สำหรับเรา เครื่องปรุงชั้นเลิศที่เพิ่มความอยากอาหารเวลาอยู่บ้านได้มาก จนต้องรีบหาร้านในแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่แล้วกดสั่งอย่างว่องไว ไม่ใช่รูปสวย ๆ อย่างเดียว แต่คือ ‘เสียง’ ที่ชวนท้องร้อง น้ำลายไหลโดยไม่รู้ตัว (นึกภาพตอนได้ยินเสียงหมูกระทะกำลังจะสุกบนเตาสิ) 

จึงไม่แปลกที่หลายคนถึงชอบเปิดยูทูบดูช่องกินอาหารแบบ ASMR (Autonomous Sensory Meridian) หรือ การใช้เสียงเพื่อตอบสนองต่อประสาทรับความรู้สึกอัตโนมัติ ซึ่งทำให้รู้สึกหิว ฟิน หรือบางทีเปิดเงียบ ๆ ก็คลายความเครียดได้ดีเหมือนกัน

การที่เสียงสามารถสร้างอารมณ์ความรู้สึกให้กับคนได้ขนาดนั้น ทำให้ ‘โรบินฮู้ด’ (Robinhood) แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่สัญชาติไทยที่แน่วแน่ในการช่วยเหลือร้านเล็ก ๆ โดยไม่เก็บเงินค่าบริการระบบ รวมทีม บิ๊ก-สีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ตูน-สุธีรพันธุ์ สักรวัตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ก้อง-ชณัฐ วุฒิวิกัยการ Creative Director A Yellow Train Studio มาช่วยกันคิดการณ์ใหญ่ ลองทำคอนเทนต์ ASMR เพื่อช่วยโปรโมตร้านเล็ก ๆ ในแพลตฟอร์มของตัวเอง และสร้างอารมณ์ร่วมกับลูกค้าให้ได้เห็นคุณค่าของอาหารแต่ละจาน

สารคดี ASMR Food Documentary ชิ้นนี้มีความยาว 60 นาที บอกเล่า 60 ขั้นตอนที่สะท้อนเสียงแห่งความตั้งใจ ความทุ่มเท และความพิถีพิถันในการทำอาหาร 1 จานของร้านบะหมี่อายุ 60 ปี ‘ไจ๊ บะหมี่เกี๊ยวกุ้งสะพานเหลือง’ ที่แม้แต่ลูกค้าประจำก็อาจไม่เคยรู้เคล็ดลับเหล่านี้มาก่อน 

The Cloud ชวนคุณมาฟังแนวคิดของสารคดีขนาดยาว โดยมีเสียงขั้นตอนการทำอาหารที่ชัดแจ๋ว ตั้งแต่เปิดร้าน เตรียมวัตถุดิบ ต้ม ลวก อบ สับ สุก ซู่ ซ่า จนเสิร์ฟ เหมือนกับนั่งมองแม่ทำอาหารตอนเด็ก ๆ และพออ่านจบ คุณอาจนึกถึงความตั้งใจของคนเบื้องหลังทุกครั้งที่สั่งอาหารกินสักมื้อ

ASMR 60 นาที จาก Robinhood เล่าความทุ่มเทของ ไจ๊ บะหมี่เกี๊ยวกุ้งสะพานเหลือง
ASMR 60 นาที จาก Robinhood เล่าความทุ่มเทของ ไจ๊ บะหมี่เกี๊ยวกุ้งสะพานเหลือง

แพลตฟอร์มให้พื้นที่กับร้านเล็ก

หลายคนน่าจะจำกันได้ว่าโรบินฮู้ดสร้างแรงกระเพื่อมให้คนตัวเล็กได้ทำมาค้าขายในช่วงล็อกดาวน์รอบที่ 4 จากแคมเปญ Free Delivery ที่เพิ่มตัวเลขร้านค้าในแพลตฟอร์มจาก 6 หมื่น สู่ 1 แสน ได้อย่างไม่น่าเชื่อ การเคลื่อนไหวครั้งนี้กลายเป็นความหวังในการกระจายรายได้ และส่งต่อน้ำใจซึ่งกันและกัน ที่ลูกค้าไม่ต้องเสียค่าส่ง และสามารถสั่งอาหารเพิ่มให้กับไรเดอร์ที่เข้ามายืนรอออเดอร์

เมื่อก่อนพวกเขาเคยคิดว่ายอดออเดอร์บนแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ส่วนใหญ่เกิดจากร้านดังขนาดใหญ่ แต่พอได้เข้าไปคุยกับร้านเหล่านั้น กลับรู้สึกไม่แมตช์ เพราะต้องแลกเปลี่ยนกันด้วยผลประโยชน์จากโปรโมชันออนท็อป ซึ่งพอมองไปที่ร้านเล็ก ๆ ร้านอื่น โอกาสต่อรองเหล่านี้กลับไม่มีเลย จนเกิดคำถามว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ร้านเล็ก ๆ จะเป็นที่รู้จักได้อย่างไร

“ต้นทุนชีวิตของร้านเล็ก ๆ กับร้านใหญ่ ๆ มีไม่เหมือนกัน การที่เขาต้องเสียสามสิบเปอร์เซ็นต์ให้กับค่าคอมมิชชันในการมาอยู่ในแพลตฟอร์มมันเป็นเรื่องยาก สิ่งที่เกิดขึ้น ตัวร้านค้าอาจต้องบวกราคาอาหารที่ขายออนไลน์ให้แพงกว่าหน้าร้าน หรือลดปริมาณอาหาร หน้าร้านให้หมูห้าชิ้น พอมาอยู่บนแอปฯ กลายเป็นสามชิ้น ซึ่งลูกค้าก็จะมองว่าไม่แฟร์ นั่นทำให้เราต้องหยุดวงจรนี้” 

คุณบิ๊กบอกว่าปรัชญาของโรบินฮู้ดคือ “เราอยากให้แพลตฟอร์มของเรา เป็นพื้นที่แห่งการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งไรเดอร์ที่ผ่านการเทรนพิเศษกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ ในลักษณะ Face to Face สอนมารยาทในการเทคแคร์ลูกค้า จัดเก็บแพ็กเกจจิ้งยังไงให้อาหารส่งถึงมือแล้วหน้าไม่หก ไม่คว่ำ ตัวลูกค้าเองจะได้รับประสบการณ์ที่ดีในทุก ๆ การสั่ง ที่สำคัญโรบินฮู้ดจะไม่คิดค่า GP สักเปอร์เซ็นต์ เพราะเราอยากให้โอกาสร้านเล็ก ๆ ทั้งคีออสหรือสตรีทฟู้ด ซึ่งมีโต๊ะเดียวหรือสองโต๊ะที่ไม่มีต้นทุนจ่าย” 

ASMR 60 นาที จาก Robinhood เล่าความทุ่มเทของ ไจ๊ บะหมี่เกี๊ยวกุ้งสะพานเหลือง
ASMR 60 นาที จาก Robinhood เล่าความทุ่มเทของ ไจ๊ บะหมี่เกี๊ยวกุ้งสะพานเหลือง

ทำให้ร้านเล็กเชื่อว่าโรบินฮู้ดเป็น ‘เพื่อน’

“ทำยังไงให้เขาเชื่อว่าเราเป็นเพื่อนเขาจริง ๆ และโรบินฮู้ดเหมาะกับเขา แตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่น” 

โจทย์ตั้งต้นที่คุณตูนตอบได้ในฐานะผู้ดูแลฝ่ายการตลาด สิ่งที่โรบินฮู้ดต้องคำนึงคือการซื้อใจร้านเล็ก ๆ ด้วยความจริงใจ ไม่โกหก หรือขายฝัน และยิ่งเป็นเรื่องของแบรนด์ใหม่ที่เพิ่งครบหนึ่งปีไปหมาด ๆ จึงต้องค่อย ๆ สร้างความน่าเชื่อถือ ถึงขนาดที่คุณตูนเคยเข้าไปในคลับเฮ้าส์ เพื่ออธิบายว่าการขายอาหารในโรบินฮู้ดไม่เสียอะไรเพิ่ม ก็ยังมีหลายคนไม่เชื่อ และคิดกันไปว่าวันนี้ไม่เก็บ วันหน้าต้องเก็บแน่นอน

นั่นเป็นความยากที่โรบินฮู้ดต้องเข้าสังเวียนเกมการตลาดที่พูดอย่างเดียว ไม่มีใครเชื่อแล้วในยุคนี้ การทำให้เห็นว่ามีคนได้ประโยชน์กับสิ่งนี้ต่างหากที่ยั่งยืน 

แล้วใครที่ควรได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ล่ะ
ก็ ‘ร้านค้า’ นั่นแหละ

“เราอยากลองทำคอนเทนต์แบบ Testimonial ที่เป็นมากกว่าโฆษณาที่ใช้เงินอัดเยอะ ๆ แต่ไม่น่าเชื่อถือ มาทำแบบจ่ายเงินไม่มาก แต่สร้างอิมแพคได้จริงด้วยการเอาเจ้าของร้านมาส่งเสียง ทำให้เห็นชีวิตจริงของเขาในแต่ละวันเลยว่า ร้านเขาดีจนลูกค้าอยากซื้อยังไง โดยที่ร้านค้าไม่ต้องเสียอะไรเลย แค่เราขอรบกวนเข้าไปถ่ายทำ เขาก็จะได้ทำมาร์เก็ตติ้งโดยไม่ต้องเสียเงิน นี่คือสิ่งที่เราอยากวางโพสิชันโรบินฮู้ดใหม่ที่เป็นมากกว่าแพลตฟอร์มทำมาค้าขาย แต่ช่วยคุณทำมาค้าขายให้ดีมากขึ้นด้วย”

คุณตูนพูดจบประโยค แล้วผายมือไปที่ครีเอทีฟหนุ่มอย่างคุณก้อง ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการทำสารคดีสุดพิเศษนี้ ก่อนจะขอพูดต่อว่า 

“ผมคุยกับคุณก้องว่า เวลาคนดูยูทูบแล้วมีโฆษณาเลื่อนผ่าน ใคร ๆ ก็ต้องกด Skip เพราะมันง่ายและเร็ว แต่ในชีวิตจริงของคนทำอาหาร โดนเฉพาะร้านเล็ก ๆ สิ่งที่เขาจะไม่ทำเด็ดขาดคือเลื่อนผ่านความใส่ใจ สิ่งนี้ Skip ไม่ได้ เราจึงอยากถ่ายทอดสิ่งนี้ให้ทุกคนเห็น”

ASMR 60 นาที จาก Robinhood เล่าความทุ่มเทของ ไจ๊ บะหมี่เกี๊ยวกุ้งสะพานเหลือง

สารคดี ASMR ที่ยาวที่สุดในไทย !

ทางทีมระดมสมอง แลกเปลี่ยนความคิดว่าช่วงนี้อินอะไรกัน หรืออยากนำเสนอคอนเทนต์ออกมาแบบไหนให้ทัชใจคนดูที่สุด และ ASMR เป็นหนึ่งในคำที่โผล่ออกมาแล้วทุกคนมองหน้ากันแล้วแปะมือ เพราะกำลัง Crazy!

“ช่วงนั้นผมบ้า ASMR” คุณตูนหัวเราะ “คือเราไม่ได้ฟังเฉพาะเสียงกินหรอก ฟังทุกเสียง เปิดซาวนด์ค้างไว้เพื่อให้ผ่อนคลาย แล้วรู้สึกว่ามันเป็นประสาทสัมผัสที่น่าสนใจ ซึ่งน่าเอามาปรับใช้กับแอปฯ ของเรา ปกติคนเห็นอาหารบนจอที่ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้รส แต่ ASMR มันสร้างอรรถรสให้เราอยากอาหารได้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่เสียงเคี้ยว เสียงกินอย่างเดียว แต่เสียงกระบวนการทำอาหารก็ทำให้เราหิวอย่างไม่น่าเชื่อ ดูได้จากตอนได้ยินเสียงหมูกำลังสุก แล้วมีเสียงน้ำมันเป๊าะออกมา ใครบ้างไม่หิว” เราพยักหน้าตามที่คุณตูนพูด แล้วรู้สึกหิวตามอย่างบอกไม่ถูก 

“คนรุ่นใหม่ที่ใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่หลายคนชอบ ASMR ใกล้ตัวสุดก็ลูกสาวผมที่ชอบดูช่องกินอาหารเกาหลี กินกิมจิบ้างหรือบะหมี่บ้าง ซึ่งบางช่องยอดวิวโหดแตะหลักล้าน ตอนแรกเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาดูตลอดเลย แต่พอมาลองดูดี ๆ อ๋อ มันได้อรรถรสนี่เอง” คุณบิ๊กเสริมยิ้ม ๆ 

“ผมไปเจอวิดีโอของแบรนด์เครื่องกรองน้ำแบรนด์หนึ่ง ที่ถ่ายผู้หญิงชาวแอฟริกันเดินไปเรื่อย ๆ จากหมู่บ้าน จนไปถึงแหล่งน้ำ ความยาวหนึ่งชั่วโมง เพื่อบอกว่ากว่าจะได้ดื่มน้ำ เธอใช้เวลานานแค่ไหน เลยปิ๊งไอเดียว่าการที่เราจะเปิดแช่ไว้แล้วดูจนจบในวิดีโอเกี่ยวกับร้านอาหารได้ ก็ควรจะเป็นการถ่ายยาว ๆ โดยไม่ต้องตัดต่อ แต่อะไรล่ะที่จะตรึงคนให้ดูจนจบ เพราะมันยากเหลือเกินที่คนจะดูจนจบ (หัวเราะ)

“ผมเลยคิดย้อนกลับไปตอนเด็ก ๆ ที่เรานั่งอยู่ในครัว ดูแม่ทำอาหาร หรือปัจจุบันที่เราไปร้านอาหารครัวเปิด เราสามารถเห็นจะจะว่าเขากำลังอยู่ขั้นตอนไหนแล้ว มันเพลินเพราะเสียงกระทะ เสียงสับกระเทียม เสียงนู้นนี่ที่ทำให้เราได้ลุ้น ฉะนั้นมันต้องไม่ได้งามแค่ภาพ แต่เสียงก็สำคัญ ซึ่งโจทย์คือเล่าความใส่ใจของร้านอาหาร งั้นก็เล่าชีวิตประจำวันของคนทำอาหารไปเลย ให้คนได้รู้ที่มาที่ไป แต่เปิดแช่ไว้ไม่เบื่อ ASMR จึงเป็นคำตอบ” คุณก้องเล่าจุดเริ่มต้นไอเดีย และเพิ่มเติมว่า การถ่ายโดยแทบไม่ตัดต่อหรือปรุงแต่งด้วยการใส่เพลง เป็นเรื่องยากที่จะยัดมันไว้ใน 1 ชั่วโมง หากร้านที่เลือกไม่น่าสนใจจริง ๆ หรือมีกระบวนการทำที่ไม่พิเศษ อาจทำให้ไม่ถึงตามเวลาที่กำหนด 

ดังนั้น ASMR ของโรบินฮู้ดที่มีความยาวสุดในประเทศจึงต้องใช้ร้านเก่าแก่ ที่คราฟต์อาหารแต่ละจานด้วยใจ และมีคุณภาพจริง ๆ ซึ่งก้องรับหน้าที่คัดสรรร้านอาหารในแอปฯ พร้อมลงพื้นที่ไปคุยกับเจ้าของแต่ละร้านถึงประวัติ และความดีงามต่าง ๆ จนได้ร้านที่ครบเครื่องที่สุดคือ

‘ไจ๊ บะหมี่เกี๊ยวกุ้งสะพานเหลือง’ ที่อยู่มานานกว่า 60 ปี

ASMR 60 นาที จาก Robinhood เล่าความทุ่มเทของ ไจ๊ บะหมี่เกี๊ยวกุ้งสะพานเหลือง
เบื้องหลังสารคดี ASMR 60 นาที จาก Robinhood เล่าความทุ่มเทของ ไจ๊ บะหมี่เกี๊ยวกุ้งสะพานเหลือง ร้านอาหารอายุ 60 ปี

บะหมี่เฮียไจ๊ ที่ใช้ไม้ไผ่นวดแป้งทุกตี 3 

60 นาที 60 ขั้นตอน ซีนละ 1 ขั้นตอน ขั้นตอนละ 1 นาทีโดยเฉลี่ย และ ‘เฮียไจ๊’ จาก ไจ๊ บะหมี่เกี๊ยวกุ้งสะพานเหลือง ก็มี 60 ขั้นตอนพอดิบพอดี 

ใครจะไปคิดว่าบะหมี่ชามหนึ่งจะมีขั้นตอนเยอะขนาดนี้ และในวันที่เครื่องมือเครื่องไม้พัฒนากันไปตามโลก เฮียไจ๊ยังคงความคลาสสิกซึ่งคราฟต์ด้วยมือและแรงคน ที่ครบเครื่องในแต่ละกรรมวิธี ย้อนไป 60 ปีที่แล้วเป็นอย่างไร วันนี้ยังทำแบบเดิม 

“ปกติเรากินบะหมี่ เราคงไม่ได้คิดหรอกว่า กว่าจะมาเป็นชามตรงหน้า มันผ่านขั้นตอนอะไรเยอะแยะ ซึ่งร้านเฮียไจ๊ เป็นร้านที่ครบเครื่องมาก วิธีการแทบทุกอย่างเป็นแฮนด์เมด อุปกรณ์ที่ใช้ก็ดั้งเดิม ยังตอกไข่ทีละฟอง ผสมเส้นด้วยมือ แล้วที่อันซีนสุด ๆ คือเขายังใช้ไม้ไผ่ในการนวดแป้ง โดยขึ้นไปนั่งบนไม้ไผ่ เหมือนนั่งม้ากระดกเด็กเล่น และใช้น้ำหนักตัวกดแป้งทุกวัน ทุก ๆ ตีสาม เสียงที่เราอัดมันจะดังเอี๊ยด ๆ ซึ่งมีเสน่ห์เหลือเกิน” ก้องเล่า

ความอร่อยและสูตรต้นตำหรับที่ใช้ของสดใหม่อยู่เสมอ ในวิดีโอสารคดี คุณจะได้เห็นกุ้งเน้น ๆ พร้อมเสียงห่อเกี๊ยว ปูชิ้นโตขาวนวลพร้อมเสียงนึ่ง เสียงหมูแดงที่ถูกมีดค่อย ๆ แบ่งเป็นชิ้น ๆ และแขวนไว้ในหม้ออบ จนน้ำมันในเนื้อของมันดังออกมา ‘เป๊าะ’ ผักกวางตุ้งเขียวสดถูกหั่นบนเขียงให้เสียง ‘กร๊อบ’ เสียงตอกไข่ดัง ‘แก๊ก’ หรือตอนหย่อนกระดูกหมูลงหม้อซุปร้อน ๆ (พูดแล้วน้ำลายไหล) ก็ดัง ‘จ๋อม’ อย่างที่เราคุ้นเคย ซึ่งคุณก้องบอกว่าแทบจะเอาไมค์ไปจ่อให้ใกล้ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ 

เบื้องหลังสารคดี ASMR 60 นาที จาก Robinhood เล่าความทุ่มเทของ ไจ๊ บะหมี่เกี๊ยวกุ้งสะพานเหลือง ร้านอาหารอายุ 60 ปี
เบื้องหลังสารคดี ASMR 60 นาที จาก Robinhood เล่าความทุ่มเทของ ไจ๊ บะหมี่เกี๊ยวกุ้งสะพานเหลือง ร้านอาหารอายุ 60 ปี

“เราใช้ทีมบันทึกเสียงที่ทำเสียงให้กับหนังเรื่อง ร่างทรง ที่เราต้องเลือกทีมที่ดีแบบนี้มา เพราะเราอยากให้คนดูรู้สึกว่า โอ้โห เราใส่ใจจังเลย เสียงชัด เคลียร์มาก ซึ่งกว่าจะได้แต่ละซีนก็ยากเหมือนกันนะ เพราะร้านเฮียไจ๊อยู่ในซอยที่เป็นชุมชน มอเตอร์ไซค์วิ่งผ่านไปมาตลอด บางทีกำลังจะได้แล้ว ก็ต้องเริ่มใหม่ แต่เฮียน่ารักมาก ไม่บ่นสักคำ และคอยถามตลอดว่า ดูดีหรือยัง ถ้ายัง ถ่ายอีกรอบได้นะ ซึ่งผมประทับใจมาก เหมือนเราให้ใจกันและกัน เพิ่มพลังในการทำงานได้ดี”

เราถามก้องต่อว่ากลัวไหมว่าคนจะดูไม่จบ เนื่องจากความยาวสารคดีก็นานใช่ย่อย คำตอบของเขาเซอร์ไพรส์เรา เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าไม่ใช่ทุกคนจะดูจนจบ แต่คนที่เข้ามาดู ไม่ว่าจะเลื่อนไปนาทีไหน จะต้องว้าวแน่นอน

“อย่างน้อย ๆ เรามีความแข็งแรงด้านซีน เพราะโลเคชันในร้านสวยคลาสสิก มีเอกลักษณ์แบบบ้านเก่า และการถ่ายโดยแทบไม่ตัดต่อในเวลาหนึ่งชั่วโมง แต่ให้เสียงที่ได้อรรถรส เราเชื่อว่าจะมีคนดูจนจบ เปิดดูค้างไว้ก็ช่วยให้ผ่อนคลายได้ แต่สำหรับคนที่ดูไม่จบ เราก็อยากให้เขาสนุกไปกับเรา เลยดีไซน์โดยกำกับด้านบนไว้ว่า ตอนนี้คุณมาถึงขั้นตอนที่เท่าไหร่แล้ว เหมือนเราเปลี่ยนด่านเกมไปเรื่อย ๆ แล้วจะเจอประสบการณ์ที่ต่างกันให้คนดูได้ลุ้นว่าจะเจออะไร ซึ่งแต่ละนาทีคุณจะเจอสิ่งที่เฮียไจ๊ทำไม่เหมือนกันสักอย่าง ตั้งแต่เปิดร้าน ห่อเกี๊ยว นวดแป้ง ปรุงเครื่องปรุง เสียงห่อกระดาษ ยันมีไรเดอร์มารับไปส่งของให้ลูกค้ากินที่บ้าน”

เบื้องหลังสารคดี ASMR 60 นาที จาก Robinhood เล่าความทุ่มเทของ ไจ๊ บะหมี่เกี๊ยวกุ้งสะพานเหลือง ร้านอาหารอายุ 60 ปี
เบื้องหลังสารคดี ASMR 60 นาที จาก Robinhood เล่าความทุ่มเทของ ไจ๊ บะหมี่เกี๊ยวกุ้งสะพานเหลือง ร้านอาหารอายุ 60 ปี

เสียงแห่งความตั้งใจจากใจโรบินฮู้ด

สิ่งที่โรบินฮู้ดกำลังเดินไปให้ถึง คือการสร้างโอกาสให้คนตัวเล็กในวันที่ต้นทุนสังคมของคนไทยมีไม่เท่ากัน ร้านเล็ก ๆ ไม่มีพลังมากพอจะต่อรองค่าธรรมเนียมกับทุกแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ หรือช่วยโปรโมตร้านให้อย่างจริงใจ แม้บางคนอาจลองพูดแล้ว แต่ก็ไม่มีใครได้ยิน

เสียงที่เบาบางของร้านอาหารฝีมือชั้นเยี่ยม แต่ไม่ได้รับการพูดถึง จึงควรถูกพูดให้ดัง นั่นจึงเป็นที่มาของสารคดี ASMR ชิ้นนี้ เป็นจุดกำเนิดของการไม่คิดค่า GP สักบาท และเป็นจุดเริ่มต้นที่โรบินฮู้ดยังเข้าไปสอนพ่อค้าแม่ค้าที่อยู่ในแพลตฟอร์มทำการตลาดในอนาคต 

คุณบิ๊กในฐานะที่ดูภาพรวมของโรบินฮู้ดมองว่า “การที่เราจะเป็นฟู้ดเดลิเวอรี่ที่ดีได้ ต้องไม่มองแค่เอาร้านเขามาขายอาหารบนออนไลน์อย่างเดียวแล้วจบ แต่ควรสอนเครื่องมือทำการตลาด ให้เขาได้ขยายธุรกิจด้วยตัวเอง เพื่อต่อยอดไปถึงเจเนอเรชันหลังของเขา

“โรบินฮู้ดเข้าไปสอนคอร์สออนไลน์เล็ก ๆ ว่าทำยังไงให้ขายได้ปัง ๆ เช่น การแนะนำให้ร้านเล็ก ๆ เข้าไปอยู่ในคอมมูนิตี้เพื่อพรีเซนต์โปรโมชันหรือความเด็ดดวงของร้าน อย่างบางร้านขายเนื้อ การเข้าไปอยู่ในกลุ่มคนชอบกินเนื้อในเฟซบุ๊กที่เสาะหาร้านเนื้ออร่อย ๆ ในไทย ก็เพิ่มโอกาสในการค้าขาย เป็นการใช้ทุนที่ไม่มาก แต่มีโอกาสที่คนจะมองเห็นมาก

เบื้องหลังสารคดี ASMR 60 นาที จาก Robinhood เล่าความทุ่มเทของ ไจ๊ บะหมี่เกี๊ยวกุ้งสะพานเหลือง ร้านอาหารอายุ 60 ปี

“และการซื้อซ้ำก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ตัวร้านค้าเองต้องเห็นว่าลูกค้าส่วนใหญ่ชอบอะไร เราจึงเริ่มทำ Analytic Data Report เป็นตัวเลขรายเดือน หรือสองอาทิตย์ที่เราจะสรุปการขายให้เขา เพื่อคาดเดาว่าวันรุ่งขึ้นควรเตรียมวัตถุดิบอย่างไร เช่น ร้านเฮียไจ๊ เปิดมาหกสิบปี ไม่รู้เลยว่าลูกค้าเพศไหนชอบสั่งอะไร คนส่วนใหญ่ชอบสั่งเมนูนี้มากกว่าอีกเมนู เขาก็สามารถลดประมาณการซื้อหมูจากสิบโล เหลือห้าโลได้ แทนที่จะซื้อมาแล้วของเหลือ

“ดังนั้น ความตั้งใจของโรบินฮู้ดจึงไม่ใช่แค่ให้ฟัง ASMR เฉย ๆ แต่เราอยากฉายภาพคนตัวเล็กที่สะท้อนมายังแบรนด์โรบินฮู้ดว่าเรายืนอยู่ข้างพวกเขาจริง ๆ”

สารคดีชิ้นนี้เป็นแค่เครื่องมือแรกเริ่มที่ช่วยให้ร้านค้าเล็ก ๆ ในโรบินฮู้ด ได้มีลูกค้าเพิ่มจากการฟังเสียงแล้วรู้สึกหิว เห็นภาพแล้วรู้สึกประทับใจ แต่สิ่งที่ใหญ่กว่าคือการกระตุ้นให้ทุกคนที่ได้ดู ไม่ลืมนึกถึงคนที่อยู่เบื้องหลังอาหารตรงหน้า ที่ไม่ว่าจะร้านเล็กหรือไม่เป็นที่รู้จักแค่ไหน พวกเขาก็ตั้งใจเสิร์ฟสิ่งดี ๆ ให้ลูกค้าทุกคน เหมือนกับโรบินฮู้ดที่ตั้งใจมอบความใส่ใจให้กับทุกร้านค้าเสมอมา

Writer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน

Photographer

Avatar

วรุตม์ ไฉไลพันธุ์

เมื่อก่อนเป็นช่างภาพหนังสือเดินทาง ปัจจุบันเป็นช่างภาพกักตัวครับ