Gala

Genre: performance art
Country: France
Director: Jérôme Bel

“นักเต้นมืออาชีพเหมือนกันหมดนั่นแหละ พวกเขารูปร่างเหมือนๆ กัน มีวัฒนธรรมเหมือนๆ กัน นี่ล่ะคือสิ่งที่ผิดปกติ”

หลังโรงละครช้าง Jérôme Bel จุดบุหรี่มวนบางเฉียบแล้วอัดควันเข้าปอด ศิลปินชาวฝรั่งเศสสวมเสื้อยืดเก่าๆ คอย้วย และรองเท้าแตะคีบ ดูเผินๆ ใครจะรู้ว่าชายที่ดูธรรมดาเหลือแสนคนนี้คือคนที่นักวิจารณ์ทั่วโลกบอกว่าเป็นอัจฉริยะ

Jérôme Bel

ผู้กำกับและนักออกแบบท่าเต้นคนนี้ทำงานกับคณะนักเต้นมืออาชีพอยู่สิบกว่าปี วันหนึ่งเมื่อตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าการเคลื่อนไหวเหล่านั้นกลวงเปล่าไร้ความหมายสำหรับเขา เฌโรมลาออกมานั่งอ่านหนังสือปรัชญาและประวัติศาสตร์การเต้นอยู่ 2 ปี และค้นพบคำตอบว่าศิลปะการแสดงที่เขาอยากทำเป็นอย่างไร

มันต้องไม่สมบูรณ์แบบ

“เราพยายามที่จะทำตัวเข้มแข็ง หล่อสวย มีพลัง แต่ผมไม่เคยรู้สึกแบบนั้นเลย ถึงใครจะบอกว่างานของผมมีพลัง ทุกครั้งที่จะแสดง ผมก็ยังไม่แน่ใจ ผมว่าสังคมเราเจริญผิดที่ผิดทางนะ เราถูกสอนจากพ่อแม่ จากโรงเรียนมาทั้งชีวิตว่าต้องเต้นให้ดี ต้องไม่ทำพลาด ทั้งที่ชีวิตก็มีแต่ข้อผิดพลาดทั้งนั้น

“เราควรยอมรับความอ่อนแอ เรียนรู้ที่จะยอมรับความล้มเหลว ไม่ต้องอาย ไม่ต้องเศร้า ยอมรับมันสิ บางทีความล้มเหลวก็ชัดเจนกว่าความสำเร็จ อย่างน้อยเราก็รู้ว่าพลาดตรงไหน แต่เวลาทำอะไรสำเร็จ บางทีเราก็ไม่รู้เลยว่าทำอะไรถูก ดังนั้นเราน่าจะคืนสมดุลให้ความจริง”

เกือบ 3 ปีก่อน เฌโรมออกแบบการแสดงหนึ่งขึ้นมา เป็นการแสดงที่ใช้คน 15 – 20 คนที่แตกต่างหลากหลายมากที่สุด มีทั้งเด็ก คนหนุ่มสาว คนชรา คนพิการ นักเต้นมืออาชีพ คนที่ไม่เคยขึ้นเวทีแสดงมาก่อนเลยในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นแม่ค้า หมอ หรือครู ทุกคนอายุต่างกัน รูปร่างหน้าตาต่างกัน ไม่มีทักษะเคลื่อนไหวที่เหมือนกันเลยสักคน

การแสดงนี้ชื่อว่า Gala

Gala

อย่าเพิ่งคิดว่ามันเป็นงานเลี้ยงรวมคนชายขอบที่เราควรเอาใจช่วยด้วยสายตาเห็นอกเห็นใจ ตรงกันข้าม การแสดงที่จับเอาความล้มเหลวผิดพลาดมาโชว์ให้เห็นจะๆ นี้ประสบความสำเร็จมากจนเดินสายเล่นรอบโลก ทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชีย สิ่งที่น่าทึ่งคือทุกเมืองที่ทีมงานเดินทางไป พวกเขาจะตามหานักแสดงท้องถิ่นใหม่ทั้งหมด และใช้เวลาในการซ้อมเพียง 4 วันเท่านั้น แถมโดยปกติ ผู้กำกับยังไม่ได้ไปด้วยอีกต่างหาก!

“ความลับของผมคือทำงานให้น้อย กำกับให้น้อย ทุกอย่างต้องเรียบง่ายมากๆ เพราะนักแสดงไม่ใช่มืออาชีพ พวกเขาจำท่าเต้นทั้งหมดไม่ได้หรอก แค่มีคอนเซปต์ให้จับก็พอ เด็กอายุ 5 ขวบก็เข้าใจได้

“Gala ทุกที่ต่างกัน เพราะแต่ละวัฒนธรรมมีการใช้ร่างกายไม่เหมือนกัน บางที่นักแสดงกล้าแสดงออก บางที่ขี้อาย บางที่ก็ทำงานยาก ดังนั้นมันเลยน่าสนใจ เป็นการแสดงที่นักเต้นมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมมาก”

เฌโรมดับบุหรี่ เหตุผลที่เขานั่งอยู่ในซอยประชาอุทิศ 61 ชานเมืองกรุงเทพฯ แทนที่จะเป็นฟิลาเดลเฟียหรือนิวยอร์ก เพราะเขาชอบกรุงเทพฯ และมาแสดงละคร Pichet Klunchun and me กับพิเชษฐ กลั่นชื่น ที่โรงละครเล็กๆ ของนักรำไทยคนนี้

ได้เวลาดูละคร ไฟบนเวทีสว่างขึ้นพร้อมการปรากฏตัวของนักยิมนาสติก เด็กอนุบาล นักเต้นลีลาศ คนเป็นดาวน์ซินโดรม นักเต้นบัลเลต์ ผู้ใหญ่วัยเกษียณ นักแสดงโขน ผู้หญิงข้ามเพศ คนใช้วีลแชร์ พวกเขาสวมเสื้อผ้าฉูดฉาดทรงเครื่องออกมาเต้นบัลเลต์ เพลงแจ๊ส ไปจนถึงเดินถอยหลังตามเพลงไมเคิล แจ๊คสันGala

หลังช่วงเวลาเปลี่ยนฉากสั้นๆ นักแสดงวิ่งหายไปสลับเสื้อผ้ากันใส่อย่างน่าขบขัน ชายนุ่งเดรสลายดอก อีกคนสวมถุงน่องกากเพชร มีเสื้อจิ๋วห้อยคอ ส่วนเด็กน้อยใส่ชุดยิมนาสติก สาวคนหนึ่งสวมชุดวอร์มโพรกพราก ต่างคนผลัดกันนำคนอื่นๆ เต้นเป็นกลุ่ม มีทั้งตีลังกา กระโดด เดาะบอล ฉีกแข้งฉีกขา จีบมือ จนถึงเลื้อยไปมา

ไม่มีใครเต้นสวยทุกท่า สง่าทุกบทเพลง พวกเขายึกยักทุลักทุเลอยู่บนเวทีจนผู้ชมหัวเราะเอ็นดู ใครจะเถียงได้ว่านั่นไม่ใช่การเต้น จะอ้วน ผอม แก่ หรือเด็ก พวกเขาเต้นอย่างมีความสุข เต้นอย่างมีพลัง เต้นด้วยจิตวิญญาณจนคนดูตบมือโห่ร้องเชียร์ดังลั่น แทบจะลุกขึ้นไปออกลีลาตามจังหวะดนตรี

Gala

Gala

“บางคนไม่ชอบงานนี้เลย บางคนก็บอกว่านี่คืองานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ แต่ผมไม่แคร์หรอก สิ่งที่ผมอยากทำคือแสดงให้เห็นว่าโลกนี้มีความหลากหลายแค่ไหน บางคนในยุโรปคิดว่าทุกคนควรจะเหมือนกันหมด ชอบอะไรเหมือนๆ กัน คิดเหมือนๆ กัน ทุกคนจะมีความสุข แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น ผมไม่คิดงั้นนะ ผมมีความสุขเวลาเห็นความแตกต่าง ดังนั้นการแสดงนี้เลยเป็นการเมืองมาก”

คำพูดของผู้กำกับลอยเข้ามาในความคิดฉันเมื่อถึงฉากสุดท้าย การเต้นรุนแรงถึงขั้นเหวี่ยงเสื้อผ้าทิ้งเต็มเวที เราไม่ได้เห็นนักเต้น แต่เห็นมนุษย์ เห็นตัวเองอยู่ใต้แสงไฟ เราต่างเต้นรำอย่างล้มเหลวน่าหัวร่อ แต่มันไม่ได้น่าสมเพชเลยสักนิด ความพยายามที่จะใช้ชีวิตของทุกคนล้วนงดงาม

เช่นเดียวกับผู้ชมทั้งโรงละคร ฉันลุกขึ้นยืนตบมือให้นักเต้นมือสมัครเล่น ผู้เป็นมืออาชีพในการใช้ชีวิต

ขอขอบคุณ: ศิริวรรณ ปากเมย

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง