ยุโรปมืด The Sun Still Shines

ผู้เขียน : พีรพัฒน์ ตัณฑวนิช
สำนักพิมพ์ : สำนักพิมพ์ a book
จำนวน : 360 หน้า
พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2561

ยุโรปมืด

“ปราสาทวอดวาย วิหารมอดไหม้ ไม่มีการเฉลิมฉลอง ไม่มีแม้แต่ความหวัง”

คำกล่าวบนหน้าปกหนังสือของ พีรพัฒน์ ตัณฑวนิช ทำให้เรานึกถึงความสิ้นหวัง มืดมน จนหมดหนทาง

หลายคนคงเคยได้ยินว่าผู้ชนะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ และเราคิดว่ามันเป็นเช่นนั้น

ยุโรปมืด เมื่อได้ยินทำให้เราคิดถึงช่วงของความมืดหม่นในประวัติศาสตร์ยุโรปยุค Dark Age แต่หากจะกล่าวถึงประวัติศาสตร์ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ชาวยุโรปมีเรื่องราวการนองเลือด การต่อสู้เพื่ออิสรภาพเกิดขึ้นหลายครั้ง จนนำพาไปสู่เหตุการณ์ครั้งสำคัญอย่าง ‘สงครามโลก’

ยุโรปมืด The Sun Still Shines หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องราวสารคดีบันทึกการเดินทางไปสู่สถานที่แห่งความทรงจำที่ พีรพัฒน์ ตัณฑวนิช ถ่ายทอดออกมาผ่านตัวหนังสือเสมือนพาเราร่วมเดินทางไปพร้อมๆ กัน

การเดินทางครั้งนี้วางเส้นทางตามรูปแบบการเดินทัพของกองทัพนาซีเยอรมัน เริ่มต้นจากดินแดนที่จุดชนวนของมหาสงคราม แล้วค่อยๆ ออกเดินทางไปตามเส้นทางของความทรงจำที่เขาได้วางแผนไว้

มันอาจไม่ใช่หนังสือท่องเที่ยวเสียทีเดียว เพราะเรื่องราวภายในนั้นสอดแทรกไปด้วยประวัติศาสตร์ที่จะพาเราไปท่องโลกยุโรปตะวันออกในช่วงเวลาแห่งมหาสงคราม พร้อมกับเยี่ยมเยือนซากปรักหักพัง อนุสรณ์ความมืดดำของใจคนในอดีตที่ผ่านพ้นมา

ยุโรปมืด

ยุโรปมืด

ถ้าคุณจำได้ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคนาซีเรืองอำนาจมีเรื่องราวถูกปิดเป็นความลับมาโดยตลอดในประเทศเยอรมนี ซึ่งพาเราไปรู้จักกับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) และเหตุการณ์สำคัญอย่าง ‘Holocaust’ หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว แต่น่าแปลกใจที่ปัจจุบันกลับกลายเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากที่สุด โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในค่ายกักกันเอาชวิทซ์

“ลืมเสียเถิดความเป็นมนุษย์ที่เคยเป็น”

“แม้จะเลือกสรรสมบัติใส่กระเป๋ายากเย็นแค่ไหน ทันทีที่มาถึงค่ายกักกัน สิ่งของที่ติดตัวที่เป็นของล้ำค่าสุดหวงแหนเหล่านี้ก็จะถูกริบไปทั้งหมด รองเท้า เสื้อผ้า แว่นตา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยเป็น อัตลักษณ์ของชีวิตจะถูกกระชากออกไปจากเรา นาซีใช้วิธีดังกล่าวในการในการทำลายความเป็นมนุษย์ของนักโทษ เพื่อให้พวกเขาลืมความเป็นมนุษย์ที่เคยเป็น ไม่ว่าจะเคยเป็นหมอ อาจารย์ นักบวช นักดนตรี หรือนักธุรกิจ ทุกคนจะถูกบังคับให้ลืมตัวตนใดๆ ที่เคยเป็นมาก่อนหน้าเพื่อมาใช้ชีวิตด้วยกันในสภาพต่ำกว่ามนุษย์ในค่ายแห่งนี้”

ถ้าคิดภาพตามไปกับถ้อยคำบอกเล่าทำให้รู้สึกได้ว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงเหลือเกิน แต่ก็น่าตลกร้ายที่เราอาจจะเห็นการแต่งกายล้อเลียนชุดทหารนาซีกันจนชินตา

หากแต่กับคนที่ขึ้นชื่อเป็นชาวเยอรมันแล้ว มันคงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกและคงขำไม่ออก

“ความรุ่งโรจน์และล่มสลายของเขตแดนและลัทธิความเชื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ออกมาสู่ผู้อ่านในวงกว้าง โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับการจัดการความทรงจำในอดีตของพวกเขา เพื่อที่จะถ่ายทอดบทเรียนที่ผิดพลาดของคนรุ่นก่อนสู่คนรุ่นต่อไป ในขณะที่ประเทศของเราเหมือนจะจัดการความทรงจำทำนองนี้ด้วยการบังคับให้ลืมเสียมากกว่า”

“อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ”

ยุโรปมืด

ยุโรปมืด

“ในขณะที่ประเทศเยอรมนีกำลังพยายามจัดการกับขับเน้นประวัติศาสตร์และความทรงจำด้วยการบันทึกและส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้  เรื่องราวการผิดพลาดของบรรพบุรุษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสังหารชาวยิวของนาซี การปลุกระดมเรื่องเลือดอารยันอันบริสุทธิ์ของฮิตเลอร์ ล้วนเป็นเรื่องที่ถูกบรรจุลงในบทเรียนชาวเยอรมันตั้งแต่เด็ก ค่ายกักกันเป็นสถานที่ทัศนศึกษาที่เด็กเยอรมันทุกคนต้องเคยไป ทั้งหมดนี้ ทำโดยจุดหมายสำคัญคือป้องกันไม่ให้วงล้อของประวัติศาสตร์หมุนย้อนกลับมายังหนทางเดิม”

แต่กลับกันเขาย้อนกลับมามองประเทศไทยของเรา ถ้าพูดถึงความผิดพลาดของคนรุ่นเก่าก่อน มีหลายเรื่องราวที่ถูกเก็บเอาไว้แทบไม่ได้ให้คนรุ่นหลังเรียนรู้ จนคล้ายกับถูกบังคับให้ลืมมันไปเสียด้วยซ้ำ

แม้จะเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่จะดูโหดร้ายไปเสียหน่อย แต่ภายในหนังสือก็เต็มไปด้วยภาพถ่ายที่สวยงามสลับกับเล่าเรื่องราว ทำให้ได้กลิ่นเคล้าคลุ้งของบรรยากาศสถานที่ไปเยือน

การนำเสนอเรื่องของเขาถือว่าทรงพลังต่อผู้อ่านมาก เพราะได้พาเราเข้าไปสู่ห้วงของความมืดมนที่เคยเกิดขึ้นกับยุโรปตะวันออก พร้อมกับฉายภาพความโหดร้ายที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ แสดงให้เห็นภาพของมิติทับซ้อนระหว่างปัจจุบันและอดีตสลับกันไป

ทั้งยังฉายให้เห็นภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ความรุนแรง ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทำให้บอกเล่าถึงสภาพปัจจุบันและความทรงจำที่เป็นบาดแผลของพื้นที่เหล่านั้นได้เป็นอย่างดี

หากให้นิยามหนังสือเล่มนี้ มันอาจจะไม่ได้ว่าด้วยเรื่องของความสิ้นหวังเพียงอย่างเดียว
แต่หนังสือยังช่วยให้เราก้าวไปสู่มุมมองที่พบกับแสงสว่างที่มากขึ้นเรื่อยๆ ของยุโรปตะวันออกอีกด้วย

แม้เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดออกมาจะไม่ได้เรียงลำดับตามช่วงเวลาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนหน้าของประวัติศาสตร์ แต่เรื่องราวต่างๆ นั้นเป็นเหตุการณ์สำคัญที่มักจะคอยถูกผลิตซ้ำย้ำเตือนใจอยู่เสมอเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์กลับมาซ้ำรอย

สำหรับเราบอกได้เลยว่า ยุโรปมืด ไม่ใช่หนังสือท่องเที่ยวธรรมดาอย่างแน่นอน

ยุโรปมืด

Writer

Avatar

นิภาภรณ์ เรืองฤทธิ์

อดีตนักศึกษามานุษยวิทยา สนใจในเรื่องราวของผู้คน สังคม วัฒนธรรม หลงรักการออกเดินทางสู่ธรรมชาติ หลงใหลในเสียงเพลง และการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวอักษร

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan