เมื่อการสูญเสียเป็นอีกสเต็ปที่ทุกชีวิตต้องพบเจอ แต่เรามักหาความสุขเป็นตัวเลือกแรกเสมอ แล้วถ้ามีคนเผยความสูญเสียและโศกเศร้าเอาไว้อย่างงดงามละเมียดละไม ทำไมจะไม่ลองสัมผัสดูสักครั้ง

เรารู้จักงานของ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ครั้งแรกจากเรื่อง A Ripe Volcano (2011) มีคนบอกว่าไทกิคือคนทำหนังทดลอง แต่สำหรับเรา เขาคือศิลปินที่สร้างงานศิลปะผ่านสื่อภาพยนตร์ เรื่องนี้จัดฉายที่แกลเลอรี่แห่งหนึ่งบนจอขนาดใหญ่ 2 จอติดกัน ผู้ชมจะยืนดูและรู้สึกไปกับงานภาพและเสียงที่ทรงพลังอย่างมาก สร้างการจดจำจนทำให้ต้องตามดูงานต่อไปของเขา

ครั้งนี้ไทกิสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยหนังอีกแบบที่เราไม่คิดว่าเขาจะทำออกมา การสูญเสียเป็นเรื่องส่วนตัวและเปราะบางมาก มันยากเหลือเกินที่จะกลับไปรู้สึกเจ็บปวดกับเรื่องพวกนั้นได้อีก แต่ไทกิทำความเข้าใจและตีความออกมาเป็นผลงาน 2 ชิ้นในนิทรรศการ Until the Morning Comes ที่ศุภโชค ดิ อาร์ต เซนเตอร์

ภาพยนตร์สั้น 2 เรื่องคือ To the Memory of My Beloved (2018) และ Mental Traveller (2018) นำเสนอส่วนประกอบความทรงจำในอดีตผ่านเหตุการณ์ปัจจุบัน ที่สร้างบทสนทนาให้เราดำดิ่งสู่จักรวาลของโลกความเป็นจริงและโลกมายา ท่ามกลางบรรยากาศของเสียงที่แน่นหนักแต่ให้ความรู้สึกเบาโหวงล่องลอย ฝีมือโดยนักออกแบบและค้นคว้าทางเสียงชาวญี่ปุ่น ยะสึฮิโระ โมรินากะ (Yasuhiro Morinaga) ที่สร้างสรรค์งานด้วยกันมายาวนาน พร้อมชุดภาพถ่ายที่พรินต์ด้วยเทคนิคริโซ่กราฟ คราวนี้นั่งดูกับเก้าอี้เก่าที่ให้ความรู้สึกเหมือนบ้าน จอใหญ่อลังการ และแอร์ไม่หนาวจนเกินไป

Until the Morning Comes Until the Morning Comes

Until the Morning Comes

To the Memory of My Beloved เป็นการประกอบกันของรูปถ่ายรวมหมู่ญาติพี่น้อง ชีวิตวัยเด็ก สภาพในบ้านที่มีรูปปั้นพระเยซูคริสต์และพระแม่มารี ภาพสมัยยังหนุ่มยังสาวของพ่อแม่ ดำเนินไปสู่พิธีกรรมที่โบสถ์คาทอลิก การรอคอยตั้งแต่แดดเช้าจนมืดค่ำ และหมู่แสงเทียนที่จุดขึ้นเป็นท้องทะเลแห่งการรำลึกผืนใหญ่บริเวณสุสาน ไทกิเล่าให้ฟังถึงผลงานชิ้นนี้ว่า

“ผมไปถ่ายทำพิธี Ash Wednesday หรือวันพุธรับเถ้า¹ ของชาวคริสต์ ซึ่งผมรู้จักคำนี้ครั้งแรกจากกลอนของ ที.เอส. เอเลียต ที่เขียนขึ้นในช่วงปลายชีวิต เขาปล่อยให้ภรรยาอยู่สถานบำบัดพักฟื้นทางจิตโดยไม่กลับไปเจอเธออีกเลย แต่ปมของภรรยากลับเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการเขียนกวีของเขา บทกลอน Ash Wednesday (1930) เป็นการตั้งคำถามถึงความเชื่อและความศรัทธาในบางอย่าง ประเด็นนี้เชื่อมโยงกับความเชื่อของพ่อผมในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตที่ต้องการไถ่บาปที่อยู่ในใจ”

วิธีการซ้อนภาพและตัดภาพอย่างรวดเร็ว เป็นภาพอดีตสลับกับภาพปัจจุบันที่มีสีหน้าของผู้คน แววตา ความชรา เด็ก หนุ่มสาว ต้นไม้ที่ผ่านกาลเวลา แผ่นหินหลุมศพผุหัก เสียงของเข็มนาฬิกาที่เดินซ้ำๆ ถี่ๆ ประกอบกับเสียงเชลโลและเสียงสังเคราะห์อีกหลายชั้นซ้อนกัน เหมือนการรำลึกนึกทวนถึงความสูญเสีย บกพร่อง เว้าแหว่ง และการพรากจาก

Until the Morning Comes Until the Morning Comes

ในขณะที่ Mental Traveller เป็นบรรยากาศของห้องพักผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวช ถ้าคนภายนอกมองเข้าไปต้องรู้สึกถึงความอึดอัด ปราศจากอิสรภาพ แต่ดูเหมือนพวกเขาก็แค่อยู่ในโลกของตัวเอง ยืนและนั่ง นอนแล้วตื่น เหมือนไม่มีพันธะเวลา ไม่มีการล็อกแขนขาพันธนาการ เหมือนการใช้ชีวิตตามปกติ

“จริงๆ หมอบอกว่าคนที่เข้าไปเขาต้องการการพักผ่อน การไปอยู่ในนั้นเหมือนกำแพง เป็นเกราะป้องกันเขาจากโลกภายนอกหรือความเป็นจริงบางอย่าง เขาสบายใจ รู้สึกปลอดภัยเวลาไปอยู่ตรงนั้น พอผมไปถึงก็ยังไม่ถ่ายทำทันที ไปปรากฏตัวก่อน มันเหมือนมีการตอบรับพลังงานกันจนคุ้นเคย ไม่ต้องอธิบายว่าเราเป็นใคร มาทำอะไร พอเขาเห็นเรานานขึ้นก็เชื่อใจ เหมือนเขาอนุญาตโดยไม่ต้องใช้คำพูด เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดีมากที่ได้ไปถ่ายทอดความรู้สึกในพื้นที่ตรงนั้น รู้สึกมีความสุข แล้วก็ได้ทำความเข้าใจกับความเจ็บป่วยของคนใกล้ตัว งานชิ้นนี้จึงเหมือนเป็นที่ระลึก เป็นของขวัญ”

Until the Morning Comes Until the Morning Comes

ไทกิเล่าที่มาของการทำงานทั้งสองชิ้นให้ฟังต่อ “มันเป็นชีวิตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากอุบัติเหตุของแฟนเก่าที่ตกม้าและอยู่ในภาวะใกล้ตาย ต้องรักษาตัวเป็นปีๆ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เห็นความตายที่อยู่ต่อหน้า ไม่นานพ่อก็เริ่มป่วยจากภาวะสมองเสื่อม (Dementia) กลับไปกลับมาระหว่างโลกความเป็นจริงและอีกโลกหนึ่ง ต่อมาแม่ต้องผ่าตัดใหญ่ แล้วเราเป็นคนดูแล และมาช่วงหลังเพื่อนก็เล่าปมชีวิตของเขา ส่วนนักศึกษาที่เราสอนก็มีอาการซึมเศร้าและไบโพลาร์ เรารู้สึกว่าคนเหล่านั้นกล้าหาญมากที่เล่าให้ฟัง เหมือนได้เยียวยากัน ผมเลยอยากทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นผ่านการสร้างงาน”

Until the Morning Comes

ภาพยนตร์ทั้งสองไม่มีเส้นเรื่อง ไม่มีจุดจบ แต่ลักษณะของตัวงานกลับทำให้ผู้ชมต้องมนตร์สะกด ชล เจนประภาพันธ์ ภัณฑารักษ์ เล่าว่า “ภาพและเสียงของงานจะทำงานกับสมองเหมือนสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น บรรยากาศคล้ายความฝัน อย่างเรื่อง Mental Traveller ถ้าฟังเสียงดีๆ บางทีจะงงว่าเสียงมาจากทางไหน เล่นกับการรับรู้ของคนดู การตัดต่อภาพก็ใช้เทคนิคค่อยๆ ซ้อนภาพขึ้นมา การดูหนังของไทกิจึงพ้นไปจากเดิมที่พอดูจบจะรู้สึกสนุก จำพล็อตได้ แต่กลับไปสู่การใช้ไวยากรณ์พื้นฐานของหนังที่สำคัญที่สุดคือ ภาพและเสียง”

ไทกิมีผลงานที่เป็นที่รู้จักมากมาย เช่น A Ripe Volcano (2011), Time of the Last Persecution (2012), The Age of Anxiety (2013), Trouble in Paradise (2017)² ความสนใจในงานศิลปะและดนตรีอย่างงานของ ไบรอัน วิลสัน (Brian Wilson) จากวงเดอะบีชบอยส์ และผลงาน Symphonie fantastique ของคีตกวีชาวฝรั่งเศส หลุยส์-แอ็กตอร์ แบร์ลีโยซ (Louis-Hector Berlioz) ที่ก้าวข้ามเส้นแบ่งโลกจริง-โลกเสมือนและประสบการณ์หลอน (Psychedelic Experience) เป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากสร้างงานที่ออกไปสู่พื้นที่การทำงานของจิตใต้สำนึก

“ภาพที่เอามาใช้ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพที่สวยก็ได้ ภาพไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในเฟรมที่เราถ่ายเท่านั้น แต่มันรวมถึงสิ่งที่อยู่นอกเฟรมด้วย เช่น ตอนโคลสอัพมือคนป่วย ดูเหมือนเขากำลังวาดบางอย่าง แต่จริงๆ คนดูงานจะเห็นสิ่งที่กล้องไม่ได้ถ่ายไว้ คนดูจะสร้างภาพอย่างอื่นในหัวขึ้นมาด้วย” ไทกิเล่าถึงภาพมือคนป่วยที่ไม่สมบูรณ์ ฝ่าเท้าแห้งแตกเป็นร่องลึก การหมุนของพัดลมเพดาน แต่ละภาพค่อยๆ เปลี่ยนไปอย่างช้าๆ สู่อีกภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่ง อีกรูปและอีกรูป

Until the Morning Comes

ที่ผ่านมา เราจะเห็นภาพยนตร์ทดลองของไทกิมีทั้งพฤติกรรมของคน การทำงานของเครื่องจักร สภาพแวดล้อมของการเฝ้ามอง รวมถึงจุดเล็กจุดน้อยของสภาพสิ่งของและสถานที่ งานชิ้นนี้ไทกินำเสนอเทียบเคียง (Juxtaposition) จัดวางองค์ประกอบชิ้นส่วนของอดีตและเรื่องส่วนตัวผ่านเหตุการณ์ปัจจุบัน ภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่งเชิงนามธรรม เปรียบเปรยสภาวะอารมณ์และชีวิตเหมือนบทกวี โดยใช้ภาพและเสียงที่สร้างความขัดแย้งและชวนตั้งคำถาม ลวงให้เราตกลงในภวังค์ ไม่ให้ความหมายที่แน่ชัดแต่สร้างความรู้สึกตกตะกอนนอนก้นอยู่ระดับภายในจิตใจ

คนเจ็บ คนป่วย คนตาย ไม่ได้มีแต่แง่มุมทดท้อหดหู่ นิทรรศการนี้แสดงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของชีวิต กิริยาท่าทาง สภาพแวดล้อม ทุกอย่างมีแง่งามของในตัวเองที่ซ่อนไว้เสมอ กลายเป็นว่าเปิดมิติประสบการณ์มากกว่าเรื่องพวกนั้นเสียอีก

Until the Morning Comes

อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่จบแบบเศร้านิดๆ คงไม่ใช่ตัวเราเท่าไหร่ การพาตัวเองกลับไปเผชิญหน้ากับความโศกเศร้าและสูญเสียของไทกิสำหรับเราได้ช่วยขยายความหมายบางประโยคในหนังสือ De Profundis³ ของออสการ์ ไวลด์ ที่เขียนเอาไว้

“ความจริงในศิลปะคือเอกภาพของสิ่งหนึ่งกับตัวมันเอง เมื่อสิ่งที่ปรากฏภายนอกเป็นการแสดงออกของสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน ทำให้วิญญาณมีตัวตนและกายมีชีวิต ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีความจริงใดเทียบได้กับความเศร้า”

* นิทรรศการ Until the Morning Comes โดยไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ จัดแสดงที่ศุภโชค ดิ อาร์ต เซนเตอร์ ซอยสุขุมวิท 39 ถึงวันที่ 29 เมษายน 2561 Facebook | นิทรรศการ: Until the Morning Comes

ขอขอบคุณ: Courtesy S.A.C. Subhashok The Arts Centre & Taiki Sakpisit, 2018

1 วันพุธรับเถ้า เป็นวันเริ่มต้นของเทศกาลมหาพรตของชาวคาทอลิก เป็นการเตรียมสำหรับการเฉลิมฉลองการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้าหรือสมโภชปัสกาที่นับจากวันนี้ไปอีก 40 วัน โดยการจำศีล อดเนื้อ อดอาหาร ภาวนา และให้ทาน ดำเนินชีวิตให้บริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ตามแบบอย่างชีวิตของพระเยซู
2 ชมตัวอย่างผลงานบางส่วนของไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์
A Ripe Volcano (2011) ที่ https://vimeo.com/146745121
Time of the Last Persecution (2012) ที่ https://vimeo.com/146759477
The Age of Anxiety (2013) ที่ https://vimeo.com/146754158
3 หนังสือ De Profundis ที่ใดมีความเศร้า เขียนโดย ออสการ์ ไวลด์ แปลโดย รติพร ชัยปิยะพร สำนักพิมพ์ฟรีฟอร์ม

Writer

Avatar

สุพรรณี สงวนพงษ์

บรรณาธิการและคอลัมนิสต์ ร่วมทำสำนักพิมพ์ P.S. ที่ขายหนังสือไซส์เอสว่าด้วยความรู้สึก ความรัก และความสัมพันธ์ เขียนหลายอย่างทั้งเรื่องเด็ก พ่อแม่ วัยรุ่น คนแก่ สุขภาพ วิชาการ ชอบดูงานศิลปะ อ่านหนังสือ เดินทาง ชอบภูเขาและชนบท