ในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้น่าจะเป็นช่วงเวลาทองของเหล่าโกดังเก่าในบ้านเรา เพราะมีการหยิบเอาโกดังเก่าในย่านกลางเมืองมาบูรณะและปรับเปลี่ยนการใช้งานในรูปแบบใหม่ๆ กันเป็นจำนวนมาก มีทั้งที่ปรับโกดังให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ออฟฟิศให้เช่า ร้านค้า ร้านอาหาร และอีกมากมายหลายรูปแบบ

สิ่งที่น่าสนใจก็เห็นจะเป็นมูลค่าของโกดัง ที่จากเดิมนั้นแทบจะเป็นสิ่งก่อสร้างที่ไม่ได้มีราคาอะไรเพราะตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมย่านชานเมืองทั้งสิ้น แต่พอเวลาผ่านไป เมืองเกิดการขยายตัว ท่าเรือก็ถูกโยกย้ายออกไปไกลเมืองมากขึ้น ส่วนโกดังเก่าเหล่านั้นก็โดนเมืองล้อมเอาไว้ และสุดท้ายราคาที่ดินในเมืองก็ทำให้ตัวมันเองมีมูลค่าสูงขึ้นมาแทน

ด้วยขนาดของพื้นที่ที่ใหญ่พอเหมาะ โครงสร้างที่เป็นอาคารชั้นเดียว ไม่ซับซ้อน รื้อถอนได้ง่าย ที่ผ่านมา เหล่านักลงทุนเลยซื้อโกดังเพื่อรื้อถอนแล้วก่อสร้างอาคารใหม่ๆ กันเยอะมาก แต่ก็มีเจ้าของโกดังหลายแห่งที่ยังคงเห็นคุณค่าของตัวอาคารโกดังและตัดสินใจไม่รื้อทิ้งไป แต่เลือกจะซ่อมแซมมันใหม่จนทำให้เหล่าโกดังกลายมาเป็นแลนด์มาร์กของเมืองตามที่ว่าไปข้างต้น

นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เรามายืนอยู่ในซอยสุขุมวิท 26 ด้านถนนพระราม 4 เหล่าโกดังเก็บสินค้าเก่าวางตัวเรียงรายขนานกับถนนเส้นเล็กที่พาเราเข้ามา หลังจากเดินลัดเลาะเข้ามาด้านในเราจึงได้เห็นโกดังเก่าที่ยังคงสภาพโครงสร้างแบบดั้งเดิม ตัดกับผนังที่ถูกทาสีขาวสะอาดตาพร้อมโลโก้ F ขนาดใหญ่ ผสมกับกรอบกระจกใสด้านหน้าโกดังที่ช่วยให้อดีตที่เก็บสินค้านี้ดูสว่างและปลอดโปร่งขึ้นมา

ทำให้เรามั่นใจว่ามาไม่ผิดที่แล้ว ชื่อของโกดังแห่งนี้คือ ‘Factoria’ โครงการรีโนเวตโกดังเก่าให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของเหล่าดีไซเนอร์ ที่เพิ่งเปิดทำการไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี่เอง

Factoria

เมื่อเดินผ่านประตูเข้าไปยังด้านในโกดังก็จะเจอโต๊ะเก้าอี้เรียงรายกันมากมาย พร้อมกับร้านอาหารเล็กๆ และร้านกาแฟริมผนังอีกด้านราวกับเป็นโรงอาหาร แต่จริงๆ แล้วโกดัง Factoria นั้นเป็นพื้นที่ของเหล่านักสร้างสรรค์หลากหลายแขนง ซึ่งประกอบไปด้วยบริษัทและร้านค้ามาใช้พื้นที่ร่วมกัน

ไม่ว่าจะเป็น ออฟฟิศของ hypothesis, สตูดิโอศิลปะของ Pomme Chan, ร้านอาหารคอมฟอร์ตฟู้ดที่ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปอย่าง Flavour Factor , คาเฟ่ Factoria Drinkbar, ห้องทดลองทำงานออกแบบด้วยเครื่องจักรผลิตชิ้นงานทันสมัยอย่าง F LAB  สุดท้ายก็คือพื้นที่ส่วนกลางที่เป็นเหมือนที่นั่งทำงานและนัดเจอกันได้สำหรับทุกคน ใครจะไปคาดคิดได้ว่าโกดังหลังเดียวมันจะเป็นอะไรได้มากขนาดนี้กัน

และนี่คือเรื่องราวของ Factoria โกดังที่จะเป็นเหมือนศูนย์กลางของคนทำงานสร้างสรรค์ จากผลงานการออกแบบของสถาปนิกโครงการและผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง ‘Hypothesis’

Factoria

Factoria

โรงงานผลิตความเป็นไปได้ของทุกความฝัน

ผมถาม กอล์ฟ-เจษฎา เตลัมพุสุทธิ์ และ บิว-มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา จาก Hypothesis ถึงที่มาของโครงการ Factoria ว่ามีที่มาได้อย่างไร

“ที่นี่เริ่มต้นมาด้วยการเป็น Dream Sharing” ทั้งสองคนเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้น

“คือเพื่อนของเราหลายๆ คนนั้นมีความฝันกันอยู่ บ้างก็อยากเปิดร้านอาหาร เพื่อนอีกคนที่เป็นศิลปินทำงานก็อยากได้พื้นที่สตูดิโอทำงาน อีกคนก็อยากเปิดร้านกาแฟและร้านขนม เราเองก็อยากขยายออฟฟิศให้มีพื้นที่ทดลองทำงานให้มากขึ้นด้วย ซึ่งตอนที่มาเจอโกดังแห่งนี้ก็เลยคิดถึงการมาแชร์พื้นที่ร่วมกัน ซึ่งไม่ได้เป็นแค่การแชร์พื้นที่กันเฉยๆ แต่เป็นการแชร์ความฝันร่วมกันด้วย จึงเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้นมา”

Factoria

ผมถามสถาปนิกทั้งสองคนด้วยความสงสัยว่าทำไมในช่วงหลังๆ เราถึงเห็นการนำโกดังเก่ามารีโนเวตกันเยอะขึ้น

“เราไม่ได้มองหาว่าต้องเป็นโกดังอย่างเดียวเท่านั้นนะครับ แต่ว่าประเภทของอาคารที่มีพื้นที่ด้านในกว้าง เพดานสูง แล้วยังไม่มีเสามาคั่นอยู่ตรงกลางเนี่ยมันก็มีอยู่แค่ไม่กี่ชนิด ซึ่งที่เห็นเยอะที่สุดก็คือโกดังสินค้า แล้วด้วยความโล่ง กว้าง สูง ไม่มีเสาตรงกลางนี่แหละทำให้เราสามารถจัดการแบ่งพื้นที่ภายในให้เป็นแบบไหนก็ได้ เรียกว่ามันตอบโจทย์ด้านการออกแบบได้หลากหลายครับ” คุณกอล์ฟอธิบาย

แต่โกดังแห่งนี้ที่ทางกลุ่มเจอ จริงๆ แล้วมีพื้นที่ที่ใหญ่เกินความต้องการของทุกคน ทางสถาปนิกเลยเลือกจะวางโปรแกรมการใช้งานพื้นที่ของทุกๆ ความฝันก่อน แล้วจึงเล็งเห็นการทำพื้นที่ส่วนกลางของทุกคนขึ้นมา ซึ่งมันคือพื้นที่ด้านในตรงที่มีโต๊ะเก้าอี้เยอะๆ นี่แหละ พื้นที่ตรงนี้เปิดให้ทั้งลูกค้าของออฟฟิศด้านในและคนทั่วไปมานั่งทำงานหรือประชุมกัน โดยจะสั่งข้าว กาแฟ หรือขนม มากินได้โดยไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด

“เพราะแต่ละร้านก็ใช้พื้นท่ีในเวลาที่แตกต่างกันครับ ร้านอาหารก็มีลูกค้ามาใช้ช่วงกลางวันกับเย็น แต่ออฟฟิศเราประชุมในช่วงตอนบ่ายหรือเช้าที่ไม่ใช่เวลาอาหาร หรืองานอีเวนต์ก็สามารถมาจัดได้ในช่วงวันหยุด เราก็เลยสามารถสลับการใช้พื้นที่กันไปมาได้ เหมือนเช่าร่วมกัน แชร์ร่วมกัน และใช้ร่วมกัน ซึ่งก็สะท้อนออกมาถึงชื่อโครงการด้วย” Hypothesis เล่าให้ฟังถึงคอนเซปต์หลักๆ ของการใช้พื้นที่

Factoria

“แล้วชื่อของโครงการมันมีความหมายว่าอะไร” ผมสงสัยถึงที่มาของชื่อด้านหน้าอาคาร

“มันคือคำว่า Factory ผสมกับ Factorial ครับ เพราะที่นี่เคยเป็นโกดังเก็บชิ้นส่วนรถยนต์มาก่อน ก็เลยนึกถึงคำว่า Factory ส่วนอีกคำหนึ่งคือ Factorial หรือคำว่าความน่าจะเป็นในวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งความน่าจะเป็นของตัวเลขอย่าง 0 ยังมีค่าเท่ากับ 1 เลย คือแค่เราคิดอย่างเดียวเนี่ยมันก็มีความน่าจะเป็นเท่ากับ 1 โอกาสแล้วนะ

“เพราะเรามองว่าที่นี่มันเป็นพื้นที่ที่จะเป็นอะไรก็ได้เพื่อให้สอดคล้องกับความคิดความฝันของทุกคนในนี้ ประกอบกับทั้งสองคำนี้มันมีคำว่า Fact หรือความจริงซ่อนอยู่ในนั้นด้วย เราเลยเลือกใช้ชื่อนี้มาทำเป็นโลโก้ กราฟิก แบรนดิ้ง ของทั้งโครงการครับ” Hypothesis อธิบายถึงความหมายของชื่อที่ฟังแล้วอยากลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง

ทางสถาปนิกโครงการยังเล่าอีกว่า ตอนที่เจอพื้นที่นี้มีคนสนใจตัวโกดังนี้อยู่เยอะมาก มีทั้งที่อยากปรับเปลี่ยนให้กลายมาร้านขายอาหารสัตว์ ร้านอาหาร ร้านขายของ ไปจนถึงโรงแรมด้วยซ้ำ แต่หลังจากเสนอโครงการไปก็กลายเป็นว่าทาง Factoria ได้รับเลือกให้ใช้พื้นที่โกดังนี้ แล้วทำไมทาง Factoria ถึงได้รับเลือกให้ใช้พื้นที่นี้ล่ะ

Factoria

“เราไม่ได้มองแค่ตัวโกดังนี้อย่างเดียว แต่มองไปถึงภาพรวมของบริเวณนี้ที่ต่อไปในอนาคตจะเป็นพื้นที่ศูนย์กลางด้านงานสร้างสรรค์ เพราะแถวนี้มีออฟฟิศของบรรดาเหล่าดีไซเนอร์อยู่หลายแห่ง ซึ่งเป็นระดับรุ่นใหญ่ในวงการด้วย ทั้งสถาปนิก นักออกแบบหลายแขนง จึงทำให้บริเวณนี้นั้นเป็น Design Community จริงๆ เราก็เลยมองให้โครงการ Factoria นี้เป็นเหมือนพื้นที่ส่วนกลางให้กับบริเวณนี้ที่เหล่าคนทำงานสร้างสรรค์จะมากินข้าว ทำงาน พักผ่อน และในอนาคตก็อาจจะเชิญนักออกแบบดังๆ มาจัดงานสัมมนากันที่นี่เลย ไม่ต้องเดินทางไปที่อื่น” สถาปนิกโครงการเล่าถึงความเป็นไปได้ในอนาคตของพื้นที่ย่านนั้น

เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว

จากการที่ผมเคยเห็นการทำงานของบริษัท Hypothesis มาแล้ว ทุกครั้ง พวกเขาเลือกที่จะตั้งสมมติฐานกับงานที่ตัวเองกำลังลงมือทำอยู่เสมอ และทดลองหาคำตอบด้วยการออกแบบ ผมเลยอยากรู้ว่าสำหรับโครงการนี้แล้วสมมติฐานของงานนี้คืออะไร

“นี่คือสมมติฐานที่ใหญ่ที่สุดที่เราเคยทำงานมาเลย ตอนแรกสุดเราก็มาตั้งสมมติฐานว่าที่ Factoria นี้จะเป็นอะไรได้บ้าง ซึ่งพอมาคิดต่อว่าแล้วมันจะเป็นไปได้มั้ยถ้า ‘มันจะเป็นได้ทุกอย่างในสิ่งที่ทุกคนคิดล่ะ’ เหมือนกับเป็นสมมติฐานซ้อนไปอีกที ซึ่งในด้านการออกแบบแล้ว นี่เป็นการออกแบบที่แทบไม่ได้ออกแบบอะไรเลยครับ (หัวเราะ)” ทั้งสองคนเล่าให้ฟังถึงไอเดียในการออกแบบ

“โดยส่วนตัวแล้วเราเป็นคนชอบของเก่า ชอบเรื่องราวของมัน อย่างคราบและรอยต่างๆในร้านอาหารมันไม่ใช่เรื่องความสกปรกอย่างเดียว แต่มันมีจิตวิญญาณอยู่ในนั้น เราก็เลยมักจะรีโนเวตอาคารเก่าโดยให้มันยังคงความเป็นอาคารเดิมอยู่แต่ก็รองรับไลฟ์สไตล์ใหม่ได้ ถ้าเจออะไรที่มันเสียหายเราก็แค่ปรับปรุงเข้าเฝือกอันที่เสียหายไป แต่ที่เหลือก็ให้มันอยู่แบบเดิม

Factoria

Factoria Factoria

“เริ่มแรกเราสำรวจสภาพของโกดังนี้ก่อนครับว่ามีอะไรใช้ได้หรือใช้ไม่ได้บ้าง ส่วนที่ใช้ได้ก็คือโครงสร้างที่ยังคงแข็งแรงอยู่ ด้วยสภาพของอาคารที่ดีมากอยู่แล้ว เราก็พยายามเก็บรักษาสภาพเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด อย่างโครงสร้างหลังคาที่ดีมากอยู่แล้วก็เก็บไว้แบบเดิม พื้นอาคารซึ่งแข็งแรงดีมากเพราะต้องรับน้ำหนักของอย่างรถยนต์ก็ทำให้เราสามารถต่อเติมส่วนของชั้นสองให้เป็นโซนออฟฟิศไปได้เลย ส่วนพื้นที่กลางนั้นเราแทบไม่ได้ออกแบบสถาปัตยกรรมอะไรเป็นพิเศษเลย แค่วางโปรแกรมการใช้งานของแต่ละร้านให้อยู่ชิดขอบและเปิดพื้นที่ตรงกลางไว้

“ส่วนสิ่งที่ใช้ไม่ได้ก็คือระบบน้ำและระบบไฟฟ้า แต่ก่อนห้องน้ำมันถูกใช้งานเป็นที่เก็บของ ก็เลยไม่ได้มีระบบสุขาภิบาลที่ดีอะไรเลย พอเรามาก็ทำระบบสุขาภิบาลเพิ่มเข้าไปใหม่ทั้งหมด และเนื่องจากทุกๆ คนที่มาร่วมกันแชร์พื้นที่ต้องการใช้ไฟฟ้ากันเยอะ เราเลยต้องเดินสายไฟใหม่ทั้งหมด เพื่อให้มันรองรับทุกกิจกรรมที่อาจจะเกิดขึ้น รวมไปจนถึงตัวเฟอร์นิเจอร์ด้านในทั้งตัวโต๊ะ เก้าอี้ ชั้นวางของ กระถางต้นไม้ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นถูกออกแบบมาเพื่อให้มันสามารถปรับเปลี่ยน เคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก เพื่อให้พื้นที่ตรงกลางนั้นสามารถสร้างความเป็นไปได้ในทุกๆ อย่าง” สถาปนิกโครงการอธิบายถึงการออกแบบที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่กลับคิดเผื่อในทุกๆ จุดไว้แล้วอย่างน่าสนใจ

เพราะรายละเอียดต่างๆ ที่ผมเห็นภายในอย่างชั้นวางของที่สามารถปรับระดับตัวชั้นได้ จึงทำให้มันเป็นได้ทั้งโต๊ะอาหาร เคาน์เตอร์บาร์ หรือโต๊ะเวิร์กช็อปขนาดเล็กก็ได้ หรือนำเอาชั้นวางของมาเรียงต่อเข้าด้วยกันใหม่เพื่อใช้เป็นแบ็กดรอป หรือมาวางล้อมกันเพื่อกั้นให้กลายเป็นพื้นที่ปิดใช้จัดงานอย่างฉายหนังด้านในได้ หรือจะหยิบชั้นและโต๊ะมาผสมกันเพื่อใช้จัดแสดงงานภาพถ่ายก็ได้

Factoria Factoria

ตัวโต๊ะเองก็สามารถมาจัดวางต่อกันได้ในรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งสายไฟในโครงการนั้นก็สามารถม้วนเก็บ และย้ายจุดมาใช้งานในบริเวณไหนก็ได้ รวมไปจนถึงช่องแสงด้านบนหลังคาที่ดึงเอาแสงแดดให้เข้ามาในโกดัง ทำให้สามารถเอาต้นไม้มาปลูกด้านในได้ ซึ่งก็ทำให้เกิดบรรยากาศที่แตกต่างจากที่อื่นๆ อย่างสิ้นเชิง

และจากการสอบถามทีมงานของที่นี่ทำให้รู้ว่าแม้จะเพิ่งเปิดมาในระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็มีคนมาใช้พื้นที่ส่วนกลางนี้จัดกิจกรรมมาแล้วมากมาย ทั้งจัดเลี้ยงรุ่น ถ่ายหนัง หรือแสดงงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา จากกิจกรรมที่หลากหลายและแตกต่างกันมาก ก็คงไม่เกินไปถ้าจะพูดว่ามันสามารถรองรับได้ทุกความต้องการของคนที่มาใช้พื้นที่ได้ทั้งหมดเลยจริงๆ

Factoria

สถานที่ในฝันของนักศึกษา

ส่วนด้านในสุดของโกดังถ้ามองผ่านๆ ก็เป็นเหมือนโรงงานขนาดย่อม เพราะภายในห้องกระจกนั้นมีเครื่องจักรขนาดใหญ่หน้าตาแสนจะไม่คุ้นเคยวางตั้งอยู่ พื้นที่ส่วนนี้ คือ F Lab หรือพื้นที่ทดลองด้านการออกแบบของ Hypothesis นั่นเอง ด้านในนั้นประกอบไปด้วยเครื่องจักรต่างๆ อย่างเครื่อง CNC Router, เครื่อง Laser Cut ที่สามารถใช้ตัดโมเดลงานสถาปัตยกรรม และเครื่อง Fiber Laser ที่สามารถสลักลวดลายลงบนวัสดุต่างๆ ซึ่งน่าสนใจตรงที่เหล่าเครื่องจักรพวกนี้ได้เปิดกว้างให้ทั้งบรรดามืออาชีพและนักศึกษาสามารถมาใช้งานได้ด้วย

“เครื่องจักรพวกนี้ก็เป็นเครื่องจักรที่ Hypothesis ใช้ทำงานออกแบบอยู่แล้ว แต่เราก็ไม่ได้ใช้งานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในช่วงเวลานั้นก็อาจจะมีคนต้องการใช้งานมันอยู่อย่างนักศึกษาที่ต้องทำวิทยานิพนธ์ เราก็รู้สึกว่ามันเสียโอกาสไปเลยเกิดเป็นไอเดียที่คิดจะแบ่งปันเครื่องจักรพวกนี้ให้กับคนอื่นมาใช้งานได้ด้วย เรานึกถึงตัวเองสมัยเด็กๆ ที่ต้องรีบทำงานส่ง แต่ทางมหาวิทยาลัยก็ขาดแคลนเครื่องมือเหล่านี้ เราก็เลยตั้งใจว่าอยากจะช่วยแชร์ของที่เรามีคืนกลับไปให้น้องๆ นักศึกษา ซึ่งถ้านักศึกษาได้มาใช้เครื่องมือใหม่ๆ พวกนี้ มันจะช่วยให้เกิดการสร้างสรรค์ในทุกแขนงของการออกแบบได้ทั้งหมดเลย

และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือบรรดาพี่ๆ นักออกแบบรุ่นใหญ่ที่แวะมากินข้าวที่นี่ ก็อาจจะได้เห็นชิ้นงานของน้องๆ แล้วอาจจะให้คำปรึกษาได้ ซึ่งมันก็น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ ที่มาทำงานที่นี่ได้มากเลย ที่นี่น่าจะเป็นจุดนัดพบตรงกลางระหว่างความรู้จากสถาบันการศึกษา และความรู้จากการทำงานจริงในบริษัท ให้มาอยู่ร่วมกันได้ เพื่อที่วันหน้าน้องๆ นักศึกษาเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยพัฒนาวงการการออกแบบ” ทั้งสองคนอธิบายถึงสนามเด็กเล่นแห่งใหม่ด้านการออกแบบที่ฟังแล้วอิจฉานักศึกษายุคนี้จริงๆ

Factoria

Factoria

จากโกดังสู่ชุมชนคนสร้างสรรค์

ทีมสถาปนิกเล่าแผนในอนาคตอันใกล้ให้ผมฟังว่า จะพยายามทำให้ Factoria เป็นสถานที่ที่สนุกและใหม่อยู่ตลอด อย่างร้านอาหารและร้านกาแฟก็มีการหมุนเวียนเปลี่ยนเมนูไปเรื่อยๆตามฤดูกาล อาจจะมีเปิดคอร์สสอนออกแบบสั้นๆ เปิดเวิร์กช็อปสอนทำขนมอาหาร รวมไปจนถึงมีการจัดงานอีเวนต์สนุกๆอย่างตลาดนัดของมือสองในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ให้เยอะขึ้น ไปจนถึงจะทำการเชิญดีไซเนอร์ชื่อดังระดับโลกมาพูดคุยกันที่นี่ด้วย เพื่อที่จะช่วยทำให้ย่านนี้กลายเป็นศูนย์กลางของคนทำงานสร้างสรรค์ในอนาคตต่อไป

ผมนึกไปถึงที่กอล์ฟและบิวเล่าให้ฟังถึงโกดังแห่งนี้ว่ามีคอนเซปต์เริ่มต้นด้วยการเป็นที่แบ่งปันความฝันของกลุ่มเพื่อน จากโกดังเก่าที่เอาไว้เก็บสินค้า ถูกแต่งเติมและดัดแปลงด้วยความคิดสร้างสรรค์จนกลายมาเป็นที่รวมตัวกันของเหล่ากิจการในฝัน ก่อนจะแบ่งปันความฝันนั้นในรูปแบบของ F Lab ไปให้กับบรรดานักศึกษาด้านออกแบบ และสุดท้ายก็นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงพื้นที่บริเวณนั้นให้กลายเป็นศูนย์กลางของคนทำงานสร้างสรรค์ นี่จึงเป็นการรีโนเวตที่น่าตื่นเต้นจนเก็บไปฝันถึงจริงๆ

Factoria

Factoria

สถาปนิกโครงการ : Hypothesis
โครงการ warehouse26 108/1 ซอยอารี ถนนสุขุมวิท 26 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพฯ
โทร: 063 596 5390
Facebook: Factoriabkk

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan