สามก๊ก เป็นวรรณกรรมจีนที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่มีการแปลนิยายเรื่องนี้พร้อม ไซ่ฮั่น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ในฐานะตำราสำหรับผู้ปกครองและนักการทหาร และเป็นที่นิยมมาตั้งแต่สมัยที่ประเทศไทยยังไม่มีโรงพิมพ์และต้องเขียนด้วยมือเท่านั้น มีหลักฐานเป็นสมุดไทยจำนวนมาก ก่อนเกิดการพิมพ์ สามก๊ก ขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยโรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์เมื่อ พ.ศ. 2408 

ในขณะเดียวกัน วัดจำนวนหนึ่งก็เอาเรื่องราวเหล่านี้ไปทำงานศิลปกรรมในวัดด้วย แต่ไม่ได้เจอมากมายอะไรนะครับ เท่าที่ผมรู้ มีอยู่ทั้งหมด 5+1 วัดด้วยกัน ซึ่งแต่ละที่ก็มีความน่าสนใจในแบบของตัวเองแทบทั้งนั้น ส่วนใครที่สงสัยว่าทำไมผมไม่บอกว่า 6 วัด เราไปหาคำตอบพร้อมกันเลยครับผม

เรื่องเล่า สามก๊ก เท่าที่พบในวัดไทยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือประติมากรรมแกะสลักหิน ซึ่งน่าจะเป็นสินค้านำเข้าจากประเทศจีน พบอยู่ 2 แห่ง กับอีกกลุ่มหนึ่งเป็นงานจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งพบทั้งหมด 4 แห่ง ซึ่งงานจิตรกรรมฝาผนังทั้งหมดนี้น่าจะเป็นฝีมือช่างจีนซะเป็นส่วนใหญ่ แต่บางแห่งน่าจะมีช่างไทยร่วมด้วย

มาเริ่มกันด้วย ‘วัดพิชยญาติการาม’ หรือวัดพิชัยญาติ กรุงเทพมหานคร ก่อนเลยครับ ภาพเล่าเรื่อง สามก๊ก ของวัดนี้อยู่บริเวณพาไลพระอุโบสถของวัด ซึ่งน่าจะมีมาพร้อมกับการสร้างพระอุโบสถหลังนี้ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) เป็นงานแกะสลักหินจำนวน 22 แผ่น ซึ่งดูออกแค่ 15 แผ่นเท่านั้น ส่วนอีก 7 แผ่นบอกเลยว่าแม้บางแผ่นจะพอเหลืออะไรบ้างแต่ก็ดูไม่ออกอยู่ดี 

แม้มีแผ่นหินถึง 22 แผ่น แต่ภาพทั้งหมดนี้ไม่ต่อกันเลย แต่ฉากที่พบมักจะเป็นฉากสำคัญๆ ที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น อุบายเมืองว่างของขงเบ้ง หรือ เล่าปี่ กวนอู เตียวหุยรบลิโป้ เป็นต้น

ลายแทง 5+1 วัดไทย ที่ตกแต่งด้วยศิลปะจีนลายสามก๊ก
ภาพเล่าปี่ กวนอู เตียวหุยรบลิโป้

ถัดมาเป็นภาพสลักหินอีกแห่งหนึ่งซึ่งปัจจุบันอยู่ที่สวนขวา เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งนี่แหละครับคือที่มาของ +1 ที่ว่า เพราะปัจจุบันภาพสลักชุดนี้ไม่ได้อยู่ในวัดแล้ว 

ก่อนอื่นต้องขออนุญาตเท้าความถึงเรื่องของภาพสลักหินชุดนี้ก่อนนะครับ ภาพสลัก สามก๊ก ชุดนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของสวนขวาภายในพระบรมมหาราชวัง สวนสไตล์จีนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดให้สร้างขึ้น ก่อนที่รัชกาลต่อมาจะโปรดให้รื้อไปถวายไปยังวัดต่างๆ และหนึ่งในวัดเหล่านั้นคือวัดเงินนั่นเอง 

ต่อมาได้มีการย้ายงานสลักหินทั้งหมดไปที่ ‘วัดไผ่เงินโชตนาราม’ กรุงเทพมหานคร ทว่าภาพสลักชุดนี้ไม่ได้รับการดูแลปล่อยให้กระจัดกระจายอยู่ตามลานวัด เมืองโบราณจึงได้ผาติกรรมมายังเมืองโบราณ และอยู่มาจนถึงปัจจุบันเลยครับ

ลายแทง 5+1 วัดไทย ที่ตกแต่งด้วยศิลปะจีนลายสามก๊ก
ภาพ : ปริวัตร จันทร

ภาพสลักภายในสวนขวาของเมืองโบราณนี้มีทั้งหมด 30 ภาพ แต่ไม่ได้เล่าเรื่อง สามก๊ก ทั้งหมดนะครับ มีการนำวรรณกรรมจีนเรื่องอื่นด้วย เช่น ห้องสิน ซุยถัง (พงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์สุยและถังตอนต้น) ซ้องกั๋ง (108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซาน) และ ซวยงัก (เรื่องราวของงักฮุย) แต่ในจำนวนนั้น มีเรื่อง สามก๊ก อยู่ถึง 20 ภาพด้วยกัน ซึ่งทั้ง 20 ภาพนี้ก็ไม่ได้เรียงลำดับเนื้อเรื่องเช่นเดียวกับที่วัดพิชยญาติการามครับ แถมยังมีแต่ฉากสำคัญๆ เหมือนกันอีกด้วย หลายฉากก็พบที่วัดพิชัยญาติฯ เหมือนกัน แต่หลายฉากก็พบเฉพาะที่นี่ เช่น เตียนอุยใช้ศพทหารต่างอาวุธรบกับทหารของเตียวสิ้ว หรือเตียวหุยยืนขวางทัพโจโฉบนสะพานเตียงปัน เป็นต้น

ลายแทง 5+1 วัดไทย ที่ตกแต่งด้วยศิลปะจีนลายสามก๊ก
เตียนอุยใช้ศพทหารต่างอาวุธรบกับทหารของเตียวสิ้ว
ภาพ : ปริวัตร จันทร

ทีนี้ลองมาดูจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 วัดที่เหลือกันบ้างครับ เริ่มด้วย ‘วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม‘ กรุงเทพมหานคร กันก่อน ภาพจิตรกรรมนี้อยู่ในเก๋งจีนในสวนมิสสกวันข้างพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ เก๋งจีนหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2374 เมื่อครั้งที่มีการบูรณะวัดแห่งนี้ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยภาพ สามก๊ก ในเก๋งจีนนี้วาดโดยช่างจีนแน่นอนเพราะในโคลงดั้นปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ได้บรรยายไว้ว่า

“เครือจีนจ้างเจ๊กแต้ม ติดรจิต อุไรฤๅ

ผนังวาดสามก๊กรบิล บ่ายย้าย

เรื่องจีนรูปจีนพิศ แผกแยก เยี่ยงพ่อ

แปลกฝรั่งห่อนคล้ายเยื้อง อย่างปาง”

ลายแทง 5+1 วัดไทย ที่ตกแต่งด้วยศิลปะจีนลายสามก๊ก

ไม่ใช่เพียงแค่นี้ ยังมีหลักฐานชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่ยืนยันว่าภาพนี้เป็นฝีมือช่างจีนจริงๆ คือในจิตรกรรมฝาผนังที่นี่มีการเขียนภาษาจีนเป็นชื่อตัวละครเอาไว้อย่างถูกต้องอีกด้วย แต่ว่าน่าเสียดาย ภาพจิตรกรรมชุดนี้อยู่ในสภาพชำรุดมาก ลบเลือนไปจนเหลือให้ดูเป็นหย่อมๆ เท่านั้น ที่ผนังฝั่งทิศเหนือและทิศตะวันออกเป็นฉากเกี่ยวข้องกับศึกผาแดง หรือเซ็กเพ็ก ศึกครั้งสำคัญระหว่างฝ่ายวุยของโจโฉ และพันธมิตรซุนเล่าของซุนกวนกับเล่าปี่ และเป็นจุดเริ่มต้นจริงๆ ของยุคสามก๊ก (รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านในหนังสือหรือดูหนัง Red Cliff ทั้งสองภาคได้ครับผม) 

ฉากที่พบจะมองเห็นได้ ได้แก่ ฉากที่จิวยี่ทำอุบายโดยการสั่งโบยอุยกาย แม่ทัพเฒ่าของฝ่ายง่อก๊กเพื่อให้เข้าไปเป็นไส้ศึกในทัพของโจโฉ และฉากขงเบ้งทำพิธีเรียกลม

ลายแทง 5+1 วัดไทย ที่ตกแต่งด้วยศิลปะจีนลายสามก๊ก
ขงเบ้งทำพิธีเรียกลม

ภาพชุดต่อมาอยู่ที่พระอุโบสถของ ‘วัดนางนอง’ กรุงเทพมหานคร ครับผม วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาก่อนจะได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 เช่นเดียวกันกับวัดโพธิ์ ภาพเล่าเรื่อง สามก๊ก ที่วัดแห่งนี้ไม่ใช่จิตรกรรมฝาผนังธรรมดาๆ แต่เป็นงานกำมะลอ ซึ่งเป็นเทคนิคการเขียนสีลงบนรักทำให้มีสีที่หลากหลายมากกว่าลายรดน้ำ มีแค่สองสีคือสีดำกับสีทอง 

ภาพเล่าเรื่อง สามก๊ก ที่วัดนี้มีมากถึง 48 ภาพ เป็นภาพในกรอบสี่เหลี่ยมบนผนัง 12 ผนังผนังละ 4 ช่อง เรียงจากบนลงล่าง และที่สำคัญ ภาพทั้ง 48 ภาพเรียงต่อกัน โดยเริ่มจากฉากที่เล่าปี่หนีไปพึ่งเล่าเปียวที่ผนังที่มุมฝั่งขวาด้านหลังพระประธาน เวียนไปทางด้านหน้าไปจบที่มุมฝั่งซ้ายด้านหลังพระประธาน ซึ่งเป็นฉากที่จูล่งตามจับโจโฉ หลังจากที่โจโฉพ่ายศึกที่ผาแดง ซึ่งมีฉากสำคัญๆ หลายฉากในระหว่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นจูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊า ขงเบ้งยืมลูกเกาทัณฑ์โจโฉ หรืออุยกายเผาทัพโจโฉ เป็นต้น 

ลายแทง 5+1 วัดไทย ที่ตกแต่งด้วยศิลปะจีนลายสามก๊ก
ลายแทง 5+1 วัดไทย ที่ตกแต่งด้วยศิลปะจีนลายสามก๊ก
ลายแทง 5+1 วัดไทย ที่ตกแต่งด้วยศิลปะจีนลายสามก๊ก

จุดสำคัญอยู่ตรงนี้ครับ อยากให้ลองสังเกตว่าเหตุการณ์จากเรื่อง สามก๊ก ที่ถูกเลือกมาใช้ที่วัดนี้ เป็นชุดเหตุการณ์ที่เน้นตัวละครตัวหนึ่งขึ้นมาให้โดดเด่น นั่นก็คือเล่าปี่ ผู้นำแห่งจ๊กก๊กนั่นเอง 

ฉากแรกที่เลือกมาคือเล่าปี่ไปพึ่งเล่าเปียวที่เกงจิ๋ว ฉากนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของบทบาทผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัยของเล่าปี่เพราะนับจากนี้ บทบาทของเล่าปี่จะยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วไปจบที่ชัยชนะเหนือโจโฉในศึกผาแดง ซึ่งเป็นการประกาศแสนยานุภาพของเล่าปี่จากที่เป็นแค่เจ้าเมืองเล็กๆ เป็นตัวละครที่พเนจรไปเรื่อย ไปพึ่งคนโน้นทีคนนี้ที ทั้งอ้วนเสี้ยว เล่าเปียว แต่ตอนนี้เขาได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอย่างเต็มตัวแล้ว 

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะอุโบสถของวัดนางนองหลังนี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ของพระจักรพรรดิราช ไม่ว่าจะเป็นพระประธานที่เป็นพระทรงเครื่องอย่างพระมหาจักรพรรดิ จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องชมพูบดี ซึ่งเป็นที่มาของการสร้างพระทรงเครื่อง ลายรดน้ำรูปเครื่องราชูปโภคและรัตนะทั้ง 7 ของพระเจ้าจักรพรรดิ ซึ่งเล่าปี่ถือเป็นตัวแทนของจักรพรรดิในสไตล์จีนด้วยเช่นกัน

ถัดมาคือพระอุโบสถ ‘วัดประเสริฐสุทธาวาส‘ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นอีกวัดที่บูรณะขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 เช่นเดียวกับวัดโพธ์และวัดนางนอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เรื่อง สามก๊ก น่าจะได้รับความนิยมอย่างมากในรัชกาลนี้จริงๆ โดยคนที่สร้างวัดนี้คือพระประเสริฐพานิช ขุนนางชาวจีนแซ่เจิ้งในสมัยรัชกาลที่ 3 

จิตรกรรมฝาผนังเรื่อง สามก๊ก ของวัดนี้มีทั้งความพิเศษและความโดดเด่น เพราะเป็นแห่งเดียวที่เขียนด้วยหมึกจีนบนผนังสีขาว ไม่มีสีสันอื่นใดนอกจากนี้ ไม่เพียงเท่านั้น ปริมาณเรื่องราว สามก๊ก ที่ถูกเขียนขึ้นที่นี่ยังมากกว่าทุกวัดในประเทศไทยอีกด้วย ที่ผมกล้าพูดแบบนี้ เพราะจำนวนฉากจากเรื่อง สามก๊ก ที่เขียนอยู่ในพระอุโบสถหลังนี้มีมากถึง 364 ภาพ โดยแบ่งภาพออกเป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆฝั่งละ 6 – 7 แถว ดังนั้น ภาพเล่าเรื่อง สามก๊ก ที่วัดประเสริญสุทธาวาสแห่งนี้จึงถือว่ามีความสมบูรณ์และละเอียดมากที่สุดในประเทศไทยเลยครับ

ลายแทง 5+1 วัดไทย ที่ตกแต่งด้วยศิลปะจีนลายสามก๊ก

แต่แม้จะมีจำนวนช่องมากถึง 364 ภาพ ก็ยังไม่สามารถบรรจุเรื่องราวทั้งหมดในเรื่อง สามก๊ก เอาไว้ได้หมด เริ่มต้นเรื่องที่ผนังด้านซ้ายมือพระประธานแถวล่างสุด เป็นฉากที่เล่าปี่อ่านใบประกาศรับสมัครทหารเพื่อไปปราบโจรโพกผ้าเหลือง แล้วไปจบที่ฉากที่ขงเบ้งมอบตำแหน่งเจ้าเมืองเกงจิ๋วแก่กวนอู และยกทัพไปช่วยเล่าปี่ตีเมืองเสฉวนแทนที่บังทองที่ผนังฝั่งขวามือพระประธานแถวบนสุด ซึ่งถือว่ายังไม่ใกล้เคียงกับตอนจบของเรื่อง สามก๊ก จริงๆ ของเรื่องนี้เลยครับ ซึ่งจะเป็นตอนที่พระเจ้าสุมาเอี๋ยน หลานของสุมาอี้รวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่งและตั้งราชวงศ์จิ้นขึ้นมา แต่ก็ถือว่าเล่าเรื่อง สามก๊ก เอาไว้ละเอียดมากๆ แล้ว

ลายแทง 5+1 วัดไทย ที่ตกแต่งด้วยศิลปะจีนลายสามก๊ก

ที่สำคัญกว่านั้น ช่างที่วาดจิตรกรรมชุดนี้น่าจะเป็นช่างชาวจีนแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ผมไม่มีหลักฐานจารึกหรือโคลงกลอนอะไรมายืนยันแบบวัดโพธิ์หรอกนะครับ แต่ด้วยเทคนิคที่ใช้หมึกจีนในการวาดและการที่ภาพในแต่ละช่องมีการกำกับด้วยตัวอักษรภาษาจีนทุกช่อง ซึ่งมีทั้งคำอธิบายฉาก ชื่อตัวละคร และชื่อเมือง ทำให้เราตีความเรื่องราวในแต่ละช่องได้ไม่ยาก แต่! ความยากก็ใช่ว่าจะไม่มีนะครับ เพราถ้าเราไม่ได้มีศักยภาพในการอ่านภาษาจีน (เช่นผมเป็นต้น) ก็เป็นการยากที่จะเข้าใจ แถมทั้ง 364 ภาพถูกบรรจุอยู่ภายในอาคารหลังไม่ใหญ่ ขนาดช่องจึงเล็กมากๆ เล็กชนิดต้องใช้กล้องส่องทางไกลหรือเลนส์ซูมในการดูภาพแต่ละภาพกันเลยทีเดียว 

ขงเบ้งทำพิธีเรียกลม

มาถึงวัดสุดท้ายกันแล้วนะครับ นั่นก็คือ ‘วัดบวรนิเวศวิหาร‘ กรุงเทพมหานคร ที่ผมต้องเอาวัดนี้มาปิดท้ายก็เพราะว่าภาพเล่าเรื่อง สามก๊ก ที่วัดแห่งนี้มีความผสมผสานและรูปแบบแปลกตากว่าที่อื่น ในขณะที่วัดอื่นออกมาแบบจีนจ๋า ภาพ สามก๊ก ที่วัดบวรนิเวศวิหารอยู่ภายในวิหารเก๋งข้างพระวิหารพระศาสดา กลับแสดงการผสมผสานกับตะวันตก แถมจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง สามก๊ก ที่นี่ยังมีลูกเล่นการเขียนชื่อตัวละครสำคัญๆ ในฉากนั้นๆ ลงไปในธง ซึ่งเขียนเป็นภาษาไทย ย้ำอีกครั้ง ภาษาไทย แต่เขียนรูปทรงคล้ายๆ กับภาษาจีน ซึ่งทำให้การดูจิตรกรรมเรื่อง สามก๊ก ที่วัดนี้ง่ายมากขึ้นสำหรับคนที่ไม่ได้มีพื้นฐาน แถมใต้ฉากแต่ละฉากยังมีคำอธิบายภาษาไทยกำกับไว้อีกต่างหาก ดังนั้น เมื่อเทียบกับภาพเล่าเรื่อง สามก๊ก ที่พูดถึงก่อนหน้านี้ วัดนี้ดูได้ง่ายที่สุด

ลายแทง 5+1 วัดไทย ที่ตกแต่งด้วยศิลปะจีนลายสามก๊ก

จิตรกรรมฝาผนังเรื่อง สามก๊ก ที่วัดแห่งนี้เขียนตามแบบจิตรกรรมไทยทั่วไป คือเที่ยวต่อเนื่องกันไปคล้ายๆ ที่วัดโพธิ์ แต่ฉากที่เลือกมากลับมีความคล้ายกับวัดนางนอง คือเริ่มจากที่ชีซีแนะนำให้เล่าปี่ไปหาขงเบ้ง ก่อนจะเดินทางไปยังเมืองฮูโต๋ซึ่งโจโฉอาศัยอยู่ และไปจบที่ฉากกวนอูแทนคุณโจโฉ โดยการปล่อยให้โจโฉหนีไปหลังจากแพ้ศึกที่ผาแดง ซึ่งถือเป็นฉากสุดท้ายของศึกผาแดงนั่นเอง 

ลายแทง 5+1 วัดไทย ที่ตกแต่งด้วยศิลปะจีนลายสามก๊ก
กวนอูปล่อยโจโฉหลังจากแพ้ศึกที่ผาแดง

อีกจุดหนึ่งที่ผมชอบภาพเล่าเรื่อง สามก๊ก ที่วัดบวรนิเวศวิหารแห่งนี้ คือภาพตัวตลกที่มักแทรกอยู่ในฉากต่างๆ ตัวละครตัวนี้สังเกตได้ไม่ยากครับ เพราะมีหัวโตผิดสัดส่วนอย่างมาก เป็นตัวโจ๊กที่เดี๋ยวก็ถืออาวุธ เดี๋ยวก็ถือธง เป็นอีกหนึ่งความสนุกสำหรับใครที่มาชมจิตรกรรมฝาผนังในวิหารเก๋งแห่งนี้ครับ

ลายแทง 5+1 วัดไทย ที่ตกแต่งด้วยศิลปะจีนลายสามก๊ก

จริงๆ ไม่ใช่แค่ สามก๊ก นะครับ วรรณกรรมจีนเรื่องอื่นๆ ทั้งที่ผมพูดถึงไปแล้ว อย่าง ห้องสิน หรือ ซ้องกั๋ง รวมไปถึงเรื่องอื่นที่ยังไม่ได้พูดถึงอย่าง ไซอิ๋ว ก็พบได้ตามวัดวาอารามเช่นเดียวกัน แต่เมื่อเทียบความนิยมแล้วถือว่าน้อยกว่า สามก๊กอยู่พอสมควร ไว้ถ้ามีโอกาสจะนำมาเล่าให้ฟังนะครับ ใครที่กำลังจะไปชมหรืออยากไปชมภาพเล่าเรื่อง สามก๊ก ที่ผมนำเสนอไปนั้น ก็ไปชมได้เลยนะครับ 

จะไปชมความสวยงามของงานศิลปะโบราณเฉยๆ ก็ได้ หรือจะเตรียมตัวล่วงหน้าด้วยการอ่านหนังสือ ดูซีรีส์หรือดูหนังเรื่อง สามก๊ก เป็นพื้นฐานไปสักนิดหน่อยก่อนไปชม ก็ได้อรรถรสดีไม่เลวเหมือนกันนะครับ

เกร็ดแถมท้าย

  1. ใครที่อ่านบทความนี้แล้วรู้สึกไม่จุใจ ขอแนะนำหนังสือเล่มนี้เลยครับ สามก๊ก : ศิลปกรรมจีนวัดไทยในบางกอก ของ ศานติ-นวรัตน์ ภักดีคำ มีข้อมูลเจาะลึกพร้อมรายละเอียดมากพอสมควร ลองไปหาอ่านกันดูนะครับ
  2. ผมเคยเขียนถึงเรื่องราวของวัดประเสริฐสุทธาวาสแบบละเอียดกว่านี้เอาไว้ใน The Cloud แล้วครับ ใครสนใจไปอ่านเพิ่มเติมได้ หรือถ้าใครอยากอ่านแบบละเอียดขึ้นไปอีก ผมขอแนะนำหนังสือของตัวเองแล้วกันครับชื่อ ศิลปกรรมวัดราษฎร์ในย่านกรุงเทพฯ ซึ่งจะมีวัดอื่นๆ อีกหลายวัด ทั้งในพื้นที่ใกล้เคียงและในพื้นที่อื่นครับ
  3. นอกจากในวัดแล้ว ยังมีเรื่องราวของ สามก๊ก ในศาลเจ้าจีนหลายแห่งด้วยครับ มีทั้งงานสลักหินและภาพวัด แต่ถ้าจะให้ผมแนะนำเลยนะครับ ผมขอแนะนำศาลเจ้าเกียนอันเกง ใกล้ๆ กับวัดกัลยาณมิตรครับ ที่นี่เขียนเล่าเรื่อง สามก๊ก ด้วยเทคนิคจีนแบ่งช่องสี่เหลี่ยมแบบเดียวกับวัดประเสริฐสุทธาวาส แต่แทนที่จะใช้หมึกจีนอย่างเดียว ที่นี่ใช้สีผสมเข้าไปด้วยครับ สวยงามมากทีเดียว
  4. นอกจากงานศิลปกรรมทั้งหมดที่พาไปชมวันนี้แล้ว ยังมีภาพเล่าเรื่อง สามก๊ก อยู่อีกประเภทหนึ่ง นั่นก็คือ ภาพในกรอบกระจก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสินค้านำเข้าจากเมืองจีนเช่นเดียวกับภาพสลักหิน พบได้บ้างตามวัดวาอาราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วัดในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ภาพชุดนี้ตีความได้ยากกว่าเพราะมีหลายเรื่อง ทั้งภาพจากวรรณกรรมจีนหรือภาพวิว จึงต้องใช้ความชำนาญมากกว่า ผมเลยไม่ได้นำมาให้ชมในบทความนี้ครับผม

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ