3 พฤศจิกายน 2022
4 K

ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช เป็นศิลปินร่วมสมัยชาวไทยที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งในระดับโลก

งานของเขาเน้นการสร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างผู้ชมกับสถานที่ท่ามกลางบรรยากาศที่เขาสร้างขึ้น

งานชิ้นที่สร้างชื่อให้เขาอย่างมาก และทำซ้ำหลายรอบเหลือเกินในช่วงเวลา 20 ปี คือ ‘Pad Thai’ ที่เขาทำผัดไทยให้ชมและชิมในแกลเลอรี่ที่นิวยอร์ก – นั่นแหละงานศิลปะของเขา

ในงานเวนิสเบียนนาเล่ เขาก็ทำก๋วยเตี๋ยวเรือในเรือสเตนเลส ล้อกับประวัติศาสตร์เส้นก๋วยเตี๋ยวของที่มาร์โคโปโลรับจากจีนมาพัฒนาเป็นมักกะโรนีและสปาเก็ตตี้

แล้วเขาก็ยังแจกอาหารหลายเมนู เช่น แกงกะหรี่ แกงมัสมั่น และต้มข่าไก่ ในหลายงาน หลายประเทศ เพื่อเล่าหลายเรื่องราว

44 มุมมองในการทำงานศิลปะและใช้ชีวิตของ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ศิลปินไทยที่ดังระดับโลก

ศิลปินวัย 61 ปีคนนี้ เกิดที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา เพราะคุณพ่อของเขาเป็นนักการทูตที่ไปประจำที่ประเทศอาร์เจนตินา พออายุ 3 ขวบกลับมาอยู่เมืองไทย ตอนอายุ 7 ขวบย้ายตามคุณพ่อไปเอธิโอเปีย กลับมาอยู่ไทย ย้ายไปเรียนและจบปริญญาตรีด้านศิลปะที่แคนาดา ต่อโทด้านศิลปะที่นิวยอร์ก แสดงงานเดี่ยวครั้งแรกตอนอายุ 26 ปีที่แคนาดา 2 ปีต่อมาก็ได้เข้าสู่การแสดงงานในยุโรปและอเมริกา จากนั้นก็ตระเวนแสดงงานทั่วโลก ปัจจุบันเขาเป็นอาจารย์สอนศิลปะในหลายมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา แล้วก็ทำงานให้แกลเลอรี่หลายแห่ง

ล่าสุด เขาเดินทางกลับมาประเทศไทยเพื่อร่วมงานแถลงข่าวเทศกาลศิลปะ Thailand Biennale ซึ่งจะจัดที่จังหวัดเชียงรายปลาย พ.ศ. 2566 โดยเขารับหน้าที่เป็นหนึ่งในภัณฑารักษ์ รอบนี้คุณฤกษ์ฤทธิ์อยู่ที่ประเทศไทยแค่ช่วงสั้น ๆ แต่ก็ยินดีแทรกการนัดหมายกับ The Cloud เข้าไปในตารางงานที่แน่นเอี้ยดทุกวัน

44 มุมมองในการทำงานศิลปะและใช้ชีวิตของ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ศิลปินไทยที่ดังระดับโลก

เรานัดคุยกันใน Ver Gallery ของเขาที่ซอยนราธิวาสราชครินทร์ 22 เป็นการคุยกันในแกลเลอรี่ที่ชวนให้คิดว่า ถ้าการทำผัดไทยในแกลเลอรี่เป็นงานศิลปะ แล้วการนั่งคุยกันเรื่องศิลปะในแกลเลอรี่ล่ะ จะนับว่าเป็นงานศิลปะไหม

* ศิลปินคือบุคคลที่เชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ ให้เวลากับสิ่งที่ทำเองทำอยู่อย่างเต็มที่ ทำอะไรก็ได้

* ศิลปินควรเป็นคนที่มีเวลาเยอะ ๆ

* ตอนนี้ผมยังไม่รู้ตัวเลยว่า ตัวเองเป็นศิลปิน

* ศิลปะคือโอกาสที่จะเปิดทุกอย่าง เปิดชีวิต เปิดหัวใจ เปิดสมอง เปิดโลก

* ศิลปะไม่มีการสร้างเส้นแบ่ง ทุกอย่างเป็นศิลปะได้

* แกลเลอรี่คือพื้นที่ที่ศิลปินนำความคิดจากในหัวมาวางไว้ เพื่อให้ตัวเองได้พิจารณา และเปิดให้มีความคิดเห็นของคนอื่นเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนด้วย

* ถ้าแกลเลอรี่อยู่ในบริบทของความคิดทางศิลปะ ก็เป็นแบบหนึ่ง ถ้าเปลี่ยนบริบท ที่ไหนก็เป็นแกลเลอรี่ได้ จะมีมิวเซียมในกระเป๋า มิวเซียมในตู้เย็นก็ได้

44 มุมมองในการทำงานศิลปะและใช้ชีวิตของ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ศิลปินไทยที่ดังระดับโลก

* คิวเรเตอร์ที่ดีต้องนำมุมมองที่แตกต่างกันมารวมกัน แล้วนำเสนออะไรบางอย่างที่ทำให้คนดูเกิดความคิดเพิ่ม

* วิธีการทำงานของเราคือ ใช้เวลากับพื้นที่หรือบริบทตรงนั้น หรือกับคนที่อยู่รอบ ๆ ที่นั่น แล้วเราก็สร้างอะไรบางอย่างขึ้นมาโดยประสบการณ์

* เวลาผมเป็นคิวเรเตอร์ ผมต้องการสร้างภาพให้เห็นว่า ประสบการณ์ทางศิลปะไม่ได้อยู่แค่ในห้องสีขาว อยู่ข้างนอกได้ อยู่บนป้ายรถเมล์ก็ได้ เป็นป้าย เป็นธง เป็นน้ำก็ได้

* คนส่วนมากที่ไม่มีประสบการณ์กับงานศิลปะ เมื่อมาเจองานศิลปะจะกลัว ไม่อยากตีความ เพราะกลัวผิด ศิลปินส่วนมากตั้งความคิดไว้กว้าง ๆ ให้คนตีความได้หลายแบบ ไม่ต้องกลัว จะตีความยังไงก็ได้ ด้วยการใช้ประสบการณ์ของตัวเอง

* การแสดงงานคือกระบวนการของการออกความคิดเห็น การแสดงงานมีหลายวิธี เป็นอะไรก็ได้ ไม่ต้องติดผนังหรือวางในห้องก็ได้ เราจะแสดงงานให้เห็นหรือไม่เห็นก็ได้ ถ้าเราเดินผ่านคนบนถนนแล้วยิ้มหรือไม่ยิ้มให้เขา เขาก็จะมีปฏิกริยาบางอย่าง นี่ก็เป็นการแสดงงาน

* เรายอมรับว่ามีการค้าขายงานศิลปะ แต่เราเป็นศิลปินที่ต่อต้านความคิดนี้ เวลาทำงานเราไม่ได้คิดว่าต้องอยู่ในรูปแบบบางอย่างเพื่อให้ค้าขายได้ เหมือนเราทำกับข้าวให้เพื่อนกินหรือทำเพื่อขาย ถ้าจะทำขายมันต้องมีคุณภาพบางอย่าง อุปกรณ์บางอย่าง วิธีการนำเสนอบางอย่าง แต่เราคิดว่าเราทำกับข้าวให้เพื่อนกิน

* คนที่เก็บงานเรา เราหวังว่าเขาจะซื้อความคิดของเรา งานแบบผัดไทย มันไม่ใช่การเก็บแบบปกติ ถ้าพิพิธภัณฑ์ซื้อไป เขาต้องเอาทุกอย่างมาใช้ต่อ เหมือนเราขายครัวคุณก็ต้องใช้ครัว ไม่ใช่วางเฉย ๆ

* ความคิดทางตะวันตกจะทำทุกอย่างให้เป็นมูลค่า เขาเก็บสะสมเพราะมันมีมูลค่าทางข้อมูลหรือทางทรัพย์สิน เก็บเป็นมรดกของเขา เราอธิบายให้เขาฟังว่า คุณเก็บพระพุทธรูปเราไป คุณไม่เข้าใจว่าเราใช้พระพุทธรูปยังไง พระพุทธรูปมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตเรายังไง เราต้องการให้คุณเข้าใจว่า คุณต้องใช้พระพุทธรูปนะ ไม่ใช่เอามาวางในตู้เฉย ๆ แล้วมองเป็นประติมากรรม เรามองเห็นพระพุทธรูปเป็นความคิดทางพุทธที่ช่วยเตือนสติ เราต้องการให้ทางตะวันตกเข้าใจว่า คุณไม่เข้าใจนะว่า กำลังเก็บความคิด หรือเก็บมูลค่าบางอย่าง

* เราทำงานเพื่อให้รู้จักตัวเองมากขึ้น เพราะเราจะมีเวลาคิดมากขึ้น เปิดพื้นที่ได้คิดพิจารณา ตั้งคำถาม หรือพยายามตอบโจทย์พื้นที่ เราต้องคุยกับตัวเองก่อน ทำความเข้าใจตัวเองก่อน

* ทุกอย่างที่เป็นเราคืองาน ทุกอย่างที่เป็นงานก็คือสิ่งที่เราเป็น มันคือสิ่งเดียวกัน

ความคิดที่มีต่อวงการศิลปะและชีวิตมนุษย์ของ ‘ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช’ ศิลปินร่วมสมัยระดับโลกที่สร้างงานแบบเน้นประสบการณ์

* คนเก็บงานศิลปะที่เราหวัง คือคนที่เข้าใจความคิดของศิลปินโดยการเอางานไปดูแล ไปใช้ แล้วก็อาจจะสืบทอดต่อไป อย่างเช่น เปิดให้คนอื่นมาดู หรือยกให้สถานที่สาธารณะเช่นพิพิธภัณฑ์ เป็นคนที่สะสมความคิดความเข้าใจบางอย่าง

* คนเก็บงานศิลปะบางคนก็สะสมสิ่งที่เขาไม่เข้าใจ แต่สะสมเพราะอยากเข้าใจมัน อยากใช้เวลากับมัน

* เวลาคนบอกว่าดูงานไม่รู้เรื่อง อาจจะเป็นเรื่องที่เขาไม่ต้องการรู้ หรือไม่มีเวลาที่จะให้ความรู้กับมัน

* แต่ที่เขาพูดออกมาได้ว่า ดูไม่รู้เรื่อง คือเขารู้ว่า ไม่รู้เรื่อง แต่มันอาจจะไม่ใช่เรื่องของเขา เขาก็ไม่ตั้งใจจะรู้ ไม่ได้ผิดอะไรเลย

* ถ้าอยากดูงานศิลปะรู้เรื่องเร็วขึ้น ก็ใส่ใจกับข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ ตั้งคำถามเยอะๆ

* เราอยากให้คนดูพยายามเข้าใจด้วยตัวเองก่อนจะไปแสวงหาคำตอบจากคนอื่น

* เทศกาลศิลปะคือผลประโยชน์ แล้วแต่ว่าผลประโยชน์นั้นคืออะไร ผลประโยชน์ของศิลปินคือมีโอกาสได้ทำงานกับกลุ่มชนที่กว้างกว่าปกติ ผลประโยชน์กับผู้ชมคือได้ดู ได้คิด ได้สนทนา

* ผมชอบดูประกวดสุนัข ดูว่าทำไมถึงถึงรางวัลตัวนี้แทนที่จะเป็นตัวนั้น มันก็เหมือนการตัดสินงานศิลปะ ถ้าคุณแยกแยะความแตกต่างระหว่างสุนัขตัวนี้กับตัวนั้นได้ก็อาจจะให้รางวัลได้ เราบอกว่าภาพหรือวัตถุบางอย่างมีความเท่าเทียมกัน แต่มันไม่เคยเท่าเทียมกันเลย สุนัข 2 ตัวไม่เหมือนกัน ประสบการณ์ของมันก็ไม่เหมือนกัน

* การสร้างรางวัล การประกวด ส่วนหนึ่งเป็นการสร้างความเข้าใจในระดับหนึ่ง แล้วก็เป็นการสร้างมูลค่าในระดับหนึ่ง

* ผมไม่มีรางวัลที่อยากได้ เพราะไม่ได้มีเป้าหมายว่าอยากได้รางวัล

* ถ้าผมต้องให้รางวัล ผมจะให้กับคนที่ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด แต่มีความคิดมากที่สุด

* ประสบการณ์คือทุกอย่างที่เราเผชิญทุกเวลา ทั้งตอนมีสตินึกขึ้นได้ หรือตอนนึกขึ้นได้ว่าไม่มีสติ

* ถ้าเราใช้ประสบการณ์ที่เรามีเพื่อเข้าใจตัวเอง เราก็จะเข้าใจว่าคนอื่นมีประสบการณ์ต่างจากเรา ความต่างนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องยอมรับ ต้องอยู่กับมัน ต้องเข้าใจว่ามีความต่าง และต้องให้พื้นที่กับความต่าง

* ในงานของเรา เราไม่ได้มองอาหาร แต่เรามองการอยู่กับอาหาร การใช้เวลากับอาหาร หรือการใช้เวลาด้วยกันกับอาหาร

* มนุษย์กับการใช้เวลากับอาหารเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจ

* โลกคือชีวิตหนึ่ง เราคือปรสิตของโลก เราต้องเข้าใจว่าเราจะใช้โลกยังไงให้เราอยู่รอด โดยที่เราไม่ทำลายมากเกินไป

ความคิดที่มีต่อวงการศิลปะและชีวิตมนุษย์ของ ‘ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช’ ศิลปินร่วมสมัยระดับโลกที่สร้างงานแบบเน้นประสบการณ์

* เราเป็นเพื่อนกับทุกคนได้หมด ถ้าคุยด้วยก็เป็นเพื่อนเราแล้ว

* เพื่อนทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น เพราะเราเข้าใจว่า เขาไม่เหมือนเรา แล้วเราก็จะยอมรับความต่างของมนุษย์

* ความรักคือการให้เวลา เพราะเรากำลังอยู่ในโลกที่ไม่มีเวลา

* ความรักของหนุ่มสาวเป็นเรื่องซับซ้อนที่เปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องเคมี ไม่ใช่แค่ความคิดอย่างเดียว

* รักแท้มีจริง เราต้องเชื่อความรู้สึก เชื่อว่าเราจะยอมให้เวลากับความรู้สึกนั้น

* ความตายคืออีกขั้นของสิ่งที่เราไม่รู้ เป็นประสบการณ์ที่เรายังไม่มี

* เราเกิดมาเพื่อทำให้คนอื่นมีโอกาสได้เห็นความต่างของตัวเอง

* เวลาคือช่วงระหว่างการเกิดกับการตาย เราต้องใช้มันให้มากที่สุด ให้ช้าที่สุด และให้เร็วที่สุด

* ผมใช้เวลากับความคิดตัวเองมากที่สุด เพื่อให้เข้าใจความต่างจากสิ่งรอบตัว เข้าใจเพียงพอที่จะยอมรับว่าทุกคนคือเพื่อน ยอมรับว่าเรารักทุกคนได้

* คนที่ยังรักคนอื่นไม่ได้ ติดตรงความกลัว กลัวความผิด กลัวความถูก กลัวในสิ่งที่ไม่รู้ เพราะเราไม่สามารถรู้ทุกอย่างได้

* ผมไม่กลัวอะไร แต่ตอนนี้กลัวว่าจะตอบผิด (หัวเราะ)

ความคิดที่มีต่อวงการศิลปะและชีวิตมนุษย์ของ ‘ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช’ ศิลปินร่วมสมัยระดับโลกที่สร้างงานแบบเน้นประสบการณ์

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล