คุณจำได้ไหมว่า โรมีโอกับจูเลียต ใช้เมืองอะไรเป็นฉากหลัก

คำตอบคือ เวโรนา อันเป็นเมืองทางเหนือของอิตาลี ใหญ่เป็นอันดับสองของแคว้นเวเนโต อันมีเวนิสเป็นหัวเมืองเอก

กลับมาที่ โรมีโอกับจูเลียต ภาษาอิตาเลียนเรียกเรื่องนี้ว่า Romeo e Giulietta อ่านว่า โรแมโอ เอ จูลีเย็ตต้า แต่เพื่อไม่ให้ดูดัดจริตจนเกินไป ฉันก็จะเรียกหนุ่มสาวสองคนนี้ว่า โรมีโอกับจูเลียต ตามที่ใครๆ เรียกกันก็แล้วกัน

Spoiler Alert!

นอกจากฉากตายตอนจบแล้ว ภาพจำโดยทั่วไปของคนที่มีต่อละครเรื่องนี้ คือฉากพลอดรักหวานฉ่ำระหว่างโรมีโอกับจูเลียตที่ระเบียงบ้านของสาวเจ้า

ผู้คนที่มุ่งมั่นมาเมืองนี้ จึงมาเพื่อดูบ้านจูเลียต และดูระเบียงนั้นแทบทั้งสิ้น

ก่อนจะเลยเถิดไปไหน ขอให้แน่ใจก่อนว่า ทุกท่านรู้จักเรื่อง โรมีโอกับจูเลียต แล้วจริง ๆ

ไป Verona เยือนบ้านจูเลียตที่ไม่เคยเป็นบ้านจูเลียต และระเบียงในฉากลือลั่นที่สร้างกันเองจากโลงหิน

 ภาพ : upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/5/55/Romeo_and_juliet_brown.jpg/640px-Romeo_and_juliet_brown.jpg

ในเรื่องกล่าวว่า ทั้งสองคนเป็นลูกของตระกูลคู่อริกัน จูเลียตเป็นลูกสาวบ้านคาปูเล็ต ส่วนโรมีโอเป็นผู้บ่าวบ้านมองเตกู

ทั้งสองรักกันปานจะกลืน ในท้ายที่สุดจูเลียตได้ยาแกล้งตายมาจากพ่อหมอ แต่ดันไม่ยอมบอกแฟนตัวเอง รายนี้พอมาเห็นหญิงคนรักนอนตายนิ่ง ก็ฉวยมีดสั้นแทงตัวเองตาย จูเลียตฟื้นขึ้นมาหลังจากยาสิ้นฤทธิ์ เห็นแฟนตัวเองตาย ก็ฉวยมีดมาแทงตัวเองตายตาม อ่านเผินๆ นึกว่าอ้ายขวัญกับอีเรียมแห่งทุ่งบางกะปิยังไงยังงั้น

ปัจจุบัน ผู้คนที่มาเมืองเวโรนาก็จะต้องถามถึงว่าโรมีโอกับจูเลียตมีจริงไหม อยู่ตรงไหน ยังไง ฯลฯ ระเบียงล่ะ ระเบียง!!!

ถึงตรงนี้ นักเรียนวรรณคดีอังกฤษคงยิ้มเย็นพร้อมถอนหายใจเบาๆ

เพราะในวรรณกรรมเรื่องนี้…

เชกสเปียร์ไม่ได้ใส่คำว่าระเบียง หรือ Balcony ไว้แม้แต่คำเดียว

กรี๊ดดดดดดด

นี่มันเป็นความจริงที่ตบหน้ากันฉาดใหญ่ หยามหน้ากันสุดๆ พอๆ กับที่มีคนมาบอกว่า ไม่มีชะลอมในมือของพจมาน พินิจนันท์ ตอนเดินเข้าบ้านทรายทอง ของ ก.สุรางคนางค์ ฉันนั้น

ฟื้นขึ้นมาจากการเป็นลมแล้วมาฟังความจริงอันโหดร้ายต่อ

อันที่จริง พจนานุกรมภาษาอังกฤษในสมัยนั้นไม่มีคำนี้ด้วยซ้ำ นอกจากนั้นสิ่งก่อสร้างแบบที่ว่านั้นก็ไม่มี และไม่มีวันที่จะมีในอังกฤษยุคนั้นด้วย

เนื่องจากว่าคนอังกฤษนั้นไม่มีเสียละที่จะสร้างอะไรให้ยื่นออกมาจากตัวบ้าน เพื่อมายืนโชว์ร่างกายให้ชาวบ้านชาวเมืองดู ช่างน่าอัปยศอดสูดูอุจาดเสียนี่กระไร มิพักพูดถึงสภาพอากาศที่มิได้เชิญชวนให้ออกมานอกบ้านแม้แต่น้อย

แล้วระเบียงโผล่มาในละครเรื่องนี้ตอนไหน

เรื่องนี้ต้องเล่ากันยาว

กล่าวคือ หลังจากที่เชกสเปียร์ตายไปไม่นานในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ในช่วงปลายศตวรรษก็เป็นยุคเลิกฮิต ไม่มีใครรู้จักเชกสเปียร์ ไม่มีใครรู้จักบทละครเรื่อง โรมีโอกับจูเลียต

แล้วในช่วงนี้เอง นักเขียนบทละครคนหนึ่ง (แหล่งข่าวแจ้งว่าชื่อ Thomas Otway) ก็แอบก๊อปเอาพล็อตเรื่องนี้ของเชกสเปียร์มาใช้ โดยเปลี่ยนเรื่องราวให้เป็นยุคโรมันโบราณ บทละครเรื่องนี้ชื่อ The History and Fall of Caius Marius ว่ากันว่ากล้าก็อปจนถึงขนาดมีบทพูดที่ว่า “O Marius, Marius! wherefore art thou Marius?” กันเลยทีเดียว

แล้วในเรื่องนี้แหละ ที่ Otway ได้ให้ตัวละครเอกสองคนพลอดรักกันที่ ‘ระเบียง’ อันเป็นสิ่งที่คนอังกฤษคงจะเริ่มรู้จักกันพอสมควรแล้ว (คนอังกฤษสะกดคำนี้ว่า Balcone ตามภาษาอิตาเลียนในช่วงแรก แต่ออกเสียงเป็นแบบของตน)

และมาในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ก็มีผู้นำผลงานของเชกสเปียร์มาปัดฝุ่นอีกครั้ง รวมถึงเรื่อง โรมีโอกับจูเลียต ด้วย และในเวอร์ชันนี้เขาก็ได้เก็บเอา ‘ระเบียง’ มาใส่ไว้ในฉากละครของเขา เขาผู้นี้ชื่อ David Garrick

ไม่เพียงเท่านั้น โรมีโอขวัญใจมหาชนในสมัยนั้นคือ Spranger Barry ก็ได้ออกจากคณะละครของ Garrick ไปอยู่คณะอื่น ไม่ไปเปล่า แต่ยังเสนอให้คณะละครใหม่ของตนทำฉาก ‘ระเบียง’ อีกด้วย

นัยว่า คนอังกฤษแค่เห็น ‘ระเบียง’ ก็คงครางฮือ มันคงดูอิตาเลี๊ยนอิตาเลียน Exotic สุดๆ ไม่ได้ดูในละครก็อย่าหมายว่าจะได้ดูตามถนนรนแคมต่างๆ ในลั้นดั้นหรือเมืองใดๆ ในประเทศฉ่ำฝนแห่งนี้

เมื่อเป็นฉากที่โดดเด่นมากในเรื่องและตัดออกไม่ได้ ประมาณฉากเก็บมะนาวใน แม่นาคพระโขนง ยังไงยังงั้น เมื่อดังถึงขนาดนี้ ก็มีบ้างที่ผู้คนดั้นด้นเดินทางไปถึงเมืองเวโรนาเพื่อไปดูระเบียงอันลือลั่นอันนั้น… ที่บ้านของจูเลียต

กลับมาที่คำถามว่า… บ้านของจูเลียต อ้าว ตกลงมีจริงหรือ ไม่ได้เป็นเรื่องแต่งหรอกหรือ

แล้วบ้านหลังนี้เป็นบ้านจูเลียตยังไง แล้วระเบียงล่ะ ทำไมมันถึงเหมาะเหม็งอย่างนี้

เรื่องของเรื่องคือ เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 ผู้ดูแลงานพิพิธภัณฑ์แห่งเมืองเวโรนาคงสำเหนียกแล้วถึงพลังของติ่งละครที่เฝ้าเพียรมาถามว่า บ้านจูเลียตอยู่ตรงไหน อยากเห็นระเบียงอันลือลั่นนั้น ท่านคงคิดว่า เอาซี้…(เสียงสูงปรี๊ด) อยากได้บ้านนักเจ้าก็จะได้บ้าน อยากได้ระเบียงนักเจ้าก็จะได้ระเบียง จะไปยากอันใด

ว่าพลาง ท่านก็ไปแปลงโฉมโรงแรมแห่งหนึ่งซึ่งเคยเป็นบ้านของตระกูลคัปแปลโล (ตราประจำตระกูลรูปหมวกก็ยังหราอยู่ตรงทางเข้าจนถึงวันนี้) ให้เป็นบ้านของจูเลียต ก็ทำไมจะต้องเป็นบ้านหลังนี้ด้วย ก็เพราะว่าคำว่า ‘Cappello’ ในภาษาอิตาเลียนแปลว่า ‘หมวก’ คำว่า คาปูเล็ต นั้น ถ้าเป็นอิตาเลียนก็ต้องประมาณ คัปปูเล็ตตี้–คัปเปลเล็ตตี้ อะไรเทือกๆ นั้น ซึ่งก็จะแปลว่า หมวกใบเล็ก อะไรนะ บ้านนี้มัน Cappello นี่ ไม่ใช่ Capuleti เสียหน่อย เอาเหอะน่า หมวกใหญ่หมวกเล็กมันก็หมวกเหมือนๆ กันนั่นล่ะ จะมาหาความจริงอะไรกันตรงนี้ ทีเชกสเปียร์สร้างเรื่องขึ้นมาเป็นคุ้งเป็นแควไม่เห็นมีใครไปไล่เบี้ยเล่า

เมื่อได้บ้านมาแล้ว ปัญหาต่อมาคือไม่มีระเบียง อ้าว ทำไงล่ะทีนี้ จะมาอ้างว่าในเรื่องของเชกสเปียร์ไม่มีระเบียงมาก่อนก็อาจจะผิดหูติ่งละคร ผู้ไม่ต้องการอะไรอีกแล้วในชีวิตนี้ นอกจากไปให้ถึงฝั่งฝันกับระเบียงอันลือลั่นของจูเลียต แต่ปัญหาเหล่านั้นไม่ใช่ปัญหาของท่านภัณฑารักษ์เลย อยากได้ระเบียงเหรอ จริงๆ ท่านก็คิดอยู่แล้วล่ะ เพราะว่ากันว่าทีมงานก็ได้พยายามสร้างทัศนียภาพตรงนั้นให้ใกล้เคียงกับภาพยนตร์เรื่อง โรมีโอกับจูเลียต เวอร์ชันปี 1936 ให้ใกล้เคียงมากที่สุดด้วย

ไป Verona เยือนบ้านจูเลียตที่ไม่เคยเป็นบ้านจูเลียต และระเบียงในฉากลือลั่นที่สร้างกันเองจากโลงหิน

ภาพ : http://emanuellevy.com/wp-content/uploads/2013/03/romeo_and_juliet_poster.jpg

ระหว่างที่คิดอยู่นั้น สายตาท่านก็พลันไปสะดุดที่งานหินอ่อนแกะสลักชิ้นหนึ่งที่วางเขละอยู่ตรงลานบ้านที่ท่านคิดจะทำพิพิธภัณฑ์นั้น เป็นหินอ่อนที่มีคนพบตอนที่เทศบาลเมืองขุดริมฝั่งแม่น้ำอาดีเจ (Adige) ที่ไหลอยู่กลางเมืองเพื่อเตรียมสร้างเขื่อนกันน้ำท่วม

เมื่อเห็นว่าเข้าท่า ท่านก็สั่งให้ยกขึ้นไปตั้งให้เป็นระเบียงของจูเลียตเสียอย่างนั้น ถึงแม้ว่าท่านจะรู้ว่าหินสลักนั้น…เป็นโลงหินโบราณก็ตาม

ปัจจุบัน บ้านจูเลียตเปิดให้เข้าชมฟรี พร้อมกับมีรูปปั้นสำริดของนางยืนนมวาวอยู่ด้านล่างเยื้องระเบียงซึ่งผู้คนพร้อมใจกันเชื่อว่า เธอได้ออกมาพร่ำเพ้อที่นี่ อันนมที่วาวของเธอนั้นไม่ได้เป็นปาฏิหาริย์ของรักแท้ใดๆ ทั้งสิ้น หากแต่มาจากมวลนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศที่ก็พร้อมใจกันอีกเช่นกันที่จะเชื่อว่า หากได้ลูบนมเธอแล้วจะโชคดี

ไป Verona เยือนบ้านจูเลียตที่ไม่เคยเป็นบ้านจูเลียต และระเบียงในฉากลือลั่นที่สร้างกันเองจากโลงหิน

ข้อมูลอ้างอิง

www.theatlantic.com/entertainment/archive/2014/10/romeo-and-juliets-balcony-scene-doesnt-exist/381969/ 

www.venetoinside.com/it/aneddoti-e-curiosita/post/il-balcone-di-giulietta-a-verona/

www.ulisseilnavigatore.it/turismo/casa-giulietta-verona.html 

www.shakespeareinitaly.it/verona.html 

Writer & Photographer

Avatar

สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์

‘ครูก้า’ ของลูกศิษย์และลูกเพจ ผู้เชื่อ (ไปเอง) ว่าตัวเองเป็นครูสอนภาษาอิตาเลียนมือวางอันดับหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ หัวหน้าทัวร์ผู้ดุร้าย นักแปลผู้ใจเย็น ผู้เชิดหุ่นกระบอกมือสมัครเล่น และนักเขียนมือสมัครเล่นเข้าไปยิ่งกว่า