เชื่อไหมว่าบ้านที่หน้าตาโมเดิร์นหลังนี้ ซ่อนบ้านเรือนไทยรุ่นคุณตาอายุกว่า 80 ปีอีกหลังอยู่บนชั้น 2 ของบ้าน ภายใต้ระแนงไม้ที่ปิดล้อมไว้อย่างมิดชิด ชนิดที่มองแทบไม่เห็นเพราะกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวไปกับบ้านทรงกล่อง

ไม่ใช่แค่บ้านเก่าที่ถูกเก็บมาบรรจุลงในบ้านหลังใหม่ เฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้ ประตู หน้าต่าง ราวกันตก แผ่นไม้ที่เห็น ทุกอย่างล้วนเป็นวัสดุเก่าทั้งหมด บ้านใหม่ที่เต็มไปด้วยของเก่าหลังนี้จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ธรรมดาๆ เป็นพิเศษพอๆ กัน

ป่อง-ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ เจ้าของCASE Studio บริษัทรับออกแบบเล็กๆ ที่มีพนักงาน 3 คน และเธอยังเป็นเจ้าของบ้านหลังงามที่ว่านี้ บทบาทที่ทำให้ปัฐมาเป็นที่รู้จักคือสถาปนิกชุมชนผู้ช่วยให้คนที่พื้นที่เหลื่อมล้ำได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยการออกแบบ บุคลิกลุยๆ กับการลงพื้นที่เข้าไปคุยกับชาวบ้านเพื่อร่วมกันหาทางออกเป็นภาพที่เห็นกันจนชินตา ส่วนอีกบทบาทเธอคือพี่สาวคนโตของครอบครัวหรุ่นรักวิทย์ ผู้หลงใหลจังหวะชีวิตที่เนิบช้า

บ้านหรุ่นรักวิทย์, ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

ท่าทีที่เธอออกสื่อเป็นอย่างไร ไม่ต่างจากที่เธอรอต้อนรับเราในวันนั้น ปฐมาทักทายเราก่อนชวนนั่งคุยสบายๆ ในห้องสมุดและเริ่มต้นเล่าเรื่องบ้านหลังนี้ให้ฟัง

บ้านที่ทุกคนอยากอยู่

ก่อนหน้าที่จะย้ายมาอยู่บ้านหลังใหม่ย่านมีนบุรีหลังนี้ สามพี่น้องครอบครัวหรุ่นรักวิทย์มีบ้านคนละหลังในพื้นที่เดียวกัน แต่เอาเข้าจริง ทุกคนกลับมาใช้เวลาอยู่ด้วยกันที่บ้านของคุณแม่ซึ่งอยู่กับน้องสาว อยู่จนดึกถึงจะกลับบ้านของตัวเอง ทั้งมาทำอาหาร กินข้าวด้วยกันทุกวัน จนครัวของบ้านแต่ละหลังถูกเลิกใช้ นานวันเข้าบ้านทั้ง 3 หลังในพื้นที่ 4 ไร่มีฟังก์ชันเดียวคือเป็นแค่ที่นอนเท่านั้น ประจวบเหมาะกับมีเหตุให้ต้องขายที่ดินของบ้านหลังเดิม ครอบครัวเธอจึงย้ายมาสร้างบ้านใหม่เพื่ออยู่พร้อมหน้ากันทุกคนเช่นทุกวัน

บ้านหรุ่นรักวิทย์, ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

เพราะทุกคนต่างมาใช้เวลาที่บ้านของคุณแม่ เมื่อสร้างบ้านหลังใหม่ โจทย์ของบ้านไม่เพียงแค่ต้องเป็นบ้านของสมาชิกต่างวัยทั้ง 7 คนและออฟฟิศของทั้ง 3 พี่น้อง แต่ต้องออกแบบโดยเก็บความผูกพัน บรรยากาศเก่าๆ ของบ้านหลังเดิมมาไว้ที่บ้านโมเดิร์น 2 ชั้น รูปทรงกล่อง หน้าตาแสนเรียบง่ายนี้ด้วย

บ้านหรุ่นรักวิทย์, ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

ข้อจำกัดของที่ดินผืนใหม่ขนาด 1 ไร่ 25 วา ซึ่งเล็กลงกว่าเดิมเกือบ 4 เท่า ทั้งแคบและยาวตามแนวเหนือ-ใต้ หากมองเข้ามาจากมุมสูง เราจะเห็นตัวอาคารรูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า 7 หลัง แต่ละหลังเรียงทอดเป็นแนวยาวไปตามแนวของที่ดิน เรียงร้อยเชื่อมต่อกันด้วยชาน

“ด้วยความที่เป็นที่ดินหน้ากว้างแต่มันตื้น ในขณะที่ลมมาด้านทิศตะวันออก-ตะวันตก เลยต้องสร้างอาคารให้มันขวางลมและรับแดดที่น้อยที่สุด เพราะมันขวางลมอย่างนี้ มันจะร้อนถ้าตัวอาคารบังกัน เลยต้องวางแปลนให้มีการยักเยื้อง เพื่อให้มันมีการดักลม ถ้าได้มาเดิน มานั่งเล่นจะรู้สึกว่าลมพัดตลอด เย็นสบายตลอดทั้งวัน ไม่ต้องเปิดแอร์เลย

บ้านหรุ่นรักวิทย์, ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

“จริงๆ บ้านไม่ได้ใหญ่ แต่เว้นระหว่างตึกไว้เยอะ เวลาเราเดินเราก็เอนจอยสวนเราได้ตลอด ในส่วนของบ้านเราใช้ชานเชื่อมหมดเลย ตอนเช้าเดินมาทำงานก็จะเดินผ่านชาน ตอนเย็นก็เดินกลับไปบ้าน โดยมีเรือนไทยที่แปลงให้เป็นเรือนประธานเป็นตัวกั้นความเป็นส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะ แต่เราถือว่าเรือนไทยเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน เลยเข้าได้จากทางบ้านเท่านั้น”

บ้านหรุ่นรักวิทย์, ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

ถ้ามองจากด้านหน้า ตัวอาคารลักษณะเป็นกล่องทึบตัน นั่นเป็นเพราะความตั้งใจของเธอที่ต้องการสร้างความเป็นส่วนตัวของบ้าน 

“เราไม่รู้ว่าอีกหน่อยข้างเคียงเราจะเป็นอะไร ฉะนั้น วิวที่เรากำหนดได้จะเป็นวิวการมองเห็น อย่างหน้าต่างเตี้ยๆ เราก็ไม่ได้ทำเอาเก๋ แต่มันคือสเกล แม่นั่งแล้วอยู่ในระยะที่เขามองเห็นพอดี แต่ก่อนแม่ก็จะบอกว่าให้เปิดกว้าง ไม่ต้องปิดม่านนะ เราก็บอกเขาว่าถ้าอย่างนั้นคนอื่นก็จะเห็นเรา แต่ถ้าเป็นอย่างนี้มองเข้าไปก็ไม่เห็นเราแล้วนะ สงสัยเขากลัวข้างนอกมองเห็นมั้ง เขาก็เชื่อเรา ทั้งสามด้านเลยปิดทึบ

บ้านหรุ่นรักวิทย์, ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

“ทุกอย่างมันมาจากฟังก์ชันหมดเลย อย่างบางอันมันอยู่สูงเพราะอยากระบายลมอย่างเดียว ไม่ได้ต้องการวิวและไม่ต้องการให้คนที่อยู่ข้างนอกมองเห็น ก็เลื่อนช่องหน้าต่างขึ้นไปข้างบน”

บ้านหรุ่นรักวิทย์, ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

พื้นที่ฝั่งที่อยู่อาศัย เริ่มจากห้องโถงกลางซึ่งเป็นใต้ถุนเรือนประธานที่ยังคงฟังก์ชันและบรรยากาศใต้ถุนบ้านไทยเหมือนบ้านหลังเก่า ห้องนี้เป็นเหมือนพื้นที่กึ่งสาธารณะ เหมือนเป็นพื้นที่ส่วนกลางของทุกคนในบ้าน มีแพนทรี่เล็กๆ มีแกรนด์เปียโน ผนังด้านทิศตะวันตกกรุกระจก เปิดโล่งมองเห็นสระว่ายน้ำ ในบางวันเป็นเป็นที่จัดปาร์ตี้สำหรับแขกของครอบครัวที่แวะเวียนมาเสมอๆ ส่วนทุกวันคือห้องที่กินไว้ข้าวกันพร้อมหน้า

“เราจะรอกินข้าวพร้อมหน้ากันประมาณ 6 โมงเย็น เรื่องกับข้าว จะแบ่งเวรวัน ลูก 3 คนคนละ 2 วัน น้องสาวอังคารกับวันพุธ พี่วันพฤหัสกับเสาร์ น้องชายเป็นวันศุกร์กับวันจันทร์ ส่วนวันอาทิตย์อาจจะฟรี ออกไปกินข้างนอก

บ้านหรุ่นรักวิทย์, ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์
บ้านหรุ่นรักวิทย์, ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

“ตรงที่เป็นส่วนตรงกลางมีสระว่ายน้ำ เพราะเป็นคนชอบว่ายน้ำ ตอนเด็กๆ เราหัดในคลอง คือทุกคนชอบว่ายน้ำหมดยกเว้นน้องสาว สระว่ายน้ำมันเป็นอะไรที่เราเตรียมชรา มีทางลาดลง เรามีความรู้สึกว่าถ้าแก่ตัวลง การว่ายน้ำมันกระแทกกระทั้นบอบช้ำน้อยที่สุด ตอนแรกเราคิดตั้งงบไว้ต่ำมาก อย่างหินริมสระช่างตีราคามา 300,000 บาท แต่จ่ายไม่ลง ไปเดินโฮมโปรได้กระเบื้องมา 28,000 บาท ดีใจมาก แม้กระทั่งบันไดเก่าลงสระก็ใช้บันไดเก่าจากบ้านไทย แล้วทุกคนก็จะมีคำถามว่ามันไม่ผุหรอ  เฮ้ย เมืองไทยเมื่อก่อนท่าน้ำเป็นอะไร เป็นไม้ทั้งหมดนะ มันก็มีอายุการใช้งานของมัน”

ถัดมาจากโถงกลางเป็นพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งคือบ้านที่ทุกคนอาศัยอยู่ร่วมกัน มีครัวขนาดพอดี พอเหมาะสำหรับใช้งานจริง ห้องซักผ้า ห้องนอนของคุณแม่และลูกๆ แต่ละคน ส่วนชั้นสองเป็นห้องของครอบครัวน้องชาย ภรรยา และห้องของลูกชายทั้งสองคน

“ห้องนอนคือห้องนอน เราออกแบบให้มันเล็กเพื่อไม่ให้หมกตัวอยู่ในห้องนอน จะมาอยู่ห้องโถงหรือมาซุกอยู่ตรงไหนก็แล้วแต่ ในห้องมีพื้นที่สำหรับห้องน้ำเล็กๆ แต่ละคนก็จะต้องล้างห้องน้ำเอง แต่ละอาทิตย์หนึ่งน้องชายก็จะไปตรวจห้องลูกวัย 8 ขวบกับ 12 ขวบว่าเรียบร้อยหรือเปล่า”

ฟังดูเหมือนต้องผ่านการคุยกันเยอะมากเหมือนกันนะว่าใครต้องการอะไร เราถาม

บ้านหรุ่นรักวิทย์, ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

“ไม่ได้คุยกันเยอะแต่เรารู้อยู่แล้วว่าใครต้องการอะไร คุยแป๊บหนึ่งว่าทำแบบนี้โอเคไหม แต่ออกมาแล้วก็ถูกใจทุกคนในบ้าน”

บ้านที่ยังอยากเก็บของเก่าไว้อยู่

ไม่ใช่สร้างบ้านให้เป็นที่พักพิงทางกาย แต่ยังต้องสร้างที่พักพิงทางใจ โจทย์ท้าทายคือการย้ายเรือนไทยหลังเก่าไปเป็นเรือนประธาน

“นอกจากเรื่องฟังก์ชันที่เราต้องการแล้ว มันก็เป็นเรื่องของวัสดุที่จะไม่ทิ้ง จะเอามาใช้ใหม่ทั้งหมด แล้วก็ต้องเอาบ้านเรือนไทยมาด้วย

บ้านหรุ่นรักวิทย์, ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

“เรือนไทยของคุณตาหลังนี้ย้ายมาจากสมุทรปราการ แม่ผูกพันมากเพราะว่าคุณตายกให้ ทีแรกแม่เขาก็บอกจะให้ญาติแถวนั้น แต่มันก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ญาติเอาไปไม่ได้ตลอด เขากลุ้มนะ เรารู้ว่าแม่รักบ้านหลังนี้มากเพราะพ่อให้เขามา เราก็เลย แม่ งั้นก็เอาบ้านหลังนี้มาด้วย พอเราคุยกับเขา หู้ยยย ดีใจมาก ไอ้เราก็แบบไม่รู้จะวางไว้ตรงไหนเต็มไปหมดเลย คือโจทย์มันไฟต์บังคับ ยังไงก็ต้องมีบ้านหลังนี้มาด้วย

บ้านหรุ่นรักวิทย์, ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

“พอย้ายเรือนไทยมา ต้องเป็นเรือนประธานเท่านั้น เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้แล้ว และไม่มีใครยอมไปอยู่บ้านนั้นด้วย มันทึม อีกอย่างกลัวผีทุกคน (หัวเราะ) บ้านนี้มันก็เลยต้องกลายเป็นหัวใจของบ้านแทน เอามาให้อุ่นใจ แล้วเราก็ใส่เสื้อให้เขาหน่อย ตีระแนงล้อมรอบเพื่อการไหลเวียนของอากาศ เพราะเขาแก่ต้องให้โดนฝน ลม แดด น้อยลง ขณะเดียวกันระแนงนี้ก็ทำให้เขากลมกลืนกับตึกโมเดิร์น

“ตอนแรกเราชอบงานทรอปิคัลที่มีหลังคา แต่ถ้าเอามาบวกกับบ้านไทย ความแฝงของเขาก็จะหายไปเลย การจะเน้นให้เขาสำคัญมันต้องเรียบ ไม่งั้นมันจะรุงรังไปหมด เราเลยเลือกที่จะโชว์อันนี้เป็นหัวใจ แล้วที่เหลือก็ให้มันเรียบง่าย ประกอบกับปีหน้าจะเริ่มใช้โซลาร์เซลล์ก็เลยทำหลังคาสแล็บไปด้วย เลยออกมาเป็นบ้านโมเดิร์นทรงกล่องอย่างที่เห็น”

นอกจากเป็นเรือนประธานแล้ว อีกฟังก์ชันคือเป็นหอพระ และเก็บส่วนที่เป็นห้องนอนเล็กไว้ระลึกถึงให้คุณตา จัดเตียงเหล็กโบราณ ทีวีเครื่องเก่า และข้าวของไว้เหมือนเดิม

บ้านไม้อายุกว่า 80 ปีหลังนี้ เธอบอกว่าสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 คุณตาซื้อไม้ทั้งบ้านมาในราคา 3,000 บาท ด้วยความที่ทวดมาจากเมืองจีน มีวิชาช่างไม้ติดตัว ลูกชายทุกคนจึงได้รับการถ่ายทอดวิชาให้เป็นช่างไม้ต่อเรือขาย และบ้านหลังนี้คุณตาเลยเป็นผู้สร้างเองกับมือ

บ้านหรุ่นรักวิทย์, ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

ขั้นตอนการย้ายเรือนไทยทั้งหลังมาไว้บนบ้านอีกหลังไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องคิดตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง ต้องคำนวณระยะเสาให้ละเอียด เดิมทีเรือนไทยมีเสาเยอะ แถมระยะกริดยังเหลื่อมๆ กับตัวอาคารคอนกรีต แต่เธอต้องการลดให้เหลือเพียง 2 ต้น จึงเสริมคานเพื่อถ่ายน้ำหนักเสาเรือนไทย บ้านทั้งหลังถูกถอดออกมาเป็นชิ้นๆ แล้วยกขึ้นมาประกอบ ตัวบ้านเป็นไม้วางบนคอนกรีต เชื่อมกันด้วยการฝังเพลตเหล็ก เพื่อให้เสาไม้มาเสียบอยู่บนเพลตเหล็ก แล้วยึดน็อต ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องใช้วิศวกรและช่างไม้ที่เข้าใจบ้านไทยด้วย

บ้านหรุ่นรักวิทย์, ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

เธอเกริ่นกับเราไว้แต่ทีแรกว่าจะไม่ทิ้งวัสดุจากบ้านเก่า งานไม้ทั้งหมดที่เห็นในบ้านหลังใหม่นี้ เป็นไม้ที่เก็บมาจากบ้านเก่าทั้งสามหลัง

“รื้อบ้านทั้งหมดมันก็มีของเหลือเยอะมากที่ต้องทิ้ง ปกติเขาก็จะขายร้านขายของเก่า แต่เรามีความรู้สึกว่า เฮ้ย อันนี้พ่อเราทำมา ประตู หน้าต่าง เป็นไม้ ถึงแม้ว่ามันจะเชย แต่ยุคนี้มันหาไม่ได้แล้ว เลยคุยกันว่า งั้นเราเอาประตูหน้าต่างเรามาหมด ประตูไม้ที่เห็นทั้งหมดนี้เป็นของเก่าหมดเลย ส่วนที่เป็นอะลูมิเนียมก็คือใหม่ทั้งหมด

บ้านหรุ่นรักวิทย์, ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์
บ้านหรุ่นรักวิทย์, ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์
บ้านหรุ่นรักวิทย์, ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

“บ้านหลังนี้มีของที่เอากลับมาเยอะมาก อย่างเรือลำนี้เป็นเรือของคุณตา คุณตามีอาชีพต่อเรือขาย แล้วมันเหลืออยู่ลำเดียวเลยเอามาเก็บไว้ ส่วนโอ่งมังกรนี้ก็มีเป็นร้อยเหมือนกัน เมื่อก่อนเอาไว้เก็บน้ำฝนต้องเอามาด้วย เคยมี 90 ใบ ตอนนี้เหลือแค่ 10 ใบเองมั้ง”

บ้านหรุ่นรักวิทย์, ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์
บ้านหรุ่นรักวิทย์, ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

ประตูไม้ลายฉลุ 2 บานที่สะดุดตาเราตั้งแต่แรกเข้าบ้าน เธอเล่าว่า สร้างเลียนแบบประตูเก่าที่ฉลุ พ.ศ. 2482 ส่วนอีกบานทำขึ้นมาใหม่ให้เหมือนกัน ซึ่งเป็นประตูออฟฟิศ ฉลุ พ.ศ. 2560 ไว้ระลึกถึง พ.ศ. ของการสร้างบ้านเช่นประตูเดิม

ของเก่าที่เล่ามายังไม่หมด ลูกกรงที่เคยอยู่ระเบียงใต้ถุนบ้านเก่า ราวกันตกห้องครัวบ้านแม่ ถูกนำมาปัดฝุ่นก่อนใช้เป็นราวกันตกรอบบ้าน เฟอร์นิเจอร์เก่าตั้งแต่รุ่น 50 – 100 ปี เห็นได้อยู่ทุกมุมของบ้าน รวมถึงต้นไม้บ้านๆ ที่เธอล้อมมาไว้ด้วย “การเอาของเก่ามามันประหยัดได้เยอะ แล้วก็อุ่นใจ” เธอว่าอย่างนั้น

บ้านที่ไม่ได้เอาไว้แค่อยู่

บ้านหรุ่นรักวิทย์, ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

อย่างที่บอกไปตั้งแต่ตอนแรก บ้านหลังนี้มีโจทย์ที่ต้องบวกออฟฟิศของทั้งสามพี่น้องเข้าไปด้วย ออฟฟิศแรก Case Studio บริษัทรับออกแบบขนาดย่อมของเธอที่มีพนักงานเพียง 3 คน โรงเรียนสอนเปียโนของน้องสาว บริษัททัวร์และบริษัทรับเหมาก่อสร้างของน้องชาย

ทุกคนมีออฟฟิศอยู่ที่บ้านแบบนี้แปลว่ารักงาน รักบ้าน หรือ…

บ้านหรุ่นรักวิทย์, ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

“ทุกคนเป็นคนขี้เกียจ (หัวเราะ) ขี้เกียจออกไปผจญภัย คือมันเริ่มมาจากว่าตอนอยู่บ้านเก่ามันเป็นการลดค่าใช้จ่ายไง เรามีที่ เราก็อยู่ของเราสิ จะไปเช่าที่อื่นทำไม สำหรับเรามันไม่ใช่ที่ขายของ แค่มีอีเมล มีโทรคุย มีสถานที่ที่นัดมาคุยกันได้ คือจบแล้ว งานเราก็รับในสเกลที่ 3 คนทำไหว จะไม่รับเยอะ รับแค่พอใช้จ่ายเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นที่อยู่อาศัยเสียเยอะ อย่างบ้าน ฟาร์มโฮมสเตย์ โรงแรมเล็กๆ แล้วยิ่งเมื่อก่อนทำงานสถาปนิกชุมชน ออฟฟิศยิ่งแทบไม่ได้ใช้ ต้องออกไปข้างนอกตลอด

“พวกเราทำงานอยู่ที่บ้านทั้งหมด น้องสาวเป็นครูสอนเปียโนอยู่ อย่างวันเสาร์ไปก็สอนที่โรงเรียน เวลาว่างก็จะสอนที่นี่ แล้วเขาก็ไปสอนบ้านเด็กกำพร้า อาทิตย์ละ 2 หน ตรงนี้เราทำห้องรวมวง ส่วนตรงทางออกไปสระว่ายน้ำ ถ้าเด็กๆ จะเปิดคอนเสิร์ตก็ใช้เป็นเวทีได้เลย เราออกแบบไว้ให้แล้ว ด้านบนชั้นสองเป็นออฟฟิศของน้องชาย และห้องพักสำหรับแขก สำหรับเพื่อนๆ มาค้างได้”

บ้านที่ให้ใครก็ได้มาอยู่

ชั้นสองบนอาคารโซนออฟฟิศ ด้านบนของสตูดิโอสอนเปียโน เป็นห้องพักแขกขนาด 2 ห้องนอน พร้อมแพนทรี่เล็กๆ เธอบอกว่าหัวกะไดไม่เคยแห้ง เพราะเพื่อนๆ ต่างแวะเวียนมาพักประจำ ส่วนที่เราค่อนข้างประทับใจปนอึ้งนิดๆ เป็นบ้านที่เธอตั้งใจสร้างให้เพื่อนมาอยู่ในยามเกษียณ และบ้านของเพื่อนแม่ที่ย้ายมาด้วยจากบ้านเช่าหลังเดิม

บ้านหรุ่นรักวิทย์, ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์
บ้านหรุ่นรักวิทย์, ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์

“สองอันนี้มันเหมือนจะเป็นกลุ่มเดียวกันแต่ความจริงพื้นที่แยกกัน ซึ่งบริเวณบ้านจะมีที่จอดรถของเขาเอง เมื่อก่อนที่บ้านหลังเก่ามีบ้านและออฟฟิศให้เช่าด้วย ซึ่งก็มีเพื่อนที่อยู่มานานมาก แม่ก็บอกว่าเพื่อนคนนี้ต้องเอามาด้วย นึกออกไหมเพื่อนที่แทบจะเป็นญาติกันอยู่แล้ว เขาเป็นซิงเกิลมัม อยู่กันมาตั้งแต่ลูกเล็กๆ ตอนนี้ลูกเขาอยู่มัธยมแล้ว เขาก็แฮปปี้ที่จะอยู่กับเรา ส่วนอีกหลังเป็นโซนบ้าน ‘เกเก้’ เพื่อนต่างชาติที่สร้างไว้เผื่อเกษียณแล้วจะมาอยู่เมืองไทย”

“อีกอย่างมีสิ่งที่เคยคิดไว้ เลยคุยกับหลานทั้งคู่ว่า ถ้าอีกหน่อยไม่มีใครอยู่กับหนูแล้ว ทุกคนไปหมด ลูกย้ายไปอยู่อพาร์ตเมนต์อาเกเก้ก็ได้นะ คนละชั้นกับน้อง ถ้าบ้านหลังนี้มันใหญ่เกินไป อยู่ 2 คนกับน้องไม่เวิร์ก ก็เปิดเป็นโรงแรมไปเลย เราวางแผนเอาไว้ให้เขา แต่เขาจะทำอะไรมันก็เรื่องของเขา”

บ้านที่อยากอยู่อย่างอยาก

“ทุกอย่างเป็นสิ่งที่ตอบว่าอยากได้ยังไงมันก็ต้องเป็นอย่างนั้น อยากอยู่ยังไง มันก็อยู่อย่างนั้น สนองฟังก์ชันทั้งหมด”

บ้านหรุ่นรักวิทย์, ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์
 

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan