ย้อนเวลาไปสักสองสามปีก่อน ใครจะเชื่อว่าอาคารริมน้ำคุ้นตาชาวสี่พระยามากว่า 30 ปีจะถูกพลิกผันให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สุดคูล มีคอนเสิร์ตให้ชมฟรีทุกสัปดาห์ มีตลาดฮิปสเตอร์เก๋ๆ บนดาดฟ้า อัดแน่นไปด้วยกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อีกทั้งยังเป็นที่นำร่องการจัดแสดงศิลปะในรูปแบบดิจิทัลสุดล้ำหลากหลายโชว์ จนชื่อของ River City ติดปากคนรักศิลปะไปโดยปริยาย 

ฝันที่เป็นจริงของสาวไทเปผู้พลิกห้างร้างขายของเก่า River City Bangkok เป็นพื้นที่ศิลปะของชาวกรุง, คุณลินดา เชง (Linda Cheng) กรรมการผู้จัดการ

แถมเดือนสิงหาคมนี้ ยังสร้างหมุดหมายใหม่ของประเทศไทย ด้วยการนำเข้านิทรรศการของศิลปินระดับโลกอย่าง แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) มาจัดแสดงอย่างยิ่งใหญ่ด้วย “พวกเราทุกคนตื่นเต้นกันหมด!” คุณลินดา เชง (Linda Cheng) กรรมการผู้จัดการ River City Bangkok บอกเราว่า การจัดงานครั้งนี้เหมือนกับความฝันที่กลายเป็นจริงของเธอ “ฉันพูดเสมอว่ามันโอเคที่จะฝัน และถ้าเราทำงานหนักพอ ฝันนั้นย่อมเป็นจริง” 

ระหว่างบทสนทนา คุณลินดายิ้มแย้มและส่งพลังบวกให้เราอยู่ตลอด มันทำให้เราเริ่มเข้าใจว่า ทำไมวิสัยทัศน์ของผู้หญิงคนนี้จึงเป็นแรงขับสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของที่แห่งนี้ และสร้างการตื่นตัวให้กับวงการศิลปะวัฒนธรรมของเมืองไทยได้อย่างไม่ธรรมดา 

ฝันที่เป็นจริงของสาวไทเปผู้พลิกห้างร้างขายของเก่า River City Bangkok เป็นพื้นที่ศิลปะของชาวกรุง, คุณลินดา เชง (Linda Cheng) กรรมการผู้จัดการ

คุณลินดาเป็นชาวไต้หวันโดยกำเนิด เธอย้ายไปอยู่ที่อเมริกาตั้งแต่อายุ 12 ปี จนจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัย UCLA จากนั้นเธอจึงตัดสินใจย้ายมาที่กรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2532 และก่อนหน้าที่จะมารับตำแหน่งที่ River City เธอทำงานฝ่ายการสื่อสารและการตลาดที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล 

“ตอบตามตรงว่าในตอนแรกฉันไม่ได้รู้จัก River City ดีเท่าไร” คุณลินดาเล่า “ฉันรักเสียงดนตรีและมีความสุขมากกับการทำงานสามปีกว่าที่มหิดล ซึ่งจะว่าไปงานนั้นก็เป็นโอกาสที่ได้มาอย่างบังเอิญ จนฉันเชื่อเสมอว่ามีกระแสเรียกบางอย่างให้ฉันโปรโมตคุณค่าของศิลปะกับเยาวชน ตอนที่แมวมองจากบริษัทจัดหางานติดต่อฉันมา ฉันคิดว่าถ้าเป็นการทำงานกับพื้นที่ในเชิงพาณิชย์อย่างเดียวฉันคงปฏิเสธ แต่เมื่อผู้บริหารของที่นี่เรียกไปคุยแล้วบอกจุดประสงค์ว่า ต้องการจะเปลี่ยน River City ให้เป็นแหล่งรวมของศิลปวัฒนธรรม ฉันจึงคิดว่า โอเค นี่แหละปณิธานของฉัน ฉันจะลองดูสักตั้ง”

ย้อนไปตอนแรกที่คุณลินด้าได้เข้ามาดูพื้นที่เมื่อ ค.ศ. 2016 ตอนนั้น River City กำลังบูรณะซ่อนแซมกายภาพตัวอาคารยกใหญ่ เธอทราบว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่ซื้อขายของหมู่นักสะสมของเก่าชั้นเลิศ แต่ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่บางส่วนที่ถูกปล่อยร้าง และมีผู้เช่าร้านที่ผสมปนเปกันไปหมด “มันทำให้ฉันตั้งคำถามว่า ที่นี่คืออะไร ต้องการจะนำเสนออะไรกันแน่ ยิ่งเมื่อเห็นสโลแกนที่ว่า ‘Anchor of arts and antiques’ แต่ฉันเห็นแค่ Antique (ของเก่า) นะ แต่กลับไม่เห็น Art มากเท่าไร ตั้งแต่นั้นมาฉันเลยเริ่มหาวิธีนำเสนอศิลปะในพื้นที่นี้มากขึ้น แต่ไม่ใช่ศิลปะแบบไหนก็ได้นะ เราต้องการศิลปะร่วมสมัย ศิลปะที่พูดกับคนรุ่นใหม่” 

ฝันที่เป็นจริงของสาวไทเปผู้พลิกห้างร้างขายของเก่า River City Bangkok เป็นพื้นที่ศิลปะของชาวกรุง, คุณลินดา เชง (Linda Cheng) กรรมการผู้จัดการ
ฝันที่เป็นจริงของสาวไทเปผู้พลิกห้างร้างขายของเก่า River City Bangkok เป็นพื้นที่ศิลปะของชาวกรุง, คุณลินดา เชง (Linda Cheng) กรรมการผู้จัดการ

ทำไมต้องเริ่มจากคนรุ่นใหม่-เราถามเธอ

“ลูกๆ ของฉันเติบโตในกรุงเทพฯ ฉันคิดเสมอว่าจะพาพวกเขาไปเที่ยวที่ไหนดี และฉันก็ไม่อยากพาพวกเขาไปแค่ห้างสรรพสินค้าเท่านั้น ด้วยความที่ฉันโตที่ไต้หวันและไปใช้ชีวิตที่อเมริกา ฉันได้มีโอกาสไปแกลเลอรี่ พิพิธภัณฑ์ และคอนเสิร์ตบ่อยมาก แต่ที่กรุงเทพฯ สิ่งเหล่านี้เข้าถึงได้ค่อนข้างยาก ฉันจึงมองว่านี่เป็นโอกาสที่จะสร้างพื้นที่สำหรับครอบครัว ที่จะพาลูกหลาน พาคุณย่าคุณยาย มาใช้เวลาด้วยกัน” คุณลินดาขยายความ 

“วัยเด็กถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะเวลาที่พวกเขาได้ซึมซับศิลปะ มันจะมีอิทธิพลกับเขาไปตลอด อย่างตัวฉันเอง ตอนเจ็ดขวบพ่อแม่ของฉันซื้อเปียโนหลังใหม่ให้ฉัน ฉันยังจำได้แม่นว่าพวกท่านวางปฏิทินที่มีรูปเด็กสาวกำลังเล่นเปียโนไว้ข้างๆ มัน รูปนั้นยังติดอยู่ในใจฉันมาถึงทุกวันนี้” 

ฝันที่เป็นจริงของสาวไทเปผู้พลิกห้างร้างขายของเก่า River City Bangkok เป็นพื้นที่ศิลปะของชาวกรุง, คุณลินดา เชง (Linda Cheng) กรรมการผู้จัดการ

เมื่อเริ่มมีเป้าหมายในใจ คุณลินดาก็เริ่มจัดสรรพื้นที่ ขอย้ายผู้เช่าบางส่วนเพื่อให้ได้พื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมตามที่เธอตั้งใจ 

“ตอนแรกมีกระแสต่อต้านเยอะมาก เขาบอกว่า River City ไม่จัดนิทรรศการนะ แต่ฉันก็ขอร้องให้เราได้ลอง โดยโชว์แรกที่เราเอาเข้ามานั้นมาจากพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งประเทศไต้หวัน (National Palace Museum) ที่ไทเป จากบ้านเกิดของฉันเอง ซึ่งปกติแล้วมิวเซียมมักจะไม่ทำงานกับองค์กรที่ไม่ใช่หน่วยงานระดับชาติ แต่ฉันพาผู้บริหารของที่นี้ไปตื๊ออยู่หลายรอบ จนในที่สุดก็ได้รับอนุญาตให้ยืมงานมาจัดแสดง โดยเราเป็นบริษัทเอกชนบริษัทแรกที่ได้จัดงานนี้” 

งานที่คุณลินดาพูดถึงนั้นคือนิทรรศการมัลติมีเดีย ‘Up the River During Qingming’ เป็นการจัดแสดงภาพวาดและศิลปะวัตถุจากสมัยราชวงศ์ชิงของจีน ผ่านเทคโนโลยีต่างๆ เช่น Virtual Reality ที่พาผู้ชมเข้าไปในงานของจิตรกรเพื่อชมทิวทัศน์ในฤดูใบไม้ร่วงในเมืองจี้หนาน แม่น้ำฮวงโห การฉายภาพยนตร์ว่าด้วยวิวัฒนาการของอักษรจีน หรือภาพไฮไลต์ ‘Up the River During Qingming’ ก็ถูกฉายบนโปรเจกเตอร์ความละเอียดสูง ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของตัวละครผ่านภาพเคลื่อนไหวและการสัมผัสจอแบบมัลติทัช ฯลฯ 

สิ่งนี้ชวนให้เราตั้งคำถามว่า ทำไมคุณลินดาจึงเลือกจะสื่อสารงานศิลปะโบราณผ่านดิจิทัลตั้งแต่งานแรก

ฝันที่เป็นจริงของสาวไทเปผู้พลิกห้างร้างขายของเก่า River City Bangkok เป็นพื้นที่ศิลปะของชาวกรุง, คุณลินดา เชง (Linda Cheng) กรรมการผู้จัดการ
ฝันที่เป็นจริงของสาวไทเปผู้พลิกห้างร้างขายของเก่า River City Bangkok เป็นพื้นที่ศิลปะของชาวกรุง, คุณลินดา เชง (Linda Cheng) กรรมการผู้จัดการ

“เพราะเราไม่มีเงินพอที่จะเอางานจริงมาน่ะสิ!” เธอหัวเราะเสียงดัง แล้วบอกว่า อันที่จริงงานหลายๆ ชิ้นที่นำมานั้น ของจริงเป็นสมบัติแห่งชาติของไต้หวัน จึงนำออกมาจัดแสดงนอกประเทศไม่ได้ 

“นอกจากนี้ยังมีเรื่องประกัน การขนส่ง และอื่นๆ อีก แต่ที่สำคัญ ฉันคิดว่างานดิจิทัลดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับมีเดียเหล่านี้อยู่แล้ว มีปฏิสัมพันธ์กับมัน เข้าถึงมันได้ง่ายขึ้น” 

ในทางกลับกัน เรายังมีคำถามอีกว่า การใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารรูปแบบนี้ มันกีดกันคนบางกลุ่มออกไปรึเปล่า 

“แน่นอนว่าเราตอบโจทย์ทุกคนในเวลาเดียวกันไม่ได้ แต่สิ่งที่ฉันคิดว่าสำคัญ คือต้องสร้างบทสนทนาไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าบางประเด็นจะอื้อฉาว อาจจะมีคนบางส่วนไม่ชอบ แต่พวกเขาก็พูดถึงมัน ต่อยอดวิเคราะห์วิจารณ์ มันกลับมาช่วยโปรโมตศิลปะนะ” เธอกล่าว

ฝันที่เป็นจริงของสาวไทเปผู้พลิกห้างร้างขายของเก่า River City Bangkok เป็นพื้นที่ศิลปะของชาวกรุง, คุณลินดา เชง (Linda Cheng) กรรมการผู้จัดการ

งานถัดมาของ River City ก็กลายเป็นกระแสที่คนพูดถึงเป็นวงกว้างจริงๆ นั่นคืองาน ‘From Monet to Kandinsky’ ที่โชว์ภาพวาดจากมาสเตอร์ 16 คน ในประวัติศาสตร์ช่วงเปลี่ยนผ่านปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 กว่า 1,500 ชิ้น ฉายรูปแบบมัลติมีเดีย ควบคู่กับเสียงเพลง โดยใช้โปรเจกเตอร์สูงกว่า 3 เมตร ล้อมรอบผู้ชมแบบ 360 องศา เรียกได้ว่าเป็นรูปแบบที่เมืองไทยไม่เคยจัดแสดงมาก่อน 

“ต้องเกริ่นก่อนว่าฉันมีความผูกพันอยากทำงานกับเยอรมนี ด้วยความที่ฉันเองเคยนำวงชั้นนำของโลก Berlin Philharmonic Orchestra มาเล่นที่มหิดลแล้วประสบความสำเร็จล้นหลาม เมื่อเห็นว่านิทรรศการ From Monet to Kandinsky จัดแสดงอยู่ที่เบอร์ลิน ฉันจึงคิดในใจว่ามันน่าจะเหมาะกับเมืองไทยมาก เลยประสานไปทางสถาบัน Goethe จนได้ติดต่อกับกลุ่มผู้สร้างนิทรรศการชุดนี้ในที่สุด” 

ฝันที่เป็นจริงของสาวไทเปผู้พลิกห้างร้างขายของเก่า River City Bangkok เป็นพื้นที่ศิลปะของชาวกรุง, คุณลินดา เชง (Linda Cheng) กรรมการผู้จัดการ

คุณลินดาเล่าว่า เป็นความบังเอิญที่หนึ่งในโปรดิวเซอร์ของโชว์นั้นกำลังมาพักร้อนที่เมืองไทยพอดี เขาเลยได้เข้ามาชมพื้นที่และพูดคุยรายละเอียดกับเธอ 

“เราต้องพยายามมากที่จะให้เขาเชื่อใจ แถมงบในการจัดเราก็มีจำกัด สุดท้ายโชว์นั้นทำลายสถิติด้วยผู้ชมกว่าหกหมื่นคนในช่วงสามเดือน” การประสบความสำเร็จชนิดเหนือความคาดหมายครั้งนั้น สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริหารและตัวเธอเอง ให้เดินหน้าทำงานสานฝันกันต่อ

จากนั้นคุณลินดาจึงเดินหน้าสู่โปรเจกต์ที่ใหญ่ขึ้นไปอีก ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เธอเน้นย้ำมาก คือคอนเนกชัน หรือการมีเครือข่ายและพันธมิตร เธอเล่าให้ฟังว่า เธอได้ไปดูนิทรรศการของเจ้าพ่อวงการป๊อปอาร์ต อย่างแอนดี้ วอร์ฮอล ที่ไต้หวัน ตรงทางออกของโชว์มีรายชื่อและช่องทางติดต่อคนที่จัดงานไว้เรียบร้อย แต่เมื่อเธอส่งอีเมลไป ปรากฏว่าไม่มีใครตอบกลับเลย 

“ตอนนั้นฉันกระวนกระวายมาก จนต้องไปติดต่อกับทาง National Palace museum อีกครั้ง ซึ่งทางนั้นก็ให้ความกรุณาแนะนำฉันกับผู้จัดงานของแอนดี้ เมื่อพวกเขาทราบว่าเราเคยทำงานให้มิวเซียมระดับชาติ เขาถึงจะยินดีคุยกับฉัน เราต้องจ่ายมัดจำราคาสูงลิ่วล่วงหน้าเป็นปีเลยนะ!” 

ฝันที่เป็นจริงของสาวไทเปผู้พลิกห้างร้างขายของเก่า River City Bangkok เป็นพื้นที่ศิลปะของชาวกรุง, คุณลินดา เชง (Linda Cheng) กรรมการผู้จัดการ
ฝันที่เป็นจริงของสาวไทเปผู้พลิกห้างร้างขายของเก่า River City Bangkok เป็นพื้นที่ศิลปะของชาวกรุง, คุณลินดา เชง (Linda Cheng) กรรมการผู้จัดการ

คุณลินดาบอกว่า การทำงานร่วมกับองค์กรและสถาบันอื่นๆ ถือเป็นหนึ่งในงานหลักของเธอ “นี่ฉันเพิ่งไปทานข้าวกับทางสถานทูตสหรัฐฯ ในตอนแรกพวกเขาจะให้นักวิชาการจาก The Andy Warhol Museum ที่พิตต์สเบิร์ก (Pittsburgh) เพื่อมาจัดอบรมควบคู่ไปกับนิทรรศการ แต่เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้เราเลือกที่จะเปลี่ยนเป็นออนไลน์แทน นอกจากนี้ พวกเขายังจะช่วยทำสื่อการศึกษาอื่นๆ อีกด้วย บอกเลยว่าถ้าเป็นงานด้านการศึกษาละก็ มีหลายๆ หน่วยงานที่ยินดีจะยื่นมือเข้ามาช่วย”

“ทำไม River City ถึงต้องมีพันธกิจด้านการศึกษาด้วย” 

เธอหยุดคิดอยู่ครู่หนึ่งแล้วจึงตอบ “ใช่ล่ะ ที่ที่นี่เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ แต่เราก็ต้องคิดถึงโจทย์ของเราที่ไม่ใช่แค่เรื่องกำไรขาดทุน บางครั้งในสังคมเราก็มีหน้าที่ของเรา คุณรู้ไหม ตอนที่เราเปิดแกลเลอรี่ภาพถ่ายของเรา ภาพเซ็ตแรกที่เราเลือกมานำเสนอเป็นนิทรรศการชื่อ ‘Exodus’ ว่าด้วยการอพยพของชาวโรฮีนจา 

“มันไม่ใช่เซ็ตภาพที่ดูง่ายหรือขายดี แต่ฉันคิดว่าเป็นประเด็นที่สำคัญที่ต้องนำเสนอ ฉันโชคดีมากที่มีหัวหน้าที่เข้าใจและอนุญาตให้ฉันทำสิ่งเหล่านี้ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความสำเร็จเชิงพาณิชย์และพันธกิจที่ใหญ่กว่านั้น” คุณลินดายิ้ม 

“ฉันไม่ได้จะบอกว่าเรามีคุณธรรมสูงส่งหรอกนะ แต่อย่างน้อยเราก็ควรทำสิ่งที่เราทำได้ การที่จะพัฒนาประเทศให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ฉันว่าต้องเราให้ความสำคัญกับศิลปะวัฒนธรรม ให้ความสำคัญกับจิตวิญญาณของคน” 

เราจะเห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านมานี้ River City พยายามที่จะเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนมากขึ้น ด้วยการเริ่มบูรณะพื้นที่โดยรอบ ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น เปิดพื้นที่ให้คนเข้ามามีส่วนร่วม มาฟังคอนเสิร์ตฟรี 

“มีหลายคนที่ไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเอง ฉันบอกพวกเขาว่า เราระลึกถึงอดีตได้ แต่เราใช้ชีวิตอยู่ในอดีตไม่ได้ เราต้องไปข้างหน้าต่อ และอนาคตของเราคือคนรุ่นใหม่” 

ฝันที่เป็นจริงของสาวไทเปผู้พลิกห้างร้างขายของเก่า River City Bangkok เป็นพื้นที่ศิลปะของชาวกรุง, คุณลินดา เชง (Linda Cheng) กรรมการผู้จัดการ
ฝันที่เป็นจริงของสาวไทเปผู้พลิกห้างร้างขายของเก่า River City Bangkok เป็นพื้นที่ศิลปะของชาวกรุง, คุณลินดา เชง (Linda Cheng) กรรมการผู้จัดการ

อย่างไรก็ดี สำหรับงาน ‘Andy Warhol : Pop art’ คุณลินดาบอกว่า เธอไม่ได้มองเป้าที่ผู้ชมรุ่นใหม่อย่างเดียวเท่านั้น แต่เธอผู้คนทุกรุ่นวัย ไปจนถึงคนที่อาจจะไม่รู้จักแอนดี้ วอร์ฮอล มาก่อน ได้ตื่นเต้นกับการพางานออริจินัลของศิลปินระดับโลกกว่าร้อยชิ้นมาจัดแสดง โดยทั้งหมดมาจากคอลเลกชันส่วนตัวของ จันฟรังโก โรซินี (Gianfranco Rosini) นักสะสมผลงานศิลปะชาวอิตาลี แฟนตัวยงของแอนดี้ วอร์ฮอล

“มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เริ่มจากตัวสถานที่ของเราเอง เราต้องจัดระบบรักษาความปลอดภัยตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ต้องลงทุนเพิ่มกับการติดตั้งระบบควบคุมอุณภูมิและความชื้นมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการขนส่งที่มีเจ้า COVID-19 มาสร้างความยุ่งยากขึ้นไปอีก งานนี้ถูกเลื่อนมาแล้วสองครั้ง บอกเลยว่าตลอดไฟลต์ที่งานถูกลำเลียงมาจากมิลานสู่กรุงเทพฯ ฉันแทบนอนไม่หลับ”

เท่าที่พูดคุยกันมา เราอดทึ่งกับความกล้าหาญของคุณลินดาไม่ได้ ทั้งในการตัดสินใจทำโปรเจกต์ใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และความมุ่งมั่นของเธอในการนำศิลปะไปสู่ชีวิตประจำวันของทุกคน เมื่อเราพูดกับเธอเรื่องนี้ เธอยอมรับว่า การเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับหน่วยงานใด ทำให้เธอกล้าที่จะตัดสินใจหลายๆ อย่างนอกกรอบ

“ฉันคิดว่าบางครั้งเราต้อง Fearless ฉันบอกตัวเองตลอดว่า ไม่ต้องกลัว ลองถามดู สิ่งที่แย่ที่สุดที่จะเกิดก็คือเขาปฏิเสธคุณ” คุณลินดาตอบสบายๆ 

“คนมักบอกว่าฉันมองโลกในแง่ดี แต่ก็นั่นแหละ Life is never guaranteed to be safe. So we just have to make good use of yourself.”

ก่อนจากกัน เราแวะไปชมนิทรรศการแอนดี้ วอร์ฮอล ที่เธอภูมิใจนำเสนอ ในห้องจัดแสดงสีสันฉูดฉาด ด้านหน้าภาพพิมพ์รูปขวดโค้ก เธอบอกเราว่า เหตุผลที่เธอเลือกนำงานของวอร์ฮอลมาจัดแสดงนั้น นอกจากเพื่อความหลากหลายไม่จำเจกับงานนิทรรศการก่อนๆ งานป๊อปอาร์ตยังมีนัยที่สำคัญบางอย่างสำหรับเธอด้วย 

“คุณจำได้ไหมที่วอร์ฮอลพูดเรื่องโค้ก เขาบอกว่า พระราชินีก็เสวยพระสุธารสโคคาโคล่าเดียวกันกับฉันและคุณ เขาถึงเลือกที่จะนำโคลาโคล่ามาทำงานศิลปะ มันไร้ซึ่งชนชั้น และทุกคนเข้าถึงได้ ฉันว่าสิ่งนี้มันยอดเยี่ยมมาก” เธอยิ้มกว้าง 

“ศิลปะมันควรเป็นของที่เข้าถึงได้สำหรับทุกๆ คน”

ฝันที่เป็นจริงของสาวไทเปผู้พลิกห้างร้างขายของเก่า River City Bangkok เป็นพื้นที่ศิลปะของชาวกรุง, คุณลินดา เชง (Linda Cheng) กรรมการผู้จัดการ

ANDY WARHOL: POP ART เปิดให้เข้าชมแล้วตั้งแต่วันนี้ – 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ที่ RCB Galleria ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ซื้อบัตรได้ที่นี่ หรือที่ RCB Gallery Shop ชั้น 1

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล