And we can build this dream together
Standing strong forever
Nothing’s gonna stop us now
ฉากจบของหนัง Instant Family แล่นเข้ามาในหัวเราทันทีที่ได้รู้ว่ามีโอกาสได้คุยกับ Care for Children
มนตร์ของครอบครัวเป็นสิ่งที่มีพลังมาก ๆ และการที่เด็กคนหนึ่งจะได้เข้าไปสู่ครอบครัว ไม่ใช่แค่การได้มีที่ซุกหัวนอน แต่หมายถึงการมี ‘บ้าน’ เป็นของตัวเอง มีคนที่รู้แน่ว่ารักเรา มีโอกาสได้ลองเอาแต่ใจนิด ๆ หน่อย ๆ เหมือนเด็กคนอื่น
วันนี้จึงเป็นโอกาสพิเศษมาก ๆ ที่ โรเบิร์ต โกลเวอร์ (Robert Glover) ผู้ก่อตั้งและ Executive Director ขององค์กรการกุศลแห่งประเทศอังกฤษอย่าง ‘Care for Children’ ให้เกียรติมาคุยกับเราในคอลัมน์ Little Big People เขาเป็นทั้งคนหาครอบครัวที่อบอุ่นให้เด็ก ๆ และเป็นคนที่พาเด็กไปเป็นความชื่นใจของครอบครัว
Care for Children เป็นองค์กรการกุศลที่ทำงานในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ทำหน้าที่จัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ให้เด็ก ๆ ที่พ่อแม่เลี้ยงดูหรืออยู่ร่วมกับครอบครัวไม่ได้ โดย ‘ครอบครัวอุปถัมภ์’ นั้น หมายถึงครอบครัวที่ดูแลเด็กเป็นการชั่วคราว ไม่มีสิทธิเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองตามกฎหมาย แต่จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้เติบโตในสภาพแวดล้อมของครอบครัว

The Passionate One
เราตั้งใจเริ่มบทสนทนาด้วยคำถามเกี่ยวกับตัวเขา Robert Glover ผู้มีแพสชันในการช่วยเหลือสังคมมาก ๆ ทำไมทุกอย่างถึงดำเนินมาถึงจุดนี้ได้
โรเบิร์ตเล่าให้ฟังว่า เขาเลือกเรียนทางด้านสังคมสงเคราะห์มาโดยตรง จึงได้ศึกษาทั้งด้านจิตวิทยา สังคมวิทยา พัฒนาการของมนุษย์ และทำงานด้านสวัสดิการสังคมเด็กให้กับรัฐบาลอังกฤษ จนวันหนึ่งเขามีโอกาสบินลัดฟ้าไปเซี่ยงไฮ้ เพื่อเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลจีน
“ตอนนั้นจีนมีนโยบาย One-child Policy แต่ผมกับภรรยามีลูก ๆ ตั้ง 6 คน มันแปลกดีเหมือนกันนะ” เขาย้อนความหลังอย่างอารมณ์ดี บรรยายให้เราเห็นภาพแก๊งเด็กผมบลอนด์อาศัยในเมืองเซี่ยงไฮ้
โปรเจกต์แรกที่เขาเริ่มทำอย่างการพาเด็ก ๆ ที่มีปัญหา 500 คนในเซี่ยงไฮ้ไปอยู่กับครอบครัวนั้นประสบความสำเร็จมาก ๆ จนเขาได้โยกย้ายอีกครั้ง เพื่อไปขับเคลื่อนโครงการระดับชาติที่ปักกิ่ง และส่งเด็ก ๆ มากมายสู่ความอบอุ่นของบ้าน
“ครอบครัวคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเด็กที่กำลังเติบโต และผมเชื่อว่าสิ่งนี้จะเปลี่ยนแปลงประเทศจีนให้ดีขึ้นได้” เขาได้เล่าถึง Attachment Theory หรือ ‘ทฤษฎีความผูกพัน’ ของ John Bowlby นักจิตวิทยาชาวอังกฤษ ว่าเด็กจะผูกพันกับพ่อแม่ตามธรรมชาติ ซึ่งถือว่าเป็นกลไกในการเอาชีวิตรอด หากเด็กไม่ได้รับโอกาสใกล้ชิดแบบนั้น ปัญหาต่าง ๆ จะตามมา ไม่ว่าจะเรื่องจิตใจ ความสัมพันธ์ ไปจนถึงอัตลักษณ์ของตัวเอง จึงกล่าวได้ว่าเด็ก ๆ โดยเฉพาะที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ควรต้องเติบโตในสภาพแวดล้อมของครอบครัว
“การที่เด็กคนหนึ่งได้เข้าไปอยู่ในครอบครัวนั้น จะช่วยป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้มากมาย เด็กจะรู้อยู่แก่ใจว่าเขามีพ่อมีแม่อยู่ข้าง ๆ และคอยดูแลเอาใจใส่ พ่อแม่จะดูแลให้เด็กได้ไปโรงเรียน ได้กินอาหารครบถ้วน มีสุขภาพและอนามัยที่ดี
“จากงานวิจัย ครอบครัวคือหน่วยที่แข็งแรงมาก ประเทศที่มีครอบครัวแข็งแรงจะมีสังคมที่แข็งแรง และสังคมที่แข็งแรงจะพาไปสู่เศรษฐกิจที่ดีไปด้วย ฉะนั้น มันดีสำหรับเด็ก ๆ และสำหรับรัฐบาลด้วย”
ซึ่งองค์กรการกุศลอย่าง Care for Children ก็ก่อตั้งขึ้นมาโดยมีฐานอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เพื่อสนับสนุนการทำงานเพื่อเด็ก ๆ ของโรเบิร์ตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเรื่องการจัดการการเงินและการบริการอย่างโปร่งใส
จากนั้นทุกอย่างก็เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ

Expert’s Duty
ในประเทศอังกฤษ เด็ก ๆ กำพร้าอยู่ในความดูแลของรัฐบาล หากสิ่งที่ Care for Children ทำได้คืออยู่เคียงข้างรัฐบาล คอยสนับสนุนและช่วยเหลือในด้านระบบการฝึกอบรม
“เรามองตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบ ตั้งแต่การคัดเลือกครอบครัว ประเมินแต่ละครอบครัว ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่สำคัญมากเลยนะ ไม่ใช่ว่าทุกครอบครัวจะรับเด็กอุปถัมภ์ได้” CEO ว่า
ทีมงานต้องประเมินครอบครัวทั้งด้านสุขภาพและด้านการเงิน ต้องพูดคุยกับตัวครอบครัวเอง กับญาติ ๆ รวมถึงหัวหน้างานของแต่ละครอบครัว เมื่อแน่ใจว่ารู้จักพวกเขาอย่างดีที่สุดแล้ว จึงจะเปิดไฟเขียวอนุญาตให้ทำหน้าที่พ่อแม่อุปถัมภ์อย่างเต็มตัว
ชาว Care for Children ทำทุกอย่าง ทุ่มเทเวลาและพลังทั้งหมดที่มีไปกับงานเพื่อมนุษย์ตัวเล็ก ซึ่งแน่นอนว่านอกจากประเมินครอบครัวแล้ว ยังต้องประเมินเด็กด้วย เพราะเด็ก ๆ ในความดูแลนั้นไม่ได้มาตัวเปล่า หากมากับปัญหาจิตใจที่เป็นเหมือนสัมภาระเต็มกระเป๋า และนักสังคมสงเคราะห์จะต้องบำบัดพวกเขาด้วยความรัก ก่อนส่งไปอยู่กับครอบครัวที่เห็นแล้วว่านี่แหละ Perfect Match
“สำคัญมาก ๆ ว่าคุณจะจับคู่เด็กกับครอบครัวยังไง” โรเบิร์ตย้ำหนักแน่น “ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเด็กได้บ้านแล้ว คุณจะดูแลครอบครัวนั้นยังไงบ้างเพื่อให้แน่ใจว่าจะปกป้องคุ้มครองเด็กให้ปลอดภัยได้ ซึ่งสิ่งที่ทีมงานทำก็คือการสนับสนุนครอบครัวอย่างเต็มที่ ทั้งการให้กำลังใจ การฝึกอบรม และการตรวจสอบอย่างมีหลักการ”


Miracle Baby
“มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมจำได้แม่น ตอนนั้นเราส่งเด็กไปอยู่กับครอบครัวที่เฉิงตู เมืองทางตะวันตกของจีน น้องเขาป่วยและมีรูรั่วที่หัวใจ จนเรา ๆ นักสังคมสงเคราะห์คิดว่าน้องอาจจะไม่รอดแล้วล่ะ
“แต่พอ 3 ปีให้หลัง เรากลับไปอีกรอบ ก็ได้เห็นเด็กผู้หญิงแก้มยุ้ยสดใสในชุดบัลเลต์เต้นให้เราดู!” โรเบิร์ตเล่าอย่างตื่นเต้น “พอได้เข้าไปตรวจหัวใจที่โรงพยาบาล หมอบอกว่าหัวใจของน้องเป็นปกติดีทุกอย่าง ราวกับว่ามันรักษาตัวเองได้”
‘เด็กปาฏิหาริย์ที่ได้รับการรักษาจากความรักของแม่’ คือพาดหัวข่าวระดับประเทศในตอนนั้น
สำหรับเราที่ไม่ใช่หมอ ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ ไม่ใช่แม้แต่คนที่พอมีความรู้เรื่องสุขภาพ เราไม่รู้จริง ๆ ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร รู้แต่ว่าทีมงานและนักสังคมสงเคราะห์ย่อมชื่นฉ่ำใจเมื่อเห็นว่าเด็กที่พวกเขาทะนุถนอมมอบความปรารถนาดีให้ มีร่างกายแข็งแรงและมีชีวิตดี ๆ เต็มไปด้วยความรักอย่างที่สมควรได้รับตั้งแต่แรก
ตลอดระยะทางที่ทำมา คุณคิดว่าความยากของงานนี้คืออะไรบ้าง พอจะเล่าได้ไหม – เราถาม
“ถ้าคุณอยากช่วยเด็ก ๆ จะมีความท้าทายเข้ามาอยู่เสมอนะครับ” เขาตอบ “และเมื่อมีเรื่องวัฒนธรรมมาเกี่ยวข้อง มันก็ท้าทายเสมอด้วย มีหลายสิ่งหลายอย่างในอังกฤษที่เราได้เรียนรู้จากเอเชียเหมือนกัน”
โรเบิร์ตเล่าว่าที่อังกฤษมักส่งเด็ก 1 คนสู่ 1 ครอบครัว แต่ที่จีนมีการนำเด็ก 10 – 20 คนกระจายไปสู่ครอบครัวที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน แรก ๆ โรเบิร์ตรู้สึกไม่คุ้นเคยและค่อนไปทางต่อต้านด้วยซ้ำ แต่ต่อมาก็พบว่าแนวทางนี้ใช้ได้ดีกับประเทศจีนจริง ๆ เพราะครอบครัวเหล่านั้นสนับสนุนซึ่งกันและกันอยู่แล้ว เด็ก ๆ แต่ละบ้านจึงสนับสนุนกันและกันตามไปด้วย เรียกว่าบริบทแต่ละพื้นที่เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเป็นพิเศษ
“ตอนเริ่มทำที่ประเทศไทยก็ท้าทายสุด ๆ” จากที่คิดว่าการอบรมต่าง ๆ ที่เคยใช้ที่จีนจะใช้กับไทยได้เป็นอย่างดี โรเบิร์ตและทีมงานก็ได้รู้ว่าคิดผิด เพราะวัฒนธรรมของจีนและไทยต่างกันมาก และหยุดทุกสิ่งอย่างเพื่อเขียนเนื้อหาใหม่ให้ลงล็อกกับความไทย ๆ ของเรา
“ถ้าคุณถามใครสักคนในประเทศอังกฤษเกี่ยวกับการอุปการะเลี้ยงดูเด็ก เขาจะเข้าใจระบบกัน แต่ผมไม่คิดว่าที่ไทยเป็นแบบนั้นนะ เลยคิดว่าเราต้องทำแคมเปญสื่อระดับชาติเพื่อสื่อสารเรื่องนี้” เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา โรเบิร์ตและทีม Care for Children ได้มาจัดการประชุมที่กรุงเทพฯ โดยในงานมีทั้งทีมทำงานฝ่ายต่าง ๆ ครอบครัวอุปถัมภ์ในโครงการ ไปจนถึงอินฟลูเอนเซอร์ที่คนรู้จักกันดี พวกเขาตั้งใจใช้โอกาสนี้ในการประชาสัมพันธ์อย่างจริงจัง
ซึ่งสิ่งที่ Care for Children ให้ความสำคัญมาก ๆ อีกอย่างหนึ่ง ก็คือการสร้างทีมให้เชี่ยวชาญในงานที่ทำ ทั้งในจีน กัมพูชา เวียดนาม หรือประเทศไทย และพัฒนาแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า ‘My Family’ เพื่ออบรมผู้คนได้เร็วขึ้น ช่วยเหลือได้ทันท่วงทีมากขึ้น โดยไม่ต้องใช้คนเยอะนัก

Bigger Than Myself
ตอนนี้พวกเขาอยู่ระหว่างจัดทำสารคดีเกี่ยวกับชีวิตเด็ก 5 คนที่อยู่กับครอบครัวในเซี่ยงไฮ้และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เพื่อให้ผู้คนได้รู้ถึง ‘ความรู้สึกที่แท้จริง’ ของเด็ก ๆ ที่เติบโตในครอบครัวอุปถัมภ์ ทั้งยังกำลังทำงานในประเด็นนี้กับหลากประเทศหลากภูมิภาคในโลก
“Care for Children ใหญ่กว่าตัวผมไปไกลแล้ว ทุกวันนี้ผมก็แก่ลงทุกวัน และค่อย ๆ ส่งมอบให้คนหนุ่มสาวรับไม้ต่อในการดูแลเด็ก ๆ และดูแลครอบครัวอีกมากมายในอนาคต” โรเบิร์ตยิ้ม
“ทุก ๆ ประเทศต่างมีปัญหาสังคมของตัวเอง และต่างก็มีเหตุผลหลากหลายว่าทำไมเด็ก ๆ ถึงต้องมาอยู่ในความดูแล แต่ท้ายที่สุดแล้ว ผมและองค์กรของเราก็อยากแน่ใจว่าเด็กๆ เหล่านั้นจะได้เข้าไปอยู่ในครอบครัวอบอุ่นให้เร็วที่สุด นั่นเป็นสิ่งที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ครับ”
ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา Care for Children ทำเพื่อเด็ก ๆ มามากมาย และจะทำไปเรื่อย ๆ ทุกปี ๆ
Nothing’s gonna stop them now, Nothing’s gonna stop them now
