ยายเคยเล่านิทานให้ฟังว่า “มีเด็กกำพร้าถูกเจ้าเมืองรังแก ไล่ให้ไปปลูกข้าวบนแผ่นหิน เด็กกำพร้าจึงต้องขนดินไปเทบนหินก่อนหยอดเมล็ดข้าวลงไป 7 หลุม พร้อมกับเมล็ดพืชผักอื่นๆ มากมาย เมื่อฤดูเก็บเกี่ยวมาถึง เด็กกำพร้าจึงมีข้าวเต็มยุ้งฉางและมีพืชผักกินตลอดปี”

ไร่ข้าวบนหินของเด็กกำพร้าในวันนั้น คือไร่หมุนเวียนในวันนี้ กว่าพันปีแล้วที่มีการส่งต่อภูมิปัญญาในการเพาะปลูกบนภูเขาที่ลาดชัน  ไม่ใช่แค่ในเมืองไทยเท่านั้นที่มีวิถีการเพาะปลูกลักษณะที่คล้ายกันนี้ ในอเมริกาใต้แถบลุ่มน้ำแอมะซอน ในอินเดีย และเพื่อนบ้านอาเซียนของเราก็มีการทำไร่บนภูเขาที่มีชื่อเรียกต่างกันไป

 

ไร่หมุนเวียนที่เป็นมากกว่าไร่

‘ฆึ’ หรือ ‘ไร่หมุนเวียน‘ ในภาษาปกาเกอะญอ ซึ่งไม่ได้ออกเสียงว่า คึ ใครที่มีความรู้ด้านอักษรศาสตร์จะรู้วิธีออกเสียงพวกนี้ ซึ่งเป็นเสียงที่ไม่มีอยู่ในภาษาไทย ไร่หมุนเวียนเป็นวิถีเพาะปลูกที่ไม่ต้องมีระบบชลประทาน เครื่องจักร ปุ๋ย และสารเคมีต่างๆ เมล็ดพันธ์ุที่ใช้ก็เป็นเมล็ดพันธ์ุท้องถิ่นดั้งเดิมที่เก็บไว้ใช้ต่อปีหน้าหลังการเก็บเกี่ยว แรงงานก็อาศัยการช่วยเหลือกันในชุมชน ต้นทุนที่สำคัญที่สุดในการทำไร่หมุนเวียนคือ ทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า การรู้จักใช้และดูแลธรรมชาติไปพร้อมๆ กันจึงกลายเป็นภูมิปัญญาที่สำคัญต่อระบบเพาะปลูกแบบไร่หมุนเวียน ไม่เช่นนั้นมันควรจะหายสาบสูญไปนานแล้ว

ปกาเกอะญอ ปกาเกอะญอ

วงกลมเป็นภาษาของโลก

การเดินทางเป็นวงกลมเป็นภาษาของธรรมชาติ เมื่อโลกหมุนรอบตัวเองและโคจรรอบดวงอาทิตย์ โลกจึงได้รับทั้งความอบอุ่น ความหนาวเย็น และความร้อนอย่างสมดุล หากวันใดโลกหยุดหมุนมันคงถูกความร้อนของพระอาทิตย์แผดเผาจนหมดสิ้น ไร่หมุนเวียนก็เช่นกัน ที่เลือกเดินทางเป็นวงกลม หมุนไปกับจังหวะของฤดูกาล ใช้ และปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นตัว เมื่อเวลาผ่านไป 7 ปี มันก็นานพอที่ตอไม้ที่เคยอยู่ในไร่จะเติบโตกลับมาเป็นป่าให้ได้พึ่งพาอีกครั้ง วิถีเพาะปลูกแบบไร่หมุนเวียนไม่ได้ทำลายรากเหง้าของต้นไม้ การฟันไร่ที่เหลือตอไม้สูงกว่าหัวเข่าขึ้นไป จะทำให้ตอไม้แตกหน่อออกมาใหม่ ซึ่งเป็น ‘การปลูกป่าแบบไม่ปลูก’ สอดคล้องตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ที่เพียงปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง เราไม่ต้องไปรบกวนก็พอ

หลังการเก็บเกี่ยวพื้นที่ตรงนั้นจะเรียกว่า ไร่เหล่า หลังผ่านไป 1 ปี ต้นไม้ก็จะสูงเกิน 2 เมตรหรือมากกว่าแล้วแต่ชนิด และไร่เหล่านี้เองจะเป็นที่หลบภัยของสัตว์เล็กที่ถูกสัตว์ใหญ่ล่า หรือเวลามีพายุใหญ่มา แทนที่ฝูงควายจะหลบอยู่ในป่าใหญ่ ซึ่งเสี่ยงต่อการโดนไม้ล้มใส่ พวกมันจะวิ่งเข้าไปหลบในไร่เหล่าทันทีตามสัญชาตญาณที่จะทำให้พวกมันปลอดภัย

 

ไร่หมุนเวียนก็มีหัวใจ

ไร่หมุนเวียนเป็นวิถีเพราะปลูกที่มีเจตนาในการผลิตอาหารเพื่อดำรงชีวิตเท่านั้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อการค้า จะมีการแลกเปลี่ยนแรงงานในชุมชน มีการแบ่งปันเมล็ดพันธ์ุและผลผลิตของไร่หมุนเวียน การเดินทางที่หมุนไปกับจังหวะของฤดูกาลอย่างช้าๆ ที่ไม่มีการแข่งขันในวิถีเพาะปลูกนี้ จึงไม่มีการเร่งเร้าให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างรวดเร็ว เป็นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ด้วยเหตุผลนี้เองไร่หมุนเวียนจึงสามารถอยู่รอดมากว่าพันปี ที่มีธรรมชาติ สัตว์ป่า มนุษย์ และภูมิปัญญาเดินทางด้วยกันมาอย่างยาวนาน

ปกาเกอะญอ ปกาเกอะญอ

ภูมิปัญญาของไฟ

ก่อนการเผาไร่จะมีการเตรียมคทาเพลิง ที่ประกอบไปด้วย ไม้สน ไม้ฟืน เกลือ พริก ดอก ยาสูบ ขี้ช้างแห้ง มัดรวมกัน เป็นการเชื้อเชิญให้ไฟได้สื่อสารกับเหล่าสัตว์และพืชพรรณในวาระการเริ่มต้นเพาะปลูก เพื่อขอให้เกิดความปกติสุขและหนุนเสริมพลังชีวิตระหว่างกันของสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ และที่ขาดไม่ได้ในการเผาไร่ คือ ทำแนวกันไฟรอบๆ ไร่หมุนเวียนเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟในไร่ลามเข้าไปในป่า และการเผาไร่นั้นต้องจุดไฟจากด้านบนของไร่ให้ไฟเดินทางลงสู่ด้านล่างเพื่อความปลอดภัย ถ้าจุดไฟจากข้างล่างขึ้นไป มีโอกาสที่ไฟจะถูกลมพัดเข้าไปในเขตป่าชุมชน ซึ่งยากต่อการการจัดการ หลังจากไฟดับสนิท จะมีการตรวจตราอีกครั้งให้แน่ใจว่าพื้นที่ป่าจะปลอดภัยจากไฟ การเผาไร่จึงไม่ใช่การเผาป่า แต่เป็นขั้นตอนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของวิถีเพาะปลูกแบบไร่หมุนเวียน

ไร่หมุนเวียนนั้นไม่ต้องพึ่งพาระบบชลประทาน การอาศัยน้ำฝนก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้พืชพรรณต่างๆ เติบโตอย่างสมบูรณ์ ในขณะที่ธาตุอาหารในดินก็มีมากพอที่จะหล่อเลี้ยงไร่หมุนเวียนตลอดฤดู โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยแม้แต่หยิบมือ ส่วนหญ้าที่โตพร้อมกับพืชผักชาวบ้านจะลงแรงช่วยกันเอาออกประมาณ 3 – 4 ครั้ง เพื่อให้ต้นข้าวและพืชผักอื่นๆ ได้เติบโตจนแข็งแรง ไร่หมุนเวียนไม่ได้มองว่าหญ้าเป็นศัตรูพืช จึงไม่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช พืชผักในไร่หมุนเวียนจึงสะอาดและปลอดภัยมาก หญ้าหรือไม้พุ่มที่บดบังแสงจะถูกควบคุมอยู่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังการเก็บเกี่ยว หญ้าและพุ่มไม้เล็ก รวมถึงตอไม้ก็จะแตกกอออกใบเพื่อจะกลับไปเป็นป่าในวันต่อไป เมื่อครบ 7 ปี มันก็พร้อมที่จะมอบความเมตตาให้มนุษย์ได้กลับมาเพาะปลูกอีกครั้ง

ปกาเกอะญอ ปกาเกอะญอ

หมุนเวียนในความรุ่มรวย

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยอาจารย์อานันท์และคณะพบว่าความหลากหลายของพืชพรรณในไร่หมุนเวียนมีสูงถึง 207 สายพันธ์ุ ซึ่งอยู่ในธรรมชาติและโดยการปลูก นอกจากข้าวที่เป็นพืชหลักในไร่หมุนเวียน เรายังมีพืชกินใบและต้นอย่างผักกาด ผักขี้อ้น ผักชี ต้นหอม สะระแหน่ ยอดกระเจี๊ยบ ยอดมันสำปะหลัง ยอดบวบ ผักแป้น มะเขือเครือ ยอดฟักทอง ตะไคร้ อ้อย ข้าวฟ่าง พืชผักกินผลและดอก เช่น พริก มะเขือเครือ บวบเหลี่ยม บวบกลม ฟักเขียว ฟักทอง แตงลาย แตงเปรี้ยว มะระ มะแว้ง ถั่วฝักยาว ข้าวโพด งา ลูกอ่อนฝ้าย ดอกกะเพราแดง
พืชผักกินหัวและเหง้า เช่น  เผือก มันสำปะหลัง มันมือเสือ หน่อไผ่ ขมิ้น ขิง ดอกไม้ประดับในไร่อย่างดาวเรือง ดอกหงอนไก่

ไม่หมดแค่นี้ ยังมีสมุนไพรที่สามารถบรรเทาอาการเจ็บป่วย เช่น สาบเสือที่ใช้รักษาแผลสด ใบหนาด เปล้าใหญ่ ใช้รักษาแผลที่ฟกช้ำ มะขามป้อมบรรเทาอาการปวดฟัน และพืชที่เป็นสมุนไพรพื้นบ้านอีกหลายชนิด เมื่อมีสัตว์ป่าเข้ามากินพืชผล เป็นสัตว์เล็กพวกนกหนู ชาวบ้านก็จะทำกับดักและนำสัตว์ที่ดักได้ไปทำอาหาร ไร่หมุนเวียนจึงมีอาหารครบ 5 หมู่เปรียบเสมือนคลังของความมั่นคงทางอาหาร ในเวลาเดียวกันก็ช่วยรักษาเมล็ดพันธ์ุพื้นบ้านให้มีใช้ในวันข้างหน้า รวมถึงรักษาสมดุลของระบบนิเวศต่อไป

ปกาเกอะญอ ปกาเกอะญอ ปกาเกอะญอ

ที่มาและที่ไป

มากกว่า 30 ปีที่ไร่หมุนเวียนถูกมองว่าเป็นสาเหตุของการทำลายป่าบ้าง ถูกเรียกว่าไร่เลื่อนลอยบ้าง ถูกมองว่าเป็นความล้าหลังบ้าง และบ่อยครั้งชาวบ้านถูกจับกุมดำเนินคดีมานักต่อนัก บางคนถึงกับโดนอุ้มหายสาบสูญ นโยบายทวงคืนผืนป่าในปัจจุบันก็ยังกดดันให้ชาวบ้านต้องออกจากชุมชนหรือเปลี่ยนวิถีชีวิตไปเลย

60 กว่าปีที่แล้ว ปฏิวัติเขียวถือกำเนิดเกิดขึ้นโดยต่อยอดความรู้จากสงคราม การผลิตสารเคมีเพื่อใช้ในการเกษตร ผลิตอาหารป้อนให้กับโลก มีเป้าหมายที่เน้นปริมาณและความเร็วของกลไกให้ได้มาซึ่งความมั่งคั่ง แต่ถึงกระนั้น ความอดอยากยังคงมีอยู่เช่นเดิม อีกทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ยังดูรุนแรงและซับซ้อนกว่าเก่า การปฏิวัติครั้งนั้นจึงไม่อาจเป็นทางรอดที่ยั่งยืน ประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทยเองก็มีสถิติการนำเข้าสารเคมีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ปุ๋ย ยา สารพิษ ที่ใช้ในการเกษตรมีขายกันทั่วไป ตั้งแต่ในเมืองจนถึงหมู่บ้านเล็กๆ แล้วสารพิษพวกนั้นจะไปตกค้างตรงไหนถ้าไม่ใช่ในดิน ในพืชผักที่เราซื้อกิน และในร่างกายของเรา

ถ้ามีทางเลือกที่ดีกว่าไร่หมุนเวียน ชุมชนย่อมไปสู่ทางที่ดีกว่าแน่นอน แต่นับวันปัญหาความเหลื่อมล้ำก็เพิ่มมากขึ้นทุกที การปลูกพืชเชิงเดี่ยว นอกจากจะมีความเสี่ยงต่อการขาดทุน ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการใช้สารเคมี หนี้สิน การเสื่อมโทรมของดิน และระบบนิเวศที่ถูกรบกวน และถ้าวันหนึ่งเกิดวิกฤตน้ำมันขึ้น ไร่หมุนเวียนนี่เองจะเป็นทางรอดของชุมชนในเขตป่า

ปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่ในชุมชนที่ทำไร่หมุนเวียน อย่างเช่นบ้านกลางที่ลำปาง หินลาดในที่เชียงราย กำลังเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างสมดุล ในชุมชนไม่มีกองทุนกู้ยืมที่คอยปั่นหัวชาวบ้าน คนรุ่นใหม่รู้จักปรับตัว พวกเขาเฝ้าสังเกตความเป็นไปของโลกอย่างไม่ตื่นตระหนก น้องๆ หลายคนตัดสินใจกลับมาอยู่ในชุมชนด้วยความมั่นใจในทักษะ ภูมิปัญญา ที่ตัวเองมี ต้นทุนในชุมชน และที่ลึกลงไปคือ พวกเขาค้นพบความสุขแล้ว ซึ่งอยู่ในแผ่นดินที่เขาเกิดนั่นเอง

โลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว ชุมชนเล็กๆ กำลังเรียนรู้ที่จะปรับตัวไปพร้อมกับทิศทางของโลกอย่างช้าๆ โชคยังดีที่ภูมิปัญญาท้องถิ่นมากมายที่บรรพบุรุษฝากไว้ยังได้รับการต่อลมหายใจ ความโชคดีอีกอย่างคือ ภูมิประเทศของไทยเหมาะกับการเพาะปลูกมาก ความหวังที่จะมีชีวิตรอดจึงยังมีอยู่มากเมื่อเทียบบางมุมของโลก

ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ ผมอยากบอกว่าอย่าเพิ่งเชื่อผมจนกว่าพวกเราจะได้พาตัวเองไปพูดคุยกับไร่หมุนเวียน ไปกินแตงไร่ กินข้าวโพดปิ้ง ผักสดๆ มื้อกลางวันในบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติกับชาวบ้าน ฟังนิทานเรื่องเด็กกำพร้า ฟังเสียงธรรมชาติ การได้นั่งลงขอบคุณแผ่นดินที่เลี้ยงดูเรามาในไร่หมุนเวียนด้วยกันคงเป็นประสบการณ์เล็กๆ ที่น่าจดจำทีเดียว เพราะกำลังใจของพวกเราที่หอบเข้าไปในป่าอาจจะมีความสุขเล็กๆ ให้หิ้วกลับบ้านได้เช่นกัน

ต่าบลึ๊โดะมะ / ขอบคุณมากครับ

ปกาเกอะญอ

ภาพ : สาวิตรี พูลสุขโข, ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์, บุญศรี ฉลักกนก

Writer & Photographer

Avatar

โอชิ จ่อวาลู

นักการภารโรงที่ Lazy man College ผู้กำลังหัดเขียนเล่าเรื่อง