที่สิงสถิตของแม่ย่านาง นิยมทำด้วยโคนไม้ โขนเรือพระที่นั่งจะแกะสลักเป็นสัตว์ตามพระราชลัญจกรหรือสัตว์หิมพานต์ ส่วนท้ายเรือทำด้วยปลายไม้ รูปร่างของเรือจึงลำตัวกว้างท้ายเรียวเหมือนปลาช่อน

โขนเรือเป็นส่วนประกอบเรือที่ไม่แช่อยู่ในน้ำ โขนเรือพระที่นั่งจึงตกแต่งอย่างสวยงามได้และใช้งานได้นาน ส่วนประกอบอื่นๆ เช่นตัวเรืออาจผุพังตามการใช้งานและกาลเวลา จึงต้องซ่อมแซมทุกครั้งก่อนนำมาใช้งาน โดยก่อนการซ่อมทุกครั้งต้องทำพิธีบวงสรวงให้เรียบร้อยเสมอ

04

พระที่นั่งสุพรรณหงส์ พระที่นั่งสุพรรณหงส์

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงมีรับสั่งให้สร้างเรือพระราชพิธีขึ้นเป็นจำนวนมาก เรือสำคัญคือเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ ต้นแบบของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ซึ่งใช้งานต่อเนื่องยาวนานจนชำรุดทรุดโทรมจนต้องปลดระวาง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีรับสั่งให้สร้างเรือพระที่นั่งใหม่ โดยนาวาสถาปนิกผู้ออกแบบและควบคุมการต่อเรือคือพลเรือตรี พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) แต่เกิดการผลัดแผ่นดินเสียก่อน เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จึงซ่อมเสร็จสิ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์พระราชทานนามใหม่ให้เรือลำนี้ว่า เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ได้ประกอบพิธีปล่อยลงน้ำครั้งแรกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชของรัชกาลที่ 6 ใน พ.ศ. 2454

ปัจจุบันโขนเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ที่เป็นรูปหงส์เหมราชลอยตัว เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ คลองห้า

05

พระที่นั่งสุพรรณหงส์

สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือพระราชพิธีที่เก็บไว้ในอู่เรือพระราชพิธีริมคลองบางกอกน้อยเสียหายจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร เรือที่รอดพ้นจากแรงอัดระเบิดเป็นเรือพระที่นั่ง 3 ลำ คือเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรือดั้ง 9 คู่ และเรือรูปสัตว์อีก 2 คู่ ซึ่งต่อมากองทัพเรือและกรมศิลปากรได้ซ่อมแซมเรือพระราชพิธีที่ชำรุดขึ้นใหม่ บางลำที่เสียหายมาก ใช้วิธีต่อตัวเรือใหม่ โดยใช้โขนเรือและท้ายเรือเดิม

เรือพระที่นั่งที่ต่อขึ้นใหม่มีเพียงลำเดียว คือเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 สร้างขึ้นในวาระเฉลิมฉลองที่รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบรอบ 50 ปี ทำให้ปัจจุบันมีเรือพระที่นั่งมีทั้งหมด 4 ลำ

06

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เป็นเรือพระที่นั่งเอก ส่วนเรือพระที่นั่งอีก 3 ลำเป็นเรือพระที่นั่งรอง ได้แก่

พระที่นั่งสุพรรณหงส์ พระที่นั่งสุพรรณหงส์

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 มีต้นแบบเป็นเรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งมีโขนเรือรูปครุฑสีแดง ต่อมารัชกาลที่ 4 ได้มีพระราชดำริให้เสริมรูปพระนารายณ์สีขาบ (สีน้ำเงินเข้ม) ยืนประทับบนหลังพญาครุฑตามคติพราหมณ์ และพระราชทานนามใหม่ว่า เรือนารายณ์ทรงสุบรรณ ปัจจุบันโขนเรือพระที่นั่งต้นแบบนี้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี

พระที่นั่งสุพรรณหงส์

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชโขนเรือเป็นพญานาค 7 เศียรสีทอง ลำดั้งเดิมสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมสายกรมขุนราชสีหวิกรม ลำปัจจุบันคือลำที่สร้างขึ้นทดแทนลำเดิมในสมัยรัชกาลที่ 6

พระที่นั่งสุพรรณหงส์ พระที่นั่งสุพรรณหงส์

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ แปลว่า นาคมากมายหลายชนิด เป็นเรือพระที่นั่งที่เก่าแก่ที่สุด สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โขนเรือแกะสลักเป็นทิพยนาคเกี่ยวกระหวัด ประดับกระจกสีเขียว แกะสลักเป็นพญานาค 7 เศียรแต่ใบหน้าเป็นเทวดา รอบๆ มีพญานาคตัวเล็กๆ นับร้อยนับพันตัว นาวาสถาปนิกคือพระยาอภัยรณฤทธิ์ (เวก ยมาภัย)

07

พระที่นั่งสุพรรณหงส์ พระที่นั่งสุพรรณหงส์

เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จประทับ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จะติดเครื่องสูงหักทองขวาง เช่น ฉัตร 7 ชั้น ฉัตร 5 ชั้น พระกลด บังสูรย์ พัดโบก กลางลำเรือมีบัลลังก์บุษบกหรือพระแท่นบัลลังก์กัญญา สำหรับเป็นที่ประทับบนเรือพระที่นั่ง ติดพระวิสูตร (ผ้าม่าน) และติดธง 3 ชายที่ท้ายเรือ บริเวณปากหงส์ติดพู่ห้อยทำจากแก้วเจียระไน และขนจามรีสีขาวจากเนปาล คอหงส์คล้องพวงมาลัยดอกไม้ขนาดยักษ์

    ในริ้วขบวนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ประกอบด้วยกำลังพลต่างๆ ได้แก่ นายเรือ 2 นาย, นายท้าย 2 นาย, ฝีพาย 50 นาย, สัญญาณ 1 นาย, นักสราช 1 นาย, ขานยาว 1 นาย และถือฉัตร 7 นาย โดยบริเวณที่ฝีพายนั่งพาย เรียกว่า ‘กระทงเรือ’

08

พระที่นั่งสุพรรณหงส์

เรืออื่นๆ นอกจากเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ซึ่งประกอบในขบวนพยุหยาตราชลมารค เรียกว่า เรือเหล่าแสนยากร ได้แก่

เรือดั้ง อยู่หน้าสุดของขบวน ทาสีดำหรือทองเรียบๆ มีทั้งหมด 22 ลำในขบวน เรือประเภทนี้กองทัพเรือต่อใหม่ปีละ 2 ลำ เพื่อนำเรือเก่าที่ปลดระวางมาเป็นเรือซ้อมทั้งที่กรุงเทพมหานครและสัตหีบ ทั้งช่างทำเรือได้ฝึกฝนฝีมือด้วย

พระที่นั่งสุพรรณหงส์

เรือประตู 2 ลำ ชื่อเรือทองขวานฟ้ากับเรือทองบ้าบิ่น ทำหน้าที่อารักขาเรือพระที่นั่ง

เรือคู่ชัก 2 ลำ ชื่อเรือเอกไชยเหินหาว และเอกไชยหลาวทอง ใช้ชักลากจูงเรือระที่นั่งในกรณีฝีพายไม่พอหรือต้องแล่นทวนน้ำ

เรือรูปสัตว์ 8 ลำ ได้แก่ เรืออสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษี โขนเรือคู่นี้เป็นครึ่งยักษ์ครึ่งนก สีน้ำเงินม่วงกับสีเขียวเข้ม

พระที่นั่งสุพรรณหงส์ พระที่นั่งสุพรรณหงส์

เรือกระบี่ปราบเมืองมาร โขนเรือเป็นหนุมานสีขาว เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ โขนเรือคือนิลพัทสีดำน้ำรัก

เรือพาลีรั้งทวีปโขนเรือคือวานรพี่ชายตัวสีเขียว คู่กับเรือสุครีพครองเมือง โขนเรือคือน้องชายสีแดงสด

เรือครุฑเหินเห็จและเรือครุฑเตร็จไตรจักร โขนเรือเป็นพญาครุฑทั้งคู่ ตัวแรกสีสด ส่วนอีกตัวสีควายเผือกหรือสีปูนแห้ง (สีชมพูอ่อน)

พระที่นั่งสุพรรณหงส์ พระที่นั่งสุพรรณหงส์

เรือพิฆาต 2 ลำเป็นเรือจากสมัยรัชกาลที่ 1 ที่ยังคงสมบูรณ์อยู่เหลือเพียงคู่เดียว คือเรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ เรือพิฆาตลายเสือพาดกลอนที่ทำจากไม้ตะเคียน ซึ่งได้รับการซ่อมแซมตลอด และอยู่ในขบวนพระราชพิธีเสมอมา

พระที่นั่งสุพรรณหงส์

เรือกลอง 2 ลำเรืออีเหลืองเป็นเรือกลองนอก และเรือแตงโมเป็นเรือกลองใน ผู้บัญชาการทหารเรือมักประจำอยู่ที่เรือแตงโม

เรือแซง 7 ลำ เรือตำรวจ 3 ลำ รวมหมดทั้งขบวนเป็น 52 ลำ

09

โดยปกติหากไม่ใช่ในช่วงจัดขบวนพยุหยาตราชลมารค เรือพระที่นั่ง 4 ลำ เรือรูปสัตว์ 3 ลำ (ยักษ์ ครุฑ ลิง อย่างละ 1 ลำ) และเรือคู่ชัก 1 ลำ รวม 8 ลำ จะอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ซึ่งเปิดทำการให้เยี่ยมชมทุกวัน ส่วนเรือรูปสัตว์และเรือคู่ชักที่เหลือรวม 6 ลำ จอดที่ท่าวาสุกรี ส่วนเรืออื่นๆ อีก 38 ลำจัดเก็บที่แผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็ก กรมขนส่งทหารเรือ

พระที่นั่งสุพรรณหงส์ พระที่นั่งสุพรรณหงส์

เรือที่ไม่ได้ใช้งานถูกเก็บไว้บนบก การวางเรือบนคานเรือต้องวางให้ตรงที่สุด เพราะเรือมีน้ำหนักมาก การจัดเก็บที่ไม่ดีอาจทำให้เรือบิดเบี้ยวหรือเสียสภาพไปได้ เมื่อจะปล่อยเรือลงน้ำต้องรอให้น้ำขึ้น ใช้เชือกโอบรอบเรือหลายจุด แล้วค่อยๆ เหรี่ยลงน้ำช้าๆ

10

ขบวนพยุหยาตราชลมารคคือขบวนกองทัพเรือพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์ไทยซึ่งเสด็จฯ ทางน้ำ เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และรุ่งเรืองงดงามที่สุดในสมัยอยุธยา

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีขบวนพยุหยาตราชลมารคและขบวนเรือพระราชพิธี 17 ครั้ง ครั้งแรกคือขบวนพยุหยาตราชลมารคฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ใน พ.ศ. 2500 และครั้งสุดท้ายคือขบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร พ.ศ. 2555

การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินของรัชกาลที่ 10 ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 นี้ จะมีการจัดขบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งแรกในรัชกาล

พระที่นั่งสุพรรณหงส์ พระที่นั่งสุพรรณหงส์ พระที่นั่งสุพรรณหงส์

การซ้อมขบวนเรือพยุหยาตราชลมารคใช้เวลาซ้อมนับปี ทั้งซ้อมบนเรือ และซ้อมบนเขียงฝึกบนบก โดยฝีพายทหารเรืออาสาจะฝึกพายท่านกบินอย่างพร้อมเพรียง ประสานกับการขับร้องกาพย์เห่เรือที่แต่งใหม่เพื่อเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ

ข้อมูลจากหนังสือ ‘จากน้ำสู่ฟ้า ความอลังการแห่งสายน้ำ เล่ม ๑’

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan