8 พฤศจิกายน 2018
20 K

ตำบลวัดเกต จังหวัดเชียงใหม่ คือหนึ่งในย่านที่ยังคงรักษาอาคารบ้านเรือนในพื้นที่ให้คงเดิม โดยไม่ให้มีการทุบหรือทำลาย เพื่อสอดคล้องกับความร่วมมือของเทศบาลนครเชียงใหม่ เพื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมที่คงอยู่กับชาวเชียงใหม่

บ้านไม้โบราณ อาคาร แม้กระทั่งโรงแรมที่ปลูกสร้างมาตั้งแต่ฉันยังเป็นเด็ก จนช่วงชีวิตที่ฉันขับมอเตอร์ไซค์ไปเรียนที่โรงเรียนเอกชนในย่านนั้น ทุกอย่างแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ อาจมีร้านค้า โรงแรมมีชื่อ หรือคอนโดมิเนียม ถูกสร้างขึ้นมาใหม่บ้าง แต่การมาใหม่ของอาคารที่ทันสมัยกลับไม่ส่งผลใดๆ กับอาคารเก่าที่ยังคงอยู่ตราบจนปัจจุบัน

‘บ้านอรพินท์ เฮอร์ริเทจ Bed & Breakfast’ คือหนึ่งในสถานที่เหล่านั้น

บ้านอรพินท์ บ้านอรพินท์

ใช้เวลาขับรถตรงจากถนนเจริญราษฎร์ ตำบลวัดเกต เพียงอึดใจ เบื้องหน้าของฉันเปรียบเหมือนฉากหนึ่งในละครพีเรียดที่ฉันเคยดูกับแม่ในค่ำคืนวันธรรมดา บ้านไม้สีขาวที่เก่าตามกาลเวลาตั้งสง่าอยู่กลางพื้นที่ ฉันสัมผัสได้ถึงความร่มรื่นและสงบ

ดูกลายๆ เหมือนเป็นบ้านที่มีผู้คนอาศัยอยู่จริงๆ หากแต่พบชาวต่างชาติเดินสวนออกมาจากบ้านเป็นระยะ ที่นี่คือเกสต์เฮาส์ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2547 พื้นที่ทั้งหมดในบ้านไม้เก่าได้รับการปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อต้อนรับแขกที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนเข้ามา

พนักงานนำกาแฟดำมาเสิร์ฟตรงหน้า ฉันละสายตาจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ และมองดูบรรยากาศรอบๆ เพื่อให้แน่ใจว่าฉันยังอยู่ในภาพความจริง จนกระทั่ง คุณโอ-โอภาส อนุชนา ทายาทของบ้านอรพินท์ เฮอร์ริเทจฯ เข้ามาต้อนรับ

กาแฟหมดแก้ว-ฉันกำลังจะได้ฟังเรื่องราวทั้งหมดจากคุณโอ ถึงการคงบ้านนี้เอาไว้ให้เป็นบ้านแทบจะหลังเดียวในเชียงใหม่ที่มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ ความทรงจำ อีกทั้งการปรับเปลี่ยนสถานที่นี้ให้กลายเป็นที่พัก จนกลายเป็นที่รักของนักเดินทางที่พักผ่อนในจังหวัดเชียงใหม่

บ้านอรพินท์

บ้านเก่า

ในสมัยรัชกาลที่ 6 วัดเกตคือหนึ่งในย่านการค้าสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยเป็นย่านชุมชนที่มีคนจีนอาศัยเยอะ จึงนิยมทำการค้าทางน้ำ ต้นตระกูลดั้งเดิมของคุณโอประกอบอาชีพขนส่งสินค้า มีข้าวเป็นสินค้าหลัก โดยบรรพบุรุษอาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านปัจจุบันซึ่งมีขนาดเกือบ 3 ไร่ และใช้บริเวณรอบบ้านเป็นที่เก็บสินค้าเพื่อรอจำหน่าย

เวลาต่อมา การคมนาคมรูปแบบอื่นอย่างรถไฟ ทั้งการตัดถนนใหม่จนรถยนต์เข้ามา ทำให้การขนส่งทางเรือนั้นค่อยๆ ถูกลดความนิยมลงไปในที่สุด

“เดิมทีบ้านนี้เป็นของคุณตาแดง ต้นตระกูลของเรา ท่านเริ่มก่อสร้างบ้านหลังนี้ในปี 2457 ท่านออกแบบบ้านหลังนี้เอง เป็นสไตล์โคโลเนียลตามแนวทางการก่อสร้างในยุคนั้น ซึ่งคุณตาได้เพิ่มการตกแต่ง โดยเพิ่มลายฉลุ การแกะสลักไม้ และรายละเอียดการออกแบบเล็กๆ น้อยๆ แบบล้านนาเข้าไป วัสดุหลักๆ เป็นไม้สัก ส่วนมากคุณตาคุมการก่อสร้างเอง แต่ก็จ้างช่างจากเมืองจีนมาช่วยด้วย” คุณโอเล่าจุดเริ่มต้นการก่อสร้างบ้านหลังนี้

บ้านอรพินท์

เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบ้านให้เช่า

หลังจากความเจริญเข้ามาในเมืองเชียงใหม่ และเวลาล่วงเลยเปลี่ยนผ่าน ในช่วง พ.ศ. 2531 คุณแม่อรพินท์ ทายาทของคุณตาแดง จึงปรับเปลี่ยนพื้นที่ในบ้าน โดยการปลูกบังกะโลเล็กๆ รอบๆ บ้านหลังใหญ่เพื่อปล่อยเช่ารายเดือน

จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘บ้านอรพินท์’ ในปัจจุบัน ซึ่งตั้งเพื่ออุทิศกับให้กับคุณแม่อรพินท์นั่นเอง

บ้านอรพินท์ บ้านอรพินท์

“ช่วงนั้นมหาวิทยาลัยพายัพยังตั้งอยู่ฝั่งรัตนโกสินทร์ใกล้กับย่านวัดเกต ก่อนที่จะย้ายไปฝั่งแม่คาวในปัจจุบัน เลยมีนักศึกษาอยู่ในย่านนี้ แต่หอพักไม่พอ ชุมชนแถวนี้จึงเปิดบ้านเช่าเล็กๆ ให้นักเรียน นักศึกษา เช่าอยู่ นอกจากนี้ มีพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของในตลาดวโรรส หรือที่คนเชียงใหม่เรียกว่ากาดหลวง มาเช่าอยู่อาศัย

“จนถึงรุ่นคุณพ่อ เขากั้นลานโล่งด้านหลังบ้านให้เป็นห้องเล็กๆ เพื่อให้คนมาเช่า แต่พอมารุ่นเรา เราก็เอาที่กั้นห้องออกให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมเหมือนบ้านในยุคสมัยก่อนที่เป็นลานโล่ง”

คุณโอเล่าถึงรายละเอียดการพัฒนาและปรับปรุงบ้านในยุคคุณพ่อ

บ้านอรพินท์ บ้านอรพินท์

“อีกหนึ่งจุดที่คุณพ่อเปลี่ยนคือ เมื่อก่อนใต้ถุนบ้านจะเปิดโล่งไว้ คนเฒ่าคนแก่ในย่านนี้เคยเล่าให้ฟังว่าสมัยเด็กๆ เขาเคยมาวิ่งเล่นใต้ถุนบ้านของเรา แต่มาในรุ่นของเรา เราปิดใต้ถุนบ้านเป็นห้องอีกห้องหนึ่ง สังเกตได้จากขั้นบันไดที่ยังอยู่ ทำให้เห็นว่านี่คือชานบ้านเก่า”

บ้านอรพินท์

ปัจจุบันวัสดุตกแต่งบ้านโบราณ ทั้งเสาสรไนยที่ถูกประดับไว้บนหลังคาบ้านหลายจุด ไม้เก่าที่ฉลุเป็นลายฉลุบางส่วน ถูกปลดลงและเก็บรักษาไว้พร้อมๆ กับข้าวของเครื่องใช้ เช่น ชุดจานชามโบราณ หรือปิ่นโตเก่า ที่คุณแม่อรพินท์ใช้เป็นภาชนะสำหรับใส่อาหารเพื่อเลี้ยงพระ ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 7 และภาพวาดบ้านไม้หลังนี้สมัยเพิ่งสร้างเสร็จ ถูกประดับตกแต่งไว้ในส่วนบ้านเก่าเพื่อเป็นพื้นที่ระลึกความทรงจำ

บ้านอรพินท์

เปลี่ยนบ้านให้เช่าเป็นบ้านพัก

เมื่อเดินทะลุจากห้องรับรองด้านหน้าของบ้าน นอกจากส่วนต้อนรับแล้ว เราจะพบพื้นที่ชานหลังบ้าน ซึ่งเป็นส่วนห้องอาหารเช้า ด้วยคอนเซปต์ Bed & Breakfast ของบ้านอรพินท์ เฮอร์ริเทจฯ แขกผู้เข้าพักจะได้สัมผัสบรรยากาศการทานอาหารเช้าในบ้านโบราณที่แทบไม่มีการตกแต่งเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้เข้าพักรู้สึกเหมือนใช้ชีวิตในบ้านและเมืองเชียงใหม่ยุคเก่า

บ้านอรพินท์

บ้านอรพินท์ เฮอร์ริเทจฯ มีห้องพักแบ่งได้เป็น 3 อาคาร รวม 15 ห้อง อาคารแรกถูกสร้างใน พ.ศ. 2547 หลังจากที่คุณโอเข้ามาดูแลบ้านไม้อย่างเต็มตัว

บ้านอรพินท์ บ้านอรพินท์

จากบังกะโลปล่อยเช่าที่สภาพเริ่มทรุดโทรมลงไปเต็มที คุณโอจึงตัดสินใจรื้อบังกะโลทิ้ง และสร้างเป็นอาคารที่พักใหม่ โดยสร้างอาคารบนพื้นฐานของสถาปัตยกรรมสมัยปัจจุบัน แต่ยังเพิ่มเติมรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้อาคารนี้ยังมีความเป็นอาคารแบบล้านนา ไม่ให้ผิดแผกไปจากบ้านไม้ ซึ่งเป็นไฮไลต์ของบ้านอรพินท์ เฮอร์ริเทจฯ

“เนื่องจากผมเป็นวิศวกรในการสร้างเอง หลักการออกแบบอาคารต่างๆ คือเราจะรักษาต้นลำไยใหญ่ของบ้านเดิมไว้ ซึ่งปลูกตั้งแต่สร้างบ้านเมื่อร้อยปีก่อน เราไม่ตัดทิ้ง ไม่รื้อออก ฉะนั้น ตัวอาคารใหม่จึงถูกสร้างท่ามกลางต้นไม้ ใช้โครงสร้างสมัยใหม่ แต่ด้านบนก็จะเป็นฝาไม้ กระเบื้องดินขอล้านนา เพื่อให้ล้อไปกับสถาปัตยกรรมของบ้านเดิม”

บ้านอรพินท์ บ้านอรพินท์

หลายปีต่อมา มีการสร้างอาคารที่พักเพิ่มอีก 2 อาคาร โดยใช้แนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมโคโลเนียล ให้มีความสอดคล้องกับอาคารที่พักหลังแรกและบ้านไม้เดิม

ถึงแม้ว่าการท่องเที่ยวในเชียงใหม่อาจซบเซาลงไปบ้าง แต่ยอดจองห้องพักของบ้านอรพินท์ เฮอร์ริเทจฯ ยังคงคึกคักและมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการตลอดทั้งปี

ฉันคิดว่าผู้คนน่าจะติดใจในความเป็นบ้านเก่าและบรรยากาศเฉพาะตัวของที่นี่

บ้านอรพินท์ บ้านอรพินท์

หมั่นคอยดูแล และรักษา (บ้านใน) ดวงใจ

ในด้านสถาปัตยกรรม บ้านไม้เก่าของบ้านอรพินท์ เฮอร์ริเทจฯ ได้รับรางวัลอาคารดีเด่น ประเภทอาคารร่วมสมัย โดยเทศบาลนครเชียงใหม่ เมื่อปี 2549 และส่วนเกสต์เฮาส์ยังได้รับการยอมรับจากเว็บไซต์ท่องเที่ยวชื่อดังหลายแห่งให้เป็นที่พักที่นักท่องเที่ยวต้องมาเข้าพักของจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย

โชคดีที่บ้านหลังนี้ของคุณตาแดงไม่ได้ถูกปล่อยทิ้งร้างเอาไว้ อีกทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาบ้านอยู่ตลอดอายุขัย ทำให้บ้านหลังนี้ไม่ได้ทรุดโทรมมากนัก

แต่บ้านอายุร้อยกว่าปียังต้องการการดูแลและซ่อมบำรุงอย่างดี เพื่อให้บ้านหลังนี้ยังคงอยู่ต่อไป

“ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อมา จริงๆ คุณพ่อแทบจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบ้านเลย ท่านแค่ซ่อมแซมส่วนที่ผุพังบ้าง ทาสีใหม่ เดินไฟใหม่ มีการทำห้องน้ำข้างบนสำหรับคนอายุมาก ส่วนรุ่นของผมก็แค่มีการทาสีเรื่อยๆ ประมาณ 4 ครั้งนับแต่ปี 2547 แต่ปัญหาอีกอย่างที่กำลังดูแลก็คือเรื่องปลวกครับ เพราะว่าแต่ก่อนนี้ไม่มีปลวกหรือแมลงเลย แต่เนื่องจากว่าไม้สักอาจจะหมดอายุ ตอนนี้ก็เลยต้องป้องกันพวกปลวกเยอะหน่อย เพราะเราอยากจะรักษาทุกอย่างในบ้านหลังนี้ให้คงเดิมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” คุณโอกล่าว

บ้านอรพินท์ บ้านอรพินท์

ระหว่างที่คุณโอพาฉันเยี่ยมชมบ้านไม้และที่พักโดยรอบ สิ่งหนึ่งที่ฉันเห็นจากนักท่องเที่ยวคือ รอยยิ้ม และท่าทีผ่อนคลายของพวกเขาเมื่อนั่งทานอาหารอยู่ตรงชานบ้าน หรือยืนสูดอากาศเข้าจนเต็มปอดในพื้นที่สีเขียวของเกสต์เฮาส์

ในขณะเดียวกัน ฉันเห็นแววตาของคุณโอที่เต็มไปด้วยความสุข ที่เขาได้เล่าเรื่อง ‘บ้าน’ ของเขาให้ฉันฟัง

ใครสักคนบอกฉันว่า ที่พักที่ดีไม่ใช่เพียงมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน แต่ต้องมีบรรยากาศที่ดีที่ทำให้รู้สึกเหมือนอยู่บ้าน

ฉันคิดว่าบ้านอรพินท์ เฮอร์ริเทจฯ ทำสำเร็จในทุกมิติ

ทั้งการเป็นที่พักที่ดี และบ้านที่อบอุ่นให้แก่สมาชิกใหม่ของบ้านหลังนี้ ซึ่งหมายถึงผู้เข้าพักทุกคน

บ้านอรพินท์ เฮอร์ริเทจ Bed & Breakfast

150 ถนนเจริญราษฎร์ ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ 50000
โทร 0823910405, 053243677
www.baanorapin.com

Writer

Avatar

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

เขียนหนังสือบนก้อนเมฆในวันหนึ่งตรงหางแถว และทำเว็บไซต์เล็กๆ ชื่อ ARTSvisual.co

Photographer

Avatar

ชัยวัฒน์ ทาสุรินทร์

โด้เป็นช่างภาพดาวรุ่งจากสาขาศิลปะการถ่ายภาพ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่รักของเพื่อนๆ และสาวๆ ถึงกับมีคนก่อตั้งเพจแฟนคลับให้เขา ชื่อว่า 'ไอ้โด้ FC'