คนธรรมดาเดินดินอย่างเราๆ การบินออกไปนอกอวกาศคงเป็นเรื่องไกลตัว

แต่ไม่ใช่สำหรับชาวเมืองฮันต์สวิลล์ (Huntsville) รัฐแอละบามา (Alabama) สหรัฐอเมริกา เพราะที่นี่คือศูนย์รวมของแหล่งค้นคว้าวิจัย ตลอดจนกระบวนการออกแบบและผลิตยานอวกาศที่สำคัญของโลก สมกับที่ได้รับฉายาว่า ‘Rocket City’

“ถ้าบ้านเรามีทุ่งกุลาร้องไห้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ อู่จรวดอู่ยานอวกาศของอเมริกาก็คือที่นี่ เพราะในแง่การออกแบบและก่อสร้างส่วนใหญ่ก็อยู่ที่นี่แทบทั้งนั้น” กฤษณ์ คุนผลิน ตัวแทนศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เล่าให้เราฟัง

เที่ยว Rocket City เมืองสำคัญแห่งวงการอวกาศโลก ที่หันไปทางไหนก็เจอแต่จรวดและยานอวกาศ

คำกล่าวข้างต้นไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด เพราะแค่ก้าวขาลงจากเครื่องบิน เราจะได้พบจรวดที่ตั้งเรียงกันเป็นตับ ไม่ว่าจะหันไปทางไหนของเมืองจะเจอแต่จรวด จรวด แล้วก็จรวด! แม้แต่โฆษณาในเมืองยังเป็นการอวดศักยภาพของจรวดรุ่นนั้นรุ่นนี้ เพราะที่นี่เขาเน้นขายจรวดกันทั้งเมืองจริงๆ

ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้น คงต้องบอกว่าเมืองนี้มีตั้งแต่ส่วนงานออกแบบและผลิตยานอวกาศ ไปจนถึงส่วนการฝึกสอนเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในอวกาศ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ U.S. Space & Rocket Center และยังมีแท่นทดลองยิงจรวด ที่อยู่ภายในศูนย์ปฏิบัติการของ NASA Marshall Space Flight Center อีกด้วย

เที่ยว Rocket City เมืองสำคัญแห่งวงการอวกาศโลก ที่หันไปทางไหนก็เจอแต่จรวดและยานอวกาศ
เที่ยว Rocket City เมืองสำคัญแห่งวงการอวกาศโลก ที่หันไปทางไหนก็เจอแต่จรวดและยานอวกาศ

ข่าวดีคือ จรวด ยานอวกาศ และเทคโนโลยี ที่เกริ่นมาทั้งหมดนี้จะไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป เพราะศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐฯ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจําประเทศไทย ได้ให้โอกาสเด็กไทยผ่านโครงการ ทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย หรือ Discover Thailand’s Astronauts Scholarship Program (DTAS) เพื่อให้เยาวชนได้เข้าถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับจรวดและอวกาศ ผ่านการฝึกสอนของบุคลากรมืออาชีพและสำหรับบุคคลทั่วไป พวกเขากำลังจัดทำโครงการโอเพ่นเฮาส์ เพื่อเปิดบ้านต้อนรับบรรดาสื่อมวลชนและนักวิจัยไทยอีกด้วย

แต่ถ้าคุณไม่ได้เข้าข่ายทั้งกลุ่มนักเรียน สื่อมวลชน และนักวิจัย ก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะเพียงแค่คุณเลื่อนอ่านบทความนี้ต่อ ก็จะได้เที่ยวชมเมืองที่เต็มไปด้วยจรวดและยานอวกาศแห่งนี้จนหนำใจแน่นอน!

เที่ยว Rocket City เมืองสำคัญแห่งวงการอวกาศโลก ที่หันไปทางไหนก็เจอแต่จรวดและยานอวกาศ
เที่ยว Rocket City เมืองสำคัญแห่งวงการอวกาศโลก ที่หันไปทางไหนก็เจอแต่จรวดและยานอวกาศ

U.S. Space & Rocket Center

หากจะบอกว่า U.S. Space & Rocket Center คือจุดเริ่มต้นความสำเร็จของ นีล อาร์มสตรอง ก็คงไม่ผิดนัก เพราะที่นี่คือแหล่งผลิตยานอวกาศ Apollo 11 ที่ได้พามนุษย์คนแรกขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ และจากวันที่ศูนย์ปฏิบัติการแห่งนี้ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1910 กระทั่งปัจจุบัน ก็ยังคงทำหน้าที่ออกแบบและผลิตยานอวกาศมาตลอดระยะเวลากว่าศตวรรษ

และนอกจากการสร้างจรวดแล้ว พวกเขายังไม่ลืมที่จะผลิตบุคลากรรุ่นใหม่อย่างสม่ำเสมอ ที่นี่จึงมีการเปิดอบรมสำหรับบุคคลทั่วไป เกี่ยวกับการทำภารกิจในอวกาศ ทั้งการขับยานอวกาศ การทรงตัว การฝึกเดินบนดาวอื่น และยังมีศูนย์การเรียนรู้การอยู่อาศัยบนดาวอังคารอีกด้วย!

หัวใจสำคัญของคลาสการทำภารกิจนอกโลก คือการแบ่งหน้าที่และภาวะความเป็นผู้นำ เพราะสมาชิกทั้ง 16 คนในทีมต้องรับผิดชอบหน้าที่ต่างกัน ทั้งการควบคุมภาคพื้นดิน การบังคับยานอวกาศ และการปฏิบัติภารกิจนอกยาน เช่น การใช้และซ่อมแขนกล (Canada Arm) หรือการวางดาวเทียม เป็นต้น

NASA Visitor Center
NASA Visitor Center

การจำลองสภาวะไร้น้ำหนักบนอวกาศ ที่นี่อาศัยสระว่ายน้ำขนาดยักษ์ที่สูงเท่าตึก เมื่อใส่ชุดนักบินอวกาศดำลงไปลึกๆ จะได้สภาวะที่ใกล้เคียงสุญญากาศยิ่งขึ้น ส่วนทักษะการเดินบนดาวอื่นนั้น เนื่องจากว่าดาวเคราะห์แต่ละดวงมีแรงโน้มถ่วงต่างกัน อย่างดวงจันทร์ที่มีแรงโน้มถ่วงน้อยกว่าโลกประมาณ 1 ใน 3 จึงต้องอาศัยเก้าอี้ทดน้ำหนัก ซึ่งจะแขวนอยู่กับตัวควบคุมน้ำหนัก เพื่อจำลองสภาวะบนดาวนั้นๆ ให้นักเรียนได้ฝึกเดินในท่วงท่าต่างๆ จนคุ้นเคย

อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญคือ แบบจำลองของ International Space Station หรือสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการลอยฟ้าที่โคจรอยู่รอบโลก ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการค้นคว้าวิจัยให้นานาประเทศ ใครที่คิดว่าแบบจำลองบนพื้นโลกคงทำอะไรได้ไม่มาก คุณประเมินต่ำเกินไป! เพราะนี่คือแบบจำลองขนาดเท่าจริง ที่ใช้อธิบายการทำงานได้แบบละเอียดยิบเชียวล่ะ

เที่ยว Rocket City เมืองสำคัญแห่งวงการอวกาศโลก ที่หันไปทางไหนก็เจอแต่จรวดและยานอวกาศ
เที่ยว Rocket City เมืองสำคัญแห่งวงการอวกาศโลก ที่หันไปทางไหนก็เจอแต่จรวดและยานอวกาศ

ส่วนอุปกรณ์การฝึกสอนทักษะอื่นๆ มีทั้งอุปกรณ์ที่ปลดประจำการจากนาซาและอุปกรณ์จำลองที่ทำเลียนแบบขึ้นมา ถ้าหากว่าใครโชคดี อาจได้เข้าคลาสกับนักบินอวกาศตัวจริงเสียงจริง ที่มักจะแวะมาเยี่ยมเยียนเป็นประจำ เพราะส่วนมากต่างเป็นศิษย์เก่าของที่นี่กัน

หลักสูตรของที่นี่มีตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ขั้นกลาง และขั้นสูง แอบกระซิบว่าแม้แต่ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) หรือ เจฟ พีซอส (Jeff Bezos) เองก็เคยเรียนหลักสูตรนี้เช่นกัน!

NASA Visitor Center

NASA

NASA Marshall Space Flight Center คือศูนย์ปฏิบัติการของนาซาที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งโดยปกติจะไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเยี่ยมชม เพราะภายในมีทั้ง Test Pad หรือแท่นทดลองยิงจรวด ที่สำคัญคือ มีครบทุกรุ่นตั้งแต่รุ่นแรกถึงปัจจุบัน

และยังมี ISS Payload Center ศูนย์ปฏิบัติการที่ทำหน้าที่เป็นผู้ลำเลียงทั้งข้าวปลาอาหาร ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์สำหรับสถานีอวกาศนานาชาติเลยทีเดียว ระบบภายในส่วนนี้จึงเป็นหุ่นยนต์แทบทั้งหมด และเป็นสาเหตุให้ศูนย์แห่งนี้มีส่วนการวิจัยหุ่นยนต์ด้วย

เที่ยว Rocket City เมืองสำคัญแห่งวงการอวกาศโลก ที่หันไปทางไหนก็เจอแต่จรวดและยานอวกาศ
เที่ยว Rocket City เมืองสำคัญแห่งวงการอวกาศโลก ที่หันไปทางไหนก็เจอแต่จรวดและยานอวกาศ

อีกหนึ่งความรับผิดชอบสำคัญของศูนย์ปฏิบัติการแห่งนี้คือ Space Launch System ซึ่งภารกิจล่าสุดคือการยิงจรวดไปดาวอังคาร ซึ่งตามแผนงานที่วางไว้ ถ้าไม่มีข้อผิดพลาด เราจะส่งมนุษย์คนแรกไปเหยียบดาวอังคารได้ภายใน 4 ปีข้างหน้า เป็นสาเหตุที่คนในแวดวงอวกาศมักจะเรียกเด็กวัยรุ่นสมัยนี้ว่า Mars Generation นั่นเอง

เที่ยว Rocket City เมืองสำคัญแห่งวงการอวกาศโลก ที่หันไปทางไหนก็เจอแต่จรวดและยานอวกาศ
NASA Visitor Center

สำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการเข้ามาสัมผัสบรรยากาศของนาซา ที่นี่ก็มีส่วนของ NASA Visitor Center เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านอวกาศ ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ ซึ่งภายในจะมี Aviation of Smithsonian เป็นพิพิธภัณฑ์จรวดและอวกาศที่ใหญ่ที่สุดในโลกตั้งอยู่อีกด้วย

University and Supplier

ความพิเศษของ University of Alabama in Huntsville หรือ UAH คือ หลักสูตรเกี่ยวกับ Space Business ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรธุรกิจอวกาศเป็นสถาบันแรกในสหรัฐฯ รวมถึงหลักสูตร Cyber Security ที่เป็นการทำงานร่วมกับศูนย์ FBI หรือหลักสูตรการสร้างจรวดและยานอวกาศที่เป็นการร่วมมือกับนาซา

และถ้าจะเล่าถึงเมืองแห่งจรวดนี้อย่างครบถ้วนรอบด้านที่สุด นอกจากมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ในเมืองแล้ว โดยรอบศูนย์ปฏิบัติการและมหาวิทยาลัยยังมีบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องตั้งเรียงรายอยู่ ชนิดที่เรียกได้ว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรม R&D ทางด้านจรวดและอวกาศที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐอเมริกา เพราะยกมาทั้ง Northrop Grumman, Lockheed Martin, Boeing ซึ่งรับหน้าที่ในการออกแบบตามออร์เดอร์จากทางศูนย์ฯ ตลอดจนบริษัท Supplier อื่นๆ ทั้งวัสดุ กระเบื้อง และ GPS ของระบบจรวดและยานต่างๆ

สำหรับคนที่ไม่อยู่ในแวดวงอวกาศหรือวิทยาศาสตร์คงอดครุ่นคิดไม่ได้ว่า ถ้าได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนฮันต์สวิลล์จริงๆ จะเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้มากน้อยเพียงใด และอีกหนึ่งคำถามสำคัญคือ

เราจะรู้เรื่องพวกนี้ไปทำไม

อย่างแรก เราควรรู้ตัวก่อนว่าทุกวันนี้เรื่องราวเกี่ยวกับอวกาศ ไม่ใช่เรื่องของอนาคตอันไกลโพ้นอีกต่อไป

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กลุ่มนักศึกษา 10 คนจาก University of Southern California ยิงจรวดของพวกเขาเองออกไปนอกโลกได้สำเร็จ และทุกวันนี้เราใช้เทคโนโลยีอวกาศกันตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอนกันอย่างไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็น GPS นำทาง การพยากรณ์อากาศ หรือแม้กระทั่งเตาไมโครเวฟ

NASA Visitor Center
NASA Visitor Center

คราวนี้เริ่มรู้สึกว่าอวกาศอยู่ใกล้เรามากขึ้นหรือยัง

ในอดีตเมื่อ 59 ปีก่อน อวกาศอาจเป็นการช่วงชิงพื้นที่ทางอำนาจก็จริง แต่ทุกวันนี้เราจะเห็นว่ามิติทางธุรกิจเข้ามามีบทบาทสำคัญ ทั้งในแง่การแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ การวางดาวเทียมรอบโลกเพื่อรองรับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทุกอย่างกำลังถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นเรื่อยๆ และอัตราการเติบโตของวงการนี้ดูจะรวดเร็วขึ้นทุกวัน

แม้แต่ผู้อำนวยการศูนย์ฯ คนปัจจุบันอย่าง เอ็ด บัคบี (Ed Buckbee) ยังเรียนจบด้านวารสารศาสตร์ เขาอาจไม่ใช่คนที่ปล่อยจรวดเป็น และไม่ได้รู้เรื่องฟิสิกส์มากเท่านักวิจัยคนอื่นๆ แต่เขามีทักษะการรับและถ่ายทอดสารที่โดดเด่น และที่สำคัญคือ เขารู้วิธีการถ่ายทอดฟิสิกส์ให้คนทั่วไปเข้าใจ อย่างที่น้อยคนนักจะทำได้

คนที่จะได้เป็นนักบินอวกาศจริงๆ อาจมีเพียงหยิบมือ แต่วิทยาการขั้นสูงของที่นี่ได้รวบรวมและเชื่อมโยงศาสตร์และศิลป์อีกมากมายหลายแขนง

เชื่อเถอะ ว่าอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวขนาดนั้น

NASA Visitor Center

การแข่งขันชิงทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย ก่อตั้งโดยศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐฯ และศูนย์ข้อมูล NASA เพื่อรณรงค์ให้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการสร้างประดิษฐกรรมในไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น และกลายเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน ปีนี้มีทุนการศึกษาสำรวจอวกาศเบื้องต้น 4 ทุน ผู้ได้รับทุนจะเป็นตัวแทนเยาวชนไทยไปศึกษาด้านการสำรวจอวกาศเบื้องต้นที่ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐฯ และศูนย์ข้อมูล NASA เป็นเวลา 10 วัน ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.spacecampthailand.com หรือเพจเฟซบุ๊ก Spacecamp Thailand

ภาพ : กฤษณ์ คุนผลิน และ NASA

Writer

Avatar

สาริศา เลิศวัฒนากิจกุล

เด็กนิเทศ เอกวารสารฯ กำลังอยู่ในช่วงหัดเขียนอย่างจริงจัง แต่บางครั้งก็ชอบหนีไปวาดรูปเล่น มีไอศครีมเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในยามอ่อนล้า