ชุมชนแออัดดูเป็นคำที่ฟังแล้วชวนให้รู้สึกไม่สบายตัว ยิ่งเมื่อได้ยินต่อว่าเป็นย่านคลองเตยยิ่งฟังแล้วไม่สบายใจ เรื่องพวกนี้ดูเป็นภาพจำและความเข้าใจแบบมาตรฐานของคนกรุงเทพฯ ถึงชุมชนคลองเตยไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้วมันจะเป็นตามที่ว่านี้จริงเหรอ

ผมคงไม่เกิดคำถามนี้ถ้าไม่ได้เห็นโฟโต้บุ๊กของ ฮิโระทากะ ฮาชิโมโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นที่เขาเก็บบันทึกเรื่องราวของชาวบ้านและบรรยากาศในชุมชนคลองเตยผ่านการถ่ายภาพ จนเกิดเป็นโฟโต้บุ๊กชื่อเรียบง่ายว่า KLONGTOEY

KLONGTOEY

ขอเล่าถึงที่มากันสักหน่อย โฟโต้บุ๊กเล่มนี้เป็นหนึ่งในผลผลิตจาก FEEMUE (ฝีมือ) แบรนด์สินค้าหัตถกรรมจากฝีมือของคนในชุมชน โดยมีจุดมุ่งหมายคือการเปลี่ยนภาพลักษณ์เชิงลบของชุมชนคลองเตยด้วยพลังแห่งการออกแบบ ตามความตั้งใจของนักออกแบบชาวญี่ปุ่นอย่าง FUJI TATE P ซึ่งร่วมกับ มูลนิธิสิกขาเอเชีย ที่คอยดูแลเรื่องการศึกษาและอาชีพให้กับคนในชุมชน

แล้วสงสัยไหมว่า แบรนด์สินค้าหัตถกรรมเกี่ยวข้องอย่างไรกับโฟโตบุ๊ก

คำเฉลยคือมันมาจากความบังเอิญ เนื่องจากเดิมทีฮิโระทากะถูกไหว้วานให้มาเป็นช่างภาพถ่ายสินค้าทุกชิ้นของแบรนด์ FEEMUE แต่การถ่ายทำกินเวลานาน จนเขาต้องมาอาศัยอยู่ในชุมชนคลองเตยแห่งนี้ พออยู่ไปสักพักจิตวิญญาณแห่งช่างภาพก็สะกิดให้เขาหยิบกล้องออกไปเดินถ่ายรูปบรรยากาศรอบๆ ชุมชน

จากที่ไม่รู้จักก็ได้รู้จัก จากที่รู้จักก็กลายเป็นสนิทใจ คุณฮิโระทากะใช้เวลา 2 เดือนกับการถ่ายภาพ ความเข้าใจและมุมมองของเขาต่อชุมชนคลองเตยก็ชัดเจนมากขึ้น ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจทำโฟโต้บุ๊กเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อแบ่งปันเรื่องราวและบอกเล่าถึงตัวตนอันเรียบง่ายของชุมชนแห่งนี้ผ่านวิธีที่เขาถนัด

KLONGTOEY

เมื่อลองเริ่มเปิดทีละหน้าจะพบว่าหนังสือถูกออกแบบให้เหมือนอัลบั้มรวมรูปโปสการ์ด ภาพถ่ายถูกเรียงไว้เป็นแนวนอนสลับแนวตั้งตามความเหมาะสมของเรื่องราว คุณพ่อกำลังอาบน้ำให้ลูกชาย เด็กน้อยกำลังเดินไปโรงเรียน หรือแก๊งคนหนุ่มกำลังเล่นสนุกเกอร์กันอย่างออกรสออกชาติ แต่ละภาพบอกเล่าความเป็นอยู่และบรรยากาศของคนในชุมชนเป็นอย่างดี

หนังสือภาพ คลองเตย หนังสือภาพ KLONGTOEY KLONGTOEY

ภาพถ่ายของฮิโระทากะพาเราเดินผ่านบ้านคนนั้น โผล่ออกบ้านคนนี้ แวะซอยอีก 3 ซอย จากนั้นค่อยวกกลับมาที่หน้าศาลพระภูมิ ก่อนเงยหน้าขึ้นชมต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ที่กำลังออกดอกสวย เหมือนว่าทุกครั้งที่เปิดหน้าหนังสือเรากำลังทำความรู้จักกับชุมชนคลองเตยไปกับเขาด้วย

เมื่อถึงหน้าสุดท้ายของเล่มผมพบว่าตัวเองได้คำตอบกับคำถามในข้างต้นแล้ว ก่อนเกิดคำถามใหม่ขึ้นในใจว่า

“เราจะแวะไปเยี่ยมชุมชนคลองเตยวันไหนดี”

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
  • คุณนลินญา จรูญเรืองฤทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์มูลนิธิสิกขาเอเชีย
  • book obscura bookstore

Writer & Photographer

Avatar

ทศพล เหลืองศุภภรณ์

นักทดลองตัวหนังสือและภาพถ่ายสมัครเล่น พบผลการทดลองของเขาทุกเดือนได้ที่ tossapol.com