Rewilding 101 เป็นคอลัมน์ที่เราอยากเชิญชวนเพื่อนผู้อ่าน ออกเดินทางไปสำรวจความสัมพันธ์ของเรากับโลกธรรมชาติรอบ ๆ ตัว ผ่านเรื่องราวการฟื้นคืนธรรมชาติ หรือ Rewilding ซึ่งเป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรงแบบเพื่อนสู่เพื่อน ผสมผสานด้วยข้อมูลเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการฟื้นคืนความสัมพันธ์กับธรรมชาติจากวัฒนธรรมที่หลากหลาย รวมไปถึงเทคนิคหรือกิจกรรมง่าย ๆ ที่ทำได้ด้วยตัวเอง หรือชวนกันทำในครอบครัวและกับเพื่อน ๆ เพื่อเปิดประตูความสัมพันธ์ของเราออกสู่โลก
อย่างเช่นการเปิดผัสสะต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อสื่อสารกับโลก เทคนิคการเปลี่ยนสนามหญ้าหน้าบ้านให้เป็นอุทยานจิ๋วของผีเสื้อและแมลง การสำรวจมิติความสัมพันธ์ของเรากับธรรมชาติใกล้บ้านอย่างภูเขาหรือแม่น้ำลำคลอง หรือแม้แต่การสื่อสารสัมผัสกับต้นไม้หรือผืนดิน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ธรรมชาติไม่ได้เป็นเพียงสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ดูห่างไกล แต่ใกล้กับเรามากขึ้น ทั้งในแง่ของกายภาพและความรู้สึก อยากชวนติดตามและแลกเปลี่ยนพูดคุยกันผ่านคอลัมน์นี้นะครับ

เมื่อธรรมชาติเรียกร้อง
Call of the Wild
หลายปีก่อนในงานอบรม Eco Village Design ที่จัดโดย Ecovillage Asia ร่วมกับ อาศรมวงศ์สนิท ผมมีโอกาสฟังเรื่องราวชีวิตของเพื่อนนักนิเวศวิทยาชาวจีนคนหนึ่ง เธอทำงานอนุรักษ์ทุ่งหญ้าสเตปป์ในเขตที่ราบสูงทิเบตฝั่งจีน ซึ่งเป็นพื้นที่นิเวศสำคัญที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตที่นั่นทุ่มเทกับงานที่เธอรัก ช่วงที่เธอหยุดพักงานภาคสนามช่วงฤดูหนาวกลับมาอยู่กับครอบครัวในเมือง มีอยู่วันหนึ่งลูกสาวของเธอรบเร้าให้เธอสั่งซื้อแมลงปอจากห้างสรรพสินค้าเพื่อเป็นของเล่น เพราะลูกเธอเห็นแมลงปอจากหนังหรือสารคดีในทีวี จนอยากได้มาไว้เป็นของเล่นของตัวเอง
เรื่องนี้ทำให้เธอทั้งตกใจและเสียใจกับตัวเองมาก ๆ มันทำให้เธอตั้งคำถามกับหน้าที่นักนิเวศวิทยาที่เธอรัก ผสมผสานกับบทบาทของคนเป็นแม่ ผู้ต้องเลี้ยงลูกในบริบทสังคมจีนยุคใหม่ ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ในยุคนั้นต้องเติบโตในอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียม และไม่มีโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติโดยตรง

ช่วงฤดูพักร้อนนั้น เธอหาโอกาสพาลูกสาวไปใช้เวลาเรียนรู้ธรรมชาติในสวนสาธารณะของเมืองหางโจว ประเทศจีนในตอนนั้นมีโครงการสร้างสวนสาธารณะใหญ่ ๆ มากมาย เพื่อปรับเมืองให้น่าอยู่ขึ้นพร้อมกับพัฒนาเศรษฐกิจเต็มขั้น ในสวนนั้น เธอสังเกตว่าคนส่วนใหญ่ตั้งวงเล่นไพ่นกกระจอก กลุ่มวัยรุ่นเปิดเพลงซ้อมเต้น เด็ก ๆ นั่งดูคลิปการ์ตูนจากมือถือ หรือคู่รักถ่ายรูปแต่งงาน แทบไม่มีกิจกรรมใดเลยที่ผู้คนจะสัมผัสและเรียนรู้กับธรรมชาติโดยตรง ซึ่งต่างจากสมัยที่เธอเป็นเด็ก ๆ
คุณแม่อย่างเธอไม่รู้จะเริ่มทำกิจกรรมอะไรสนุก ๆ กับลูก ๆ หรือเด็ก ๆ ทั้งที่ตัวเธอเองก็เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยา เธอสะท้อนว่า สายใยบาง ๆ ระหว่างคนกับธรรมชาติได้ขาดสะบั้นลง ตรงจุดใดจุดหนึ่งของประวัติศาสตร์ เธอเล่าด้วยน้ำตารื้นที่ขอบตา ด้วยเรื่องราวเล็ก ๆ ที่กระทบใจเธอครั้งนี้ หลายปีต่อมาเธอกับเพื่อน ๆ จึงรวมกลุ่มกันก่อตั้ง Sunshine Ecovillage ขึ้นที่หางโจว เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย และผสมผสานเรื่องนิเวศวิทยา เกษตรกรรม สุนทรียศาสตร์ ศิลปะ การกินอยู่ ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ชาวจีนยุคใหม่หรือคนที่สนใจ ได้กลับมาเชื่อมโยงและฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ


การฟื้นคืนธรรมชาติ
Rewilding
ในอดีต เวลาที่เราได้ยินคำว่า Rewilding หรือ การฟื้นคืนธรรมชาติ ภาพในหัวของเรา มักจะเป็นโครงการฟื้นฟูพื้นที่นิเวศที่สำคัญของโลก อย่างการปล่อยสัตว์ป่าสำคัญ ๆ กลับสู่พื้นที่ธรรมชาติที่เป็นบ้านเกิดของมัน หรือการฟื้นฟูพื้นที่อันเปราะบางทางระบบนิเวศ ให้กลับไปอยู่ในสภาวะดั้งเดิมตามธรรมชาติ โครงการทั้งหมดที่ว่ามานี้ ส่วนใหญ่ทำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมสาขาต่าง ๆ เป้าหมายก็เพื่อฟื้นฟูสภาพนิเวศทางกายภายให้สมดุล เพิ่มความหลากหลายและลดการสูญเสียทางชีวภาพ เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และให้เราและโลกยังดำรงชีวิตได้ยั่งยืนกว่านี้
“แต่ถ้ามนุษย์อย่างเราก็เป็นส่วนหนึ่ง (ที่อาจจะสำคัญ) ของธรรมชาติ เราจะกลับไปสู่โลกธรรมชาติที่เป็นบ้านเกิดของเราได้อย่างไร หรือจะมีวิธีการอย่างไรในการฟื้นฟูพื้นที่อันเปราะบางภายในของเรา ให้จิตใจเรากลับไปอยู่ในสภาวะดั้งเดิมตามธรรมชาติ”

คำถามนี้ผุดขึ้นมาในความรู้สึกของผมหลายครั้ง และน่าจะเป็นคำถามสำคัญในยุคสมัยของเรา เพื่อช่วยขยายขอบเขตของการฟื้นคืนธรรมชาติให้กว้างกว่าเดิม ซึ่งผนวกรวมเอามนุษย์อย่างเราบรรจุไว้ในลิสต์สำคัญของกลุ่มที่ต้องการการฟื้นฟูด้วย เพราะแท้จริงแล้ว มนุษย์สมัยใหม่อย่างเรากับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงในกรงหรือสถานีอนุรักษ์สัตว์ป่า อาจมีชีวิตไม่ต่างกันเลย ชีวิตเซื่อง ๆ ที่ยังกินอยู่ดีแต่ขาดพลังชีวิต จิตใจที่หนักอึ้ง รู้สึกติดกับกับความรู้สึกสับสนภายใน ความรู้สึกต้องการหลีกหนีไปที่ไหนสักที่อันเป็นบ้านที่แท้จริง หรือแม้แต่ความรู้สึกอยากเป็นอิสระเสรี สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเป็นทั้งปัจจัยทางตรงและปัจจัยทางอ้อมที่ส่งผลต่อระบบนิเวศ เพราะเราทั้งหมดรวมทั้งผม ก็บำบัดอาการเหล่านี้ด้วยวิถีการบริโภคที่รวดเร็วและล้นเกิน ซึ่งบรรเทาอาการได้เร็วแต่ไม่หายขาด

เราเริ่มได้ยินและเห็นคำว่า ‘โรคขาดธรรมชาติ’ (Nature Deficit Disorder) บ่อยครั้งขึ้นตามสื่อต่าง ๆ และที่สำคัญ เรารู้สึกกับจริง ๆ ว่ามันเกิดขึ้นกับเราในบางครั้ง เราเริ่มเห็นผู้คนทำกิจกรรมทางธรรมชาติที่หลากหลายมากขึ้น ไล่ตั้งแต่แคมปิ้ง อาบป่า ปลูกพืชผักกินเอง ทำอาหารต่าง ๆ ด้วยความประณีตใส่ใจ รักษาเยียวยาตัวเองด้วยสมุนไพรจากธรรมชาติ เลือกใช้ข้าวของที่มาจากธรรมชาติที่ไม่ผ่านการสังเคราะห์ในระบบอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งย้ายไปอยู่ชนบท ทำสวนปลูกป่าทั้งในพื้นที่ขนาดใหญ่ จนไปถึงสวนระเบียงบนคอนโดมิเนียมขนาดจิ๋ว นี่คงเป็นสัญญาณสำคัญในยุคสมัยของเรา ที่การฟื้นคืนธรรมชาติหรือ Rewilding อาจไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป หรือเป็นเทรนด์ที่ฉาบฉวย
แต่มันกำลังเป็นวิถีชีวิตที่เราทุกคนต่างค่อย ๆ ช่วยกันปะติดปะต่อ และนิยามขึ้นด้วยวิถีของความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ ๆ หลายคนเริ่มตั้งเข็มทิศนี้ภายในตัวเอง ส่วนหลายคนได้เริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตไปแล้ว ผมเชื่อว่าปลายทางของเราทุกคน (แม้จะแตกต่างกันในรายละเอียด) ก็เพื่อเดินทางกลับไปสู่บ้านที่แท้จริง ที่เราเคยอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ รู้สึกถึงและมีความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นในฐานะเพื่อนที่หายใจเข้าออก ด้วยอากาศจากโลกใบเดียวกันกับเรา ไม่ใช่ในฐานะผู้ซื้อกับผู้ขาย ผู้ผลิตกับผู้บริโภค หรือพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตรงนู้นกับบ้านฉันที่อยู่ตรงนี้
พาตัวเองกลับบ้าน
To rewilding nature or landscape, one important part is to rewild yourself.

นี่เป็นขั้นตอนง่าย ๆ ในการฟื้นคืนธรรมชาติที่อยากชวนเพื่อน ๆ ทดลองทำดู เพราะเริ่มได้ง่าย ๆ ที่ตัวเราเอง และเป็นพื้นฐานสำคัญอันทรงพลังในการฟื้นคืนธรรมชาติ แนะนำว่าครั้งแรก ๆ อาจจะลองทำกับตัวเองก่อน หากรู้สึกสบายใจและผ่อนคลายเป็นธรรมชาติแล้ว อาจชวนสมาชิกในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือแม้กระทั่งเพื่อนร่วมงานลองมาทำด้วยกัน
ลองหาพื้นที่ธรรมชาติใกล้ ๆ บ้านหรือที่ทำงาน อย่างในสวนสาธารณะที่ไม่พลุกพล่าน หรืออาจจะเป็นพื้นที่ป่าใกล้บ้าน เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ลำธารที่เราคุ้นเคย โดยไม่ต้องพะวงเรื่องการจัดการอื่น เช่น ความปลอดภัย อาหารการกิน ลองใช้เวลาในสถานที่นั้นอย่างน้อย 1 ชม. โดยค่อย ๆ หาจังหวะที่ลื่นไหลของตัวเองตามขั้นตอนนี้
1. วางใจให้คุ้นเคย
ก่อนเริ่มต้น ลองสังเกตและทำความคุ้นเคยกับสถานที่นั้น หาพื้นที่ที่สงบ ที่เมื่อถ้าเราหลับตาลง เราจะยังรู้สึกปลอดภัย ผ่อนคลาย เมื่อได้จุดยืนที่รู้สึกสบายและเป็นตัวของตัวเอง ลองขยับแขน ขา และคอ เพื่อผ่อนคลายร่างกาย ยืนหันหน้าไปทางทิศที่เรารู้สึกว่าอยากเดินไป
หากเป็นไปได้ ลองใช้ความรู้สึกรับรู้ว่าทิศเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก อยู่ตรงไหนของร่างกายเรา ค่อย ๆ วางความคิดและความกังวลใจลง สูดลมหายใจให้ลึกและยาวกว่าปกติสัก 3 ลมหายใจ ยืนด้วยท่าที่รู้สึกมั่นคง รับรู้บรรยากาศทั้งหมดรอบ ๆ ตัว
2. เปิดการรับรู้สัมผัส
หากรู้สึกสบาย ให้ลองหลับตาลง รับรู้ถึงฝ่าเท้าและน้ำหนักทั้งหมดของเราที่ถ่ายลงผืนดิน ค่อย ๆ จัดระเบียบร่างกาย กระดูกสันหลัง และคอ ให้ตั้งตรง ทิ้งน้ำหนักแขนลงข้างตัว ปล่อยมือสบาย ๆ
ลองรับรู้เสียงที่เกิดขึ้นรอบตัว เริ่มจากเสียงที่ใกล้ที่สุด และค่อย ๆ ขยายสัญญาณการรับรู้เสียงนั้นออกไปให้กว้างและไกลที่สุด รับรู้ถึงลมที่พัดมาสัมผัสร่างกายของเรา มันพัดมาจากทางทิศไหน รับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกาย อาจจะเป็นความรู้สึกอุ่นที่ปลายมือทั้งสอง เสียงเต้นของหัวใจ กระบังลมที่เคลื่อนที่ขึ้นลง รับรู้กลิ่นที่เกิด กลิ่นหอมชื้นของดิน กลิ่นดอกไม้ กลิ่นป่าในฤดูนั้น
จากนั้นค่อย ๆ ลืมตา มองทัศนียภาพทั้งหมดด้วยสองตาของเรา ค่อย ๆ ผสานการรับรู้จากผัสสะทั้งหมดให้คงอยู่กับตัวเรา
3. ออกเดิน
หากสบายใจที่จะทำ ก่อนออกเดิน ลองรู้สึกขอบคุณสถานที่และสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติแห่งนั้น ที่เรารู้สึกอยากขอบคุณจริง ๆ รวมทั้งขอบคุณตัวเองที่ให้โอกาสตัวเองได้พักและผ่อนคลายโดยไม่ต้องมีเงื่อนไข ลองส่งความรู้สึกนั้นให้ขยายออกไป
เริ่มเดินไปบนทางที่รู้สึกว่าน่าสนใจหรือดึงดูดเรา โดยยังคงรักษาผัสสะการรับรู้ทั้งหมดไว้กับตัวเอง หากรู้สึกว่ามีความคิดวอกแวกเกิดขึ้น เพียงแต่กลับมาที่การเดินโดยไม่ต้องคิดและตัดสินตัวเอง
4. หยุดพักและสังเกต
หากมีสิ่งใดระหว่างเส้นทางเดินที่เราสนใจ ดึงดูดเรา ก็เพียงลองหยุด สังเกตมัน อาจจะลองสัมผัสให้รู้สึกถึงน้ำหนัก พื้นผิว ความร้อนเย็น สีสัน รูปทรง หรือลักษณะเฉพาะบางอย่างที่เราสนใจ
หรือหากเจอที่เหมาะ ๆ น่านั่งพัก หรืออยากหยุดสังเกตสิ่งต่าง ๆ ก็เพียงหยุดพักและนั่งลงเงียบ ๆ โดยยังคงรักษาความเปิดกว้างของสัมผัสการรับรู้เอาไว้อย่างเป็นธรรมชาติ เราอาจจะถ่ายภาพสิ่งที่สังเกตเห็นได้ โดยไม่ทำลายความรู้สึกสงบที่เรามีระหว่างการเดิน
5. บันทึกและแลกเปลี่ยน
เมื่อออกเดินถึงจุดที่รู้สึกว่าเพียงพอแล้ว นั่งพักและบันทึกความรู้สึก ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง อาจจะเป็นภาพวาดหรือถ้อยคำบางอย่างที่ผุดขึ้นมาจากความรู้สึกหรือสิ่งที่สังเกต
หากไปกับสมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนเป็นกลุ่ม อาจจะหาพื้นที่ล้อมวงแลกเปลี่ยนสิ่งที่รู้สึกและค้นพบ โดยไม่ต้องพยายามหรือกังวลกับความสมบูรณ์แบบของเรื่องเล่าที่จะแบ่งปัน เพียงแต่แบ่งปันความรู้สึกแท้จริงที่เกิดขึ้นให้ได้รับรู้
เชื่อว่า 5 ขั้นตอนง่าย ๆ นี้ จะเป็นเหมือนประตูลับที่ใช้เปิดเข้าออกสลับไปมา ระหว่างโลกที่สภาวะดั้งเดิมในธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ เป็น กับโลกในปัจจุบันที่เราถูกท้าทายจากความรู้สึกไม่มั่นคงรอบด้าน เพื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว ประตูนี้จะเชื่อมโลกสองใบให้เป็นหนึ่งเดียว หากทุกสรรพสิ่งในระบบนิเวศต่างก็พึ่งพิงการมีอยู่ของกันและกัน เพื่อรักษาสภาวะสมดุลทางนิเวศในการดำรงอยู่ สายใยบาง ๆ ที่เราค่อย ๆ ผูกเชื่อมความสัมพันธ์ของเรากับสถานที่ กับธรรมชาติแวดล้อมรอบตัว ต้นไม้ ดอกหญ้า สัตว์ป่า นกและแมลงนานา หรือแม้แต่กับเพื่อนมนุษย์คนอื่น ๆ สายใยเส้นบาง ๆ นี้จะกลายเป็นโครงข่ายความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน และช่วยโอบอุ้มความเปราะบางของระบบนิเวศและความสัมพันธ์ของเรากับสิ่งต่าง ๆ ให้ดีงามและลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม