Cooked (Netflix Original Series)
Mini series 4 ตอน
ตอนละ 60 นาที

 

เรากำลังเห่อการหัดทำอาหาร ก็เลยเลือกซีรีส์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอาหารมาดูเพื่อขโมยวิชาอยู่บ่อยๆ เมื่อไม่นานมานี้เราไปเลือกจิ้มสารคดีที่มั่นใจว่าเกี่ยวกับการทำอาหารแน่ๆ ชื่อว่า COOKED ใน Netflix แต่กลายเป็นว่าสารคดีเรื่องนี้ไม่ได้บอกเราแค่เรื่องอาหาร แต่มันยังบอกเล่าเรื่องราวใหญ่โตอย่างการเปลี่ยนแปลงของสังคมมนุษยชาติที่เชื่อมโยงกับเรื่องอาหารและการกินอีกต่างหาก

COOKED, สารคดี, อาหาร, Netflix

ไมเคิล พอลแลน (Michael Pollan) นักเขียนชาวอเมริกัน เป็นคนเล่าเรื่องในสารคดีเรื่องนี้ เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับวิถีชีวิตมนุษย์และอาหารมาหลายเรื่อง และเป็นคนเขียนหนังสือเรื่อง COOKED ซึ่งเป็นที่มาของสารคดีเรื่องนี้นี่แหละ

COOKED, สารคดี, อาหาร, Netflix

COOKED (ไม่ว่าจะเป็นสารคดีหรือหนังสือ) เล่าเรื่องผ่านความขี้สงสัยของไมเคิลว่า องค์ประกอบพื้นฐานของทุกสิ่งบนโลกอย่างไฟ น้ำ ลม ดิน มีบทบาทในการเปลี่ยนวัตถุดิบจากจุดดั้งเดิมที่สุดของมันจากธรรมชาติ มาเป็นอาหารรสอร่อยบนจานของเราได้ยังไง แล้วมันเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์อย่างไร

สารคดีขนาด 4 ตอนนี้ไม่ได้แค่ดูแล้วหิว อยากลุกขึ้นมาเตรียมตะหลิว ตั้งกระทะ แต่มันยังตอบคำถามเกี่ยวกับความผิดเพี้ยนของวิถีชีวิตของเราหลายอย่างด้วย

 

รู้จักที่มาของความอร่อย

COOKED, สารคดี, อาหาร, Netflix

การดูสารคดีนี้ทำให้เรารับรู้ที่มาของอาหารในจานตรงหน้าและทำให้เรามองมันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เรื่องราวในสารคดีนี้เกิดจากการที่ไมเคิลไปหาคำตอบให้เรื่องที่เขาสงสัยโดยการขอความรู้จากผู้เชี่ยวชาญเรื่องต่างๆ

เรื่องแรกที่เขาเล่าคือ ‘เรื่องไฟ’

ไฟเป็นองค์ประกอบที่เป็นจุดตั้งต้นของการปรุงอาหารและยังเป็นองค์ประกอบที่ก่อกำเนิดสังคมมนุษย์ เพื่อความเข้าใจเรื่องนี้ เขาไปหาครอบครัวชาวมาร์ตู (Martu) ซึ่งเป็นชนเผ่าในทวีปออสเตรเลียที่วันธรรมดาพวกเขาก็อยู่บ้านแบบที่เราๆ อยู่กัน มีครัว มีห้องนอนแบบสมัยใหม่ แต่ว่าในช่วงวันหยุดพวกเขาจะออกไปใช้ชีวิตวิถีแบบดั้งเดิม ทั้งก่อไฟ ล่าสัตว์ และพูดคุยกันรอบกองไฟ ถ่ายทอดวิชาการหากิน ให้ลูกหลานได้สืบทอด ซึ่งน่าจะเป็นชนเผ่ากลุ่มท้ายๆ ที่ยังมีวิถีชีวิตดั้งเดิมขนาดนี้ให้เราศึกษา

วิธีการหาอาหารสำหรับชาวมาร์ตูคือการล่าสัตว์มาย่างไฟ แต่เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เราขอเล่าต่อไปเลยว่าจริงๆ แล้วพวกเขาไม่ใช่คนโหดร้ายอะไร ตรงกันข้าม พวกเขาล่าสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหารด้วยความเคารพต่อสายพันธุ์ที่มีชีวิตอยู่เพื่อเป็นอาหารของมนุษย์

พวกเขายังบอกด้วยว่า

“คนที่กินเนื้อ ควรจะออกไปล่าสัตว์เองดูสักครั้ง แล้วทุกคนจะเคารพอาหารที่เรากินมากขึ้น มันจะทำให้เราจะไม่เลือกกินแค่ส่วนที่ชอบ และโยนสิ่งที่ไม่ชอบทิ้ง เพราะทุกคนจะได้เห็นว่าอาหารที่เรากิน มันคือการเสียสละของสิ่งมีชีวิตที่เขาเกิดมาเพื่อให้เราอิ่มท้อง”

COOKED, สารคดี, อาหาร, Netflix

และถ้าไฟเป็นต้นกำเนิดของการปรุงอาหารของมนุษย์ องค์ประกอบสำคัญถัดมาอย่าง ‘อากาศ’ ก็เป็นตัวแปรสำคัญลับๆ ที่ทำให้สังคมมนุษย์เติบโตแบบก้าวกระโดดจากการค้นพบการทำขนมปัง

การกำเนิดของขนมปังนับเป็นก้าวที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ เพราะก่อนหน้านี้ที่มนุษย์มีน้ำและมีแป้ง มนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตด้วยอาหาร 2 อย่างนั้นได้ แต่เมื่อมนุษย์ค้นพบว่าการเอาแป้งผสมน้ำแล้วทิ้งเอาไว้ เมื่อแป้งก้อนนั้นฟูแล้วเอาไปอบมันก็จะกลายเป็นอาหารรสชาติดีที่อยู่ท้องและให้สารอาหารสำหรับการดำรงชีวิตได้ที่เรียกว่าขนมปัง รูอากาศพวกนี้แหละที่ทำให้ก้อนแป้งกลายเป็นขนมปัง รูอากาศพวกนี้มีรสชาติที่เกิดจากยีสอันเป็นรสชาติดั้งเดิมของขนมปังด้วยนะ ที่นี้เราก็รู้แล้วว่าขนมปังที่เนียนไม่มีรูนั้นคือความผิดปกติเป็นอย่างยิ่ง

COOKED, สารคดี, อาหาร, Netflix

การกำเนิดของวัฒนธรรมอาหาร

เราไม่รู้ว่าสารคดีเรื่องนี้ใช้อุปกรณ์อะไรถ่ายทำ แต่คุณภาพของทั้งภาพและเสียงในสารคดีนี้มันทำให้เรารู้สึกหิว ทั้งเสียงมีดกระทบกับเขียง สีสันของผักในหม้อ เสียงบิขนมปัง ภาพน้ำซุปข้นหน่อยๆ ที่เดือด หรือแม้กระทั่งเสียงฉู่ฉ่าเมื่ออาหารสัมผัสความร้อนจากเตา ทำให้เราจินตนาการถึงรสชาติของอาหารบนจอได้เลยทีเดียว

กว่าที่มนุษย์อย่างเราจะมีประสบการณ์ในการกินอาหารที่มีรสชาติหลากหลาย และมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปได้ขนาดนี้ ก็เมื่อมนุษย์มีความรู้ความสามารถในการคิดค้นและผลิตวัตถุที่ทนไฟ ทนความร้อน ได้นานอย่างหม้อไหที่เราเห็นในพิพิธภัณฑ์ หลังจากที่รู้จักแค่รสชาติจากเนื้อเผาไฟมาเป็นเวลานาน

COOKED, สารคดี, อาหาร, Netflix

องค์ประกอบที่ไมเคิลเล่าต่อไปคือ ‘น้ำ’

เมื่อเรามีภาชนะที่เอามาทำอาหารได้ มนุษย์ก็เลยเริ่มใช้น้ำเข้ามาประกอบอาหาร

น้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำให้อาหารมีรสชาติซับซ้อนมากขึ้น และทำให้พืชพันธุ์ต่างๆกลายมาเป็นอาหารได้มากขึ้น ต่อมาก็กลายเป็นสูตรอาหารต่างๆ จนกระทั่งทำให้เกิดตำรับอาหารต่างๆ ขึ้น ณ ส่วนต่างๆ ของโลก

น้ำเป็นส่วนผสมที่สามารถดึงเอาสารอาหารที่อยู่ลึกเข้าไปในเนื้อเยื่อของเนื้อสัตว์และผักต่างๆ ออกมาได้ การทำอาหารด้วยน้ำจึงเป็นการทำที่ยิ่งใช้เวลานานก็ยิ่งอร่อย

รสชาติของน้ำ เครื่องเทศ พืชผักที่ปลูกในแต่ละพื้นที่ จะให้รสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ บอกตัวตนของพื้นถิ่นนั้นๆ นี่คงเป็นเหตุผลที่ทำไมเราถึงมักจะไปหาของกินอร่อยๆ เวลาไปเที่ยวตามที่ต่างๆ เพราะนอกจากมันจะหากินไม่ได้ที่บ้านเราเองแล้ว ยังทำให้เราสนิทกับพื้นที่นั้นๆ มากขึ้นอีกด้วย

และสุดท้าย สารคดีเรื่องนี้พูดถึงองค์ประกอบจากผืนดินผ่าน ‘การหมัก’

มนุษย์เริ่มตั้งถิ่นฐานหลังจากที่มนุษย์รู้จักการทำเกษตร และแรงจูงใจสำคัญที่ไมเคิลเล่าว่า ทำให้เกิดการลงหลักปักฐานและทำการเกษตรนั้นก็คือ การอยากปลูกบาร์เล่เพื่อเอามาหมักเบียร์ ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่เข้าใจได้ และมันก็เป็นจุดเริ่มต้นของการหมักสิ่งต่างๆ ต่อมา ไม่ว่าจะเป็น ชีส ช็อกโกแลต ซาลามี่ หรือกิมจิ  

การหมักไม่มีการใช้ความร้อนมาช่วย แต่มีปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาหารสุกคือจุลินทรีย์ ในสารคดีนี้ไมเคิลพาเราไปรู้จักกับผู้เชี่ยวชาญด้านจุลินทรีย์แบบต่างๆ ซึ่งเราก็เพิ่งได้รู้นี่แหละว่าจุลินทรีย์ที่นำมาทำอาหารมันมีความละเอียดอ่อนและเรื่องราวมากมายขนาดนี้

COOKED, สารคดี, อาหาร, Netflix

การทำอาหารเป็นกิจกรรมที่เราได้เป็นผู้ให้ เราแลกความสะดวกสบายไปกับความอิ่มใจในการปรุงอาหาร เราทุกคนต่างมีความทรงจำดีๆ เกี่ยวกับการทำอาหารในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่หรือคุณพ่อที่ทำอาหารอร่อยๆ ให้เราทาน ห้องครัวที่บ้าน หม้อกระทะ ถ้วย จาน ชาม มันเป็นสัญลักษณ์ของความหลอมรวมเป็นครอบครัวเดียวกัน

แต่ทุกวันนี้ เรากลับไม่ค่อยได้ทำอาหารทานเองกันสักเท่าไหร่

 

วิถีคนเมืองกับการทำอาหาร

ทุกวันนี้ สังเกตได้ว่าคนที่เป็นโรคจากการกินล้วนแล้วแต่เป็นคนเมืองที่ใช้ชีวิตเร่งรีบ และฝากชีวิตไว้กับอาหารสำเร็จรูปที่ผ่านขั้นตอนมากมายจนไม่เหลือเค้าเดิมของมัน กลายเป็นว่าการทำอาหารเป็นเพียงแค่ทางเลือกหนึ่งไปเสียแล้ว

ในสารคดีนี้ไมเคิลเล่าว่า เคยมีการทำการทดลองให้ชาวชนเผ่าในทวีปออสเตรเรียอย่างชาวอะบอริจิ้นที่หันมาใช้ชีวิตแบบคนเมืองและมีภาวะโรคเบาหวาน โรคอ้วน กลับไปลองใช้ชีวิตหากินแบบดั้งเดิม คือหาอาหารและทำอาหารกินเองในชุมชนดั้งเดิมของตัวเองดู ผลการทดลองนั้นพบว่าภายใน 6 สัปดาห์ชาวอะบอริจิ้นกลุ่มนี้น้ำหนักลดลงไปเฉลี่ยคนละ 6 กิโลกรัม และไม่มีภาวะโรคต่างๆ อีกเลย

‘Time is a missing ingredient in our recipe and our life.’ เวลาคือส่วนประกอบที่หายไปจากสูตรอาหารและชีวิตของเราในทุกวันนี้ และมันก็เป็นส่วนประกอบที่ยิ่งมีมากอาหารก็ยิ่งอร่อยเสียด้วย

วัฒนธรรมอาหารเกิดขึ้นเมื่อบ้านเมืองมีความสงบ ผู้คนมีเวลาที่จะปรุงอาหารรสเลิศจากวัตถุดิบต่างๆ แต่เมื่อมีปัจจัยอันตรายที่ทำให้การทำอาหารอย่างเนิบช้าไม่อาจทำได้อีกต่อไป ระบบก็เลยสร้างความสำเร็จรูปขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์ยังมีอาหารรับประทานได้เพียงพอ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สังคมมนุษย์ก้าวสู่ความเป็นอุตสาหกรรมเต็มตัว ผู้คนทั้งชายหญิงทำงานนอกบ้าน ทำให้มีเวลาทำอาหารน้อยลง รวมทั้งมีบริษัทและโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปออกมาป้อนตลาดมากมาย ทำให้ทั้งการรับรสชาติของคนและความอดทนในการลงมือทำอาหารผิดเพี้ยนไปจากจุดเริ่มต้นมาก

ไมเคิลบอกว่า “วิถีชีวิตคนเมืองทุกวันนี้ยากที่จะหาเวลามาทำอาหาร ก็เลยหันไปใช้ทางลัดโดยการซื้ออาหารแบบสำเร็จรูป หรือไม่ก็กินอาหารจากที่ร้าน ซึ่งนั่นก็ทำให้เราเป็นแค่ผู้บริโภคที่ไม่ได้เห็นที่มาของอาหาร และมันก็ทำให้ความเป็นมนุษย์ของเราถูกลิดรอนไป”

COOKED, สารคดี, อาหาร, Netflix

แต่ก็ไม่ใช่ทั้งโลกที่จะเป็นแบบนั้น ในสารคดีเรื่องนี้เล่าว่า ที่อินเดีย แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนไปมากแค่ไหน แต่ผู้หญิงหลายคนยังมีหน้าที่หลักคือการทำอาหารให้กับครอบครัว และมันเป็นหน้าที่ที่พวกเธอภาคภูมิใจ อาหารที่ดีของชาวอินเดียคืออาหารที่ดูแลมาตั้งแต่การเลี้ยง การปลูก และพิถีพิถันในการทำ คุณแม่บ้านจะทำอาหารกลางวันร้อนๆ หอมฉุยส่งไปให้คุณพ่อบ้านที่ที่ทำงานกันเป็นปกติ ด้วยว่ามันเป็นเรื่องสลักสำคัญที่เรี่ยวแรงสำคัญในทางเศรษฐกิจของครอบครัวจะต้องได้ทานอาหารดีๆ และลูกสาวทุกคนก็จะต้องมีวิชาการทำอาหารไว้ติดตัวเพื่อดูแลสามีของเธอต่อไป ซึ่งเราว่ามันเป็นเรื่องโรแมนติกดีจัง

 

จะกินอะไรก็ได้ แต่ต้องทำเอง

COOKED, สารคดี, อาหาร, Netflix COOKED, สารคดี, อาหาร, Netflix

เรื่องที่เราชอบที่สุดในสารคดีนี้คือเรื่องที่ว่าจริงๆ แล้วเราจะกินอะไรก็ได้ แบบไม่ต้องกังวลเรื่องโรคภัยจากการกินหรือความอ้วนเลยแม้แต่น้อย เพียงแต่ทุกจานที่เราอยากกินนั้น เราต้องลงมือทำมันเอง

ในตอนจบของเรื่อง ไมเคิลสรุปเอาไว้ให้คิดกันต่อว่า “แต่ละคน แต่ละยุคสมัย ก็มีเหตุผลสำหรับการทำอาหารที่ต่างกันไป ไม่ว่าวันนี้คุณจะตัดสินใจทำอาหารทานเองให้บ่อยขึ้น คิดจะใช้วันอาทิตย์ทั้งวันเพื่อเตรียมอาหารสำหรับสัปดาห์ที่จะมาถึง หรือแม้แต่จะลองทำอะไรที่คุณเคยแต่ซื้อมาทาน สิ่งที่คุณทำมันจะเป็นส่วนหนึ่งที่ปลดล็อกคุณออกจากวิถีของความรีบเร่ง ก็ขอให้ใช้ช่วงเวลาการทำอาหารอย่างมีความสุข ในทางเศรษฐศาสตร์แล้วการทำอาหารในยุคสมัยนี้คงไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพในแง่ของการใช้เวลามากนัก แต่มันเป็นหนึ่งในโอกาสที่แสนจะหาได้ยากเข้าไปทุกทีที่จะทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง และได้ทำอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงตัวเองและคนที่เรารัก”

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น