เราเคยมีประสบการณ์ขึ้นดอยหลายครั้ง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มีโอกาสมาอยู่ มากิน มาใช้ชีวิต ร่วมกับชาวปกาเกอะญอแบบสนิทชิดเชื้อ สนิทชนิดที่นอนดูละครหลังข่าว แล้วตื่นแต่เช้ามาช่วยเจ้าบ้านหุงข้าว ชงชา และปรุงอาหารดอยหลากรสใต้หลังคาเดียวกัน

บ้านน้อยหลังนั้นตั้งอยู่ในชุมชนปกาเกอะญอเล็กๆ ที่ชื่อว่า บ้านขุนแม่หยอด อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

ปกาเกอะญอคือหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในประเทศไทย ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแถบภาคเหนือและภาคกลางตะวันตก ชุมชนกะเหรี่ยงแต่ละแห่งเป็นชุมชนดั้งเดิม ที่สามารถสืบค้นการตั้งถิ่นฐานไปได้ไกลถึง 1,200 ปี และส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ป่ามาเป็นเวลานาน

บ้านขุนแม่หยอดก็เช่นกัน ชุมชนปกาเกอะญอแห่งนี้ตั้งอยู่ในหุบเขา โอบล้อมไปด้วยผืนป่าสีเขียวสุดลูกหูลูกตา และไร่หมุนเวียนแปลงรวม

ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน

ไร่หมุนเวียนคืออะไร สารภาพตามตรงว่าเราไม่เคยรับรู้เรื่องราวและความสำคัญของไร่หมุนเวียนมาก่อน จนกระทั่งมีโอกาสเข้าร่วมทริป Rotational Farming Workshop Chapter 3: Harvest Season ทริปเล็ก เรียบง่าย และอบอุ่น ที่พาเราขึ้นดอยมาเรียนรู้วิถีการทำไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอ

ไม่ใช่แค่เรียนรู้เท่านั้น แต่ในทริปนี้เรายังได้เก็บเกี่ยวผลผลิตในไร่หมุนเวียน และช่วยกันนำวัตถุดิบจากไร่เหล่านั้น มาลองต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มากมายหลายไอเดียให้ชุมชนนำไปพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน

อย่างที่บอกไปเล่าไปก่อนหน้านี้ว่าชุมชนกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ใช้ชีวิตกลมกลืนกับผืนป่ามาช้านาน ทำให้เมื่อมีการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในยุคสมัยต่างๆ ภาพลักษณ์ของกะเหรี่ยงจึงกลายเป็นผู้บุกรุกป่า

‘ไร่หมุนเวียน’ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาในการทำไร่บนวิถีแห่งการอนุรักษ์ป่า จึงถูกเข้าใจผิดกลายเป็นการทำ ‘ไร่เลื่อนลอย’ ที่ถากถางทำลายผืนป่ามาตลอดหลายสิบปี

ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน

 

01

เราเดินทางออกจากตัวเมืองเชียงใหม่กันตั้งแต่เช้าตรู่ แวะเติมเสบียงเป็นระยะ จนเวลาคล้อยบ่าย ขบวนรถตู้ยังคงโขยกเขยกผ่านผืนป่าเขียวชอุ่มและไร่นาที่กำลังผลิดอกออกรวงซึ่งผ่านมาให้เห็นเป็นระยะ

7 ชั่วโมงต่อมา หลังจากผ่านภูเขาลูกแล้วลูกเล่า ในที่สุดเราก็มาถึงบ้านขุนแม่หยอด ระหว่างทางเข้ามาหมู่บ้านเป็นทางขึ้นลงเขาที่คดเคี้ยวหวาดเสียวไม่เบา หยิบมือถือขึ้นมาดู ไม่มีสัญญาณสักขีด ชะโงกไปดูหน้าจอมือถือเพื่อน อ้าว ก็มีสัญญาณดีนี่นา กลายเป็นว่าค่ายโทรศัพท์มือถือที่เราใช้อยู่ไม่พิสมัยการขึ้นมาตั้งเสาสัญญาณบนดอยสักเท่าไหร่ เราจึงถูกตัดขาดจากโลกโซเชียลมีเดียไปโดยปริยายตลอดทริปนี้

ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน

ผู้ใหญ่บ้านที่เป็นเสมือนผู้นำชุมชนของชาวปกาเกอะญอจะถูกเรียกขานว่า พ่อหลวง

เราไปรวมตัวกันเพื่อกินอาหารดอยมื้อแรกที่เรือนประชุมบ้าน พ่อหลวงดิลก ตระกูลรุ่งอำไพ และเป็นครั้งแรกที่เราได้ลองชิมเมนูพื้นบ้านที่เรียกว่า ‘ข้าวเบ๊อะ’

ข้าวเบ๊อะ คือข้าวต้มดอยที่หน้าตาละม้ายคล้ายข้าวต้มทั่วๆ ไป ความธรรมดาที่ไม่ธรรมดาของเมนูนี้ (และอีกหลายเมนูของชาวปกาเกอะญอ) คือความไม่ตายตัวของวัตถุดิบ ที่สามารถหยิบจับอะไรใส่ลงไปก็ได้ตามใจชอบ ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่หาได้ในแต่ละฤดูกาล

ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน

แน่นอนว่าวัตถุดิบที่นำมาปรุงล้วนเป็นผลผลิตจากไร่หมุนเวียน ซึ่งออกดอกออกผลแตกต่างกันไปในแต่ละฤดูกาล เดือนไหนพืชอะไรขึ้นในไร่ ชาวปกาเกอะญอก็จะหยิบพืชชนิดนั้นมาปรุงเป็นอาหาร แถมสูตรของแต่ละบ้านก็แตกต่างกันไปตามรสมือและรสนิยมการกิน  

ถ้าบ้านไหนชอบรสจัดหน่อย ก็ใส่เครื่องเทศดอยอย่าง ‘ฮอวอ’ ลงไปเพิ่มความกลมกล่อม เป็นสเน่ห์ของการกินที่สะท้อนวิถีการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย โอนอ่อนและสัมพันธ์กับธรรมชาติรอบตัวของชาวปกาเกอะญอ ได้อย่างน่ารักและตรงไปตรงมา

ความมืดโรยตัวลงมาพร้อมกับละอองความหนาวเย็น หนุ่มๆ ปกาเกอะญอก่อกองไฟขนาดย่อม บนลานดินข้างบ้านพ่อหลวงดิลก ไอความอุ่นแผ่ปกคลุมไปทั่วบริเวณ

ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน

หลังอิ่มหนำ พวกเรานั่งรวมตัวกันที่เรือนประชุมบ้านพ่อหลวงดิลก และเริ่มกิจกรรมยามค่ำคืนด้วยการแนะนำตัว เพื่อนร่วมทริปหลากหลายสาขาอาชีพ มีจุดประสงค์ในการมาเยือนไร่หมุนเวียนที่บ้านขุนแม่หยอดแตกต่างกันออกไป  

บางคนอยากมาศึกษาและเสาะหาความหลากหลายของพืชผล บางคนอยากมาเรียนรู้วิธีอยู่กับธรรมชาติอย่างยั่งยืน บางคนหนีมลพิษเมืองกรุงมาเพื่อพักหายใจและกินอาหารปลอดสารเคมี

 

02

กิจกรรมหลังจากนั้นคือการนั่งฟังเรื่องราว องค์ความรู้ และภูมิปัญญา ในการทำไร่หมุนเวียน จากฮีโข่ หรือผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชน พ่อหลวงดิลก ดร.ประเสริญ ตระการศุภกร ตัวแทนกลุ่มแม่บ้าน และตัวแทนผู้เฒ่าผู้แก่บ้านขุนแม่หยอด ผู้ศึกษาเรื่องไร่หมุนเวียนด้วยการลงมือทำมาทั้งชีวิต

ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน

ภูมิปัญญาการทำไร่หมุนเวียนเป็นวิถีแห่งการอนุรักษ์ เป็นการใช้พื้นที่เพาะปลูกในช่วงเวลา 1 ปี จากนั้นหมุนเวียนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เพื่อให้พื้นที่เดิมได้พักฟื้นและสะสมแร่ธาตุอาหารในดิน โดยวงจรในการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนใช้เวลาประมาณ 5 – 12 ปี

พ่อหลวงดิลกเล่าพร้อมรอยยิ้มว่า ที่พืชผลในไร่หมุนเวียนที่บ้านขุนแม่หยอดนั้นอุดมสมบูรณ์มาก เพราะที่นี่ปล่อยให้ผืนดินได้พักฟื้นถึง 12 ปี

การพักฟื้นคือการปล่อยพื้นที่ทิ้งไว้เฉยๆ พื้นที่พักฟื้นมีชื่อเรียกว่า ‘ไร่เหล่า’ ตลอดระยะเวลา 12 ปี ธรรมชาติจะเยียวยารักษาผืนดิน มอบความอุดมสมบูรณ์และพืชพรรณ จนพื้นที่ไร่เหล่าซึ่งเคยราบเตียนกลับมาชอุ่มชุ่มชื้นเป็นผืนป่าเขียวขจีอีกครั้ง

การทำไร่หมุนเวียนถือเป็นวิถีการเกษตรที่สอดคล้องกับหลักนิเวศป่า และเป็นภูมิปัญญาในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน

¹ นอกจากนี้ ยังถือเป็นหลักประกันของการสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพราะการทำไร่หมุนเวียนนอกจากจะมีการปลูกข้าวไร่ซึ่งถือเป็นพืชชนิดหลักแล้ว ยังมีการปลูกพืชพรรณชนิดอื่นๆ แบบผสมผสาน ทั้งพืชล้มลุก พืชคลุมดิน รวมไปถึงไม้ยืนต้น

ดร.ประเสริฐ อธิบายว่า ไร่หมุนเวียนและไร่เลื่อนลอยนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ไร่หมุนเวียนจะไม่มีการเปิดพื้นที่เพิ่มจากที่มีอยู่ อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ สมมติว่าวงจรหมุนเวียนคือ 12 ปี เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตของแปลง A เสร็จ แปลง A จะกลายเป็นไร่เหล่าเพื่อพักฟื้นพื้นที่ แปลงทำกินของไร่หมุนเวียนจะถูกย้ายมาที่ไร่ B ในปีต่อมา และอีก 11 ปีให้หลัง แปลงทำกินก็จะหมุนเวียนกลับมาที่แปลง A อีกครั้ง เป็นวัฏจักรเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ

ในขณะที่ไร่เลื่อนลอยคือการทำเกษตรกรรมบนพื้นที่เดิมซ้ำๆ เป็นเวลาหลายปี จนแร่ธาตุในดินถูกใช้ไปจนหมด เมื่อผืนดินเสื่อมสลายก็ย้ายไปถากถางผืนป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอยบนภูเขาลูกใหม่ ทิ้งพื้นที่เดิมให้กลายเป็นภูเขาหัวโล้นที่ปลูกพืชพรรณชนิดใดก็ไม่ขึ้นงอกงามอีกต่อไป เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด

บทสนทนาเรื่องไร่หมุนเวียนในคืนแรกจบลง เราเดินฝ่าความหนาวแยกย้ายไปตามบ้านไม้ที่ตั้งลดหลั่นกันไปตามสันเขา บ้านที่เราพักเป็นบ้านปูนหนึ่งในไม่กี่หลังในชุมชนแห่งนี้

ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน

คืนนั้นเรานอนดูละครหลังข่าวเรื่อง เล่ห์รักบุษบา กับครอบครัวปกาเกอะญอที่เราพักด้วย นานแค่ไหนแล้วนะที่ไม่ได้ดูละครทางทีวี ภาพที่ปรากฏบนจอเล็กๆ นั้นติดๆ ขัดๆ และแตกเป็นลายน้ำ แม้ภาพจะไม่คมชัดแบบที่ดูผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในเมือง แต่เสียงเชียร์ให้พระเอกหอมแก้มนางเองของน้องๆ ที่นอนซุกกันกลมใต้ผ้าห่มทำให้บรรยากาศการดูละครในคืนนั้นสนุกกว่าที่เคยเสียอีก

 

03

บรรยากาศรอบตัวนิ่งสงัดและมืดสนิท เรานอนหลับเต็มอิ่มเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน และตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ด้วยเสียงไก่ขัน

หลังล้างหน้า แปรงฟัน เราลงไปนั่งคุยและช่วยจัดแจงสำรับในเรือนครัวที่แยกออกไปจากตัวบ้าน อาหารเช้ามื้อนี้ประกอบไปด้วยน้ำพริก ผัดผักกาดขาว แกงฟักทอง และแคบหมู กินกับข้าวไร่หุงสุกร้อนๆ กลิ่นหอมฉุย รสมือคุณแม่บ้านเราจัดจ้านทุกจาน อร่อยมาก

ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน

ภารกิจวันนี้คือการลงพื้นที่ศึกษาเรื่องไร่หมุนเวียนที่แปลงทำกินและที่ไร่เหล่า

จากจุดรวมพลที่บ้านพ่อหลวงดิลก พวกเราต้องเดินลัดเลาะไปตามทางเดินแคบๆ พักใหญ่พอให้ได้เหนื่อยหอบจึงมาถึงแปลงทำกินของชาวปกาเกอะญอบ้านขุนแม่หาด

ตอนนี้เป็นฤดูเก็บเกี่ยว ข้าวไร่สีทองอร่ามชู่ช่อไปทั้งหุบเขา นอกจากข้าวไร่ซึ่งเป็นพืชหลักที่อยู่ในแปลงทำกินแล้ว ความหลากหลายของพืชพันธุ์ที่ขึ้นแซมต้นข้าวอยู่ในไร่หมุนเวียนนั้นสูงถึง 207 สายพันธุ์

ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน

การปลูกหว่านจะเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม หลังจากเผาไร่ใหม่ๆ ราวปลายเดือนเมษายน ผักบางชนิดก็สามารถเริ่มเก็บมาทำอาหารได้แล้ว เช่น ต้นอ่อนผักกาดและยอดฟักทองที่ปลูกตามริมลำห้วย ลำธาร

ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม เข้าสู่ฤดูฝน พันธุ์พืชหลายชนิดที่ถูกหว่านเมล็ดลงไปจะงอกเป็นต้นอ่อนออกมา และเริ่มเก็บทำเป็นอาหารได้ เช่น ต้นฮอวอ ยอดฟักเขียว ผักชี

พี่จั้มพ์-ณัฐดนัย ตระการศุภกร ชาวปกาเกอะญอรุ่นใหม่ หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการจัดทริปนี้ เล่าให้ฟังว่า ฮอวอเป็นพืชตระกูลมินต์ ที่ยังเสิร์ชไม่เจอในกูเกิลเพราะเจ้าต้นฮอวอที่นำไปทำเป็นเครื่องเทศสารพัดประโยชน์ ปรุงใส่อะไรก็ได้นี้ เป็นพืชท้องถิ่นที่จะเจอแค่ในพื้นที่ไร่หมุนเวียนเท่านั้น มีรสชาติเฉพาะตัวผสมผสานระหว่างตะไคร้ สะระแหน่ และมะกรูด

เดือนมิถุนายน อาหารตามธรรมชาติประเภทหล่อไม้จะแทงหน่อออกมา และมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ เป็นอาหารที่คอยเลี้ยงชาวบ้านได้อย่างเหลือเฟือและยังมีพืชผักชนิกอื่นๆ อีก เช่น ยอดบวบ ยอดมันสำปะหลัง ยอดฝ้าย ยอดกระเจี๊ยบ ยอดมะระ

ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน

เดือนกรกฎาคม เป็นช่วงเวลาของการเก็บยอดอ่อนและดอกผักกาด พอราวเดือนสิงหาคม เป็นหน้าเก็บข้าวโพด แตงลาด แตงส้ม เริ่มเก็บลูกอ่อนได้

ตั้งแต่เดือนกันยายนถึงธันวาคม ซึ่งเป็นเดือนที่เรามาเยี่ยมไร่หมุนเวียนอยู่ขณะนี้ พืชผักจะมีหลากหลาย โดยเฉพาะเดือนพฤศจิกายน ที่พืชพันธุ์ส่วนใหญ่จะให้ผลผลิตในเดือนนี้ ทั้งพืชให้ยอด ผล ดอก ต้น เมล็ด ฝัก เหง้า หัว เถา เช่น บวบ มะระ ฟักทอง แตงกวา เมล็ดถั่ว หัวมัน เหง้าขิง ต้นข้าวฟ่าง รวมถึงข้าวที่เป็นพืชหลักในไร่ก็ได้เวลาเก็บเกี่ยวในเดือนนี้เช่นเดียวกัน

พวกเราได้ลองออกแบบและทำ ‘ปฏิทินฤดูกาลไร่หมุนเวียน’ ที่บอกรายละเอียด สรรพคุณ และลักษณะของพืชพันธุ์ในไร่หมุนเวียนที่เราค้นพบ เป็นปฏิทินสุดยูนีกที่บอกเล่าเรื่องราวความหลากหลายของพืชพันธุ์และแหล่งอาหารตลอดทั้งปีของไร่หมุนเวียน

ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน

เรากินข้าวเที่ยงกันในกระต๊อบหลังเล็กกลางแปลงทำกิน ถึงแม้กลางคืนอากาศจะหนาวจนบังคับตัวเองให้อาบน้ำแทบไม่ได้ แต่กลางวันกลางทุ่งอย่างนี้ กลับกลายเป็นว่าแดดร้อนเปรี้ยงทำให้เราถึงกับหน้ามืดเลยทีเดียว

ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน

อาหารเที่ยงโคตรเท่เสิร์ฟมาในกระบอกไม้ไผ่ผ่าครึ่ง มียำพืชไร่พืชไร่หลากหลายชนิด และเมนูไฮไลต์คือ แกงเย็นหรือที่ชาวปกาเกอะญอเรียกว่า ‘ต่าจึที’

² สมัยก่อนยังไม่มีเตาแก๊ส ไฟแช็ก หรือแม้แต่ไม้ขีดไฟ ชาวบ้านต้องออกไปทำงานในไร่แต่เช้ามืด อาหารที่ปรุงร้อนๆ จากบ้านตอนเช้า เมื่อเจอเข้ากับอากาศร้อนเปรี้ยงกลางทุ่งแบบนี้มักจะเสีย เมนูต่าจึทีซึ่งมีส่วนผสมหลักเป็นของแห้งทั้งหมดจึงถูกคิดค้นขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้ คือเป็นแกงที่กินได้ทั้งวัน ไม่มีทางเสีย เพราะกินแบบเย็นๆ ได้เลยโดยไม่ต้องใช้ความร้อนปรุง ไม่ต้องอุ่นซ้ำ ช่วยคลายร้อน และเพิ่มความสดชื่นหลังจากทำงานในไร่ร้อนๆ มาทั้งวัน

ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน

เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านแสบเรียบง่ายที่แก้ปัญหาได้ตรงจุด จนคนเมืองอย่างเราทึ่งสุดๆ

 

04

ช่วงบ่ายเรามีโอกาสได้ไปดูไร่เหล่า หรือพื้นที่ฟื้นตัว ซึ่งถือเป็นแก่นแกนของการทำไร่หมุนเวียน หากไม่มีช่วงเวลาหลายปีที่ให้ผืนดินได้ฟื้นตัว ความสามารถในการผลิตและความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ทำกินก็ย่อมหมดไป

ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน

³ จากพื้นที่โล่งเตียนที่เพิ่งถูกเก็บเกี่ยวผลผลิต ไร่เหล่าปีแรกยังคงมีพืชพันธุ์ให้เข้าไปเก็บได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ฟักทอง งา พริก มัน มันสำปะหลัง เผือก ถั่ว เป็นต้น ดังนั้น ชาวบ้านจึงยังคงมีผลผลิตให้เก็บกินได้อย่างต่อเนื่องไร่เหล่าปีที่ 2 ในไร่เหล่าจะเริ่มมีหญ้ารก ไม้ใหญ่ที่ลิดกิ่งไปจะแตกกิ่งเขียวชอุ่มมากขึ้น พวกไม้อ่อนจะงอกขึ้นมาใหม่ และจะมีสัตว์ขนาดเล็กหลายชนิดกลับอาศัยในบริเวณนี้

ไร่เหล่าปีที่ 3 ต้นไม้ต้นไผ่เริ่มโตขึ้น พวกหญ้าต่างๆ เริ่มลดลง คนยังสามารถเดินเข้าไปในไร่เหล่าได้ ขณะเดียวกันก็มีสัตว์ป่าขนาดใหญ่ขึ้นหลายชนิดมาอยู่อาศัย

ไร่เหล่าปีที่ 4 หญ้าตามพื้นจะไม่มีให้เห็นแล้ว เพราะเงาจากต้นไม้ต้นไผ่ที่เติบใหญ่ขึ้นได้เข้ามาบดบังแสงแดดทำให้หญ้าไม่ขึ้น

ไร่เหล่าปีที่ 5 ต้นไม้จะมีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้น เศษหญ้าจะเน่าเปื่อยแปรสภาพกลับไปเป็นแร่ธาตุในดิน ต้นไม้บางชนิดออกดอกออกผล

ไร่เหล่าปีที่ 6 ต้นไม้ไม่สามารถเอาสองมือโอบรอบได้แล้ว มีความอุดมสมบูรณ์มาก จนถูกขนานนามว่า ‘ดู บะฉกี่ เจ๊าะ’ หรือไร่เหล่าแห่งความอุดมสมบูรณ์

ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน

เมื่อผ่านการพักฟื้นถึงปีที่ 7 แปลงทำกินก็จะหมุนเวียนกลับมายังพื้นที่แปลงนี้อีกครั้ง เป็นวงจรแสนยั่งยืนสมชื่อไร่หมุนเวียน

เรามองไปยังผืนป่าเขียวชอุ่มสุดลูกหูลูกตาเบื้องหน้า ไม่น่าเชื่อว่าผืนป่าอุดมสมบูรณ์ที่เห็นอยู่นี้คือไร่หมุนเวียนที่ถูกทิ้งไว้ให้พักฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ

ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่คนทั่วไปมองวงจรของไร่หมุนเวียนเพียงผิวเผิน และเข้าใจผิดไปเองว่าชาวปกาเกอะญอบุกรุกลำลายผืนป่า ทั้งที่จริงแล้วชาวบ้านกำลังทำการอนุรักษ์และปกปักผืนป่า ผ่านภูมิปัญญาเก่าแก่ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลาหลายร้อยปีแล้วต่างหาก

ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน ปกาเกอะญอ, ไร่หมุนเวียน

อ้างอิงจาก :
 บทความ วิถีไร่หมุนเวียน 200 ปีที่บ้านขุนแม่หยอด โดย นพชนก ชัยประเสริฐ และ ธีรชาติ ชัยประเสริฐ
และหนังสือหมุนเวียนอย่างยั่งยืน   ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
1. https://www.facebook.com/photo.php?fbid=2046157985431125&l=d72e89b5e3
2. https://www.facebook.com/photo.php?fbid=2046158825431041&l=9e3fc82a9c
3.  https://www.facebook.com/photo.php?fbid=2046159182097672&l=10284b6d60

ทริป Rotational Farming Workshop Chapter 3: Harvest Season ได้รับการออกแบบกิจกรรมโดยสมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (PASD Thailand) และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 เรื่องนโยบายและหลักปฏิบัติฟื้นฟูวิถีชาวกะเหรี่ยง โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

Writer & Photographer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน