Either Lead, Follow or Get Out of The Way…

คือคติประจำใจที่วางอยู่บนป้ายหน้าโต๊ะทำงานของ Rosy Senanayake นายกเทศมนตรีหญิงคนแรกของโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ซึ่งถ้าให้เทียบตำแหน่งกับเมืองไทย ตำแหน่งที่ใกล้เคียงที่สุดคือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 

คุณโรซี่เป็นนายกเทศมนตรีโคลัมโบตั้งแต่ปี 2018 แต่ประวัติของแม่เมืองคนนี้สนุกสนานยาวนานกว่านั้นมาก ทั้งเป็นนางงามเจ้าของมงกุฎ Miss Asia Pacific และ Mrs. World ในยุค 80 เป็นนักแสดง นักกิจกรรมเพื่อสิทธิสตรี โฆษกรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสตรี เยาวชน และสังคม (Ministry of Women, Child Affairs and Social Empowerment) 

นอกจากชื่อเสียงเลื่องลือด้านความงาม ซึ่งเธอยังคงสวยมากในวัยเลข 6 ผู้หญิงชุดส่าหรีสีชมพูที่นั่งบัลลังก์ในศาลาว่าการกรุงโคลัมโบยังมีรัศมีน่าครั่นคร้าม หลังจากชมการแสดงหุ่นกระบอกไทยและดนตรีไทยจากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโคลัมโบ เธอปันเวลาในห้องทำงานมาให้สัมภาษณ์สื่อ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่คำตอบของเธอดุดัน ตรงไปตรงมา เหมือนข้อความบนป้ายทองเหลืองของเธอนั่นแหละ

‘ไม่นำ ก็ตาม หรือไม่ก็ออกไปให้พ้น’ 

Rosy Senanayake อดีตนางงามที่กลายเป็นนายกเทศมนตรีหญิงคนแรกของโคลัมโบ ศรีลังกา
Rosy Senanayake อดีตนางงามที่กลายเป็นนายกเทศมนตรีหญิงคนแรกของโคลัมโบ ศรีลังกา

ทำไมคุณถึงตั้งป้ายนี้ไว้ที่โต๊ะทำงาน

นี่เป็นคติของฉันที่ง่ายมาก หลายคนไม่เข้าใจว่าถ้าไม่เป็นผู้นำ ก็ต้องเป็นผู้ตามที่ดี ปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนของเทศบาล ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นการขัดขวางการทำงานในระบบราชการที่ต้องช่วยเหลือประชาชนและชุมชน 

ฉันตั้งใจทำงานให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก ๆ ไม่ใช่แค่ในโคลัมโบ แต่ทั้งศรีลังกาค่ะ ถ้ามีคนมาขัดขวางและไม่เข้าใจว่าฉันทำอะไรอยู่ ไม่สนใจประชาชน แค่มารับเงินเดือนเฉย ๆ คนพวกนั้นคืออุปสรรค มีหน่วยงาน 16 หน่วยอยู่ในการดูแลของฉัน ถ้าหัวหน้าแต่ละหน่วยไม่นำทีมของตัวเองไปดูแลประชาชน ไม่อยากทำหรือไม่ยอมทำ ก็ให้คนอื่นมาทำแทนดีกว่า 

ฉันเชื่อว่าระบบต่าง ๆ ต้องมีประสิทธิภาพ ตรงไปตรงมา นำมาซึ่งผลลัพธ์ ท่านประธานาธิบดี (Ranil Wickremesinghe) ก็เข้าใจเรื่องนี้ดี

ผู้ชายกลัวคุณไหม

(หัวเราะ) ปัญหาแรกและปัญหาใหญ่ที่สุดในการทำงานการเมืองของฉันคือการเป็นผู้หญิง ถ้าคุณเป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่ง ผู้ชายจะกลัวคุณ ถ้าคุณเป็นผู้หญิงอ่อนหวานเชื่อฟัง ผู้ชายจะยอมรับคุณ แต่ฉันอยากได้ความเท่าเทียม อยากให้เสียงของฉันถูกได้ยิน ซึ่งฉันคิดว่าผู้ชายไม่ชอบนักหรอก ผู้หญิงทั้งโลกเผชิญเรื่องนี้ 

คุณทำอย่างไรเมื่อเจอการเลือกปฏิบัติเพราะเพศหรือรูปร่างหน้าตา

ต้องทำงานหนัก 2 เท่าเพื่อพิสูจน์ตัวเอง ฉันเคยเป็นนักกิจกรรมสตรีในพรรคการเมืองในยุค 90 แค่การจะได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรคก็ต้องต่อสู้มาก ขณะที่ผู้ชายได้รับการยอมรับทันทีจากสังคมมากกว่าว่าเป็นผู้นำได้ แต่ฉันคิดว่าเราต้องปูทางให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการเมืองมากขึ้น

สถานการณ์ดีขึ้นบ้างมั้ยในทศวรรษนี้

ดีขึ้นนะ ฉันเคยเป็นสมาชิกรัฐสภา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสตรี เยาวชน และสังคม (Ministry of Women, Child Affairs and Social Empowerment) ตอนนั้นฉันพยายามสนับสนุนการเพิ่มจำนวนสมาชิกผู้หญิงในเทศบาลและสภาท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก จนกระทั่งหัวหน้าพรรคของฉัน (Ranil Wickremesinghe – ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน) ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เขาทำให้เรื่องนี้ผ่านร่างกฎหมายในรัฐสภา ว่าต้องมีผู้หญิงอย่างน้อย 30% ในสภาท้องถิ่น การปฏิรูปจำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนทัศนคติว่าผู้ชายทำได้ดีกว่า ผู้ชายจึงเป็นฝ่ายได้รับเลือกมากกว่าผู้หญิงเสมอ หลาย ๆ ประเทศก็มีการปฏิรูปจนถึงปัจจุบัน มันเป็นการต่อสู้ที่ไม่เคยจบค่ะ

Rosy Senanayake อดีตนางงามที่กลายเป็นนายกเทศมนตรีหญิงคนแรกของโคลัมโบ ศรีลังกา

ใครคือผู้สนับสนุนคนสำคัญของคุณ

หัวหน้าพรรคของฉัน เขาเชื่อมั่นและสนับสนุนสิทธิสตรี ภรรยาของเขา (Maithree Wickremesinghe) ก็เป็นผู้หญิงที่เก่งมาก ๆ และต่อสู้เรื่องนี้เช่นกัน ในปี 2015 การที่เขาทำให้เรื่องผู้หญิงในสภาท้องถิ่นผ่านร่างกฎหมายเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่มาก 

ตอนนี้เรามีนักการเมืองผู้หญิงในระดับจังหวัดแล้ว แต่ฉันยังอยากเห็นผู้หญิงมากกว่านี้ในระดับชาติ เพราะตอนนี้ยังมีน้อยมาก นักการเมืองหญิงส่วนใหญ่เป็นภรรยา พี่สาว น้องสาว หรือลูกสาวของนักการเมือง ซึ่งมีฐานเสียงจากญาติฝ่ายชายอยู่แล้ว การเป็นนักการเมืองหญิงหน้าใหม่ที่ไม่ได้มาจากตระกูลนักการเมืองเลย เป็นเรื่องยากมาก 

นอกจากนี้ผู้สนับสนุนของฉันคือผู้หญิง และผู้ชายที่เชื่อมั่นในสิทธิของผู้หญิง และความเท่าเทียมของมนุษย์ 

การเป็นคนแตกต่าง ยากไหม

ยาก ยิ่งเป็นข้าราชการ การคิดนอกกรอบเป็นเรื่องยาก ผู้คนมีความสุขกับการอยู่ในกรอบ ในเส้นทางที่เคยชินมากกว่า นี่เป็นปัญหาสำคัญของการขับเคลื่อนศรีลังกาไปข้างหน้า 

ทุกครั้งที่ยื่นเรื่องให้รัฐบาลยินยอมให้เราทำนู่นทำนี่ได้ ฉันสับสนมาก ถึงจะทำงานราชการ แต่ฉันมีความคิดแบบเอกชนมากกว่า ถ้าเราทำงานแบบเอกชนได้จะมีประสิทธิภาพ ฉันพยายามมากที่จะคิดต่าง ทำงานต่าง คิดอะไรใหม่ ๆ และตรงไปตรงมา 

ยกตัวอย่างได้ไหม

ล่าสุดโคลัมโบได้เงินทุน 7 ล้านรูปีจากโครงการความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง (Sister Cities) แต่ว่าเงินต้องไปผ่านรัฐบาลกลางก่อนตามระบบ เข้าสภาล่างโดยตรงไม่ได้ ปรากฏว่าเงินก็หายเข้าระบบไป เพราะรัฐบาลไม่เข้าใจว่าเงินนี้เป็นทุนสำหรับโคลัมโบเท่านั้น ครั้งนี้ฉันเลยขอยื่นทุนใหม่จำนวนมากกว่าเดิม เพื่อจะใช้เงินนี้ในการจัดการระบบภาษีให้เป็นระบบดิจิทัล เพื่อสร้างความโปร่งใส ประสิทธิภาพ และกำจัดคอรัปชัน 

เมื่อเช้านี้ฉันคุยกับผู้เกี่ยวข้องหลายกลุ่มมาก ๆ เพื่ออธิบายว่าเงินนี้ใช้สำหรับพัฒนาโคลัมโบ เขตเทศบาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งมีรายรับมากกว่าเทศบาลอื่น ๆ หลายเท่า เราต้องการการจัดการที่แตกต่าง

ก่อนหน้านี้ฉันจัดการพัฒนาเรื่องดิจิทัลให้ฝ่าย Planning เพราะคนร้องเรียนกันมามากว่างานทุกอย่างล่าช้า ไม่มีประสิทธิภาพ แต่พอประสานกับกระทรวงไอซีทีและรัฐบาล และปล่อยระบบในปี 2018 ทุกอย่างราบรื่นดีอยู่ 6 เดือน แล้วหลังจากนั้นก็กลับไปทำงานแบบเดิม พอฉันถามว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ได้รับคำตอบว่าคนไม่พอ คนไม่เข้าใจระบบ ฯลฯ มีข้อแก้ตัวน่าละอายว่าคนชอบทำงานแบบเดิม มากกว่าทำงานแบบ Smart System หรือ Smart City 

Rosy Senanayake อดีตนางงามที่กลายเป็นนายกเทศมนตรีหญิงคนแรกของโคลัมโบ ศรีลังกา

อ้าว

(พยักหน้า) ตอนฉันไปทำงานเป็นข้าหลวงใหญ่ศรีลังกาประจำมาเลเซีย (Sri Lankan High Commissioner for Malaysia) ในปี 2003 ฉันเห็นว่าที่มาเลเซีย ระบบต่าง ๆ มีประสิทธิภาพรวดเร็วมาก ฉันเลยคุยกับหัวหน้าพรรคในเวลานั้น ว่าข้าราชการระดับสูงของเราน่าจะต้องมาศึกษาดูงานว่าเราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร คิดนอกระบบเดิม ๆ ที่มีในระบบราชการ 

น่าเสียดายที่เราไม่มีนโยบายระดับชาติเรื่องนี้ ทุกครั้งที่เปลี่ยนรัฐบาลหรือมีวิกฤตบ้านเมือง ข้าราชการก็จะกลับไปสู่ระบบความคิดแบบเดิม ๆ การทำงานของเทศบาลต้องส่งเรื่องไปผ่านสภาหลายขั้นตอน จนบางทีต้องใช้เวลาหลายปีทำสิ่งง่าย ๆ เพราะเรื่องไปกองอยู่ที่โต๊ะใครสักคน ระบบมันช้า นี่คือปัญหาที่ฉันคิดตลอดเวลาเลยค่ะ

คุณเป็นผู้หญิงคนแรกของศรีลังกาหรือเปล่า ที่เปลี่ยนอาชีพจากวงการบันเทิงมาการเมือง

ฉันไม่เคยอยู่ในวงการบันเทิงจริงจังนะ แต่ช่วงวัย 20 เคยประกวดนางงาม Miss Sri Lanka, Miss Asia Pacific และตอนฉันอายุ 25 ได้เป็น Mrs. World ซึ่งตอนนั้นก็มีความสุขดี แต่ว่าไม่ได้ชอบทางนั้นค่ะ เล่นหนังไป 3-4 เรื่องเท่านั้น คือใจไม่ได้ชอบ อยากทำงานช่วยเหลือคนอื่น สมัยสาว ๆ ฉันทำงานกับองค์กรโรตารีเพื่อสนับสนุนการฉีดวัคซีนป้องกันโปลิโอให้เด็ก ๆ ทุกคน โดยไม่เกี่ยงชาติ ศาสนา แล้วก็ทำงานเป็นนักกิจกรรมสตรีจนได้เข้าสู่การเมืองเต็มตัว 

สิ่งที่ฉันสนใจมาตลอดคือการพัฒนาผู้หญิงและเด็ก อย่างการดูแลเด็กในช่วงแรกเกิด – 5 ปีแรก สมองพัฒนาอย่างมากในช่วงนี้ ต้องดูแลสุขภาพ สนับสนุนการศึกษาที่ลดช่องว่างระหว่างเพศและเชื้อชาติ ฉันพยายามผลักดันเรื่องนี้สำหรับเด็กปฐมวัย แล้วก็เรื่องลดการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เรื่องการเคารพเกียรติของผู้หญิง ไม่ว่าจะมาจากเชื้อชาติชนชาติ หรือสถานะใด 

ในฐานะนักการเมืองหญิง ความงามยังคงสำคัญมากสำหรับคุณมั้ย

ทุกคนต่างถูกสร้างให้มีความงามแบบของตัวเอง และแน่นอนว่าทุกคนสวยงามขึ้นได้ ถ้ามีความงามทั้งภายนอกและภายใน มีจิตใจที่ดี ช่วยเหลือผู้อื่น แต่ความงามภายนอกก็ยังสำคัญ ทุกวันนี้ฉันยังต้องไปเจอกับคน สื่อสารกับคน ก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ชอบของสวย ๆ งาม ๆ 

Rosy Senanayake อดีตนางงามที่กลายเป็นนายกเทศมนตรีหญิงคนแรกของโคลัมโบ ศรีลังกา
Rosy Senanayake อดีตนางงามที่กลายเป็นนายกเทศมนตรีหญิงคนแรกของโคลัมโบ ศรีลังกา

สิ่งที่คุณอยากสื่อสารกับผู้หญิงรุ่นใหม่คืออะไร 

ยุคนี้ผู้หญิงมีความท้าทายใหม่ ๆ ในโลกที่ไร้พรมแดน และเราอยู่ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีพัฒนาสูงสุด แค่กดปุ่ม โลกทั้งใบก็อยู่ในมือคุณ มีข้อมูลทุกอย่างตั้งแต่มีประโยชน์ถึงไร้สาระ ฉันเห็นอินสตาแกรม เห็น TikTok แล้วก็คิดว่ามันอาจทำให้ความคิดเราฟุ้งไปทุกทิศทุกทาง เราก็เลยต้องระวังมาก ๆ ที่จะดูแลตัวเอง 

ผู้หญิงเป็นสปีชีส์ที่พิเศษมากนะคะ ฉันคิดว่าผู้หญิงนั้นแข็งแกร่งกว่าผู้ชายเสียอีก แต่เราต้องปรับความคิดให้เข้มแข็งและเชื่อมั่นในตัวเองก่อน 

คิดต่าง มุ่งมั่น แล้วก็อย่าวอกแวกกับสิ่งที่คนอื่นพูด ถ้าคุณรู้ว่านี่คือเป้าหมาย แล้วก็นี่คือทิศทางที่คุณจะไป ก็ทำให้เต็มที่เพื่อไปสู่จุดหมาย

ถ้าอยากเป็นคนจริงใจ ความเรียบง่ายคือหัวใจสำคัญ การจริงใจกับตัวเองเริ่มต้นจากการรักตัวเอง และอีกอย่างที่สำคัญคือการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น อย่าลืมว่าเราอยู่ตรงนี้ทำไม เพื่ออะไร และเคารพตัวเองให้มาก 

ฉันคิดว่าเราอยู่ในยุครอยต่อสู่ความเปลี่ยนแปลง อย่าคิดแค่ว่ามีเงินเท่าไหร่ มีชื่อเสียงเท่าไหร่ แต่คิดถึงมนุษยชาติด้วย ผู้หญิงเป็นฝ่ายที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลคนในยุคสมัยต่อไปนะ การอบรมคนรุ่นถัดไปให้มีความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่นและส่งต่อความรัก นั่นคือสิ่งที่ผู้หญิงทำได้ 

ตอนนี้ศรีลังกาประสบปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง โคลัมโบมีนโยบายดูแลประชาชนในช่วงนี้อย่างไร

โคลัมโบมีผู้อาศัยอยู่ราว ๆ 175,000 ครัวเรือน และมีสลัมราว ๆ 30 แห่ง คนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนมีเยอะมาก และพวกเขาก็ต้องการความช่วยเหลือในหลายด้าน 

 ในช่วง 2 ปีนี้ที่มีโควิด เราพยายามช่วยเหลือด้วยการจัดสรรปันส่วนอาหารระหว่างล็อกดาวน์ มีคลินิกฟรีสำหรับดูแลผู้คน บุคลากรการแพทย์ดูแลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีครอบครัวราว ๆ สองสามพันครอบครัวที่รับความช่วยเหลือจากเทศบาลทุกเดือน 

นอกจากสวนครัวหน้าศาลาว่าการแล้ว เรายังมีครัวกลางของชุมชนที่ช่วยเหลือครอบครัวที่เปราะบาง ทีมสาธารณะสุขของฉันแข็งแกร่งมาก มีทีมแพทย์ที่ดูแลหญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก แม่ลูกอ่อน เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาได้รับสารอาหารและหยูกยาเพียงพอ แล้วเรายังได้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานของ UN ที่ช่วยผู้หญิงที่ได้รับความลำบากกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ และเด็ก ๆ กลุ่มเปราะบางก็ได้รับอาหารกลางวันฟรีด้วย 

แปลงสวนครัวหน้าศาลาว่าการนี่เป็นไอเดียของคุณใช่ไหม

ใช่ค่ะ Urban Harvesting หลายเดือนก่อนฉันไปพบประธานาธิบดี ซึ่งตอนนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วพบว่าเรามีปัญหาขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงภายในสิ้นปีนี้ ตอนนั้นฉันตัดสินใจว่าต้องช่วยคนโคลัมโบให้ได้มากที่สุด เลยรีบประชุมกันว่าเราจะเปลี่ยนสวนหน้าศาลาว่าการเป็นแหล่งอาหาร แบ่งเป็นพืชที่ปลูกระยะสั้นกับระยะกลาง หน่วยงานที่ช่วยเหลือเรามีมาก ทั้งหน่วยงานเอกชนและหน่วยงานอื่น ๆ อย่าง UN และสถานทูตอเมริกา ทั้งทูตและครอบครัวมาช่วยกันปลูกพืชและแวะเวียนมาดูผลงาน เป็นความรู้สึกที่ดีที่เห็นผู้คนแวะเวียนมาดูแลพืชผักสวนครัว บางครั้งพืชเหล่านี้ก็สร้างรายได้ให้คนด้วย

นอกจากพืชผัก ทำไมคนศรีลังกาชอบต้นไม้ โคลัมโบเก็บต้นไม้ใหญ่ไว้มากมายกว่าในกรุงเทพฯ มาก 

เราชอบธรรมชาติ หนึ่งในนโยบายของฉันคือถ้าคุณต้องขออนุญาตตัดต้นไม้เพื่อพัฒนาพื้นที่ ต้องปลูกต้นไม้ทดแทนอย่างน้อยสิบต้นเพื่อสร้างคาร์บอนเครดิต 

Rosy Senanayake อดีตนางงามที่กลายเป็นนายกเทศมนตรีหญิงคนแรกของโคลัมโบ ศรีลังกา

ก่อนกลับเข้ามาที่ห้องทำงาน คุณบอกว่าไม่อยากเสียแชมป์การเป็น Green City ให้สิงคโปร์และเมืองอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้

ใช่ เราตั้งเป้าจะปลูกต้นไม้ให้ได้ล้านต้น และเป็นต้นแบบสวนแห่งความรู้ในการปลูกพืชแบบเอเชียตะวันออกบนที่ดินสองเอเคอร์ เป็นโครงการเพิ่มคุณค่าให้เมืองค่ะ

ปีที่ผ่านมากรุงเทพฯ น้ำท่วมบ่อย ภาวะโลกร้อนส่งผลต่อโคลัมโบเหมือนกันมั้ยในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา

เรามีปัญหาน้ำท่วมรุนแรงบ่อย ๆ สถานการณ์ของประเทศรอบข้างอย่างบังคลาเทศก็น่ากลัวมาก เราต้องเตรียมตัวรับมือ จริงจังเรื่อง SDGs และพลังงานทดแทนที่ยั่งยืน ทั้งเรื่องไฟสาธารณะ ที่จอดรถ มันเกี่ยวข้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหมด 

ตอนนี้เราก็ยังมีปัญหาขยะพลาสติกในเมืองที่เยอะมาก ๆ ถึงจะมีกฎหมายแบนพลาสติกบางชนิดก็ตาม แต่ช่วงหน้ามรสุม มีขยะถูกน้ำพัดมากีดขวางทางน้ำและเข้ามาในเขื่อน เราพยายามขจัดขยะออกไปและสอนคนไม่ให้ทิ้งขยะ โดยเราปฏิเสธที่จะรับขยะเพิ่ม บีบให้คนต้องใช้พลาสติกน้อยลงและแยกขยะจริงจัง ขยะทั่วไปและขยะรีไซเคิลเก็บคนละวันกัน ซึ่งลดจำนวนขยะไปได้มากค่ะ มีตลาดของรีไซเคิลด้วย ทำให้คนตระหนักว่าของเสียมีมูลค่า และเรายังทำงานกับเอกชนเรื่องการสร้างพลังงานทดแทนจากของเสียด้วย 

คำถามสุดท้าย คุณอยากให้คนไทยรู้จักโคลัมโบมากขึ้นอย่างไร

เรารักเมืองไทย เวลาคนศรีลังกาอยากไปเที่ยวก็มักคิดถึงเมืองไทยเป็นอันดับแรก ๆ ทุกคนชอบไปกรุงเทพฯ ไปภูเก็ต ไปที่อื่น ๆ ฉันชอบเมืองไทยมาก เรามีความคล้ายกันทั้งสภาพภูมิอากาศ นิสัยใจคอผู้คน อาหาร วัฒนธรรม หุ่นกระบอกที่ได้ดูก็ทำให้รู้สึกเชื่อมโยงกัน ความสัมพันธ์ทางการทูตก็ดีมาตลอด 

ขนาดงานแต่งงานลูกชายฉันยังจัดที่กรุงเทพฯ เลย เพราะในปี 2019 มีเหตุระเบิดรุนแรงในโคลัมโบตอนกลางปี เราจัดงานใหญ่ที่นี่ไม่ได้เลยไปกรุงเทพฯ แทน รู้สึกว่าไทยกับศรีลังกาใกล้ชิดกันมาเสมอเลยค่ะ

Rosy Senanayake อดีตนางงามที่กลายเป็นนายกเทศมนตรีหญิงคนแรกของโคลัมโบ ศรีลังกา

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล