บ่ายวันที่อากาศร้อนพอให้เหงื่อชุ่ม เรายืนหน้ารั้วสีเขียวสูงใหญ่ ที่มองภายนอกแทบดูไม่ออกเลยว่าจะซ่อนเรือนไทยหลังงามไว้หลายหลัง

เยี่ยมบ้านยุ้งฉางของรอล์ฟ วอน บูเรน ที่เขาหลงรักและปักหลักอยู่เมืองไทยมากว่า 57 ปี

สองหลังที่เราตั้งใจมาเยี่ยมในวันนี้ หลังแรกเป็นบ้านของ คุณรอล์ฟ วอน บูเรน เจ้าของ Lotus Arts de Vivre (โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์) ธุรกิจจิวเวลรี่และของตกแต่งบ้านสัญชาติไทย ส่วนอีกหลังเป็นยุ้งฉางเก่าจากภาคเหนือที่เขารับมาปัดฝุ่นปรุงขึ้นใหม่ในบริเวณบ้าน

เยี่ยมบ้านยุ้งฉางของรอล์ฟ วอน บูเรน ที่เขาหลงรักและปักหลักอยู่เมืองไทยมากว่า 57 ปี
เยี่ยมบ้านยุ้งฉางของรอล์ฟ วอน บูเรน ที่เขาหลงรักและปักหลักอยู่เมืองไทยมากว่า 57 ปี

เราเดินตามทางเดินเพื่อเข้าสู่ตัวบ้าน ผ่านสวนที่รายล้อมด้วยต้นไม้นานาพรรณ เพื่อพบกับชายวัย 80 ที่ยืนยิ้มอย่างอบอุ่นและรอต้อนรับเราอยู่แล้ว

เขาเชื้อเชิญให้เรานั่งมุมชิดกระจกบานใหญ่ที่มองออกไปเห็นเรือนหลังงามนั้น และเริ่มต้นเล่าเรื่องชีวิตในเมืองไทย ในบ้าน ในที่ที่เขาอยากอยู่ให้ฟัง

เยี่ยมบ้านยุ้งฉางของรอล์ฟ วอน บูเรน ที่เขาหลงรักและปักหลักอยู่เมืองไทยมากว่า 57 ปี

เมืองไทยคือบ้าน

ย้อนกลับไปเมื่อ 57 ปีก่อน บริษัทเฮิกซ์ ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ใหญ่ของเยอรมนี ส่งคุณรอล์ฟในวัย 22 ปีมาประจำการในตำแหน่งเซลล์ขายสีย้อมผ้า

คุณรอล์ฟในวันนั้น คิดว่าจะได้มาประจำอยู่ที่ไทยแค่ 3 – 4 ปี หรือหากมีสัญญารอบที่ 2 ก็เพียง 8 ปีเป็นอย่างมาก เขาไม่เคยคิดว่าจะได้อยู่นานเกินไปกว่านี้

หลังจากหมดสัญญา บริษัทเตรียมส่งเขาไปประจำการที่เกาหลีใต้ ทำให้เขาตัดสินใจลาออก พร้อมตั้งบริษัทนำเข้าสีย้อมผ้าและเครื่องจักรผลิตผ้าของตัวเองในไทย โดยเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทเฮิสต์ไปด้วย

วันหนึ่งเพื่อนชักชวนให้เขาเช่าพื้นที่ใต้โรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ (ปัจจุบันคือโรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ) เพื่อเปิดเป็นร้านทำธุรกิจอะไรสักอย่าง จากเซลล์หนุ่มซึ่งห่างไกลจากวงการจิวเวลรี่และของแต่งบ้าน โชคชะตา (และภรรยา) พาจับพลัดจับผลูให้เขาก้าวขาเข้ามาทำธุรกิจนี้ทั้งที่ไม่เคยแพลนไว้มาก่อน

เยี่ยมบ้านยุ้งฉางของรอล์ฟ วอน บูเรน ที่เขาหลงรักและปักหลักอยู่เมืองไทยมากว่า 57 ปี

แรกเริ่ม เขาและ เฮเลน วอน บูเรน ผู้เป็นภรรยา สรรหาเครื่องประดับที่เธอชอบมาออกแบบใหม่และวางขาย ซึ่งเขาให้คำนิยามว่าแต่ละชิ้นล้วนดีไซน์แปลกจนไม่น่าจะขายได้ แต่ทั้งคู่ชอบ ก่อนก่อตั้งแบรนด์ Lotus Arts de Vivre เต็มตัว

และจนถึงวันนี้ที่กินเวลาเกินครึ่งศตวรรษ เมืองไทยกลายเป็นบ้านของเขาเสียแล้ว

อยู่บ้านไทย

ภายในห้องรับแขกเต็มไปด้วยข้าวของมากเรื่องราว ผนังรอบด้านประดับประดาด้วยผลงานจากศิลปินหลากหลายประเทศ ภาพผืนใหญ่ที่โดดเด่นกว่าใครเป็นภาพของ Alessandro Kokocinski ศิลปินชาวอิตาลี ข้างกันเป็นผลงานของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ยังไม่นับรวมหนังสือกองมหึมา และประติมากรรมหลากไซส์ ราวกับได้เข้าเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม

เยี่ยมบ้านยุ้งฉางของรอล์ฟ วอน บูเรน ที่เขาหลงรักและปักหลักอยู่เมืองไทยมากว่า 57 ปี
เยี่ยมบ้านยุ้งฉางของรอล์ฟ วอน บูเรน ที่เขาหลงรักและปักหลักอยู่เมืองไทยมากว่า 57 ปี

รอบๆ ห้องยังเต็มไปด้วยพรมหลายขนาด หลากที่มา ทั้งจีน ทิเบต เนปาล อินเดีย บางชิ้นอายุมากกว่า 600 ปี เป็นของสะสมอีกประเภทที่เขาบอกว่ามีมากจนกำลังเตรียมจดบันทึกเอาไว้กันลืม

“บ้านที่อยู่เป็นของพ่อตา สร้างมากว่าแปดสิบปีแล้ว พอเรามาอยู่ก็เลยเต็มไปด้วยของที่มีความทรงจำและประสบการณ์จากการเดินทาง ตอนแต่งเริ่มจากเลือกพรมก่อนเลย เพราะถ้ามีพรมอยู่ในบ้านจะรู้สึกว่าสวยงามทันที ทุกอย่างที่เติมเข้ามาทีหลังมันก็ง่าย

“อีกอย่างคือบ้านไม้ในเมืองไทย ต้องปูพื้นให้ห่างกันหน่อยเพื่อให้ลมลอดช่องเข้ามา ทำให้บ้านเย็น เลยต้องมีพรมปูไว้ด้วย” เขาเริ่มต้นเล่าพลางชี้ชวนให้เราดูและทายอายุกับที่มาของพรม ก่อนเฉลยด้วยเสียงกลั้วหัวเราะว่า พรมจากจีนใต้เท้าเราขณะนี้อายุกว่า 150 ปี

นอกจากพรม อีกหนึ่งความทรงจำในบ้านถูกเก็บผ่านงานของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี

เยี่ยมบ้านยุ้งฉางของรอล์ฟ วอน บูเรน ที่เขาหลงรักและปักหลักอยู่เมืองไทยมากว่า 57 ปี

“ผมดีใจมากที่ได้เป็นเพื่อนกับถวัลย์มาทั้งชีวิต เราไปเที่ยวด้วยกันทั้ง เมียนมา ทิเบต เนปาล บาหลี ในห้องนี้มีภาพที่วาดเมื่อ ค.ศ. 1967 เขาวาดที่ฮอลแลนด์ โต๊ะไม้ตัวนี้ก็เป็นงานแกะสลักลงทอง ภาพนกฮูกในห้องทำงานคุณเฮเลนด้วย และมีภาพสเกตช์เล่นๆ อีกหลายชิ้นที่เขายกให้” เขาเล่าพลางลุกขึ้นพาเราเดินชมห้องเก็บของสะสมอีกสองห้องในบ้าน ที่มีทั้งเครื่องเคลือบโบราณ ถ้วยโถโอชาม งานปั้น และงานแกะสลักนับชิ้นไม่ถ้วน

แน่นอน เราถามถึงชิ้นไหน เขาเล่าที่มาที่ไปได้ทุกชิ้น

เยี่ยมบ้านยุ้งฉางของรอล์ฟ วอน บูเรน ที่เขาหลงรักและปักหลักอยู่เมืองไทยมากว่า 57 ปี
เยี่ยมบ้านยุ้งฉางของรอล์ฟ วอน บูเรน ที่เขาหลงรักและปักหลักอยู่เมืองไทยมากว่า 57 ปี

“บ้านหลังนี้ก็เป็นแบบที่คิดไว้ว่าเราอยากอยู่แบบนี้ที่ไทย แต่เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เจออะไรก็จับมาเก็บไว้บ้าง ตอนเช้าเพิ่งทำไฟในห้องน้ำใหม่ จะได้เห็นของชัดๆ 

“เดี๋ยวพาไปดู เป็นห้องน้ำที่ไม่เคยพาใครเข้ามามาก่อน” หลังพูดจบเขาก้าวเท้าเดินนำหน้าพาเราผ่านประตูเล็กเข้าไปยังโซนพื้นที่ส่วนตัว

เยี่ยมบ้านยุ้งฉางของรอล์ฟ วอน บูเรน ที่เขาหลงรักและปักหลักอยู่เมืองไทยมากว่า 57 ปี
เยี่ยมบ้านยุ้งฉางของรอล์ฟ วอน บูเรน ที่เขาหลงรักและปักหลักอยู่เมืองไทยมากว่า 57 ปี

“ผมชอบห้องน้ำใหญ่ๆ ตรงนี้เป็นส่วนเอาต์ดอร์ ต้นไทรนี้เพิ่งซื้อมาปลูกได้ประมาณสามปี โตเร็วมาก รากเลื้อยเกาะเต็มกำแพงแล้ว”

“ไม่ค่อยมีหรอกงู” เขารีบเอ่ยคล้ายอ่านสายตาเราออก

“ห้าปีจะเจอครั้งหนึ่ง เมื่อก่อนก็ไม่มี แต่บ้านเรามีวรนุชมากกว่า มากินเป็ด กินปลาหมด ไม่มีเหลือเลย ” คุณรอล์ฟต่อบทสนทนาด้วยน้ำเสียงปนหัวเราะ ระหว่างทางที่พาเราเดินไปสู่ยุ้งฉางริมน้ำ

และยังชอบบ้านไทยอยู่

สมัยก่อน ยุ้งฉางหรือที่คนเมืองเหนือเรียกว่า หลองข้าว มักปลูกไว้คู่กับเรือน นอกจากไว้เก็บข้าวแล้วยังเป็นเครื่องบ่งบอกฐานะ โดยมากเป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูง บางแห่งสูงกว่าเรือนก็มี ส่วนเสามักมีขนาดใหญ่ ว่ากันว่าไว้ป้องกันช้างเข้ามาทำลายเพื่อกินข้าว หลองข้าวส่วนใหญ่มีระเบียงล้อมรอบ หลังคาจั่วจึงลาดต่ำคลุมมาถึงระเบียง และมุงด้วยดินขอ (กระเบื้องดินเผาปลายตัด) ผู้มีฐานะมั่งคั่งมักประดับลวดลายไม้แกะสลักหรือไม้ฉลุไว้ตรงหน้าจั่วและระเบียงด้วย

เยี่ยมบ้านยุ้งฉางของรอล์ฟ วอน บูเรน ที่เขาหลงรักและปักหลักอยู่เมืองไทยมากว่า 57 ปี

“เมื่อประมานสี่สิบห้าปีก่อน ไปเจอแม่เลี้ยงชาวเชียงใหม่ ผมถามว่าอยากจะขายห้าพันบาทจริงๆ เหรอ เธอก็บอกว่าซื้อเถอะ เธออยากจะสร้างบ้านคอนกรีต เลยรู้ว่าถ้าเราไม่ซื้อคนอื่นก็ต้องซื้อ

“ตกลงกันเรียบร้อยก็ถอดมาประกอบใหม่ที่กรุงเทพฯ เราเก็บของเดิมไว้ทุกอย่าง ไม้ที่เห็นนี่เป็นของเก่าหมด แล้วก็ใช้ช่างไม้ไทยจริงๆ มาประกอบให้ โดยมีหัวหน้าเป็นคนที่สร้างบ้านจิม ทอมป์สัน ตอนสร้าง เขาก็โทรเรียกเพื่อนมาช่วยกันทำนับสิบคน อยู่ด้วยกันกว่าหกเดือน ใช้เงินอีกราวสามหมื่นบาท

“ก่อนลงเสาแรก ต้องทำพิธีขอปลูก ช่างเขารู้เรื่องนี้ดี ก็แนะนำเราว่าต้องทำพิธีตามความเชื่อ ทำไม่ดีก็จะเจอเรื่องไม่ดี อยู่มาก็ยังไม่เจอเรื่องไม่ดีเลย สิบปีแรกยังไม่มีแอร์ มาติดทีหลัง”

เยี่ยมบ้านยุ้งฉางของรอล์ฟ วอน บูเรน ที่เขาหลงรักและปักหลักอยู่เมืองไทยมากว่า 57 ปี
เยี่ยมบ้านยุ้งฉางของรอล์ฟ วอน บูเรน ที่เขาหลงรักและปักหลักอยู่เมืองไทยมากว่า 57 ปี

หลังปรุงเรือนไทยขึ้นใหม่ในบริเวณบ้านเสร็จอย่างที่ตั้งใจ เขาเลือกกรุกระจกแทนฝาผนังเดิม เพื่อเปิดรับวิวสวนซึ่งกลายเป็นภาพศิลปะที่รังสรรค์โดยธรรมชาติ และใช้ที่นี่เป็นเรือนรับรองแขกที่มารับประทานอาหาร

เยี่ยมบ้านยุ้งฉางของรอล์ฟ วอน บูเรน ที่เขาหลงรักและปักหลักอยู่เมืองไทยมากว่า 57 ปี

“ถ้ามีโอกาส อยากมีบ้านเรือนไทยเพิ่มอีกไหม” เราถาม

“ผมยังมีเรือนไทยประกอบแล้วอีกเจ็ดแปดหลังอยู่ที่รังสิต ปกติผมงานเยอะ ไม่ค่อยว่าง เดินทางบ่อย ช่วงนี้มีเวลา ไปเยี่ยมสองสามครั้ง ไปดูว่าจะต้องบูรณะอีกมั้ย ผมกำลังคิดอยากทำอะไรเพิ่ม

“ผมคิดอยากทำสปาโดยใช้ยาสมุนไพรดีๆ ของไทย แต่ยังหาที่ที่มีน้ำพุร้อนไม่ได้ ถ้าเจอก็จะซื้อ” เขาตอบกลับอย่างไม่ลังเล

แบรนด์สัญชาติไทย

ของในบ้านแต่ละชิ้นล้วนสะท้อนความชอบในงานฝีมือและงานศิลป์ เช่นเดียวกับแนวความคิดของแบรนด์ Lotus Arts de Vivre ที่รวบรวมวัฒนธรรมและเทพปกรณัมฝั่งเอเชียมาสร้างสรรรค์เป็นงานหัตถกรรมด้วยเทคนิคพื้นเมือง ประกอบเข้ากับความงดงามโดยเนื้อแท้ของวัสดุจากธรรมชาติมากว่า 38 ปี

บางชิ้นต้องเดินทางไปอินเดียเพื่อเจียระไนอัญมณี บางชิ้นไปอินโดนีเซียเพื่อแกะสลักงานไม้ ไปญี่ปุ่นตามหางานเครื่องเขินแนวมากิเอะ ไปจีนเพื่อสร้างงานเครื่องเขินลงรักทาชาด และที่สำคัญ คือเดินทางไปทั่วไทยเพื่อนำเทคนิคช่างฝีมือเหนือจรดใต้มาประกอบในชิ้นงานด้วย อย่างเช่น การสร้างงานเครื่องถม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาจากทางภาคใต้

“สมัยก่อนผมโชคดีที่ได้เข้าร่วมกับศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ ได้เจออาจารย์หลายท่าน ได้ถาม ได้เรียนรู้ แรกๆ อะไรที่ไม่รู้ก็จะออกไปตามหาจนเจอคนที่เขารู้จักวิธีทำ ไปศึกษากับชุมชนท้องถิ่นอยู่เสมอ ไกลแค่ไหนก็ขับรถไป

“เราได้รับความรู้มา ก็อยากส่งต่อ จนถึงตอนนี้เรายังเคารพวัฒนธรรมเก่าแก่อยู่เสมอ และจะทำให้งานของเราเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์องค์ความรู้งานหัตถกรรมไทยต่อไป”

เราว่างานออกแบบของเขาแต่ละชิ้น หาใช่สวยเพียงมองจากสายตาหรือมูลค่าอย่างเดียว เพราะหลังได้ฟังเรื่องราวแล้ว คุณค่าซึ่งสะท้อนความตั้งใจอันดีที่ซ่อนอยู่ในนั้นก็งามสง่าไม่แพ้กัน

ถ่ายทอดความเป็นไทย

ลืมบอกเลยว่าตลอดการสนทนา เราคุยกันด้วยภาษาไทย คุณรอล์ฟพูดภาษาไทยเก่งมาก เขาแอบเล่าให้ฟังว่า เมื่อมาถึงเขาเรียนภาษาจีนแมนดารินก่อน แต่พบว่าไม่มีใครใช้ จึงเปลี่ยนมาเรียนภาษาไทยวันละ 1 ชั่วโมงทุกเช้า โดยมีครูมาสอนที่บ้าน เรียนอยู่ 10 ปี จนพูดได้คล่องและพออ่านออก

เยี่ยมบ้านยุ้งฉางของรอล์ฟ วอน บูเรน ที่เขาหลงรักและปักหลักอยู่เมืองไทยมากว่า 57 ปี

“มุมนี้ตอนเช้าจะมานั่งจิบกาแฟ ดีใจมากที่มีบ้านแบบนี้ เมื่อก่อนไม่สนใจบ้านเท่าไหร่ เพราะว่าไปทำงาน ที่ผ่านมา ผมเดินทางสองร้อยวันต่อปี ตอนนี้เหมือนได้กลับมามองบ้านตัวเอง” เขานั่งลงและทอดสายตาจากมุมอ่านหนังสือของบ้านไปยังยุงฉาง แล้วปล่อยให้บทสนทนาเงียบลงสักครู่ ก่อนเล่าต่อ

“พอได้กลับมาอยู่บ้านนานๆ ก็รู้สึกว่ารักบ้านตัวเองมากขึ้น

“และยังมีเวลาเขียนบล็อก เพราะว่าผมแก่แล้ว เห็นว่ามีหลายเรื่องที่เราเจอ ประสบการณ์ หรือบางทีก็ไม่มีแล้ว เมื่อยังไม่เป็นอัลไซเมอร์ ก็อยากจะเขียนไว้ (หัวเราะ) อันแรกเป็นเรื่อง Thainess สองเป็นเรื่องอาหาร อันต่อไปเป็นเรื่องการนอน

“ผมชอบเมืองไทย ชอบอาหารไทย โดยเฉพาะขนมจีนน้ำยา มันเหมือนกับพาสต้าเลย คุณเฮเลนก็ทำอาหารเก่งมากๆ มีคนบอกว่าผมเป็นคนไทยไปแล้ว ผมว่าผมยังเป็นฝรั่งอยู่นะ มีพาสปอร์ตฝรั่งมันเปลี่ยนไม่ได้ แต่โชคดีมากกว่าที่ได้มาอยู่ที่นี่

“ผมว่าวัฒนธรรมไทยมีหลายอย่างที่วัฒนธรรมตะวันตกไม่มี ซึ่งดี และยังเป็นแผ่นดินที่ร่มเย็นมาก

“แค่คุณเอากิ่งต้นไม้มาปักลงดินก็เจริญงอกงามแล้ว” 

เยี่ยมบ้านยุ้งฉางของรอล์ฟ วอน บูเรน ที่เขาหลงรักและปักหลักอยู่เมืองไทยมากว่า 57 ปี

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan