หลังจากที่ได้มาใช้ชีวิตหลังเรียนจบในฐานะเด็ก Work and Travel ณ มลรัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา ราว 3 เดือนร่วมกับเหล่าอเมริกันชนในเมืองเล็กๆ ใกล้หุบเขา Animas City บทสนทนาในแต่ละวันของเรามักเกี่ยวกับธรรมชาติและการเดินป่า จนสัปดาห์สุดท้ายก่อนจะจากมา เชส พ่อครัวร้านอาหารในสกีรีสอร์ตที่เราทำงานอยู่ได้พูดกับเราว่า “คุณชอบเดินป่าไม่ใช่เหรอ ไหนๆ ก็มาโคโลราโดแล้ว แวะไปร็อกกีสิ! คุณจะเจอสัตว์ป่าแปลกๆ และได้อยู่ท่ามกลางก้อนหิน ภูเขา และต้นไม้ขนาดมหึมาเลยล่ะ” ไม่ทันขาดคำเราก็กดจองรถเช่าและหาข้อมูลเพื่อหาทางพาตัวเองไปอุทยานแห่งชาติเทือกเขาร็อกกีทันที 

เดินป่าในอุทยาน เทือกเขาร็อกกี แกะรอยเส้นทางชนเผ่าพื้นเมืองโบราณและสัตว์ป่าในโคโลราโด

อุทยานแห่งชาติเทือกเขาร็อกกีอยู่ในมลรัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีพื้นที่ครอบคลุมหลายเมืองในโคโลราโด เมืองใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียงอุทยานคือเมืองเอสเตส พาร์ค (Estes Park) และเมืองแกรนด์เลก (Grand Lake) ซึ่งหากเดินทางจากอีกฝั่งไปยังอีกฝั่งของอุทยานนั้น ต้องใช้เวลาราว 4 ชั่วโมงเลยทีเดียว

หากพูดถึงอุทยานแห่งชาติเทือกเขาร็อกกี (Rocky Mountain National Park) เรามักนึกถึงอุทยานที่เต็มไปด้วยภูเขาลูกโต ทะเลสาบที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้สีเขียว และสัตว์ป่าที่พบเห็นได้ง่าย แต่จริงๆ แล้วอุทยานแห่งนี้มีความพิเศษมากกว่านั้น นั่นคือบริเวณนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองอเมริกัน (Native Americans)*

*หมายเหตุ : คนไทยอาจรู้จัก Native Americans หรือ Indigenous Americans ในชื่อ ‘อินเดียนแดง’ อย่างไรก็ดี คำนี้แฝงความหมายเชิงเหยียดชาติพันธุ์และไม่สุภาพ จึงใช้คำว่า ‘ชนพื้นเมืองอเมริกัน’ แทน

เดินป่าในอุทยาน เทือกเขาร็อกกี แกะรอยเส้นทางชนเผ่าพื้นเมืองโบราณและสัตว์ป่าในโคโลราโด
เดินป่าในอุทยาน เทือกเขาร็อกกี แกะรอยเส้นทางชนเผ่าพื้นเมืองโบราณและสัตว์ป่าในโคโลราโด

ก่อนหน้านี้เรามีโอกาสแวะไปอุทยานแห่งชาติเมซาเวอร์เด (Mesa Verde National Park) ที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมลรัฐโคโลราโดมาเช่นกัน ทำให้ทราบว่ามลรัฐนี้มีหลายชนเผ่าอาศัยอยู่ ภูเขาแต่ละลูกล้วนเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของชนเผ่าเหล่านี้ อย่างบางชนเผ่า เช่น เผ่าพิวโบล (Pueblo) สร้างที่อยู่อาศัยบริเวณหน้าผาของภูเขา โดยบริเวณเทือกเขาร็อกกีมีเผ่ายูทและเผ่าอาราปาโฮอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่

อุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งของสหรัฐอเมริกามีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (Visitor Center) เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่รวบรวมข้อมูลหรือเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับอุทยาน ทั้งด้านธรรมชาติและประวัติศาสตร์ รวมถึงขายของที่ระลึกต่างๆ แต่ละที่ยังมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานหรือเรนเจอร์ (Ranger) อยู่ หน้าที่ของเรนเจอร์คือคอยดูแลความเรียบร้อยภายในอุทยานและให้ความช่วยเหลือแก่นักท่องเที่ยว 

เดินป่าในอุทยาน เทือกเขาร็อกกี แกะรอยเส้นทางชนเผ่าพื้นเมืองโบราณและสัตว์ป่าในโคโลราโด

ที่เทือกเขาร็อกกีมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 5 แห่งกระจายทั่วอุทยาน แต่เราแวะไปแค่ Beaver Meadows Visitor Center ที่อยู่ใกล้ทางเข้าอุทยานฝั่งเอสเตท พาร์ค และ Alpine Visitor Center ที่อยู่บนภูเขา Fall River ซึ่งการขึ้นไปที่ Alpine Visitor Center นั้น เราต้องขับรถไต่ระดับความสูงขึ้นมาตามถนน Trail Ridge ซึ่งเป็นถนนที่สูงที่สุดในอุทยานและเชื่อมระหว่างเมืองแกรนด์เลคกับเอสเตทพาร์ค 

ภูเขาส่วนใหญ่ในร็อกกีสูงเกือบ 12,000 ฟุตจากระดับน้ำทะเล อุทยานแห่งนี้จึงมีลักษณะภูมิอากาศแบบ Alpine Tundra หนาวเย็นในฤดูร้อนและหิมะตกหนักในฤดูหนาว เรายังเห็นป้ายเตือนตามจุดชมวิวหรือทางเดินป่า (Trail) บนยอดเขาเกี่ยวกับการหายใจ เนื่องจากด้านบนมีลมแรงมากจนทำให้หายใจไม่ออกเป็นบางช่วง ป้ายบอกเราว่าหากรู้สึกเวียนหัวหรือไม่สบายตัวให้รีบออกมาจากบริเวณนั้นเพราะอาจหมดสติได้ Alpine Visitor Center นี้ก็อยู่ในความสูงระดับไล่เลี่ยกัน ทำให้บริเวณรอบอาคารเต็มไปด้วยหญ้าเตี้ยๆ เฟิร์น มอส ลิเวอร์เวิร์ต และไม่มีต้นไม้ใหญ่เลย เพราะภูมิอากาศลักษณะนี้ทำให้ต้นไม้ใหญ่ไม่ค่อยเจริญเติบโต จึงมองเห็นภูเขาทั่วอุทยานได้ไกลสุดลูกหูลูกตา 

เดินป่าในอุทยาน เทือกเขาร็อกกี แกะรอยเส้นทางชนเผ่าพื้นเมืองโบราณและสัตว์ป่าในโคโลราโด

ระหว่างทางเรายังเจอกวางเอลก์ กา มาร์มอต และไพกา โดยเจ้าไพกา (Pika) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมลักษณะคล้ายหนู แต่มีหูขนาดใหญ่และสั้นกลมกว่า เจ้าตัวนี้ไม่จำศีลในฤดูหนาว แต่ใช้วิธีตุนอาหารด้วยการสะสมหญ้าแห้ง (Haying) ไว้ตามซอกหิน เพื่อจะได้มีอาหารไว้กินในหน้าหนาว

เดินป่าในอุทยาน เทือกเขาร็อกกี แกะรอยเส้นทางชนเผ่าพื้นเมืองโบราณและสัตว์ป่าในโคโลราโด
เดินป่าในอุทยาน เทือกเขาร็อกกี แกะรอยเส้นทางชนเผ่าพื้นเมืองโบราณและสัตว์ป่าในโคโลราโด

เราเดินผ่าน Ute Trail ซึ่งเป็นเทรลที่ชนเผ่ายูทอินเดียนและชนเผ่าอาราปาโฮใช้ในการสัญจรไปมาเมื่อ 200 กว่าปีก่อน และเดิมทีนั้นก็เป็นเส้นทางที่มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาล่ากวางเอลก์และแกะบิ๊กฮอร์นอีกด้วย เทรลนี้ยาวประมาณ 5.6 ไมล์ เป็นทางเดินแคบๆ ที่เต็มไปด้วยก้อนหินเล็กใหญ่ ยูทเทรลอยู่ริมถนน Trail Ridge จึงมีป้ายอธิบาย ณ จุดเริ่มต้นเทรลด้วยว่า ชื่อถนน Trail Ridge มาจากการอนุมานถึงรอยเท้าที่ชนเผ่าเหล่านี้ได้ทิ้งเอาไว้ตามสันเขานี่ล่ะ

ช่วงหน้าร้อนถือว่าเป็นช่วงขาขึ้นของอุทยาน เพราะในฤดูหนาวหิมะตกหนักจนทำให้รถสัญจรไม่ได้ พอหิมะละลายและเปิดถนนในต้นเดือนมิถุนายนแล้ว ผู้คนต่างหลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวในอุทยาน ปริมาณรถก็มากขึ้นตามจนทำให้ที่จอดรถเต็มอยู่บ่อยครั้ง หรือมีรถติดยาวกลางภูเขาได้ 

อุทยานแห่งชาติเทือกเขาร็อกกียังมีทะเลสาบซ่อนอยู่ตามภูเขาในอุทยานอีกด้วย บริเวณที่เป็นที่นิยมของเหล่านักเดินป่าคือบริเวณ Bear Lake Trail และ Glacier Gorge ซึ่งแถวนั้นมีทะเลสาบมากกว่า 8 แห่ง รวมถึงสระน้ำเล็กๆ และมีน้ำตกประปราย เราเลือกเดินจาก Bear Lake ไป Glacier Gorge เนื่องจากต้นทางจะมีพื้นที่จอดรถที่กว้างกว่า อย่างไรก็ตามเราก็ยังต้องไปจับจองที่จอดรถตั้งแต่ก่อน 7 โมงเช้าเลยล่ะ เพราะที่จอดรถตรงนี้มักจะเต็มก่อนเสมอ 

เดินป่าในอุทยาน เทือกเขาร็อกกี แกะรอยเส้นทางชนเผ่าพื้นเมืองโบราณและสัตว์ป่าในโคโลราโด
เดินป่าในอุทยาน เทือกเขาร็อกกี แกะรอยเส้นทางชนเผ่าพื้นเมืองโบราณและสัตว์ป่าในโคโลราโด

เส้นทางที่เราเดินนั้นมีระยะทางรวมเกือบ 20 กิโลเมตร โดย Bear Lake เป็นเส้นทางที่เดินง่าย เรียกได้ว่าจอดรถแล้วเดินไม่กี่ก้าวก็เจอทะเลสาบนี้เลย เราเดินไปเรื่อยๆ ผ่าน Nymph Lake, Dream Lake และ Emerald Lake ซึ่งเป็นทะเลสาบที่เกิดจากการละลายของหิมะบนภูเขาลูกเดียวกัน ตามที่เล่าไปว่าอุทยานนี้มีหลายลักษณะภูมิอากาศ แถวนี้จะอยู่ในลักษณะภูมิอากาศแบบ Subalpine ทำให้เราเจอดอกไม้ป่า กวางเอลก์ และชิปมังก์ระหว่างทาง รวมถึงน้ำตกจากยอดเขาที่ไหลมารวมเป็นทะเลสาบเหล่านี้ด้วย 

เดินป่าในอุทยาน เทือกเขาร็อกกี แกะรอยเส้นทางชนเผ่าพื้นเมืองโบราณและสัตว์ป่าในโคโลราโด

เดินมาจนถึง Lake Haiyaha ทะเลสาบแห่งนี้ต้องเดินอ้อมภูเขาครึ่งลูก ถือเป็นครึ่งทางของระยะทางทั้งหมดที่เราจะเดินวันนี้ เพื่อนชาวอเมริกันของเราเล่าให้ฟังว่า Haiyaha เป็นคำศัพท์ของคนพื้นเมืองอเมริกัน แปลว่าก้อนหิน พอไปถึง เราถึงได้เข้าใจว่าทำไมถึงตั้งชื่อทะเลสาบแบบนี้ เพราะที่นี่เต็มไปด้วยก้อนหินก้อนใหญ่ยักษ์ ครั้นจะเดินเข้าไปใกล้ๆ ทะเลสาบนั้น ก็ต้องปีนก้อนหินและกะระยะกระโดดข้ามก้อนหินกันเอาเอง เรายังต้องคอยระวังว่าก้อนหินที่เหยียบอยู่มั่นคงแข็งแรงดีพอหรือไม่ เพราะหลายก้อนที่เราเหยียบนั้นก็โคลงเคลงใช้ได้เลยทีเดียว 

เราเดินต่อมาที่ The Loch และปีนน้ำตก Timberline ขึ้นมา เป้าหมายของเราวันนี้คือ Sky Pond ซึ่งเป็นทะเลสาบที่อยู่สูงสุดเมื่อเทียบกับทะเลสาบที่เดินผ่านมา น้ำตกนี้ชันเกือบ 90 องศา แต่ก็มีก้อนหินพอให้เกาะขึ้นไปได้อย่างทุลักทุเล ด้านบนเราเจอ Lake of Glass เป็นทะเลสาบเล็กๆ เหมือนสระน้ำหลังบ้าน เข้าใจว่าเกิดจากกองหิมะที่กำลังละลายอยู่ข้างๆ ซึ่งสูงกว่าเราเกือบสองเท่า ข้างบนนี้เรามองเห็น The Loch และภูเขาบริเวณใกล้เคียงได้อย่างชัดเจน 

เดินป่าในอุทยาน เทือกเขาร็อกกี แกะรอยเส้นทางชนเผ่าพื้นเมืองโบราณและสัตว์ป่าในโคโลราโด

ส่วน Sky Pond มีแท่งหินแหลมๆ เรียงตัวกันเป็นแถบบนยอดเขา เรียกว่า The Sharkstooth ดูแล้วมีรูปทรงคล้ายฟันปลาฉลาม ทุกอย่างดูยิ่งใหญ่มากเมื่อเทียบกับกลุ่มนักเดินป่าที่นั่งกระจุกกันตามก้อนหินข้างทะเลสาบ บนยอดเขานี้มีอากาศแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ทำให้ตลอด 1 ชั่วโมงที่เรานั่งเล่นอยู่แถว Sky Pond นั้น เจอทั้งพายุลูกเห็บ แดดร้อนจัด และฝนตกหนัก สลับกันไป 

การมาเที่ยวอุทยานแห่งชาติเทือกเขาร็อกกีครั้งนี้ ตอนแรกเราคิดเพียงแค่ว่าเป็นเรื่องท้าทายที่จะได้เดินป่าเกือบ 20 กิโลฯ เพื่อไปดูทะเลสาบหลายๆ แห่งบนภูเขา และได้สัมผัสกับลักษณะภูมิอากาศแบบที่เคยเห็นจากในหนังสือเรียน แต่สิ่งที่เราเจอมากกว่านั้นคือภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าบางชนิดที่อาจถึงขั้นสูญพันธุ์ แต่ยังส่งผลกระทบต่อพวกเราโดยตรง นอกจากนี้การได้เห็นร่องรอยการใช้ชีวิตของเหล่าชนเผ่าโบราณในอดีตกาล ทำให้เรารู้สึกทึ่งไปกับวิถีชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ การดิ้นรน และการปรับตัวของมนุษย์อีกด้วย ใครที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติเทือกเขาร็อกกีสามารถเข้าเว็บไซต์หลักของอุทยานแห่งชาติเทือกเขาร็อกกี นอกจากนี้ เรายังดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน AllTrails ไว้ เพื่อค้นหาเส้นทางเดินป่าใหม่ๆ หรือแม้แต่ออกแบบเส้นทางเดินป่าของตัวเอง โดยแอปฯ นี้ช่วยคำนวณเวลาเดินและเวลาพักเหนื่อยได้ตามความเป็นจริง และเป็น GPS ให้เราได้ด้วย ทำให้การเดินป่าของเราสนุกขึ้นอีกหลายเท่าเลยล่ะ!

เดินป่าในอุทยานเทือกเขาร็อกกี แกะรอยเส้นทางชนเผ่าพื้นเมืองโบราณและสัตว์ป่าในโคโลราโด

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

สรรพสิริ สรรพศีลบุตร

นักเดินทางฝึกหัดที่ค้นพบว่าตัวเองชื่นชอบการเดินป่าเป็นชีวิตจิตใจ และโลกใบใหญ่เป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นดีที่ไม่สามารถบรรจุในตำราได้ เชื่อในการเอาชนะลิมิตของตัวเอง ปัจจุบันเป็นนิสิตปี 3 บัญชี จุฬาฯ