การกลับมาของเจ้าชาย (หนุ่ม) น้อย [The Return of the Young Prince]
ผู้เขียน: A.G. Roemmers
ผู้แปล: ศรรวริศา เมฆไพบูลย์
สำนักพิมพ์: กำมะหยี่
จำนวน: 143 หน้า
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของหนังสือ*

ในวันที่เจ้าชายน้อยจากโลกใบนี้ไป ฉันเสียใจ เช่นเดียวกับนักอ่านหลายล้านคนที่โศกเศร้า Antoine de Saint-Exupéry มอบความอ่อนโยนและความเจ็บปวดผ่านหน้ากระดาษ เขาทำให้เราตกหลุมรักเด็กชายตัวเล็กๆ จากดาว B612 จากนั้นก็พรากเขาไปจากเราอย่างโหดร้าย

ใครจะรู้ว่าหนังสือเล่มเล็กๆ เกี่ยวกับนักบินและเจ้าชายจากดาวไกลโพ้น ที่ตีพิมพ์ในปี 1943 จะกลายเป็นหนึ่งในหนังสือที่ได้รับการแปลมากที่สุดในโลก เป็นวรรณกรรมแห่งชาติที่คนฝรั่งเศสภาคภูมิใจ และได้รับการดัดแปลงเป็นหนังสือภาพ หนังสือภาคต่อ ภาพยนตร์ ละครเวที และสื่ออื่นๆ อีกมากมาย เจ้าชายน้อยทำให้เราตระหนักได้ว่าความเป็นเด็กของเราหล่นหายไปมากแค่ไหน ระหว่างทางการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในสังคม

การกลับมาของเจ้าชาย (หนุ่ม) น้อย หรือ The Return of the Young Prince ของ A.G. Roemmers หรือ Alejandro Guillermo Roemmers ผู้เป็นนักเขียน กวี และนักธุรกิจชาวอาร์เจนตินา สร้างความคาดหวังสูงว่าจะดึง ‘สิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา’ ออกมาจับใจผู้คนแบบต้นฉบับ หรืออาจคล้ายคลึงกับภาพยนตร์ The Little Prince ในปี 2015 (กำกับโดย Mark Osborne) ที่เล่าเรื่องของเจ้าชายน้อยในวันที่เขาเติบโตขึ้นเป็นพนักงานทำความสะอาดให้นักธุรกิจในเมืองใหญ่ และหลงลืมตัวตนในวัยเด็กไปจนหมดสิ้น

ในเรื่องนี้ เจ้าชายน้อยเติบโตขึ้นเป็นเด็กหนุ่มวัยรุ่น ผู้เล่าเรื่องหรือ narrator ในครั้งนี้ไม่ใช่นักบิน แต่เป็นชายผู้กำลังขับรถตามลำพังบนถนนในปาตาโกเนีย ดินแดนตอนใต้สุดของอเมริกาใต้ เพื่อไปเยี่ยมเพื่อนที่กำลังจะมีลูก เขาพบเด็กหนุ่มผมสีทองแต่งตัวประหลาดคนหนึ่งนอนหลับอยู่ข้างถนน จึงรับตัวเขาขึ้นรถและพาลงใต้ไปด้วยกัน ระหว่างทางมีบทสนทนามากมายเกิดขึ้น พร้อมๆ กับอุบัติเหตุและการพบปะผู้คนจนสุดปลายทาง

A.G. Roemmers เก็บบรรยากาศและความหลังใน เจ้าชายน้อย ฉบับดั้งเดิมมาสร้างกลิ่นอายคุ้นเคยให้ผู้อ่าน  เจ้าชายน้อย ที่กำลังโตเป็นหนุ่มโกรธเกรี้ยวและผิดหวัง หลังกลับไปที่ดาวดวงเดิม เขาค้นพบว่าในกล่องที่นักบินวาดให้ว่างเปล่าไร้ลูกแกะ ความรักระหว่างเขาและดอกกุหลาบเริ่มโรยรา เด็กหนุ่มจากดาว B612 จึงกลับมาบนดาวโลกอีกครัั้งเพื่อตามหาคำตอบจากการกระทำของนักบิน

เจ้าชายวัยรุ่นเปิดประเด็นการเติบโตได้น่าสนใจ แต่น่าเสียดายที่ความต้องการของเขาดูจะจางหายไปกับบทสนทนากับผู้เล่าเรื่อง ไดอะล็อกเชิงปรัชญาชีวิตปรากฏขึ้นแทบทุกหน้ากระดาษ ตรงข้ามกับความเรียบง่าย น้อยแต่มากของ เจ้าชายน้อย เล่มแรก แซ็งเต็กซูเปรีเขียนนิทานซ่อนปรัชญาคมคายในการกระทำและบทสนทนาสั้นๆ ที่ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็อ่านเข้าใจ แต่ การกลับมาของเจ้าชาย (หนุ่ม) น้อย ท่วมท้นด้วยการสอนบทเรียนชีวิตจากคนผ่านโลกมามาก อาจเพราะอะเลฆันโดร กุยเยร์โม โรมเมร์สเป็นกวี ถ้อยคำของเขาสวยงามชวนขบคิด การปรากฏตัวของสุนัขสีขาว กลุ่มเด็กซุกซน หรือคนไร้บ้านในปาตาโกเนีย เป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้การมอบความสุข การให้อภัย และการมองโลกอย่างไม่ตัดสินล่วงหน้า กระเพื่อมในใจไปเนืองๆ ตลอดเส้นทาง

การกลับมาของเจ้าชายครั้งนี้ เขาไม่ได้มาในฐานะวัยรุ่น แต่กลับมาเป็นผู้ฟังและต่อบทสนทนา เขาทำให้เราทบทวนความเป็นไปของโลกและชีวิตที่จะดำเนินต่อไปข้างหน้า แต่ไม่กลับไปเป็นเด็กอีกแล้ว

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan