Maniac

ประเภท Drama, Comedy, Sci-fi

ประเทศ USA

ผู้กำกับ Cary Joji Fukunaga

ผู้เขียนบทโทรทัศน์ Patrick Somerville

นักแสดงนำ Jonah Hill, Emma Stone, Sonoya Mizuno

ความยาว 10 Episodes

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์*

รีวิว Maniac Netflix

 

อะไรที่ทำให้คนคนหนึ่งป่วยทางจิต

แล้วอะไรที่จะทำให้เขาคนนั้นหายป่วยได้

นี่เป็นคำถามที่หลายตัวละครใน Maniac และอาจรวมไปถึงตัวซีรีส์เอง น่าจะกำลังพยายามหาคำตอบ

ฉันไม่อาจชี้ชัดได้ว่าควรจะนิยามซีรีส์เรื่องนี้ว่าเป็นประเภทไหน เพราะตัวมันเองมีทั้งความเป็นไซไฟ แต่ก็ย้อนยุค เล่าเรื่องที่เป็นชีวิตคนธรรมดา แต่ก็พูดถึงอะไรที่แฟนตาซีร่วมด้วย เหมือนจะนำเสนอแบบสบายๆ ขำๆ แต่ก็มีประเด็นเชิงจิตวิทยาแซมซ่อนอยู่ข้างใน ความผสมผสานจนยากจะอธิบายและเข้าใจของมัน ทำให้ฉันยิ่งอยากชวนทุกคนมาลองพยายามอธิบายและทำความเข้าใจมันไปด้วยกัน

 

 

ซีรีส์เล่าเรื่องเกี่ยวกับ ‘ยา’ 3 เม็ด ที่จะช่วยรักษาคนทุกคนให้หายจากโรคทางจิตทุกโรคอย่างถาวรตลอดกาล ปัญหาคือ ยาวิเศษนี้ยังคงอยู่ในช่วงทดลอง บริษัทยาจึงต้องเชิญคนเข้ามาเซ็นยินยอมเสี่ยงอันตรายทดลองยานี้ ในห้องทดลองหน้าตาแปลกพิลึก ที่มีปัญญาประดิษฐ์เป็นผู้ดูแลระบบ ในการทดลองครั้งที่ 73 โชคชะตาดึงผู้เข้าร่วมทดลอง 2 คนคือ โอเวน พิลกริม (โจนาห์ ฮิลล์) และแอนนี่ ลินดส์เบิร์ก (เอ็มม่า สโตน) เข้ามาผูกพันกัน ทำให้การทดลองผันผวนพิสดาร

นอกจากการทดลองจะมีผลต่อผู้เข้าร่วมทดลองแล้ว ยังมีผลต่อผู้ดูแลการทดลองด้วย แม้เรื่องราวหลักจะเป็นช่วงเวลาในห้องทดลองของทั้งสองตัวละคร แต่ซีรีส์ก็สนใจชีวิตของตัวละครอื่นๆ เช่นเจ้าของความคิดผลิตยานี้ หญิงสาวผู้เป็นหัวเรือใหญ่ของการทดลอง และปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นหัวใจสำคัญของการทดลองก็ยังมีบทบาทที่น่าสนใจอีกด้วย

ใช่ เรื่องแปลกๆ ทั้งหมดนี้อัดรวมกันอยู่ในซีรีส์ 10 ตอน มีความยาวตอนละ 30 – 40 นาทีเท่านั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าแต่ละตอนจะชวนหัวแค่ไหน

 

 

หลายคนมีความเห็นว่า ซีรีส์เรื่องนี้เหมือนการแอบดูความฝันของคนอื่น แม้เรื่องราวหลักจะอยู่ในห้องทดลองของบริษัทยา แต่หลังจากกินยาแต่ละเม็ดเข้าไป ประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมการทดลองแต่ละคนก็กลายเป็นฉากอันหลากหลายไร้ข้อจำกัด บางทีก็เหมือนจริงจนชวนให้สับสน บางทีก็หลุดโลกจนคิดว่าอ่านนิยายมากไปหรือเปล่า แต่ไม่ว่าเวอร์ชันไหนก็จะมีเค้าโครงความจริงอยู่เสมอ

เวลาเราฝันเรามองเห็นอะไร? เหล่าจิตแพทย์สายจิตวิเคราะห์บอกว่า ความฝันเป็นภาพสะท้อนจิตใต้สำนึกของเราเอง อาจเป็นเรื่องที่กังวลว่าจะเกิด เรื่องที่คาดหวังว่าอยากให้เป็นจริง เรื่องในอดีตที่เป็นแผลฝังใจ หรือเรื่องเครียดที่เพิ่งพบเจอมาเร็วๆ นี้ก็ได้

หลังจากดูซีรีส์เรื่องนี้ ฉันก็ตีความต่อไปเองว่า ความฝันเป็นเหมือนพื้นที่ให้อดีตกับอนาคตมาผสมกัน เช่นสิ่งที่โอเวนและแอนนี่เคยเผชิญ มาผสมกับสิ่งที่พวกเขาอยากเผชิญ กลายเป็นซีนแปลกๆ ที่เรานั่งดูกันด้วยความงงงวย และนี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้สร้างเลือกใช้สไตล์ Retro-futurism เป็นฉากหลักของเรื่อง นั่นคือโลกที่เหมือนอยู่ทั้งในอดีตและในอนาคตพร้อมกัน จอคอมพิวเตอร์และโทรทัศน์ที่ยังเป็นกล่องเหมือนช่วงยุค 80 – 90 แต่มีปัญญาประดิษฐ์ที่ฉลาดจนรู้สึกและฟังบทกวีได้ หรือโลกเสมือนหน้าตาสุดล้ำที่เก็บอยู่ใน Floppy Disk ทรงสี่เหลี่ยม แถมเครื่องแต่งกายและทรงผมของแต่ละคนก็ยิ่งทำให้เดาไม่ถูกว่าเรื่องเกิดขึ้นในปีไหนกันแน่

ทุกอย่างเบลอ น่าสับสน จนเหมือนความฝัน

 

 

นอกจากความยิ่งใหญ่ของโปรดักชันที่ชวนให้ฉันอยากกราบทีมเบื้องหลังแต่ละคนเรียงตัวแล้ว ฉันอยากขอพูดถึงคนที่ใครๆ ก็ต้องพูดถึงเสียหน่อย เพราะสำหรับฉันแล้ว พวกเขาเป็นส่วนสำคัญในการจะสร้างฝันบ้าๆ นี้ให้เป็นจริงขึ้นมาอย่างมาก นั่นคือนักแสดงนำทั้งสาม

ตอนที่ซีรีส์ประกาศตัวออกมา หลายคนน่าจะตื่นเต้นกับความผอมของโจนาห์ ฮิลล์ ที่เปลี่ยนลุคของเขาจนแทบจำไม่ได้ แต่สำหรับฉัน นี่คือโจนาห์ ฮิลล์ คนเดิมที่มักจริงจังจนน่าขำ ทำให้เราดูไม่ออกว่าเมื่อไรจริงเมื่อไรหลอก ยิ่งเมื่อคู่กับเอ็มม่า สโตน นักแสดงที่มีส่วนผสมของความเปรี้ยว เกรี้ยวกราด และตลก จึงขับเน้นความรู้สึกผสมปนเประหว่างความจริงและความลวง ให้ชัดเจนขึ้นไปอีก

ส่วนอีกคนที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือโซโนยะ มิสึโนะ นักแสดงสาวมากความสามารถผู้เกิดในญี่ปุ่นแต่เติบโตที่อังกฤษ คุณอาจเคยบังเอิญเห็นเธออยู่ในหนังหลายเรื่อง เช่น Crazy Rich Asians และ La La Land รวมถึงบทที่โดดเด่นอย่างลับๆ ใน Ex Machina แม้เธอจะเป็นตัวละครที่ไม่ได้พูดเลย แต่กลับน่าจดจำอย่างประหลาด เมื่อมาถึงเรื่องนี้ที่มีบทโดดเด่นและล้ำลึก เธอก็ดันซ่อนใบหน้าอยู่หลังผมบ๊อบและแว่นหน้าเตอะเสียอีก จึงได้แต่หวังว่าเธอจะได้เล่นบทใหญ่จนเป็นที่จดจำสักวัน

 

 

ปกติแล้ว เวลาเจอหนังหรือซีรีส์ที่เข้าใจยาก ฉันมักกลับไปดูประวัติผู้กำกับเพื่อลองหาจุดร่วมของสิ่งที่เขาชอบสื่อสาร แต่กลายเป็นว่าชื่อของ Cary Joji Fujinaka ทำให้ฉันสับสนมากขึ้นไปเสียอีก ผลงานก่อนหน้านี้ของเขามีตั้งแต่ Sin Nombre (2009) หนังระทึกขวัญเม็กซิกัน Jane Eyre (2011) หนังย้อนยุคจากวรรณกรรมคลาสสิกของอังกฤษ True Detective (2014) ซีรีส์สืบสวนคาวบอยอเมริกัน และ Beasts of No Nation (2015) หนังสะท้อนความจริงอันโหดร้ายเรื่องสงครามกลางเมืองในแอฟริกา

งงไหมล่ะ ว่าจู่ๆ กลายมาเป็นซีรีส์หลุดโลกแบบนี้ได้อย่างไร

ถึงแม้จะไม่เคยทำหนังประเภทนี้มาก่อน แต่ก็เห็นได้ชัดเจนตลอดเรื่องว่าผู้สร้างรู้จักประวัติศาสตร์หนังไซไฟเป็นอย่างดี โดยเฉพาะหลายฉากที่ชวนให้เรานึกถึงหนังดังในอดีต เช่น อพาร์ตเมนต์ของโอเวนที่คล้ายกับของแซมใน Brazil (1985) ห้องนั่งเล่นกลางที่หน้าตาเหมือนถอดแบบมาจาก Alien (1979) และฉากสำคัญของเรื่อง ที่ถ้าคุณเคยดู 2001: Space Odyssey (1968) ก็จะต้องนึกถึงแน่นอน

 

 

ในอีกแง่หนึ่ง ประวัติการทำหนังหลากประเภท ก็อาจมีส่วนทำให้ซีรส์เรื่องนี้ออกมาสำเร็จได้ด้วย โดยเฉพาะฉากความฝันระหว่างใช้ยา ที่ภาพจำลองในยุคต่างๆ มีอารมณ์เฉพาะตัวแตกต่างกันไป หากไม่ใช่เพราะประสบการณ์ของเขา ก็คงไม่อาจทำซีรีส์ที่หลากหลายขนาดนี้ได้อย่างสมบูรณ์

ส่วนในด้านประเด็นที่เรื่องราวต้องการสื่อสาร แม้จะบอกว่านำแนวคิดมาจากซีรีส์ชื่อเดียวกันของนอร์เวย์ ว่าด้วยชายผู้จินตนาการว่าตัวเองเป็นฮีโร่ในสถานการณ์ต่างๆ จากสนามฟุตบอลถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ฉันกลับมองว่าแนวคิดที่ผู้สร้างมอบให้ Maniac เวอร์ชันนี้เป็นอะไรที่ออกจะแปลกใหม่พอสมควร เพราะความป่วยนี้ไม่ใช่ปัญหาของคนคนเดียวแล้ว กลับยึดโยงไปเกี่ยวกับผู้อื่นอีกมากมาย   

ตลอดเรื่อง จะเห็นว่าความสัมพันธ์เป็นส่วนสำคัญมาก ไม่ว่าจะระหว่างพ่อแม่ลูก พี่น้อง หรือระหว่างคนแปลกหน้าก็ตาม แถมยังมีความสัมพันธ์แปลกๆ ที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีด้วย เช่น Ad Buddy ที่ยอมให้คนมานั่งโฆษณาขายตรงข้างๆ เพื่อแลกกับการให้เขาจ่ายเงินค่าต่างๆ นานาให้ Daddy’s Home บริการไปเป็นพ่อปลอมให้แม่หม้ายลูกติด หรือ Friend Proxy บริการเพื่อนสมมติ ให้คนแปลกหน้ามาทำตัวเป็นเพื่อนของคุณ ยิ่งกว่านั้นคือมีเทคโนโลยีสำหรับตัดขาดความสัมพันธ์ แบบ a-void ที่พ่อของแอนนี่ใช้ด้วย

ความสัมพันธ์ และการขาดสัมพันธ์เหล่านี้ กลับกลายเป็นส่วนสำคัญที่สร้างและสลายความป่วยในจิตใจคน เมื่อมาถึงตอนจบ จึงไม่สำคัญแล้วว่าโอเวนและแอนนี่ถูกรักษาจนหายหรือไม่ แต่ความสัมพันธ์ที่พวกเขาได้สำรวจและพบเจอต่างหากที่จะช่วยให้พวกเขาดำเนินชีวิตต่อไปได้

วิธีที่ดีที่สุดในการรักษาอาการป่วย อาจจะเป็นการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันก็ได้

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ