27 กุมภาพันธ์ 2021
5 K

คุณรอล์ฟ วอน บูเรน แห่ง Lotus Arts de Vivre (โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์) แบรนด์จิวเวลรี่และของตกแต่งบ้านที่มีเอกลักษณ์ด้วยการสร้างงานศิลป์จากวัสดุหายาก เป็นคนชอบของโบราณมาแต่ไหนแต่ไร เขาสะสมของหลากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภาพศิลปะ เครื่องเรือน เครื่องประดับ 

ผ้าก็เป็นของสะสมอย่างสำคัญของชายชาวเยอรมันผู้นี้ เขาทั้งหลงใหล ทั้งภูมิใจกับทุกผืน ก่อนเป็นเจ้าของแบรนด์ที่ไม่เหมือนใคร พ่วงตำแหน่งนักสะสมผ้าโบราณ ราว 58 ปีที่แล้ว คุณรอล์ฟในวัยหนุ่มเดินทางมายังประเทศไทย เพื่อเป็นตัวแทนของบริษัทเฮิกซ์ ขายสีย้อมผ้าให้กับโรงงานย้อมและทอผ้า ด้วยอาชีพนั้น เขามีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องกระบวนการกว่าจะเป็นผ้าสักผืน จึงทำให้เห็นคุณค่าของผ้า ด้วยต้องใช้เวลา ใช้ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงความลำบากในการผลิตจนเสร็จสวยสมบูรณ์

เปิดกรุผ้าโบราณ 5 ดินแดนที่อายุรวมกันนับหมื่นปีของนักสะสมผ้า รอล์ฟ วอน บูเรน

ผ้าผืนแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นให้คุณรอล์ฟเริ่มเก็บสะสม คือ ผ้าแคชเมียร์ ซึ่งได้มาระหว่างเดินทางไปอินเดีย เพื่อเลือกสรรวัสดุมาทำสินค้าให้กับแบรนด์ Lotus Arts de Vivre จากนั้นเขาค่อยๆ ตามหาผ้าหลากชนิดจากทั่วเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น จีน และอินโดนีเซีย มาเพิ่ม จากตามหากลายเป็นความหลงใหล และแปรเปลี่ยนเป็นงานอดิเรกของเขามากว่า 50 ปี ถึงตอนนี้ คุณรอล์ฟในวัย 81 มีผ้าผืนสวยนับ 1,000 อยู่ในครอบครอง

เขามีห้องสำหรับเก็บสะสมผ้า ห้องนั้นเปิดแอร์ 24 ชั่วโมง เพื่อดูแลรักษาให้ผ้าอยู่ในสภาพคงเดิมที่สุด โดยห้องต้องปลอดมอด ศัตรูอันดับหนึ่งของผ้าเก่า และต้องระวังรา หากราขึ้น ผ้านิ่มๆ ก็ฉีกเหมือนกระดาษได้

เปิดกรุผ้าโบราณ 5 ดินแดนที่อายุรวมกันนับหมื่นปีของนักสะสมผ้า รอล์ฟ วอน บูเรน

มองเผินๆ ผ้าอาจดูเป็นของใช้ธรรมดาที่เราเห็นกันจนชินตา แต่แท้จริงแล้ว ผ้าจากมุมต่างๆ ของโลกก็ซุกซ่อนเรื่องราวไว้ในแต่ละผืน ผ้าบอกทั้งวิถีชีวิต การแต่งกาย ศิลปะประจำชาติ ศาสนา โครงสร้างทางสังคม ไปจนถึงประวัติศาสตร์ของดินแดน การเก็บผ้าโบราณนับเป็นการบันทึกเรื่องราวทางวัฒนธรรมไว้อีกรูปแบบหนึ่ง เขาจึงจดข้อมูลของผ้าแต่ละผืนไว้ แต่ไม่ต้องหยิบมาเปิดอ่าน เพราะแค่เห็นผ้าก็จำขึ้นมาได้แล้ว

“ส่วนใหญ่ก็ทราบ พอเห็นก็รู้ว่าเป็นของที่ไหน” คุณรอล์ฟตอบช้าๆ เป็นภาษาไทย เมื่อเราถามว่า หากไปเห็นผ้าที่อื่น นักสะสมเช่นเขาจะทราบไหมว่าผ้าผืนนั้นมาจากมุมใดของโลก “ผมไม่ได้เชี่ยวชาญ แต่เดาได้คร่าวๆ ว่าของกัมพูชา ทิเบต จีน หรือมองโกเลีย”

เปิดกรุผ้าโบราณ 5 ดินแดนที่อายุรวมกันนับหมื่นปีของนักสะสมผ้า รอล์ฟ วอน บูเรน

เพราะความรักที่มีให้กับผ้าทุกผืน คุณรอล์ฟได้จัดนิทรรศการแสดงผ้าหายากนานาชาติ Lotus Arts de Vivre : Woven Jewels ขึ้นมา เพื่อให้ผู้คนในวงกว้างได้ทำความรู้จักกับผ้า ได้ฟังเรื่องราวของผ้าในหลายมิติ และท้ายที่สุดคือ มองเห็นคุณค่าของ ‘ผ้า’ เหมือนที่เขาเห็นมาโดยตลอด

วันนี้เป็นโอกาสพิเศษมากๆ ที่นักสะสมผ้าคนนี้ได้ค้นกรุเก็บประวัติศาสตร์ส่วนตัว และหยิบผ้าแรร์ไอเท็มจาก 5 ประเทศที่ไม่เคยให้ใครดู มาให้เราชมที่นี่เป็นที่แรกและที่เดียว พร้อมบอกเล่าประวัติให้เราฟังไปทีละผืน เริ่มจากแดนอาทิตย์อุทัยกันก่อนเลย

ญี่ปุ่น

คุณรอล์ฟหยิบ ‘กิโมโน’ (Kimono) เครื่องแต่งกายประจำชาติของสาวญี่ปุ่นออกมาให้เราดู 2 ชุด ชุดหนึ่งเป็นผ้าทอทั้งผืน ส่วนอีกชุดหนึ่งเป็นกิโมโนสีดำลวดลายแสนวิจิตร ทันทีที่เห็น สายตาเราพุ่งไปสนใจกิโมโนชุดที่สองทันที

กิโมโนสีดำสนิทชุดนี้ผสมผสานหลายเทคนิค ทั้งทอด้วยผ้าไหม ชายกิโมโนมีลายเพนต์ด้วยสีสวยงาม ตัดขอบด้วยสีทอง และปักดิ้นทองแท้ลงบนผ้า ชุดนี้มีอายุประมาณ 80 ปี ด้วยยุคสมัยนั้นแพรพรรณคือสิ่งบางบอกสถานะทางสังคม กิโมโนงดงามขนาดนี้ เขาคาดว่าเป็นของหญิงชนชั้นสูงศักดิ์

เปิดกรุผ้าโบราณ 5 ดินแดนที่อายุรวมกันนับหมื่นปีของนักสะสมผ้า รอล์ฟ วอน บูเรน
เปิดกรุผ้าโบราณ 5 ดินแดนที่อายุรวมกันนับหมื่นปีของนักสะสมผ้า รอล์ฟ วอน บูเรน

ถัดจากกิโมโน เขาทยอยหยิบคอลเลกชันโอบิออกมาให้ชม

‘โอบิ’ (Obi) เป็นผ้าผูกเอวสำหรับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่มีลักษณะต่างกันที่ของผู้หญิงจะเป็นผืนกว้าง ส่วนของผู้ชายจะแคบกว่า หนึ่งในโอบิหลายผืนที่คุณรอล์ฟนำมาให้เราดูเป็นโอบิผ้าไหมอายุราว 100 ปี ทอด้วยวิธีการที่เรียกว่า Brocade ซึ่งเป็นการทอผ้าไหมสีต่างๆ เข้าด้วยกันด้วยกี่ทอผ้า บ่อยครั้งที่จะทอดิ้นเงินและดิ้นทองผสานเข้าไปด้วย เช่นเดียวกับผืนนี้ที่ทอออกมาเป็นลวดลายฝูงนกกระเรียนสยายปีก โบยบินท่ามกลางสายน้ำและทุ่งดอกไม้

เปิดกรุผ้าโบราณ 5 ดินแดนที่อายุรวมกันนับหมื่นปีของนักสะสมผ้า รอล์ฟ วอน บูเรน

“การแต่งตัวของคนญี่ปุ่นโบราณเขาไม่มีเครื่องประดับมากนะ มีแต่หวี ปิ่น และกระเป๋าเล็กๆ โอบิจึงเป็นเหมือนเครื่องประดับชิ้นเด่น” คุณรอล์ฟอธิบายที่มาว่าทำไมโอบิ จึงทำด้วยความประณีตบรรจงขนาดนี้

นักสะสมรุ่นใหญ่ได้โอบิแต่ละผืนจากการประมูลของที่เกียวโต ซึ่งจัดขึ้นปีละ 3 ครั้ง เขาเทียวไปเทียวมาอยู่ตลอด เพื่อไม่ให้พลาดของดีที่สุด ณ ช่วงเวลานั้น เขาว่าทุกอย่างขึ้นอยู่ที่โชคด้วย มีโอกาสต้องตัดสินใจซื้อตอนนั้นเลย เพราะจะไม่มีมาอีกแล้ว

ทาง Lotus Arts de Vivre มักนำโอบิมาทำเป็นกระเป๋า เมื่อคุณรอล์ฟเห็นผ้าแต่ละผืน แวบแรกเขาคิดภาพกระเป๋าในหัวทันที ซึ่งขั้นตอนหลังได้โอบิมา คือการนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญออกแบบกระเป๋าโดยใช้ผ้าผืนนั้นอย่างคุ้มค่า ให้เหลือเศษผ้าน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

ผ้าบางชนิดก็ไม่ได้มาจากการประมูล อย่างผ้าทอ Brocade ลายคลื่นอายุราวหนึ่งศตวรรษชิ้นนี้ เดิมเคยเป็นผ้าแขวนตกแต่งภายในวัดนิกายมหายานของญี่ปุ่น ซึ่งมีชาวบ้านนำไปถวาย

 นอกจากหาซื้อผ้าตามแหล่งต่างๆ หลายครั้งต้องเข้าไปดูผ้าในวัดด้วย เขาเล่าอย่างสนุกว่า ต้องใช้สายตาอันมีประสบการณ์สอดส่ายหาผ้าคุณภาพดีที่ซ่อนอยู่ท่ามกลางผ้ากองโตในห้อง บางครั้งก็ใช้เวลาอยู่ในนั้นนานถึง 5 ชั่วโมง

เปิดกรุผ้าโบราณ 5 ดินแดนที่อายุรวมกันนับหมื่นปีของนักสะสมผ้า รอล์ฟ วอน บูเรน

จีน

เราเหลือบไปเห็นชุดที่หน้าตาดูคล้ายกันกับกิโมโนที่คุณรอล์ฟเพิ่งเล่าจบ แต่ก็ไม่เหมือนเสียทีเดียว 

ใช่แล้ว ชุดคลุมจากประเทศจีนนั่นเอง

“นี่เป็นเสื้อคลุมสำหรับคนมีฐานะ” คุณรอล์ฟเริ่ม

เช่นเดียวกับชุดกิโมโน เสื้อคลุมของจีนอายุกว่าร้อยปีนี้ เป็นผ้า Brocade แต่ต่างไปจากของญี่ปุ่นด้วยลาย บางทีแม้เป็นลายมังกรเหมือนกัน แต่ศิลปินญี่ปุ่นและศิลปินจีนก็สร้างสรรค์ออกมาได้ให้ความรู้สึกที่ต่างกัน

เมื่อเราลองจับผ้าดู ก็พบว่าชุดนี้หนาและหนักมาก คุณรอล์ฟบอกว่าชุดนี้อาจเป็นของจักรพรรดิ์จีน ไม่ก็องค์ชายลำดับที่ 1 หรือ 2 ดูได้จากมังกรที่มี 5 เล็บเป็นสัญลักษณ์ เขาอธิบายเพิ่มว่า จะรู้ว่าเจ้าของเสื้อมีตำแหน่งสูงแค่ไหนจากการดูลายสัตว์บนผ้าได้

เปิดกรุผ้าโบราณ 5 ดินแดนที่อายุรวมกันนับหมื่นปีของนักสะสมผ้า รอล์ฟ วอน บูเรน

“ส่วนชุดนี้เป็นของคนที่ไม่มีตำแหน่งในวัง อาจเป็นเพียงเศรษฐีคนหนึ่ง” แม้ไม่มีลายสัตว์ เขาบอกว่าดูจากเนื้อผ้าและลายก็เดาได้เลยว่าเจ้าของต้องไม่ธรรมดาแน่นอน

เปิดกรุผ้าโบราณ 5 ดินแดนที่อายุรวมกันนับหมื่นปีของนักสะสมผ้า รอล์ฟ วอน บูเรน

เป็นที่รู้กันว่าวงการซื้อขายของเก่านั้น มีทั้งของจริงและของปลอมที่ดูคล้ายของจริงจนแยกไม่ออก ขายปะปนกันอยู่ในตลาด เราจึงแอบสงสัยว่าคุณรอล์ฟทราบได้อย่างไรว่าที่ตัดสินใจซื้อมาจะเป็นของจริง

“จะโดนหลอกไหมขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ผมเคยซื้อของปลอมเมื่อสามสิบปีที่แล้ว ตอนนี้ยังเจ็บอยู่” ชายชรานักสะสมอมยิ้มให้กับอดีตของตัวเอง “เวลาซื้อ อยากได้อย่างเดียวก็ไม่ดี ต้องใช้อุเบกขาด้วย ว่าดีไหม ต้องชั่งใจด้วย เพราะโอกาสพลาดมีอยู่เสมอ”

สำหรับนักสะสมตัวยงที่เริ่มตระเวนซื้อของเก่ามากว่า 50 ปีอย่างคุณรอล์ฟ โอกาสพลาดที่ว่าก็มีน้อยลงเรื่อยๆ ด้วยสายตาที่เฉียบคมยิ่งขึ้นตามประสบการณ์ และด้วยคอนเนกชันในวงการผ้าที่กระจายอยู่ทั่วโลก นอกจากประมูลตามงานแล้ว คุณรอล์ฟรู้จักมักคุ้นดีกับ Antique Dealer ในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งแต่ละที่นั้นติดต่อกันมา 40 – 50 ปีแล้ว

เปิดกรุผ้าโบราณ 5 ดินแดนที่อายุรวมกันนับหมื่นปีของนักสะสมผ้า รอล์ฟ วอน บูเรน

อินโดนีเซีย

คุณรอล์ฟเดินแทรกตัวเข้าไปหยิบผ้าในกองที่พันไม้อยู่ แล้วคลี่ออกมาหนึ่งผืน 

ด้วยทราบมาว่า ‘โสร่ง’ (Sarong) คือผ้านุ่งของคนอินโดนีเซีย เราจึงคิดไปว่านี่คงเป็นโสร่งที่เขาพูดกันแน่ๆ ทว่าคุณรอล์ฟเฉลยว่านี่ไม่ใช่โสร่ง แต่เรียกว่า ‘สปุต’ (Saput) ซึ่งเป็นผ้าสำหรับใส่ทับโสร่งอีกทีเพื่อให้ดูทางการกว่าใส่โสร่งเปล่าๆ อย่างเวลาไปวัดหรือออกงานสังคมก็ต้องใส่สปุตด้วย

เปิดกรุผ้าโบราณ 5 ดินแดนที่อายุรวมกันนับหมื่นปีของนักสะสมผ้า รอล์ฟ วอน บูเรน
เปิดกรุผ้าโบราณ 5 ดินแดนที่อายุรวมกันนับหมื่นปีของนักสะสมผ้า รอล์ฟ วอน บูเรน

ไม่รอช้า ชายชาวเยอรมันก็จัดการพันสปุตไว้ที่เอว แล้วผูกแบบคล่องแคล่วเสียจนเราสงสัยว่าไปร่ำเรียนมาตอนไหนกัน

“ผมเคยมีบ้านที่บาหลี เวลามีงานอะไรต้องใส่ เลยมีโอกาสใส่บ่อย โดยเฉพาะงานเต้นรำ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของที่นั่น” ดูเหมือนว่าคุณรอล์ฟจะมีอะไรมาเซอร์ไพรส์เราอยู่เรื่อยๆ

“ผืนนี้เป็นบาติก” เขาหยิบผ้าชนิดใหม่มาให้ดู คราวนี้ดูต่างไปจากผืนก่อนๆ ที่ได้ดูมากทีเดียว

เปิดกรุผ้าโบราณ 5 ดินแดนที่อายุรวมกันนับหมื่นปีของนักสะสมผ้า รอล์ฟ วอน บูเรน

ผ้าบาติกอายุกว่า 80 ปีผืนนี้ได้มาจาก Antique Dealer ผู้ขายของเก่าที่อินโดนีเซียเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ผ้าใช้สีทั้งหมด 4 สี ได้แก่ ขาว ดำ แดงสด และแดงแก่ วิธีการทำบาติกคือต้องเขียนเทียนไว้ในส่วนที่ไม่ต้องการลงสี แล้วแต้มสีในส่วนที่ต้องการ จากนั้นก็ล้างเทียนออกด้วยน้ำร้อน แล้วเริ่มลงเทียนรอบใหม่เพื่อลงสีถัดๆ ไป ทำแบบนี้ด้วยมือถึง 4 รอบจึงจะลงสีครบ หากไม่ใจเย็นก็ไม่มีวันทำได้เลย

“สะสมแบบนี้ต้องขยัน ไปหลายแห่ง” เขาพูดด้วยแววตาที่มีพลังมุ่งมั่น

นอกจากการซื้อผ้าผ่านดีลเลอร์หรือการประมูล หลายครั้งทีเดียวที่คุณรอล์ฟได้ผ้ามาจากชาวบ้าน แม้ไม่ใช่ผ้าโบราณอายุเป็นร้อยปี แต่ก็มีความงามและคุณค่าในแบบของตัวเอง อย่างผ้ามัดย้อมที่เขาหยิบมาให้เราดูตบท้ายนี้ สิ่งที่ซ่อนอยู่คือการแสดงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี

เปิดกรุผ้าโบราณ 5 ดินแดนที่อายุรวมกันนับหมื่นปีของนักสะสมผ้า รอล์ฟ วอน บูเรน

อินเดีย

“อินเดียเป็น Supplier of the World” เป็นประโยคแรกที่คุณรอล์ฟพูด เมื่อเริ่มเข้าเรื่องผ้าของแดนภารตะ เรารู้ทันทีว่ามาถึงทีเด็ดของเขาเข้าแล้ว

นิทรรศการแสดงผ้าหายากนานาชาติครั้งนี้ มีผ้าคลุมไหล่พัชมีนาส่วนหนึ่งที่เก็บไว้อย่างดีและหาที่ไหนไม่ได้แล้วเป็นไฮไลต์ของงาน ซึ่งเขาเล่าว่าในกรุส่วนตัวมีทั้งหมดนับ 200 ผืน

เปิดกรุผ้าโบราณ 5 ดินแดนที่อายุรวมกันนับหมื่นปีของนักสะสมผ้า รอล์ฟ วอน บูเรน

‘ผ้าคลุมไหล่พัชมีนา’ (Pashmina) มาจากแคชเมียร์ ดินแดนทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย วิธีการทำคือจะนำขนแพะชั้นในสุดซึ่งมีความนุ่มละเอียดมาถักทอเส้นใยแนวทแยง โดยแพะที่ถูกนำขนมาใช้นั้นอาศัยอยู่ในระดับความสูง 4,300 เมตรขึ้นไป ส่วนใหญ่ใช้ห่มเพื่อคลายความหนาว

คุณรอล์ฟพาเราเดินไปดูผ้าพัชมีนาจากศตวรรษที่ 19 อายุ 161 ปีผืนหนึ่ง ซึ่งได้มาจากดีลเลอร์อินเดียเมื่อประมาณ 40 – 50 ปีก่อน มีลวดลายเป็นโบเทธ์ (Boteh) หรือที่เรียกว่าลายเพสลีย์ (Paisley) บ้างก็เรียกว่าลายลูกน้ำ ตามลักษณะที่เห็น

เปิดกรุผ้าโบราณ 5 ดินแดนที่อายุรวมกันนับหมื่นปีของนักสะสมผ้า รอล์ฟ วอน บูเรน
เปิดกรุผ้าโบราณ 5 ดินแดนที่อายุรวมกันนับหมื่นปีของนักสะสมผ้า รอล์ฟ วอน บูเรน

ลายนี้มีต้นกำเนิดจากเปอร์เซีย หมายถึง ดอกไม้ หรือ ช่อดอกไม้ใบไม้ เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตและความเป็นนิรันดร์ ต่อมา ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 – 19 เป็นยุคของจักรวรรดิโมกุล ลายโบเทธ์ได้เผยแพร่เข้าสู่อนุทวีปอินเดีย นิยมนำไปทอเป็นลายของผ้าคลุมไหล่ ซึ่งถือเป็นเครื่องประดับที่บ่งบอกถึงสถานะทางสังคมในชนชั้นสูงและขุนนาง จากนั้นแพร่เข้าสู่ยุโรปในยุคล่าอาณานิคม จนถึงทุกวันนี้ ลายนี้ก็ยังได้รับความนิยมในโลกแฟชั่นอยู่เสมอ

การไล่เรียงซึ่งสีย้อมธรรมชาติจากหญ้าฝรั่นให้เป็นลวดลายนั้นยากซับซ้อน การเปลี่ยนสีหนึ่งเป็นอีกสีหนึ่งต้องใช้เทคนิคที่เรียกว่า Interlocking Tapestry ค่อยๆ ทอสลับสีไปจนเสร็จทั้งผืน ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้ผ้าพัชมีนาใช้เวลาทอนานมาก โดยผืนนี้ใช้เวลาถึง 3 ปี

“ของใหม่ไม่ละเอียดเท่า” คุณรอล์ฟพูดถึงผ้าที่เขาพาเรามาดูในลำดับต่อมา

ตรงหน้าเรานี้คือผ้าพัชมีนาทอใหม่ที่ใช้เทคนิคเดียวว่ามีดีไซน์เรียบง่าย ลดความซับซ้อนของลายและการผสานสีลงไปจากเดิมมาก ใช้เวลา 2 – 3 เดือนก็เสร็จสิ้น 

เปิดกรุผ้าโบราณ 5 ดินแดนที่อายุรวมกันนับหมื่นปีของนักสะสมผ้า รอล์ฟ วอน บูเรน

เขาเล่าด้วยน้ำเสียงกึ่งเสียดายว่า ทุกวันนี้คนทอผ้าในอินเดียน้อยลงมาก จากเคยส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น พอมาถึงคนรุ่นปัจจุบันก็ไม่อยากสานต่อ เพราะงานแบบนี้ต้องใช้ความละเอียดอ่อน ใช้แรงกาย และใช้เวลาในการผลิตต่อชิ้นเยอะมาก แต่ค่าตอบแทนกลับสวนทาง คนจึงหันไปพึ่งเครื่องจักรและทำงานที่เน้นความเร็ว เขาเองไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องผิดหรือถูก เพราะส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการพัฒนาและโลกที่หมุนไป

ทว่าตัวเขาเองกลับยังเชื่อในความงามและมูลค่าทางใจที่ซ่อนอยู่ในกระบวนการทำงานคราฟต์

เพราะเหตุนี้ งานทำมือจึงมีคุณค่าในสายตานักสะสมอย่างเขาเหลือเกิน

เปิดกรุผ้าโบราณ 5 ดินแดนที่อายุรวมกันนับหมื่นปีของนักสะสมผ้า รอล์ฟ วอน บูเรน

ใครสนใจอยากชมผ้าสวยๆ ตอนนี้นิทรรศการแสดงผ้าหายากนานาชาติ Lotus Arts de Vivre : Woven Jewels ที่ได้รับเกียรติจาก อาจารย์ลักขณา คุณาวิชยานนท์ มาเป็นภัณฑารักษ์ ยังจัดแสดงอยู่จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.00 – 17.00 น. ที่ โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์ แกลเลอรี่ พระราม 3 สามารถนัดหมายเข้าชมได้ที่ โทรศัพท์ 08 9667 6077

ภายในงานนี้ นอกจากจะมีผ้าทอโบราณอย่างผ้าพัชมีนาหรือผ้าโอบิของ อาจารย์เกนเบ ยามากูจิ ปรมาจารย์แห่งโอบิญี่ปุ่นให้ดูแล้ว ยังจัดแสดงกระเป๋าคอลเลกชัน Woven Jewels ที่นำผ้าโบราณจากที่ต่างๆ มาผสมผสานกับการปักลายของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ด้วย

เปิดกรุผ้าโบราณ 5 ดินแดนที่อายุรวมกันนับหมื่นปีของนักสะสมผ้า รอล์ฟ วอน บูเรน
เปิดกรุผ้าโบราณ 5 ดินแดนที่อายุรวมกันนับหมื่นปีของนักสะสมผ้า รอล์ฟ วอน บูเรน

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ