กว่า 8 เดือนที่ Reviv (รีไวฟ์) องค์กรส่งเสริมการซ่อมเสื้อผ้าของคนรุ่นใหม่ ค่อย ๆ สร้างทางเลือกและโน้มน้าวพฤติกรรมของผู้บริโภคในวงการแฟชั่นให้หันมาซ่อมและวนใช้เสื้อผ้าที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ซึ่งนอกจากจะได้ดีไซน์การซ่อมที่เก๋ไก๋แล้ว ผู้บริโภคยังช่วยสร้างอาชีพและรายได้ที่เป็นธรรมให้กับแรงงานนอกระบบอีกด้วย 

ทว่าวันนี้ Reviv ได้พบกับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ พวกเขายืนอยู่บนปากทางแยกที่ต้องเลือกว่าจะไปต่อในรูปแบบองค์กรธุรกิจสตาร์ทอัพ หรือควรไปสายองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรแบบ 100% ดี ในเมื่อการทำธุรกิจการซ่อมในสังคมไทยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเขาเจอบททดสอบทั้งในแง่ของ ‘คำแนะนำ’ จากภายนอก และ ‘ความต้องการ’ จากภายใน จนนำมาสู่การปิดให้บริการชั่วคราวเพื่อทบทวนจุดยืนอีกครั้ง

วันนี้เรามีโอกาสพิเศษสุด ๆ ที่ได้มานั่งคุยกับกลุ่มผู้ก่อตั้งอย่าง ภูมิ-ภาคภูมิ โกเมศโสภา, ฝ้าย-ฐนิตา เขตกิตติคุณ และพั้นซ์-พิมพ์นารา สินทวีวงศ์ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นการพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังปิดให้บริการไป เพื่ออัปเดตว่าอนาคตของ Reviv จะเป็นอย่างไร รวมถึงอะไรคือความตั้งใจและเจตจำนงหลังการจำศีลของพวกเขา

Reviv คอมมูนิตี้ซ่อมเสื้อผ้าโฉมใหม่ พร้อมโปรเจกต์ส่งเสริมการใช้ซ้ำที่ยั่งยืนกว่าเดิม
01

ปฐมบท

ในฐานะผู้บริโภค เราต่างเห็นมาตลอดว่าปัญหาขยะล้นในอุตสาหกรรมนี้เรื้อรังมานานขนาดไหน ซึ่งทางออกที่พอจะทำได้ก็แค่พยายามซื้อให้น้อยลง ทำใจแข็งสู้เคมเปญของ Fast Fashion แต่นั่นก็ไม่ใช่ทางออกเดียวของแฟชั่นยั่งยืน

Reviv เริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกในเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 โดยความตั้งใจคือการสร้างสังคมแห่งการซ่อมให้เกิดขึ้นจริง พวกเขาพยายามส่งเสริมพฤติกรรมการซ่อมและการใช้ซ้ำให้กลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก โดยการตั้งร้านออนไลน์รับซ่อมเสื้อผ้าและผลิตสินค้าจากวัสดุเหลือใช้ ซึ่งการใช้บริการก็ยังได้ช่วยเหลือแรงงานนอกระบบให้ได้รับค่าแรงอย่างเป็นธรรมด้วย

ปัจจุบันเรามักเห็นว่าหลาย ๆ บริษัทในวงการธุรกิจเสื้อผ้าและแฟชั่น พยายามพูดเรื่องการรีไซเคิลเสื้อผ้าหรือการใช้วัตถุดิบรักษ์โลกบ่อยขึ้น 

“แต่จริง ๆ แล้วขั้นกว่าที่ยังไม่เกิดขึ้นและยังขาดหายไป คือการหยุดซื้อเสื้อผ้าใหม่และหันกลับมาซ่อมเสื้อผ้ามากขึ้น เรามองว่ายังไม่มีใครทำตรงนี้ในไทยสักที” ภูมิกล่าว 

ตลอดระยะเวลาที่เปิดให้บริการมา องค์กรขนาดย่อมแห่งนี้ค่อย ๆ เริ่มสร้างผลงานจนเป็นที่จดจำในสังคม อาทิ โปรเจกต์ร่วมกับรองเท้าแบรนด์ Maddy Hopper ที่ให้แม่ ๆ ผู้ลี้ภัยชาวม้งที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพ ฯ ช่วยซ่อมงานรองเท้าที่มีตำหนิจากการผลิต นำมาติดลายให้สวยงาม เพื่อจะได้นำกลับไปขายในมูลค่าที่มากยิ่งขึ้น โปรเจกต์ที่คั่นหนังสือจากเศษผ้าที่มีชิ้นเดียวในโลกและปักเย็บด้วยลวดลายชาวม้งซึ่งโด่งดังชั่วข้ามคืน และโปรเจกต์ Seamless World คิดค้นเครื่องดื่มค็อกเทลร่วมกับ The Key Room No.72 บวกที่รองแก้วฝีมือปักมือ สื่อถึงการแบ่งแยกชนชั้นในสังคม เสิร์ฟคู่กับข้าวโพดข้าวเหนียว ซึ่งเป็นการสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากกลุ่มชาติพันธุ์บนดอย

Reviv คอมมูนิตี้ซ่อมเสื้อผ้าโฉมใหม่ พร้อมโปรเจกต์ส่งเสริมการใช้ซ้ำที่ยั่งยืนกว่าเดิม
Reviv คอมมูนิตี้ซ่อมเสื้อผ้าโฉมใหม่ พร้อมโปรเจกต์ส่งเสริมการใช้ซ้ำที่ยั่งยืนกว่าเดิม

“คนอาจจะมองว่า Reviv ทำซ่อมเสื้อผ้าอย่างเดียว แต่จริง ๆ เราไม่ได้ทำแค่ซ่อมเสื้อผ้า” 

ภูมิอธิบายว่าความภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง คือการได้ช่วยเหลือชาวม้งซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบให้มีงานทำ ได้รับเงินเดือนอย่างเป็นธรรม และที่สำคัญ ได้สร้างโอกาสให้พวกเขาได้รับการจดจำในฐานะแรงงานมากฝีมือ เนื่องจากการเย็บปักเสื้อผ้าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตพวกเขา อย่างแม่ชัว หนึ่งในช่างฝีมือที่เย็บงานช้าแต่คุณภาพคับแก้ว ก็ได้เครดิตชื่อตัวเองไปใส่ในแบรนด์ว่าเป็นลวดลาย Slow but Chua

Reviv คอมมูนิตี้ซ่อมเสื้อผ้าโฉมใหม่ พร้อมโปรเจกต์ส่งเสริมการใช้ซ้ำที่ยั่งยืนกว่าเดิม

“ตอนที่เราทำโปรเจกต์ Seamless World ก่อนเปิดตัว เราพาแม่ ๆ ไปทานข้าว ไปบาร์ที่พวกเขาทำที่รองแก้วให้ มีแม่คนหนึ่งบอกกับบาร์เทนเดอร์ว่า ขอบคุณที่พาพวกเรามา ขอบคุณที่เห็นเรานะ คืนนั้นบาร์เทนเดอร์น้ำตาซึม แม่ ๆ ก็น้ำตาซึมกันหมด”  

สมาชิก Reviv ล้วนเป็นอาสาสมัคร เพราะแต่ละคนมีงานประจำทำอยู่แล้ว ภูมิเป็น Freelance Consulting ฝ้ายทำงาน Marketing พั้นซ์เองก็ยังเรียนอยู่ องค์กรจึงตัดสินใจปันผลกำไรให้กับคนที่ต้องการมากกว่า คือบรรดาช่างทั้งหลาย โดยเฉพาะหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญอย่าง โรส หัวหน้าช่างชาวม้งวัย 20 ปี แม่ลูก 2 ซึ่งคอยเป็นกำลังสำคัญในการสื่อสารกับชุมชน 

จากกลุ่มผู้ก่อตั้ง 5 คน เมื่อต้องแบกภาระความรับผิดชอบมากขึ้น การเปิดรับอาสาสมัครเข้ามาร่วมทีมจึงเริ่มต้นสู่ 38 ชีวิต ซึ่งล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจแฟชั่นยั่งยืน ทีมผู้ก่อตั้งจึงเริ่มสร้างระบบการทำงานที่เป็นธรรมให้กับอาสาสมัคร แบ่งหน้าที่ให้เหมาะสม คอยเก็บสัมภาษณ์และดูแลทางด้านจิตใจ 

“เราออกแบบ Culture ที่เขามาทำงานแล้วเราไม่กินแรงหรือเอาเปรียบเขา แล้วเราก็ให้อะไรเขากลับไปได้ เช่น จัด Session ให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ซึ่งภูมิก็เอาประสบการณ์ทั้งไทยและต่างประเทศที่มีตลอด 7 – 8 ปีที่ผ่านมามาสอนน้อง ๆ”  

Reviv คอมมูนิตี้ซ่อมเสื้อผ้าโฉมใหม่ พร้อมโปรเจกต์ส่งเสริมการใช้ซ้ำที่ยั่งยืนกว่าเดิม
02

บทเรียน

ทุกอย่างดูเหมือนจะไปได้สวย แต่ปัญหาที่ Reviv พบหลังเปิดให้บริการซ่อมเสื้อผ้าไปกว่า 8 เดือน คือความจริงที่ว่าการทำธุรกิจการซ่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ได้อยู่ในเป้าประสงค์ของ GDP ที่ทุกหน่วยงานต้องการส่งเสริม ไม่มีใครมาคอยบอกว่า ‘อย่าซื้อ’ ถ้าไม่จำเป็น หรือซื้อไปก็ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจการซ่อมไม่ใช่ธุรกิจที่โตไว ไม่ใช่การขายในแบบที่ใคร ๆ ก็กดเอฟ ยิ่งไปกว่านั้น พฤติกรรมซ่อมเสื้อผ้าไม่ใช่พฤติกรรมหลักของผู้บริโภค 

“จริง ๆ สเกลแบบธุรกิจค่อนข้างขัดกับโมเดลของเราอยู่แล้ว คำว่าโตเร็วเป็น Mindset ของเศรษฐกิจเดิม แต่เราอยากเติบโตแบบช้า ๆ อยู่กับคนในชุมชนของเรา พื้นที่ของเรา ผมว่านี่คือหน้าตาของ Repair Model หรือธุรกิจการซ่อมในอนาคต คือเราไม่ต้องรีบโต แค่ต้องมีสวัสดิการที่ดี โตแบบพอมีเงินเก็บ สร้างอิมแพ็คกับคนในพื้นที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ขัดกับระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน” 

Reviv คอมมูนิตี้ซ่อมเสื้อผ้าโฉมใหม่ พร้อมโปรเจกต์ส่งเสริมการใช้ซ้ำที่ยั่งยืนกว่าเดิม

 ในแง่ของการขายผลิตภัณฑ์ หลังผ่านโปรเจกต์มาหลายครั้ง Reviv ได้เรียนรู้ว่าการขายสินค้าปริมาณมากและรับโปรเจกต์ใหญ่นั้นทำให้องค์กรโตไวขึ้นก็จริง แต่ถ้าเส้นทางนั้นขัดกับความสนใจของสมาชิกในองค์กรและพันธกิจหลัก พวกเขาก็เลือกถอยดีกว่า เพราะไม่ได้อยากผันตัวเป็นโรงงานผลิตสินค้าอีกแห่ง

“มีคนติดต่อเราเข้ามาเยอะว่า ทำอันนี้ให้หน่อย 1,000 ใบได้มั้ย ซึ่งถ้าทำอย่างนั้น เราก็จะกลายเป็นโรงงาน Service เย็บผ้าแล้ว ถามว่าตรงนี้มีโอกาสสร้างรายได้ให้กับเรา ให้กับแม่ ๆ ช่างเย็บผ้ามากขึ้นไหม มี แต่เนื้องานต้องใช้เวลาเยอะมาก เราต้องไปหาช่างมากกว่านี้ จากที่เรามีช่างอยู่แค่ 6 คน ต้องไปหาช่างเพิ่ม หาที่เก็บโกดังเพิ่ม ทุกคนก็ต้องเริ่มมาดูแลแม่ ๆ มากขึ้น ต้องมานั่งคุยกับลูกค้า” 

“อีกอย่าง Reviv ไม่มีใครมีประสบการณ์เกี่ยวกับโรงงานผ้า ถ้าทำจริง ๆ ต้องลงทุนเยอะ เราคุยกันแล้วตัดสินใจว่า เราไม่ได้อยากไปทิศทางนั้น เราเข้า Incubation มา 3 รอบ มีแต่คนบอกว่า เข้าตลาดนี้ตลาดนั้นสิ ต้องรีบโต แต่เรามีประสบการณ์เยอะด้านอื่น เราอยากตั้ง Consultancy เพื่อให้โอกาสคนอื่นได้เรียนรู้เรื่องความยั่งยืนในแบบฉบับที่เราเรียนมา แล้วเราก็เห็นอิมแพ็คด้านอื่น ๆ ที่เราดูแลได้มากกว่าโรงงานเย็บผ้า”

ดังนั้น ก็ควรถึงเวลาที่จะต้องตั้งคำถามกับตัวเองใหม่อีกครั้งว่า องค์กรแบบธุรกิจหรือสตาร์ทอัพ เป็นหนทางที่พวกเขาอยากจะเดินไปจริง ๆ หรือเปล่า และ Reviv ในบทต่อไปที่พวกเขาอยากเห็นและอยากให้เป็นคืออะไร  

Reviv คอมมูนิตี้ซ่อมเสื้อผ้าโฉมใหม่ พร้อมโปรเจกต์ส่งเสริมการใช้ซ้ำที่ยั่งยืนกว่าเดิม
03

เดินหน้าต่อไป (แบบช้า ๆ)

หลักจากตัดสินใจปิดตัวชั่วคราวเพื่อตรึกตรองจุดยืนใหม่ วันนี้พวกเขาพร้อมกลับมาอีกครั้งในฐานะองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่นิยามตัวเองว่าเป็น Community หรือกลุ่มคนที่ส่งเสริมเรื่องการซ่อมและการใช้ซ้ำในไทย ซึ่งจะค่อย ๆ เติบโตไปแบบไม่รีบร้อน 

“เราทำเพื่อตอบโจทย์สังคมที่ไม่มีการซ่อม แต่เราทำงานแบบ Slow Fashion ใช้เวลาในการผลิต เติบโตทีละนิด ไม่รีบ ถ้าคนเข้ามาจากหลายแห่ง มาซื้อ แรงงานก็ต้องทำงานเยอะ ทำไม่ทัน มันก็จะออกจาก Slow Fashion ไป เราก็เลยตั้งใจค่อย ๆ โตไปทีละขั้น”

Reviv โฉมใหม่ที่กำลังจะเปิดให้บริการอีกครั้ง นอกจากมีบริการซ่อมและขายผลิตภัณฑ์แบบที่เราคุ้นตา ยังมีโปรเจกต์ใหม่ ๆ ที่น่าติดตามเกี่ยวกับการกระจายความรู้และการสื่อสารเรื่องวัฒนธรรมการซ่อมและการใช้ซ้ำในสังคมอีกมากมาย

รีไวฟ์ คอมมูนิตี้ ส่งเสริมการซ่อมเสื้อผ้า กลับมาเปิดตัวพร้อมโปรเจกต์ใช้ซ้ำที่ชัดเจนและยั่งยืนกว่าเดิม

โปรเจกต์ที่ 1 คือ การสร้างแบบประเมินความซ่อมง่าย (Repairability Index) เครื่องมือที่จะช่วยผู้บริโภคประเมินความซ่อมง่ายของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า คอมพิวเตอร์ แก้ว ฯลฯ เพื่อใช้ข้อมูลนี้เป็นฐานข้อมูลทำรีวิวความซ่อมง่ายของแต่ละผลิตภัณฑ์ และเพื่อให้ภาครัฐหรือหน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนานโบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ต่อไป 

โปรเจกต์ที่ 2 คือ การสร้างสังคมแห่งการซ่อม (Repair Community) เพื่อสนับสนุนช่างซ่อมตัวเล็ก ๆ ที่อยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มหรือเว็บไซต์ออนไลน์รวบรวมช่างซ่อมจากทุกพื้นที่ โดยทั้งผู้บริโภคและผู้ให้บริการนำข้อมูลของร้านซ่อมต่าง ๆ เข้าไปใส่ไว้ในแพลตฟอร์มได้อย่างเสรี เพื่อให้ข้อมูลของร้าน อาทิ ที่อยู่ เวลาเปิด-ปิด รวมถึงรีวิวการบริการ เป็นพื้นที่รวบรวมคุณลุงคุณป้าร้านซ่อมที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี และในทางกลับกัน ก็เป็นพื้นที่ที่ให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการของพวกเขาได้ 

โปรเจกต์ที่ 3 คือ การสร้างเครือข่ายการซ่อม (Repair Cafe Network) ซึ่งจะจัดขึ้นเดือนละครั้ง เพื่อให้คนในชุมชนได้มาแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการซ่อมกัน เช่น คนนั้นซ่อมคอมพิวเตอร์ได้ คนนี้ซ่อมรองเท้าได้ โดยที่คนในชุมชนนำของมาส่งซ่อมกันเองได้ 

รีไวฟ์ คอมมูนิตี้ ส่งเสริมการซ่อมเสื้อผ้า กลับมาเปิดตัวพร้อมโปรเจกต์ใช้ซ้ำที่ชัดเจนและยั่งยืนกว่าเดิม

โปรเจกต์ที่ 4 คือการบอกเล่าความสัมพันธ์ของผู้คนกับเสื้อผ้าในเพจใหม่ชื่อ Clothversation ซึ่งนอกจากการใส่ซ้ำและการซ่อมแซม Reviv อยากกระตุ้นให้เห็นคนเห็นคุณค่าของเสื้อผ้ามากกว่านั้น ไม่ใช่แค่ในเชิงสิ่งแวดล้อม แต่ในด้านความทรงจำ และใช้จุดนี้เป็นกระบอกเสียงในการเคลื่อนไหวทางสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย

โปรเจกต์ที่ 5 คือ Repair Service (โฉมใหม่) จากแต่ก่อนที่เปิดบริการตลอด 24 ชม. Reviv จะสร้างวัฒนธรรมการซ่อมใหม่ชื่อ Repair Week ซึ่งเกิดขึ้นในทุก ๆ สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน พวกเขาจะเปิดรับคุยและให้บริการด้านการซ่อมเสื้อผ้า เพื่อทำหน้าที่ผลักดัน Repair Week ขึ้นมาในไทยจนเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักใหม่ 

ความพิเศษคือ Repair of the Month 2 ลายปักพิเศษที่แม่ ๆ ช่างเย็บดีไซน์ร่วมกับ Reviv จะเปลี่ยนไปทุก ๆ เดือน หากใครอยากได้ลายปักแบบลิมิเต็ดอิดิชัน ก็ขอคำปรึกษาจากกลุ่ม Reviv และส่งเสื้อผ้าเข้ามาซ่อมกันได้เลย

รีไวฟ์ คอมมูนิตี้ ส่งเสริมการซ่อมเสื้อผ้า กลับมาเปิดตัวพร้อมโปรเจกต์ใช้ซ้ำที่ชัดเจนและยั่งยืนกว่าเดิม
04

เป้าหมาย

ฟื้นคืนชีพกลับมาในครั้งนี้ ฝ้ายบอกกับเราว่า 

“รู้สึกว่าที่เรามีจริงๆ คือกระบอกเสียง เพราะเราได้สร้างคอนเนกชันไว้เยอะมาก แล้วการที่มีอาสาสมัครมาทำงานกับเรา ก็เหมือนสร้างฐานเสียงได้ประมาณหนึ่ง เราอยากใช้กระบอกเสียงที่เรามีเรื่องการ Repair และ Reuse ให้คนเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แล้วเราก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคไปเรื่อย ๆ” 

ภูมิเสริมต่อ “อะไรที่ยังขาดไปในสังคม นั่นคือสิ่งที่พวกเราอยากทำ อย่าง Repairability Index ที่เราเห็นว่ายังไม่มี ถ้าเราสร้างบทสนทนาจากการใช้เครื่องมือนี้ หรือมีประโยชน์ในเชิงของนโยบาย อีก 5 ปี Reviv อาจมีส่วนร่วมในเรื่องการออกแบบนโยบาย หรือสร้างนโยบายการซ่อมในสังคมมากขึ้น” 

ส่วนโครงสร้างองค์กร Reviv พยายามสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้ได้มากที่สุด เพื่อบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่ให้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนกันต่อไปในอนาคต 

Reviv มองว่าใจความหลักขององค์กรควรขับเคลื่อนด้วยเจตจำนงและความต้องการของทุกคน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง ฉะนั้น การดูแลความรู้สึกของสมาชิกจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แม้ว่าครั้งหนึ่งพวกเขาอาจจะเคยฝันอยากเป็นสตาร์ทอัพ แต่พอถึงจุดหนึ่งที่บริบทของสมาชิกไม่เอื้ออำนวย พวกเขาก็จะไม่ทำ 

จังหวะนั้นเราเลยถามภูมิกลับไปว่า แล้วถ้าวันหนึ่งไม่มีกลุ่มผู้ก่อตั้ง ภูมิก็ตอบกลับอย่างมั่นใจว่า 

รีไวฟ์ คอมมูนิตี้ ส่งเสริมการซ่อมเสื้อผ้า กลับมาเปิดตัวพร้อมโปรเจกต์ใช้ซ้ำที่ชัดเจนและยั่งยืนกว่าเดิม

“ในอนาคตเราอยากให้ Reviv ดำเนินงานได้โดยไม่ต้องมีภูมิหรือกลุ่มผู้ก่อตั้งอย่างเดียว เราอยากทำให้องค์กรผลัดวนสมาชิกในองค์กรที่อยากนำองค์กรให้ขึ้นมานำได้ ผลัดกันนั่งเบาะหน้า เบาะหลัง แต่การจะทำแบบนั้นได้ เราต้องสร้าง Sense of Ownership ก่อน 

“หลังบ้านเราทำกิจกรรมที่สร้าง Value ให้กับคนในองค์กรตลอด ไม่ว่าจะเป็นการทำ Knowledge Sharing ต่าง ๆ พยายามทำกิจกรรมแบ่งปันความรู้กับอาสาสมัคร ภูมิอยากให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านการอยู่ใน Community นี้ แล้วก็ได้เอาความรู้บางอย่างจากตรงนี้ไปต่อยอดเรียนรู้ในชีวิตของเขา สิ่งที่ทำให้เราอยู่ได้หลัก ๆ ตอนนี้เพราะเรามีโครงสร้างองค์กรแบบนี้ เราคอยดูแลกันแบบนี้” 

นอกจากนั้นแล้ว พวกเขาก็ยังหวังว่าโปรเจกต์แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อรวบรวมร้านที่ให้บริการการซ่อมนั้น ในอนาคตจะพัฒนาไปถึงจุดที่เปิดรับการระดมทุนได้ ถึงแม้ว่าในตอนนี้จะยังอยู่ในช่วงของการทดลองระบบ แต่ภูมิ ฝ้าย และพั้นซ์ มองว่า ถ้าในอนาคตมีการตอบรับที่ดีจากสังคม มีประโยชน์ พวกเขาก็จะทำระดมพลังดูแลเว็บไซต์นี้ต่อไป

 “ผมมองว่าถ้ามันเป็นประโยชน์ นอกจากตัวแบรนด์แฟชั่นที่อยากสนับสนุนเราแล้ว ทางภาครัฐ หรือ กทม. อาจจะอยากช่วยเราด้วยก็ได้ แต่เราก็สร้างขึ้นมาก่อน เพื่อทดลองดูว่าโอเคไหม สังคมจะชอบหรือไม่ชอบ จะมีประโยชน์ไหม ถ้าในอนาคตใครเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็สนับสนุนกันนะครับ” ภูมิกล่าวด้วยรอยยิ้ม

การ Revive ให้ Reviv กลับมาในครั้งนี้ เราเองก็อยากเห็นและมุ่งหวังสิ่งเดียวกับที่พวกเขาหวัง 

เราหวังที่จะเห็นการขับเคลื่อนทางแฟชั่นในรูปแบบใหม่ที่แฟชั่นจะหมายถึงการซ่อม การใช้ซ้ำได้ แฟชั่นในรูปแบบที่เราไม่ต้องซื้อของใหม่ตลอดเวลาตามฤดูกาลหรือคอลเลกชัน และแฟชั่นที่เรเอ็นจอยกับการที่ได้ซื้อของน้อยลง ใช้ของใหม่น้อยลง

รีไวฟ์ คอมมูนิตี้ ส่งเสริมการซ่อมเสื้อผ้า กลับมาเปิดตัวพร้อมโปรเจกต์ใช้ซ้ำที่ชัดเจนและยั่งยืนกว่าเดิม

ขอขอบคุณสถานที่ Wamp.co (แผนที่)

Writer

Avatar

ญาณินท์ ศรีอุดมพงษ์

อดีตนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ในวงการแฟชั่นผู้เชื่อว่าจังหวะชีวิตมีจริง และมีวง safeplanet เป็นเครื่องชุบชูใจ

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์