ในฐานะคนรักหนังสือ เราตื่นเต้นทุกครั้งที่มีงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเวียนมาถึง ซึ่งสิ่งที่ทำให้เราตื่นเต้นหาใช่หนังสือที่ลดราคากันกระหน่ำหรือวรรณกรรมออกใหม่เท่านั้น หากแต่สิ่งที่เราสนใจมากเป็นพิเศษคือการได้เจอเหล่าหนังสือเก่าที่หลายเล่มวายไปจากแผง

จะมีอะไรน่าสนุกเท่าการเห็นหนังสือที่เหมือนจะตายไปแล้วฟื้นคืนชีพอีกครั้ง

เมื่องานสัปดาห์หนังสือเวียนมาอีกหน เราเห็นสำนักพิมพ์ ผู้เขียน และเพื่อนพ้อง แนะนำหนังสือใหม่ล่าสุดกันไปแล้ว เราจึงอยากลองแนะนำหนังสือเก่าล่าสุดบ้าง ว่ามีเล่มไหนบ้างที่น่าพากลับบ้านเป็นพิเศษ

หนังสือ

บางเล่มในลิสต์นี้หาซื้อไม่ได้แล้วตามร้านหนังสือทั่วไป บางเล่มอาจจะยังพอหาได้บ้างแต่ก็ยากเต็มที ส่วนบางเล่มอาจจะหาไม่ยากมาก แต่ก็ดีมากจนเราอยากแนะนำ และเอาเข้าจริง สำหรับเรา คำว่า ‘หนังสือเก่า’ มันเป็นเพียงคำที่บรรยายที่ดูจากปี พ.ศ. ที่ตีพิมพ์เท่านั้น

แต่สำหรับนักอ่านผู้หลงรักตัวอักษร หนังสือเก่าที่เรายังไม่เคยอ่าน ก็นับเป็นหนังสือใหม่ทั้งนั้นนั่นแหละ

ดวงจันทร์ที่จากไป

ดวงจันทร์ที่จากไป

ผู้เขียน : บินหลา สันกาลาคีรี
สำนักพิมพ์ : มติชน
พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2536
พิกัด : บูท Writer โซน C2, S39

ดวงจันทร์ที่จากไป เป็นผลงานตั้งแต่สมัยที่ วุฒิชาติ ชุ่มสนิท หรือบินหลา สันกาลาคีรี ยังเลี้ยงปากท้องด้วยการยึดอาชีพนักข่าว ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือการที่บินหลาเลือกที่จะเรียบเรียงชีวประวัติของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ออกมาในรูปแบบที่เขาเรียกว่า ‘สาระนิยาย’ เป็นวิธีการนำเสนอประเด็นร้อนในสังคมหลังราชินีลูกทุ่งจากไปด้วยการใช้วิธีเขียนแบบงานวรรณกรรม เขาลงพื้นที่หาข้อมูลแบบนักข่าวด้วยการสัมภาษณ์แหล่งข่าวเกินสิบชีวิตก่อนจะเอากลับมาถ่ายทอดด้วยวิธีแบบนักเขียน และด้วยสำนวนภาษาอันสวยงามของผู้ประพันธ์ทำให้หนังสือเล่มนี้จะอ่านเอาเรื่องก็อิ่ม จะอ่านรสก็อร่อย

พูดกับบ้าน

พูดกับบ้าน

ผู้เขียน : รงค์ วงษ์สวรรค์
สำนักพิมพ์ : ฟรีฟอร์ม
พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2536
พิกัด : บูท Freeform โซน Plenary Hall, I11

นอกจากงานเขียนประเภท Fiction อันโดดเด่นของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ งานเขียน Non-Fiction ของพญาอินทรีย์แห่งสวนอักษร หลายเล่มก็นับเป็นหนังสือที่มีคุณค่า ทั้งในแง่คุณค่าทางวรรณศิลป์และในแง่การเป็นบันทึกความคิดของนักเขียนที่ว่ากันว่าร้อยปีมีคนเดียว โดย พูดกับบ้าน เป็นหนังสือที่ผู้เขียนบันทึกความคำนึงของตนเองที่มีต่อบ้านและมิตรน้ำหมึกที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เป็นหนังสืออีกเล่มที่เหมือนๆ จะหมดอายุจากแผงแต่เราอยากแนะนำให้หามาอ่านโดยเฉพาะชายหนุ่มที่คิดมีบ้าน

หมูบินได้

หมูบินได้

ผู้เขียน : องอาจ ชัยชาญชีพ
สำนักพิมพ์ : สำนัก เป็ดเต่าควาย
พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2544
พิกัด : บูทเป็ดเต่าควาย โซน Plenary Hall, H05

มีหนังสือบางเล่ม หากเราอ่านตอนเป็นเด็กจะรู้สึกแบบหนึ่ง และหากเราอ่านตอนเป็นผู้ใหญ่เราจะรู้สึกอีกแบบ หนังสือปรัชญานิทานคลาสสิกที่ชื่อ หมูบินได้ คือหนึ่งในนั้น หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องด้วยความเรียบง่ายที่สุดเท่าที่หนังสือเล่มหนึ่งจะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นภาษา ภาพประกอบ การลำดับเรื่อง สมเป็นหนังสือที่ถูกห่อหุ้มเป็นหนังสือเด็ก แต่ในความเรียบง่ายนั้นแฝงด้วยเมสเสจที่มีพลังเพียงพอจะทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราสั่นสะเทือนข้างใน หรือใครบางคนอาจเสียน้ำตา

บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร

บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร

ผู้เขียน : กนกพงศ์ สงสมพันธุ์
สำนักพิมพ์ : นาคร
พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2544
พิกัด : บูทนาคร โซน C1, M08

ความเรียงเชิงบันทึกทัศนะเล่มนี้เป็นหนึ่งในหนังสือไม่กี่เล่มของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ที่ไม่ใช่งานเขียนประเภทวรรณกรรม ภายในเล่มบรรจุเรื่องราวของชีวิตนักเขียนคนหนึ่งที่อาศัยอยู่กับสิ่งที่เขาศรัทธาในแผ่นดินที่เขาเรียกขานว่า หุบเขาฝนโปรยไพร ซึ่งแน่นอนว่าการไปปลูกบ้านอยู่ในป่าฝนเพื่อเขียนงานวรรณกรรมหาได้โรแมนติกแต่อย่างใด ตรงกันข้าม มันมีความยากลำบากที่ผู้เขียนต้องพบเผชิญอยู่เรื่อยๆ ซึ่งสิ่งที่เราสงสัยหลังอ่าน บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร จบลงคือ ทุกวันนี้ยังมีนักเขียนที่คนใดอุทิศชีวิตให้การเขียนงานวรรณกรรมดังเช่นเรื่องราวที่เราได้อ่านอีกไหม

หญิงสาวผู้ตกหลุมรัก

หญิงสาวผู้ตกหลุมรัก

ผู้เขียน : โตมร ศุขปรีชา
สำนักพิมพ์ : เม่นวรรณกรรม
พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2547
พิกัด : บูทอัลเทอร์เนทีฟ ไรเตอร์ โซน Plenary Hall, D01

‘ปกติ โตมร ศุขปรีชา ไม่ค่อยเขียนเรื่องแต่ง’ ใครสักคนที่หยิบยื่นหนังสือเล่มนี้ให้เรา บอกเราอย่างนั้น จะว่าไปจริงๆ เรารู้สึกพ่ายแพ้ให้หนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ชื่อเรื่อง ยิ่งรู้ว่าเป็นผลงานช่วงแรกในชีวิตนักเขียนของโตมร ก็ไม่มีเหตุผลให้ลังเลใดๆ ภายใต้ชื่อเรื่องที่โรแมนติก เรารู้สึกตื่นเต้นกับความสัมพันธ์อันหลากหลายที่ผู้เขียนบอกเล่าผ่านตัวละครต่างๆ อย่างละมุนละม่อม ลึกซึ้ง ความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันที่เพิ่งเป็นหัวข้อที่สังคมสนใจไม่กี่ปีมานี้ถูกโตมรหยิบมาเล่าอย่างน่าสนใจตั้งแต่ 14 ปีที่แล้ว (หรืออาจนานกว่านั้นในงานชิ้นอื่น) ซึ่งหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบลง ความรู้สึกที่เกิดขึ้นคืออยากให้โตมรกลับมาเขียนเรื่องแต่งอีกครั้ง

เอ็ดเวิร์ด ทูเลน ตามหาหัวใจไกลสุดขอบฟ้า

เอ็ดเวิร์ด ทูเลน ตามหาหัวใจไกลสุดขอบฟ้า

ผู้เขียน : เคท ดิคามิลโล
ผู้แปล : งามพรรณ เวชชาชีวะ
สำนักพิมพ์ : เพ็ทแอนด์โฮม
ปีที่พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2549
พิกัด : บูทเพ็ทแอนด์โฮม โซน Plenary Hall, F07

พบเจอ, พรากจาก, แตกสลาย, งอกงาม, บาดแผล, การเยียวยา, การเฝ้ารอ ฯลฯ มีคำหลายคำที่เราคิดถึงระหว่างอ่าน เอ็ดเวิร์ด ทูเลน ตามหาหัวใจไกลสุดขอบฟ้า หนังสือที่เรียกตัวเองว่าวรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้เขียนโดย เคท ดิคามิลโล นักเขียนชาวอเมริกัน เนื้อหาว่าด้วยตุ๊กตากระต่ายที่ผิวกายเป็นกระเบื้องซึ่งโชคชะตาพาให้พลัดพรากจากเจ้าของ ทำให้ชีวิตของสิ่งที่ไม่น่ามีชีวิตต้องออกไปเผชิญชะตากรรมต่างๆ ซึ่งเหตุการณ์ที่เข้ามาปะทะเจ้ากระต่ายกระเบื้องนอกจากมันจะเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร เราเชื่อว่ามันยังเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างข้างในของคนอ่านด้วย

ผ่านพบไม่ผูกพัน

ผ่านพบไม่ผูกพัน

ผู้เขียน : เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
สำนักพิมพ์ : สามัญชน
ปีที่พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2548
พิกัด : บูทสามัญชน โซน Mainfoyer, X06

ความจริงที่ถูก เราควรแนะนำว่าหนังสือทุกเล่มของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในงานควรพากลับบ้านทั้งหมด เพราะหนังสือหลายเล่มถูกลักพาตัวไปจากแผงหนังสือแล้วแต่ยังหาซื้อได้ที่บูทสามัญชน โดยเฉพาะงานเขียนยุคแรกๆ อย่าง เดินป่าเสาะหาชีวิตจริง ที่บันทึกโมงยามตั้งแต่ช่วงที่เขายังอยู่ในป่า หรือ เร่ร่อนหาปลา บันทึกชีวิตอีกเล่มที่สะท้อนความสัมพันธ์ของชีวิตเขากับสายน้ำ ส่วน ผ่านพบไม่ผูกพัน เป็นงานอีกเล่มที่เราชอบ แม้บนหน้าปกจะเขียนอธิบายว่านี่คือ ‘ห้วงคำนึงจากการเดินทาง’ แต่เมื่ออ่านจะพบว่า หนังสือเล่มนี้หาใช่หนังสือบันทึกเดินทางแบบที่เราคุ้นชิน หากแต่มันเป็นการมุ่งสำรวจภายในจากสิ่งที่มาปะทะภายนอก เป็นงานที่แม้ใครไม่เคยอ่านงานของเสกสรรค์มาก่อน ก็น่าจะรู้สึกร่วมได้ไม่ยาก

ขัปปะ

ขัปปะ

ผู้เขียน : ริวโนะซุเกะ อะคุตะงาวะ
ผู้แปล : กัลยาณี สีตสุวรรณ
สำนักพิมพ์ : เม่นวรรณกรรม
พิมพ์ครั้งที่สาม : พ.ศ. 2554
พิกัด : บูทอัลเทอร์เนทีฟ ไรเตอร์ โซน Plenary Hall, D01

แม้จะเป็นเรื่องราวที่เขียนขึ้นมากว่า 50 ปีก่อน แต่ทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้ช่างร่วมสมัยเหลือเกิน ขัปปะ ผลงานเรื่องสุดท้ายของริวโนะซุเกะ อะคุตะงาวะ ผู้เขียน ราโชมอน เล่าถึงเรื่องราวชวนหัว ขบขัน และเสียดสีสังคมมนุษย์ ผ่านความทรงจำของคนไข้หมายเลข 23 ในโรงพยาบาลโรคจิต ผู้พลัดถิ่นไปเข้าไปในเมืองขัปปะ สัตว์ในตำนานเรื่องเล่าของญี่ปุ่น ความเชื่อและวิถีชีวิตที่ทั้งเหมือนและแตกต่างจากมนุษย์โลก สะท้อนความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของสังคมชาวเรา แวบหนึ่งที่อ่าน เรารู้สึกว่าตัวเองอาจจะเป็นขัปปะที่หลงทางเข้ามาในโลกมนุษย์ในบางที “สิ่งที่ข้าพเจ้าเห็นแปลกและตลกก็ตรงที่ขัปปะไม่สวมอะไรปกปิดร่างกายท่อนล่างเลย วันหนึ่งข้าพเจ้าจึงถามบัคเรื่องนี้ บัคแหงนหน้าหัวเราะเสียยกใหญ่ แถมตอบว่า ‘การที่ท่านปิดบังน่ะซีตลก’”

สู่อนันตกาล : ชีวิตฉัน และสตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง

สู่อนันตกาล : ชีวิตฉัน และสตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง

ผู้เขียน : เจน ฮอว์กิ้ง
ผู้แปล : โคจร สมุทรโชติ
สำนักพิมพ์ : โพสต์บุ๊กส์
ปีที่พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2553
พิกัด : บูทสำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์ โซน Plenary Hall, L26

หากเราพูดถึงชีวิตของ สตีเฟน ฮอว์กิ้ง นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ผู้ล่วงลับ จะพบว่าสิ่งที่น่าสนใจมีหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีที่เขาค้นพบ ความสามารถอันเอกอุของเขา รวมถึงชีวิตในมิติอื่นๆ ซึ่ง สู่อนันตกาล : ชีวิตฉัน และสตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง ถือเป็นหนังสือที่ดีมากอีกเล่มในการทำความเข้าใจตัวตนของสตีเฟ่นในฐานะปุถุชนคนธรรมดาผ่านสายตาและความทรงจำของ เจน ฮอว์กิ้ง อดีตคนรักที่เคยยืนหยัดเคียงข้างเขามาก่อน ยิ่งหลังการจากไปของ ทำให้หนังสือความหนาหกร้อยกว่าหน้าเล่มนี้ถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง

Writers

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan