สมัยเด็ก ฉันเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยที่อยู่ใกล้ย่านสยามสแควร์ ชีวิตหลายปีของฉันจึงผูกพันอยู่กับสถานที่ต่างๆ ในย่านนี้

หนึ่งในนั้นคือเหล่าโรงหนังเครือ APEX

เมื่อหวนรำลึก ฉันเห็นสถานที่ที่ครอบครองมวลบรรยากาศไม่เหมือนใคร มีตั๋วราคาจับต้องได้ และฉายหนังทางเลือกที่เปิดโลกให้กว้างขึ้น แม้เป็นธรรมดาที่ไม่มีอะไรคงอยู่ตลอดไป แต่หลายปีที่เลยผ่าน ขณะสยามค่อยๆ พลิกเปลี่ยนโฉมหน้า ฉันไม่คาดคิดว่าสิ่งที่จะไม่เหมือนเดิมคือโรงหนังเหล่านี้

เรามีวิธีรำลึกและจดจำเรื่องราวต่างกัน แต่หนึ่งในวิธีที่ฉันรู้สึกว่าน่ารักมากคือ การเก็บโรงหนังที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปไว้ใน zine หรือหนังสือทำมือ

SCALA Zine

SCALA Zine ที่วางอยู่ข้างฉันตอนนี้เขียนและวาดโดยนักวาดภาพสาวชื่อ ฐิตินันท์ พงษ์จารุวัฒน์ ภายในสำรวจและบันทึกหลากหลายแง่มุมของโรงหนังสแตนด์อะโลนเอาไว้ เมื่อเปิดอ่าน คุณจะพบประวัติความเป็นมาของโรงหนัง เกร็ดเชิงสถาปัตยกรรม บทสัมภาษณ์ผู้คนในโรงหนัง จนถึงมุมมองจากคนดูผู้ผูกพันและมีที่แห่งนี้เป็นหนึ่งในชิ้นส่วนสำคัญของชีวิต เช่น เหล่าผู้กำกับหนังอย่างเต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

SCALA Zine
SCALA
SCALA Zine

ประสบการณ์การอ่านเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล สำหรับฉัน  ซีนเรื่องโรงหนังสกาลาบอกเล่ามากกว่าแค่เรื่องราวตัวโรงหนัง ฉันได้ความรู้เชิงสถาปัตยกรรม เห็นความเป็นไปของยุคสมัยนั้น และซึมซับวิธีคิดของผู้คน สิ่งเล็กๆ ที่ฉันชอบมากคือพี่ๆ หลายคนที่ทำงานในสกาลาอยู่กับโรงหนังนี้มามากกว่า 40 ปี เป็นอายุงานที่น่าตื่นตาสำหรับ ‘เด็กสมัยนี้’ และชวนให้ครุ่นคิดต่อว่าอะไรคือความสุข คือเหตุผลที่ทำให้พวกเขาตื่นมาทำงานในโรงหนังแห่งเดิมยาวนานกว่าครึ่งชีวิตปัจจุบัน

มองยังภาพกว้างกว่านั้น ซีนเล่มนี้ชวนให้คิดถึงความสำคัญของโรงหนังสแตนด์อะโลน หรือพูดอีกอย่างคือ ‘ทางเลือก’ ของบ้านเรา ในฐานะผู้ชม เรารักสกาลาแต่ยังไปจ่ายเงินหล่อเลี้ยงมันบ่อยแค่ไหน ถ้าแม้แต่เราเองยังไม่ได้ไป ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงอะไร

SCALA Zine
ตั๋วหนัง
สกาลา

แล้วในฐานะส่วนหนึ่งของสังคม เราควรทำอะไรและทำอะไรได้บ้าง ถ้าคิดว่าการมีทางเลือกนั้นสำคัญและอยากให้มีทางเลือกเบ่งบานเพิ่มขึ้นมากกว่าลดหายลงไปอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้

อีกอย่างที่ฉันรู้สึกคือซีนเล่มนี้เป็นมากกว่าหนังสือเล่าเรื่องโรงหนังสกาลา แต่สะท้อนศักยภาพของหนังสือทำมือซึ่งเป็น ‘สิ่งพิมพ์อิสระ’ อย่างยิ่ง

ในฐานะคนรักหนังสือ ฉันขอบคุณคนเขียนที่ทำให้ฉันใจเต้นแรงด้วยกิมมิกทำมือแสนน่ารัก เช่น บทสัมภาษณ์คนดูที่มาในซองจดหมายราวกับจดหมายรัก หรือตั๋วหนังกระจุกกระจิกในส่วนรายละเอียดโรงหนัง นี่คืออิสระเต็มหน้ากระดาษของสิ่งพิมพ์อิสระ เราได้เล่าเรื่องที่อยากเล่า ผ่านรูปแบบที่อยากเห็น ขณะเดียวกันก็สร้างสรรค์ความหลากหลายสู่สายตาผู้อ่าน

SCALA Zine
สกาลา

จะว่าไปแล้ว สิ่งพิมพ์ทางเลือกนับว่าเป็นวัสดุที่เหมาะมากในการเล่าเรื่องโรงหนังทางเลือกแบบนี้

อ้อ ซีนสกาลาไม่มาแบบแสตนด์อะโลน แต่เคียงข้างกันยังมี ‘Place & People’ ที่รวมภาพถ่ายโรงหนังสกาลาที่ถ่ายโดย วิมลพร รัชตกนก พร้อมโพลารอยด์ใบจริง 1 ใบ

SCALA

ทั้งหมดรวมเป็นก้อนความทรงจำมีค่าถึงโรงหนังแห่งหนึ่ง ความทรงจำที่ทำให้ฉันรู้ว่าแม้เป็นธรรมดาที่ไม่มีอะไรคงอยู่ตลอดไป แต่การได้พบโรงหนังแห่งนี้คือเรื่องดี

ขอบคุณและจะคิดถึงเธอนะ สกาลา

*สั่งซื้อ SCALA Zine ได้ที่ Facebook l Spacebar Design Studio (ใครพรีออเดอร์ภายในวันที่ 31 พ.ค. จะได้ Zine ที่ระลึกซึ่งเป็นภาพโรงหนังลิโดด้วยนะ)

ภาพ ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan