ในยุคสมัยนี้แทบทุกคนคงจะเคยเดินทางไปญี่ปุ่นกันมาแล้วทั้งนั้น นอกจากความประทับใจในการท่องเที่ยว อาหาร แล้วก็คงจะปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่างานกราฟิกในสิ่งต่างๆ ของประเทศนี้มันช่างสร้างความตื่นตะลึงให้เราอยู่เสมอๆ ผมเองเวลาที่ไปญี่ปุ่นก็มักจะเสียเวลาในการเที่ยวมานั่งดูงานกราฟิกของประเทศนี้อยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นตามพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ สถานีรถไฟ ไปจนถึงแพ็กเกจจิ้งน้ำหรือขนมในร้านสะดวกซื้อ
ใช่ ทั้งหมดที่ว่ามานี้มันช่างเต็มไปด้วยรายละเอียดและการออกแบบ คงจะไม่เกินเลยไปนักถ้าผมจะยกให้ที่ญี่ปุ่นนี้เป็นหนึ่งในเมืองหลวงของงานกราฟิกบนโลก และในเมืองหลวงของงานกราฟิกแห่งนี้เองที่มีนักออกแบบกราฟิกและนักวาดภาพประกอบชาวไทยทำงานอยู่กับบริษัทชั้นแนวหน้าเหล่านั้นอยู่ด้วย
สองคนนั้นคือ เป็ด–ภาคภูมิ ลมูลพันธ์ และ ยูน-พยูณ วรชนะนันท์

กล่าวอย่างย่นย่อ เป็ดเป็นนักออกแบบกราฟิก ยูนเป็นนักวาดภาพประกอบ ทั้งสองคนเรียนจบที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หลังจากเรียนจบทั้งสองคนก็ทำงานประจำอยู่ช่วงหนึ่งก่อนจะลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์รับงานอิสระหลากหลายประเภทในชื่อกลุ่มว่า Good Citizen ก่อนที่จะเริ่มอิ่มตัวและเริ่มคิดถึงการเรียนต่อเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ ด้วยความสนใจในงานออกแบบกราฟิกที่ทั้งสองคนมีอยู่จึงทำให้ตัดสินใจเลือกไปเรียนภาษาที่ญี่ปุ่นอย่างง่ายดาย
จากความตั้งใจแรกที่จะไปเรียนภาษาญี่ปุ่นแค่ปีเดียวก็ค่อยๆ ขยับขยายกลายเป็น 2 ปี จากที่คิดแค่จะเรียนภาษาก็ขยับขยายมากลายเป็นปริญญาโท จากที่ว่าจะอยู่แค่เรียนต่อก็กลายเป็นได้งานทำ เป็ดได้ทำงานเป็นนักออกแบบกราฟิกในบริษัทกราฟิกหัวแถวของญี่ปุ่น งานที่เป็ดออกแบบถ้าพูดออกมาทุกคนก็จะร้องอ๋อออกมาในทันที ส่วนยูนก็ได้เป็นฟรีแลนซ์ทำงานวาดภาพประกอบให้กับบริษัทต่างๆ มากมาย
จากที่จะอยู่แค่เรียนก็กลายเป็นได้งานทำ จากที่แค่จะอยู่ปีเดียวก็กลายมาเป็น 12 ปีอย่างไม่น่าเชื่อ และเมื่อไม่นานมานี้ทั้งสองคนได้ตัดสินใจเดินทางกลับมายังกรุงเทพฯ และซ่อมบ้านหลังเก่าให้กลายเป็นสตูดิโอเล็กๆ ในย่านฝั่งธนเพื่อเริ่มต้นรับงานออกแบบในประเทศไทยอีกครั้งนึงในชื่อ RoutineStudio
การได้ประกอบอาชีพเป็นนักออกแบบกราฟิกและนักวาดภาพประกอบในดินแดนอาทิตย์อุทัยที่อุดมไปด้วยคนที่ประกอบอาชีพเหล่านี้ และแทรกตัวขึ้นมาทำงานในสังคมนั้นได้ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา
และนี่คือสาเหตุที่ผมเดินทางมาเยือนสตูดิโอแห่งนี้ เพื่อคุยกับทั้งสองคนที่น่าจะพออธิบายให้เราได้เข้าใจวิธีคิด วิธีการทำงาน ในวงการกราฟิกญี่ปุ่น เมื่อประตูสีเหลืองของสตูดิโอแห่งนี้เปิดต้อนรับผมเข้าไปแม้จะผิดหวังที่ไม่ได้ยินเสียงร้องต้อนรับแบบร้านญี่ปุ่นดังขึ้นมาตามที่คุ้นชิน แต่โปสเตอร์ สิ่งพิมพ์ หนังสือ เฟอร์นิเจอร์ และบรรยากาศที่ดูสงบเงียบด้านในสตูดิโอแห่งนี้ก็ทำให้ผมรู้ว่ามาถูกที่แล้ว และนี่คือเรื่องราวของนักออกแบบกราฟิกและนัดวาดภาพประกอบไทยในโตเกียว

นักออกแบบกราฟิกที่เริ่มความสนใจจากการ์ตูนญี่ปุ่น
เป็ดและยูนเล่าให้ฟังว่า ทั้งสองคนจบมาจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะสนใจสิ่งที่เรียกว่ากราฟิกดีไซน์มาตั้งแต่ตอนเด็กๆ แล้ว ถึงแม้ตอนนั้นจะไม่รู้ว่าสิ่งนี้เรียกว่าอะไรก็ตาม
“ตอนเด็กๆ ผมชอบอ่านการ์ตูน แต่ที่ชอบมากกว่าอ่านการ์ตูนก็คือการเอาโลโก้การ์ตูนที่อ่านมาออกแบบใหม่ให้มันดูเท่ขึ้น เคยส่งประกวดหัวโลโก้ของหนังสือการ์ตูนพวกนี้ด้วย ก็เลยเป็นที่มาของการเลือกเรียนมัณฑนศิลป์ ภาควิชานิเทศ ตอนใกล้ๆ จบก็มาทำงานหนังสือและนิตยสารเพราะเป็นงานเดียวที่เราพอจะเห็นภาพตัวเองบ้าง เพราะอย่างงานโฆษณาผมก็ไม่เคยเข้ารอบหรือผ่านการประกวดอะไรสักเท่าไหร่” เป็ดเล่าถึงชีวิตตอนเด็ก
”เด็กๆ เราก็ชอบวาดการ์ตูน แต่เพราะเราเป็นคนวาดรูปไม่เก่ง วาดให้มันออกมาเหมือนไม่ได้ เราก็เลยหยิบเอาตัวการ์ตูนพวกนั้นมาวาดใหม่ในสไตล์ตัวเอง ซึ่งตอนนี้ก็ยังวาดไม่เก่งนะ (หัวเราะ) ตอนที่ยังเด็กๆ อยู่ก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเท่าไร คิดว่าถ้าชอบวาดรูปก็ต้องไปเรียนจิตรกรรมอะไรพวกนั้น แต่พอไปเห็นงานที่คนเรียนจิตรกรรมวาดออกมาแบบที่เหมือนของจริงมากๆ ก็รู้เลยว่าตัวเองทำไม่ได้ (หัวเราะ)
“ตอนนั้นไม่รู้จะทำอะไรก็เลยเดินเข้าไปศิลปากรกับเพื่อน ไปเจอรุ่นพี่ในคณะที่เปิดติวเด็กที่จะสอบเข้า หนึ่งในนั้นคือ โน้ต พงษ์สรวง (พงษ์สรวง คุณประสพ อาร์ตไดเรกเตอร์ผู้ก่อตั้ง Dudesweet และสื่อแสนสนุกอย่าง third world) ซึ่งเป็นคนชี้ทางสว่างให้กับเราว่ามันมีวิชากราฟิกอยู่ในโลก แล้วของที่เราอยากทำมันคือสิ่งนี้ เราก็เลยได้มาเรียนในคณะนี้” ยูนเล่าถึงชีวิตวัยเด็กบ้าง
หลังจากที่เรียนจบทั้งเป็ดและยูนก็ทำงานประจำอยู่ได้ประมาณ 2 ปี ทั้งสองคนก็รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ออกมาทำงานฟรีแลนซ์ด้วยกันในชื่อว่า Good Citizen โดยเช่าห้องเปิดเป็นสตูดิโอหางานและรับทำงานอิสระตามแต่ที่มีคนจ้าง ทั้งคู่บอกว่าใครชวนไปทำอะไรก็ไปทำทั้งหมด พอทำได้สัก 2 ปีก็รู้สึกว่าอยากจะเริ่มไปเรียนรู้อะไรใหม่ๆ แล้ว
ด้วยความที่ทั้งสองคนชอบและไปเที่ยวญี่ปุ่นกันก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว ซึ่งในช่วงเวลานั้นการไปเที่ยวญี่ปุ่นถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากลำบากและมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่ว่าจะเป็นการทำวีซ่า ราคาตั๋วเครื่องบินในยุคที่ยังไม่มีสายการบินราคาประหยัด ค่าที่พัก จึงทำให้ไม่สามารถไปเที่ยวได้นาน ซึ่งพอไปได้ไม่นานก็ทำให้เวลาในการไปเดินดูงานน้อยลงไปด้วย จึงเกิดความคิดขึ้นมาว่างั้นไปเรียนภาษาที่ญี่ปุ่นดีกว่า เพราะเรียนแค่ครึ่งวัน อีกครึ่งวันก็จะได้มีเวลาเดินดูงานออกแบบกันได้แบบเต็มๆ และถ้ารู้ภาษาญี่ปุ่นด้วยก็คงจะอ่านหนังสือดีไซน์ที่ทั้งสองคนชื่นชอบได้อีกด้วย ทั้งสองคนจึงตัดสินใจไปเรียนภาษาที่ญี่ปุ่นกัน


จากนักออกแบบสู่นักเรียนภาษา
“แต่พอไปเรียนภาษาได้สักพัก อาจารย์ที่สอนภาษาญี่ปุ่นก็แนะนำมาว่าถ้าชอบวาดรูปทำไมไม่ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปะล่ะ” ยูนเล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์จุดเปลี่ยนในช่วงนั้น
“อาจารย์ก็พูดชื่อมาอยู่สองสามมหาลัย เราก็ไม่รู้ว่าที่ไหนดีกว่ากัน ก็เลยคิดง่ายๆ ว่าไปดูแต่ละที่ด้วยตัวเองเลยแล้วกัน ก็พอดีไปที่มหาวิทยาลัยทามะอาร์ต (Tama Art University) ไปเจอห้องสมุดใหม่ที่ออกแบบโดย Toyo Ito (สถาปนิกชั้นนำคนหนึ่งของญี่ปุ่น) เพิ่งสร้างเสร็จ สวยมาก ก็เลยตัดสินใจเลือกเรียนที่นี่แหละ ไม่รู้จะไปเลือกเรียนที่อื่นทำไมแล้ว (หัวเราะ)”

หลังจากนั้นทั้งสองคนก็เตรียมตัวสอบเข้าเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยทามะอาร์ต โดยไปหาอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อให้ดูผลงานและประเมินกันก่อน ซึ่งหลังจากที่คุยงานกันแล้วอาจารย์ที่ปรึกษาก็แนะนำให้ลองไปสอบดู การสอบมีทั้งส่วนของข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ ซึ่งทั้งคู่ก็สอบติดและได้เรียนกันทั้งคู่
ผมถามทั้งสองคนว่า แล้วระบบการเรียนของที่ญี่ปุ่นมันแตกต่างจากที่เราเรียนปริญญาตรีที่ไทยยังไงบ้าง
“ตอนแรกเราก็คิดว่าเข้าไปแล้วจะมีคอมพิวเตอร์วางเรียงรายอยู่เยอะๆ แต่เอาเข้าจริงก็ไม่มี แต่มีตารางเวลามาให้ว่าอาจารย์ที่สอนจะเข้ามาวันพุธและวันศุกร์ เราจะทำยังไงก็ได้ให้งานมันเกิดการพัฒนา อย่างของผมก็มีอาจารย์แนะนำให้ไปเรียนวิชาของปริญญาตรีเพิ่มเติมเอา ซึ่งผมได้เห็นกระบวนการการเรียนในสมัยปริญญาตรีเลยว่าเขาให้เวลากับการค้นคว้าหาข้อมูลกันอย่างมาก
“อย่างวิชาโฆษณาทั้งเทอมนั้นก็ออกแบบแค่ชิ้นงานเดียว แต่ก่อนหน้านั้นจะต้องไปค้นคว้าหาข้อมูลก่อนว่าสินค้านี้ใครใช้ นิสัยยังไง ชอบอะไร ดาราคนไหนที่อยู่ในใจคนกลุ่มนี้ ก่อนที่ปลายเทอมจะจบออกมาที่อาร์ตเวิร์ก 1 ชิ้นเท่านั้น” เป็ดอธิบายถึงวิธีการเรียนการสอนของที่ญี่ปุ่น
“เราจะชอบดูความบ้าของคนญี่ปุ่นที่เราเห็นกันบ่อยๆ ในคลิปวิดีโอ เวลาทำอะไรจะหมกมุ่นทำมันไปเรื่อยๆ แล้วยิ่งอยู่ในมหาวิทยาลัยศิลปะเนี่ยมันจะบ้ากว่านั้นไปอีก ซึ่งคนญี่ปุ่นไม่รู้ว่าไอ้สิ่งที่ทำอยู่แบบนี้มันแปลกนะ จะคิดว่ามันปกติ อย่างคนที่ทำแอนิเมชันก็จะนั่งวาดรูปเพื่อให้มันเป็นภาพเคลื่อนไหวเองเป็นหมื่นๆ แผ่นด้วยตัวคนเดียวอะไรแบบนี้ แล้วหน่วยวัดที่คนญี่ปุ่นใช้กันคือมิลลิเมตร ไม่ค่อยมีการใช้หน่วยเซนติเมตร หรือนิ้ว หรือฟุต สักเท่าไหร่ คือถ้ามีหน่วยอะไรที่เล็กกว่ามิลลิเมตรคนญี่ปุ่นก็คงจะใช้ (หัวเราะ)” ยูนเสริมถึงบรรยากาศการเรียนของชาวญี่ปุ่น
“แล้วความสนุกที่สุดคือเวลาที่เพื่อนเอางานมาให้อาจารย์ตรวจ เพื่อนมันก็หลากหลายชาติมาก ทั้งจีน ไอร์แลนด์ จอร์แดน มาซิโดเนีย หรือประเทศที่เราไม่รู้จักเลย แค่ได้ดูงานที่แต่ละคนทำมาก็เปิดโลกเรามากๆ แล้ว และเวลาที่ส่งงานเสร็จก็จะนำงานพวกนั้นมาจัดงานนิทรรศการกันข้างในมหาลัยให้รุ่นพี่หรือรุ่นน้องได้มาดูกันต่อด้วยมันทำให้บรรยากาศการเรียนสนุกมากๆ”
นอกเหนือจากการเรียนแล้ว ในเวลาว่างทั้งสองคนก็ออกไปดูงานกราฟิกที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี่อยู่เสมอ หลายๆ ครั้งไปถึงก็ไม่ได้ดู เพราะคิวคนที่ตั้งใจมาดูงานนั้นยาวมากจนต้องถอดใจ แสดงถึงความสนใจในงานออกแบบของคนญี่ปุ่นทั่วไปได้เป็นอย่างดี
ผมสงสัยส่วนตัวถึงการที่ประเทศญี่ปุ่นโดดเด่นมากในเรื่องการออกแบบกราฟิก สิ่งพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม การเติบโตขึ้นมากับสิ่งแวดล้อมที่ดีในการออกแบบแบบนี้มันทำให้คนญี่ปุ่นมีเซนส์หรือการออกแบบที่ดีกว่าเราไหม
“มาตรฐานเขาสูงกว่าเรา อย่างงาน 1 ชิ้น เขาจะไม่ได้ตัดสินแค่ว่างานชิ้นนี้สวยหรือไม่สวย แต่เขาจะพูดว่าชิ้นนี้ใช้ได้ ชิ้นนี้ใช้ไม่ได้แทน คืองานลายเส้นบางอย่างที่เราดูแล้วรู้สึกมันไม่โอเคเลย ถ้ามันไปอยู่ถูกที่ถูกทางมันก็จะสวยและใช้งานได้
“และสิ่งที่สำคัญมากสำหรับคนญี่ปุ่นคือความใหม่ อะไรที่ยังไม่มีคนทำกันแม้จะมีความเป็นไปได้แค่นิดเดียว ทกคนก็จะทำกันและยอมรับในความไม่เหมือนคนอื่น ความแตกต่างอันนั้น อย่างสินค้าที่ทำขายแม้จะครอบคลุมไปหมดแล้ว แต่บริษัททั้งหลายก็จะพยายามออกแบบของใหม่ขึ้นมาให้มันมีรายละเอียดดีกว่าของเดิมอยู่เสมอๆ” ยูนอธิบายถึงวิธีคิดของชาวอาทิตย์อุทัย
“แล้วไอ้รายละเอียดเล็กๆ พวกนี้มันก็จะทำให้ชีวิตทุกคนดีขึ้นด้วย อย่างงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ ออกแบบแล้วมันจะทำยังไงให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีก ทำเพิ่มอีกนิดหนึ่งคนใช้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ซึ่งจริงๆ ไม่ต้องทำกันก็ได้ แต่ทุกคนก็ยินดีที่จะทำ แล้วคนใช้ก็ดันรับรู้สิ่งนี้อีก พวกบริษัทต่างๆ ก็เลยพยายามจะแข่งกันทำให้ดีกว่าอีกฝ่ายไปเรื่อยๆ เลยทำให้งานของที่ญี่ปุ่นนั้นถูกพัฒนาอยู่ตลอดเวลา”

จากนักเรียนสู่อาชีพนักออกแบบกราฟิกที่ญี่ปุ่น
หลังจากเรียนจบปริญญาโททั้งสองคน ยูนยังคงสนใจและสนุกกับการเรียนอยู่ เลยสมัครเรียนต่อปริญญาเอกด้านการศึกษาศิลปะ ด้วยเหตุผลที่ชอบการได้อยู่ในสังคมของเหล่าคนเก่งๆ มาตลอดเลยอยากรู้ว่าถ้าเป็นในสังคมคนเรียนปริญญาเอกต่อจะเป็นอย่างไร ส่วนเป็ดก็ลองหางานประจำทำดู ซึ่งตอนนั้นเจ้าตัวเล่าว่าได้นั่งเขียนรายการสิ่งที่ต้องทำก่อนกลับเลย เพราะมั่นใจมากว่าได้กลับไทยแน่ๆ
“ตอนนั้นก็ลองหางานดู ใครบอกว่าที่ไหนรับก็ส่งใบสมัครไป จนไปได้งานเป็นนักออกแบบกราฟิกของนิตยสารแจกฟรีที่เกี่ยวกับเมืองไทย พอทำงานไปสักพักก็เริ่มไปช่วยงานกราฟิกของคนนู้นคนนี้จนเริ่มมีผลงานที่เป็นงานภาษาญี่ปุ่นขึ้นมา ทีนี้เลยลองไปสมัครงานกับบริษัทออกแบบดูบ้าง ซึ่งก็พอดีว่าที่ groovisions ซึ่งก็เป็นบริษัทออกแบบกราฟิกที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นและเราชอบอยู่ก่อนหน้านี้แล้วเปิดรับพอดี สุดท้ายก็ได้งานที่นั่นด้วย ผมเป็นคนต่างชาติที่ได้ทำงานในนั้นคนแรกและคนเดียวด้วยนะ”


แล้วพอได้เข้าไปทำงานในบริษัทที่เราสนใจ มันเหมือนหรือต่างกับที่เราคิดไว้ยังไงบ้าง ผมถามเป็ดต่อ
“มันต่างกับที่เราคิดไว้เยอะ งานมันดูน่ารักสดใสเราก็คิดว่าบรรยากาศในที่ทำงานก็คงเป็นแบบนั้น แต่มันไม่ใช่ เพราะที่ทำงานเงียบมากๆ ทุกคนตั้งใจทำงาน ไม่มีใครพูดคุยกันเลย เพราะงานมันเยอะจนไม่มีใครคุยกัน เดี๋ยวทำงานไม่ทัน (หัวเราะ)” เป็ดเล่าให้ฟังถึงความหลังสมัยยังเป็นซาลารีมัง
“ตัวงานมันก็หลากหลายมาก มีทั้งกราฟิก โลโก้ บรรจุภัณฑ์ โฆษณา โมชันกราฟิกก็มี ซึ่งช่วงแรกๆ ที่เข้าไปก็ต้องปรับตัวเยอะ อย่างเราเป็นคนไทยจะมีปัญหามากที่สุดคือเรื่องการหยิบใช้คู่สี เขามักมาบอกเราว่าให้หยิบคู่สีใหม่ เพราะคนญี่ปุ่นจะไม่ใช้สีสดๆ แบบที่เรานิยมใช้กัน
“แล้วอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากก็คือระบบการทำงานที่แตกต่างจากที่ไทย อย่างเช่นอาจจะมีงานออกแบบแพ็กเกจอันหนึ่งที่ใช้เวลา 1 เดือน แต่บริษัทนี้จะให้เราส่งงานชิ้นนี้ทุกๆ 3 วัน ให้เจ้านายดูทีหนึ่ง แล้ววันหนึ่งก็ไม่ได้มีงานนี้งานเดียว วันหนึ่งอาจจะต้องส่งงานแบบนี้ 3 ครั้ง เช้ารอบหนึ่ง บ่ายโมงรอบหนึ่ง เย็นอีกรอบหนึ่ง ถ้างานที่ส่งตอนบ่ายไม่โอเคก็อาจจะต้องแก้แล้วรีบส่งให้เจ้านายดูภายในเย็นนั้น และทุกคนต้องทำงานส่งให้ตรงเวลาด้วย”
เป็ดยังเล่าให้ฟังอีกว่าไม่ใช่แค่เพียงการส่งงาน แต่ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งการประชุมต่างก็ใช้เวลาที่สั้น กระชับ และตรงต่อเวลามากๆ
“คิดเอาสิว่ารถไฟมาช้าแค่ 30 วินาทียังมีการประกาศขอโทษเลย” ยูนเสริมเหตุการณ์ที่เรียกเสียงหัวเราะของทุกคนออกมาพร้อมกัน
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานที่ groovisions กว่า 4 ปีคืออะไร ผมถามเป็ดต่อ
“เราเรียนรู้ว่าการทำงานกราฟิกดีไซน์มันคือการทำไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่หยุดมันก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ งานที่ไม่ดีถ้าไม่ทำมันออกมามันก็จะไม่สามารถพัฒนาต่อได้จริงๆ คำว่าคิดงานไม่ออกจริงๆ มันคือการคิดงานที่ดีไม่ออกมากกว่า คนชอบคิดว่าไอเดียดีๆ เหมือนห่านทองคำ เจอแล้วก็ดีเลย แต่สำหรับเรางานออกแบบที่ดีมันคือการหยิบเอาหินมาเจียระไนจนกลายเป็นเพชรนะ
“แม้แต่คนที่เป็นดีไซเนอร์ระดับโลกก็มีวันที่คิดไม่ออกเหมือนกัน อย่างงานที่กำหนดส่ง 1 เดือนแล้วให้ทำส่งทุก 3 วันเนี่ย แม้แต่วันที่ 27 ที่เราคิดว่ามันดีที่สุดแล้ว แต่มันก็จะดีขึ้นอีกในวันที่ 29 ผมติดนิสัยนี้มาจากการทำงานที่นี่จริงๆ” เป็ดอธิบายถึงวิธีคิดที่ได้เรียนรู้มาจากการทำงานในบริษัท


จากนักเรียนสู่อาชีพนักวาดภาพประกอบที่ญี่ปุ่น
ผมหันมาถามทางฝั่งยูนที่ประกอบอาชีพเป็นนักวาดภาพประกอบแบบฟรีแลนซ์ที่ญี่ปุ่นว่ามันมีที่มาที่ไปยังไง
ยูนเล่าย้อนว่า หลังจากที่จบปริญญาเอกมาแล้วก็มาทำงานพาร์ตไทม์ในบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ที่มีหน้าที่ผลิตเกมบนมือถือ ซึ่งของเล่นจากเกม Dragon Quest ที่วางเรียงรายอยู่บนคอมพิวเตอร์ของยูนก็บอกได้เป็นอย่างดีว่าเจ้าของเครื่องเป็นคนชอบเล่นเกมจริงๆ
เธอได้รับมอบหมายให้ออกแบบฉาก อุปกรณ์ ไอเทมต่างๆ ไปจนถึงคาแรกเตอร์ในเกมมือถือด้วย แทนที่จะเป็นงานในฝัน แต่เธอกลับไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เพราะวิธีคิดของเกมมือถือที่เน้นการให้คนเล่นซื้อของมากกว่าความสนุกในเนื้อเรื่อง พอมีเวลาเหลือจากการทำพาร์ตไทม์ยูนจึงไปช่วยทำงานกราฟิกให้เพื่อนของเพื่อนแทน และด้วยการแนะนำปากต่อปาก ชื่อของยูนจึงไปเข้าหูบริษัทออกแบบแห่งหนึ่งที่อยู่ดีๆ ก็หยิบยื่นโอกาสที่เปลี่ยนชีวิตของยูนไปตลอดมาให้
“อยู่ดีๆ บริษัทนั้นก็ติดต่อมาว่ามีงานด่วนให้เวลาแค่ 3 วัน เป็นงานทำปกแจ็กเก็ตของวงฮิปฮอปชื่อดังของญี่ปุ่นชื่อว่า Ketsumeishi (เค็ทซึเมชิ) บรีฟของเขาคือโยนเพลงซิงเกิลมาให้เราฟังแค่นั้น เราก็เลยฟังเพลงแล้วก็วาดภาพประกอบออกมาเป็นทะเลท้องฟ้าที่เราถนัดแล้วก็ส่งไป ปรากฏว่าผ่านเลย ไม่มีแก้เลย มาเจองานตัวเองอีกทีคือเป็นซุ้มใหญ่ๆ อยู่ใน Tsutaya ที่ตรงสี่แยกชิบุยะ (หัวเราะ)”

“ตอนนั้นก็เพิ่งรู้ว่าวงนี้มันดังมากนี่หว่า (หัวเราะ) คือวงดนตรีเคยมาให้สัมภาษณ์ว่าเขาชอบมาก เพราะมันเป็นภาพที่ดูไม่เป็นคนญี่ปุ่นวาด มันดูเป็นงานที่ดูอินเตอร์มาก แล้วไม่รู้เลยว่าใครวาด ฝรั่งหรือเปล่า ชายหรือหญิงก็ไม่รู้ บรรยากาศก็เหมาะกับเพลงดี แหงล่ะ ก็ได้บรีฟมาเป็นเพลงเพลงเดียวนี่นา (หัวเราะ)” ยูนเล่าถึงโอกาสการทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบในญี่ปุ่นครั้งแรก
อะไรทำให้งานที่ยูนวาดดูไม่เหมือนงานของคนญี่ปุ่น แล้วการที่วาดออกมาดูไม่เหมือนคนญี่ปุ่นนี้คือสิ่งที่ทำให้ได้งานมาเหรอ ผมถามต่อ
“เราก็ไม่รู้ แต่เคยมีคนญี่ปุ่นมาบอกเราว่าสีที่เราใช้เป็นสีที่คนญี่ปุ่นไม่ค่อยใช้ในงานภาพประกอบแบบนี้ คือพวกภาพสีท้องฟ้าตอนเย็นที่เราใช้มันหาไม่ค่อยได้ในภาพที่วาดโดยคนญี่ปุ่น ตอนนั้นก็เลยเข้าใจว่าเพราะเขาอยากได้งานที่ดูไม่ญี่ปุ่นเลยมาจ้างเรา ถ้าอยากได้งานที่ดูญี่ปุ่นก็ไปจ้างคนญี่ปุ่นดีกว่า ซึ่งนักวาดภาพประกอบคนญี่ปุ่นนี่มีมากมายมหาศาลเลย” ยูนตอบ
หลังจากที่ได้วาดภาพประกอบให้กับวงฮิปฮอปวงนั้นไปก็เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นนักวาดภาพประกอบของยูน เพราะก็มีบริษัทและเอเจนซี่ใหม่ๆ ติดต่อมาให้ยูนทำงานให้อยู่เสมอๆ จนตอนหลังยูนก็กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวาดภาพประกอบประเภทแลนด์สเคปของธรรมชาติและเมือง เครื่องจักร และรถยนต์
“ในญี่ปุ่นนักวาดภาพประกอบมีอยู่เยอะมาก แต่ละคนก็จะต้องมีความถนัดแบบพิเศษลงเกี่ยวกับงานของตัวเอง เช่นคนนี้วาดผักสวย งานที่เกี่ยวกับผักก็จะไปหาเขา พอยูนวาดรถไปในงานแล้วมันออกมาสวย เวลาต้องหาคนวาดรถก็จะนึกถึงคนนี้ขึ้นมาก่อน” เป็ดเล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลือกนักวาดภาพประกอบในบริษัทออกแบบที่ญี่ปุ่น
“ตอนแรกมาเป็นงานวาดเครื่องจักร ถัดมาก็เป็นรถ แล้วก็มีงานวาดรถมาเต็มเลย แรกเริ่มเราชอบวาดภาพทะเล แล้วพอเป็นทะเลการมีรถมาจอดอยู่มันก็ทำให้องค์ประกอบมันสวยขึ้น ทีแรกมันก็แค่นี้แหละ (หัวเราะ)” ยูนเล่าถึงที่มาของการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวาด
ด้วยธรรมเนียมของคนญี่ปุ่นที่จะไม่เอางานของคนอื่นมาเป็นเรเฟอเรนซ์ให้อีกคนหนึ่งวาด อีกหน้าที่ของนักวาดภาพประกอบฟรีแลนซ์อย่างยูนจึงเป็นการวาดภาพเล่นๆ ในหลากหลายรูปแบบ และเทคนิคที่ไม่มีโอกาสทำในงานจ้างทั่วไป เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นแล้วเกิดไอเดียในการจ้างงานครั้งต่อๆ ไปด้วย

“บางครั้งเหล่านักวาดภาพประกอบหรือกราฟิกดีไซเนอร์ที่ญี่ปุ่นก็ต้องจัดนิทรรศการเพื่อแสดงงานใหม่ๆ แล้วเชิญบรรดาอาร์ตไดเรกเตอร์และออฟฟิศออกแบบมาดู เพื่อให้นายจ้างได้เห็นว่าทำอะไรเพิ่มเติมได้บ้าง แต่เราถนัดวาดแล้วอัปในเว็บไซต์มากกว่า” ยูนเล่าถึงหน้าที่อีกอย่างของเหล่านักวาดภาพประกอบ
หลายคนคงจะสงสัยว่าแล้วค่าตอบแทนของนักออกแบบที่ญี่ปุ่นเป็นยังไงบ้าง ทั้งสองคนเล่าว่า ค่าตอบแทนของนักออกแบบทั้งสองแขนงในญี่ปุ่นนั้นมากพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้จริงๆ และด้วยรูปแบบของบริษัทญี่ปุ่นที่ค่อนข้างทำตามระเบียบมากๆ มีการกำหนดค่าเหนื่อยไว้อย่างชัดเจนสำหรับงานแต่ละชิ้นอยู่แล้ว และถ้างานที่ถูกว่าจ้างถูกหยิบนำไปต่อยอดเป็นสิ่งอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ตั้งแต่ตอนแรก เช่นจากที่คุยไว้ว่าเป็นแบนเนอร์ในเว็บไซต์ เมื่อหยิบมาทำบิลบอร์ด นักออกแบบคนนั้นก็จะได้เงินส่วนของบิลบอร์ดเพิ่มในตอนหลังด้วย
ฟังแต่เรื่องข้อดีของคนญี่ปุ่นมาเยอะ ผมเลยถามถึงข้อเสียของคนญี่ปุ่นดูบ้าง ทั้งสองคนนั่งคิดอยู่สักพักก่อนจะตอบว่า ความยากในการทำงานกับคนญี่ปุ่นน่าจะเป็นเรื่องของความไม่กล้าพูดอะไรตรงๆ ออกมา ถ้าจะพูดอะไรในแง่ลบสักอย่างก็จะพูดอ้อมไปอ้อมมาจนบ้างครั้งก็ไม่รู้ว่าหมายความว่าอะไร

สตูดิโอสีเหลืองแห่งท่าดินแดง
ฟังทั้งสองคนเล่าชีวิตการทำงานมาก็เยอะ ผมก็สงสัยว่าค่าตอบแทนก็ดี ชีวิตก็ดี สิ่งแวดล้อมก็ดี อะไรทำให้อยากกลับมาไทยกัน
“หลักๆ คือที่บ้านเรียกตัวครับ เป็นลูกคนเดียวด้วย ไปตั้งนาน ไหนตอนแรกบอกว่าปีสองปี จริงๆ เราก็ไม่ได้คิดจะอยู่จนแก่ที่โน่นด้วยแต่แรก ก็เลยคิดว่าได้เวลากลับซะที” เป็ดเล่าสาเหตุในการกลับมา
“ส่วนของเราคือด้วยการทำงานและการติดต่องานมา เราทำงานที่ไหนก็ได้อยู่แล้ว แล้วเดี๋ยวนี้ค่าตั๋วเครื่องบินก็ถูก วีซ่าก็ไม่ต้องใช้ เราไม่ต้องอยู่ที่นั่นตลอดก็ได้” ยูนตอบ


เลยเป็นที่มาของการกลับมาอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ อีกครั้งหลังจากผ่านเวลาไปถึง 12 ปี แล้วทั้งคู่เลยหยิบเอาบ้านเก่าของยูนที่แถวท่าดินแดงมาซ่อมแซมปรับปรุงให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยและสตูดิโอในชื่อ RoutineStudio สตูดิโอสีเหลืองในย่านท่าดินแดงแห่งนี้
ถึงชื่อจะเป็นสตูดิโอ แต่จริงๆ แล้วทั้งสองคนก็ต่างทำงานของตัวเองไป เหมือนกับแชร์พื้นที่ใช้งานร่วมกันมากกว่า เป็ดจะดูแลในส่วนของ RoutineStudio ที่เปิดรับงาน Visual Communication ทั้งหมด รับออกแบบกราฟิก ดูแลอาร์ตไดเรกชัน ทำโมชันกราฟิก ออกแบบบรรจุภัณฑ์ สิ่งพิมพ์ แผ่นเสียง หนังสือ ส่วนยูนก็ยังคงรับงานวาดภาพประกอบจากบริษัทต่างๆ ที่ญี่ปุ่นอยู่
นอกจากนี้ทั้งคู่ที่สามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดีก็ยังมองถึงโอกาสในการรับงานที่ต้องสื่อสารกับคนญี่ปุ่นในไทยอีกด้วย
ผลงานการออกแบบกราฟิกของเป็ด
BNK B SIDE.
“งานปกหนังสือจริงๆ แล้วเคยทำอยู่บ้างก่อนไปญี่ปุ่น แต่มาได้ทำเยอะช่วงกลับมาใหม่ๆ แซลมอนชวนมาทำให้หลายๆ เล่ม ส่วนใหญ่เราจะได้ทำงานกับคนที่สามารถคุยกันได้ตรงๆ แบบเอางานที่ยังไม่เสร็จไปให้เขาดูก่อนได้น่ะ แล้วปรึกษากันไประหว่างทางว่าจะเลือกทางไหน ไม่ต้องเตรียมตัวพรีเซนต์โน้มน้าวขายงานกันขนาดนั้น
“บ.ก. ของ สนพ.แซลมอน ก็จะมีโจทย์หลักๆ ของแต่ละเล่มมาให้ แล้วเราก็มาแก้ด้วยกัน คือสามารถคุยกันได้ว่าทำไงดีครับ ซึ่งตอนที่เราไปอยู่ที่โน่นก็ได้เห็นดีไซเนอร์เขาคุยกับลูกค้าตรงๆ แบบนี้เหมือนกันนะ คือไม่ได้เป็นแบบดีไซเนอร์จะต้องเป็นเทพรู้ทุกเรื่อง บางอย่างถ้ายังไม่มีใครเคยทำ ไม่รู้ก็ไม่แปลก พวกเรามาช่วยกันทำให้มันดีขึ้นยังไงดีมากกว่า แล้ว B SIDE. นี่คือเล่มที่ต้องถามว่าทำไงดีกันทุกขั้นตอน (หัวเราะ) เพราะเราก็อยากให้มันออกมาโอเคกับทั้งนักเขียน คนอ่าน และน้องๆ ด้วย”


Snap
“โปสเตอร์หนังเรื่องแรก อันนี้ก็เหมือนกัน คือทำยังไงดีครับพี่คงเดช เราแลกไอเดียเลือกกันไปเรื่อยๆ ก็ดีใจที่มันเป็นหน้าตาที่โอเคกับหนัง
“เวลาทำงานกับศิลปินนักเขียนหรือผู้กำกับจะต้องคิดว่านอกจากเป็นงานเราแล้ว มันยังเป็นงานเขาด้วย คือทุกคนใช้เวลาทำงานนานกว่าเราใช้เวลาออกแบบมันแน่ๆ แต่ว่ามันก็เป็นส่วนสำคัญเป็นภาพจำที่จะอยู่กับงานนั้นไปตลอดกาล ยิ่งโปสเตอร์หนังนี่ทำไปแล้วมันจะฝังไปในประวัติศาสตร์เลย ชิ้นนี้ทำได้เพราะตัวของนักแสดง ขนาดว่าเหลือแต่เงาก็ยังสวยหล่อน่ะ ถ้าเป็นคนอื่นเราอาจจะทำแบบนี้ไม่ได้ก็ได้”

Metaphors
“อันนี้เป็นแผ่นเสียงแผ่นเเรกที่ได้ทำ คือเราได้ไปออกแบบซีดีเวอร์ชันที่ขายในไทยก่อน หลังจากนั้นก็เอามาทำต่อเป็นแผ่นเสียงแผ่นหนึ่ง ทำไปทำมาพี่เจ้ยก็ให้ทำบ็อกเซ็ตไปเลย ในเซ็ตก็จะมีทั้งหนังสือ ภาพถ่าย เพิ่มมาอีก ตอนทำงานไม่ยาก รูปที่พี่เจ้ยให้มาเลือกกี่รูปก็สวยไปหมด ผมแค่ทำให้มันมีจังหวะที่ถูกต้องเท่านั้นเอง”


Boy Trai
“เคยทำโมชันกราฟิกคอนเสิร์ตพี่บอยตอนที่ยังทำ Good Citizen กับเพื่อน อัลบั้มนี้ไอเดียพี่บอยอยากให้เป็นหนังสือเด็ก หาคนวาดไม่ได้เลยลองวาดเองดู ด้วยความที่เราวาดรูปไม่เก่งมันเลยเข้ากันกับเนื้อหาดี”

Sivilai
“งาน Packaging Design ตอนที่อยู่ groovisions นั้นมีหลากหลายประเภทมาก ทั้งของกินของใช้ ขนาดเซ็ตอาหารสำหรับตอนแผ่นดินไหวยังเคยทำ โชคดีได้เจอกับลูกค้าเจ้านี้ เขาชัดเจนว่าอยากได้กระป๋องเบียร์ที่ถือแล้วสวยไม่อายใคร แม้ว่าจะต้องคุยกันแต่แรกว่าตัวดีไซเนอร์ไม่ดื่มแอลกอฮอล์นะครับ”

ผลงานภาพประกอบของยูน








นิทรรศการล่าสุดครั้งแรกของตัวเองในไทย ที่คอมมูนิตี้มอลล์เล็กๆ ลูกผสมไทยญี่ปุ่นชื่อ SŌKO อยู่ใน Jouer สุขุมวิท 32 โดยผลงานที่นำมาแสดงครั้งนี้เป็นซีรีส์ PICT. ที่วาดขึ้นมาจากการศึกษาเรื่องของ Pictogram โดยพยายามตัดทอนรายละเอียดของภาพให้เหลือเท่าที่จำเป็น และให้คนดูสนุกกับการทำความเข้าใจด้วยตนเอง
SOKO สุขุมวิท 32 ตั้งแต่วันที่ 13 – 29 กค 62 เวลา 11.00 – 19.00 น.
ขอบคุณ RoutineStudio