อับดุลเอ้ย – เอ้ย!

ถามอะไรตอบได้ – ได้!

รู้จัก The Cloud ไหม – รู้จัก!

รู้จัก รถเมล์ไทยแฟนคลับ ไหม – รู้จัก!

ปกติกลับบ้านยังไง – รถเมล์!

เห้ย! นี่ไม่เคยนั่งรถเมล์เลย – ทำไม!

เพราะขึ้นทีไรมีแต่ยืน!

'รถเมล์ไทยแฟนคลับ' บริการความรู้จากกูรู คุยทุกเรื่องตั้งแต่ประวัติรถเมล์ถึงคนตีกัน

สถานการณ์นี้เกิดทุกเวลา เมื่อสายรถโดยสารอันเป็นที่ต้องการของสาธารณชนแบกคนจำนวนมหาศาลใกล้เข้ามา หลายครั้งมาช้า บางครั้งก็ไม่มาเลย อะอ้าว!

ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือใหญ่ก็อยู่ในสายตาของเพจ ‘รถเมล์ไทยแฟนคลับ’ ที่มีผู้ติดตามในเฟซบุ๊กเกือบ 200,000 คน เช่นเดียวกับเหตุร้องเรียน นโยบายใหม่ ข้อมูลสายรถ ประวัติศาสตร์และเรื่องจิปาถะน่าสนุก มอนิเตอร์โดย พงษ์ และ สิทธิ์ รถเมล์ไทย แอดมินผู้อยากใช้ความคลั่งไคล้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

วันนี้ พวกเขาพาเรานั่งรถแอร์ธรรมชาติไปถึงอู่คลองเตย เพื่อเล่าเรื่องน่ารู้ แชร์ประสบการณ์นั่งสุดขอบฟ้า 50 กิโล อยู่ทั้งวันที่คนขับกับกระปี๋ตีกัน โจรกรีดกระเป๋า ซ่อนปืนบนช่องระบายอากาศ และวิ่งหนีกลุ่มเด็กช่างทะเลาะวิวาท

'รถเมล์ไทยแฟนคลับ' บริการความรู้จากกูรู คุยทุกเรื่องตั้งแต่ประวัติรถเมล์ถึงคนตีกัน

เจอกันไม่นาน พวกเขาแสดงความสามารถพิเศษที่ทำเราอึ้ง เพราะเห็นแค่เห็นรถอยู่ไกล ๆ หน้าป้ายสวนลุมพินีก็จำได้แล้วว่า

“…นั่นคือสาย 46 ไม่ใช่ 74 เพราะ 74 คันเล็ก ส่วน 46 วิ่ง ม.ราม 2 – รองเมือง ตอนนี้เปลี่ยนเป็นสาย 3 – 10 สีส้ม บางคันอายุเกือบ 40 ปี เปลี่ยนสีมาหลายรอบจากสีครีมน้ำเงิน เก็บ 2 – 2.50 บาท เป็นสีครีมแดง เก็บ 3 – 3.50 บาท สีขาวน้ำเงิน รถพัดลม เก็บ 5 – 10 บาท สีชมพูคาดน้ำตาล รถพัดลมเหมือนกันเก็บ 8 – 10 บาท และสีส้ม แต่รถเก่าเก็บ 10 บาท รถใหม่เก็บ 12 บาท ทั้งหมดเป็นราคาตลอดสาย…”

พงษ์ตอบอย่างฉะฉานสมกับที่เป็นเจ้าหนูจำไมตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ทุกอย่างเริ่มจากการที่คุณแม่ชอบพานั่งรถเมล์เที่ยว ลูกชายขี้สงสัยจึงศึกษาจากคอลัมน์จราจรบนหนังสือพิมพ์ในยุคที่โซเชียลมีเดียยังไม่บูม

เขาบอกเราว่าวันไหนหยุดเรียนจะเดินทางตามคู่มือรถเมล์ พร้อมบัตรรายวันคู่ใจราคา 10 บาทสำหรับรถร้อน และราคา 35 บาทสำหรับรถแอร์ นั่งเที่ยวศึกษาเส้นทาง ไกลสุดจากเซ็นทรัลปิ่นเกล้าถึงหนองจอกกว่า 50 กิโลเมตร

'รถเมล์ไทยแฟนคลับ' บริการความรู้จากกูรู คุยทุกเรื่องตั้งแต่ประวัติรถเมล์ถึงคนตีกัน
'รถเมล์ไทยแฟนคลับ' บริการความรู้จากกูรู คุยทุกเรื่องตั้งแต่ประวัติรถเมล์ถึงคนตีกัน

เช่นเดียวกับสิทธิ์ กูรูอันดับต้น ๆ ของไทยที่ชอบเดินเล่นในอู่ใกล้บ้านตั้งแต่เด็ก เริ่มสำรวจเส้นทางเองตอน ป.1 อยู่ในยุคที่ผู้คนห้อยโหนรถโดยสารจนล้นประตู แต่ละคันวิ่งแข่งกันอย่างสนุกสนาน จากนั้นจึงศึกษาข้อมูลอย่างจริงจังตั้งแต่บอดี้ รุ่นเครื่องยนต์ ความหมายของรหัส ไปจนถึงเขตการเดินรถ แม้กระทั่งนักข่าวหรือผู้กำกับหนังที่ต้องการความคิดเห็นเกี่ยวกับขนส่งสาธารณะชนิดนี้ยังต้องโทรมาถาม

ทั้งสองพบกันโดยมีเพจรถเมล์ไทยแฟนคลับเป็นสื่อกลาง พงษ์สร้างเพจเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 เพื่อเป็นที่ให้ Bus Fan คุยกัน ก่อนกลายเป็นเวทีตอบคำถามของผู้ใช้บริการ และเป็นแหล่งรวมคอนเทนต์เกี่ยวกับรถเมล์ เมื่อสิทธิ์ที่เคยออกจากวงการไปช่วงหนึ่งมาลองเล่นเฟซบุ๊กจึงได้พบกับพงษ์

ปัจจุบันเพจของพวกเขามีผู้ติดตามเกือบ 2 แสนคน ถือเป็นเบอร์หนึ่งในการสร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการ และเป็นตัวกลางประสานงานตั้งแต่ประชาชนถึงภาครัฐ

'รถเมล์ไทยแฟนคลับ' บริการความรู้จากกูรู คุยทุกเรื่องตั้งแต่ประวัติรถเมล์ถึงคนตีกัน
'รถเมล์ไทยแฟนคลับ' บริการความรู้จากกูรู คุยทุกเรื่องตั้งแต่ประวัติรถเมล์ถึงคนตีกัน

บอกเล่า 90s

ยุคที่ขนส่งหลักคือรถโดยสารประจำทาง เป็นเรื่องปกติที่ผู้คนจะเคยเจอเหตุการณ์เสียวสันหลังหรืออิหยังวะบ้าง

“ผมเคยเจอคนยิงกันแล้วเอาปืนซ่อนไว้บนช่องระบายอากาศ ตำรวจปิดถนนและเรียกค้น ผมโดนค้นด้วย แต่ตอนนั้นพูดไม่ได้ เพราะกลัวมาก ขณะที่ลุง ๆ ป้า ๆ คุยกับตำรวจแล้วก็เจอปืน” สิทธิ์เริ่มแชร์ก่อน

“ส่วนของผมไปยืนรอรถที่หน้าสถาบันแห่งหนึ่ง ปรากฏว่ารถคันที่วิ่งมาเป็นสถาบันคู่อริ ข้างหลังผมเป็นคู่แค้นมาดักรอ ทีนี้รถเมล์วิ่งผ่าน เขาก็ปาไม้เขวี้ยงดาบใส่กัน ผมตกใจหนี บางทีคนอยู่ในรถก็ปีนหน้าต่างออกมาไล่ฟันกันด้วย” พงษ์หัวเราะ แต่วันนั้นบอกเลยว่าขำไม่ออก

ในอดีต รถติดยังไง ปัจจุบันรถก็ติดไม่ต่างกัน ชีวิตคนเมือง สมัยก่อน เลนซ้าย รถเมล์ต่อแถวกันยาว ดูเป็นระเบียบมากๆ #รถเมล์ไทยแฟนคลับ

Posted by รถเมล์ไทยแฟนคลับ Rotmaethai on Thursday, 17 February 2022

“ตอนอายุ 15 – 16 นั่งรถอยู่แถวกองสลาก นั่งแถวหลังสุด เราก็สงสัยว่าทำไม 2 คนข้างหน้าถึงยืนเบียดคุณลุงคนนั้นจัง อ้าว! มันกรีดกระเป๋าอย่างไวเลย พอประตูรถปิดเท่านั้น ผมรีบบอกลุงว่าลุงโดนกรีดกระเป๋า ลุงบอกให้ผมลงไปช่วยลุงหน่อย ปรากฏว่าช่วยลุงได้

“แล้วมีหลายคันที่คนขับกับกระเป๋าเป็นแฟนกัน ผมเคยขึ้นแล้วเจอเขาทะเลาะกัน คิดว่าน่าจะเป็นตั้งแต่ที่บ้าน เก็บเงินไปด่าไปไม่หยุด จนจังหวะออกรถ กระเป๋าคงทนไม่ไหวกระโดดพุ่งออกนอกหน้าต่างตอนรถกำลังวิ่ง หัวร้างข้างแตกกันไปเลย กระบอกตั๋วปลิว เงินกระจาย ผมเห็นตั๋วแล้วเสียดาย เปรอะเลือดหมดแล้ว” สิทธิ์ในฐานะนักสะสมสิ่งของที่เกี่ยวกับรถโดยสารประจำทางเปรยด้วยความโคตรเสียดาย

'รถเมล์ไทยแฟนคลับ' บริการความรู้จากกูรู คุยทุกเรื่องตั้งแต่ประวัติรถเมล์ถึงคนตีกัน

นอกจากประสบการณ์ในฐานะผู้ใช้บริการ เรื่องเล่าของเหล่าคนให้บริการที่พวกเขาไปรับรู้มาก็น่าสนใจเช่นกัน น่าสนใจในแง่ว่า ทรหดเหลือเกิน

“หลายคนรักรถเมล์มาก แต่ระบบไม่เอื้อ สมมติในอู่มีรถ 30 คัน เราปล่อยออกไปหมดแล้ว แต่ยังไม่กลับมาสักคันเพราะรถติด กลับมาปุ๊บ ยังไม่ทันกินข้าว ไม่ทันเข้าห้องน้ำ ต้องไปต่อแล้ว ผู้โดยสารขึ้นมากดดัน ส่วนใหญ่เลยเป็นโรคกระเพาะ เนื่องจากกินอาหารไม่เป็นเวลา โรคระบบทางเดินหายใจ ทางเดินทางอาหาร โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ บางสายไม่มีอู่ แวะปั๊มโดนตำรวจจับ เพราะรถใหญ่เข้าปั๊มไม่ได้ ต้องจอดข้างถนนเลยกีดขวางทางจราจร” สิทธิ์เล่า

'รถเมล์ไทยแฟนคลับ' บริการความรู้จากกูรู คุยทุกเรื่องตั้งแต่ประวัติรถเมล์ถึงคนตีกัน
'รถเมล์ไทยแฟนคลับ' บริการความรู้จากกูรู คุยทุกเรื่องตั้งแต่ประวัติรถเมล์ถึงคนตีกัน

ด้วยความรัก พนักงานหลายคนยังปฏิบัติหน้าที่ข้ามเวลามาหลายทศวรรษ เรื่องน่ารักของพวกเขาถูกส่งผ่านเพจ ไม่ว่าจะเป็นเคสผู้โดยสารฝากขอบคุณพนักงานรถเมล์เอกชนสาย 27 ที่ช่วยเหลือตอนเป็นลมหมดสติบนรถโดยสาร จนเพจกลายการเป็นชุมชนให้คนมาพูดคุยเล่าเรื่อง การขัดสีฉวีวรรณให้รถเก่าเงาเหมือนใหม่ แต่งล้อด้วยสีสัน เช็ดกระจกใสกิ๊ง พื้นรถสะอาดเนี้ยบ หรือแม้แต่ตามหาอดีตพนักงานเก็บค่าโดยสายในชุดสวย

ในยุคแรกๆที่ ขสมก.เดินรถปรับอากาศ เราจะตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้เจอ กระเป๋าสาวสวย ภาพในอดีตที่ หลายท่านคงชินตา คนขับผูกเนคไท กระเป๋าผู้หญิงใส่หมวก แล้วใส่เสื้อกั๊ก #ชวนคิดเรื่องอดีต #รถเมล์ไทยแฟนคลับ

Posted by รถเมล์ไทยแฟนคลับ Rotmaethai on Wednesday, 16 March 2022

“คนที่รักรถ เวลาเห็นอะไรใกล้พังเขารีบเรียกช่างมาซ่อม แต่กลับกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้บริหารมองว่า นี่คือรถไม่ดี รถดีต้องไม่ซ่อมเยอะ เมื่อรถที่พนักงานรักถูกย้าย มันก็เหลือแค่รถเก่า ๆ โทรม ๆ ที่ไม่ได้รับการดูแล อย่างรถครีมแดงวิ่งมา 31 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2534 ก็ยังทำหน้าที่อยู่ พี่ที่ดูแลรักมาก” เขาเล่า ขณะที่เราบอกกลับว่า พวกคุณรู้เรื่องของรถโดยสารประจำทางดีจริง ๆ

“พวกผมเขาเรียกพวกบ้า (หัวเราะ) ไม่ปกติเรื่องรถเมล์” ทั้งสองยอมรับ

'รถเมล์ไทยแฟนคลับ' บริการความรู้จากกูรู คุยทุกเรื่องตั้งแต่ประวัติรถเมล์ถึงคนตีกัน

รู้จักรถเมล์ไทยและแฟนเพจฉบับย่อ

เราใช้เวลาคุยกับพงษ์และสิทธิ์กว่า 2 ชั่วโมง รวมเวลาเดินทางสัมผัสควันพิษไปอู่คลองเตยก็ปาไปครึ่งวันเห็นจะได้

การเดินทางไปสู่การปฏิรูปรถเมล์โดยมีรัฐบาลเข้ามาดูแลทั้งหมด คือปลายที่พวกเขาฝันไว้ ส่วนระหว่างทาง แฟนเพจขอใช้ความคลั่งไคล้ให้เป็นประโยชน์ทั้งในแง่ส่งต่อสาระ ชื่นชมคนทำงาน ตามหาของหาย และทำให้เรื่องร้องเรียนคืบหน้าไวที่สุด ถึงขั้นที่เพจ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว เอาไปทำเป็นข่าวดังมาแล้ว

'รถเมล์ไทยแฟนคลับ' บริการความรู้จากกูรู คุยทุกเรื่องตั้งแต่ประวัติรถเมล์ถึงคนตีกัน

1. ทำไมรถเมล์ต้องวิ่งแข่งกัน

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ไม่ค่อยแข่ง แต่ตัวตึงที่คนจดจำจะเป็นสาย 8 เพราะมีจำนวนรวมกว่าร้อยคัน ปล่อยออกทุก 2 นาที หลายครั้งติดไฟแดงที่แยกแฮปปี้แลนด์มีสาย 8 ตามมา 2 – 5 คัน เมื่อไฟเขียวจึงต้องเหยียบให้มิด เพราะพนักงานไม่มีเงินเดือน รับค่าแรงรายวัน ต้องกินเปอร์เซ็นต์จากหน้าตั๋วร้อยละ 10 – 12 ขึ้นอยู่กับบริษัท ผู้โดยสารยิ่งมากยิ่งได้เปอร์เซ็นต์

2. นอกจาก ขสมก. ทำไมเอกชนถึงวิ่งรถได้

เพราะเอกชนได้รับสัมปทาน (ใบอนุญาตเดินรถ) โดยกรมการขนส่งทางบกส่งเปิดประมูลเส้นทาง แต่ถึงอย่างนั้นเอกชนก็วิ่งไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ขสมก. ต้องวิ่งควบคู่ บางครั้งจึงเกิดการวิ่งทับสาย เช่น 28 กับ 542 (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) ถ้าเห็น 28 วิ่งมา คนขับ 542 ต้องรีบกวาดคนและโกยอ้าว ไม่อย่างนั้นจะโดนแย่งลูกค้า

ที่ไหนว่างโปรดนั่ง ฟังเบื้องหลัง ‘รถเมล์ไทยแฟนคลับ’ ของกลุ่มกูรูรถเมล์ที่อยากใช้ความหลงใหลให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ที่ไหนว่างโปรดนั่ง ฟังเบื้องหลัง ‘รถเมล์ไทยแฟนคลับ’ ของกลุ่มกูรูรถเมล์ที่อยากใช้ความหลงใหลให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

3. ทำไมเปลี่ยนรถใหม่ แต่นิสัยไม่เปลี่ยน

รถใหม่ รถพลังงานไฟฟ้า อาจเป็นพนักงานสาย 8 มาขับก็ได้ อย่าง ขสมก. มีกฎกติกาควบคุมความประพฤติ แต่เอกชนยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ เพราะต้องง้อพนักงาน หากเข้มงวดมาก พนักงานลาออก ไม่มีคนขับ จากรถที่เคยออก 10 คัน เกเรไป 2 พาพรรคพวกลาออกอีก 6 เหลือแค่ 2 คัน โดนคนใช้บริการด่าว่ารถน้อยและมาช้า นี่คือความกดดันที่ทั้งกระเป๋าและคนขับโดน ทำให้คนไม่อยากเข้ามาทำงาน

4. อะไรคือหนทางแก้ไขที่ดีที่สุด

รัฐควรเป็นผู้กำกับดูแลแต่เพียงผู้เดียว เดี๋ยวเล่าให้ฟัง

ที่ไหนว่างโปรดนั่ง ฟังเบื้องหลัง ‘รถเมล์ไทยแฟนคลับ’ ของกลุ่มกูรูรถเมล์ที่อยากใช้ความหลงใหลให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

5. รถเมล์ไทยมีปัญหาตั้งแต่เมื่อไหร่

พ.ศ. 2498 คือปีแรกที่ราชการกำหนดระบบรถเมล์อย่างจริงจัง กรมการขนส่งทางบกเปิดสัมปทานให้ผู้ประกอบการถือใบอนุญาตเดินรถในเส้นทางของตัวเอง จึงเกิดเป็นระบบหลายผู้ประกอบการ มีทั้งรถเมล์นายเลิด รถเมล์ขาว รถเมล์ รสพ. รถเมล์ บขส. นี่คือจุดเริ่มต้นของปัญหา

ต่อมาช่วง พ.ศ. 2516 – 2517 เกิดวิกฤตราคาน้ำมันพุ่งสูง แต่ผู้ประกอบการขึ้นราคาไม่ได้ เมื่อ พ.ศ. 2518 รัฐบาลหม่อมราชวงค์คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงเริ่มมีแนวคิดรวบกิจการ 24 บริษัทและ 2 รัฐวิสาหกิจเป็นกิจการเดียว ดำเนินการโดยรัฐในนาม บริษัท มหานครขนส่ง จำกัด ให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2518 – 30 กันยายน พ.ศ. 2519 ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น ขสมก. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา 

Fiat 130 รถเมล์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (รสพ.) สาย 4 ท่าเรือคลองเตย – ตลาดพลู คลองเตย – บ่อนไก่ – สวนลุมพินี…

Posted by รถเมล์ไทยแฟนคลับ Rotmaethai on Wednesday, 20 January 2016

6. สุดท้าย รัฐบาลรวมกิจการสำเร็จไหม

ขสมก. มีปัญหาว่า รถเก่าจากยุค 24 บริษัทจอดเสียเป็นจำนวนมาก หาอะไหล่ยาก เมื่อปล่อยวิ่งในจำนวนน้อยจึงเกิดปัญหารถโดยสารขาดแคลน ผู้โดยสารตกค้าง ขสมก. แก้ปัญหาระยะสั้นด้วยการเช่ารถจากเอกชน นำมาสู่การกำเนิด รถร่วม ขสมก.

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นช่วง พ.ศ. 2528 ขสมก. เริ่มให้เอกชนมาร่วมเดินรถแบบเต็มตัว จากที่รัฐบาลเดินรถเองทั้งหมดจึงเปลี่ยนมาเปิดเส้นทางให้เอกชนเดินรถร่วมครึ่งต่อครึ่ง

สุดท้ายราชการมองว่า ขสมก. กำกับดูแลรถร่วมไม่ดีพอ จึงกลับมาเป็นระบบหลายผู้ประกอบการอีกครั้ง ปัจจุบัน เอกชนที่เคยวิ่งร่วมและ ขสมก. ขึ้นตรงกับกรมการขนส่งทางบกตั้งแต่ พ.ศ. 2562

ที่ไหนว่างโปรดนั่ง ฟังเบื้องหลัง ‘รถเมล์ไทยแฟนคลับ’ ของกลุ่มกูรูรถเมล์ที่อยากใช้ความหลงใหลให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

7. ทำไมตอนเช้ามีรถ แต่ตอนเย็นรถน้อย

ขสมก. เป็นระบบกะเช้ากะบ่าย ทำงาน 8 ชั่วโมง นอกจากนั้นต้องจ่าย OT ถามว่าทำไมไม่ให้คนกะเช้าทำต่อ เพราะมีเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งต้องชี้แจงกับทางฝั่งบริหารว่าทำไมถึงเกิดค่าใช้จ่ายส่วนนี้เยอะ

พอคนบรรจุใหม่เงินเดือนน้อย ไม่ได้ทำ OT ก็อยู่ไม่นาน ถ้าวิ่งจบเร็วก็ไปทำอาชีพเสริมต่อ

ส่วนเอกชนไม่มีกะ ออกจากอู่ตี 3 เลิกอีกที 1 ทุ่ม บางคนอยู่ 16 – 18 ชั่วโมง สรุปพักผ่อนไม่เพียงพอ แถมเอกชนที่รับคนขับเกษียณจาก ขสมก. คนแก่เคยทำแค่ 8 ชั่วโมง มาทำแบบนี้ก็ไม่ไหว มีโรคติดตัว

ลดเวลางานก็ไม่ได้ คนด่า ที่เลวร้ายมากกว่าคือพนักงานบางคนไปเล่นเครื่องดื่มชูกำลัง กินน้ำกระท่อม เพราะไม่เสพแล้วไม่มีเเรงทำงาน นี่คือเรื่องจริง 

8. ทำไมบนถนนมีแต่รถเก่า

ผู้ประกอบการเดินรถกำไรน้อยมาก กำไรทั้งปีอาจมีแค่หลักหมื่น การซื้อรถใหม่แปลว่าต้นทุนเพิ่มหลักล้าน เขาจึงใช้วิธีประมูลรถเก่าปลดระวางจาก ขสมก. ราคาหลักแสน

ธุรกิจนี้หากำไรไม่ได้ สาย 46 เขาสู้ด้วยลำแข้งตัวเองเพื่อคนใช้บริการ รัฐบาลออกกฎให้เปลี่ยนรถ ผู้ประกอบการยอมเป็นหนี้อีกร้อยล้าน แต่ทำต่อไป 7 ปีก็ไม่คืนทุน เพราะคนใช้บริการน้อย ไหนจะค่าจ้างงาน ค่าซ่อม ค่าน้ำมัน เราจึงพยายามสื่อสารให้คนเข้าใจในจุดนี้ และบอกให้รัฐบาลเข้ามาจัดการเพียงผู้เดียว ถ้าปล่อยให้ผู้ประกอบการค่อย ๆ ตาย สุดท้ายคนก็เปลี่ยนงาน ไม่มีรถให้บริการอีกต่อไป

ที่ไหนว่างโปรดนั่ง ฟังเบื้องหลัง ‘รถเมล์ไทยแฟนคลับ’ ของกลุ่มกูรูรถเมล์ที่อยากใช้ความหลงใหลให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ที่ไหนว่างโปรดนั่ง ฟังเบื้องหลัง ‘รถเมล์ไทยแฟนคลับ’ ของกลุ่มกูรูรถเมล์ที่อยากใช้ความหลงใหลให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

9. ตอนนี้รถใหม่กำลังจอดเหงาจริงหรือ

ผู้เล่นรายใหญ่เจอสถานการณ์เดียวกัน รถใหม่มารอ 1,250 คัน แต่วิ่งไม่ได้ เพราะไม่มีคนขับ รถไม่วิ่ง อนาคตคือพัง เวลาเปิดสายใหม่ มีรถน้อย ก็ใช้เวลานานกว่าคนจะรู้และใช้บริการ ถึงเวลานั้นอาจเจ๊งแล้ว

10. การจดจำสำคัญแค่ไหน

จำไม่ได้ ไม่คุ้นหน้า ไม่รู้ว่าไปไหนก็ไม่ขึ้น ยิ่งเวลาเปลี่ยนเลข เช่น 4-65 เรายังสงสัยเลยว่ารถสายอะไร ไม่เหมือนเลขเก่าเช่น 516 142 46 53 ที่คุ้นเคย แล้วคิดดูว่าลุงป้าที่เป็นแฟนคลับรถโดยสาร รู้อยู่แล้วว่าตัวเองจะขึ้นสายไหน จู่ ๆ มาเจอสาย Y-61 อะไรครับเนี่ย

(เฉลยคือ สาย 4-61 หรือ Yello 61 เนื่องจากอยากแบ่งตามสีให้เหมือนระบบเดินรถของเกาหลีใต้)

ที่ไหนว่างโปรดนั่ง ฟังเบื้องหลัง ‘รถเมล์ไทยแฟนคลับ’ ของกลุ่มกูรูรถเมล์ที่อยากใช้ความหลงใหลให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ที่ไหนว่างโปรดนั่ง ฟังเบื้องหลัง ‘รถเมล์ไทยแฟนคลับ’ ของกลุ่มกูรูรถเมล์ที่อยากใช้ความหลงใหลให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
โมเดลสาย 142 รถเมล์สายโปรดของสิทธิ์

11. มีแอปพลิเคชันแนะนำไหม

VIABUS ความแม่นยำ 95 เปอร์เซ็นต์ บอกครบทั้งแผนที่ ป้าย สาย เวลาที่ต้องรอ แต่ GPS ไม่ได้ realtime ขนาดนั้น อาจเลยมาจากที่ปักในแอปหน่อย ส่วน TSB Go เป็นของรถเมล์ไฟฟ้า แต่เสียดายเขาไม่เชื่อมกันเลยต้องเปิดสองแอป

12. ทริกสังเกตง่าย ๆ ที่คนไม่ค่อยรู้

ป้ายสีเหลืองหน้ารถ แปลว่าขึ้นทางด่วน รถร้อนบางคันติดป้ายด้านบนเป็นสีเหลืองหมดเลยก็มี

ป้ายสีแดง คือรถเสริม (วิ่งไม่เต็มเส้นทาง) ป้ายจะบอกว่าคันนั้นไปถึงตรงไหน ที่ต้องมีเสริมเพราะเป็นการตัดเวลา OT ข้อดีคือทำให้คันนี้กลับไปได้เร็ว รถไม่ขาดระยะ

13. สิ่งที่อยากได้

บัตรแมงมุม ใช้ได้ทุกการเดินทาง ล้อ ราง เรือ ไม่แบ่งค่าย และจอแสดงข้อมูลตามป้าย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงวัย หรือคนที่ไม่ได้ใช้แอป

สุดท้ายคืออยากให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพระบบขนส่งทั้งหมด เพื่อให้ ‘ประชาชนทุกคน’ เข้าถึงได้

ที่ไหนว่างโปรดนั่ง ฟังเบื้องหลัง ‘รถเมล์ไทยแฟนคลับ’ ของกลุ่มกูรูรถเมล์ที่อยากใช้ความหลงใหลให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

14. ทำไมเพจและตัวคุณต้องให้ความสำคัญกับรถเมล์ขนาดนี้

เพราะมันไม่ต่างอะไรจากเส้นเลือดฝอย เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน น่าแปลกที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับขนส่งทางรางมากจนละเลยสิ่งนี้ทั้งที่เข้าถึงในชุมชนได้ดีกว่ารถไฟฟ้า 

15. อยากทิ้งท้ายอะไรไหม

จ้างพวกเราได้นะ ถ้ารัฐบาลจ้างเราทำงานให้กับ ขสมก. เชื่อว่าระบบดีขึ้นแน่นอน เพราะเรารู้รากเหง้าของปัญหา และมีประสบการณ์เป็นผู้โดยสารมาอย่างยาวนาน พวกเราชอบด้วยใจ ไม่มีอคติ หวังอย่างเดียวคือคุณภาพชีวิตทุกคนดีขึ้นจากระบบรถเมล์ที่ดีขึ้น

ที่ไหนว่างโปรดนั่ง ฟังเบื้องหลัง ‘รถเมล์ไทยแฟนคลับ’ ของกลุ่มกูรูรถเมล์ที่อยากใช้ความหลงใหลให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์